หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่นสุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้
จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต” (จิตร ๒๕๓๙; 362) จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ (จิตร ๒๕๓๙; 371) โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” (จิตร ๒๕๓๙; 369)
ในความเป็นจริง ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิต ในเมื่อเมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ เพราะในค.ศ. 1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ 73 คนในอินเดีย และ 21 คนในอินโดนีเซีย (ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘; 28) การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึงเป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน (แล ๒๕๒๒, คึกฤทธิ์ ๒๕๑๖, ศุภรัตน์ ๒๕๒๗, ชัยอนันต์ ๒๕๑๙, ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘, ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส (Rajchagool 1994) ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินาไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน (จิตร ๒๕๓๙; 423) น่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส
ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส (ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ (Rajchagool 1994) และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ ที่ใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน (ใจ ๒๕๔๓; 29) พูดง่ายๆ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย
รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของจิตรคือ เขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่มาร์คซ์เคยเสนอสำหรับยุโรปตะวันตก มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับจิตร ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอล์ในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก “ยุคทาส” (จิตร ๒๕๓๙; 381, 396) แต่ มาร์คซ์ ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์ คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ความพยายามที่จะฝ่าความกลไก
สุภา ศิริมานนท์ เป็นปัญญาชนมาร์คซิสต์ของไทยที่อิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอาจเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษางานของมาร์คซ์และเองเกิลส์จากภาษาอังกฤษโดยตรงอย่างเป็นระบบ (Kasian Tejapira 2001; 9) ดังนั้นถ้าเราไปดูงานของ สุภา เราจะค้นพบความละเอียดอ่อนแบบวิภาษวิธีมาร์คซิสต์ในการอธิบายประวัติศาสตร์ เช่นในงาน “มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไรฯ” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ มีการอธิบายว่ามนุษย์เราสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันมิได้สร้างประวัติศาสตร์ในภาวะแวดล้อมที่ตนเองเป็นผู้เลือก (สุภา ๒๕๓๐; 13) สุภา อธิบายต่อไปว่าเราต้องสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามทั้งๆ ที่เรายังยืนอยู่บนความโสโครกของสังคมเก่า และมนุษย์ผู้ที่จะต้องสร้างสังคมใหม่นี้ ไม่ใช่ว่าจะขาวสะอาดจากความโสโครกปัจจุบัน ดังนั้นการปรับตัวของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ ซึ่งมุมมองนี้แสดงให้เห็นว่านักต่อสู้มาร์คซิสต์ไม่ได้หวังจะเป็นนักบวช แต่หวังจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น
ในเรื่องของการนำทฤษฎีมาใช้ สุภาอธิบายว่านักมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอดเวลา แบบวิภาษวิธี (สุภา ๒๕๓๐; 30) แต่การมองสองด้านที่พูดถึงนี้ไม่ได้แปลว่าควรประนีประนอมกับแนวคิดนายทุน การมองสองด้านคือวิธีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสลับสับซ้อนในตัวโดยมองภาพองค์รวม และความสำคัญของการใช้วิภาษวิธีไม่ใช่เพื่อสร้างการวิเคราะห์แบบละเอียดอ่อนในมิติเดียวเท่านั้น แต่การที่วิภาษวิธีมองว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ” (ดู ก.ป.ร. ๒๕๔๔; 25, สุภา ๒๕๔๐; 89) มีผลทำให้แนวคิดมาร์คซิสต์ยากที่จะล้าสมัยได้ เพราะจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์คือการถือว่าโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของสุภาเมื่อเทียบกับจิตร คือไม่มีความพยายามในการนำแนวมาร์คซิสต์มาวิเคราะห์สังคมไทย ดังนั้นการประสานทฤษฎีกับการปฏิบัติจึงไม่เกิด
