“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”
-คารล์ มาร์คซ์
ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์
กรรมาชีพ
เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง
ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน
กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน
นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง
จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้
สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป
เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย
ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา
พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?
พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ
ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”
ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย
ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน
เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน
พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย
ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ
เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่
อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม
สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค
วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย
สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค
ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์
ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย
เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง
ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ
หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ
(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ
(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้
ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก
ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้
อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู
ใจ อึ๊งภากรณ์