สำหรับคนที่ต้องการล้มระบบปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ปฏิรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ ผ่านรัฐสภา มีสองทางเลือกที่แตกต่างกันคือ แนวอนาธิปไตย กับแนวมาร์คซิสต์
คนหนุ่มสาวอาจมองว่าแนวอนาธิปไตย ที่เสนอการต่อสู้แบบไม่มีผู้นำ ไม่มีพรรค และปฏิเสธการสร้างรัฐใหม่ เป็นแนวที่ควรจะเลือก เพราะเขามีประสบการณ์ของแกนนำที่เป็นเผด็จการหรืออย่างน้อยไม่ได้หารือกับรากหญ้า เขาอาจมีประสบการณ์ของพรรคกระแสหลักที่ไม่ยอมนำการต่อสู้ และพยายามห้ามคนที่เสนออะไรก้าวหน้าไม่ให้พูด และเขาอาจมองไปที่จีน ที่อ้างว่าเป็นประเทศที่มีรัฐกรรมาชีพ แต่แท้จริงเป็นเผด็จการทุนนิยมภายใต้อำนาจพรรคแนวสตาลินเป็นต้น นอกจากนี้คนที่ปลื้มแนวอนาธิปไตยอาจเบื่อกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่มาจากสังคมอนุรักษ์นิยมด้วย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
เราอาจเห็นใจคนที่คิดแบบนี้บนพื้นฐานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่เราไม่เห็นด้วยในแนวทาง เพราะเป็นการวิเคราะห์สังคมแบบตื้นเขิน
สำหรับนักมาร์คซิสต์เรามีจุดยืนที่แตกต่างกับพวกอนาธิปไตยในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องคือ วิธีการพัฒนาและนำการต่อสู้ บทบาทผู้นำ บทบาทพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และบทบาทของรัฐ
มาร์คซ์ต่างจากพวกผู้นำแนวอนาธิปไตยในยุคของเขา ตรงที่มาร์คซ์มองว่าทุนนิยมมีลักษณะก้าวหน้าในบางเรื่องคือสามารถพัฒนาระบบการผลิตได้ จนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ควรจะต้องอดอยาก แต่ทุนนิยมไม่สามารถจะระบายความก้าวหน้านี้ไปสู่พลเมืองส่วนใหญ่ได้ เพราะเน้นการแสวงหากำไรเป็นหลัก อย่างไรก็ตามทุนนิยมเป็นระบบที่รวมผู้ผลิต กรรมาชีพนั้นเอง เข้าสู่ศูนย์กลางของการผลิต จึงให้พลังซ้อนเร้นกับกรรมาชีพ
มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ นี่คือความหมายของ “การนำ”
“การนำ” แบบมาร์คซิสต์ ไม่ใช่การสั่งของผู้ใหญ่ในขบวนการ แต่เป็นการพยายามช่วงชิงมวลชนโดยกรรมาชีพที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่คนคนเดียวหรือกลุ่ม “ผู้ใหญ่” และในเวลาที่แตกต่างกันการนำอาจมาจากคนที่แตกต่างกันด้วย แต่บ่อยครั้งพวกอนาธิปไตยจะมองว่าการนำคือการสร้างอภิสิทธิ์ชน เราจึงเห็นขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยที่ “ปฏิเสธการมีผู้นำ”
เราเข้าใจดีว่าขบวนการของคนหนุ่มสาวต้องการหลีกเลี่ยงการนำแบบเผด็จการของ “ผู้ใหญ่” ที่สั่งจากเบื้องบนลงมา
ในขณะเดียวกันการปฏิเสธ “การนำ” และโครงสร้างของขบวนการก็มีปัญหา
ในกรณีฮ่องกง ปี 2019 ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำ ตรวจสอบแกนนำ หรือเลือกแนวทางด้วยกระบวนการประชาธิปไตย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชยลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้
ในไทย ขบวนการที่ปฏิเสธการนำ ก็มีผู้นำอยู่ดีเพราะในทุกขบวนการต้องมีการกำหนดทิศทางการต่อสู้และประสานการต่อสู้ ซึ่งผู้นำย่อมเป็นคนกำหนด การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวในไทยและฮ่องกง แปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้ การคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงพอ เพราะหลายคนอาจเข้าไม่ถึง
การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป
พูดง่ายๆ มันต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก
กลับมาเรื่องภาระของนักสังคมนิยมในการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้น
นักต่อสู้จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจะเลือกการทำงานที่เขาคิดว่า “เป็นไปได้” บางคนอาจเลือกประนีประนอมกับคนที่ล้าหลังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เช่นนักสหภาพแรงงานที่ไม่ยอมคุยเรื่องการเมืองก้าวหน้าในสหภาพ คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ อันนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับ “สหภาพคนทำงาน” ในอนาคต เพราะถ้าไม่สร้างพรรคสังคมนิยมกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน
นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้า
ในเรื่อง “รัฐ” พวกอนาธิปไตยเกลียดชังรัฐทุกชนิด แต่ทั้งๆ ที่มาร์คซิสต์เกลียดชังรัฐทุนนิยมในโลกปัจจุบัน เรามองว่าถ้าจะโค่นรัฐเก่า ก็ต้องอาศัยรัฐใหม่ของกรรมาชีพในการประสานงานการสร้างระบบสังคมนิยมและประชาธิปไตย
ความคิดของพวกอนาธิปไตยที่ปฏิเสธทั้งพรรคและการสร้างรัฐกรรมาชีพ และเน้นความกระจัดกระจายแทน แปลว่าเขาไม่สามารถใช้อำนาจกรรมาชีพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างสังคมใหม่ เพราะไม่สามาระรวมศูนย์การต่อสู่และวางแผนการสร้างรัฐใหม่ ซึ่งในหลายๆ กรณีมันจบลงด้วยการที่ขบวนการอนาธิปไตยไปยอมจำนนต่อรัฐทุนนิยมและพรรคกระแสหลัก ตัวอย่างที่สำคัญคือสเปนในปีค.ศ.1936 ที่ขบวนการสหภาพแรงงานอนาธิปไตยและองค์กรอนาธิปไตยอื่นๆ จนปัญญาที่จะล้มรัฐเก่าแล้วหันไปสนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพวกแนวสตาลิน ซึ่งทำให้การปฏิวัติพ่ายแพ้ และสเปนในยุคปัจจุบันพวก“โพเดมอส”เข้าไปสนับสนุนพรรคปฏิรูปกระแสหลักในรัฐสภาทั้งๆ ที่เคยอาศัยแนวคิดอนาธิปไตย
ในรูปธรรมนักต่อสู้หลายคนในไทยที่ปฏิเสธการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นพวกอนาธิปไตยหรือไม่ ในที่สุดก็ไปเข้าพรรคก้าวไกล
สหภาพคนทำงาน
สหภาพคนทำงานเกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอ เราชาวมาร์คซิสต์คงต้องเห็นด้วยตรงนี้
แต่สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดที่นำไปสู่การตั้งสหภาพคนทำงาน ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์สังคมนิยม แต่เป็นแนวอนาธิปไตย “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” คือเน้นสหภาพแรงงานแทนการสร้างพรรค มันเป็นแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” (Anarcho-Syndicalist)
สิ่งที่สองที่ต้องเข้าใจคือ “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร “สหภาพคนทำงาน” ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรคและไม่ใช่สหภาพแรงงานด้วย แต่นั้นคือสภาพการต่อสู้ในไทยในปี ๒๕๖๔ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องคอยติดตาม
แต่แน่นอน ในขณะที่ “สหภาพคนทำงาน” มีมวลชนจริงที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ก็ต้องทำงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิดในขณะที่แลกเปลี่ยนถกเถียงกับเขาทางการเมือง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราควรช่วยสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เพราะเราควรสร้างพรรคสังคมนิยมแทน
การสร้าง “เตรียมพรรค”
นักเคลื่อนไหวไทยที่เห็นด้วยกับแนวสังคมนิยมควรจะให้ความสำคัญกับการสร้าง “เตรียมพรรค” โดยมีเป้าหมายในการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในอนาคต
ความสำคัญของการมีพรรคคือจะเป็นจุดรวมของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ที่จะสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องการวิเคราะห์สังคม และการกำหนดแนวทางต่อสู้เพื่อสังคมนิยม
นอกจากนี้พรรคมีความสำคัญในการเชื่อมโยงประเด็นปากท้องหลายๆ ประเด็น ให้เข้ากับความเข้าใจทางการเมืองในภาพกว้าง
พรรคที่มีสมาชิกหลายคนที่เข้าใจตรงกันและเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน จะมีพลังมากกว่าปัจเจกมหาศาล
คนที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน
“เตรียมพรรค” จะต้องมีสื่อของพรรค หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสิ่งตีพิมพ์อื่น และจะต้องมีการจัดกลุ่มศึกษาอย่างเป็นประจำ เพื่อขยายสมาชิกและนักปลุกระดมอย่างมีประสิทธิภาพ
ใจ อึ๊งภากรณ์