Category Archives: การเมือง

อายุเกษียณ และบำเหน็จ บำนาญ ในมุมมองมาร์คซิสต์

ประเด็นอายุเกษียณเป็นเรื่องที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายนหลังจากที่ประธานาธิบดีมาครงใช้มาตรการเผด็จการเพื่อผ่านกฎหมายยืดเวลาเกษียณโดยไม่ผ่านรัฐสภา การต่อสู้ในฝรั่งเศสลามไปสู่ประเด็นอื่น เช่นเรื่องประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องมานาน และเรื่องอื่นที่มีความไม่พอใจสะสมอยู่ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่การต่อสู้รอบนั้นไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามประนีประนอมเสมอ เพราะกลัวการต่อสู้ของมวลชนจะทำลายความสงบของสังคมทุนนิยมและฐานะของผู้นำแรงงานเหล่านั้น

แต่มันไม่ใช่แค่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ต้องการยืดเวลาทำงานของเรา รัฐบาลทั่วโลกในระบบทุนนิยมต้องการจะทำเช่นนั้น และแอบอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ระบบบํานาญบําเหน็จ  ทั้งๆ ที่เป็นการพยายามที่จะ “ทำลาย” สวัสดิการของเรา

การใช้คำว่า“ปฏิรูป” ในลักษณะที่ไม่ซื่อสัตย์  ไม่ต่างจากพวกที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบการเมืองไทย สรุปแล้วเมื่อไรที่ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกับนักข่าวที่รับใช้นายทุนพูดถึงการ “ปฏิรูป” เขาหมายถึงการทำลายสิทธิและสภาพชีวิตของกรรมาชีพเสมอ

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือบำเหน็จและบํานาญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่กรรมาชีพคนทำงานสะสมและออมในชีวิตการทำงาน มันไม่ใช่ของขวัญที่นายจ้างหรือรัฐมอบให้เราฟรีเลย ดังนั้นการยืดอายุเกษียณก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้บำเหน็จบํานาญถือว่าเป็นการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้นเพื่อสวัสดิการเท่าเดิม

ขณะนี้อายุเกษียณในประเทศตะวันตกกำลังถูกยืดออกไปจากที่เคยเป็นอายุ 60 ไปเป็น 67 ในสหรัฐ กรีซ เดนมาร์ก อิตาลี่ 66 ในอังกฤษกับไอร์แลนด์ และ65.7 ในเยอรมัน

ในสเปนรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณ แต่เรียกเก็บเงินสมทบบำเหน็จบำนาญจากหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแทน มันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของกรรมาชีพเช่นกัน และในประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษมีการตัดระดับสวัสดิการที่คนงานพึงจะได้หลังเกษียณ

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่าในระบบทุนนิยมหลังจากที่เราทำงานและถูกขูดรีดมาตลอดชีวิตการทำงาน กรรมาชีพควรมีสิทธิ์ที่จะเกษียณและรับบำเหน็จบํานาญในระดับที่ปกป้องคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ต่างจากเรื่องการรณรงค์เพื่อค่าจ้างที่อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับคุณภาพชีวิตที่ดี

ยิ่งกว่านั้น เราชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่าในระบบทุนนิยม ค่าจ้างบวกกับบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยเท่ากับมูลค่าที่เรามีส่วนในการผลิต เพราะนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ขโมย “มูลค่าส่วนเกิน” ไปในระบบการขูดรีดแรงงาน เพื่อเอาไปเป็น “กำไร”

การขูดรีดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ เพราะคนทำงานในภาคบริการ เช่นพนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์มีส่วนในทางอ้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดูแลสุขภาพคนงาน หรือการเพิ่มฝีมือความสามารถผ่านการศึกษา คนที่ทำงานในภาคขนส่งก็เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมจะขายสินค้าไม่ได้ และไม่มีคนงานมาทำงานถ้าไม่มีระบบขนส่ง

ในขณะที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปตอนนี้ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองในประเทศพัฒนาได้ลดลง หลังจากที่เคยเพิ่ม สาเหตุมาจากโควิด และนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เพื่อกู้คืนเงินที่รัฐเคยนำไปอุ้มธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ คือมีการพยายามดึงรายได้รัฐที่เคยอุดหนุนกลุ่มทุนกลับมาจากคนทำงานและคนจน

ในประเทศพัฒนาอายุขัยของประชาชนลดลงจาก 72.5 ในปี 2019 เหลือ 70.9 ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าการยืดอายุเกษียณออกไปถึง 67 แปลว่ากรรมาชีพโดยเฉลี่ยจะตายภายใน 4 ปีหลังเกษียณ

ยิ่งกว่านั้นมันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนคนจนกับคนรวย เช่นในอังกฤษคนที่อาศัยอยู่ในย่านยากจนจะตายก่อนคนที่อาศัยในย่านร่ำรวยถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามพวกที่รับใช้ชนชั้นนายทุนจะอ้างว่าตอนนี้ระบบทุนนิยม “ไม่สามารถ” จ่ายบำเหน็จบำนาญในระดับเดิมได้ โดยมีการใช้คำแก้ตัวว่า (1) สัดส่วนคนชราในสังคมเพิ่มในขณะที่คนในวัยทำงานลดลง (2) อายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองยาวขึ้น คือโดยเฉลี่ยเราตายช้าลงนั้นเอง ดังนั้นเรา “ต้อง” ทำงานนานขึ้น และ(3) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีที่เชียร์การยืดอายุการทำงานหรือการตัดบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย ไม่เคยเสนอว่าเราควรจะเพิ่มความเสมอภาค มีแต่จะเชียร์การทำลายมาตรฐานชีวิตของคนจนคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำแก้ตัวของชนชั้นปกครองฟังไม่ขึ้น

(1)  ในเรื่องสัดส่วนคนชราในสังคมที่เพิ่มขึ้นในขณะที่คนในวัยทำงายลดลง ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุน คนในวัยทำงานจะสามารถพยุงคนชราได้ ในยามปกติทุนนิยมจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และแค่การขยาย GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ)  เพียง 1% อย่างต่อเนื่อง ก็เพียงพอที่จะอุ้มคนชราได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ทุนนิยมมักมีวิกฤตเสมอเพราะมีการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นบ่อยครั้งการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ซึ่งแก้ได้ถ้าเรายกเลิกทุนนิยมและนำการวางแผนการผลิตโดยกรรมาชีพมาใช้แทนในระบบสังคมนิยม

นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

มาตรการชั่วคราวอันหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นเพื่อเข้ามา แต่ทุกรัฐบาลต้องการรณรงค์แนวคิดชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพื่อแบ่งแยกกรรมาชีพไม่ให้รวมตัวกัน ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ ในระบบทุนนิยมจะมีปัญหาในการยกเลิกพรมแดนหรือต.ม.ที่ควบคุมคนเข้าเมือง

(2) ในเรื่องอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองที่ยาวขึ้นนั้น (ยกเว้นในยุคนี้ในตะวันตก) สิ่งแรกที่เราต้องฟันธงคือมันเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น แต่ชนชั้นนายทุนมองว่าเป็นเรื่องแย่ เขาต้องการให้เราทำงานตลอดชีวิตแล้วพอเกษียณก็ตายไปเลย คือใช้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่มีการเคารพพลเมืองว่าเป็นมนุษย์แม้แต่นิดเดียว ส่วนนักมาร์คซิสต์สังคมนิยมจะมองว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้และถูกขูดรีดอย่างเดียว เราต้องการให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในชีวิตที่ยาวขึ้นเพื่อขยายคุณภาพชีวิตและเพื่อให้เราสามารถมีกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเรา การขยายอายุเกษียณมันสวนทางกับสิ่งนี้

(3) ในเรื่องข้ออ้างว่าถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้นนั้น การรักษา “วินัยทางการคลัง” เป็นศัพท์ที่ฝ่ายขวาใช้เสมอเวลาพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ พวกนั้นเคยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณทหาร หรืองบประมาณที่ใช้เลี้ยงคนชั้นสูงให้มีชีวิตหรูหรา

