ข้อแก้ตัวว่าไทยมีกษัตริย์ที่คุมเผด็จการ จึงล้มเผด็จการยาก
เวลาเรามองเปรียบเทียบการต่อสู้กับเผด็จทหารระหว่างไทยกับพม่า เราจะพบว่าความเชื่อในนิยายว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์มีอำนาจล้นฟ้าและควบคุมเผด็จการประยุทธ์ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนตาบอด วิเคราะห์อะไรอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นกลายเป็นข้อแก้ตัวสำหรับบางคนที่จะไม่สู้กับเผด็จการไทย และไม่สนใจที่จะคิดถึงวิธีการจัดตั้งมวลชนในการต่อสู้ดังกล่าว
เราจึงได้ยินคนบางคนพูดว่าประชาชนพม่าสามารถสู้กับเผด็จการพม่าได้ง่ายกว่า “เพราะไม่มีกษัตริย์”
คำพูดนี้เหลวไหลที่สุด และดูถูกเพื่อนๆในพม่าอย่างถึงที่สุดด้วย เพราะเผด็จการพม่ามีประวัติในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในลักษณะที่โหดร้ายยิ่งกว่าของไทย มีการยิงกระสุนใส่มวลชนมือเปล่าจนล้มตายเป็นพันๆ หลายครั้ง และมีการล้างเผ่าพันธุ์ในกรณีชาวโรฮิงญาอีกด้วย
ที่สำคัญคือฝ่ายประชาธิปไตยในพม่ามีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อสู้ต่อไปหลังจากที่มีการปราบปรามโดยทหาร
เรื่องอำนาจกษัตริย์ไทย เป็นเรื่องเท็จตั้งแต่แรก และที่แย่กว่านั้นมันเป็นนิยายที่ชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหาร พยายามใช้ในการหลอกและกล่อมเกลาให้คนไทยไม่กล้าสู้อย่างถึงที่สุด เราโชคดีที่บ่อยครั้งมวลชนไทยไม่เชื่อ
แต่ที่สำคัญคือ คนที่เสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจเหนือทหาร ไม่ว่าจะเป็นักวิชาการหรือประชาชนธรรมดา กำลังช่วยทหารในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อความเท็จที่พยุงลัทธิกษัตริย์
และเป็นที่น่าเสียดายที่คนที่หมกมุ่นในเรื่องกษัตริย์และราชวงศ์ เช่นในเพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” มักจะไม่มีข้อเสนอใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ในการขยายการต่อสู้และเพิ่มอำนาจของการเคลื่อนไหว เพราะเขาดูเหมือนสดวกสบายที่จะแค่ซุบซิบ
สรุปแล้วแนวที่เน้นอำนาจกษัตริย์เป็นแนวที่ “เข้าทาง” เผด็จการทหารไทย
ในโลกแห่งความเป็นจริงความโหดร้ายของเผด็จการทหารไทยและพม่า ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการที่มีหรือไม่มีกษัตริย์
ข้อแตกต่างระหว่างเผด็จการไทยกับพม่าคือเผด็จการไทยใช้กษัตริย์เป็นหนึ่งในข้ออ้างเพื่อปราบฝ่ายตรงข้าม แต่เผด็จการทหารพม่าก็มีข้ออ้างเช่นกัน คือเรื่องความมั่นคงของชาติและศาสนา ซึ่งฝ่ายไทยก็ใช้ด้วย
คนไทยที่ยังไม่ตาสว่างเรื่องนี้ควรจะรีบออกจากกะลา เพื่อร่วมล้มเผด็จการประยุทธ์!!
ข้อแก้ตัวเพื่อไม่ลงมือจัดตั้งกรรมาชีพไทยให้ร่วมและเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับเผด็จการไทย
หลายคนจะบ่นว่ากรรมาชีพไทย “จะเอาตัวรอดไม่ได้อยู่แล้ว จะหวังให้ออกมานัดหยุดงานได้อย่างไร?” หรือบางคนพูดว่า “ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป” ที่จะเป็นหัวหอกในการต่อสู้
คำพุดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำแก้ตัวของนักสหภาพแรงงานหรือนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่จะไม่จัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง ก็เลยสดวกสบายที่จะทำอะไรเดิมๆ เช่นการสอนให้คนงานแค่รู้จักกฏหมายแรงงานและรัฐสวัสดิการ แทนที่จะปลุกระดมทางการเมือง หรือบางคนอาจแค่พึงพอใจที่จะให้ “ผู้แทน” ของสหภาพแรงงานปราศรัยกับม็อบคนหนุ่มสาว โดยไม่สนใจที่จะมีการตั้งวงเพื่อร่วมกันคิดว่าจะสร้างกระแสนัดหยุดงานอย่างไร
แต่การออกมาต่อสู้ของกรรมาชีพพม่า ท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยมต่อพลังกรรมาชีพของนักสหภาพแรงงานและนักเคลื่อนไหวไทย
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาในพม่ามีการออกมาประท้วงอย่างเป็นระบบของ พยาบาล หมอ ครู ข้าราชการ เจ้าหน้าทีธนาคารชาติ พนักงานรถไฟ และคนงานเหมืองแร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการจัดตั้งกรรมาชีพกลุ่มต่างๆ และที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวพม่าเข้าใจเรื่องพลังที่มาจากการนัดหยุดงาน เข้าใจมาตั้งแต่การลุกฮือ 8-8-88 ด้วย
เห็นแล้วน่าปลื้มที่สุด แต่ในขณะเดียวกันละอายใจเพราะที่ไทยไม่มีแนวคิดแบบนี้ และขณะนี้ดูเหมือนคณะราษฏร์ไม่มียุทธศาสตร์ที่จะสร้างกระแสนัดหยุดงาน ทั้งๆ ที่แกนนำจำนวนมากโดนกฏหมาย 112 พร้อมกันนั้นพรรคที่เรียกตัวเองว่า “ก้าวไกล” แต่ก้าวไม่พ้นกรอบเดิมๆ จะยังคงไว้การจำคุกพลเมืองภายใต้ม.112
คนไทยที่ยังไม่ตาสว่างเรื่องกรรมาชีพควรจะรีบออกจากกะลา เพื่อช่วยสร้างกระแสนัดหยุดงานและร่วมล้มเผด็จการประยุทธ์!!
ใจ อึ๊งภากรณ์
อ่านเพิ่ม
ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5
ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU
การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล https://bit.ly/2XIe6el อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj