MOU ของก้าวไกลชี้ให้เห็นจุดยืนแท้จริง

สิ่งที่อยู่ใน MOU ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่กระทบผลประโยชน์ อำนาจ ของชนชั้นนำ กลุ่มทุน นี่เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า กรรมาชีพ คนจน ไม่สามารถใช้รัฐสภาทุนนิยมเพื่อปลดแอกตนเองได้ โดยเฉพาะเวลาอาศัยพรรคเสรีนิยมของนายทุนอย่างก้าวไกล… เราต้องเดินหน้าไกลกว่านี้ด้วยการสร้างพรรคสังคมนิยมที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาและการสร้างพลังกรรมาชีพ

พรรคก้าวไกล เน้นโยบายที่เอื้อกับนายทุนและชนชั้นนำเพื่อครองเก้าอี้ รมต. ผ่านการเอาใจพรรคอื่น แต่ก้าวไกลอ้างความก้าวหน้าเพื่อหลอกให้คนลงคะแนนให้ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าในรูปธรรมไม่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ในที่สุดคนก็จะผิดหวังและเบื่อ คราวหน้าอาจไม่เลือกอีก
ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสากล จะเห็นว่าไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรคการเมืองแบบปฏิรูป ที่อ้างว่าจะเปลี่ยนสังคม จบลงด้วยการก้มหัวให้ชนชั้นนำ
แน่นอน จะมีคนที่พูดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่นั้นก็แค่ข้ออ้างที่พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมอย่างจริงจังผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้

ข้อเสนอของอันโตนิโอ กรัมชี่ ต่อการสร้างพรรคและการปฏิวัติสังคมนิยม

ในยุคปัจจุบันนักวิชาการหลายคนมักบิดเบือนแนวคิดของกรัมชีจนไม่เหลือหัวใจของเรื่องแนวชนชั้น การปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างพรรค

อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นนักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่เริ่มสนใจแนวสังคมนิยมเมื่อพี่ชายส่งหนังสือพิมพ์ “Avanti!” (“เดินหน้า!”) ของพรรคสังคมนิยม มาให้อ่านเป็นประจำ ต่อมากรัมชี่มีโอกาสเรียนหนังสือต่อโดยไปพักอยู่ในบ้านของสมาชิกพรรค และในช่วงนี้เขาเริ่มอ่านงานของ คาร์ล มาร์คซ์ หลังจากนั้นเขาได้รับทุนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแต่ปรากฏว่าเรียนไม่จบเพราะถอนตัวออกมาทำกิจการหนังสือพิมพ์ของพรรคสังคมนิยมแทน

ในเดือนธันวาคมปี 1917 กรัมชี่ เขียนบทความ “การปฏิวัติล้มทุน” เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติรัสเซียที่นำโดยพรรคบอลเชวิค บทความนี้ต่อต้านพวกแนวคิดปฏิรูปที่มองว่าสังคมนิยมในประเทศพัฒนาสามารถวิวัฒนาการได้จากระบบทุนนิยมโดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ

กลางปี 1919 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” (“ระเบียบใหม่”) กรัมชี่ ได้เขียนบทความเรียกร้องให้กรรมาชีพยึดโรงงานและตั้งกรรมการของกรรมาชีพขึ้นมาแทนระบบบริหารของนายทุน ในปลายปีเดียวกัน “ขบวนการกรรมการคนงาน” ก็เกิดขึ้นในเมืองทูรินซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางเหนือของอิตาลี่

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในเดือนเมษายนปี 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปนำโดยกรรมาชีพพื้นฐานเกิดขึ้นในเมืองทูริน ซึ่งต่อมาขยายไปเป็นคลื่นการยึดโรงงานโดยกรรมาชีพตามเมืองใหญ่ๆ ทางภาคเหนือของอิตาลี่ ยุคนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ปีสีแดง” สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยวาดภาพสถานการณ์การต่อสู้ในช่วงนี้คือใบปลิวที่ออกมาในเมืองทูริน ซึ่งเชิญชวนให้กรรมาชีพมาร่วมประชุมสหภาพแรงงานโดยนำปืนส่วนด้วย! อย่างไรก็ตามพรรคสังคมนิยมและผู้นำระดับสูงของสภาแรงงานไม่ยอมสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพอย่างจริงใจ กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” จึงตัดสินใจตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ในโรงงานต่างๆ และต่อมากลุ่มเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางในการสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในปลายปี 1922 มุสโสลีนี หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์สามารถยึดอำนาจในอิตาลี่ และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกจับไปหลายคน ส่วน กรัมชี่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างประเทศก็รอดพ้นไปได้