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและบริษัทลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราสูง เพราะเป้าหมายรัฐบาลในระบบทุนนิยมคือการเพิ่มอัตรากำไรโดยทั่วไป

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก  บำเหน็จบำนาญเป็นเงินเดือนที่รอจ่ายหลังเกษียณ ไม่ใช่เงินของรัฐหรือนายทุน แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และจะพูดเสมอว่าเราตัดงบประมาณทหารหรืองบเลี้ยงดูอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ และการเพิ่มภาษีให้กับนายทุนและคนรวยก็เช่นกัน พวกนี้จะพูดว่าถ้าเพิ่มภาษีให้นายทุนเขาจะหมดแรงจูงใจในการลงทุน แล้วแรงจูงใจในการทำงานของเราหายไปไหน?  ถ้านายทุนไม่พร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม เราควรจะยึดทรัพย์เขาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเอาใจพวกหน้าเลือดที่ขูดรีดเรา

ในสหรัฐอเมริกากับยุโรประดับรายได้ของคนธรรมดา แย่ลงเรื่อย ๆ และคนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการเพิ่มขึ้นมหาศาล

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคาร ข้อแก้ตัวใหม่ที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ คือ “ปัญหาหนี้สินของรัฐ” แต่เขาไม่ซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่าหนี้ของภาครัฐมาจากการอุ้มธนาคารที่ล้มละลายจากการปั่นหุ้นในตลาดเสรี หรือมาจากการล้มละลายของธนาคารเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเพื่อหวังลดเงินเฟ้อผ่านการขู่กรรมาชีพว่าจะตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในความเป็นจริงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อในยุคปัจจุบันที่มาจากการผลิตที่ต้องหยุดไปในช่วงโควิด หรือจากผลของสงครามในยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นนโยบาย “มั่ว” ของคนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนึกได้แค่ว่าถ้าก่อให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะลดลง

ดังนั้นพวกนี้พร้อมจะให้คนธรรมดาแบกรับภาระวิกฤตที่นายธนาคารและนายทุนสร้างแต่แรก ในขณะเดียวกันพวกนายทุนและนักการเมืองก็ขยันดูแลตนเอง โดยรับประกันว่าพวกเขาจะได้บำเหน็จบำนาญหลายร้อยเท่าคนธรรมดาเมื่อตนเองเกษียณ

ในไทย

อายุเกษียณในไทยคือ 60ปี ซึ่งเหมือนกับมาเลเซีย และใกล้เคียงกับของ อินโดนีเซีย (58) บังกลาเทศ (59) และศรีลังกา (55) สิงคโปร์ (63) เวียดนาม (61)

อายุขัยของคนไทยตอนนี้อยู่ที่ 72.5 ปีสำหรับชาย และ78.9 ปีสำหรับหญิง แต่นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนเหมือนที่อื่นๆ ในโลกทุนนิยมแล้ว อายุสุดท้ายโดยเฉลี่ยของการยังมีสุขภาพที่ดีในไทยคือ  68 ปีสำหรับชาย และ 74 ปีสำหรับหญิง พูดง่ายๆ กรรมาชีพไทยที่เป็นชายจะมีสุขภาพที่ดีพอที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแค่ 8 ปีหลังเกษียณ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพย์สินพอที่จะสามารถหยุดงานตอนอายุ 60 ได้อีกด้วย

ถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในไทย ก่อนอื่นต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร รวมถึงบำเหน็จบำนาญสำหรับวัยชรา เพื่อให้คนเกษียณมีชีวิตอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว หรือพึ่งตนเองท่ามกลางความยากจน ในอดีตคนชราจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักจะได้ยินพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะสร้าง แต่ในความเป็นจริงเขาหมายถึงแค่สวัสดิการแบบแยกส่วนและเพื่อคนที่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ใช่แบบถ้วนหน้า ครบวงจร “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน

สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขในสังคมไทยคือปัญหารายได้ของคนชราปัจจุบัน ดังนั้นการเสนอว่าพลเมืองต้องจ่ายประกันสังคมครบหลายๆ ปีก่อนที่จะได้รับสวัสดิการไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับนายทุนน้อยอย่างเช่นเกษตรกรในชนบท คือต้องมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กองทุนของรัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองทุกคน ทั้งในเมืองและในชนบทมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน และเพื่อให้ทุกคนสามารถออมและจ่ายเงินสมทบทุนประกันสังคมได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมรณรงค์ให้สหภาพแรงงานมีเสรีภาพ อำนาจต่อรอง และความมั่นคงมากขึ้น และต้องมีการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่ไปหวังพึ่งพรรคการเมืองที่นำโดยนายทุนแต่มีผู้แทนจากแรงงานสองสามคนเป็นเครื่องประดับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ มีเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพย์สินในระดับเศรษฐีสากล มีกองทัพที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือเพื่อทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง

พวกที่ปกครองเรามักเรียกร้องให้เรา “สามัคคี” และ “รักชาติ” และเรียกร้องให้เราหมอบคลานก้มหัวให้อภิสิทธิ์ชนหรือผู้ใหญ่ แต่เขาเองไม่เคยเคารพพลเมืองในสังคม ไม่เคยมองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในวัยชรา

MOU ของก้าวไกลชี้ให้เห็นจุดยืนแท้จริง

สิ่งที่อยู่ใน MOU ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่กระทบผลประโยชน์ อำนาจ ของชนชั้นนำ กลุ่มทุน นี่เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า กรรมาชีพ คนจน ไม่สามารถใช้รัฐสภาทุนนิยมเพื่อปลดแอกตนเองได้ โดยเฉพาะเวลาอาศัยพรรคเสรีนิยมของนายทุนอย่างก้าวไกล… เราต้องเดินหน้าไกลกว่านี้ด้วยการสร้างพรรคสังคมนิยมที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาและการสร้างพลังกรรมาชีพ

พรรคก้าวไกล เน้นโยบายที่เอื้อกับนายทุนและชนชั้นนำเพื่อครองเก้าอี้ รมต. ผ่านการเอาใจพรรคอื่น แต่ก้าวไกลอ้างความก้าวหน้าเพื่อหลอกให้คนลงคะแนนให้ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าในรูปธรรมไม่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ในที่สุดคนก็จะผิดหวังและเบื่อ คราวหน้าอาจไม่เลือกอีก
ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสากล จะเห็นว่าไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรคการเมืองแบบปฏิรูป ที่อ้างว่าจะเปลี่ยนสังคม จบลงด้วยการก้มหัวให้ชนชั้นนำ
แน่นอน จะมีคนที่พูดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่นั้นก็แค่ข้ออ้างที่พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมอย่างจริงจังผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้

ข้อเสนอของอันโตนิโอ กรัมชี่ ต่อการสร้างพรรคและการปฏิวัติสังคมนิยม

ในยุคปัจจุบันนักวิชาการหลายคนมักบิดเบือนแนวคิดของกรัมชีจนไม่เหลือหัวใจของเรื่องแนวชนชั้น การปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างพรรค

อันโตนิโอ กรัมชี่ เป็นนักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่เริ่มสนใจแนวสังคมนิยมเมื่อพี่ชายส่งหนังสือพิมพ์ “Avanti!” (“เดินหน้า!”) ของพรรคสังคมนิยม มาให้อ่านเป็นประจำ ต่อมากรัมชี่มีโอกาสเรียนหนังสือต่อโดยไปพักอยู่ในบ้านของสมาชิกพรรค และในช่วงนี้เขาเริ่มอ่านงานของ คาร์ล มาร์คซ์ หลังจากนั้นเขาได้รับทุนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยแต่ปรากฏว่าเรียนไม่จบเพราะถอนตัวออกมาทำกิจการหนังสือพิมพ์ของพรรคสังคมนิยมแทน

