อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด คนที่เพ้อฝันคิดแบบนั้นเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่เข้าใจธาตุแท้ของกษัตริย์ไทย ความคิดแบบนี้จะปล่อยให้ทหารลอยนวล และไม่นำไปสู่การสู้กับเผด็จการตรงจุด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์มาจาก

1. การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

2. ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

การคุมกองกำลังทหารเป็นการคุมอำนาจทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหลายๆ ครั้ง ที่สำคัญสำหรับบทความนี้คือ บ่อยครั้งมีความขัดแย้งกันภายในกองทัพ เพื่อแย่งชิงอำนาจนี้ ซึ่งคงไม่เกิดถ้ากษัตริย์คุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ และที่สำคัญอีกคือมีกรณีที่มีการทำรัฐประหารที่สำเร็จและนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่กษัตริย์เคยสนับสนุน ตัวอย่างคือการทำรัฐประหารล้มรัฐบาล “หอย” ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ภูมิพลเคยชื่นชม เพียงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

ก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีมวลชนของพวกสลิ่มออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนนมากมาย มวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ไม่สนับสนุนระบบประชาธิปไตย เกลียดทักษิณเพราะทักษิณทำแนวร่วมกับคนจนเพื่อสร้างฐานเสียงให้ตัวเอง และไม่พอใจการ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ป่วยหนักและหมดสภาพที่จะทำอะไร และวชิราลงกรณ์ก็มัวแต่เสพสุขที่เยอรมัน

การทำรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่สามารถล้มรัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเสื้อเหลืองและกลุ่มพันธมิตรกึ่งฟาสซิสต์ทำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และพวกเหลืองเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพวกเอ็นจีโออีกด้วย การทำรัฐประหารครั้งนี้ทำไม่ได้ถ้าไม่มีกระแสปฏิกิริยาของฝ่ายเหลืองในสังคม และย่อมทำไม่ได้ถ้าตอนนั้นทักษิณเตรียมตัวจัดมวลชนเพื่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่มีวันทำ

หลังจากที่เผด็จการประยุทธ์ครองอำนาจมา 5 ปี มีการจัดการเลือกตั้งปลอมในปี 2562 ภายใต้กติกาที่ทหารร่างขึ้น ประเด็นสำคัญคือ 1. ทำไมต้องจัดการเลือกตั้งถ้าวชิราลงกรณ์ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ? แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ 2. มีประชาชนไทยหลายล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคของประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจจากฐานเสียงในสังคมที่เผด็จการประยุทธ์ใช้เพื่อครองอำนาจ มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกษัตริย์

พอมาถึงช่วงนี้ วิกฤตโควิดและความไม่พอใจอื่นๆ ที่สะสมในสังคม เริ่มทำลายฐานสนับสนุนของประยุทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” มีความสำคัญสำหรับทหารและชนชั้นนายทุนไทย ในการกล่อมเกลาประชาชนให้สนับสนุนสิ่งที่ชนชั้นปกครองเหล่านี้กระทำ แต่มันต่างโดยสิ้นเชิงกับ “อำนาจกษัตริย์” ซึ่งเป็นภาพลวงตา

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราจะล้มเผด็จการได้ ที่สำคัญคือต้องมีการปลุกระดมกรรมาชีพคนทำงาน คือคนที่มีพลังทางเศรษฐกิจ ให้นัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ และสิ่งนี้เกิดได้ง่ายขึ้นถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยม (ไม่ใช่สร้าง “สหภาพคนทำงาน”)

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม จะช่วยกำจัดการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด” เกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สภาวะแปลกแยก กับการสร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์  https://bit.ly/3B3mwOk

นักเคลื่อนไหวควรปฏิเสธการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด”   https://bit.ly/385NoRk

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5  

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t  

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

อนาคตของอัฟกานิสถานหลังตาลิบันชนะตะวันตก

ไม่มีใครสามารถทำนายด้วยความมั่นใจว่าอนาคตของอัฟกานิสถานหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถตั้งข้อสังเกตสำคัญๆ ได้ดังนี้

ตาลิบันสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก เพราะในพื้นที่ที่เขาคุมเขาใช้ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม ส่วนในพื้นที่ที่รัฐบาลหุ่นของสหรัฐคุม ระบบยุติธรรมเต็มไปด้วยการคอร์รับชันและการเล่นเส้นเล่นสาย จนพูดได้ว่าไม่มีความยุติธรรมเลย นอกจากนี้ประชาชนในชนบทเกลียดชังตะวันตกเพราะมีการทิ้งระเบิดทำลายชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ตาลิบันยึดอำนาจได้ โดยไม่มีเหตุนองเลือดและไม่ต้องสู้รบ เพราะตาลิบันเจรจาทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในชุมชนและเมืองต่างๆ หลายฝ่าย และสัญญาว่าจะยุติสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ยอมให้ตาลิบันยึดอำนาจเพราะมองไม่ออกว่าอดีตรัฐบาลจะชนะตาลิบันอย่างไร และทหารของรัฐบาลเก่าก็หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อ แต่การทำสัญญากับหลายกลุ่มที่เคยอยู่ข้างสหรัฐและอังกฤษมีข้อเสีย เพราะพวกนั้นคงหวังผลประโยชน์เป็นการตอบแทน และเขาเป็นพวกที่มีประวัติการคอร์รับชันสูง ถ้าตาลิบันต้องปกครองร่วมกับพวกนี้ในที่สุดจะเสี่ยงกับการเสียฐานสนับสนุนจากคนธรรมดาในชนบท

ตาลิบันมีการดึงชาวอัฟกันหลายเชื้อชาติเข้ามาร่วมขบวนการ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เน้นกลุ่มเชื้อชาติเดียว ซึ่งทำให้ตาลิบันขยายฐานอำนาจได้ ในขณะเดียวกันพวกขุนศึกที่เคยคุมหลายพื้นที่ก็หมดอำนาจลงไป

อัฟกานิสถานเป็นประเทศยากจนที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินสูงมาก รัฐบาลต่างๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ในอนาคตถ้ารัฐบาลตาลิบันสามารถปฏิรูปที่ดินเพื่อให้คนจนในชนบทมีที่ดินของตนเองก็จะสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าตาลิบันต้องสร้างรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยแนวร่วมจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนสหรัฐ พวกนี้จะกีดกันการปฏิรูปที่ดินเพราะขัดกับผลประโยชน์ชนชั้นตนเอง ซึ่งถ้าตาลิบันล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดินประชาชนในชนบทจะเริ่มไม่พอใจมากขึ้น

ในเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งเป็นข้ออ้างเท็จของตะวันในการบุกและยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อยี่สิบปีก่อน โฆษกตาลิบันออกมาพูดว่าอยากให้สตรีมีบทบาทในสังคมการเมือง แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตาลิบันเปลี่ยนความคิดจริงหรือแค่โกหก การกดขี่สตรีของตาลิบันมาจากลัทธิศาสนาสายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรากฐานการก่อตั้งขบวนการแต่แรก มันเป็นลัทธิที่มาควบคู่กับความคิดกู้ชาติจากรัสเซีย ตะวันตก และขุนศึกอัฟกัน

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่เคยสนใจสิทธิสตรีในรูปธรรมเลย เพราะทำแนวร่วมและขายอาวุธให้ประเทศที่กดขี่สตรีหนักๆ อย่างซาอุดิอาระเบีย และในสหรัฐเองสิทธิทำแท้งเสรีก็ถูกรัฐคุกคามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในรูปธรรมกองทัพของจักรววรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถาน แสดงความสมานฉันท์กับสตรีอัฟกันในชนบทด้วยการทิ้งระเบิดหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งทำให้พลเรือนทั้งหญิงและชายล้มตายจำนวนมาก

สตรีในอัฟกานิสถานสามารถปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากสตรีที่อื่น แต่แน่นอนต้องใช้เวลา และต้องได้รับความสมานฉันท์จากชาย แต่สิ่งที่ชัดเจนคือไปหวังพึ่งจักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ได้

