ระลึกถึงสุชาย ตรีรัตน์

อาจารย์สุชาย ตรีรัตน์ ซึ่งพึ่งเสียชีวิตไปวันนี้ เป็นนักวิชาการมาร์คซิสต์ที่ผมชื่นชม เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ สุชายจะคอยดูแลและแสดงมิตรภาพต่อผมเสมอ ในไม่ช้าสุชายชวนผมเปิดวิชามาร์คซิสต์ร่วมกับเขา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดวิชานี้ในมหาวิทยาลัยไทยเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบกว่าปี ผมสอนวิชามาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ ในขณะที่สุชายสอนเกี่ยวกับ “นีโอมาร์คซิสต์”

สุชายเป็นครูที่ทุ่มเทกับการสอนนักศึกษา ไม่เหมือนนักวิชาการหลายคนที่ไม่สนใจการสอนแต่มุ่งหวังตำแหน่งสูงๆ หวังรายได้จากการสอนพิเศษ หรือแค่อยากทำการวิจัย ถือว่าสุชายเป็นครูเต็มตัว และเขาเข้าใจดีว่าเขาเป็นกรรมาชีพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เนื่องจากสุชายเป็นครูที่ดีเลิศ เขาชวนผมไปร่วมปรับปรุงวิชาทักษะการเขียนสำหรับนิสิตปีหนึ่ง ในอดีตผู้สอนวิชานี้เน้นแต่การเขียนแบบ “ถูกวิธี” แต่เราสองคนต้องสู้กับเพื่อนอาจารย์หลายคน เพื่อสอนให้นิสิตปีหนึ่งสามารถเขียนรายงานในเชิงโต้แย้งได้ ปรากฏว่านิสิตปีหนึ่งจำนวนมากที่เราสองคนสอน สามารถเข้าใจความสำคัญของการโต้แย้งหักล้างประเด็นทางการเมือง และแสดงออกว่าคิดเองเป็นด้วย สอนสนุกมาก แต่ในแวดวงวิชาการไทย มีประเพณีแย่ๆ ของการไม่สนใจแนวคิดที่ตนไม่เห็นด้วย ไม่อ่านงานของคนที่มองต่างมุม เพื่อเขียนบทความในเชิงโต้แย้ง ปัญหานี้ยังไม่หมดไปจากวิชาการไทย

ในเรื่องการวิจัยสุชายจะสนใจปัญหารัฐรวมศูนย์ของไทย และวิจัยเรื่องการผลิตมูลค่าส่วนเกินในภาคเกษตร ซึ่งเขาแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรแต่ละคนในระบบทุนนิยมต้องประกอบอาชีพหลากหลายเพื่อเลี้ยงชีพ พร้อมกับมีการจ้างงานกรรมกรภาคเกษตรในที่ดินของตนด้วย

ในปี ๒๕๔๖ สุชายได้ร่วมเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรักที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษก่อขึ้น ซึ่งพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่แค่นักวิชาการในหอคอยงาช้าง (ดูภาพ)

สุชายเป็นคนเงียบๆ แต่มีเพื่อนไม่น้อย เขาเคยไปเรียนที่เมือง Canberra ในประเทศออสเตรเลีย และเขาเคยบอกผมว่าเขาชอบเมืองนี้เพราะมันเงียบ คงจะแตกต่างจากกรุงเทพฯโดยสิ้นเชิง! เขาชอบฟังเพลงคลาสสิกของตะวันตก เวลาเดินเข้าไปในห้องทำงานของเขา จะได้กลิ่นบุหรี่ เห็นหนังสือกองไว้หลายสิบเล่มที่ยืมจากห้องสมุดแล้วนำไปดองไว้ และจะเห็นหน้าจอสีเขียวของเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าแก่ที่เขายังใช้อยู่ การตรวจงานนักศึกษาของสุชาย สำหรับนักเรียนที่ไม่เคยเจอเขามาก่อน อาจทำให้หัวใจวายได้ เพราะเขาจะอ่านทุกคำและใช้ปากกาสีแดงวงไว้เต็มหน้ากระดาษ แต่เขาก็เป็นอาจารย์ใจดี

ในระยะหลังๆ ผมกับสุชายห่างเหินกัน สาเหตุหลักก็เพราะเขาไม่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย เลยติดต่อข้ามประเทศยาก อีกสาเหตุหนึ่งคงจะมาจากการที่ผมเป็นมาร์คซิสต์ในเชิงปฏิบัติมากกว่าเขา  แต่ผมก็ไม่เคยลืมเพื่อนสำคัญของผมที่เคยร่วมทำงานกันที่จุฬาฯ

ใจ อึ๊งภากรณ์

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

บทบาทเลนินในการปฏิวัติรัสเซีย 1917

เลนินพูดกับทรอตสกีว่า “สำหรับคนที่เคยถูกปราบปราม เคยถูกจำคุกมานาน อย่างเรา พอได้อำนาจรัฐแล้ว รู้สึกเวียนหัว”  จะเห็นได้ว่าในเรื่องขั้นตอนต่อไปในการสร้างสังคมนิยม เลนินก็ไม่มีสูตรสำเร็จเช่นกัน

การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 เกิดขึ้นเมื่อพรรคบอลเชวิคและแนวร่วมได้รับเสียงข้างมากในสามสภาโซเวียตของ กรรมาชีพ ทหาร และ ชาวนา

แต่พวกฝ่ายปฏิรูปทั้งหลาย เช่นพวกเมนเชวิค ไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะอยู่รอดได้นานกว่า 2-3 วัน เพราะพวกนี้ไม่เข้าใจว่ากระแสการปฏิวัติฝังลึกลงไปในมวลชนแค่ไหน

ในการประชุมผู้แทนสภาโซเวียตครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังการปฏิวัติตุลาคมหนึ่งวัน นักสังเกตการณ์จากฝ่ายที่คัดค้านพรรคบอลเชวิค เล่าให้นักข่าวอเมริกันที่ชื่อ จอห์น รีด (John Reed) ฟังอย่างดูถูกว่า “พวกผู้แทนชุดใหม่นี้ต่างจากผู้แทนชุดก่อน ดูสิ พวกนี้มันหยาบและหน้าตาโง่มาก พวกนี้เป็นคนดำๆทั้งนั้น”  จอห์น รีด ซึ่งเป็นนักข่าวมาร์คซิสต์ อธิบายว่าข้อสังเกตนี้มีความจริงอยู่มาก “ความปั่นป่วนในสังคมที่เกิดขึ้น เสมือนเอาไม้ไปคนน้ำแกงจนส่วนล่างของสังคม ขึ้นมาเป็นส่วนบน คนดำๆได้ตื่นตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง”

