เลนินพูดกับทรอตสกีว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานาน อย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว รู้สึกเวียนหัว” จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน
การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และ ชาวนา
แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน
ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆทั้งนั้น” จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคม ขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”
ส่วน มาร์ทอฟ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน”
ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน ส่วนพรรคเมนเชวิค และ พรรคปฏิวัติสังคมซีกขวา มีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลย และไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ
กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของ พรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน แต่พวกเมนเชวิค และปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ
มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ
(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยกเลิกการเจรจาทางทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณะชน
(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันที่ตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนกระทำไปแล้ว
(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย
(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิต และระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง
(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่
(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก
(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน
นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาของการอยู่รอด
การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร 27% ของรายได้รัฐ 70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก 70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”
สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”
ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย
มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้
ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”
มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น
(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้ เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”
(๒) ทรอตสกีใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังเพื่อปลุกระดมกองทัพแดง และประชาชน
หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนินสังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้” ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค
ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ
ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี่ เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน
รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ
นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)
นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญ ถูกฆ่าตาย นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศ ฮังการี่ บัลแกเรีย และ อังกฤษ ในช่วงนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค
ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่มีดังนี้คือ
(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน
(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน
(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์
เลนินเห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง …. ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”
ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ
(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้
(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน
(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว
(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม
(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง
แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย
พินัยกรรมของเลนิน
“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” …. “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”
ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน
[คัดจากหนังสือเล่มเล็ก “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]