ดูเหมือนตาลิบันอยากจะไปจับมือกับรัฐบาลจีน จีนต้องการเห็นความมั่นคงในอัฟกานิสถานและต้องการปกป้องการลงทุนในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ ถ้าตาลิบันผูกมิตรกับจีน ก็คงจะทำเพื่อหวังคานอำนาจตะวันตก แต่ทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐและอังกฤษก็ล้วนแต่เป็นจักรวรรดินิยมทั้งนั้น จีนคงจะเรียกร้องให้ตาลิบันเลิกสนับสนุนชาวมุสลิมในจีนที่ถูกรัฐบาลกดขี่อีกด้วย เช่นชาวอุยกูร์

ขอย้ำอีกครั้งว่าชาวมาร์คซิสต์ไม่ได้สนับสนุนตาลิบันแต่อย่างใด เรามองว่าตาลิบันเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ซึ่งเกิดขึ้นจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยมตะวันตกและเคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐในอดีต แต่เราดีใจที่จักรวรรดินิยมสหรัฐและอังกฤษแพ้สงครามในอัฟกานิสถาน เพราะเราคัดค้านสงครามจักรวรรดินิยมทุกรูปแบบ ชาวอัฟกันจะมีเสรีภาพได้เมื่อปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากในไทย คนไทยจะมีเสรีภาพได้ก็ต้องปลดแอกตนเองเช่นกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3B0k0bw  

“สองไม่เอา”ในยุครัฐประหาร๑๙กันยา

ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “สองไม่เอา” ที่ออกมาต้านรัฐประหาร๑๙กันยา เราเป็น“สองไม่เอา”เพราะเราคัดค้านการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง เราคัดค้านเผด็จการทหารทุกรูปแบบ แต่เราไม่ได้สนับสนุนทักษิณเพราะเขาก่อความรุนแรงต่อชาวปาตานีและต่อประชาชนอื่นๆ ในสงครามยาเสพติด และทักษิณเป็นนายทุนใหญ่ที่มีผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ต่างจากกรรมาชีพและคนจน อย่างไรก็ตามเรามองว่านโยบาย ๓๐ บาท และกองทุนหมู่บ้าน หรือการพักหนี้ชาวนาเป็นเรื่องดี แต่ดีไม่พอ เพราะเราต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ และในที่สุดเราอยากได้ระบบสังคมนิยม ซึ่งทักษิณคัดค้าน นอกจากนี้เราไม่เคยจับมือกับเสื้อเหลืองในการค้านทักษิณ เพราะพวกนั้นเป็นพวกอนุรักษ์นิยมรักเจ้า ที่ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยและพร้อมกันนั้นโบกมือให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร และสิ่งที่สำคัญคือเราก็ไปร่วมกับเสื้อแดงเมื่อขบวนการนั้นเกิดขึ้น เพราะเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี

ขึันเวทีเสื้อแดง

ในยุคนั้นคนอย่าง สศจ. ออกมาวิจารณ์ “สองไม่เอา” อย่างไร้สาระด้วยคำอธิบายที่แสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของการเมือง สศจ.พูดว่าถ้าจะคัดค้านการทำรัฐประหารก็ “ต้อง” สนับสนุนทักษิณ จุดยืนอื่น “ไม่มีเหตุผล” ซึ่งถ้านำตรรกะนี้มาใช้กับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานปัจจุบันก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งคือสนับสนุนตาลิบันหรือไม่ก็จักรวรรดินิยมสหรัฐ!! หรือถ้าใช้ตรรกะนี้ในเรื่องรัฐประหารของประยุทธ์ ก็ต้องสนับสนุนประยุทธ์หรือไม่ก็สนับสนุนพรรคเพื่อไทย! จุดยืนอื่นๆ “มีไม่ได้”