ส่วน มาร์ทอฟ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเมนเชวิคที่คัดค้านเลนิน ต้องยอมรับว่า “กรรมาชีพทั้งชนชั้นหันมาสนับสนุนเลนิน” 

ในจำนวนผู้แทนทั้งหมดของสภาโซเวียต 650 คน มีตัวแทนของพรรคบอลเชวิค 390 คน และผู้แทนของ “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย” (แนวร่วมของพรรคบอลเชวิคในหมู่ชาวนายากจน) ประมาณ 160 คน  ส่วนพรรคเมนเชวิค และ พรรคปฏิวัติสังคมซีกขวา มีผู้แทนน้อยกว่า 100 คน พวกอนาธิปไตยไม่มีอิทธิพลอะไรเลย และไม่มีบทบาทในการปฏิวัติ

กรรมการบริหารชุดแรกของสภาโซเวียต หรือ “รัฐบาลใหม่” มีผู้แทนของ พรรคบอลเชวิค 14 คน พรรคปฏิวัติสังคม (ทั้งสองซีก) 7 คน และพรรคเมนเชวิค 3 คน  แต่พวกเมนเชวิค และปฏิวัติสังคมซีกขวาไม่ยอมทำงานร่วมกับพรรคบอลเชวิค และเดินออกจากสภา  ทรอตสกีส่งท้ายการเดินออกของพวกนี้ว่า “ไปเถิด ไปลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย” และมวลชนที่เป็นผู้แทนคนชั้นล่างก็พากันตบมือ

มาตรการหลักของรัฐบาลปฏิวัติ

(๑) สันติภาพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยกเลิกการเจรจาทางทูตแบบลับๆ กับเยอรมัน เจราจาทุกครั้งอย่างโปร่งใสต่อหน้าสาธารณะชน

(๒) ยกเลิกที่ดินส่วนตัวของเจ้าที่ดิน ยกที่ดินให้ชาวนาใช้ทันที่ตามความต้องการของพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการยืนยันการยึดที่ดินที่ชาวนายากจนกระทำไปแล้ว

(๓) ประกาศสิทธิเสรีภาพให้ประเทศเล็กๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย

(๔) กรรมกรต้องควบคุมระบบการผลิต และระบบการเงิน ผ่านโครงสร้างคณะกรรมการที่ได้รับเลือกจากกรรมกรโดยตรง

(๕) ผู้แทนทุกคนในสภาคนงานถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อถ้าฝ่าฝืนมติคนส่วนใหญ่

(๖) สตรีทุกคนได้สิทธิเต็มที่ และได้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในโลก

(๗) แยกศาสนาออกจากรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับรัฐ ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียน

นอกจากนี้แล้วก็มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเก่าที่เลือกมาภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมเพื่อให้สภาโซเวียตเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจในรัฐใหม่ สภาโซเวียตเป็นระบบที่ใช้สถานที่ทำงานเป็นเขตเลือกตั้ง  

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันแรกของการทำงาน รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซีย ก้าวหน้ากว่ารัฐบาลของนักการเมืองนายทุนทุกชุด ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาของการอยู่รอด

การปฏิวัติรัสเซียเกิดขึ้นหลังการสู้รบในสงครามโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาล นอกจากนี้รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่แล้ว  ร้ายกว่านั้น เมื่อรัฐบาลโซเวียตเจรจาสันติภาพกับกองทัพเยอรมัน รัสเซียต้องยอมเสีย 33% ของดินแดนที่ผลิตผลผลิตเกษตร   27% ของรายได้รัฐ  70% ของอุตสาหกรรมเหล็ก  70% ของแหล่งผลิตถ่านหิน  และ 50% ของโรงงานอุตสาหกรรม ให้รัฐบาลเยอรมัน  ในสภาพเช่นนี้ไม่น่าแปลกใจที่เลนินกล่าวว่า “เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมัน เราจะพินาศ”

สงครามกลางเมืองจากฝ่ายขวาและนโยบายเศรษฐกิจ “คอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม”

ในเดือนพฤษภาคม 1918 ประเทศทุนนิยมทั้งหลายที่กลัวการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียที่อาจแพร่ไปสู่ประเทศอื่น ได้รวมหัวกันส่งกองทัพมาปราบปรามการปฏิวัติรัสเซียถึง 14 กองทัพ นอกจากนี้ฝ่ายนายทุนรัสเซียเองก็ก่อ “กองทัพขาว” ขึ้นมาด้วย

มาตรการ “เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอดของการปฏิวัติ มีการยึดโรงงานและธุรกิจต่างๆ มาเป็นของรัฐศูนย์กลาง มีการกำหนดส่วนแบ่งอาหารให้ประชาชนโดยที่ผู้ใช้แรงหนัก และทหารได้มากกว่าผู้อื่น แต่ผู้นำพรรคได้เท่ากับประชาชนธรรมดา  มีการยึดผลผลิตจากชาวนาร่ำรวยที่กักอาหารไว้

ทรอตสกี อธิบายว่า “ระบบคอมมิวนิสต์แบบนี้ไม่ใช่ระบบคอมมิวนิสต์แบบอุดมคติ แต่เป็นระบบคอมมิวนิสต์ในยามวิกฤตแห่งสงคราม”

มาตรการทางทหาร ทรอตสกีได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแดง และใช้หลายมาตรการในการต่อสู้กับกองทัพขาวและกองทัพของมหาอำนาจ จนได้รับชัยชนะ เช่น

(๑) ใช้ความคิดทางการเมืองในการนำการต่อสู้   เลนินสังเกตว่า “เราได้รับชัยชนะเพราะทหารของกองทัพแดงเข้าใจว่าเขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง กองทัพของเราเสียสละอย่างสุดยอดในการกำจัดพวกกดขี่ระยำทั้งหลาย”

(๒) ทรอตสกีใช้ผู้นำทางการเมืองควบคู่กับผู้นำทางทหารในกองกำลังทุกกอง มีรถไฟปลุกระดมพิเศษที่เคลื่อนย้ายจากจุดต่างๆ ในสนามรบ โดยที่มีโรงพิมพ์และโรงหนังเพื่อปลุกระดมกองทัพแดง และประชาชน

หลังจากที่กองทัพแดงได้รับชัยชนะ ถึงแม้ว่าปัญหาทางทหารจะลดลง แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจยิ่งทวีขึ้น เนื่องจากความเสียหายในสงครามกลางเมือง เลนินสังเกตว่า “รัสเซียผ่านการต่อสู้มา 7 ปี เหมือนคนที่ถูกรุมซ้อมจนเกือบตาย นับว่าโชคดีที่ยังเดินด้วยไม้เท้าได้”  ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนัก และบางส่วนแสดงความไม่พอใจในรัฐบาลบอลเชวิค

