ในอัฟกานิสถานเราเห็นความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกท่ามกลางการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในรอบ20ปีของการแทรกแซง เราดีใจที่สหรัฐและอังกฤษแพ้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวาคลั่งศาสนา แต่ในการปลดแอกประชาชนจากตาลิบัน ประชาชนต้องทำเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำให้มันก็กลายเป็นการแทรกแซงโดยจักรวรรดินิยมอีกรอบไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือสหรัฐ
เราต้องเน้นว่าโศกนาฏกรรมของอัฟกานิสถานเป็นสิ่งที่เกิดจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม
จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสงครามในประเทศอัฟกานิสถานโดยใช้ข้ออ้างในการก่อสงครามจากการถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในการทำสงครามครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำเพื่อกำจัดการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กรอัลเคดาที่แอบอยู่ในประเทศ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตาลิบันเสนอว่าพร้อมจะขับไล่อัลเคดาออกไป แต่สหรัฐไม่สนใจ ในที่สุดสงครามของสหรัฐและอังกฤษได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลกและทำให้ผู้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าที่ล้มตายในนิวยอร์คแต่แรก เพราะฉนั้นถ้าหากเราต้องการมองเห็นต้นตอสาเหตุของสงครามที่แท้จริง เราต้องมองว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบจักรวรรดินิยมของทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก
ในยุคหลังความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม สหรัฐที่เคยเป็นเจ้าโลก เริ่มถูกมองว่าอ่อนแอลงทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องการฟื้นความเป็นใหญ่ของสหรัฐผ่านการทำสงครามให้ชาวโลกเห็น
สื่อต่าง ๆ พยายามนำเสนอว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสรีภาพ ตามที่มีนักคิดฝ่ายขวา ชื่อ Samuel P. Huntington เคยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ ” The clash of civilizations ” (ซึ่งแปลว่าการปะทะกันทางอารยธรรม) เขาเสนอว่าหลังยุคสงครามเย็นจะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก ระหว่างคริสต์กับอิสลาม ระหว่างประชาธิปไตยเสรีกับเผด็จการอิสลาม แต่ในความเป็นจริงสหรัฐและประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ ไม่เคยมีหลักการณ์ในนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพราะบ่อยครั้งสนับสนุนการทำรัฐประหารของฝ่ายขวา หรือไปจับมือกับรัฐอิสลามล้าหลังสุดขั้วอย่างซาอุดิอาระเบีย
ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น จะเห็นว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นหลักในการเกิดสงครามครั้งนี้ แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทรัพยากรให้กอบโกย แต่ประเทศรอบข้างในแถบตะวันออกกลางนั้นมีบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก และประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นประตูสู่ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนถึงสงครามอ่าวเพอร์เซีย ทำให้เราตัดสินได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรวรรดินิยม ที่มีจักรวรรดินิยมรายใหญ่อย่างสหรัฐและพันธมิตรเป็นผู้เข้ารุมประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในโลกทางทหารซึ่งเชื่อมไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก
จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ใช่กลุ่มมหาอำนาจเดียวที่แทรกแซงอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะบุกเข้าไปจักรวรรดินิยมรัสเซียก็เคยแทรกแซงและในที่สุดพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกไป ในยุคนั้นสหรัฐแอบสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ที่สู้กับรัสเซียรวมถึงตาลิบันด้วย
ตาลิบันเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการกู้ชาติของนักศึกษาในวิทยาลัยอิสลามแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีแนวคิดปฏิกิริยา กลุ่มนี้ยึดอำนาจได้ก่อนที่ตะวันตกจะบุกเข้ามา เพราะรัฐบาลขอกลุ่มขุนศึกต่างๆ ที่ครองอำนาจหลังจากที่รัสเซียถอนออกไป ล้วนแต่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันและเต็มไปด้วยการคอรรับชั่น
ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่จะไปก่อสงครามและแทรกแซงประเทศต่างๆ
ในเรื่องของสถานภาพสตรีในอัฟกานิสถาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลิบันกดขี่สตรี แต่การแทรกแซงของตะวันตกไม่เคยทำไปเพื่อปลดแอกสตรี เพราะไม่เคยสนใจที่จะปลดแอกสตรีในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และภายในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีการกดขี่ทางเพศ
เหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยม เป็นต้นเหตุความรุนแรง ทั้งในรูปแบบการก่อการร้ายของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่แต่ไร้พลัง และการทำสงครามของมหาอำนาจ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเท่าเทียม ทุนนิยมกลับไปเน้นการแย่งชิงทรัพยากร การกอบโกยกำไร และผลิตอาวุธ และคนที่ไปรบและเสียชีวิตส่วนมากก็เป็นประชาชนคนจนในทุกประเทศรวมถึงในสหรัฐด้วย
สหประชาชาติไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจคิดว่าสันติภาพหรือความสงบสุขของโลกใบนี้มาจากสหประชาชาติ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายของสหประชาชาติก็ล้วนแต่เป็นประเทศจักรวรรดินิยมรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
จุดยืนนักมาร์คซิสต์ต่อสงครามโดยทั่วไป
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับโลกภายใต้ระบบทุนนิยม ใช่ว่าทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยหรือจะอยู่เฉย ๆ โดยดูได้จากจำนวนคนที่ต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดียออกมาประท้วง 100,000 คน อิตาลี 300,000 คน ญี่ปุ่น 5,000 คนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมด้วย อังกฤษ 100,000 คน รวมถึงในไทยด้วยตัวอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายหมื่นคน
เราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม และที่สำคัญสงครามแต่ละครั้งหยุดได้เพราะมีการรวมตัวกันและออกมาต่อต้าน เช่น สงครามเวียดนามที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้าน หรือสงครามโลกครั้งที่1 หยุดได้เพราะมีการปฏิวัติในรัสเซีย
เพราะฉะนั้นจุดยืนของนักมาร์คซิสต์เห็นด้วยกับการสร้างแนวร่วมต้านสงคราม เห็นด้วยกับการที่กรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและกลุ่มต่าง ๆ ที่รักความเป็นธรรมออกมาต่อต้านสงครามร่วมกัน แต่ในที่สุดถ้าจะยับยั้งสงครามระหว่างประเทศอย่างจริงจังเราต้องแปรรูปการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ เพื่อโค่นล้มนายทุนและขุนศึกทั้งหลายและระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดสงครามตลอดมา
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ และอดุลย์ อัจฉริยากร