ระวังพวกที่จะพาเราหลงทางจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง 3+10

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้พวกประนีประนอมพาเราไปหลงทาง เบี่ยงเบน ไปจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10”

อันนี้เป็นปัญหาปกติในกระบวนการต่อสู้ เราเคยเจอในกรณีการล้มเผด็จการทหารช่วง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ที่ฝ่ายชนชั้นปกครองเชิญนายภูมิพลออกมาเพื่อแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำไปสู่การตั้ง “สภาสนามม้า” [ดู https://bit.ly/3ggYMLW ] มันเป็นวิธีที่ชนชั้นปกครองไทยสามารถกู้สถานการณ์ไม่ให้ลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริงตามที่คนจำนวนมากต้องการ โดยเฉพาะนักศึกษา กรรมาชีพ และพลเมืองที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้ชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งตัวใหม่และกลับมาในช่วง ๖ ตุลา ๒๕๑๙

a3_0

ทั้งในสถานการณ์สากลและไทย เมื่อมีการลุกฮือล้มเผด็จการ มักจะมีกลุ่มคนที่เสนอให้ประนีประนอม พวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองเก่า อีกส่วนเป็นพวกนักการเมืองและนักวิชาการกระแสหลักที่ต้องการแค่ปฏิรูประบบ เป้าหมายของสองกลุ่มนี้คือเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจเดิม

เรื่องแบบนี้มันเกิดที่ ซูดาน เลบานอน อียิปต์ ฮ่องกง และที่อื่นๆ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกที่อยากเปลี่ยนระบบให้น้อยที่สุดพร้อมปกป้องอำนาจเดิม กับพวกที่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน

ข้อเรียก 3 ข้อของ “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการล้มเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ ล้มรัฐธรรมนูญทหาร และยุติการคุกคามประชาชนโดยทหาร มันจะไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าประยุทธ์กับคณะทหารออกไปจากการเมืองไทย

ดังนั้นเราควรระมัดระวังคนที่เสนอให้แค่ “แก้” รัฐธรรมนูญทหาร เพราะมันจะเป็นการเสนอกระบวนการที่ใช้เวลานาน และเปิดช่องให้เผด็จการของประยุทธ์อยู่ต่อไป ถ้าเผด็จการประยุทธ์อยู่ต่อได้แบบนี้ ฝ่ายประนีประนอมหวังว่ากระแสการลุกฮือจะลดลง และนี่คืออันตรายสำหรับฝ่ายเรา

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังที่หยุดนิ่ง อยู่กับที่ มักจะถอยหลังในไม่ช้า

เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ไปแก้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้พวกประนีประนอมเดินเรื่อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองอย่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” รับรองมันจะถูกผลักออกไปจากวาระทางการเมืองอย่างแน่นอน

FB_IMG_1597581301917

ในความเป็นจริงข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะไม่ประสบความสำเร็จตราบใดที่เผด็จการประยุทธ์หรือเผด็จการทหารอื่นๆ ยังคุมอำนาจอยู่ เพราะทหารคือผู้ที่มีอำนาจในสังคมไทย และเป็นผู้ที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือของเขาเองเสมอ

ดังนั้นเราต้องคงไว้เป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10” ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

ในความเห็นผม จริงๆ แล้วประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ คือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลย เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมันปฏิรูปให้ดีขึ้นไม่ได้ และลัทธิกษัตริย์นิยมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมมาตลอด

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2Qf5yHB  https://bit.ly/2Qk0eCS  https://bit.ly/2QfI2dh และ หนังสือ “ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เขียนหลังรัฐประหาร๑๙กันยา๒๕๔๙ https://bit.ly/3gStOLd ]

เราจะคงไว้เป้าหมาย “3+10” อย่างไร?