ที่ป้อม Kronstadt ทหารรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นหัวหอกการปฏิวัติเหมือนในปี 1917 เขาเป็นพวกลูกชาวนาที่เดือดร้อนจาก“เศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ท่ามกลางสงคราม” และได้อิทธิพลจากความคิดอนาธิปไตย พวกอนาธิปไตยที่ Kronstadt จับอาวุธเข้ากับฝ่ายกองทัพขาว กบฏต่อรัฐบาลโซเวียต และเรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่มีตัวแทนพรรคบอลเชวิค ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็เท่ากับยอมให้การปฏิวัติพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ทรอตสกีกับเลนินจึงจำเป็นต้องปราบด้วยความหนักใจ

ถ้าทรอตสกีกับเลนิน ไม่นำการรบในสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายขาวและมหาอำนาจตะวันตกก่อขึ้น คำว่า “ฟาสซิสต์” จะเป็นคำภาษารัสเซียแทนภาษาอิตาลี่ เพราะมันจะยึดอำนาจแน่นอน

รัฐบาลบอลเชวิคเข้าใจว่าไปต่อแบบเดิมไม่ได้ จึงมีการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อซื้อเวลารอการปฏิวัติในเยอรมันและประเทศอื่นๆ

นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economic Policy (N.E.P.)

นโยบายเศรษฐกิจใหม่(“เน๊พ”) ที่รัฐบาลนำมาใช้ต้องถือว่าเป็นการเดินถอยหลังกลับสู่ระบบกึ่งทุนนิยม เพื่อซื้อเวลา สาเหตุหลักที่ต้องถอยหลังคือความล้มเหลวในการปฏิวัติเยอรมันปี 1918 ซึ่งมีผลให้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค ที่เป็นผู้นำสำคัญ ถูกฆ่าตาย  นอกจากนี้การพยายามปฏิวัติในประเทศ ฮังการี่ บัลแกเรีย และ อังกฤษ ในช่วงนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน  ประเด็นสำคัญในความล้มเหลวของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ คือการที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์อย่างพรรคบอลเชวิค

ประเด็นสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่มีดังนี้คือ

(๑) ฟื้นฟูกลไกตลาดโดยปล่อยให้มีการค้าขายระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกับชาวนาในชนบท ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างชาวนาร่ำรวยกับชาวนายากจนมีมากขึ้น นอกจากนี้แล้วทำให้เกิดพวกพ่อค้ารุ่นใหม่ขึ้นที่ใครๆ เรียกว่า “พวกนายทุนเน๊พ” ซึ่งในที่สุดพวกนี้ก็เกิดความสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นของรัฐและพรรคบางคน

(๒) ยกเลิกการยึดผลผลิตเกษตรกรรม แต่เก็บภาษีแทน

(๓) มีการใช้ระบบคุมงานและกลไกตลาดในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพเสียประโยชน์

เลนินเห็นว่านโยบายนี้จำเป็น แต่เป็นห่วงอย่างยิ่ง “นโยบายใหม่จะทำลายสังคมนิยมถ้าเราไม่ระวัง ….  ใครเป็นคนกำหนดแนวทางของรัฐกันแน่? คนงาน หรือ กลุ่มผลประโยชน์?”

ในเดือน มกราคม 1924 เลนินเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาป่วยมาหลายเดือนหลังจากที่ถูกคนจากพรรคสังคมปฏิวัติลอบฆ่า เขาทำอะไรไม่ค่อยได้เพราะเป็นโรคเส้นโลหิตแตกในสมองด้วย ก่อนที่เลนินจะเสียชีวิต เขาได้เขียนบทความหลายบทความที่เตือนถึงภัยต่างๆที่กำลังเกิดกับการปฏิวัติกรรมาชีพในรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

(๑) นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะทำให้ทุนนิยมกลับมาได้

(๒) ปัญหากำลังเกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงาน

(๓) รัฐตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแล้ว

(๔) ผู้นำบางคน เช่น สตาลิน กำลังฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม

(๕) เลนินเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรนำของพรรคเพื่อลดบทบาทของข้าราชการแดงลง

แต่ในช่วงนี้ เลนินไม่สามารถลงไปปลุกระดมความคิดในหมู่กรรมาชีพพื้นฐาน อย่างที่เคยทำในอดีตได้ เนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ ความคิดของเลนินจึงมีอิทธิพลน้อย

พินัยกรรมของเลนิน

“สตาลินไม่เหมาะสมที่จะเป็นเลขาธิการของพรรคต่อไป สมาชิกพรรคควรหาทางปลดเขาออกจากตำแหน่ง” ….  “สตาลินมีอำนาจมากเกินไปและผมไม่แน่ใจว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางที่ถูกหรือไม่”

ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมโดยชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียไม่ได้มาจากความผิดพลาดของเลนิน หรือการที่พรรคบอลเชวิคนำการปฏิวัติแต่อย่างใด         และไม่ได้มาจากนโยบาย “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” ของพรรคบอลเชวิคอีกด้วย  แต่เกิดจากการที่กรรมาชีพรัสเซียไม่สามารถแพร่ขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นในยุโรปที่พัฒนามากกว่ารัสเซียในโอกาสนั้น ความพยายามของกรรมาชีพรัสเซียที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีด ที่จบลงในที่สุดด้วยความพ่ายแพ้และเผด็จการของสตาลิน เพียงแต่เป็นรอบแรกในการต่อสู้เพื่อล้มระบบทุนนิยมของกรรมาชีพโลก อนาคตของสังคมนิยมยังแจ่มใส ถ้าเราเรียนบทเรียนจากการทำงานของเลนิน

[คัดจากหนังสือเล่มเล็ก “วิธีการสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” สำนักพิมพ์ กปร. ๒๕๔๒]

ระหว่างตากสินกับอ.ปรีดี ใครกู้ชาติกันแน่?

พวกที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะอวยกษัตริย์ตากสินเพราะไม่ชอบราชวงศ์ปัจจุบัน และใช้ข้ออ้างว่าตากสิน “กู้ชาติ” ดังนั้นเป็นคุณประโยชน์กับคนไทย แต่นั้นเป็นการเข้าใจประวัติศาสตร์ผิด เป็นการกลืนคำโกหกของชนชั้นปกครองไทยเรื่องกษัตริย์ และไม่ใช้กรอบคิดทางชนชั้นในการวิเคราะห์เลย

ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริง ไม่ใช่ตากสินและกษัตริย์อื่นๆ ที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕

เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพกับความเท่าเทียม และล้มอำนาจที่เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีต ในความคิดของคณะราษฎรมันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิดอ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย

ที่สำคัญคือ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา ดังนั้นกษัตริย์ตากสินจะ “กู้ชาติ” ไม่ได้

ตากสินขูดรีดไพร่ทาสเป็นพิเศษเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี สิ่งที่แรงงานบังคับต้องสร้างคือวังต่างๆ การเกณฑ์แรงงานครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างไม่น้อย และอาจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจของรัชกาลที่๑ การย้ายเมืองหลักไปอยู่ธนบุรีซึ่งใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพื่อควบคุมการค้าทางทะเลอย่างผูกขาดและเพื่อขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ตนเอง

ไม่มีกษัตริย์ไหนในไทยหรือในโลกที่มีคุณประโยชน์กับประชาชนธรรมดา การ “กู้ชาติ” ของกษัตริย์ที่บางคนพูดถึงเป็นแค่สงครามแย่งพื้นที่กันระหว่างมาเฟียสมัยศักดินา แย่งกันเพื่อมีอำนาจและสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย” ที่กำลังพิมพ์อยู่)

การฆ่าตากสินโดยทองด้วงกับพวก ซึ่งทำให้ทองด้วงตั้งตัวเป็นรัชกาลที่หนึ่งได้ เป็นแค่รัฐประหารแย่งอำนาจตามสันดานกษัตริย์ทั่วโลกในยุคก่อนไม่ว่าจะในไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที่อื่น และมีการโกหกกันว่าตากสิน “บ้า” ตากสินตายอย่างไรเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ในยุคที่ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อน๑๔ตุลา ครูบอกว่าโดนทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เราเข้าใจว่า “ถึงแม้จะบ้าก็ต้องเคารพ” ทำนองนั้น ครูคนเดียวกันในภายหลังสอนเราเรื่องปฏิวัติ ๒๔๗๕ และร้องไห้เพราะสงสารรัชกาลที่๗!!

ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน คนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย

พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแต่อวยกษัตริย์ตากสิน ทำตัวเหมือนไม่รู้จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีผู้ใหญ่ให้กราบไหว้ เป็นพวกที่ไม่มีความมั่นใจว่าพลเมืองผู้น้อยสามารถปลดแอกตนเองได้ จึงไม่ให้ความสำคัญกับม็อบหรือเยาวชนที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ แต่ฝากความหวังไว้กับทักษิณและนักการเมือง “ผู้ใหญ่” อื่นๆ ในที่สุดไม่ต่างจากพวกที่เคยโบกมือให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แทนที่จะพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา

กรรมาชีพในอาชีพใหม่ๆของศตวรรษนี้รวมตัวกันสู้ได้หรือไม่?

[แนะนำหนังสือ “Nothing to lose but our chains.” โดย เจน ฮาร์ดี้]

ในยุคนี้เรามักจะได้ยินคำพูดของคนที่มองว่า “ชนชั้นกรรมาชีพกำลังหายไป” หรือ “พลังการต่อสู้ของกรรมาชีพอ่อนตัวลง” หรือ “สภาพการทำงานที่มั่นคงกำลังสูญหายไป” คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลจีดิจิตอล หรือท่ามกลางการขยายตัวของวิธีการทำงานแบบใหม่อย่างเช่น “แรงงานแพลตฟอร์ม”

ในหนังสือ “ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวนของเรา” เจน ฮาร์ดี้ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสภาพการทำงานในอังกฤษในยุคปัจจุบัน พร้อมกับฉายภาพวิธีการต่อสู้ของแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาหลายประเด็นปัญหา และความเชื้อเท็จเรื่องการทำงานในศตวรรษที่21

ประเด็นหนึ่งที่เจน ฮาร์ดี้ พิจารณาคือเรื่องสภาพการทำงานที่ไร้ความมั่นคง และเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งมีการอ้างกันว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะภายใต้ “เสรีนิยมใหม่” แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทำงานแล้ว จะพบว่าการทำงานที่ไร้ความมั่นคงมีมาตลอด ตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม และสัดส่วนการทำงานที่มั่นคงเมื่อเทียบกับการทำงานที่ไร้ความมั่นคง มักขึ้นลง โดยถูกกำหนดจากระดับการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ความต้องการของนายจ้างที่จะลงทุนในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ และกระแสทางการเมือง ข้อสรุปคือไม่มีข้อมูลที่รองรับความเชื่อว่าทุนนิยมสมัยใหม่สร้างงานที่ไร้ความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังลดลงแต่อย่างใด

ในอังกฤษจำนวนกรรมาชีพเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านในปี 1997 เป็น 33 ล้านในปี 2020 ทั่วโลกก็เป็นในลักษณะแบบนี้หมดด้วย

นอกจากนี้การทำงานแบบไร้ความมั่นคงอาจเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน คือความไม่มั่นคงอาจมาจากระดับค่าแรงที่ต่ำเกินไปที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้มีมานาน

คนงานสร้างเกม

บ่อยครั้งความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เกิดจากการทำงานของกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งนักมาร์คซิสต์ไม่เคยเสนอว่าเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ และเราจะเห็นชัดเมื่อเราพิจารณาภาพรวมของระบบทุนนิยม คือเกิดจากการผลิต การขนส่ง การค้า ระบบธนาคาร การพัฒนาการศึกษา และจากระบบสาธารณสุขด้วย ไม่ได้เกิดณจุดเดียว และยิ่งกว่านั้นมาร์คซิสต์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานด้วยสมอง การทำงานทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและคู่ขนานกันเสมอ และข้อเสนอของบางคน รวมถึงพวกอนาธิปไตยในอิตาลี่ ว่าระบบเศรษฐกิจที่ “ไร้น้ำหนัก” (คืออาศัยการทำงานแบบความคิดเป็นหลัก) กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตสินค้านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้แต่คนงานไอที ที่ผลิตโปรแกรมหรือแอพหรือเกม ก็ผลิตสินค้าที่จับต้องได้

ในไทยนักวิชาการสายแรงงานบางคนเชื้อผิดๆ ว่า “การขูดรีด” เกิดขึ้นแค่ในกรณีที่มีการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ในความจริง “การขูดรีด” เกิดจากการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของกรรมาชีพโดยนายจ้างหรือรัฐ มันเกิดขึ้นในทุกที่และเป็นกำเนิดของ “กำไร” ซึ่งมาร์คซ์อธิบายไว้ใน “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน”