ในเรื่องความทันสมัยของแนวคิดมาร์คซ์ สุรพงษ์ ชัยนาม (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 89) อธิบายว่าการนิยามชนชั้นของแนวมาร์คซิสต์ไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ไม่พิจารณาการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยม เพราะชนชั้นสะท้อนการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสมอ ดังนั้นคำกล่าวหาของพวกอดีตมาร์คซิสต์ไทยยุคนี้ ที่เสนอว่า “ชนชั้นในสมัยมาร์คซ์ไม่เหมือนรูปแบบชนชั้นในยุคปัจจุบัน” จึงไร้สาระและขาดน้ำหนักในการวิจารณ์แนวมาร์คซิสต์ ไม่มีมาร์คซิสต์ที่ไหนที่เสนอว่าชนชั้นกรรมาชีพในยุคมาร์คซ์เหมือนชนชั้นกรรมาชีพในปัจจุบันทุกประการ แต่สาระสำคัญคือ กรรมาชีพยังถูกแยกออกจากการคุมปัจจัยการผลิต และกรรมาชีพมีพลังมากขึ้นที่จะเปลี่ยนสังคมทุนนิยมในสมัยนี้ เพราะมีการเพิ่มจำนวนและฝีมือความสามารถของกรรมาชีพทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
สุรพงษ์ ชัยนาม เป็นนักคิดฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่ ถ้าเทียบกับสุภา แต่มีจุดร่วมกับสุภา ตรงที่ศึกษาอ่านงานของนักมาร์คซิสต์ตะวันตกโดยตรง ไม่ได้อาศัยงานชั้นสอง โดยเฉพาะงานที่ปรากฏออกมาใหม่ๆ ในยุคหลัง เช่นงานของ อันโตนิโอ กรัมชี่ สุรพงษ์ ถึงกับพูดว่า กรัมชี่ เป็นศาสดาของเขา (สัมภาษณ์ สุรพงษ์ ๒๕๔๕) ในยุคทศวรรษที่ 70 สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจากขบวนการ “ซ้ายใหม่” ต่อต้านเผด็จการสตาลิน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการกบฏในยุโรปยุค 1968 งานของสุรพงษ์จึงมีการนำเสนอที่เน้นเสรีภาพ และความละเอียดอ่อน แทนความคับแคบและกลไกของแนวสตาลิน
ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฐานการผลิตแบบวัตถุ (Base) กับโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) เช่นในเรื่องของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมที่กระทำภายใต้เงื่อนไขต่างๆ สุรพงษ์ อธิบายว่านักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจว่ามันมีสองปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั้นคือปัจจัยด้านวัตถุ (สภาพสังคมและระบบการผลิต) และบทบาทของมนุษย์ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83) สุรพงษ์ พยายามเน้นความสำคัญของมนุษย์เพื่อเป็นการคัดค้านแนวกลไกของสตาลินที่มองว่าการวิวัฒนาการของสังคมเป็นไปอย่างอัตโนมัติแบบที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ซ้ายใหม่” จากยุโรป สุรพงษ์ เสนอว่า “มนุษย์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งไม่มีชีวิต” และทฤษฎีต่างๆ กลายเป็นพลังทางวัตถุในการเปลี่ยนโลกจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการยึดเหนี่ยวทฤษฎีโดยมวลชนที่มีชีวิต ซึ่งแน่นอนขึ้นอยู่กับภาวะวัตถุวิสัย (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83) การนำเสนอแนวคิดในรูปแบบนี้ นอกจากจะชี้แจงความสำคัญของบทบาทมนุษย์แล้ว ยังเป็นการคัดค้านแนวคิดประเภท “ผลกำหนดล่วงหน้าตายตัว” ของพวกจิตนิยมที่เชื่อเรื่อง “กรรม” และพวกวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบกลไกที่เชื่อเรื่อง “กฏเหล็ก”
ตัวอย่างของแนว “ผลกำหนดล่วงน่าตายตัว” ในไทยมีอะไรบ้าง? ถ้าพิจารณาศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นแนวคิดจิตนิยม ก็จะมีการพูดถึงสภาพปัจจุบันที่มาจากการก่อกรรมในอดีต และในกรณีแนวคิดกลไกวัตถุนิยมแบบ สตาลิน ของ พ.ค.ท. ก็จะมีการนำเสนอว่าสังคมทุกประเทศย่อมก้าวสู่สังคมนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราไม่ต้องไปทุ่มเทหรือกังวลกับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมเท่าไร อย่างที่อธิบายไปแล้ว ดังนั้นการคัดค้านแนว “ผลกำหนดล่วงหน้า” เป็นการย้ำว่าแนวมาร์คซิสต์มองว่าไม่มีหลักประกันว่าการปฏิวัติจะได้รับชัยชนะ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 103) ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและการถกเถียงในประเด็นต่างๆ เช่นวิธีการต่อสู้ วิธีการจัดตั้งพรรค และสภาพทางวัตถุในโลกจริงโดยการยอมรับความจริง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่างานของสุรพงษ์จะปราศจากการวิเคราะห์แบบกลไกทั้งหมด ในการนำเสนอเรื่องการวิวัฒนาการของสังคมไทย มีการลอกแม่แบบที่ พ.ค.ท. จิตร และสายสตาลิน-เหมาใช้ โดยนำเสนอว่าระบบศักดินาไทยเป็นระบบเดียวกันกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังเป็นระบบเดียวกันกับระบบการผลิตแบบเอเซีย(Asiatic Mode of Production) ของมาร์คซ์ด้วย! (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 55, สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 219) ซึ่งเป็นการพยายามนำกรอบของการวิวัฒนาการสังคมยุโรปตะวันตกมายัดใส่ประวัติศาสตร์ไทย หรือการนำข้อเสนอบางอย่างของมาร์คซ์มาใช้โดยไม่มีการวิเคราะห์ลึก (ดู ใจและคณะ ๒๕๔๓; 13) การที่ สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจาก พ.ค.ท. ในเรื่องการวิเคราะห์ขั้นตอนต่างๆ ของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ พ.ค.ท. มีการจัดตั้งเพื่อถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายอิสระในไทย (Somsak Jeamteerasakul 1991; 15)
นอกจากนี้การวิเคราะห์สังคมไทยแบบนี้ของสุรพงษ์มีปัญหาหลายประการเมื่อขยายต่อไปสู่การอธิบายสังคมปัจจุบันเช่น
1) มีการเสนอว่าระบบศักดินาและการเข้ามาของเจ้าอณานิคมตะวันตกเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทุนนิยมในไทย โดยมองว่าทุนนิยมต้องก่อกำเนิดจากภายใน คือจากชนชั้นชาวเมืองเสรีในลักษณะเดียวกับอังกฤษเสมอ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 218) แต่ในความเป็นจริงหลังจากที่มีการสถาปนาทุนนิยมในประเทศสำคัญๆ หลายประเทศ ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์จะเป็นแรงผลักดันหลักที่ก่อให้เกิดการปรับตัวไปสู่ทุนนิยมในประเทศด้อยพัฒนา นอกจากนี้ในเรื่องความล้าหลังของระบบไทย ที่นำมาอธิบายว่าทำไมไทยไม่พัฒนาทุนนิยม Chris Harman นักมาร์คซิสต์อังกฤษ อธิบายว่าความล้าหลังและความอ่อนแอของระบบการปกครองในยุโรปตะวันตกอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เอื้ออำนวยให้ชนชั้นนายทุนก่อตัวขึ้นมาได้เร็ว ดังนั้นสังคมก้าวหน้าและเข้มแข็งของจีนหรืออินเดียในยุคต่างๆ เมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการห้ามปรามและทำลายการวิวัฒนาการของชนชั้นนายทุนในเอเซีย (Harman 1999; 113) พูดง่ายๆ บ่อยครั้งระบบที่ทันสมัยที่สุดจะกำเนิดขึ้นในส่วนของโลกที่ล้าหลังที่สุดได้
รัชกาลที่๕ ผู้นำการปฏิวัติทุนนิยมไทยที่ทำลายระบบศักดินา
2) มีการมองข้ามพลวัตการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยเองที่นำไปสู่ความทันสมัย พลวัตนี้มาจากความขัดแย้งทางชนชั้นหลายระดับ แต่สุรพงษ์มีการสรุปในงานที่เขียนก่อนหน้าการลุกฮือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประมาณสองสามเดือน ตามอย่าง Fred Riggs (1966)ว่า คนชั้นล่างในไทยไม่เคยมีบทบาทในการเปลี่ยนสังคมไทย (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 58) และมีการมองว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับบนที่ไม่มีส่วนร่วมจากมวลชน (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 104) ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด พ.ค.ท. ที่ลดความสำคัญของ ๒๔๗๕ ด้วย(Kasian Tejapira 2001; 35) อย่างไรก็ตามความคิดที่ลดบทบาทของผู้น้อยในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ถูกแย้งในปัจจุบันจากงานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐)
อีกปัญหาหนึ่งของงานสุรพงษ์คือความสับสนในการวิเคราะห์ระบบสตาลินหรือเหมา สำหรับสุรพงษ์ประเทศ “สังคมนิยม” คือ “ทางผ่านไปสู่สังคมนิยม” และการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนที่ทำลายศีลปะแบบเก่าๆ ด้วยความคิดคับแคบคือการปฏิวัติแบบ”มาร์คซิสต์” และสุรพงษ์มองว่าการปฏิวัติจีนเป็นแนวมาร์คซิสต์ เพราะใช้ “อุดมการณ์กรรมาชีพ” (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 5 และ 115) ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีส่วนในการปฏิวัติจีนแต่อย่างใด (Harris 1978, Hore 1991) นอกจากนี้สุรพงษ์มองเหมือน “ซ้ายใหม่” จากยุโรปหลายคนว่า การทำงานแบบเลนินนำไปสู่เด็จการของสตาลิน (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 169) อย่างไรก็ตามสุรพงษ์ยอมรับว่าเลนินเคยวิจารณ์สตาลิน โดยที่เลนินเตือนให้ระวังการเข้ามาของระบบราชการในรัสเซียแทนอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 177) ในส่วนนี้สุรพงษ์เพิ่มเติมว่ารัสเซียเป็น “เผด็จการเหนือกรรมาชีพ” ไม่ใช่เผด็จการของกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 142) และยิ่งกว่านั้นมีการเสนอว่าลัทธิสตาลินทำลายสังคมนิยม โดยการนำเผด็จการไปยัดเยียดให้ยุโรปตะวันออก (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 176)