ในยุคหลังอาจมีกลุ่ม “สองไม่เอา” กลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้น บางคนไม่เอาทักษิณ ไม่เอาประยุทธ์ แต่เชียร์พรรคก้าวไกล ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นพรรคนายทุนที่คัดค้านเผด็จการ แต่ไม่ยอมนำการต่อสู้บนท้องถนน หรือการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นสิ่งชี้ขาดว่าเราจะกำจัดเผด็จการได้หรือไม่

ขอย้ำว่าฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์เน้นว่าพลังที่จะกำจัดเผด็จการปัจจุบันอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพ และภาระสำคัญในยุคนี้คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเพื่อปลุกระดมการต่อสู้บวกกับแนวคิดทางการเมือง และเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก้าวหน้าต่างๆ การทำแนวร่วมกับคนที่รักประชาธิปไตยและต้องการไล่เผด็จการประยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในการทำแนวร่วมเราจะไม่มีวันไปลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อเอาใจคนชั้นกลาง หรือยอมให้พรรคการเมืองนายทุนกำหนดทิศทางการต่อสู้ของเรา

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สังคมนิยมคือเสรีภาพที่แท้จริง https://bit.ly/3pSFUZ4  

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU  

รัฐกับการปฏิวัติ https://bit.ly/3rM2pjN  

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42  

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5  

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t  

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

สหรัฐกับอังกฤษพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน ฝ่ายซ้ายคิดอย่างไร?

ในอัฟกานิสถานเราเห็นความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกท่ามกลางการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในรอบ20ปีของการแทรกแซง เราดีใจที่สหรัฐและอังกฤษแพ้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวาคลั่งศาสนา แต่ในการปลดแอกประชาชนจากตาลิบัน ประชาชนต้องทำเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำให้มันก็กลายเป็นการแทรกแซงโดยจักรวรรดินิยมอีกรอบไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือสหรัฐ

เราต้องเน้นว่าโศกนาฏกรรมของอัฟกานิสถานเป็นสิ่งที่เกิดจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม

จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสงครามในประเทศอัฟกานิสถานโดยใช้ข้ออ้างในการก่อสงครามจากการถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในการทำสงครามครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำเพื่อกำจัดการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กรอัลเคดาที่แอบอยู่ในประเทศ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตาลิบันเสนอว่าพร้อมจะขับไล่อัลเคดาออกไป แต่สหรัฐไม่สนใจ ในที่สุดสงครามของสหรัฐและอังกฤษได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลกและทำให้ผู้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าที่ล้มตายในนิวยอร์คแต่แรก  เพราะฉนั้นถ้าหากเราต้องการมองเห็นต้นตอสาเหตุของสงครามที่แท้จริง   เราต้องมองว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบจักรวรรดินิยมของทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก

ในยุคหลังความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม สหรัฐที่เคยเป็นเจ้าโลก เริ่มถูกมองว่าอ่อนแอลงทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องการฟื้นความเป็นใหญ่ของสหรัฐผ่านการทำสงครามให้ชาวโลกเห็น

สื่อต่าง ๆ  พยายามนำเสนอว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสรีภาพ ตามที่มีนักคิดฝ่ายขวา ชื่อ Samuel  P. Huntington  เคยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ  ” The clash of civilizations ”  (ซึ่งแปลว่าการปะทะกันทางอารยธรรม)  เขาเสนอว่าหลังยุคสงครามเย็นจะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก  ระหว่างคริสต์กับอิสลาม ระหว่างประชาธิปไตยเสรีกับเผด็จการอิสลาม แต่ในความเป็นจริงสหรัฐและประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ ไม่เคยมีหลักการณ์ในนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพราะบ่อยครั้งสนับสนุนการทำรัฐประหารของฝ่ายขวา หรือไปจับมือกับรัฐอิสลามล้าหลังสุดขั้วอย่างซาอุดิอาระเบีย