ในปี 1924 กรัมชีกลับมาทำงานในอิตาลี่แต่ในไม่ช้าก็ถูกจับในปี  1926 และติดคุกถึงปี 1935 ซึ่งเป็นช่วงปลายชีวิตของเขา กรัมชี่เสียชีวิตในปี1937 ในช่วงที่เขาติดคุก กรัมชี่ ได้เขียนผลงานสำคัญที่เรียกรวมๆ ว่า “สมุดบันทึกจากคุก” เนื่องจากงานเขียนในคุกต้องผ่านการเซ็นเซอร์ของเจ้าหน้าที่ควบคุมคุก คำและภาษาที่ กรัมชี่ ใช้ในการพูดถึงประเด็นต่างๆ ทางการเมืองในบทความเหล่านี้ค่อนข้างจะอ้อมไปอ้อมมาและไม่ชัดเจนเฉพาะเจาะจง ซึ่งเปิดโอกาสให้คนอื่นที่ตามหลังมาบิดเบือนแนวคิดของเขา

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคอคมมิวนิสต์อิตาลี่เริ่มเสนอแนวปฏิรูปและค่อยๆ พยายามทำแนวร่วมกับพรรคนายทุน นักวิชาการของพรรคจึงเริ่มบิดเบือนแนวคิดของกรัมชี่ ตามมาด้วยนักวิชาการที่เป็นพวกเสรีนิยม เรื่องหลักๆที่พวกนี้บิดเบือนคือ การลบทิ้งแนวคิดปฏิวัติของกรัมชี่ และปกปิดความสำคัญของการสร้างพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน “L’Ordine Nuovo” ที่เขาเป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน กรัมชี่ เสนอว่ากรรมาชีพต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบันและเน้นรัฐสภา

ถึงแม้ว่ากรัมชี่มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกัน โดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยา ฟาสซิสต์ ของ มุสโสลีนี เพราะในช่วงแรกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะปีก “ซ้าย” ของพรรคภายใต้การนำของบอร์ดิกา ไม่ยอมทำแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม โดยอ้างว่าผู้นำพรรคพากรรมาชีพไปหลงทางตลอด แต่กรัมชี่ พยายามอธิบายว่าคอมมิวนิสต์ควรสร้างแนวร่วมเพื่อเป็นการทดสอบผู้นำพรรคสังคมนิยมต่อหน้าสมาชิกพื้นฐาน โดยที่กรัมชี่เชื่อว่าหลังจากการทดสอบดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จะสามารถช่วงชิงสมาชิกพื้นฐานของพรรคสังคมนิยมมาเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ได้ พร้อมกันนั้นกรัมชี่ก็ไม่เห็นด้วยกับ “ปีกขวา” ของพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย เพราะพวกนี้เห็นว่าควรสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและนายทุนชาติเพื่อต่อต้าน ฟาสซิสต์

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”

ประชาสังคม

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ทรอตสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ในเยอรมัน และกรัมชี่ ในอีตาลี่ จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” กรัมชี่อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายใน “ประชาสังคม” (Civil Society) สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครองมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจทางความคิดในสังคม

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ

แนวคิดประชาสังคมของพวกนักวิชาการและเอ็นจีโอ มักเน้นชนชั้นกลาง และมองข้ามการที่หลายๆ กลุ่มและองค์กรถูกครอบงำโดยแนวคิดกระแสหลักที่คอยปกป้องสภาพสังคมภายใต้ทุนนิยม การที่เอ็นจีโอ นักวิชาการและคนชั้นกลางในไทย ออกมาจับมือกับฝ่ายรักเจ้าและโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของกรัมชี่อธิบายประชาสังคมได้ดี ทุกวันนี้ทหารเผด็จการก็ยังครองอำนาจอยู่ในไทยและชักชวนให้คนจำนวนมากยอมรับกติกาการเลือกตั้งของทหาร และความจำเป็นที่จะคงไว้กฎหมาย 112 อีกด้วย