หนังสืออ้างอิง
กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.) “วิธีสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน”
กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๔) “สังคมนิยมจากล่างสู่บน”
คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๕๑๖) “สังคมสมัยอยุธยา” ประวัติศาสตร์และการเมือง สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (๒๕๓๙) “โฉมหน้าศักดินาไทย” สำนักพิมพ์นกฮูก
ใจ อึ้งภากรณ์ (๒๕๔๐) “สังคมนิยมและทุนนิยมในโลกปัจจุบัน” ชมรมหนังสือ ประชาธิปไตยแรงาน กรุงเทพฯ
ใจ อึ้งภากรณ์ (๒๕๔๒) บรรณาธิการ “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์” เล่ม๑ ชมรมหนังสือ ประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ (๒๕๔๓) “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (๒๕๒๘) “เศรษฐศาสตร์หมู่บ้านไทยในอดีต” สำนักพิมพ์สร้างสรรค์
ชัยอนันต์ สมุทวณิช (๒๕๑๙) “ศักดินากับการพัฒนาการของสังคมไทย” นำอักษรการพิมพ์
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐) “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕” สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ
แล ดิลกวิทยรัตน์ (๒๕๒๒) วิถีการผลิตแบบเอเซียกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แห่งความด้อยพัฒนาของสังคมไทย วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๙ (๑), ๘๗-๙๘
ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล (๒๕๒๗) ระบบศักดินา ใน “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔”
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับ สมภพ มานะรังสรรค์ (บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
สัญชัย สุวังบุตร (๒๕๔๕) “ประวัติศาสตร์โซเวียตสมัยเลนิน 1917-1924” ศักดิโสภาการพิมพ์
สุภา ศิริมานนท์ (๒๕๓๐) “มาร์กซจงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร?” สำนักพิมพ์ชาวอักษร
สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๑๗) “ใครเป็นซ้าย?” กลุ่มหนังสือสัจจะ
สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๒๔) “มาร์กซ์และสังคมนิยม” ปาจารยสาร-เคล็ตไทย
Carr, E. H. (1990) What is History? Penguin Books, U.K.
Harman, C. (1998) Marxism and History. Bookmarks, London, U.K.
Harman, C. (1999) A people’s history of the world. Bookmarks, London, U.K.
Harris, Nigel (1978) The Mandate of Heaven. Marx and Mao in Modern China. Quartet Books, London.
Hore, C. (1991) The road to Tiananmen Square. Bookmarks, London.
Jeamteerasakul, Somsak (1991) The Communist Movement in Thailand. PhD Thesis, Department of Politics, Monash University.
Marx, K. (1970) Preface to a Contribution to the Critique of Political Economy. Progress Books, Moscow. Molynevx, J. (1998) The Legitimacy of modern art.. International Socialism Journal # 80 (SWP-UK), pp71-101.
Rajchagool, Chaiyan (1994) The rise and fall of the absolute monarchy. White Lotus, Bangkok.
Riggs, F. (1966) Thailand. The modernisation of a bureaucratic polity. East West Press, U.S.A.
Tejapira, Kasian (2001) Commodifying Marxism. The formulation of modern Thai radical culture 1927-1958. Kyoto University Press and Trans Pacific Press.
ใจ อึ๊งภากรณ์
บทความนี้มาจากหนังสือ “รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย” ใจ อึ๊งภากรณ์ และ นุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน 2547
อ่านเพิ่ม
มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย https://bit.ly/3112djA