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น  จะเห็นว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นหลักในการเกิดสงครามครั้งนี้  แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทรัพยากรให้กอบโกย  แต่ประเทศรอบข้างในแถบตะวันออกกลางนั้นมีบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก  และประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นประตูสู่ประเทศในแถบตะวันออกกลาง  ซึ่งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนถึงสงครามอ่าวเพอร์เซีย  ทำให้เราตัดสินได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรวรรดินิยม  ที่มีจักรวรรดินิยมรายใหญ่อย่างสหรัฐและพันธมิตรเป็นผู้เข้ารุมประเทศอัฟกานิสถาน  เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในโลกทางทหารซึ่งเชื่อมไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ใช่กลุ่มมหาอำนาจเดียวที่แทรกแซงอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะบุกเข้าไปจักรวรรดินิยมรัสเซียก็เคยแทรกแซงและในที่สุดพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกไป ในยุคนั้นสหรัฐแอบสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ที่สู้กับรัสเซียรวมถึงตาลิบันด้วย

ตาลิบันเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการกู้ชาติของนักศึกษาในวิทยาลัยอิสลามแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีแนวคิดปฏิกิริยา กลุ่มนี้ยึดอำนาจได้ก่อนที่ตะวันตกจะบุกเข้ามา เพราะรัฐบาลขอกลุ่มขุนศึกต่างๆ ที่ครองอำนาจหลังจากที่รัสเซียถอนออกไป ล้วนแต่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันและเต็มไปด้วยการคอรรับชั่น

ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่จะไปก่อสงครามและแทรกแซงประเทศต่างๆ

ในเรื่องของสถานภาพสตรีในอัฟกานิสถาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลิบันกดขี่สตรี แต่การแทรกแซงของตะวันตกไม่เคยทำไปเพื่อปลดแอกสตรี เพราะไม่เคยสนใจที่จะปลดแอกสตรีในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และภายในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีการกดขี่ทางเพศ

เหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยม  เป็นต้นเหตุความรุนแรง ทั้งในรูปแบบการก่อการร้ายของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่แต่ไร้พลัง และการทำสงครามของมหาอำนาจ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเท่าเทียม ทุนนิยมกลับไปเน้นการแย่งชิงทรัพยากร การกอบโกยกำไร และผลิตอาวุธ และคนที่ไปรบและเสียชีวิตส่วนมากก็เป็นประชาชนคนจนในทุกประเทศรวมถึงในสหรัฐด้วย

สหประชาชาติไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจคิดว่าสันติภาพหรือความสงบสุขของโลกใบนี้มาจากสหประชาชาติ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายของสหประชาชาติก็ล้วนแต่เป็นประเทศจักรวรรดินิยมรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จุดยืนนักมาร์คซิสต์ต่อสงครามโดยทั่วไป

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับโลกภายใต้ระบบทุนนิยม  ใช่ว่าทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยหรือจะอยู่เฉย ๆ โดยดูได้จากจำนวนคนที่ต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดียออกมาประท้วง 100,000 คน  อิตาลี 300,000 คน ญี่ปุ่น 5,000 คนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมด้วย อังกฤษ 100,000 คน รวมถึงในไทยด้วยตัวอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายหมื่นคน

เราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม  และที่สำคัญสงครามแต่ละครั้งหยุดได้เพราะมีการรวมตัวกันและออกมาต่อต้าน เช่น สงครามเวียดนามที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้าน  หรือสงครามโลกครั้งที่1 หยุดได้เพราะมีการปฏิวัติในรัสเซีย

เพราะฉะนั้นจุดยืนของนักมาร์คซิสต์เห็นด้วยกับการสร้างแนวร่วมต้านสงคราม เห็นด้วยกับการที่กรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและกลุ่มต่าง ๆ ที่รักความเป็นธรรมออกมาต่อต้านสงครามร่วมกัน แต่ในที่สุดถ้าจะยับยั้งสงครามระหว่างประเทศอย่างจริงจังเราต้องแปรรูปการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ เพื่อโค่นล้มนายทุนและขุนศึกทั้งหลายและระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดสงครามตลอดมา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ และอดุลย์ อัจฉริยากร