ก่อนอื่นขอฟันธงว่า “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ไม่ใช่สิ่งเดียวกับเผด็จการ “สตาลิน/เหมา” ที่เคยมีในรัสเซีย และยังมีในจีน เกาหลีเหนือ หรือคิวบา และไม่ใช่สิ่งเดียวกับเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ในท้ายบทความนี้จะอธิบายรายละเอียด แต่ก่อนอื่นขอเสนอว่าสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์คืออะไร
มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ มองว่า “สังคมนิยม” เป็นสังคมทางผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์สมบูรณ์ แต่เราไม่ควรยึดติดกับคำ เพราะในยุคนี้ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน และเป็นสังคมที่ไม่มีระบบทุนนิยมแล้วเพราะถูกปฏิวัติยกเลิกไป
สังคมนิยมคือวิธีการจัดการบริหารสังคมมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือกันระหว่างพลเมือง เน้นความสมานฉันท์และเน้นความเท่าเทียมกัน แทนที่จะเน้นการแย่งชิงกัน หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน ที่มาจากระบบความคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของทุนนิยมตลาดเสรี
สังคมนิยมเป็นระบบที่ไม่มีชนชั้น คือไม่มีเจ้านายและผู้ถูกปกครอง ไม่มีคนส่วนน้อยที่ครอบครองทรัพยากรเกือบทั้งหมดในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอะไรนอกจากการทำงานเพื่อคนอื่น มันเป็นระบบที่ยกเลิกนายทุนและลูกจ้าง และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในกรอบ สังคมนิยมคือสภาพมนุษย์ที่เป็นปัจเจกเสรีในระดับสูงสุดผ่านกระบวนการร่วมมือกับคนอื่นๆ ในสังคม
ในระบบทุนนิยม ถ้าเรามีประชาธิปไตย มันก็แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราอาจมีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาล หรืออาจมีเสรีภาพในการแสดงออกบ้าง แต่เราไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบและควบคุมเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจ การลงทุน และการผลิต ถูกควบคุมโดยนายทุนในรูปแบบการผูกขาดอำนาจ และเราไม่มีโอกาสร่วมในการปกครองตนเอง เพราะเรายังมีคนมาปกครองเราภายใต้ระบบชนชั้น ในระบบทุนนิยมนี้ แม้แต่ในประเทศที่ไม่มีกฏหมายเผด็จการแบบ 112 ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ก็ยังมีข้อจำกัดอื่นเช่นประเด็นว่าใครครองสื่อมวลชนเป็นต้น ดังนั้นสิทธิในการแสดงออกของคนธรรมดากับนายทุนสื่อ ต่างกันในรูปธรรม
ในสังคมปัจจุบันเราไม่มีโอกาสเลือกว่าเราจะ “เป็นใคร” หรือ “เป็นอะไร” อย่างเสรี เพราะเราต้องไปหางานภายใต้เงื่อนไขนายทุน เด็กถูกแยกและคัดเลือกตั้งแต่อายุยังน้อย แยกออกว่าจะเป็น “ผู้ประสพความสำเร็จ” หรือเป็น “ผู้ไม่สำเร็จ” และเกือบทุกครั้งมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กนั้นเกิดในตระกูลไหน มนุษย์จำนวนมากจึงไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ท่ามกลางระบบชนชั้น
ความ “เท่าเทียม” ของสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเหมือนกัน” เพราะสังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนมีเสรีภาพที่จะเป็นปัจเจกเต็มที่ มันเปิดโอกาสให้เรามีนิสัยใจคอ วิถีชีวิต และรสนิยมตามใจชอบ แทนที่จะต้องแต่งเครื่องแบบ ถูกบังคับให้ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ และมีวิถีชีวิตในกรอบศีลธรรมและรสนิยมของชนชั้นปกครอง
นักสังคมนิยมชื่อดัง เช่น คาร์ล มาร์คซ์ หรือ ลีออน ตรอทสกี้ เคยวาดภาพว่าภายใต้สังคมนิยมเราจะสามารถเป็นศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์ในตอนเช้า และเป็นช่างฝีมือหรือนักกิฬาในตอนบ่ายได้ ชีวิตแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานโดยสิ้นเชิง เพราะเดิมมนุษย์รักการทำงานที่สร้างสรรค์ แต่พอเราตกอยู่ในสังคมชนชั้น งานกลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อภายใต้คำสั่งของคนอื่น งานในระบบสังคมนิยมจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะมันจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าเรามีผลงานที่น่ายกย่องภูมิใจ