แน่นอนระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานในภาคหนึ่งอาจหายไปหรือลดลง เช่นในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำงานในภาคใหม่หรือในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษยุคสมัยนี้คนงานในภาคการศึกษาและภาคสวัสดิการของรัฐ เพิ่มขึ้นมาก แต่อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ระบบสาธารณสุขของรัฐ (NHS) มีลูกจ้างทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเรื่องหุ่นยนต์ในระบบการผลิตนั้น ไม่มีข้อมูลว่าทำให้การจ้างงานในภาพรวมลดลง มันอาจลดลงในกิจการหนึ่ง แต่ไปเพิ่มที่อื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของแรงงานในคลังสินค้ายักษ์ของบริษัทอเมซอนเป็นต้น นอกจากนี้ในการผลิตรถยนต์ บางบริษัทเริ่มลดจำนวนหุ่นยนต์ลง เพราะไม่ยืดหยุ่นและฉลาดเท่าแรงงานมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการทำงานในระบบทุนนิยมไม่ได้ทำลายโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้กับนายจ้างแต่อย่างใด มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของสหภาพแรงงาน หรือเปลี่ยนกองหน้าของขบวนการแรงงานเท่านั้น

และสิ่งที่ เจน ฮาร์ดี้ เน้นในหนังสือเล่มนี้คือ “ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้” มันขึ้นอยู่กับว่านักปฏิบัติการสายแรงงานพร้อมจะลงมือจัดตั้งหรือไม่

สิ่งนี้ถูกพิสูจน์จากประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานสากล และจากกรณีศึกษาของ เจน ฮาร์ดี้ เอง คือเขาเข้าไปสำรวจการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้กับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น กลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานให้กับบริษัทเอาท์ซอร์สหรือรับเหมาช่วง กลุ่มคนงานหญิงรายได้ต่ำ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานที่เขียนโปรแกรมสำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ครูบาอาจารย์ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในคลังสินค้า และ ฮาร์ดี้ พบว่าในทุกสถานที่ทำงานเหล่านี้ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง บางแห่งอาจประสบความสำเร็จมาก บางแห่งอาจน้อย แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งไม่ได้ และไม่มีที่ไหนที่คนไม่พยายามออกมาต่อสู้

แม้แต่ในไทยเรายังเห็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานในคนงานไรเดอร์ ที่ถือว่าเป็นคนงานแพลตฟอร์ม เช่นกรณี “สหภาพไรเดอร์” ที่พึ่งต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน คนงานประเภทนี้ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานการจ้างงาน โดยที่บริษัทต่างๆ อ้างว่าคนงานแพลตฟอร์มเป็น “ผู้ประกอบการเอง” หรือเป็น “ผู้มีหุ้นส่วนในบริษัท” ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างชัดๆ ข้ออ้างของบริษัทกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการใดๆ และเพื่อผลักภาระจากการทำงานที่ไม่มีความมั่นคงไปสู่ลูกจ้าง

ภาพจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในอังกฤษสหภาพแรงงานของคนทำงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำการประท้วง หยุดงาน และใช้กระบวนการศาลเพื่อบังคับให้บริษัทต้องยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง ที่สหรัฐและอังกฤษสหภาพแรงงานทำอาหารในร้านฟาสท ฟูดอย่างเช่นแมคโดนัลด์ หรือในบาร์ ก็กำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ในกรณีที่รัฐกับนายจ้างจับมือกันและใช้กฎหมายเพื่อทำให้การนัดหยุดงานยากขึ้น การต่อสู้ก็ยังทำได้ในหลายระดับตั้งแต่การนัดหยุดงานถูกกฎหมาย การนัดหยุดงานผิดกฎหมาย การขู่ว่าจะหยุดงาน การลงคะแนนเสียงเรื่องว่าจะหยุดงานหรือไม่ หรือการประชุมกลางแจ้งเพื่อกดดันนายจ้างเป็นต้น

สำหรับวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เจน ฮาร์ดี้ กล่าวถึง “รูปแบบการจัดตั้ง” (Organising Model) ที่นำเข้ามาในอังกฤษจากขบวนการแรงงานสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทิศทางสหภาพแรงงานจากแค่การบริการสมาชิก มาเป็นการจัดตั้งเพื่อเพิ่มพลังต่อรอง รูปแบบนี้อาศัยหลักการ 3 ประการคือ 1.แสวงหาผู้นำระดับรากหญ้าธรรมชาติ 2.เชื่อมโยงคนทำงานกับชุมชน และ 3.ทดสอบว่าผู้นำรากหญ้าสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้ได้หรือไม่ ผ่านการล่ารายชื่อเป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้ในลักษณะที่ตามสูตรแบบกลไกอาจมีปัญหา เพราะผู้นำรากหญ้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เราไม่สามรถกำหนดล่วงหน้าได้ และเราอาจไม่จำเป็นต้องรอให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานถึงขั้นพร้อมจะสู้ เพราะการออกมาสู้ของของกลุ่มหนึ่งแผนกหนึ่ง อาจกระตุ้นให้คนอื่นออกมาสู้ได้

เจน ฮาร์ดี้ สรุปว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานหรือการประท้วงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดขึ้นผ่านแกนนำที่เชื่อมโยงกับคนงานรากหญ้าอย่างใกล้ชิดและมีโครงสร้างสหภาพที่อำนวยให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา และบ่อยครั้งการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสหภาพ ช่วยทำให้การต่อสู้เข้มแข็งมากขึ้น

ฮาร์ดี้ เสนอต่อว่าในสถานการณ์สังคมที่การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวของขบวนการ Black Lives Matter และการประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างจากไทยก็คือการต่อสู้กับเผด็จการ บทบาทของนักสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกพรรค และเป็นนักเคลื่อนไหวในสถานที่ทำงาน สามารถเชื่อมโยงโลกภายนอกรั้วสถานประกอบการ กับการต่อสู้ภายในได้ และสามารถนำกระแสอันมีพลังของการต่อสู้ทางการเมือง เข้ามาสร้างเป็นพลังการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้อีกด้วย พูดง่ายๆ การนำการเมืองภาพกว้างเข้ามาในสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงาน ช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของกรรมาชีพได้ ซึ่งข้อสรุปอันนี้ของ ฮาร์ดี้ ตรงกับสิ่งที่ โรซา ลัดคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

ตัวอย่างของการจัดตั้งกรรมาชีพในภาคการทำงานใหม่ๆ หรือในสถานที่ทำงานที่ไม่เคยมีสหภาพแรงงานมาก่อน ไม่ได้อาศัยการพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” หรือ “สหภาพแรงงานปฏิวัติ” อย่างที่พวกลัทธิสหภาพอนาธิปไตยเสนอแต่อย่างใด เพราะการสร้างสหภาพแรงงานแบบนั้นจะไม่สามารถจัดตั้งคนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะคนทำงานในสถานที่ต่างๆ มักจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนำการต่อสู้ในภาคการทำงานใหม่ๆ ถ้าจะมีพลังจริงๆ จะต้องอาศัยนักปฏิวัติสังคมนิยมที่จัดตั้งในพรรค และพร้อมจะปลุกระดมเพื่อนร่วมงานต่างหาก