ในเดือนธันวาคมปี 1917 กรัมชี่ เขียนบทความ “การปฏิวัติล้มทุน” เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิวัติรัสเซียที่นำโดยพรรคบอลเชวิค บทความนี้ต่อต้านพวกแนวคิดปฏิรูปที่มองว่าสังคมนิยมในประเทศพัฒนาสามารถวิวัฒนาการได้จากระบบทุนนิยมโดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ

กลางปี 1919 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” (“ระเบียบใหม่”) กรัมชี่ ได้เขียนบทความเรียกร้องให้กรรมาชีพยึดโรงงานและตั้งกรรมการของกรรมาชีพขึ้นมาแทนระบบบริหารของนายทุน ในปลายปีเดียวกัน “ขบวนการกรรมการคนงาน” ก็เกิดขึ้นในเมืองทูรินซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางเหนือของอิตาลี่

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในเดือนเมษายนปี 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปนำโดยกรรมาชีพพื้นฐานเกิดขึ้นในเมืองทูริน ซึ่งต่อมาขยายไปเป็นคลื่นการยึดโรงงานโดยกรรมาชีพตามเมืองใหญ่ๆ ทางภาคเหนือของอิตาลี่ ยุคนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ปีสีแดง” สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยวาดภาพสถานการณ์การต่อสู้ในช่วงนี้คือใบปลิวที่ออกมาในเมืองทูริน ซึ่งเชิญชวนให้กรรมาชีพมาร่วมประชุมสหภาพแรงงานโดยนำปืนส่วนด้วย! อย่างไรก็ตามพรรคสังคมนิยมและผู้นำระดับสูงของสภาแรงงานไม่ยอมสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพอย่างจริงใจ กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ “L’Ordine Nuovo” จึงตัดสินใจตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ในโรงงานต่างๆ และต่อมากลุ่มเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางในการสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในปลายปี 1922 มุสโสลีนี หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์สามารถยึดอำนาจในอิตาลี่ และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก็ถูกจับไปหลายคน ส่วน กรัมชี่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างประเทศก็รอดพ้นไปได้

ในปี 1924 กรัมชีกลับมาทำงานในอิตาลี่แต่ในไม่ช้าก็ถูกจับในปี  1926 และติดคุกถึงปี 1935 ซึ่งเป็นช่วงปลายชีวิตของเขา กรัมชี่เสียชีวิตในปี1937 ในช่วงที่เขาติดคุก กรัมชี่ ได้เขียนผลงานสำคัญที่เรียกรวมๆ ว่า “สมุดบันทึกจากคุก” เนื่องจากงานเขียนในคุกต้องผ่านการเซ็นเซอร์ของเจ้าหน้าที่ควบคุมคุก คำและภาษาที่ กรัมชี่ ใช้ในการพูดถึงประเด็นต่างๆ ทางการเมืองในบทความเหล่านี้ค่อนข้างจะอ้อมไปอ้อมมาและไม่ชัดเจนเฉพาะเจาะจง ซึ่งเปิดโอกาสให้คนอื่นที่ตามหลังมาบิดเบือนแนวคิดของเขา

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคอคมมิวนิสต์อิตาลี่เริ่มเสนอแนวปฏิรูปและค่อยๆ พยายามทำแนวร่วมกับพรรคนายทุน นักวิชาการของพรรคจึงเริ่มบิดเบือนแนวคิดของกรัมชี่ ตามมาด้วยนักวิชาการที่เป็นพวกเสรีนิยม เรื่องหลักๆที่พวกนี้บิดเบือนคือ การลบทิ้งแนวคิดปฏิวัติของกรัมชี่ และปกปิดความสำคัญของการสร้างพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน “L’Ordine Nuovo” ที่เขาเป็นบรรณาธิการ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน กรัมชี่ เสนอว่ากรรมาชีพต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบันและเน้นรัฐสภา

ถึงแม้ว่ากรัมชี่มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกัน โดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยา ฟาสซิสต์ ของ มุสโสลีนี เพราะในช่วงแรกพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะปีก “ซ้าย” ของพรรคภายใต้การนำของบอร์ดิกา ไม่ยอมทำแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม โดยอ้างว่าผู้นำพรรคพากรรมาชีพไปหลงทางตลอด แต่กรัมชี่ พยายามอธิบายว่าคอมมิวนิสต์ควรสร้างแนวร่วมเพื่อเป็นการทดสอบผู้นำพรรคสังคมนิยมต่อหน้าสมาชิกพื้นฐาน โดยที่กรัมชี่เชื่อว่าหลังจากการทดสอบดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จะสามารถช่วงชิงสมาชิกพื้นฐานของพรรคสังคมนิยมมาเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ได้ พร้อมกันนั้นกรัมชี่ก็ไม่เห็นด้วยกับ “ปีกขวา” ของพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย เพราะพวกนี้เห็นว่าควรสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและนายทุนชาติเพื่อต่อต้าน ฟาสซิสต์

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”

ประชาสังคม

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ทรอตสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ในเยอรมัน และกรัมชี่ ในอีตาลี่ จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” กรัมชี่อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายใน “ประชาสังคม” (Civil Society) สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครองมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจทางความคิดในสังคม

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ

แนวคิดประชาสังคมของพวกนักวิชาการและเอ็นจีโอ มักเน้นชนชั้นกลาง และมองข้ามการที่หลายๆ กลุ่มและองค์กรถูกครอบงำโดยแนวคิดกระแสหลักที่คอยปกป้องสภาพสังคมภายใต้ทุนนิยม การที่เอ็นจีโอ นักวิชาการและคนชั้นกลางในไทย ออกมาจับมือกับฝ่ายรักเจ้าและโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของกรัมชี่อธิบายประชาสังคมได้ดี ทุกวันนี้ทหารเผด็จการก็ยังครองอำนาจอยู่ในไทยและชักชวนให้คนจำนวนมากยอมรับกติกาการเลือกตั้งของทหาร และความจำเป็นที่จะคงไว้กฎหมาย 112 อีกด้วย

การช่วงชิงการครองใจทางความคิด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบหรือขั้นตอน ที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้ช่วงชิงการผูกขาดทางความคิดกับชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐของกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ การปฏิวัติสังคมนิยมต้องอาศัยการช่วงชิงมวลชนกรรมาชีพ ให้หลุดพ้นจากแนวคิดของชนชั้นปกครอง เพราะการปฏิวัติต้องเป็นสิ่งที่มวลชนกรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มเล็กๆ ทำแทนให้ได้ แต่การช่วงชิงความคิดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีฐานในมวลชนกรรมาชีพ ซึ่งพรรคก็จะใช้สื่อต่างๆ ขณะที่ร่วมต่อสู้ เพื่อช่วงชิงความคิดก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ปฏิวัติ

ในขณะเดียวกันกรัมชี่เสนอว่าในหัวสมองของประชาชนธรรมดา เรามักจะมีแนวคิดที่ขัดแย้งกัน คือส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นปกครองผ่านสื่อกระแสหลัก โรงเรียน องค์กรศาสนา หรือครอบครัวของเรา แต่อีกส่วนมาจากประสบการณ์โลกจริง โดยเฉพาะเวลาเราเกิดความขัดแย้งกับอำนาจรัฐในสังคม แนวคิดหลังนี้เป็นแนวคิดเชิงกบฏ ที่พูดได้ว่าอาจเป็นหน่ออ่อนของแนวคิดสังคมนิยม