  1. อย่าไปฝากความหวังอะไรทั้งสิ้นกับ “ผู้ใหญ่” ในวงวิชาการ หรือนักการเมืองจากพรรคกระแสหลัก อย่าให้เขาออกแบบวิธีปฏิรูปสังคมไทย
  2. พวกเรา โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว จะต้องรีบคุยกันเพื่อหาจุดร่วมว่าต้องการเห็นสังคมไทยแบบไหน ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน และต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พูดง่ายๆ ควรมีสมัชชาใหญ่ของคณะปลดแอกประชาชนและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเอา “เนื้อ” มาใส่โครงกระดูกของข้อเรียกร้อง “3+10” และคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
  3. ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อส่งต่อเรื่องให้คนอื่น และควรมีความพยายามที่จะขยายมวลชนไปสู่นักสหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนธรรมดากลุ่มอื่นๆ ควรมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในสถานที่ทำงานสามารถประท้วงได้อย่างไร เช่นการนัดหยุดงาน
  4. เราต้องเรียกร้องให้ยุติคดีของเพื่อนเราทุกคนที่ถูกหมายเรียกหมายจับทันที

อย่ายอมประนีประนอมเพื่อรักษาระบบที่ทำลายสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม!!

เดินหน้าต่อไปถึงเส้นชัย!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ต้องยอมรับครับว่าเมื่อเห็นภาพนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงเผด็จการวันนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมน้ำตาไหลด้วยความดีใจ พวกเรารอวันนี้มานาน

FB_IMG_1597581477208

ผมไม่อยากจะ “แนะนำ” อะไรมากกับ “คณะประชาชนปลดแอก” เพราะเขาพิสูจน์ไปแล้วว่าเขาจัดการประท้วงที่ประสบความสำเร็จสุดยอด แต่ผมมีความหวังว่าการต่อสู้จะไม่จบแค่นี้ ผมหวังว่าจะมีการขยายมวลชน โดยเฉพาะในหมู่นักสหภาพแรงงาน และผมหวังว่าจะมีการชุมนุมอีก และถ้าเป็นไปได้มีการเดินออกจากสถานที่ทำงานด้วย และที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือผมหวังว่าจะมีการเรียกร้องขีดเส้นตายให้ยกเลิกทุกข้อหาที่รัฐไปยัดให้แกนนำขบวนการชุมนุมทุกคน

FB_IMG_1597582400786

ในความจริงเพื่อนๆทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงทราบว่าเราหยุดตอนนี้ไม่ได้ และการต่อสู้วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่งดงาม

FB_IMG_1597581301917

ในเรื่องการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ผมเข้าใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหวที่กล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะจะอ้างตลอดว่า “ไม่ได้หวังจะโค่นล้มสถาบัน” แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพูดแบบนี้ถือว่ายังอยู่ในกรอบที่เผด็จการทหารและพวกอนุรักษ์นิยมวางไว้และใช้เพื่อกดขี่คนในสังคม ถ้าเราจะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้จริงเราต้องสามารถเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยไม่ต้องมาแก้ตัวแบบนี้ ยิ่งกว่านั้นเราต้องสามารถเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยถ้าเรามีความคิดแบบนั้น

เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตยครับ กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเผด็จการทหารหมดไปจากสังคมไทยและเรามีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่

และเพื่อนๆ ที่อยากไปไกลกว่านั้น คืออยากสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไร้ชนชั้น กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเราจะสามารถสร้างสังคมนิยมในประเทศไทย

 

การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นก้าวสำคัญ แต่หยุดไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

การชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่สำคัญคือ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ยกเลิกการรวบทรัพย์สินภายใต้วชิราลงกรณ์และเพิ่มความโปร่งใสในเรื่องเงิน ลดงบประมาณที่จัดสรรให้กษัตริย์ ยกเลิก “ราชการในพระองค์” ยกเลิกอำนาจกษัตริย์ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ยกเลิกการเชิดชูกษัตริย์เกินเหตุเพียงด้านเดียว ยกเลิกการที่กษัตริย์จะรับรองรัฐประหาร และเปิดกระบวนการที่จะสืบความจริงเกี่ยวกับผู้เห็นต่างที่ถูกอุ้มฆ่า

117361552_10158431778723965_6127601580717401228_o

ถือได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือการต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง

และที่สำคัญคือเราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก

ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิญสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

Lebanon-Beirut-August-8-2020-e1596964569861
เบรูต เลบานอน

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐบาลเถื่อน

สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพลเมืองที่ออกมาสู้ต้องเข้าใจคือเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ในความเห็นผมสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรประเมินอำนาจของวชิราลงกรณ์สูงเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีการเบี่ยงเบนเป้าหมายจากคณะทหารเผด็จการ และมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเราใช้

ผมเขียนเรื่องข้อจำกัดของอำนาจกษัตริย์ไว้หลายที่ เช่น “การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล”  https://bit.ly/2XIe6el  และ“ว่าด้วยวชิราลงกรณ์” https://bit.ly/31ernxt

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนควรทำความเข้าใจ คือประเด็นว่าทำไมชนชั้นปกครองในหลายประเทศทั่วโลก นิยมให้คงไว้สถาบันกษัตริย์ เพราะในมุมมองผม การคงไว้สถาบัยกษัตริย์ในรูปแบบตะวันตกภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลเสียกับฝ่ายเรา เพราะเป็นเครื่องมือในการเสนอลัทธิอภิสิทธิ์ชนว่าคนเราเกิดสูงและเกิดต่ำและบางคนมีสิทธิ์จะเป็นผู้นำในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ตาม มันออกแบบมาเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมควรนิยมการยกเลิกระบบกษัตริย์เพื่อให้มีสาธารณรัฐ [ดู “ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” https://bit.ly/30Ma32f ]

แต่ระบบสาธารณรัฐภายใต้ทุนนิยม ไม่พอที่จะนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แค่ดูสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม ก็จะเห็นภาพชัดเจน พูดง่ายๆ เราต้องคิดต่อไปถึงเรื่อง “รัฐ” ภายใต้ระบบทุนนิยม และความสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มรัฐของนายทุนผู้เป็นชนชั้นปกครองในโลกสมัยใหม่ [ดู “รัฐกับการปฏิวัติ” https://bit.ly/2PEQK4K ]

เมื่อเราคิดถึงเรื่อง “รัฐ” และ “ชนชั้น” เราจะเข้าใจว่า “ข้าราชการ” ชั้นผู้ใหญ่ ศาล และ ตำรวจ ไม่เคยรับใช้ประชาชนในโลกสมัยใหม่ การคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่ล้มรัฐของนายทุนและสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงานเป็นการเพ้อฝัน และแน่นอนเสรีภาพและประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องอาศัยกระบวนการปฏิวัติด้วยพลังมวลชน แทนที่จะไปฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

 

ทนาย อานนท์ นำพา พูดในสิ่งที่ทุกคนควรพูด แต่เผด็จการทหารเป็นศัตรูหลัก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทนายอานนท์ นำพา ยืนขึ้นพูดในสิ่งที่ทุกคนควรจะพูดและนำมาถกเถียงกันในสังคมไทย และวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงความสมานฉันท์กับคุณอานนท์คือพวกเราทุกคนต้องร่วมกันพูดทั่วสังคม เพราะถ้าคนออกมาพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะเป็นพันๆ แสนๆ การที่รัฐจะเล่นงานคุณอานนท์จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

Untitled-4

ผมเข้าใจว่าทำไมทนายอานนท์พูดในลักษณะที่ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์” เพราะเขาอยู่ในไทย แต่ผมเดาว่ามันจะไม่ช่วยอะไร เพราะฝ่ายทหารและพวกคลั่งเจ้า และแม้แต่พวกเราเอง ก็จะตีความไปอีกแบบหนึ่งอยู่ดี

แต่สิ่งที่ทนายอานนท์ควรหลีกเลี่ยงในอนาคตคือการใช้คำเหยียดเชื้อชาติอย่าง “ฝรั่งมังค่า” เพื่อ “พิสูจน์” ว่าตนเองรักชาติ ในยุคนี้ที่มีการประท้วงการเหยียดสีผิว Black Lives Matter คนที่รักเสรีภาพควรจะมีจิตสำนึกในเรื่องนี้

