Category Archives: Uncategorized

จุดเด่นจุดด้อยของทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในการทำความเข้าใจกับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่ทศวรรษที่  80 การศึกษาในมหาวิทยาลัยเรื่องการกดขี่ทางเพศ หรือปัญหาสิทธิสตรี ถูกครอบงำโดยพวก “เฟมินิสต์” ฝ่ายขวาที่เน้นแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) โดยตัดแนวคิดเรื่องชนชั้นออกไปและหันหลังให้กับทฤษฎีมาร์คซิสต์ที่เต็มไปด้วยงานเขียนเรื่องการกดขี่ทางเพศ สาเหตุหลักที่พวกแนวคิดชายเป็นใหญ่ครอบงำการศึกษาได้ ก็เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นของขบวนการแรงงานอ่อนตัวลงชั่วคราวในตะวันตกหลังการลุกฮือ 1968

พวกเฟมินิสต์ฝ่ายขวามีอิทธิพลสูงในสหรัฐ และแนวคิดแบบนี้ก็ลามเข้ามาในแวดวงสตรีศึกษาของไทย มุมมอง “ชายเป็นใหญ่” เสนอว่าผู้หญิงควรจะสามัคคีข้ามชนชั้นเพื่อสู้กับแนวคิดของผู้ชาย มันนำไปสู่การเสนอว่าการมีชนชั้นนำเพศสตรี หัวหน้างานเพศสตรี หรือนักการเมืองเพศสตรี เป็นเรื่องดีสำหรับผู้หญิงทุกชนชั้นไม่ว่าสตรีที่เข้ามามีบทบาทนำจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร แต่ในความเป็นจริงกรรมาชีพหญิง พนักงานหญิง และผู้หญิงยากจน ไม่เคยได้ประโยชน์จากการที่สตรีบางคนขึ้นมามีอำนาจ เพราะผลประโยชน์ทางชนชั้นของสตรีที่เป็นชนชั้นนำจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสตรีธรรมดา

ในประเทศไทยการที่ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำให้สตรีไทยมีสิทธิ์ทำแท้งเสรี และไม่ได้ปลดแอกกรรมาชีพหญิงจากการถูกกดขี่ขูดรีดแต่อย่างใด การที่หัวหน้าองค์กร “ไอเอ็มเอฟ” เคยเป็นสตรีฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาด ไม่ได้ทำให้องค์กรนี้เลิกตัดสวัสดิการและทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของสตรีล้านๆ คนทั่วโลกผ่านนโยบายรัดเข็มขัด

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพวกเฟมินิสต์แนว “ชายเป็นใหญ่” ได้พัฒนาทฤษฎีโดยนำแนวคิดเข้ามาใหม่สองแนวคิดคือ “ทฤษฎีเอกสิทธิ์” (Privilege Theory) กับ “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” (Intersectionality) ทั้งสองทฤษฎีนี้ลดความสำคัญของเรื่องชนชั้น

“ทฤษฎีเอกสิทธิ์” เสนอว่าชายผิวขาวทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรหรือนายทุน มีเอกสิทธิ์พิเศษเหนือคนอื่นที่มีสีผิวต่างออกไป หรือคนอื่นที่ไม่ใช่เพศชาย หรือเป็นคนพิการ ฯลฯ

ส่วน  “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” เสนอว่าทุกคนที่ถูกกดขี่ (คนที่ไม่ใช่ชายผิวขาว) จะถูกกดขี่ในหลากหลายรูปแบบเนื่องจาก เพศ สีผิว ชนชั้น สภาพร่างกาย ฯลฯ

จุดร่วมของสองแนวคิดนี้คือการเสนอว่ากรรมาชีพ หรือสตรี หรือคนที่ถูกกดขี่ทั้งหลาย ไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพได้ เพราะทุกคนที่สภาวะที่แตกต่างกัน อีกจุดร่วมหนึ่งคือการปฏิเสธว่าการกดขี่ทั้งหลายในโลกปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม โดยมีการเสนอว่าการกดขี่มาจากนิสัยใจคอของชายเป็นหลัก นอกจากนี้การลดความสำคัญของชนชั้นเป็นการปฏิเสธพลังหลักในที่จะเปลี่ยนสังคม คือพลังของขบวนการแรงงาน

ในปี 1983 นักมาร์คซิสต์สหรัฐชื่อ Lise Vogel ได้เขียนหนังสือชื่อ Marxism and the Oppression of Women เพื่อดึงนักสิทธิสตรีกลับมาสู่แนวมาร์คซิสต์

Women's Lib

ในอดีตมาร์คซิสต์อย่าง เองเกิลส์ ได้เสนอว่าการกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่ธรรมชาติของชาย แต่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เมื่อเกิดสังคมชนชั้น และมาร์คซิสต์อย่าง Chris Harman, Brenner และคนอื่นๆ ได้อธิบายว่าระบบทุนนิยมสร้างค่านิยมทางสังคมที่เสนอว่าผู้หญิงควรจะทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับนายทุนในการผลิตคนงานรุ่นใหม่ ค่านิยมนี้นำไปสู่ “ลัทธิ” หรือแนวคิดที่มองว่าสตรีเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางเพศ [ดู มาร์คซิสต์กับการกดขี่ทางเพศ https://bit.ly/2QQr5VX ]

woman

แนวคิดกดขี่ทางเพศนี้มีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่ระบบทุนนิยมต้องการให้ผู้หญิงไปทำงานนอกบ้าน เพื่อผลิตส่วนเกินให้นายทุน เพราะทำให้สตรีถูกกดดันให้ทำสองหน้าที่ คือทำงานนอกบ้านและทำงานในครัวเรือนพร้อมกัน

640x390_638923_1426200224

ดังนั้นลัทธิกดขี่ทางเพศในระบบทุนนิยม เป็นเครื่องมือในการที่นายทุนบังคับให้ผู้หญิงในครอบครัวทำหน้าที่ “ผลิตซ้ำทางสังคม” หรือผลิตคนงานรุ่นใหม่นั้นเอง มันเป็นการผลักภาระสู่ครอบครัวปัจเจก แทนที่จะเป็นภาระของทุกคนในสังคมร่วมกัน

หนังสือของ Lise Vogel มีประโยชน์ในการกู้คำอธิบายมาร์คซิสต์กลับมา และการเน้นว่าการกดขี่ทางเพศในสังคมปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม แต่ข้อเสียคือ Vogel หันหลังให้ เองเกิลส์ โดยการเสนอว่าสภาพทางชีววิทยาของเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงต้องถอนตัวออกจากระบบการผลิตในสังคมและต้องพึ่งผู้ชายตั้งแต่กำเนิดของมนุษย์ ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงในฐานะของผู้หญิงในโลกปัจจุบันอีกด้วย ข้อเสนออันนี้ของ Vogel นำไปสู่การเสนอว่าสตรีทุกชนชั้นต้องสามัคคีกัน แทนที่จะสามัคคีกรรมาชีพชายกับหญิง มีการลดความสำคัญของชนชั้นนั้นเอง

ในยุคนี้มีการพูดถึงทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในลักษณะที่ ผสมเรื่อง “การกดขี่” เข้ากับ “การขูดรีด” จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน คือมีการเสนอว่างานของผู้หญิงในครัวเรือนเป็นการ “ขูดรีดส่วนเกิน” ชนิดหนึ่งไม่ต่างจากการขูดรีดในระบบการผลิตของสังคมทุนนิยม เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นในครอบครัวปัจเจก

แต่การผสมเรื่อง “การกดขี่” กับ “การขูดรีด” เป็นการทำให้ลัทธิกดขี่ทางเพศกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับการผลิตส่วนเกินในเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่

ความคิดแบบนี้ของเฟมมินิสต์รุ่นใหม่บางคนที่อ้างถึง Vogel ในลักษณะผิดเพี้ยน นำไปสู่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ในสเปนเป็นต้น แต่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ไม่ได้ท้าทายโครงสร้างอำนาจในสังคมทุนนิยมแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้คู่ของสตรีที่หยุดงานต้องเลี้ยงลูกหรือทำอาหารแทนในวันนั้นเท่านั้น

ทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” อย่างที่พวกนี้เสนอ มีผลทำให้ลดความสำคัญของชนชั้น และลดความสำคัญของขบวนการแรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ โดยเน้นแค่การประท้วงบนท้องถนนเท่านั้น แต่บทเรียนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซูดาน หรือฮ่องกง ชี้ให้เห็นว่าเมื่อขบวนการแรงงานเข้ามามีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วง การประท้วงจะมีพลังมากขึ้น เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบทุนนิยมได้

13124929_1181060888592867_9078848768920258106_n

อ่านเพิ่มเรื่องทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม”  https://bit.ly/31j6lKY

คำถามคาใจกับการก่อตั้งพรรคคนรุ่นใหม่ของปิยบุตรกับธนาธร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งพรรคแนวทางใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่ชูแนวคิดพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป เป็นการเริ่มต้นที่ดี และคนจำนวนมากก็คงตั้งความหวังไว้กับการสร้างพรรคนี้

อย่างไรก็ตามผมมีคำถามคาใจหลายประเด็น ที่ผมอยากจะถาม เพื่อให้พวกเราที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมร่วมกันพิจารณา

การที่ อ.ปิยบุตร เอ่ยถึงพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน และพรรคห้าดาวของอิตาลี่ ในแง่หนึ่งก็ดีเพราะกล้าพูดถึงฝ่ายซ้ายหรือพรรคทางเลือกใหม่อย่างเปิดเผย

แต่พรรคที่ อ.ปิยบุตร เลือกมานี้ล้วนแต่มีปัญหาที่ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไป

พรรคซีรีซาชนะการเลือกตั้งและสร้างความหวังกับประชาชนธรรมดาในกรีซจำนวนมาก แต่ในไม่กี่เดือนก็หักหลังประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยม(Neoliberal) ซึ่งนโยบายดังกล่าวองค์กรระหว่างประเทศในอียูบังคับให้ทำ ตอนนี้รัฐบาลซีรีซาตัดสวัสดิการคนชรา ตัดการบริการของรัฐ และกดค่าแรงหรือปลดคนงานออกในระดับที่รุนแรงกว่าพรรคอนุรักษฺนิยมในอดีต ประเด็นคือถ้า อ.ปิยบุตร เสนอว่าจะต้านนโยบายเสรีนิยม ซึ่งเป็นเรื่องดี พรรคคนรุ่นใหม่ของไทยจะคัดค้านนโยบาย “การรักษาวินัยทางการคลัง” ที่รัฐบาลทหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้มาตลอดอย่างไร? นโยบายดังกล่าวถูกบรรจุในยุทธศาสตร์แห่งชาติของเผด็จการด้วย พรรคคนรุ่นใหม่จะเสนอให้มีการเพิ่มบทบาทและงบประมาณรัฐในการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ทำงานหรือไม่? จะเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแบบยุโรปหรือไม่? และจะมีการเพิ่มรายได้รัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยและบริษัทใหญ่ในอัตราก้าวหน้าหรือไม่? เพราะการต่อต้านแนวเสรีนิยมต้องมีองค์ประกอบดังกล่าว [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แล้วการที่รองประธานบริษัทซัมมิท ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำสำคัญของพรรค จะทำให้พรรคไม่เสนอนโยบายการเก็บภาษีก้าวหน้าหรือไม่?

พรรคซิรีซา และพรรคซ้ายอื่นๆ ในยุโรปมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับขบวนการสหภาพแรงงาน ผมหวังว่าพรรคคนรุ่นใหม่ในไทยจะขยันในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน เรื่องนี้สำคัญเพราะพรรคกระแสหลักเก่าๆ ของไทยล้วนแต่เป็นพรรคของชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น สหภาพแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญ และเป็นการจัดตั้งของคนชั้นล่าง ผมหวังว่าการที่ อ.ปิยบุตร เคยพูดว่า “ชนชั้นไม่ใช่ประเด็นในไทย” ไม่ได้เป็นการจงใจปิดหูปิดตาถึงความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนบริษัทซัมมิท

IMG_6341

ในปี ๒๕๔๙ พนักงานบริษัทไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด จำนวน 260 คน ถูกเลิกจ้างงานเพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย

ในรายการ The Standard http://bit.ly/2DI5maR ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เล่าว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน

สรุปแล้วบริษัทซัมมิทของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีประวัติการปราบปรามสหภาพแรงงาน และละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการรวมตัวกันของลูกจ้าง สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่าจะพาคนไทยออกจากยุคเผด็จการหรือไม่? หรือพรรคจะไม่สนใจประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน? นอกจากนี้พรรคจะมีนโยบายที่ดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ ในเรื่องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่? จะมีนโยบายในการลดชั่วโมงการทำงานของคนทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือไม่?

พรรคโพเดมอสของสเปนเป็นพรรคที่อ้างว่ามีประชาธิปไตยภายในระดับสูงและในรูปแบบใหม่ๆที่อาศัยอินเตอร์เน็ท แต่การที่พยายามปฏิเสธโครงสร้างรวมศูนย์ที่มีผู้แทนพรรคในระดับต่างๆ และการเลือกตั้งภายในจากการประชุมพรรค ทำให้แกนนำที่ปรากฏหน้าบ่อยๆในสื่อ และมี “บารมี” กลายเป็นแกนนำที่ถูกตรวจสอบยากและมีแนวโน้มตัดสินใจทุกอย่างแทนสมาชิก

การที่ อ.ปิยบุตร เสนอว่าพรรคคนรุ่นใหม่จะเน้นการกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ จะทำให้สมาชิกธรรมดาสามารถควบคุมตรวจสอบผู้นำพรรคในระดับประเทศได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นว่าคนที่มีความมั่นใจสูงและมีชื่อเสียงจะมีอิทธิพลสูงไปโดบปริยาย? โครงสร้างแบบนี้จะทำให้สมาชิกธรรมดากำหนดนโยบายระดับชาติได้ง่ายหรือยาก?

พรรคโพเดมอสใช้ความคิดชาตินิยมจนมีบทบาทในการสนับสนุนการปกป้องรัฐสเปนจากการแบ่งแยกที่อาจเกิดขึ้นจากขบวนการอิสรภาพของคาตาโลเนีย ดังนั้นเราต้องถามว่าในกรณีสังคมเรา พรรคคนรุ่นใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อความต้องการที่จะปกครองตนเองของชาวปาตานี?

พรรคห้าดาวของอิตาลี่ เป็นพรรคที่เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรนอกจากการประกาศว่าพรรคไม่เหมือนพวกนักการเมืองรุ่นเก่า ในอดีตประเทศไทยก็เคยมี “พรรคพลังใหม่” หลังการลุกฮือ ๑๔ ตุลา พรรคนี้ก็เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรที่จับต้องได้นอกจากการพูดว่าเป็นพรรคเอียงซ้ายของคนรุ่นใหม่ พรรคของปิยบุตรกับธนาธรจะออกมาในรูปแบบคล้ายกันหรือไม่ ผมหวังว่าคงไม่ แต่ไม่แน่ใจ

แต่ในแง่หนึ่งพรรคห้าดาวของอิตาลี่มีนโยบายแย่มากคือต่อต้านผู้ลี้ภัยและคนที่พยายามย้ายถิ่นมาอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายเหยียดสีผิวกับเชื้อชาติ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น จะส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยและสิทธิของคนที่เกิดในไทยแต่ยังไม่มีสัญชาติ

การพาสังคมไทยออกจากเผด็จการมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญที่ต้องพูดถึง เช่นการยกเลิกกฏหมาย112 การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน การลดบทบาทและงบประมาณทหาร การส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และในการยกเลิกเผด็จการของพวกหัวอนุรักษ์นิยมต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี ต้องมีการพูดถึงสิทธิที่จะทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง

แน่นอนพรรคใหม่นี้คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งแรกเพราะคงใช้เวลาที่จะได้รับการนิยมในสังคม และ อ.ปิยบุตร ได้เสนอว่าพรรคมุ่งหมายทำงานระยะยาวและต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นคือจะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องสำคัญๆ โดยไม่เน้นรัฐสภาอย่างเดียวหรือไม่

[หมายเหตุ บทความนี้เดิมเคยเอ่ยถึงบริษัทซัมมิท แต่ธนาธร อธิบายว่าไม่เกี่ยวกับบริษัท “ไทยซัมมิท” ของเขา เพราะเป็นคนละบริษัท]

ความคิดซ้ายๆ ของ อีริค ฟรอม

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากงานเขียนของ เอียน เฟอร์กะสัน[1]

อีริค ฟรอม (Erich Fromm) เป็นนักจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมเชื้อสายยิว ที่เกิดในเยอรมัน หลังจากการยึดอำนาจของฮิตเลอร์ เขาต้องย้ายไปสหรัฐอเมริกา

ฟรอม ประกาศมาตลอดอย่างชัดเจนว่าเขา “เป็นนักมาร์คซิสต์” และสนใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับปัญหาสุขภาพจิต โดยที่เขาพยายามผสมแนวคิดของ คาร์ล มาร์คซ์ กับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์[2] แต่เขายืนยันตลอดว่า มาร์คซ์ สำคัญกว่า ฟรอยด์

ฟรอม สนใจจิตวิทยาของ ฟรอยด์ แต่วิจารณ์ว่า ฟรอยด์ ให้ความสำคัญกับชีววิทยามากเกินไปในการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ เพราะ ฟรอม มองว่าเราต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างชีววิทยากับประวัติศาสตร์สังคมหรือสภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในลักษณะวิภาษวิธี คือมององค์รวมและอิทธิพลที่สองสิ่งนี้มีต่อกัน

ฟรอม เชื่อว่าในสังคมปัจจุบัน มนุษย์อาจหลุดพ้นจากความเป็นไพร่หรือทาสในอดีต แต่ในระบบทุนนิยมเสรีภาพผิวเผินที่เรามีอยู่นำไปสู่ความโดดเดี่ยว และความกลัว ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่มีสองแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้คือ เลือกปิดหูปิดตาเพื่อทำตามกระแสหลักในสังคม หรือตั้งใจเผชิญหน้ากับอำนาจในสังคมเพื่อแสวงหาเสรีภาพ แต่แนวที่สองต้องอาศัยความกล้าหาญ คนที่แก้ปัญหานี้ไม่ค่อยได้อาจเสี่ยงกับการป่วยทางจิต

สำหรับ “ธรรมชาติมนุษย์” ฟรอม เชื่อว่ามีจริง แต่เป็นธรรมชาติในลักษณะนิสัยใจคอร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์ของปัจเจก อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่าเราต้องไม่ตกหลุมพรางสองชนิดเวลาพิจารณาเรื่องนี้คือ (1)เราต้องปฏิเสธแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยธรรมชาติและไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เช่นการที่พวกอนุรักษ์นิยมมองว่ามนุษย์มักเห็นแก่ตัว แต่มันไม่มีหลักฐานรองรับ และ ฟรอม นิยามว่าความคิดแบบนี้เป็น “ลัทธิทางการเมือง” มากกว่าวิทยาศาสตร์ (2)เราต้องปฏิเสธความคิดของฝ่ายซ้ายบางคนที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็น “ของเหลว” ที่ถูกกำหนดจากสังคมรอบข้างอย่างเดียว โดยที่พวกนี้เสนอว่าเราไม่สามารถให้คุณค่ากับความคิดต่างๆ ของมนุษย์ว่าดีหรือเลวได้เลย

ฟรอม เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์ในสังคมหนึ่งในยุคหนึ่ง ได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุรอบข้าง คือวิธีเลี้ยงชีพหรือการผลิตของมนุษย์ ซึ่งต่างกับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่เสนอว่าเรื่องเพศหรือเซกซ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องหลัก

ฟรอม อธิบายว่านิสัยใจคอของมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ส่วนที่เป็นบุคลิกของปัจเจกตั้งแต่เกิดที่ไม่ค่อยเปลี่ยน และ(2)“บุคลิกภาพของสังคม” ที่ทุกคนมีร่วมกับคนอื่น แต่ในเรื่องนี้ทั้งๆ ที่เขาเน้นว่าได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุ แต่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักมองว่าบุคลิกภาพของสังคมมีลักษณะที่ค่อนข้างจะถาวร และมีบุคลิกภาพเดียว เขาไม่ขยันเพียงพอที่จะค้นหาหลักฐานในโลกจริง ในสังคมต่างๆ อาจมีบุคลิกภาพทางสังคมหลายรูปแบบ

สิ่งสำคัญที่ขาดไปจากความคิดของ ฟรอม คือพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความขัดแย้งทางชนชั้น และอิทธิพลที่ความขัดแย้งนี้มีต่อบุคลิกภาพ โดยรวมแล้ว ฟรอม มักมองข้ามเรื่องชนชั้นไปเลย

สำหรับเรื่องนี้ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ธรรมชาติพื้นฐาน คือการที่มนุษย์คิดเองเป็นและรักการทำงานที่สร้างสรรค์ท่ามกลางการดำรงอยู่ในลักษณะรวมหมู่กับมนุษย์คนอื่น ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารกัน (2)ธรรมชาติพื้นฐานนี้ทำให้เราพัฒนาลักษณะ ธรรมชาติ และบุคลิกภาพของเราได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันสิ้นสุด พูดง่ายๆมนุษย์พัฒนาธรรมชาติตนเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะรวมหมู่ เราไม่เคยถึงจุดเสร็จสมบูรณ์ และพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งทางชนชั้น

 

[1] Iain Ferguson (2016) “Between Marx and Freud: Erich Fromm Revisited.” International Socialism Journal 149. http://bit.ly/1R1sx26

[2] http://bit.ly/1myNoik

วัฒนธรรมการลอยนวลของอาชญากรรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวร้ายชิ้นหนึ่งในสัปดาห์ปลายปี ๒๕๕๘ คือการยกเลิกคดีการฆ่าทนายสมชาย และการปล่อยให้ฆาตกร อภิสิทธิ์และสุเทพ ลอยนวลในกรณีฆ่าเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตยในปี ๒๕๕๓ ข่าวสองชิ้นนี้ย้ำว่ายังมีการผลิตซ้ำวัฒนธรรมปกป้องคนเลวและการลอยนวลของอาชญากรรัฐไทย

ข่าวเรื่องอภิสิทธ์และสุเทพ คงไม่ทำให้เราแปลกใจ เพราะไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดก็มีส่วนสำคัญในการสั่งฆ่าเสื้อแดงในเหตุการณ์นั้น และนายทหารคนนี้ก็มีส่วนในการสร้างรัฐบาลอภิสิทธิ์ชุดนั้นในค่ายทหารอีกด้วย

ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายที่พยายามปกป้องชาวมาเลย์มุสลิมที่ถูกตำรวจไทยทรมานให้สารภาพว่ามีส่วนในการปล้นปืนจากค่ายทหารในปาตานี เขาถูกลักตัวไปฆ่าโดยตำรวจหลายนายจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหมายความว่าตำรวจระดับชั้นผู้เป็นใหญ่ และผู้นำประเทศในยุคนั้น เปิดไฟเขียวหรือเพิกเฉยกับอาชญากรรมนี้ ดังนั้น ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ควรต้องรับผิดชอบ และเราไม่ควรลืมว่าทักษิณมือเปื้อนเลือดจากอาชญากรรมที่ตากใบอีกด้วย

เราอาจพูดได้ว่าผู้นำทางการเมือง ตำรวจ กับทหารจำนวนมาก และแม้แต่กษัตริย์ไทย มีส่วนในการสนับสนุนหรือก่ออาชญากรรมรัฐ และจนถึงทุกวันนี้ทุกคนก็ลอยนวลไม่เคยต้องถูกนำมาขึ้นศาล ไม่มีการลงโทษนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองที่สั่งฆ่าประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา ๓๕ และราชประสงค์ปี ๕๓ ทั้งภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร หรือที่ตากใบกรณีทนายสมชาย และในสงครามยาเสพติดภายใต้รัฐบาลทักษิณ

คนที่ลอยนวลไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่รวมไปถึงอันธพาลคลั่งเจ้าที่เป็นแนวร่วมของรัฐเผด็จการ เช่นพวกเสื้อเหลือง หรือม็อบสุเทพกับม็อบฟาสซิสต์ของคนที่อ้างตัวเป็นพระสงฆ์ด้วย ยังไม่มีการลงโทษพวกนี้ทั้งๆ ที่ใช้ความรุนแรงในการยึดสถานที่ราชการเพื่อห้ามไม่ให้พลเมืองไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ถ้าพูดถึง “ศาล” เราคงเข้าใจดีว่าระบบตุลาการไทยถูกออกแบบเพื่อมีหน้าที่รับใช้อาชญากรอำมาตย์ และได้รับการปกป้องจากกฏหมาย “หมิ่นศาล” ซึ่งเป็นกฏหมายเผด็จการที่ไม่ต่างจากกฏหมาย 112 ที่ทหารใช้ในการปกป้องตนเองและกษัตริย์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง รากฐานปัญหาอยู่ที่การมองว่าคนไทย ไม่ใช่ “พลเมือง” ที่เท่าเทียมกัน บ่อยครั้งมีการเรียกผู้คนด้วยคำล้าสมัยว่า “ราษฎร” ซึ่งหมายถึงประชาชนผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชา มันเป็นคำจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน

แนวความคิดว่าบางคน “สูง” บางคน “ต่ำ” ถูกผลิตซ้ำโดยพฤติกรรมของทหาร นักการเมือง และนายทุน ทหารระดับนายพลจึงมองว่าตนเองสามารถเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้ตามอำเภอใจ

การเรียกทหารชั่วระดับสูงในสื่อว่า “บิ๊ก” และการใช้คำว่า “ท่าน” นำหน้าพวกอาชญากรรัฐ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมหมอบคลาน

ทำเนียมหมอบคลานต่อคนที่อ้างตัวเป็น “ผู้ใหญ่” เป็นวิธีทำให้ผู้หมอบคลานมีฐานะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่คนที่ยืนสองขา ทำเนียมแย่ๆ นี้ถูกกระจายลงไปสู่โรงเรียนและครัวเรือน คนรวยมักชอบให้คนรับใช้ก้มหัวคลาน และทำงานทั้งวันทั้งคืน แม้แต่ในภาษาพูดก็มีการเน้น “สูงต่ำ” เช่นคำว่า “หนู” ที่สตรีถูกกล่อมเกลาให้เรียกตัวเอง ซึ่งเป็นการเสริมว่าผู้หญิงเป็นคนชั้นสอง

ในสถานที่ทำงาน นายจ้างมักมองว่าตนเองมีสิทธิ์เผด็จการเหนือลูกจ้าง และกฏหมายแรงงานบวกกับอคติของผู้พิพากษาศาลแรงงาน มักสนับสนุนความคิดเผด็จการอันนี้

ในระบบยุติธรรมทั่วไป พวกที่นั่งบัลลังก์มักมองพลเมืองธรรมดาด้วยความดูถูกดูหมิ่น และเหมือนไม่ใช่คนที่ควรได้รับความเคารพ นักโทษในคุกถูกปฏิบัติเหมือนเป็นสัตว์ แทนที่จะใช้ความคิดสากลสมัยใหม่ที่มองว่านักโทษก็มีสิทธิ์เช่นกัน

ถ้าเราจะสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมเรา เราต้องยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะองค์กรนี้เต็มไปด้วยตำรวจ ทหาร และนักวิชาการที่มีอคติต่อประชาธิปไตย แทนที่จะหวังพึ่งองค์กรกึ่งรัฐแบบนี้ เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องเสรีภาพและประกอบไปด้วยมวลชนจำนวนมาก บทเรียนจากทั่วโลก สอนให้เรารู้ว่าสหภาพแรงงานที่อิสระจากอิทธิพลของคนชั้นสูง มีบทบาทสำคัญในการสร้างขบวนการแบบนี้

ความฝันลอยๆ ของนักวิชาการบางคน ที่จะตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อนำอาชญากรรัฐมาลงโทษ จะละลายไปกับน้ำ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับพลังมวลชนแบบนี้

การสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนแยกไม่ออกจากความจำเป็นที่จะต้องล้มอำนาจทางการเมืองของทหาร และการล้มอิทธิพลของลัทธิกษัตริย์ ในระยะยาวเราต้องรณรงค์ให้ความคิดเรื่อง “พลเมืองที่เท่าเทียม” กลายเป็นความคิดกระแสหลัก

ประเทศไทยไม่ควรจะมีหนังสือต้องห้าม

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ไม่ควรถูกทำให้เป็นหนังสือต้องห้าม แต่ใน “กะลาแลนด์”ภายใต้ไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด การใช้มันสมองคิดอะไรเอง กลายเป็นเรื่อง “ผิด” ซึ่งแสดงให้เราเห็นว่าพวกนายพลปัญญาอ่อนที่ครองประเทศไทยตอนนี้ กลัวประชาชนที่ฉลาดกว่าตนเองมาก

สาเหตุสำคัญที่ประชาชนควรมีโอกาสอ่านหนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ก็เพราะมันเป็นการวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทยที่ผิด และวิเคราะห์ไม่ตรงจุด

แต่ถ้าเราไม่สามารถอ่านข้อเสนอของนักวิชาการหรือนักข่าวต่างๆ เราไม่สามารถมาถกเถียงแลกเปลี่ยนได้เลย ซึ่งแปลว่าเราเข้าถึงความจริงยากขึ้น และพลเมืองจำนวนมากอาจต้องเดาว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นบนพื้นฐานข่าวลือ

ประเด็นหลักที่ผมไม่เห็นด้วยกับ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ คือเราไม่สามารถอธิบายความขัดแย้งปัจจุบันด้วยการเสนอว่าเป็นปัญหา “การเปลี่ยนรัชกาล” อย่างที่ มาร์แชล์ สเนอ แต่การทำให้เป็นหนังสือต้องห้ามของแก๊งโจรประยุทธ์ มีผลในการชักชวนให้คนไทยเชื่อว่ามันเป็นวิกฤตการเปลี่ยนรัชกาลจริง

นักข่าวต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ฟังการโม้ของคนไทยในบาร์เบียร์ มักอธิบายว่าชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมเป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากทีรัชกาลนี้สิ้นสุดลง และนี่คือสาเหตุที่ไทยมีเผด็จการทหาร

มันมีหลายระดับของคำอธิบายผิดๆ แบบนี้

ในระดับที่หยาบและไร้สาระที่สุดคือ มีการอธิบายว่าจะเกิดศึก “ชิงราชสมบัติ” ระหว่างลูก เหมือนสมัยอยุธยาหรือสมัยรัตนโกสินตอนต้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจจริงในสังคมไทยสมัยนี้คือทหาร นายทุนใหญ่ และข้าราชการชั้นสูง

ในประเทศทุนนิยมทั่วโลก การมีสถาบันกษัตริย์ มีไว้เพื่อปกป้องและให้ความชอบธรรมกับลำดับชนชั้น และการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในมือชนชั้นปกครอง ไม่ว่าประเทศเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และประเทศไทยหรือประเทศอังกฤษไม่ใช่กรณีพิเศษ ดังนั้นในไทยกฏหมาย 112 มีไว้ปกป้องการกระทำของทหารและส่วนอื่นของชนชั้นปกครองไทย และในอังกฤษไม่มีกฏหมาย 112 เพราะชนชั้นปกครองอังกฤษ สามารถหาทางสร้างเสถียรภาพสำหรับการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในมือตนเอง โดยการนำผู้นำพรรคแรงงานมาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง

กษัตริย์ไทยหลัง ๒๔๗๕ ไม่เคยมีอำนาจ แต่ทหารที่ก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา ผูกโบสีเหลือง เพื่อสร้างความชอบธรรมกับตนเอง ปัจจุบันเวลาแก๊งประยุทธ์บอกว่าจะเข้มงวดในการใช้ 112 ก็ทำเพื่อหาความชอบธรรมกับการปล้นอธิปไตยจากประชาชนเท่านั้นเอง กิจกรรมแบนี้จำต้องอาศัยการสร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจอมปลอมเสมอ

ในระดับที่พอเชื่อได้บ้าง มีการเสนอว่าชนชั้นปกครองซีกประยุทธ์-สลิ่ม-ประชาธิปัตย์ กลัวว่าทักษิณจะมีอิทธิพลกับสถาบันกษัตริย์หลังการเปลี่ยนรัชกาล และมีการกระซิบว่าบางคนไม่อยากให้คนนั้นคนนี้ขึ้นครอง เรื่องแบบนี้อาจมีความจริงบ้าง แต่มันไม่สามารถอธิบายต้นเหตุหลักของวิกฤตการเมืองไทยได้และ ความจริงที่จับต้องได้คือ ชนชั้นปกครองไทยทั้งหมด เลือกจะนำเจ้าฟ้าชายขึ้นครอง เพราะตลอดเวลาที่มีรัฐบาลทหารหลัง ๑๙ กันยา หรือสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ หรือสมัยยิ่งลักษณ์ เจ้าฟ้าชายก็ทำหน้าที่เป็น “รองประมุข” ในพิธีกรรมต่างๆ

ถ้าเราจะวิเคราะห์จุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองไทย เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยรักไทยที่เข้ามาในปี ๒๕๔๔ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรัฐบาล “คิดใหม่ทำใหม่” ที่มีพลวัตรจริงๆ เพราะนโยบายใหม่ๆ ของไทยรักไทยในที่สุดไปกระทบโครงสร้างเก่าของพวกอภิสิทธิ์ชนไทย ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้มีเจตนาหรือแผนที่จะทำอย่างนั้นเลย และความขัดแย้งนี้นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาท่ามกลางการโวยวายอย่างรุนแรงของพวกชนชั้นกลางฝ่ายขวาเสื้อเหลือง

การใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีของรัฐไทยมานาน ตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ ในสภาพที่ไร้ประชาธิปไตย หรือไร้สิทธิของคนชั้นล่าง มีผลในการสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย และมีผลในการสร้างอุปสรรคกับการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่ด้วย สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกเปิดโปงอย่างชัดเจนในวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙

เราควรจะเข้าใจว่านโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่ตั้งเป้าหมายไปที่คนชนบท เพราะคนงานในเมืองมีประกันสังคมอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่ช่วยคนงานในเมืองด้วย เพราะลดภาระในการช่วยเหลือญาติพี่น้องในชนบท แต่สำหรับนายทุนอย่างทักษิณ นโยบายเหล่านี้เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของสังคมไทย ที่จะแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งชี้ให้เห็นว่าไทยอ่อนด้อยตรงนี้มานาน

ความรู้สึกไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของคนเสื้อแดง มาจากความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจถ้าเทียบกับคนชั้นสูง คือผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นการที่พรรคไทยรักไทยและทักษิณประกาศว่าจะให้ “คนจนเป็นผู้ร่วมพัฒนา” แทนที่จะมองอย่างที่รัฐบาลต่างๆ ในอดีตมอง ว่าคนจนเป็น “ภาระ” ของชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากนิยมพรรคไทยรักไทย

การที่ทักษิณและไทยรักไทย เปลี่ยนกระบวนการทางการเมืองในไทย จากการแค่ “เล่นการเมือง”แบบเลือกตั้ง แจกเงิน และเข้ามาร่วมกิน ของนักการเมืองหัวเก่าที่ไม่สนใจประชาชนหรืออนาคตของสังคม มาเป็นการเสนอนโยบายเพื่อครองใจประชาชน กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งทหาร ข้าราชการอนุรักษ์นิยม และนักการเมืองหัวเก่า เพราะเป็นการใช้กระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อขึ่นมามีอำนาจ แทนที่จะใช้ยศศักดิ์ และความเป็นนักเลง เพื่อมีอิทธิพลในสังคม นี่คือรากกำเนิดของความขัดแย้งปัจจุบัน

ปัจจุบันพวกเศษสวะที่กำลังปฏิกูลการเมืองไทย ต้องการหมุนนาฬิกากลับสู่การเล่นการเมืองในรูปแบบก่อนไทยรักไทย นั้นคือสาเหตุที่เราจะต้องรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญปฏิกูล ที่พวกนี้กำลังจะผลิต

หนังสือของ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ขาดการวิเคราะห์แบบนี้ที่ครอบคลุมทั้งสภาพเศรษฐกิจ ชนชั้น และการเมืองภาพกว้าง และที่มองพลเมืองไทยส่วนใหญ่ว่าสำคัญและมีบทบาท เพราะ แอนดรู มะเกรกกอร์มาร์แชล์ ใช้ทฤษฏีประเภทที่ไม่เห็นหัวประชาชนส่วนใหญ่ และมองว่าทุกอย่างในสังคมกำหนดจากชนชั้นบน

ในไทยคำว่า “ปฏิรูป” หมดความหมายไปแล้ว

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้ในไทย พวกที่เกลียดชังสิทธิเสรีภาพของประชาชน และพวกที่มีส่วนร่วมในการใช้กำลังเพื่อทำลายประชาธิปไตย ได้ทำให้คำว่า “ปฏิรูป” มีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิม เราน่าจะหันมาใช้คำว่า “อปฏิรูป” หรือ “ปฏิกูล” เพื่อบรรยายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

ขอทบทวนความจริงเกี่ยวกับสภาพการเมืองหน่อย คือในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา พวกอนุรักษนิยม ไม่ว่าจะเป็นทหาร คนชั้นกลาง ข้าราชการชั้นสูง นักวิชาการล้าหลัง เอ็นจีโอ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้กระทำทุกอย่างเพื่อสร้างอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการดำรงอยู่ของประชาธิปไตย การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหอกในการสร้างประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ประเด็นหลักคือพลเมืองไทยส่วนใหญ่ได้เลือกพรรคเหล่านี้ในการเลือกตั้งที่ตรงไปตรงมา ไม่มีการโกง และเขาเลือกเพราะพรรคของทักษิณมีนโยบายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างที่สำคัญคือระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้า การสร้างงานในหมู่บ้าน และการช่วยเหลือเกษตรกร ดังนั้นการแจกเงินซื่อเสียงจึงหมดความสำคัญลงในวันเลือกตั้ง

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งเพราะระบอบอุปถัมภ์แบบเก่า และการมีอำนาจนอกกรอบประชาธิปไตย ที่ทหาร ข้าราชการชั้นสูง และพรรคการเมืองเก่าเคยใช้ ดูเหมือนจะหมดยุค เขาไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่พรรคการเมืองของทักษิณครองใจพลเมืองส่วนใหญ่ได้ผ่านนโยบายการเมืองที่ถูกทดสอบในวันเลือกตั้ง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงพร้อมจะใช้ทุกกลไกในการล้มประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารสองรอบ การใช้กลไกศาล กกต. หรือองค์กรอิสระลำเอียง และการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงแต่ไม่เคยถูกลงโทษ

ด้วยเหตุนี้เราพอสรุปได้ว่าคนที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบัน คือประยุทธ์ จันทร์โอชา และแก๊งเผด็จการ เป็นพวกมือเปื้อนเลือดที่จงใจฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ราชประสงค์ และทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อจากนั้นหลังทำรัฐประหารก็มีการโกหกบิดเบือนความจริงตลอด และปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอย่างโหดร้ายผ่านการกักขังและข่มขู่หรือทรมานนักโทษการเมือง

เราฟันธงได้เลยว่าคณะเผด็จการที่กำลังอ้างว่าจะริเริ่มกระบวนการ “ปฏิรูป” เป็นพวกอาชญากรที่ “ฆ่า” ประชาธิปไตย เขาเป็นพวก “อปฏิรูป-ปฏิกูล” นั้นเอง

แล้วพวกนี้จะไป “ปฏิรูป”  การเมืองทำหอกอะไรได้?

ใครมีสมองเท่าไส้เดือนคงเข้าใจเป้าหมายจริงของคณะทหาร มันต้องการเปลี่ยนกติกาการเมืองเพื่อขัดขวางการที่พลเมืองส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองและใช้สิทธิเสรีภาพ

คณะทหารต้องการ “พม่าโมเดล” คือเราไปเลือกตั้งได้ แต่ทหารและแนวร่วมประจบสอพลอยังคุมอำนาจต่อ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกฏหมายและองค์กรหรือสถาบันต่างๆ มัดมือไว้จนดิ้นไม่ได้ภายใต้ข้ออ้างว่ามันเป็นการ “ตรวจสอบ” นักการเมือง แต่อย่างที่ทุกคนเห็นทุกวันนี้ ผู้ที่อ้างว่ามีอำนาจตรวจสอบไม่เคยถูกประชาชนตรวจสอบได้เลย

แค่นี้ยังไม่แย่พอ ท่านผู้อ่านควรจะทำใจไว้เพิ่ม เพราะสิ่งที่แย่กว่านี้คือปรากฏการณ์ของพวกตอแหล โกหก โง่เขลา เลียทหาร ที่วิ่งเต้นจะไปร่วมกระบวนการ “อปฏิรูป-ปฏิกูล” ที่กำลังเกิดขึ้น และพวกสื่อมวลชนที่รายงานอย่างหน้าด้านว่า “นี่คือการปฏิรูป”

คำถามคือ พวกนี้มันโง่ หรือมันจงใจโกหกทุจริตเพื่อผลประโยชน์มันเอง? ในกรณีนักวิชาการและพวกอดีตข้าราชการหรือนักกฏหมาย รวมถึงนายทหาร ผมมองว่ามันจงใจโกหกทุจริตว่านี้คือการปฏิรูป แต่พวกเอ็นจีโอบางคน สื่อมวลชน และพวกผู้นำแรงงานน้ำเน่า อาจทั้งโง่และทั้งจงใจโกหกในสัดส่วนที่เท่ากัน แต่โดยรวมแล้วฝูงเปรตเหล่านี้ เป็นพวก “ขยะสังคม” ที่เราจะต้องกวาดทิ้งจากการมีบทบาทในการกำหนดอนาคตของประเทศ เพราะเขาไม่เคารพพลเมืองส่วนใหญ่ ไม่ชื่นชมสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย และไม่สุจริตพอ หรือไม่ฉลาดพอ ที่จะกล้าพูดความจริง

ในเดือนต่อๆไป เราคงเห็นละครสัตว์ “อปฏิรูป-ปฏิกูล” เล่นไปบนเวทีที่ทหารสร้าง แต่ในอนาคตข้างหน้าพลเมืองไทยจะล้มกระดานเผด็จการและผลพวงทั้งหมดของพวกนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

เสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรเลิกหลอกตัวเอง

เสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรเลิกหลอกตัวเอง

กองบรรณาธิการเลี้ยวซ้าย

รัฐประหารรอบล่าสุดดูเหมือนจะใกล้ถึงเป้าหมาย
เหลือแค่การล้มรัฐมนตรีรักษาการ แล้วแต่งตั้งนายก ม๗ ก็จบ และที่แกนนำ นปช.
ประกาศว่าจะ “สู้จนถึงที่สุด” นั้นมีความหมายอะไรในรูปธรรม? หรือเป็นเพียงคำพูดที่ไร้ความหมายเพื่อเอาใจคนรักประชาธิปไตย?



     มาถึงจุดนี้แล้ว
ชาวเสื้อแดงและคนรักประชาธิปไตยอื่นๆ ควรทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ม็อบพันธมิตรแรกปรากฏตัว
     มีการยุบสภาและประกาศการเลือกตั้งสองครั้ง
โดยหวังว่าจะพิสูจน์กับประชาชน ว่าการพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดความชอบธรรม
แต่ทั้งสองกรณี ภายใต้ทักษิณครั้งหนึ่ง และภายใต้ยิ่งลักษณ์อีกครั้ง
เพียงแต่ทำให้ฝ่ายประชาธิปัตย์และพวกต่อต้านการเลือกตั้ง บอยคอตการเลือกตั้ง
ก่อม็อบต่อไป แล้วในที่สุดจบลงด้วยรัฐประหารทหาร หรือรัฐประหารตุลาการ
     มีการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ฝ่ายไทยรักไทย
พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ชนะทุกครั้ง โดยไม่มีหลักฐานการโกงแต่อย่างใด
แต่กลับจบลงด้วยการล้มรัฐบาลด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้นการเลือกตั้งรอบต่อไป ถ้าเกิดจริงและไม่โดนเปลี่ยนกติกาจนไร้ประชาธิปไตย
ก็คงไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะมันไม่พิสูจน์อะไรที่ใครๆ ไม่ทราบมาก่อน
มันไม่ตบหน้าทหารหรือม็อบสุเทพ และมันไม่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอำมาตย์
เพราะอำมาตย์ต่อต้านประชาธิปไตย
และไม่เคารพการเลือกตั้งหรือเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ อาจไม่มีการเลือกตั้งเร็วๆ
นี้ด้วยซ้ำ
    
มีการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเพื่อไล่รัฐบาลเถื่อนของอภิสิทธิ์ที่ก่อตั้งในค่ายทหาร
เสื้อแดงจำนวนมากโดนทหารฆ่าอย่างเลือดเย็น ในที่สุดในปีต่อไปก็มีการยอมให้มีการเลือกตั้ง
ยอมให้ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายก แต่ก็ถูกล้มในที่สุด
     ถ้าเราถูกบังคับให้มีนายก ม๗
และการเปลี่ยนกติกาเพื่อโกงการเลือกตั้งโดยอำมาตย์และประชาธิปัตย์
เราจะออกมาชุมนุมแบบเดิม หรือจะยกระดับการต่อสู้?
และถ้าจะยกระดับการต่อสู้มันหมายความว่าอะไรในรูปธรรม และใครจะนำการต่อสู้ดังกล่าว?
แต่แน่นอน ถ้าเราไม่ออกมาสู้เพราะเราเบื่อ น้อยใจ หรือหดหู่ ฝ่ายอำมาตย์ก็จะชนะ
     ที่สำคัญคือใครตั้งรัฐบาล
ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐโดยอัตโนมัติ มันชัดเจนว่าอำมาตย์คุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ
ทหาร ศาล ข้าราชการชั้นสูง และสื่อมวลชนส่วนใหญ่
และพวกนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและแกนนำเอ็นจีโอด้วย
นอกจากนี้ตำรวจก็ไม่รู้จะรับคำสั่งจากใคร ตามลำพังก็ไม่เคยก้าวหน้าอะไร และไม่มีอำนาจมากมาย
ตอนนี้ก็แค่กล้าๆ กลัวๆ ส่วน ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ นักการเมืองเพื่อไทย และแกนนำ นปช.
ก็ไม่อยากแตกหักกับพวกอำมาตย์ที่คุมอำนาจรัฐ
เป้าหมายของเขาคือเพียงอยากกลับเข้าสู่สมาคมอำมาตย์เท่านั้น
     เพื่อนๆ เสื้อแดง เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตย
ท่านคิดหรือว่าเราจะมีประชาธิปไตยได้ ถ้าไม่กำจัดอำมาตย์แบบถอนรากถอนโคน?
ท่านยังฝันต่อไปหรือว่าพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณหรือแกนนำ นปช.
จะสู้อย่างจริงจังในรูปธรรม? ทักษิณเคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือ?
ในความเป็นจริงเขาสนใจประชาธิปไตยแค่ในกรณีที่ตนเองชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพพอที่จะยกเลิก
112 หรือละเว้นการก่ออาชญากรรมกับคนมาเลย์มุสลิมในภาคใต้
คนแบบนี้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดได้อย่างไร?
    
หรือท่านยังฝันอยู่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลจะเกิดประชาธิปไตยแท้?
หรือท่านยังฝันอยู่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองให้เรา?
     ลองพิจารณาให้ดี ความฝันแบบนี้
ที่กล่าวถึงข้างบน ทั้งหมดเป็นความฝันประเภทที่เราฝากให้ผู้ใหญ่มาแก้ไขปัญหาให้เรา
และสร้างประชาธิปไตยให้เรา มันเป็นความฝันของทาส
     เราจะรอการล้มรัฐบาลกี่รอบ
การก่อตั้งเผด็จการกี่รอบ เราถึงจะเข้าใจว่าเราเองต้องนำตนเองร่วมกับคนอื่น
เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจากล่างสู่บน?
     ถ้าเราเข้าใจว่าการสร้างประชาธิปไตยในไทย
คงต้องอาศัยการโค่นโครงสร้างอำมาตย์ เช่นการปลดผบ. ทหาร ลดงบประมาณทหาร ตัดอำนาจทหาร
ปลดศาลตุลาการ ยุบองค์กรที่โกหกว่า “อิสระ” ปลด สว.แต่งตั้ง และยึดสื่อมวลชนมาเป็นของประชาชน
เราก็คงหลอกตัวเองว่า “เป็นเรื่องง่าย” ไม่ได้ แน่นอนมันไม่ง่าย มันจะใช้เวลา
แต่มันจำเป็นถ้าเราจะร่วมกันเป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
     พวกเราในองค์กรเลี้ยวซ้ายพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ว่าการต่อสู้กับอำมาตย์ต้องอาศัย
การจัดตั้งมวลชน
อย่างเป็นระบบ อิสระจาก นปช. และเพื่อไทย ต้องพัฒนากลุ่มคนก้าวหน้าจากเครือข่ายหลวมๆ
ให้การเป็นองค์กรจัดตั้งให้ได้ ต้องมีนโยบายและเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน
ต้องมีคณะทำงานที่เป็นแกนนำ ต้องเชื่อมกับหลายส่วนของสังคม
มีงานรณรงค์ในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องปากท้องและการเมืองภาพรวม ต้องมีและขยายสมาชิก
มีผู้ปฏิบัตงานที่ผ่านการฝึกฝน ในงานภาคปฏิบัติการ และงานทางความคิด โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว
และต้องมีสื่อของเราเอง
     เราไม่ได้ “ขอให้มิตรสหายมาขึ้นอยู่กับเรา”
เราขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเป็นระบบในลักษณะเท่าเทียมกัน
     ที่สำคัญยิ่งคือ เราต้องสนใจ “อำนาจ”
เราต้องรวบรวม “พลัง” เพื่อเผชิญหน้ากับอำนาจและพลังของฝ่ายอำมาตย์แบบมืออาชีพ เพราะ
“อำนาจ” และ “พลัง” ของฝ่ายเราหาได้ในหมู่คนทำงานกรรมาชีพ โดยเฉพาะเมื่อนัดหยุดงาน
และต้องสมทบกับพลังมวลชนของเกษตรกรรายย่อย

     ความจริงนี้ ไม่ได้งอกมาจากสมองใคร
มันมาจากบทเรียนในการล้มอำมาตย์หรือต่อสู้กับอำมาตย์ในตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา
ยุโรป และจากไทยเองในอดีต ที่สำคัญคือมันทำได้ ถ้าเราอยากทำจริง

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน

ต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตอนนี้มันชัดเจนว่าแนวประนีประนอมของพรรคเพื่อไทย
และ แนว นปช. ที่เดินตามเพื่อไทย ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
    
ถ้าเราเข้าใจลักษณะของ “รัฐ” ในระบบการเมืองของโลก ตามที่ มาร์คซ์
เองเกิลส์ และเลนิน เคยอธิบาย
เราจะเข้าใจว่าการเป็นรัฐบาลในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยทุนนิยม
ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการคุมอำนาจรัฐเลย เพราะรัฐประกอบไปด้วย ทหาร ศาล ตำรวจ และคุก
และรัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองทุกซีกทุกก๊ก เพื่อกดขี่ชนชั้นอื่นๆ
มันไม่เคยเป็นกลางและไม่เคยเป็นประชาธิปไตย
แม้แต่ในประชาธิปไตยตะวันตกก็เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าในประเทศดังกล่าวพลังของคนทำงานและประชาชนโดยทั่วไป
คอยห้ามไม่ให้รัฐล้ำเส้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ทุกอย่างไม่แน่นอนมั่นคง
พื้นที่ประชาธิปไตยไม่ได้แช่แข็ง มันขยายและมันหดได้



    
วันนี้เราเห็นอำนาจรัฐ ผ่านตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ
โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สาม
ก่อนหน้านั้นเราเห็นทหารทำรัฐประหาร และเห็นทหารเข่นฆ่าคนเสื้อแดงที่ท้าทายเผด็จการและอำนาจรัฐ
โดยเรียกร้องประชาธิปไตย เครื่องไม้เครื่องมือในการใช้อำนาจรัฐมีอีกมากมาย
เช่นกระบวนการที่คนใหญ่คนโตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
หรือการใช้วุฒิสภาหรือหัวหน้าสถาบันวิชาการ
ในการเชียร์พวกที่มุ่งหวังลดพื้นที่ประชาธิปไตย ส่วนม็อบสุเทพก็เป็นเพียงอันธพาลชนชั้นกลาง
เป็นคนส่วนน้อย และผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เขาพยายามสร้างภาพว่าเป็นมวลมหาประชาชน
แต่การที่เขาทำอะไรก็ได้บนท้องถนน แสดงว่าส่วนต่างๆ ของรัฐสนับสนุนเขา
ถือว่าม็อบสุเทพเป็นเครื่องมือที่ให้ “เอกชน” ทำแทน
    
ทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง
และเขาเคยเป็นก๊กหนึ่งของรัฐไทย เพราะรัฐไม่ได้มีลักษณะรวมศูนย์เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน
มันเป็น “คณะกรรมการเพื่อร่วมบริหารผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน” อย่างที่ มาร์คซ์
กับ เองเกิลส์ เคยเขียนไว้ และมันมีความขัดแย้งภายในด้วย
นี่คือสาเหตุที่ทักษิณและนักการเมืองเพื่อไทยไม่ต้องการนำการต่อสู้ที่แตกหักกับกลุ่มอำนาจอนุรักษ์นิยมของรัฐ
    
แต่ถ้าไทยจะเป็นประชาธิปไตย เราต้องเปลี่ยนการเมืองและสังคมแบบถอนรากถอนโคน
ถ้าแค่เล่น “ปฏิกูลการเมืองก่อนเลือกตั้ง”
มันไม่มีวันที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้เลย

    
สิ่งที่ต้องถูกเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนมีมากมาย แต่เรื่องหลักๆ เฉพาะหน้าคือ

1.
ต้องสร้างพลังของคนธรรมดา เพื่อห้ามการทำลาย หรือจำกัด เสรีภาพประชาธิปไตย
และเพื่อให้มีการเคารพพลเมือง ทุกคนต้องมีหนึ่งเสียงเท่ากัน
พลังนี้คนอื่นสร้างให้ไม่ได้ ต้องสร้างจากรากหญ้าข้างล่าง
2.
ต้องยกเลิกกฏหมาย 112,
พรบ.คอมพิวเตอร์ และกฏหมายหมิ่นศาลในรูปแบบปัจจุบัน
เพื่อเปิดให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตยสากล
ซึ่งแปลว่าต้องปล่อยนักโทษทางความคิดเช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข และคนอื่น
3.
ต้องยกเลิกองค์กรที่อ้างความอิสระ และยกเลิกศาลตุลาการในรูปแบบที่เป็นอยู่ เพราะองค์กรที่อ้างความอิสระทั้งหลายไม่เคยเป็นกลาง
และยิ่งกว่านั้นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยทหารหรือฝ่ายเผด็จการอื่นๆ เช่นตลก.(ร้าย)รัฐธรรมนูญ
มักใช้อำนาจเผด็จการเหนือผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชน ที่สำคัญคือแนวคิดเรื่อง
องค์กรอิสระเป็นแนวคิดที่มองว่าพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนเสียง
จึงต้องให้
ผู้รู้คอยควบคุมตรวจสอบ
ในอนาคตเราจะต้องคานอำนาจหรือตรวจสอบรัฐบาลและรัฐสภาด้วยองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
4.
ต้องลดบทบาททางการเมืองและสังคมของทหารลงไป
เพื่อไม่ให้ทำรัฐประหารหรือแทรกแซงการเมือง ซึ่งแปลว่าต้องลดงบประมาณ
ปลดนายพลจำนวนมาก และนำทหารออกจากสื่อมวลชนและรัฐวิสาหกิจ
5.
ต้องสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำ “ฆาตกรรัฐ” มาขึ้นศาล
ไม่ว่าจะเป็นทหารระดับสูง หรือนักการเมืองอย่าง อภิสิทธ์ สุเทพ หรือ ทักษิณ
และต้องมีการยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย
6. ต้องเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยอย่างถ้วนหน้า
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการ

ถ้าจะทำสำเร็จต้องทำพร้อมกัน
และทำด้วยความมั่นใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ
ต้องอาศัยพลังที่อยู่นอกกรอบรัฐในการกระทำ
คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนั้นเอง
ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้วในรูปแบบเสื้อแดง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวต้องอาศัยแนวความคิดทางการเมือง
ซึ่งในขบวนการเสื้อแดงมีหลายแนว ในเมื่อแนวหลักของ นปช. กับเพื่อไทย ใช้ไม่ได้
และไม่มุ่งหวังสร้างประชาธิปไตยจริง กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน
ต้องพยายามรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อช่วงชิงการนำ
และเพื่อลงมือสร้างสายสัมพันธ์กับขบวนการสหภาพแรงงานที่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย
เพราะในสังคมทุนนิยม กรรมาชีพมีพลังถ้ารู้จักใช้

"โฉมหน้าศักดินาไทย" ของจิตรภูมิศักดิ์

โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์

หนังสือ
“โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์
เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา
เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด
ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง
ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่น
   สุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ
หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์
ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด
ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง



     อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า
ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย”
เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด
และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้
     จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย
หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต”
จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ
  โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ
“สมบูรณาญาสิทธิราชย์”
     ในความเป็นจริง
ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย
เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิต
ในเมื่อเมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า
ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ 
เพราะในค.ศ.
1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1
ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ
73 คนในอินเดีย และ 21
คนในอินโดนีเซีย การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึงเป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน
นอกจากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา
และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส
ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินาไม่มีความหมายมากนัก
เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น
หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา
ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน
น่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง
เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่
ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส
     ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล
และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย
แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕
 
และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ
ที่ใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน พูดง่ายๆ
สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย
    
รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของจิตรคือ
เขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่ มาร์คซ์ เคยเสนอสำหรับยุโรปตะวันตก
มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับจิตร
ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอลในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก
“ยุคทาส”
 แต่ มาร์คซ์
ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก
เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์
คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมดในด้านเศรษฐกิจ
การเมือง และสังคม
     การต่อสู้กับปัญหาความกลไกในแนวคิดของฝ่ายซ้ายไทย
ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับอิทธิพลของแนวความคิดสตาลิน-เหมา
ถ้าเราไม่วิเคราะห์แนวสตาลิน-เหมาและอิทธิพลของมันผ่าน พ.ค.ท.
เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมนักสู้ผู้กล้าหาญอย่างจิตร ภูมิศักดิ์
ที่พยายามวิเคราะห์สังคมไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น สามารถตกหลุมของความกลไกได้

     จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนไทยที่เรียกได้ว่า
ล้ำหน้าในยุคสมัยของเขา เพราะเขาเสนอสิ่งที่แตกต่างห่างไกลจากความคิดของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น
เขากลายเป็นแกะดำของชาวจุฬาฯ เขาต้านระบบ
SOTUS ตั้งคำถามกับศาสนาพุทธและความชอบธรรมของชนชั้นสูง
จนถูกจับโยนบก แต่เขาก็มิได้สะทกสะท้าน
จิตใจของจิตรภูมิศักดิ์จึงน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างในความกล้าหาญในความเสียสละและความแน่วแน่
จิตรหล่อหลอมตัวเองในสงครามประชาชน
ผลงานของจิตรมีอยู่หลายหลากในต่างแขนงทั้งการเมือง ศาสนา วรรณคดีและศิลปะ
ไม่น่าเชื่อว่าในชั่วชีวิตคนคนหนึ่งที่เสียชีวิตก่อนวัยจะมีงานเขียนที่ผลิตขึ้นมาได้มากมายและมากด้วยคุณค่าเช่นนี้  เมื่อเราให้ความเคารพต่อ จิตร ภูมิศักดิ์
นักปฎิวัติที่ศรัทธาต่อพรรคที่เขาเชื่อว่าเป็นลัทธิมาร์คซ์ในขณะนั้น 
เราก็ควรจะใช้มุมมองลัทธิมาร์คซ์มาวิเคราะห์งานของเขา 

จากหนังสือ  รื้อฟื้นการต่อสู้  ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทยใจ
อึ๊งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิการสำนักพิมพ์
ประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๗)