การช่วงชิงการครองใจทางความคิด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบหรือขั้นตอน ที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้ช่วงชิงการผูกขาดทางความคิดกับชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐของกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ การปฏิวัติสังคมนิยมต้องอาศัยการช่วงชิงมวลชนกรรมาชีพ ให้หลุดพ้นจากแนวคิดของชนชั้นปกครอง เพราะการปฏิวัติต้องเป็นสิ่งที่มวลชนกรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มเล็กๆ ทำแทนให้ได้ แต่การช่วงชิงความคิดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีฐานในมวลชนกรรมาชีพ ซึ่งพรรคก็จะใช้สื่อต่างๆ ขณะที่ร่วมต่อสู้ เพื่อช่วงชิงความคิดก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ปฏิวัติ

ในขณะเดียวกันกรัมชี่เสนอว่าในหัวสมองของประชาชนธรรมดา เรามักจะมีแนวคิดที่ขัดแย้งกัน คือส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นปกครองผ่านสื่อกระแสหลัก โรงเรียน องค์กรศาสนา หรือครอบครัวของเรา แต่อีกส่วนมาจากประสบการณ์โลกจริง โดยเฉพาะเวลาเราเกิดความขัดแย้งกับอำนาจรัฐในสังคม แนวคิดหลังนี้เป็นแนวคิดเชิงกบฏ ที่พูดได้ว่าอาจเป็นหน่ออ่อนของแนวคิดสังคมนิยม

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง เพราะประสบการณ์ในการต่อสู้จะก่อให้เกิดความคิดขัดแย้งกับแนวกระแสหลักของชนชั้นปกครองเสมอ ยกตัวอย่าง เช่นกรรมาชีพที่ยังไม่มีประสบการณ์การต่อสู้กับนายจ้างอาจมองว่านายจ้างของเขาใจดี และกฎหมายของบ้านเมืองเป็นกลางและมีความเป็นธรรมก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาตัดสินใจนัดหยุดงานเพราะค่าแรงไม่พอกิน เขาอาจพบว่านายจ้างพร้อมจะจ้างนักเลงมาทำร้ายเขา และไม่ยอมขึ้นค่าแรงทั้งๆ ที่นายจ้างร่ำรวยมาจากการทำงานของคนงาน นอกจากนี้กรรมาชีพอาจพบว่าตำรวจและศาลเข้าข้างนายจ้างเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเปลี่ยนความคิดได้ และถ้าในขณะที่กรรมาชีพกำลังสู้มีผู้ปฏิบัติการของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่พร้อมจะให้คำอธิบายโลกจริงที่แตกต่างจากกระแสหลัก กรรมาชีพยิ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนความคิดได้เร็ว

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฎีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

มาร์คซ์เคยอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่เชื่อคำหลอกลวงของชนชั้นปกครองว่าเป็นเรื่องของ “ความแปลกแยก” คือในสถานการณ์ที่คนรู้สึกว่าไร้อำนาจ เขาจะยอมเชื่อคำโกหกของคนที่มีอำนาจมากกว่า แต่พอคนเริ่มเคลื่อนไหวและมีความมั่นใจมากขึ้น เขาจะเลิกเชื่อคำโกหกต่างๆ

ถ้าความขัดแย้งในความคิดดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ชาวลัทธิมาร์คซ์ควรเข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวันหรือในเรื่องอื่น ในขณะเดียวกันพรรคปฏิวัติจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย พูดง่ายๆ กรัมชี่ เข้าใจดีว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพอย่างไร

มุมมองนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดเอ็นจีโอหรือนักวิชาการกระแสหลักที่มองว่าเราควรไปช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคมที่เป็นเหยื่อของระบบ มันไม่ใช่ว่าเราชาวมาร์คซิสต์ไม่สงสารคนแบบนี้ แต่มันเป็นเรื่องของวิธีเปลี่ยนสังคมเพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป การช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคม ไม่นำไปสู่พลังที่จะเปลี่ยนสังคม

พวกนักวิชาการฝ่ายปฏิรูปมักจะเอ่ยถึง “สงครามจุดยืน” และลบทิ้งเรื่อง “สงครามขับเคลื่อน” เพื่อบิดเบือนว่ากรัมชีคิดว่าแค่การต่อสู้ทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนสังคม นอกจากนี้จะเห็นได้ว่านักวิชาการที่ชอบพูดถึงกรัมชี นอกจากจะไม่พูดถึงความจำเป็นที่จะปฏิวัติแล้ว ยังมองข้ามเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติ ความสำคัญของสื่อพรรคปฏิวัติ และบทบาทนำของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคมอีกด้วย ในคำพูดหรือข้อเขียนของนักวิชาการพวกนี้ทฤษฎีของกรัมชี่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ท้าทายรัฐและระบบทุนนิยมเลย มันกลายเป็นแนวคิดของพวกหอคอยงาช้าง

พรรคปฏิวัติต้องสร้างปัญญาชนขึ้นมาจากชนชั้นกรรมาชีพ

ในเรื่องปัญญาชน ซึ่งสำคัญมากในการพัฒนาความคิด กรัมชี่ไม่ได้มองว่าขบวนการกรรมาชีพต้องไปพึ่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหรือเอ็นจีโอ เหมือนว่าเป็น “ผู้รู้” ที่ชวนลงมาเพื่อสอนคนชั้นล่าง ซึ่งเราเห็นในสังคมไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่อง “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอที่มีบทบาทในการนำม็อบ นอกจากนี้กรัมชี่เปิดโปงคนที่พูดถึง “นักวิชาการอิสระ” อย่างที่เราเห็นในสังคมไทย เขามองว่าปัญญาชนย่อมมีความผูกพันกับเรื่องชนชั้น เขาเสนอว่าข้อผิดพลาดที่แล้วมาในการนิยามปัญญาชนมาจากการมองกิจการของปัญญาชนด้านเดียว โดยไม่มองว่ากิจการดังกล่าวมีความผูกพันอย่างไรกับระบบการผลิตของสังคม

กรัมชี่มองว่ามนุษย์ทุกคนคือปัญญาชน แต่ในสังคมมนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชน ในลักษณะเดียวกันการที่เราอาจทอดไข่หรือเย็บผ้าเป็นบางครั้งบางคราว ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อครัวแม่ครัวหรือช่างตัดเย็บ ดังนั้นปัญญาชนมีบทบาทเฉพาะที่เกิดมาจากอดีต บทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นมาควบคู่กันไปกับการกำเนิดชนชั้นทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นหลักๆ สิ่งที่น่าสังเกตคือชนชั้นที่ต้องการจะขึ้นมาครอบงำสังคมจำต้องหาทางครอบงำปัญญาชนยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แต่การยึดครองความคิดของปัญญาชนดังกล่าวกระทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นถ้าชนชั้นใหม่มี “ปัญญาชนอินทรีย์” ของตนเองด้วย

กรัมชี่ เสนอว่าในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” หรือ ปัญญาชนที่เติบโตจากกลุ่มคนในชนชั้นกรรมาชีพเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ใกล้ชิดและพัฒนาจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องแปรตัวจากกรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” ผ่านการเคลื่อนไหวและการศึกษาทฤษฎีของพรรค อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

ประชาธิปไตยแรงงาน

กรัมชี่เน้นว่าสังคมนิยมที่เกิดจากการปฏิวัติจะเป็น “ประชาธิปไตยของแรงงาน” เขาเสนอว่า หน่ออ่อนของรัฐสังคมนิยมมีอยู่แล้วในสถาบันทางสังคมประจำวันที่ชนชั้นกรรมาชีพสร้างขึ้นเอง ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ให้เป็นระบบรวมศูนย์ที่มีพลัง โดยที่ยังรักษาลักษณะความเป็นอิสระในการทำงานของแต่ละองค์กร เราจะสามารถสร้าง “ประชาธิปไตยแรงงาน” อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยแรงงานดังกล่าวจะเป็นกำลังหลักในการคัดค้านและต่อต้านรัฐนายทุนเพื่อหวังเข้ามาแทนที่รัฐนายทุนดังกล่าวในบทบาทการบริหารประเทศชาติ ตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่สร้างประชาธิปไตยแรงงานคือสภาคนงานหรือโซเวียด และหน่ออ่อนของสภาแบบนี้เคยเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่อิหร่าน ชิลีและที่อื่น

สรุปแล้วงานของกรัมชี่ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติในการล้มล้างระบบทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม โดยที่มีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับวิธีช่วงชิงความคิดในสังคม เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์