[ Jane Hardy (2021) “Nothing to lose but our chains.” Pluto Press]

ใจ อึ๊งภากรณ์

ซีเซ็ก(Slavoj Žižek)เน่าเป็นขี้นานแล้ว

เมื่อสหายคนหนึ่งบอกผมว่าคนรุ่นใหม่บางคนชื่นชมSlavoj Žižek ผมตอบไปว่า “ซีเซ็กเน่าไปนานแล้ว ที่ไทยมันตามกันไม่ทัน! มันลงถังขยะแห่งประวัติศาสตร์ไปแล้วในการเป็นมาร์คซิสต์”

นี่คือเหตุผลที่ผมมองแบบนั้น

  1. ท่ามกลางสงครามจักรวรรดินิยมและปัญหาโลกร้อน มีผู้ลี้ภัยพยายามเข้ามาในยุโรป รัฐบาลต่างๆ และพวกฝ่ายขวาตกขอบก็จับมือกันด่าผู้ลี้ภัยและสนับสนุนมาตรการปิดกั้นไม่ให้ผู้ลี้ภัยเข้ามา แถมมักจะมีฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาอิสลาม พูดเสมอว่า “พวกอิสลามไม่เหมือนเรา” ส่วนพวกเราฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์ประท้วงให้เปิดประเทศ ยกเลิกพรมแดน เอาเงินที่คนรวยสะสม หรือเงินที่รัฐใช้ทำสงคราม มาช่วยผู้ลี้ภัย เราสร้างองค์กรแนวร่วมที่ต่อต้านการเหยียดสีผิวหรืออิสลาม แล้วซีเซ็กมีจุดยืนอย่างไร? ซีเซ็กคล้อยตามพวกฝ่ายขวา เขาสนับสนุนการปิดกั้นผู้ลี้ภัยและเขียนว่า“พวกอิสลามไม่เหมือนเรา”
  2. ในเรื่อง “มูลค่าส่วนเกิน” ที่นายทุนขโมยจากการทำงานของกรรมาชีพ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์คซิสต์ ซีเซ็กปฏิเสธ ยิ่งกว่านั้นเขาไม่ให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพ เพราะผิดหวังในความล้าหลังของกรรมาชีพในบางยุค หรือมองว่า “มวลชนหลวมๆ” ที่จำกัดความยาก จะเป็นผู้เปลี่ยนสังคม หรือมองว่ามูลค่าสามารถผลิตจาก “เศรษฐกิจทางปัญญา” แบบลอยๆได้ ซึ่งไร้สาระและมองว่ามูลค่าส่วนเกินมาจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่มาร์คซ์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยแรงออกจากการทำงานทางปัญญา (อ่านเรื่องความสำคัญของทฤษฎีมูลค่าแรงงาน https://bit.ly/3nNZaZd )
  3. ซีเซ็กสนับสนุนTrumpในการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาอ้างว่าถ้าTrump เข้ามาฝ่ายซ้ายจะมีพลัง มันเป็นแนวคิดซ้ายไร้เดียงสา แต่แย่กว่านั้นเพราะการที่Trump เข้ามา ทำให้ฟาสซิสต์ทั่วโลกได้กำลังใจ และคนของTrump ก็ไปปลุกระดมฟาสซิสต์ในโลกจริงทั้งในสหรัฐกับยุโรป คนอย่าง Kyle Rittenhouse ที่จับปืนไปยิงผู้ประท้วงความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวดำ เป็นคนที่ได้ใจจาก Trump
  4. ซีเซ็กปฏิเสธความสำคัญของการสร้างพรรค ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเขาอยากเป็น “วีรชน” คนเดียว
  5. ซีเซ็กไม่เข้าใจว่าสตาลินเป็นผู้นำการปฏิวัติซ้อนที่ทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมที่นำโดยเลนิน กับ ทรอตสี้ ดังนั้นไม่สามารถวิเคราะห์แนวสตาลินได้ ไม่สามารถแยกเลนินออกจากสตาลินได้

ทั้งๆ ที่คนรุ่นใหม่ในไทยและนักวิชาการบางคนปลื้มซีเซ็ก โดยไม่รู้เรื่องอะไรและตามสถานการณ์สากลไม่ทัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ข้อมูลข้างบนแสดงถึงความไร้เดียงสาของซีเซ็กในฐานะที่อ้างตัวว่าเป็นมาร์คซิสต์ แต่ยิ่งกว่านั้นมันแสดงว่าเขาเป็นนักวิชาการหอคอยงาช้างที่ไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลกจริง เขาชอบพูดเอามันเพื่อให้คนตื่นเต้น และเพื่อทำตัวเป็นดารา

ใจ อึ๊งภากรณ์

สมานฉันท์กับคนข้ามเพศ(Transgender)

ในสังคมอนุรักษ์นิยมกระแสความคิดหลักมักเสนอว่า คนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ  เป็นคนที่ผิดจากมนุษย์ธรรมดา และคนข้ามเพศจะได้รับการยอมรับต่อเมื่อทำตัวเป็นตัวตลกเท่านั้น แต่สำหรับนักสังคมนิยม เราตั้งคำถามว่า “เกย์  ทอม ดี้ กะเทย” เป็นมนุษย์เพี้ยน หรือ ระบบมันเพี้ยน? และเราตอบเองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น เพราะระบบปัจจุบันเน้นครอบครัวจารีตแบบผัวเมียพ่อแม่ ซึ่งแนวคิดนี้กีดกันสิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน ของคนข้ามเพศ และของสตรี

ผู้มีอำนาจในระบบทุนนิยม และผู้นำศาสนา มักพยายามสร้างภาพว่าในสังคมมีเพียงสองเพศเท่านั้น  เพศอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่  ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องแปลกประหลาด  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย  สังคมไทยและสังคมเอเชียแถบนี้มีคน “เพศที่สาม” มาพันๆ ปี สังคมตะวันตกก็เช่นกัน

ในทางวิทยาศาสตร์มนุษย์ในภาพรวมไม่ได้มีแค่สองเพศ ทั้งในฐานะทางกาย เช่นอวัยวะเพศหรือดีเอ็นเอ หรือในฐานะเพศภาวะที่เกี่ยวข้องกับจิตใจความรู้สึก ดังนั้นมนุษย์มีความหลากหลายทางเพศตามธรรมชาติ