ตราบใดที่คนไทยไม่เคารพคนที่มีสีผิวหรือเชื้อชาติอื่น คนไทยจะไม่สามารถปลดแอกตนเองจากเผด็จการที่ครองอำนาจและใช้ลัทธิชาตินิยมกับกษัตริย์นิยมเพื่อกดขี่เรา

ผมสนับสนุนเสรีภาพในการพูดของอานนท์ นำพา โดยไม่มีเงื่อนไข และผมคารวะความกล้าหาญของเขาในการออกมาพูดเรื่องกษัตริย์ และในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

2019-05-04T072632Z-948315276-RC1EE0951570-RTRMADP-3-THAILAND-KING-CORONATION

แต่นั้นไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของเขาทั้งหมด

ในความเห็นผม อานนท์ นำพา พูดเกินเหตุในเรื่อง “พระราชอำนาจ” โดยเฉพาะในการคุมทหาร และสังคมไทยไม่ได้ถูกหมุนนาฬิกากลับไปสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด สังคมไทยถูกลากกลับไปสู่ระบบเผด็จการทหารต่างหาก แต่เป็นเผด็จการทหารภายใต้ภาพลวงตาแห่งการเลือกตั้งและรัฐสภา

ทหารที่ทำรัฐประหารก่อนที่วัชิราลงกรณ์จะขึ้นมาเป็นกษัตริย์ ไม่ได้รับคำสั่งอะไรจากกษัตริย์ และพวกเขาไม่โง่พอที่จะยกอำนาจทหาร หรืออำนาจในการคุมกองทัพ ให้คนปัญญาอ่อนเพี้ยนๆ อย่างวชิราลงกรณ์

และพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้โดนยุบเพราะมีสส.คนหนึ่งไปวิจารณ์พระราชอำนาจ แต่โดนยุบเพราะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพในการดึงคะแนนเสียงประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มาค้านเผด็จการทหาร

แน่นอน พวกทหารชั้นสูงในยุคนี้เป็นพวกที่สนับสนุนเจ้าอย่างสุดขั้ว และนี่คือสาเหตุที่เขาอยากลบล้างประวัติศาสตร์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ แต่เขาอวยเจ้าเพื่อใช้เจ้าเป็นเครื่องมือของตนเอง และพร้อมจะเอาใจวชิราลงกรณ์ในเรื่องเงินทองและสิทธิส่วนตัวของเขา เพื่อที่จะใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือต่อไป

[ถ้าใครสนใจก็สามารถอ่านการวิเคราะห์ของผม:

การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล  https://bit.ly/2XIe6el

และว่าด้วยวชิราลงกรณ์ https://bit.ly/31ernxt ]

คุณูปการของอานนท์ นำพา และสิ่งที่เขาออกมาพูด คือเป็นการให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ ทั้งๆ ที่อานนท์ไม่ได้พูดว่าเป็นเป้าหมายของเขา

17880152_10154927047036154_3616575511584400172_o

ถ้าเราสามารถลด “ความศักดิ์สิทธิ์” ของสถาบันกษัตริย์ลง และวัชิราลงกรณ์ดูเหมือนจะทำงานหนักเสียเองตรงนี้ เราจะช่วยลดอำนาจของทหารฝ่ายคลั่งเจ้า แต่อย่าลืมว่าเผด็จการทหารไทยสมัยจอมพลป. ก็สามารถครองอำนาจได้โดยไม่ใช้ลัทธิกษัตริย์

46398d1788a446259c92282a67db5141

เราทุกคนต้องชื่นชมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในยุคนี้ และนำข้อเรียกร้องของเขามาเป็นของเรา และมันเป็นเรื่องที่ดียิ่งที่มีการขยายองค์กรไปเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” การต่อสู้ยุคนี้ต้องก้าวไปไกลกว่าการต่อสู้ของเสื้อแดงและการล้มเผด็จการไทยในอดีต

[ดู คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป    https://bit.ly/3jBKXKV ]