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง เพราะประสบการณ์ในการต่อสู้จะก่อให้เกิดความคิดขัดแย้งกับแนวกระแสหลักของชนชั้นปกครองเสมอ ยกตัวอย่าง เช่นกรรมาชีพที่ยังไม่มีประสบการณ์การต่อสู้กับนายจ้างอาจมองว่านายจ้างของเขาใจดี และกฎหมายของบ้านเมืองเป็นกลางและมีความเป็นธรรมก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาตัดสินใจนัดหยุดงานเพราะค่าแรงไม่พอกิน เขาอาจพบว่านายจ้างพร้อมจะจ้างนักเลงมาทำร้ายเขา และไม่ยอมขึ้นค่าแรงทั้งๆ ที่นายจ้างร่ำรวยมาจากการทำงานของคนงาน นอกจากนี้กรรมาชีพอาจพบว่าตำรวจและศาลเข้าข้างนายจ้างเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเปลี่ยนความคิดได้ และถ้าในขณะที่กรรมาชีพกำลังสู้มีผู้ปฏิบัติการของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่พร้อมจะให้คำอธิบายโลกจริงที่แตกต่างจากกระแสหลัก กรรมาชีพยิ่งมีโอกาสที่จะเปลี่ยนความคิดได้เร็ว

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฎีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

มาร์คซ์เคยอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่เชื่อคำหลอกลวงของชนชั้นปกครองว่าเป็นเรื่องของ “ความแปลกแยก” คือในสถานการณ์ที่คนรู้สึกว่าไร้อำนาจ เขาจะยอมเชื่อคำโกหกของคนที่มีอำนาจมากกว่า แต่พอคนเริ่มเคลื่อนไหวและมีความมั่นใจมากขึ้น เขาจะเลิกเชื่อคำโกหกต่างๆ

ถ้าความขัดแย้งในความคิดดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ชาวลัทธิมาร์คซ์ควรเข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวันหรือในเรื่องอื่น ในขณะเดียวกันพรรคปฏิวัติจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย พูดง่ายๆ กรัมชี่ เข้าใจดีว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพอย่างไร

มุมมองนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดเอ็นจีโอหรือนักวิชาการกระแสหลักที่มองว่าเราควรไปช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคมที่เป็นเหยื่อของระบบ มันไม่ใช่ว่าเราชาวมาร์คซิสต์ไม่สงสารคนแบบนี้ แต่มันเป็นเรื่องของวิธีเปลี่ยนสังคมเพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป การช่วยคนที่อ่อนแอที่สุดในสังคม ไม่นำไปสู่พลังที่จะเปลี่ยนสังคม

พวกนักวิชาการฝ่ายปฏิรูปมักจะเอ่ยถึง “สงครามจุดยืน” และลบทิ้งเรื่อง “สงครามขับเคลื่อน” เพื่อบิดเบือนว่ากรัมชีคิดว่าแค่การต่อสู้ทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนสังคม นอกจากนี้จะเห็นได้ว่านักวิชาการที่ชอบพูดถึงกรัมชี นอกจากจะไม่พูดถึงความจำเป็นที่จะปฏิวัติแล้ว ยังมองข้ามเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติ ความสำคัญของสื่อพรรคปฏิวัติ และบทบาทนำของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคมอีกด้วย ในคำพูดหรือข้อเขียนของนักวิชาการพวกนี้ทฤษฎีของกรัมชี่กลายเป็นสิ่งที่ไม่ท้าทายรัฐและระบบทุนนิยมเลย มันกลายเป็นแนวคิดของพวกหอคอยงาช้าง

พรรคปฏิวัติต้องสร้างปัญญาชนขึ้นมาจากชนชั้นกรรมาชีพ

ในเรื่องปัญญาชน ซึ่งสำคัญมากในการพัฒนาความคิด กรัมชี่ไม่ได้มองว่าขบวนการกรรมาชีพต้องไปพึ่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหรือเอ็นจีโอ เหมือนว่าเป็น “ผู้รู้” ที่ชวนลงมาเพื่อสอนคนชั้นล่าง ซึ่งเราเห็นในสังคมไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเรื่อง “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอที่มีบทบาทในการนำม็อบ นอกจากนี้กรัมชี่เปิดโปงคนที่พูดถึง “นักวิชาการอิสระ” อย่างที่เราเห็นในสังคมไทย เขามองว่าปัญญาชนย่อมมีความผูกพันกับเรื่องชนชั้น เขาเสนอว่าข้อผิดพลาดที่แล้วมาในการนิยามปัญญาชนมาจากการมองกิจการของปัญญาชนด้านเดียว โดยไม่มองว่ากิจการดังกล่าวมีความผูกพันอย่างไรกับระบบการผลิตของสังคม

กรัมชี่มองว่ามนุษย์ทุกคนคือปัญญาชน แต่ในสังคมมนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชน ในลักษณะเดียวกันการที่เราอาจทอดไข่หรือเย็บผ้าเป็นบางครั้งบางคราว ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพ่อครัวแม่ครัวหรือช่างตัดเย็บ ดังนั้นปัญญาชนมีบทบาทเฉพาะที่เกิดมาจากอดีต บทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นมาควบคู่กันไปกับการกำเนิดชนชั้นทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นหลักๆ สิ่งที่น่าสังเกตคือชนชั้นที่ต้องการจะขึ้นมาครอบงำสังคมจำต้องหาทางครอบงำปัญญาชนยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แต่การยึดครองความคิดของปัญญาชนดังกล่าวกระทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นถ้าชนชั้นใหม่มี “ปัญญาชนอินทรีย์” ของตนเองด้วย

กรัมชี่ เสนอว่าในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” หรือ ปัญญาชนที่เติบโตจากกลุ่มคนในชนชั้นกรรมาชีพเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่ใกล้ชิดและพัฒนาจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องแปรตัวจากกรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” ผ่านการเคลื่อนไหวและการศึกษาทฤษฎีของพรรค อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

ประชาธิปไตยแรงงาน

กรัมชี่เน้นว่าสังคมนิยมที่เกิดจากการปฏิวัติจะเป็น “ประชาธิปไตยของแรงงาน” เขาเสนอว่า หน่ออ่อนของรัฐสังคมนิยมมีอยู่แล้วในสถาบันทางสังคมประจำวันที่ชนชั้นกรรมาชีพสร้างขึ้นเอง ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงองค์กรเหล่านี้ให้เป็นระบบรวมศูนย์ที่มีพลัง โดยที่ยังรักษาลักษณะความเป็นอิสระในการทำงานของแต่ละองค์กร เราจะสามารถสร้าง “ประชาธิปไตยแรงงาน” อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยแรงงานดังกล่าวจะเป็นกำลังหลักในการคัดค้านและต่อต้านรัฐนายทุนเพื่อหวังเข้ามาแทนที่รัฐนายทุนดังกล่าวในบทบาทการบริหารประเทศชาติ ตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่สร้างประชาธิปไตยแรงงานคือสภาคนงานหรือโซเวียด และหน่ออ่อนของสภาแบบนี้เคยเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่อิหร่าน ชิลีและที่อื่น

สรุปแล้วงานของกรัมชี่ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติในการล้มล้างระบบทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม โดยที่มีข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับวิธีช่วงชิงความคิดในสังคม เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

สหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง บทเรียนสากล

ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ประเด็นแรกคือการแยกหน้าที่กันในความคิดของสายซ้ายปฏิรูป และประเด็นที่สองคือบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน

ในโลกทุนนิยม แนวคิดซ้ายสังคมนิยมแบบปฏิรูป จะส่งเสริมความคิดว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” แยกกัน โดยที่สหภาพแรงงานมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มค่าจ้างและพัฒนาสภาพการจ้างผ่านการนัดหยุดงาน ประท้วง หรือเจรจา ในขณะที่พรรคการเมืองของแรงงานเช่น “พรรคแรงงาน” หรือ “พรรคสังคมนิยม” มีหน้าที่ผลักดันการเมืองในรัฐสภาที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

ในรูปธรรมมันหมายความว่าผู้นำแรงงานระดับชาติจะปฏิเสธการนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ในเรื่องการเมือง คือจะไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานเพื่อล้มรัฐบาล หรือการนัดหยุดงานในประเด็นเฉพาะทางการเมืองเช่นการขยายหรือปกป้องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านสงคราม หรือการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จริงอยู่ผู้นำแรงงานอาจส่งเสริมให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปประท้วงกับขบวนการอื่นๆ ในเรื่องการเมือง เพื่อส่งต่อเรื่องให้นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะไม่สนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยตรง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะไปเกี่ยวข้อกับระบบเศรษฐกิจ