เหตุผลที่มีแนวคิดครอบครัวจารีตคือ มันเกี่ยวข้องกับการผลิตมนุษย์รุ่นต่อไป  มันเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรุ่นต่อไปแบบราคาถูก คือยกให้เป็นเรื่องภาระปัจเจกในการเลี้ยงเด็กของสังคม โดยผู้หญิงต้องรับภาระนี้เป็นหลัก การเอ่ยถึงวิธีอื่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ไม่ใช่ครอบครัวจารีตเป็นการท้าทายระบบ

แต่เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและดึงผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ทำงานมากขึ้น เพราะขาดแคลนกำลังงาน ผู้หญิงเหล่านั้นมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และมั่นใจมากขึ้นที่จะรวมตัวกับผู้หญิงคนอื่นในการเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของมวลชนในรูปแบบนี้ให้กำลังใจกับ คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนผิวดำ และคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ เพื่อที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วย

นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นปกครองเริ่มยอมในเรื่องสิทธิทางเพศบางส่วน แต่พยายามปกป้องครอบครัวจารีตในเวลาเดียวกัน มันแสดงถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยม

บ่อยครั้งการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสสากล เมื่ออยู่ในยุคขาลง ก่อนที่การต่อสู้จะก่อตัวขึ้นมาอีก คนที่เคยก้าวหน้าหลายคนจะถอยหลังลงคลองและหันมารับแนวคิดปฏิกิริยา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเฟมมินิสต์บางคนในตะวันตก ที่ออกมาโจมตีสิทธิของคนข้ามเพศ โดยอ้างว่าคนข้ามเพศที่เลือกจะเป็นผู้หญิง เป็น “ผู้หญิงจอมปลอม” และ “ใช้อภิสิทธิ์ของการที่เดิมเป็นชาย” มาเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ แถมมีการกล่าวหาเท็จว่าคนข้ามเพศแบบนี้แค่ต้องการเข้าไปในห้องน้ำสตรี เพื่อไปละเมิดร่างกายผู้หญิง ทั้งๆ ที่ไม่มีตัวอย่างเลย และในความเป็นจริงคนข้ามเพศมักจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคม

จุดยืนปฏิกิริยาอันนี้ของเฟมมินิสต์บางคน มาจากการที่เขาถอยหลังรับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มองว่าคนข้ามเพศ “ผิดปกติ” แต่พยายามกลบปกปิดความปฏิกิริยาของตนเองด้วยหน้ากากเท็จของแนวเฟมมินิสต์จอมปลอม

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองที่ปลุกระดมคนในสังคมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะอธิบายว่าทำไมเราต้องสู้เพื่อสิทธิต่างๆ พร้อมจะอธิบายว่าจะสู้อย่างไร และพร้อมจะเถียงกับคนที่เห็นต่างเสมอ ไม่ว่าการต่อสู้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง

การกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น

แนวเฟมมินิสต์มองว่า  ระบบปัจจุบันเป็นระบบพ่อเป็นใหญ่ (patriarchy) ซึ่งหมายถึงการกดขี่ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงทั้งภายในครอบครัวและในสถาบันสังคมอื่น ๆ  แนวความคิดนี้มองว่าแอกที่ทับอยู่บนบ่าของสตรีคือ  “ วัฒนธรรม”  ดังนั้นต้องต่อสู้และยกเลิกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอำนาจของผู้ชาย  แต่คำอธิบายว่าวัฒนธรรมถูกกำหนดจากอะไรไม่มีนอกจากจะอ้างชีววิทยา   คือผู้หญิงต้องให้นมลูกและให้กำเนิดลูก  แล้วความแตกต่างทางเพศนี้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบสังคมที่มีชายเป็นใหญ่

ในทางรูปธรรมนั้น  แนวนี้สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในทางโครงสร้างของสังคมในส่วนต่าง ๆ โดยละเลยประเด็นทางชนชั้น  เช่น  สนับสนุนผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในบริษัท โดยที่หญิงเหล่านั้นจะมีอำนาจให้คุณให้โทษกับลูกจ้างหญิงและชาย  หรือ  สนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยไม่พิจารณาจุดยืนของหญิงเหล่านั้น

กรอบสำคัญของแนวนี้อยู่ที่เพศ และที่สำคัญแนวความคิดนี้มองว่าปัญหามาจาก “ธรรมชาติถาวร” ของผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นจริงก็คงไม่มีวันแก้ไขได้เลย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าก่อนที่จะมีการกำเนิดสังคมชนชั้น ชายกับหญิงมีสถานะเท่าเทียมกัน

แนวความคิดมาร์คซิสต์ มองว่าวัฒนธรรมต่างๆ  ค่านิยม  แนวความคิดและโครงสร้างทางสังคม  จะถูกกำหนดโดยลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคต่างๆ ดังนั้นสถานภาพที่สตรีถูกกดขี่  จะต้องมีปัจจัยตัวอื่นมากำหนดที่ไม่ใช่ชาติพันธ์  หรือสรีระวิทยา  สภาพทางสังคมในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติ  แต่เป็นผลมาจากการพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัย 

ในหนังสือ  “กำเนิดครอบครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ”  ของ เองเกิลส์  ซึ่งอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากการศึกษาของนักมนุษวิทยา เองเกิลส์ เสนอว่าฐานะของสตรีนั้นมีจุดตั้งต้นและคลี่คลายออกมาจากระบบการผลิตและฐานะทางครอบครัว  ในยุคแรกๆ มนุษย์อยู่กันเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวและไม่มีคู่สมรสถาวรแบบผัวเดียวเมียเดียว หญิงกับชายมีฐานะเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาการเลี้ยงชีพจนเกิด “ส่วนเกิน” จากความต้องการวันต่อวัน ทรัพย์สินส่วนตัวก็เกิดขึ้นได้ และการที่ชายถืออาวุธในการล่าสัตว์อยู่ในมือ มีกำลังทางกายเหนือหญิง และมีบทบาทในการรวบรวมส่วนเกินมากกว่าหญิง (โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ในยุคแรกๆ) ทำให้ชายได้เปรียบหญิง การสืบทอดมรดกผ่านชายจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชายอาวุโสที่เริ่มแย่งอำนาจ การสร้างครอบครัวใหม่แบบหญิงมีผัวเดียวเพื่อให้ชายอาวุโสรู้ว่าลูกของตนคือใครจึงเกิดขึ้น และหญิงก็ตกเป็นพลเมืองชั้นสองถ้าเทียบกับชาย ในเวลาเดียวกันชายที่เข้มแข็งที่สุดสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่และบังคับให้มนุษย์คนอื่น ทั้งชายและหญิง ตกเป็นทาสของตนเอง สังคมชนชั้นจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับส่วนเกิน ทรัพย์สินส่วนตัว และครอบครัวรูปแบบใหม่ดังกล่าว

