ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย
ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ
นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น
ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา
ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ
ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม
กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ
ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ
ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ
สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า
ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย
ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม
ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง
บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน
นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น
ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา
วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ
การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน
ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ
การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ
การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร
ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง
แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ
และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน
ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ
นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ
ใจ อึ๊งภากรณ์