แน่นอนงานบางอย่างคงไม่มีวันสนุกได้ เช่นการซักผ้า เก็บขยะ หรือการทำความสะอาดส้วม แต่งานแบบนั้นเราใช้เครื่องจักรมาทำแทนได้บ้าง และที่ยังต้องอาศัยมนุษย์ก็ผลัดกันทำ ไม่ใช่ว่ามีบางคนในสังคมที่ต้องทำงานแบบนี้ตลอดชีพ
สังคมนิยมจะเป็นระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบทุนนิยม เพราะมีการวางแผนการผลิต ผ่านระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง ไม่ใช่นายทุนแข่งกันผลิตเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจนเกิดการล่มจมและปิดโรงงานหรือเลิกจ้าง อย่างที่เราเห็นทั่วโลกตอนนี้ และสังคมนิยมจะไม่เปลืองทรัพยากรโดยการโฆษณาให้พลเมืองซื้อสิ่งที่ไม่ต้องการหรือไม่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นถ้าเรากำจัดการแข่งขันแบบตลาด ซึ่งเป็นแค่ระบบ “ตัวใครตัวมัน” เราจะกำจัดความจำเป็นของการทำสงครามและประหยัดงบประมาณทหารมหาศาล การจัดการบริการประชาชนในปริมาณระดับคนหมู่มาก จะยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายอีก เรามั่นใจตรงนี้ได้เพราะระบบสาธารณสุขและการศึกษาแบบ “ถ้วนหน้า” ในระบบทุนนิยมที่มีรัฐสวัสดิการ ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการบริการประชาชนผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัท
ในระบบสังคมนิยมพลเมืองจะสามารถควบคุมคุณภาพ และออกแบบระบบการบริการได้อีกด้วย ผ่าน “สภาประชาชน” ในระดับถานที่ทำงาน ท้องถิ่น หรือภูมิภาค
สภาประชาชนที่ว่านี้ เคยถูกออกแบบมาโดยคนทำงานธรรมดาในคอมมูนปารีส หรือหลังการปฏิวัติรัสเซียในยุคก่อนที่สตาลินจะยึดอำนาจ มันเป็นสภาที่เราถอดถอนผู้แทนที่เราเลือกมาได้ทุกเมื่อ เพื่อควบคุมเขาอย่างเต็มที่ มันเป็นระบบที่มีเขตการเลือกตั้งในสถานที่ทำงาน เพื่อควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองพร้อมๆ กัน และมันเป็นสภาที่ผู้แทนไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่กินเงินเดือนมากกว่าคนธรรมดา ต่างจากรัฐสภาในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง
ในระบบสังคมนิยมเราจะขยันลบล้างความคิดล้าหลังในหมู่พลเมือง ที่นำไปสู่การดูถูกสตรี เกย์ ทอม ดี้ กะเทย คนต่างชาติ หรือคนกลุ่มน้อย และมนุษย์จะสามารถรักกันด้วยหัวใจ แทนที่จะรักกันภายใต้เงื่อนไขของเงินหรือศีลธรรมจอมปลอม
สังคมนิยมคือระบบที่เราร่วมกันผลิตสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ต้องการ และเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าว จะใช้ระบบการทำงานของทุกคนตามความสามารถของแต่ละคน
ข้อเสียของทุนนิยม
ในระบบทุนนิยมมีการผลิตเพื่อกำไรของนายทุนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อกำไรลดลง ก็จะเลิกผลิต ทั้งๆ ที่คนยังต้องการสินค้ามากมาย มันจึงเกิดวิกฤตแห่งการผลิต “ล้นเกิน” ท่ามกลางความอดอยากเสมอ ทุนนิยมนี้ไร้ประสิทธิภาพจริงๆ และทุกวันนี้เราเห็น “วิกฤตสามชนิดซ้อนกัน” ของระบบทุนนิยม ซึ่งมีผลในการทำลายวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก ถึงขนาดที่เราไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีอนาคตหรือไม่
วิกฤตแรกคือวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การผลิตชะลอตัวมาหลายปี และเมื่อมีการ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจก็จะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอไม่มั่นคง นี่คือสภาพของระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมที่มีต้นเหตุจากการลดลงของอัตรากำไร [อ่านเพิ่ม วิกฤตเศรษฐกิจ https://bit.ly/2v6ndWf ]
วิกฤตที่สองคือวิกฤตโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยม และเราเริ่มเห็นภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างน่าใจหาย ในอนาคตอันใกล้จะมีหลายพื้นที่ของโลกที่มนุษย์อยู่ต่อไม่ได้เพราะขาดน้ำ ร้อนเกินไป หรือถูกน้ำทะเลท่วม นักวิทยาศาสตร์ นายทุน และนักการเมืองรู้เรื่องนี้มานานแต่ไม่สามารถแก้อะไรได้ เพราะระบบการแข่งขันในตลาดเสรีเพื่อเพิ่มกำไรแปลว่าไม่มีใครอยากลงทุนอย่างจริงจังเพื่อยกเลิกการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน [อ่านเพิ่ม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF ]
