สหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง บทเรียนสากล

ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ประเด็นแรกคือการแยกหน้าที่กันในความคิดของสายซ้ายปฏิรูป และประเด็นที่สองคือบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน

ในโลกทุนนิยม แนวคิดซ้ายสังคมนิยมแบบปฏิรูป จะส่งเสริมความคิดว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” แยกกัน โดยที่สหภาพแรงงานมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มค่าจ้างและพัฒนาสภาพการจ้างผ่านการนัดหยุดงาน ประท้วง หรือเจรจา ในขณะที่พรรคการเมืองของแรงงานเช่น “พรรคแรงงาน” หรือ “พรรคสังคมนิยม” มีหน้าที่ผลักดันการเมืองในรัฐสภาที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

ในรูปธรรมมันหมายความว่าผู้นำแรงงานระดับชาติจะปฏิเสธการนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ในเรื่องการเมือง คือจะไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานเพื่อล้มรัฐบาล หรือการนัดหยุดงานในประเด็นเฉพาะทางการเมืองเช่นการขยายหรือปกป้องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านสงคราม หรือการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จริงอยู่ผู้นำแรงงานอาจส่งเสริมให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปประท้วงกับขบวนการอื่นๆ ในเรื่องการเมือง เพื่อส่งต่อเรื่องให้นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะไม่สนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยตรง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะไปเกี่ยวข้อกับระบบเศรษฐกิจ

เราเห็นผลพวงของความคิดนี้ในกรณีคลื่นการนัดหยุดงานในอังกฤษ และในฝรั่งเศสในปีนี้ คือผู้นำสหภาพแรงงานกำหนดวันหยุดงานเป็นวันๆ ไป ไม่เสนอให้นัดหยุดงานทั่วไปโดยไม่มีกำหนดเลิกจนกว่ารัฐบาลจะยอมจำนนหรือลาออก ทั้งนี้เพราะผู้นำแรงงานมองว่ามันเลยขอบเขตหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และเขากลัวอีกว่าถ้ามีการนัดหยุดงานทั่วไปการนำการต่อสู้จะมาจากแรงงานรากหญ้าไฟแรง แทนที่ผู้นำเดิมจะควบคุมได้ ยิ่งกว่านั้นในกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทมากกว่าพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษห้ามไม่ให้สส.ไปสนับสนุนการนัดหยุดงานใดๆ เพราะพรรคตั้งเป้าไว้ที่จะเอาใจนายทุน

ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปจริงๆ มันมักจะไม่ผ่านขั้นตอนทางการ และมักจะ “ผิดกฎหมาย” และมักจะนำโดยคณะกรรมการระดับรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่อาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติ และตลอดเวลาที่มีการต่อสู้แบบนี้ผู้นำแรงงานเดิมจะพยายามกล่อมให้คนงานกลับเข้าทำงานและปล่อยให้นักการเมืองในสภาเข้ามาแก้ปัญหา

ในแง่หนึ่งรัฐทุนนิยมทั่วโลกก็จะมองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และมักจะมีการออกกฎหมายห้ามการกระทำแบบนี้ ซึ่งเราเห็นในไทยและในประเทศตะวันตก

สำหรับนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ เรามองว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรามองว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสูงสุดของประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสภาพสังคมทุนนิยมและการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ 1%ของประชากร คือมันปกป้องรัฐของชนชั้นนายทุนที่มีไว้กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาลกับคุก ดังนั้นเรามองว่าถ้าการต่อสู้จะยกระดับให้สูงขึ้น การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับการเมืองต้องรวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเริ่มสร้างองค์กรบริหารสังคมแบบใหม่ที่กรรมาชีพมีบทบาทโดยตรง ตัวอย่างที่ดีคือสภาคนงาน แบบโซเวียตในปีแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในอิหร่านท่ามกลางการปฏิวัติ1979 หรือสภาประสานงานกรรมาชีพในชิลีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพยายามต่อต้านรัฐประหารในปี1973

ความสำคัญเกี่ยวกับสภาคนงานแบบที่พูดถึงนี้คือ มันเป็นหน่ออ่อนของการบริหารสังคมแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยของกรรมาชีพซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการนัดหยุดงานทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าพร้อมกับสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่เน้นรัฐสภา

ในประเด็นที่สองคือ เรื่องบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวแรงงานที่หวังทำงานภายในพรรคก้าวไกล บทเรียนแรกมาจากอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างพรรคแรงงาน และผู้แทนของสหภาพแรงงานมักจะทำงานภายในพรรค “เสรีนิยม” ซึ่งเป็นพรรคนายทุน การทำงานภายในพรรคนี้ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย จึงมีการสรุปกันว่าต้องสร้างพรรคแรงงานขึ้น

แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคเดโมแครตในสหรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีมายาวนานในขณะที่พรรคของสหภาพแงงานหรือพรรคแรงงานไม่มี ดังนั้นเวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐจะมีทางเลือกให้ประชาชนระหว่างแค่สองพรรคของนายทุนเท่านั้น คือระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรคริพับลิกัน และผู้นำสหภาพแรงงานจะชวนให้สมาชิกเลือกพวกเดโมแครต ส่วนหนึ่งคือการตั้งความหวังจอมปลอมว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ขวาตกขอบเหมือนริพับลิกัน อีกส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์เมื่อยุค 1930 ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้นโยบายเอาใจสหภาพแรงงานและนายทุนพร้อมกันเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องหลักๆ ปัจจุบัน นโยบายของทั้งสองพรรคมักจะไม่ต่างกันมากนัก เช่นในเรื่องการทำสงคราม เรื่องจักรวรรดินิยม เรื่องกลไกตลาดเสรีกับการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ หรือในเรื่องการไม่ยอมสร้างรัฐสวัสดิการ

บทเรียนสำคัญสำหรับยุคนี้คือการที่ประธานาธิบดีไบเดิน ออกคำสั่งยกเลิกการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟสหรัฐในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยอ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ  ในที่สุดสหภาพแรงงานต้องไปยอมรับข้อตกลงกับบริษัทเดินรถไฟที่แย่มาก เพราะไม่มีการให้สวัสดิการล่าป่วย และบังคับขึ้นเงินเดือนแค่ 24% ในช่วง 4 ปี โดยที่ระดับเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ กับพรรคพวกที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ภายในพรรคเดโมแครต ก็ไปยกมือสนับสนุนไบเดินในการกดขี่เสรีภาพของสหภาพแรงงาน

บทเรียนนี้ชี้ให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองของนายทุนในที่สุดจะสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเสมอ ไม่ว่าจะมีผู้แทนที่อ้างว้าเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักสหภาพแรงงานสี่ห้าคนภายในพรรคก็ตาม

การเรียกร้องสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะนัดหยุดงาน โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐ และการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้นจนเท่ากับมาตรฐานคนชั้นกลาง เป็นสิ่งจำเป็นในไทย แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีผู้แทนสายแรงงานอยู่ในพรรค ซึ่งยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คำถามคือพรรคนายทุนพรรคนี้จะสนับสนุนผลประโยชน์ของแรงงานถ้ามันไปขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนจริงหรือ?