ในวันที่ 15 มกราคม 1919 ท่ามกลางการปราบปรามการลุกฮือของกรรมาชีพ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ถูกฆ่าทิ้งโดยทหารฝ่ายขวาภายใต้คำสั่งของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องระบบทุนนิยม หลังจากนั้นมีการโยนศพของทั้งสองคนลงคลอง และพวกชนชั้นกลางก็เฉลิมฉลองด้วยความดีใจและความป่าเถื่อนตามเคย
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 กระแสปฏิวัติในประเทศต่างๆ ของยุโรปพุ่งสูง มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ ประเทศเยอรมันหลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารชั้นล่างกับคนงานยึดเมือง มิวนิค และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารชั้นล่างติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังเพื่อประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้พระเจ้าไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที
พวกสังคมนิยมเยอรมันส่วนใหญ่สองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแค่ “กลุ่มสันนิบาตสบาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคสังคมนิยมปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงไม่ได้มีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ ในที่สุดไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการปฏิวัติได้
ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรคสังคมนิยม ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยมปฏิวัติ บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งกลายเป็นสัญญลักษณ์นาซีภายใต้ฮิตเลอร์
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันชื่อ เอเบอร์ด จากพรรคสังคมนิยมปฏิรูป วิ่งไปจับมือทันทีกับพวกนายพลเก่า เพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยมแปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ซึ่งมีฐานสนับสนุนในมวลชนทหารระดับล่างและกรรมาชีพของเมือง เบอร์ลิน
ผลงานสำคัญของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เราควรศึกษาคือเรื่อง “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ที่อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องอาศัยการปฏิวัติแทนที่จะตั้งความหวังกับการปฏิรูป และเรื่อง “การนัดหยุดงานทั่วไป” ที่เสนอความสำคัญของการนัดหยุดงาน พร้อมกับอธิบายว่า “การเมืองภาพกว้าง” กับเรื่อง “ปากท้อง” เชื่อมโยงกันอย่างไร บทความเรื่องการนัดหยุดงานทั่วไปสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพไทย เพราะมีการเน้นเรื่องปากท้องเหนือการเมืองภาพกว้างมานานเกินไป
ทุกวันนี้ท่ามกลางวิกฤตทุนนิยมสามวิกฤต คือวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และวิกฤตโลกร้อน คำพูดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ว่าเราเผชิญหน้ากับสองทางเลือกคือ “สังคมนิยมหรือความป่าเถื่อน” ดูเหมือนมีพลังอย่างยิ่ง และอย่าลืมด้วยว่าเผด็จการทหารที่เรามีอยู่ในไทยตอนนี้ มีรากฐานมาจากสภาพการเมืองหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและความพยายามที่จะปฏิรูประบบโดยทักษิณและไทยรักไทย
อ่านเพิ่ม: แนวความคิดของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค https://bit.ly/2DtwQWo
ต้นกำเนิดเผด็จการประยุทธ์ https://bit.ly/3stTEeQ
ใจ อึ๊งภากรณ์