วิกฤตที่สาม คือวิกฤตโควิด ซึ่งเกิดจากการที่ระบบการเกษตรทุนนิยมรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งทำให้สัตว์ป่าอย่างเช่นค้างคาว เข้ามาสัมผัสกับชุมชนแออัดในเมืองหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสกระโดดสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่ออาชีพการทำงานและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เมื่อมีการล็อกดาวน์ และแน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนจนและคนที่มีสถานภาพไม่มั่นคง เช่นคนงานข้ามชาติเป็นต้น [อ่านเพิ่มวิกฤตโควิด https://bit.ly/2UA37Cx ]
สามวิกฤตซ้อนกันของทุนนิยมปัจจุบัน พิสูจน์ว่าเราต้องต่อสู้เพื่อสังคมใหม่
สังคมนิยมสองรูปแบบ
จะมีคนที่คิดว่าตนเองเป็น “ผู้รู้” และมาบอกเราว่า “สังคมนิยมสร้างไม่ได้” เพราะมันล้มเหลวที่รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม ลาว หรือจีน และแถมมันเป็นเผด็จการด้วย ใช่ระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจที่เคยมีหรือยังมีอยู่ในประเทศเหล่านั้น มันเป็นเผด็จการที่ไม่มีเสรีภาพ และยิ่งกว่านั้นมันไม่มีความเท่าเทียมด้วย มันเป็นระบบชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดพลเมืองในนามของ “สังคมนิยม” โดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเราวิเคราะห์ที่มาที่ไปของระบบเหล่านี้ จะพบว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในรัสเซียบนความพ่ายแพ้และซากศพของการปฏิวัติหลังจากที่เลนินเสียชีวิต มันเป็นการสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” โดยสตาลิน และในประเทศอื่นๆ หลังจากนั้นก็ลอกแบบกันมา ในจีนมันเป็นการปฏิวัติชาตินิยมของพรรคเผด็จการ และถ้าเราเปรียบเทียบบางเรื่องที่เห็นในเกาหลีเหนือทุกวันนี้ เราจะพบว่าคล้ายๆ ทุนนิยมตลาดเสรีของประเทศไทยอีกด้วย การวิเคราะห์ว่าระบบ “สตาลิน-เหมา” ตรงข้ามกับสังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งทำกัน แต่เป็นการวิเคราะห์ของนักมาร์คซิสต์อย่าง ลีออน ตรอทสกี หรือโทนนี่ คลิฟ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ
1. สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซียกับจีน(ภายใต้สตาลินกับเหมา) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.ส. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท “ท่านให้” ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม บัดนี้สังคมนิยมจากข้างบนเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการล่มสลายของการปกครองลัทธิสตาลินในรัสเซียและจีน และการที่แนวพรรคสังคมนิยมปฏิรูปในยุโรป เช่นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันและพรรคแรงงานในอังกฤษไม่พร้อมที่จะออกจากกรอบทุนนิยมตลาดเสรี และในเมื่อทุนนิยมมีวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง ก็ไม่สามารถใช้นโยบายรัฐสวัสดิการต่อไปในรูปแบบเดิม พรรคเหล่านี้จึงหันมาอ้างถึง “แนวทางที่สาม” ซึ่งเท่ากับการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีนั่นเอง
ลัทธิสตาลินถือได้ว่าเป็นลัทธิที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติซ้อนที่ทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย เราต้องเข้าใจว่าลัทธิสตาลินเป็นลัทธิปฏิกิริยาและอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับลัทธิมาร์คซ์และลัทธินี้มีอิทธิพลครอบงำการทำงานของนักต่อสู้ในประเทศไทยในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
2. สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเองร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยเลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ มาร์คซิสต์เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง
สังคมนิยมไม่ใช่แค่ความฝันแบบอุดมการณ์
คงจะมีคนล้าหลังหดหู่ที่พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า “มันเป็นแค่ความฝัน มันอุดมการณ์เกินไป” แต่เรามีคำตอบหลายประการ
ในประการแรกสังคมนิยมไม่ใช่ “สวรรค์” เพราะมันจะไม่แก้ปัญหาทุกอย่างในสังคมมนุษย์ แต่มันจะเป็นการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และความอยู่ดีกินดี เราคงต้องลองถูกลองผิดไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้น