เราเห็นผลพวงของความคิดนี้ในกรณีคลื่นการนัดหยุดงานในอังกฤษ และในฝรั่งเศสในปีนี้ คือผู้นำสหภาพแรงงานกำหนดวันหยุดงานเป็นวันๆ ไป ไม่เสนอให้นัดหยุดงานทั่วไปโดยไม่มีกำหนดเลิกจนกว่ารัฐบาลจะยอมจำนนหรือลาออก ทั้งนี้เพราะผู้นำแรงงานมองว่ามันเลยขอบเขตหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และเขากลัวอีกว่าถ้ามีการนัดหยุดงานทั่วไปการนำการต่อสู้จะมาจากแรงงานรากหญ้าไฟแรง แทนที่ผู้นำเดิมจะควบคุมได้ ยิ่งกว่านั้นในกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทมากกว่าพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษห้ามไม่ให้สส.ไปสนับสนุนการนัดหยุดงานใดๆ เพราะพรรคตั้งเป้าไว้ที่จะเอาใจนายทุน

ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปจริงๆ มันมักจะไม่ผ่านขั้นตอนทางการ และมักจะ “ผิดกฎหมาย” และมักจะนำโดยคณะกรรมการระดับรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่อาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติ และตลอดเวลาที่มีการต่อสู้แบบนี้ผู้นำแรงงานเดิมจะพยายามกล่อมให้คนงานกลับเข้าทำงานและปล่อยให้นักการเมืองในสภาเข้ามาแก้ปัญหา

ในแง่หนึ่งรัฐทุนนิยมทั่วโลกก็จะมองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และมักจะมีการออกกฎหมายห้ามการกระทำแบบนี้ ซึ่งเราเห็นในไทยและในประเทศตะวันตก

สำหรับนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ เรามองว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรามองว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสูงสุดของประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสภาพสังคมทุนนิยมและการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ 1%ของประชากร คือมันปกป้องรัฐของชนชั้นนายทุนที่มีไว้กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาลกับคุก ดังนั้นเรามองว่าถ้าการต่อสู้จะยกระดับให้สูงขึ้น การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับการเมืองต้องรวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเริ่มสร้างองค์กรบริหารสังคมแบบใหม่ที่กรรมาชีพมีบทบาทโดยตรง ตัวอย่างที่ดีคือสภาคนงาน แบบโซเวียตในปีแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในอิหร่านท่ามกลางการปฏิวัติ1979 หรือสภาประสานงานกรรมาชีพในชิลีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพยายามต่อต้านรัฐประหารในปี1973

ความสำคัญเกี่ยวกับสภาคนงานแบบที่พูดถึงนี้คือ มันเป็นหน่ออ่อนของการบริหารสังคมแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยของกรรมาชีพซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการนัดหยุดงานทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าพร้อมกับสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่เน้นรัฐสภา

ในประเด็นที่สองคือ เรื่องบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวแรงงานที่หวังทำงานภายในพรรคก้าวไกล บทเรียนแรกมาจากอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างพรรคแรงงาน และผู้แทนของสหภาพแรงงานมักจะทำงานภายในพรรค “เสรีนิยม” ซึ่งเป็นพรรคนายทุน การทำงานภายในพรรคนี้ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย จึงมีการสรุปกันว่าต้องสร้างพรรคแรงงานขึ้น

แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคเดโมแครตในสหรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีมายาวนานในขณะที่พรรคของสหภาพแงงานหรือพรรคแรงงานไม่มี ดังนั้นเวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐจะมีทางเลือกให้ประชาชนระหว่างแค่สองพรรคของนายทุนเท่านั้น คือระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรคริพับลิกัน และผู้นำสหภาพแรงงานจะชวนให้สมาชิกเลือกพวกเดโมแครต ส่วนหนึ่งคือการตั้งความหวังจอมปลอมว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ขวาตกขอบเหมือนริพับลิกัน อีกส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์เมื่อยุค 1930 ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้นโยบายเอาใจสหภาพแรงงานและนายทุนพร้อมกันเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องหลักๆ ปัจจุบัน นโยบายของทั้งสองพรรคมักจะไม่ต่างกันมากนัก เช่นในเรื่องการทำสงคราม เรื่องจักรวรรดินิยม เรื่องกลไกตลาดเสรีกับการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ หรือในเรื่องการไม่ยอมสร้างรัฐสวัสดิการ

บทเรียนสำคัญสำหรับยุคนี้คือการที่ประธานาธิบดีไบเดิน ออกคำสั่งยกเลิกการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟสหรัฐในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยอ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ  ในที่สุดสหภาพแรงงานต้องไปยอมรับข้อตกลงกับบริษัทเดินรถไฟที่แย่มาก เพราะไม่มีการให้สวัสดิการล่าป่วย และบังคับขึ้นเงินเดือนแค่ 24% ในช่วง 4 ปี โดยที่ระดับเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ กับพรรคพวกที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ภายในพรรคเดโมแครต ก็ไปยกมือสนับสนุนไบเดินในการกดขี่เสรีภาพของสหภาพแรงงาน

บทเรียนนี้ชี้ให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองของนายทุนในที่สุดจะสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเสมอ ไม่ว่าจะมีผู้แทนที่อ้างว้าเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักสหภาพแรงงานสี่ห้าคนภายในพรรคก็ตาม

การเรียกร้องสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะนัดหยุดงาน โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐ และการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้นจนเท่ากับมาตรฐานคนชั้นกลาง เป็นสิ่งจำเป็นในไทย แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีผู้แทนสายแรงงานอยู่ในพรรค ซึ่งยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คำถามคือพรรคนายทุนพรรคนี้จะสนับสนุนผลประโยชน์ของแรงงานถ้ามันไปขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนจริงหรือ?

ความสำคัญของแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของ ลีออน ทรอตสกี้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์แต่ยังมีความสำคัญกับการต่อสู้ทั่วโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือมันนำไปสู่การเน้นบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเป้าหมายที่จะปฏิวัติสังคมนิยม

ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางฟิวเดิลที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมันหรือรัสเซีย แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี 1848 ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมสมัยนั้น ชนชั้นนายทุนกลัวกรรมาชีพมากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮืออย่างเด็ดขาด มาร์คซ์ผิดหวังกับชนชั้นนายทุนในปี 1848 และสรุปว่าหลัง1848เป็นต้นไป ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน มาร์คซ์เป็นคนแรกที่เขียนว่ากรรมาชีพต้อง “ปฏิวัติถาวรไปเลย!”

แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?

มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตย (หรือที่บางคนเรียกว่า “ประชาชาติประชาธิปไตย”) เพราะกรรมาชีพจะยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป  ดังนั้นควรจะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม “อย่างถาวร”          

มาร์คซ์เขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนประชาธิปไตยสองหน้า ที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง… คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ‘ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!’”

กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์ อาจจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อล้มเผด็จการในช่วง๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือยุคเสื้อแดง เพราะเป้าหมายในการต่อสู้กับเผด็จการในไทย ไม่เคยเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมเลย

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนไว้ในหนังสือ “สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย”) ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ในปี 1917 ใน “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” ของเลนิน เขาเปลี่ยนใจและหันมาเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน “การปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์

ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมสู้อย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ทรอตสกี้ เขาเสนอการปฏิวัติถาวรตามแนวคิดของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ก่อนที่เลนินจะเสนอ “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” 11ปี สาเหตุสำคัญที่ทรอตสกี้มองว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสามารถก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในรูปแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยผ่านนั้น ก็เพราะทุนนิยมได้ขยายไปเป็นระบบโลกและเข้ามามีอิทธิพลหลักในประเทศล้าหลังทั่วโลก แต่การเข้ามามีลักษณะร่วมกับทุนนิยมทั่วโลกและในขณะเดียวกัน “ต่างระดับ” ตัวอย่างเช่นการที่รัสเซียประกอบไปด้วยเกษตรกรจำนวนมากที่อยู่ในสภาพล้าหลังแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าพอๆ กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่ถ้าการปฏิวัติถาวรจะสำเร็จในประเทศล้าหลัง ต้องมีการขยายการต่อสู้ไปในระดับสากล

พวก “เมนเชวิค” ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปในรัสเซียสมัย 1917 ยังคงเชื่อว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมและไม่ก้าวข้ามไปสู่สังคมนิยม ดังนั้นเมนเชวิคจะสนับสนุนนักการเมืองนายทุนและการทำสงครามกับเยอรมันต่อไป ในขณะที่บอลเชวิคของเลนินและทรอตสกี้ยุติสงครามและล้มรัฐสภาของนายทุนเพื่อสร้างสภาคนงานแทน

ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่นโดยเฉพาะนายทุน และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เพราะขยายในลักษณะสากลไปสู่เยอรมันและประเทศพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็สตาลินขึ้นมามีอำนาจและทำลายความก้าวหน้าที่มาจากการปฏิวัติจนหมดสิ้น เพื่อสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ในรัสเซีย สตาลินเรียกระบบนี้ว่า “สังคมนิยมในประเทศเดียว” และใช้แนวชาตินิยมแทนแนวสากลนิยม ต่อจากนั้นสตาลินเสนอกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกหรือด้อยพัฒนา ว่าต้องตั้งเป้าไว้เพื่อหยุดที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหรือ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นายทุน “ที่รักชาติ” แทนนที่จะสู้เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม

สาเหตุที่สตาลินหันกลับมาเสนอจุดยืนของพวกเมนเชวิค หรือจุดยืนเก่าที่เลนินทอดทิ้งไป ก็เพื่อหวังผูกไมตรีกับประเทศทุนนิยมตะวันตก หรืออย่างน้อยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น เพราะในความเห็นของเขาความมั่นคงของรัสเซียสำคัญกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากล

สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนาภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของทรอตสก้ที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป  สตาลินจำต้องฆ่าทรอตสกี้และลบใบหน้าของเขาออกจากรูปถ่ายต่างๆ ที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์ก็คล้อยตามแนวของสตาลิน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งถือนโยบายตามแนวคิดของ สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ก็เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม (ประชาชาติประชาธิปไตย) และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ  พคท. ถึงกับทำแนวร่วมกับจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะถูกสฤษดิ์ปราบ

ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยในไทยที่เชื่อแนวนี้อยู่ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เคยเข้าไปในพรรคไทยรักไทยและยอมรับการนำของนายทุนอย่างทักษิณ  การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พคท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?

มรดกของทรอตสกี้และเลนินเสนอว่าในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง  โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสังคมนิยมเท่านั้น แต่พคท.นิยามความคิดแบบนี้ว่าเป็น “ลัทธิแก้” และเสนอว่าไทยเป็นประเทศ “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ซึ่งในปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยศักดินา

เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยในยุค พคท.ไม่ได้เป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จักรวรรดินิยมอเมริกามีอิทธิพลสูงในสมัยสงครามเย็น การเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เพราะไม่ต้องมีการยึดพื้นที่เพื่อปกครอง และในเรื่องที่เสนอว่าไทยเป็นประเทศกึ่งศักดินา เราควรเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบศักดินาได้ถูกทำลายไปแล้วเพื่อสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้สำคัญในปัจจุบัน เพราะมีผลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ เพราะพวกที่มองว่าประเทศปกครองโดยระบบศักดินามักจะพร้อมที่จะจับมือกับนายทุนหรือนักการเมืองนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือนักการเมืองพรรคก้าวไกล ในขณะที่ไม่สนใจที่จะสร้างฐานการต่อสู้ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และพวกนี้มักจะยอมรับแนวชาตินิยมและเสรีนิยมอีกด้วย

หลังจากที่ทรอตสกี้เสียชีวิตเพราะถูกลูกน้องของสตาลินฆ่า เราเริ่มเห็นการปฏิวัติปลดแอกประเทศในอดีตอณานิคมของตะวันตกในเอเชียและอัฟริกา แต่ไม่ว่าประเทศอิสระใหม่ๆจะเรียกตัวเองเป็นสังคมนิยมหรือไม่ สภาพความเป็นจริงคือชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และระบบที่ประเทศเหล่านั้นใช้มีลักษณะคล้ายๆ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของรัสเซีย คือเน้นรัฐวิสาหกิจและพรรคนำที่เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพและชาวนา

โทนี่ คลิฟ นักมาร์คซิสต์ชาวยิวจากปาเลสไตนที่ไปลี้ภัยในอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวรชนิด “หันเห” เขาอธิบายว่าสาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานอาจถูกนำโดย “คนภายนอก” ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ ซึ่งก่อให้เกิด “ลัทธิสหภาพ”

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน “แนวร่วมรักชาติ”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น โดยเฉพาะปัญญาชนที่เสนอตัวนำชาวนาหรือคนยากจน จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย  นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท “หันเห” เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มานำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีการล้มทุนนิยม และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีน คิวบา หรือเวียดนาม

หัวใจสำคัญของทฤษฎีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก  เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง และเราจะวนเวียนอยู่ในความเหลื่อมล้ำและวิกฤตของทุนนิยมโลก

สองคำถามสำคัญสำหรับทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์กับตูนีเซียในยุคอาหรับสปริง อิหร่านในสมัยล้มพระเจ้าชาร์หรือแม้แต่ในการลุกฮือปีนี้  หรือซูดานหรือศรีลังกาในยุคปัจจุบัน….. คือ (1)จะสู้เพื่อเป้าหมายอะไร? และ(2)จะอาศัยพลังในการล้มเผด็จการมาจากส่วนไหนของสังคม?

คำถามแรกท้าทายคนที่มองว่าควรล้มเผด็จการเพื่อให้มีแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบทุนนิยม คือตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองกระแสหลักและรัฐสภา ซึ่งจะจบลงด้วยการประนีประนอมกับพวกทหารหรือนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และคงไว้ระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่

คำถามที่สองจะท้าทายคนที่มองว่าพลังหลักในการปลดแอกสังคมคือคนชั้นกลาง ประเทศจักรวรรดินิยมเสรีนิยม หรือพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา แทนที่จะมองว่าพลังหลักในการปลดแอกคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ และคนที่เห็นด้วยกับแนวพลังกรรมาชีพจะต้องลงมือสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานตั้งอยู่ในหมู่กรรมาชีพ

ทุกคนที่พึ่งผ่านการต่อสู้กับเผด็จการประยุทธ์ในไทย คงเข้าใจความสำคัญของสองคำถามนี้ สรุปแล้วคุณจะพอใจกับการจมอยู่ในระบบรัฐสภาที่ถูกตีกรอบโดยเผด็จการทหาร ซึ่งอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จะแค่นำไปสู่สภาพสังคมในยุคที่ทักษิณเคยเป็นผู้นำประเทศ… หรือคุณจะพยายามต่อสู้เพื่อสังคมที่ก้าวหน้ากว่านี้? สังคมนิยมนั้นเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปัจเจกหรือมวลชน?

คนที่ออกมาสู้แบบปัจเจกมีความจริงใจ กล้าหาญ และเสียสละจริง แต่การต่อสู้แบบปัจเจกมีปัญหาที่เราต้องวิจารณ์ มันเป็นการเอาตัวเองมาแทนมวลชน ในที่สุดจะล้มเหลว ทำแบบมหาตมา คานธี  ที่อดอาหารแทนการปลุกพลังมวลชน คิดว่าความชอบธรรมมีพลัง แต่หันหลังให้พลังแท้ของกรรมาชีพที่จะไล่เจ้าอาณานิคมหรือล้มเผด็จการได้ มันเป็นกลยุทธ์ที่หลงคิดว่าการกระทำที่สร้างข่าวจะปลุกกระแสมวลชนโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำงานจัดตั้ง

ถ้าเราเห็นใจและอยากสมานฉันท์กับผู้ที่สู้แบบปัจเจก เราต้องกลับมาพิจารณาการสร้างขบวนการมวลชนที่มีพลัง ขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการปลุกระดมมวลชนเป็นแสน มันเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพสังคม แต่การต่อสู้ครั้งนั้น ไม่สนใจจัดตั้งพลังกรรมาชีพ เน้นความชอบธรรม เน้นสัญลักษณ์ เน้นการสร้างเครือข่ายหลวมๆ และชูตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่ประกาศว่าไร้ผู้นำ

แค่ชื่นชมการต่อสู้ จิตใจกล้าหาญ ของนักสู้ปัจเจก ไม่พอ ต้องหาทางฟื้นขบวนการมวลชน และต้องเดินออกห่างจากการเน้นการต่อสู้แบบปัจเจกชน บางครั้งอาจจะปลุกระดมคนได้บ้างชั่วคราว แต่พอกระแสลง จะไม่เหลือองค์กรที่สามารถรักษาระดับการต่อสู้ระยะยาวได้ต่อไป นั้นคือสาเหตุที่เราเน้นการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายพร้อมกับการสร้างมวลชนเสมอ

เราต้องลดความโรแมนติกในการต่อสู้แบบปัจเจกลง และเลิกการออกมาแสดง “ความเคารพ” เฉยๆ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของนักต่อสู้กล้าหาญที่เลือกแนวทางปัจเจกเพราะมองไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

เบื้องหลังการกบฏที่อิหร่าน

การต่อสู้รอบล่าสุดของประชาชนอิหร่านที่ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามที่โหดร้ายป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐ คาดว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบสี่ร้อยคน รวมถึงเด็ก และถูกจับอีกหลายร้อย นอกจากนี้รัฐบาลประกาศประหารชีวิตผู้ถูกจับอีกด้วย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้นในต้นเดือนตุลาคมกระแสกบฏลามไปสู่บางส่วนของกรรมาชีพในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการนัดหยุดงาน ปิดถนน และตะโกนด่าผู้นำสูงสุด อะลี คอเมเนอี ล่าสุดคนงานโรงเหล็กในเมือง อิสฟาฮาน ก็นัดหยุดงาน

นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาประท้วงอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่นำโดยนักศึกษาหญิง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการทุบผนังที่ใช้แยกนักศึกษาหญิงออกจากชาย

บนท้องถนนเวลามีการประท้วงมีการปัดผ้าโพกหัวพวกพระตกลงบนพื้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการย่อยปิดร้านค้าประท้วงอีกด้วย

การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นจากการฆ่า มาห์ซา อามินี โดยตำรวจในขณะที่เขาถูกขังในคุกตำรวจ เขาเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัว เนื่องจากเธอไม่ได้สวมฮิญาบในลักษณะ “ถูกต้อง” ตามระเบียบอนุรักษ์นิยม

โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา พบว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลบังคับให้สวมฮิญาบ ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างคนที่เคร่งศาสนากับคนที่ไม่เคร่งศาสนา แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำของประเทศ

ในไม่ช้าความไม่พอใจของประชาชนขยายจากเรื่อง มาห์ซา อามินี ไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการที่สังคมไร้เสรีภาพ และประท้วงปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของประชาชนในวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เกลียดชังกฎหมายเผด็จการและไม่พอใจกับการที่จะตกงานและยากจนในอนาคต การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงขนาดใหญ่โดยกรรมาชีพเรื่องค่าครองชีพ การตกงาน และการตัดสวัสดิการ ซึ่งในการต่อสู้ของกรรมาชีพนี้ ไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นการประท้วงรัฐบาลอีกด้วย ปีที่แล้วคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่คนงานที่ประท้วงตอนนี้และตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีสัญญาการจ้างชั่วคราว และทำงานซ่อมแซมโครงสร้างของอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนงานหลักในใจกลางอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเคยปิดการผลิตน้ำมันในการปฏิวัติปี 1979 การต่อสู้ครั้งนี้จะมีพลังมากขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพในใจกลางเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุติการอุดหนุนราคาอาหาร มีการประท้วงบนท้องถนนของประชาชนหลายพัน รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถพยุงราคาได้เพราะค่าอาหารพุ่งขึ้นเนื่องจากวิกฤตโลก โดยเฉพาะวิกฤตอาหารในตลาดโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน สภาพย่ำแย่ของประชาชนมาจากอีกสองสาเหตุด้วยคือ การปิดกั้นเศรษฐกิจอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกา และการใช้นโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลอิหร่านในรอบสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามวิดีโอที่เปิดเผยความรุนแรงของตำรวจบนท้องถนนทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น แม้แต่ในคุกเอวินในกรุงเตหะรานก็มีการต่อสู้ คุกนี้เป็นคุกสำหรับนักโทษการเมืองที่ขังปัญญาชน นักศึกษา และนักต่อสู้ผู้หญิง แต่การปราบปรามของฝ่ายรัฐคงจะมีผลทำให้หลายคนกลัว อย่างไรก็ตามคนบนท้องถนนจำนวนมากมองว่าต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อล้มรัฐบาล แต่กระแสนี้อาจเปลี่ยนได้

นักการเมืองฝ่าย “ปฏิรูป” บางคนแนะให้รัฐบาลประนีประนอมเพื่อจำกัดและลดการประท้วง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคิดจะปราบท่าเดียว

นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอิหร่านรายงานว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกพยายามฉวยโอกาสแทรกแซงความวุ่นวายในอิหร่าน พร้อมขู่ว่าจะช่วยล้มรัฐบาล และออกมาพูดสนับสนุนผู้ประท้วง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้หลงคิดว่าสหรัฐกับตะวันตกเป็นเพื่อนของประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการแต่อย่างใด เขาจำหรือเข้าใจบทบาทตะวันตกในอดีตได้ดี ยิ่งกว่านั้นท่าทีของสหรัฐและตะวันตกเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านโกหกว่าการประท้วงถูกจัดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจริง

ถ้าจะเข้าใจการต่อสู้รอบนี้ เข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเข้าใจที่มาของชนชั้นปกครองอิหร่านในยุคปัจจุบัน เราต้องศึกษาการปฏิวัติ 1979

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอิหร่าน

ในปี1979 มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอีหร่าน      ก่อนหน้านั้นอีหร่านปกครองโดยกษัตริย์เผด็จการที่เรียกว่า “พระเจ้าชาห์” พระเจ้าชาห์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นจักรวรรดินิยมรายใหญ่และตอนนั้นประเทศอีหร่านเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์กรสายลับ “ซีไอเอ” ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพราะสหรัฐพยายามปกป้องผลประโยชน์เรื่องน้ำมันในตะวันออกกลางมาตลอด ซึ่งเห็นชัดในกรณีรัฐประหารปี 1953 ที่ล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดฆ ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง รัฐประหารนี้เกิดจากการที่ โมซัดเดฆ พยายามนำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผลของรัฐประหารคือการขึ้นมาของเผด็จการพระเจ้าชารห์

เนื่องจากพระเจ้าชาห์มีองค์กรตำรวจลับ “ซาวัค” ที่โหดร้ายทารุน และมีกองทหารสมัยใหม่ที่มีกำลังถึง 7 แสนคน เขามักอวดดีว่า “ไม่มีใครล้มกูได้”  แต่ในขณะที่อีหร่านเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันสูง ประชาชนกลับยากไร้ หมู่บ้าน87%ในประเทศในไม่มีโรงเรียน และเกือบจะไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีสถานพยาบาล      80%ของประชากรอ่านหนังสือไม่ได้อีกด้วย                 

