ระลึกถึงสุชาย ตรีรัตน์

อาจารย์สุชาย ตรีรัตน์ ซึ่งพึ่งเสียชีวิตไปวันนี้ เป็นนักวิชาการมาร์คซิสต์ที่ผมชื่นชม เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ สุชายจะคอยดูแลและแสดงมิตรภาพต่อผมเสมอ ในไม่ช้าสุชายชวนผมเปิดวิชามาร์คซิสต์ร่วมกับเขา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดวิชานี้ในมหาวิทยาลัยไทยเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบกว่าปี ผมสอนวิชามาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ ในขณะที่สุชายสอนเกี่ยวกับ “นีโอมาร์คซิสต์”

สุชายเป็นครูที่ทุ่มเทกับการสอนนักศึกษา ไม่เหมือนนักวิชาการหลายคนที่ไม่สนใจการสอนแต่มุ่งหวังตำแหน่งสูงๆ หวังรายได้จากการสอนพิเศษ หรือแค่อยากทำการวิจัย ถือว่าสุชายเป็นครูเต็มตัว และเขาเข้าใจดีว่าเขาเป็นกรรมาชีพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เนื่องจากสุชายเป็นครูที่ดีเลิศ เขาชวนผมไปร่วมปรับปรุงวิชาทักษะการเขียนสำหรับนิสิตปีหนึ่ง ในอดีตผู้สอนวิชานี้เน้นแต่การเขียนแบบ “ถูกวิธี” แต่เราสองคนต้องสู้กับเพื่อนอาจารย์หลายคน เพื่อสอนให้นิสิตปีหนึ่งสามารถเขียนรายงานในเชิงโต้แย้งได้ ปรากฏว่านิสิตปีหนึ่งจำนวนมากที่เราสองคนสอน สามารถเข้าใจความสำคัญของการโต้แย้งหักล้างประเด็นทางการเมือง และแสดงออกว่าคิดเองเป็นด้วย สอนสนุกมาก แต่ในแวดวงวิชาการไทย มีประเพณีแย่ๆ ของการไม่สนใจแนวคิดที่ตนไม่เห็นด้วย ไม่อ่านงานของคนที่มองต่างมุม เพื่อเขียนบทความในเชิงโต้แย้ง ปัญหานี้ยังไม่หมดไปจากวิชาการไทย

ในเรื่องการวิจัยสุชายจะสนใจปัญหารัฐรวมศูนย์ของไทย และวิจัยเรื่องการผลิตมูลค่าส่วนเกินในภาคเกษตร ซึ่งเขาแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรแต่ละคนในระบบทุนนิยมต้องประกอบอาชีพหลากหลายเพื่อเลี้ยงชีพ พร้อมกับมีการจ้างงานกรรมกรภาคเกษตรในที่ดินของตนด้วย

ในปี ๒๕๔๖ สุชายได้ร่วมเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรักที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก่อขึ้น ซึ่งพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่แค่นักวิชาการในหอคอยงาช้าง (ดูภาพ)

สุชายเป็นคนเงียบๆ แต่มีเพื่อนไม่น้อย เขาเคยไปเรียนที่เมือง Canberra ในประเทศออสเตรเลีย และเขาเคยบอกผมว่าเขาชอบเมืองนี้เพราะมันเงียบ คงจะแตกต่างจากกรุงเทพฯโดยสิ้นเชิง! เขาชอบฟังเพลงคลาสสิกของตะวันตก เวลาเดินเข้าไปในห้องทำงานของเขา จะได้กลิ่นบุหรี่ เห็นหนังสือกองไว้หลายสิบเล่มที่ยืมจากห้องสมุดแล้วนำไปดองไว้ และจะเห็นหน้าจอสีเขียวของเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าแก่ที่เขายังใช้อยู่ การตรวจงานนักศึกษาของสุชาย สำหรับนักเรียนที่ไม่เคยเจอเขามาก่อน อาจทำให้หัวใจวายได้ เพราะเขาจะอ่านทุกคำและใช้ปากกาสีแดงวงไว้เต็มหน้ากระดาษ แต่เขาก็เป็นอาจารย์ใจดี

ในระยะหลังๆ ผมกับสุชายห่างเหินกัน สาเหตุหลักก็เพราะเขาไม่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย เลยติดต่อข้ามประเทศยาก อีกสาเหตุหนึ่งคงจะมาจากการที่ผมเป็นมาร์คซิสต์ในเชิงปฏิบัติมากกว่าเขา  แต่ผมก็ไม่เคยลืมเพื่อนสำคัญของผมที่เคยร่วมทำงานกันที่จุฬาฯ

ใจ อึ๊งภากรณ์