ในประการที่สองสังคมนิยมสร้างขึ้นได้เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากความคิดคับแคบที่มาจากการกล่อมเกลาในระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าเราต้องปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติล้มรัฐนายทุน จะเป็นโอกาสทองที่เราจะร่วมกัน “ล้างขยะแห่งประวัติศาสตร์ออกจากหัวเรา”
ในประการที่สาม เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่เราวิวัฒนาการมาจากลิง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเราเป็นประวัติของสังคมที่ไม่มีชนชั้น คือเราร่วมมือกันเต็มที่ ทุนนิยมเองก็พึ่งมีมาสองร้อยกว่าปีเอง ในขณะที่มนุษย์อยู่บนโลกมานานถึงสองแสนห้าหมื่นปี และแม้แต่ในสังคมปัจจุบัน เราก็เห็นตัวอย่างของการร่วมมือกันหรือความสมานฉันท์เสมอ สังคมนิยมใกล้เคียงกับ “ธรรมชาติมนุษย์” มากกว่าความเห็นแก่ตัวของทุนนิยม
อย่างไรก็ตามสังคมบุพกาลที่ไม่มีชนชั้นในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมที่มีความขาดแคลน มันจึงเป็นสังคมเท่าเทียมท่ามกลางความยากจน แต่ปัจจุบันเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้เรามีชีวิตที่ดีและสบายได้ สังคมนิยมจึงต้องอาศัยความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมมันไม่ดีพอ เพราะมันไม่สามารถแจกจ่ายทรัพยากรให้ทุกคนได้ และมันเกิดวิกฤตและสงครามเป็นประจำ มันเหมือนกับว่ามนุษย์สร้างหัวจักรรถไฟที่มีพลังมหาศาลขึ้นมา แล้วขับรถไฟไม่เป็น เพราะคนขับคือนายทุนที่มีวัตถุประสงค์อื่น มันเลยตกรางเป็นประจำหรือชนกับรถไฟอื่น สังคมนิยมจะเปิดโอกาสให้เราทุกคนขับรถไฟได้อย่างปลอดภัย
พวกล้าหลังจำนวนมากชอบพูดว่า “สังคมนิยมล้าสมัย” แต่ระบบทุนนิยมเก่ากว่าความคิดสังคมนิยม ถ้าอะไรล้าหลังก็คงต้องเป็นทุนนิยม และยิ่งกว่านั้นการบูชาสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่มันเป็นเรื่องโบราณและอดีต ในขณะที่การเสนอสังคมใหม่ที่เสรีและเท่าเทียมเป็นการมองอนาคต
ในประการที่สี่ สังคมนิยมคือความใฝ่ฝันของมนุษย์ ซึ่งในอดีตมนุษย์ที่เป็นทาสเคยฝันว่าจะมีเสรีภาพ มนุษย์ที่เป็นไพร่เคยฝันว่าจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง สตรีเคยฝันว่าจะเท่าเทียมกับชาย และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจริงในโลกเรา แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังพวก “กาดำหดหู่” ที่บอกว่ามัน “อุดมกาณ์เกินไป” ความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ไม่มีวันเกิด
ในประการที่ห้า สังคมนิยมคือระบบที่เน้นวิทยาศาสตร์และความคิด “วัตถุนิยม” ที่ติดดินและเป็นรูปธรรม แต่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยไสยศาสตร์ และความเชื่อเพี้ยนๆ เช่นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของคนบางคน และมันเต็มไปด้วยการพยายามหลอกให้ประชาชนส่วนใหญ่กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของเขา เช่นการยอมรับการกดขี่ขูดรีด หรือการคลั่งชาติที่นำไปสู่การฆ่ากันเองของคนจนเป็นต้น ถึงแม้ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่เคยถูกสร้างขึ้นมาบนความคิดวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากมันเป็นระบบที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนน้อย การปกป้องทุนนิยมในยุคปัจจุบันกระทำบนพื้นฐานความเพ้อฝันและการหลอกลวง มันเป็นการฝันร้ายของมนุษย์
ในประการที่หก สังคมนิยมคือเป้าหมายในจิตใจคนที่รักเสรีภาพและความเท่าเทียม แต่มันไม่เกิดง่ายๆ นักสังคมนิยมไม่เคยหลอกตัวเองว่าถ้านั่งอ่านหนังสือที่บ้านมันจะเกิดโดยอัตโนมัติ เราต้องขยันสร้างเครื่องมือที่จะล้มอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนทำงาน เครื่องมือนั้นคือพรรคปฏิวัติสังคมนิยม สหภาพแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เราต้องมีสื่อของเรา เราต้องขยายสมาชิกพรรค เราต้องฝึกฝนการต่อสู้ซึ่งแน่นอนจะมีทั้งแพ้และชนะ มีทั้งการก้าวไปข้างหน้าสองก้าวและถอยหลังสองก้าว
ศึกษาสังคมนิยม สร้างพรรค สร้างขบวนการมวลชน เพื่อล้มระบบชนชั้น!!
ใจ อึ๊งภากรณ์