ในปี 1977 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มักเกิดกับทุนนิยมเป็นระยะๆ ปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานทั่วไป มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่อิสระจากอิทธิพลของตำรวจ “ซาวัค” และมีการประท้วงทุกรูปแบบ เช่นมีคนเข้าฟังกวีอ่านกลอนต่อต้านรัฐบาลถึง 2 หมื่นคน 

พอถึงกันยายนปี 1978 มีประชาชนออกมาชุมนุมต้านกษัตริย์ชาห์ 2 ล้านคนในเมืองเตหะราน กรรมาชีพส่วนที่สำคัญที่สุดของอีหร่านคือคนงานสูบและกลั่นน้ำมัน เขาก็นัดหยุดงาน พนักงานสื่อมวลชนมีการดับรายการวิทยุโทรทัศน์คืนละหนึ่งชั่วโมง พนักงานรถไฟไม่ยอมให้ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นรถไฟ กรรมกรท่าเรือไม่ยอมขนสินค้ายกเว้นอาหารและยา   สรุปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมาชีพยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอีหร่านตอนนั้น แต่เป็นส่วนที่มีพลังมากที่สุดและเป็นส่วนที่ใช้พลังบีบระบบเศรษฐกิจจนพระเจ้าชาห์ต้องหนีออกนอกประเทศ

ฝ่ายค้าน

ปัญหาของการปฏิวัติอีหร่านในปี 1979 เป็นปัญหาเดียวกับการปฏิวัติในยุคปัจจุบันทุกครั้ง คือล้มรัฐบาลแล้วจะเอาอะไรมาแทนที่?   ตอนนั้นฝ่ายค้านมีสามพวกคือ

1.พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้แบบติดอาวุธ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากเพราะไม่สนใจบทบาทมวลชน หรือกรรมาชีพ

2.พวกพระศาสนาอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลเก่าเพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์กัน พวกนี้ได้เปรียบฝ่ายซ้ายเพราะรัฐบาลพระเจ้าชาห์ไม่ค่อยกล้าปราบปรามสถาบันศาสนาโดยตรง มัสยิดจึงกลายเป็นแหล่งจัดตั้งของพระฝ่ายค้านได้ดี กลุ่มพระเหล่านี้มีฐานสนับสนุนในพวกนายทุนน้อยในตลาดตามเมืองต่างๆ แต่พร้อมจะทำงานกับนายทุนใหญ่

3.ฝ่ายซ้าย “พรรคทูเดย” แนวคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ที่ต้องการทำแนวร่วมรักชาติกับพวกพระ ตามแนวปลดแอก “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะสู้เพื่อล้มทุนนิยม

กรรมาชีพตั้งสภาคนงาน “ชอร่า”

เมื่อกรรมาชีพอีหร่านเริ่มรู้พลังของตนเอง ก็มีการตั้งสภาคนงานในรูปแบบเดียวกับ “โซเวียด” ของรัสเซีย แต่ในอีหร่านเขาเรียกว่า “ชอร่า” ซึ่งสภาคนงานนี้ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของรัฐชนชั้นกรรมาชีพได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือฝ่ายซ้ายในอีหร่านไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพในการสร้างสังคมใหม่ เขามองว่าอีหร่าน “ยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติสังคมนิยม” และ “ต้องสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน” ตามสูตรแนวคิดลัทธิสตาลิน ฝ่ายซ้ายจึงสนับสนุนและสร้างแนวร่วมกับพวกพระศาสนาอิสลาม เพื่อ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในการต่อต้านรัฐบาลเก่า  แต่พวกพระอิสลามไม่สนใจที่จะล้มระบบทุนนิยมเลย เขาต้องการปกป้องทุนนิยมในรูปแบบชาตินิยมผสมอิสลามเท่านั้น และพวกพระพยายามทุกวิธีทางที่จะทำลายสภาคนงาน“ชอร่า”ที่ถูกตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงด้วย

ในที่สุด ทั้งๆที่กรรมาชีพมีพลังสูง และทั้งๆที่กรรมาชีพออกมาประท้วงถึง 1.5 ล้านคนในวันแรงงานสากลปี 1979 ฝ่ายพระอิสลามที่นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

ทรอตสกี กับ “การปฏิวัติถาวร”

ลีออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซียที่เป็นคู่สหายของเลนิน เคยเสนอตั้งแต่ปี 1905 ว่าในประเทศล้าหลังถึงแม้ว่าจะมีกรรมาชีพน้อยกว่าชาวนา แต่กรรมาชีพจะต้องไม่พอใจกับการสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในกรณีที่มีการล้มเผด็จการ และจะต้องยกระดับการต่อสู้ให้เลยขั้นตอนนี้ไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยม กรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเลย และจะยังถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป นี่คือการต่อสู้ที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติถาวร” และในการต่อสู้แบบนี้กรรมาชีพจะต้องรบกับระบบทุนนิยมและนายทุนอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่สร้างแนวร่วมกับนายทุน แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมกับชาวนายากจนในชนบท

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จะเป็นไปตามที่ทรอตสกีเสนอ แต่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือฝ่ายซ้ายในอีหร่าน ก็ล้วนแต่ปฏิเสธการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น และหันมาเสนอการสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของนายทุนแทน การปฏิเสธการปฏิวัติถาวรมาจากการที่สตาลินยึดอำนาจในรัสเซีย ทำลายสังคมนิยม และเปลี่ยนแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

อีหร่าน 1979    ไทย ๑๔ ตุลา

แนวทางชาตินิยมต้านจักรวรรดินิยมที่ปฏิเสธบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเสนอให้สู้เพื่อได้มาแค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุน แทนที่จะต่อสู้อย่างไม่ขาดขั้นตอนไปสู่สังคมนิยม เป็นแนวทางที่เราได้รับการสั่งสอนมาในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แนวนี้เป็นแนวที่เปิดโอกาสให้นายทุนไทยฉวยโอกาสครอบงำการเมืองไทยหลังการล้มเผด็จการทุกครั้ง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นหกปีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน แนวนี้นำกรรมาชีพไทยไปเป็นทาสรับใช้นายทุนไทย เช่นเดียวกับแนวทางที่นำกรรมาชีพอีหร่านไปสู่การเป็นทาสของนายทุนอิสลามและความพ่ายแพ้ในปี 1979

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือ (1)กรรมาชีพไม่ควรฝากความหวังไว้กับชนชั้นอื่นเลย ไม่ควรสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสู้กับจักรวรรดินิยมและสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างเดียว นายทุนชาติไม่ใช่มิตร แต่เป็นผู้ขูดรีด และประชาธิปไตยทุนนิยมไม่มีวันยกเลิกการขูดรีดดังกล่าว (2) ฝ่ายซ้ายต้องเน้นพลังมวลชนกรรมาชีพในการต่อสู้ และเข้าใจแนว “ปฏิวัติถาวร”

ปัจจุบัน

ถ้ากรรมาชีพอิหร่านเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองอีกครั้ง จะต้องต่อสู้โดยไม่หลงเชื่อว่าประชาธิปไตยนายทุนจะเพียงพอ หรือพึ่งพามิตรจอมปลอมในรูปแบบรัฐบาลตะวันตก กรรมาชีพและนักสังคมนิยมอิหร่านจะต้องผลักดันการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพในสังคมและมุ่งสู่สังคมนิยม ต้องเดินตามแนว “ปฏิวัติถาวร” เพราะในอดีตสิ่งที่กรรมาชีพได้จากการต่อสู้เสียสละในปี 1979 คือเผด็จการจากมัสยิดที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน และกดขี่สตรีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ฝ่ายซ้ายในไทยและที่อื่นจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอิหร่าน พร้อมกับคัดค้านการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของตะวันตก เพราะผู้ที่จะปลดแอกสังคมคือคนอิหร่านเอง