เราพอจะสรุปหลักการณ์ใหญ่ๆ ของแนวมาร์คซิสต์ได้ดังนี้

1)       การกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่มาจากสรีระ เราจึงยกเลิกได้และควรยกเลิก

2)       การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบ่งมนุษย์ทั้งชายและหญิงออกเป็นชนชั้น

3)       ครอบครัวคือสถาบันสำคัญในการกำหนดและกล่อมเกลาความคิดแบบกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รูปแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคของระบบการผลิต

4)       วิธีแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศในระยะยาวต้องประกอบไปด้วยการจัดการเปลี่ยนสังคม ล้มระบบทุนนิยม สร้างระบบสังคมนิยมที่ไม่มีชนชั้น และเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไปเป็นการอยู่กันในลักษณะหลากหลายที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน

ก่อนที่เราจะล้มระบบทุนนิยมได้ เราต้องรณรงค์และต่อสู้กับการกดขี่ทุกรูปแบบและสนับสนุนการปฏิรูปสังคมเท่าที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง

เราชาวสังคมนิยมมองว่า ไม่ว่ามนุษย์ในสังคมจะเลือกเป็นเพศอะไร หรือเลือกที่จะรักเพศอะไร อย่างไร นับเป็นสิทธิที่ชอบธรรมอันดับแรกที่ควรเลือกได้  และพวกเราที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจะต้องสนับสนุนสิทธิดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข ตราบใดที่คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือสตรี ไม่มีสิทธิเต็มตัว สังคมเราไม่มีวันมีประชาธิปไตยและเสรีภาพสมบูรณ์ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีพรรคสังคมนิยมที่รณรงค์เรื่องนี้ในสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤตการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ใช่วิกฤตสำหรับมาร์คซิสต์

ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมโลกในปี 2008 การใช้มาตรการเสรีนิยมกลไกตลาดของรัฐบาลพรรคกระแสหลักในประเทศต่างๆ ของยุโรป นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของพรรคกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป เพราะทุกพรรคส่งเสริมการโยนภาระการแก้วิกฤตไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพ ผลคือคนจำนวนมากเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่เข้ามาเสริมอีกคือความไม่พอใจกับมาตรการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอในการปกป้องประชาชนจากโควิด

ปรากฏการณ์นี้มีการตั้งชื่อว่าเป็น “การล่มสลายของการเมืองเสรีนิยมที่มีจุดยืนกลางๆ ระหว่างซ้ายกับขวา” เราต้องเน้นว่าแนว “เสรีนิยมกลางๆ” ดังกล่าว ที่ล่มสลายไป ไม่ใช่อะไรที่ก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นแนวที่ถือผลประโยชน์กลุ่มทุนเป็นหลัก มีการใช้เงินรัฐอุ้มกลุ่มทุน แต่ตัดสวัสดิการและระดับค่าจ้าง เพื่อจ่ายหนี้รัฐ และมีการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ซึ่งช่วยทำลายรัฐสวัสดิการ และเราต้องเน้นว่านโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยพรรคนายทุน และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ในทุกประเทศ เวลาเราพูดถึง “ฝ่ายซ้าย” เราไม่สามารถรวมพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูปในนั้น

แม้แต่ในประเทศที่พรรคกระแสหลักยังเป็นรัฐบาลอยู่ เช่นในเยอรมันกับอังกฤษ จะเห็นว่าคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคนายทุนบวกกับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยปฏิรูป ซึ่งเคยสูงถึง 80% กลับลดลงอย่างน่าใจหาย

มันมีสองกระแสใหม่ทางการเมืองที่เกิดขึ้นคือ กระแสฝ่ายซ้าย และกระแสฝ่ายขวาเหยียดเชื้อชาติ ทั้งสองกระแสนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2008  ซึ่งทำให้คนจำนวนมากจนลงและตกงาน มันนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เพราะประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าไม่สนใจที่จะเป็นตัวแทนของเขา ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน และแถมซ้ำเติมด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้ทั่วยุโรปจึงมีวิกฤตทางการเมืองที่ปะทะกับความชอบธรรมเก่าของพรรคกระแสหลัก

นักมาร์คซิสต์ทราบดีว่า เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ที่นำไปสู่ความไม่พอใจในพรรคการเมืองกระแสหลัก ประชาชนจะไปทางขวาสุดขั้วก็ได้ หรือจะไปทางซ้ายแบบสังคมนิยมก้าวหน้าก็ได้ และมันไม่มีอะไรอัตโนมัติ ถ้าฝ่ายซ้ายไม่เคลื่อนไหวและปลุกระดม คนจำนวนมากจะไปฟังนักการเมืองขวาสุดขั้วแทน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ในหลายประเทศ ในกรีซและสเปน มีการขยายคะแนนนิยมของฝ่ายซ้ายสังคมนิยม ในฝรั่งเศส ออสเตรีย และฮังการี่ มีการขยายตัวของฝ่ายขวาฟาสซิสต์ และทั่วยุโรปทัศนะเหยียดคนต่างชาติกำลังปะทะกับทัศนะฝ่ายซ้ายที่พยายามสมานฉันท์กับคนทุกเชื้อชาติ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3x298t6 ]

วิกฤตในประเทศกรีซ นำไปสู่การเลือกพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ซึ่งสัญญาว่าจะต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของประชาชน นโยบายนี้สั่งลงมาจากกลุ่มอำนาจในอียู คือธนาคารกลาง กรรมการบริหารอียู และไอเอ็มเอฟ เมื่อรัฐบาลไซรีซาจัดประชามติว่าจะรับหรือไม่รับนโยบายดังกล่าวของอียู ประชาชนจำนวนมากลงคะแนนเสียงไม่รับ แต่รัฐบาลกลับหักหลังประชาชน แล้วไปเจรจารับนโยบายรัดเข็มขัดแทน โดยใช้ข้ออ้างว่าโดนกดดันอย่างหนักจากกลุ่มทุนใหญ่ในอียูและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามพรรคไซรีซาไม่กล้าพากรีซออกจากสกุลเงินยูโรเพื่อลดอิทธิพลของอียู และไม่กล้าใช้พลังมวลชนเพื่อเปลี่ยนระบบ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3ntNBq8%5D

กรีซ

ความไม่พอใจต่อวิกฤตเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดในสเปน นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของเยาวชนกลางเมือง เพราะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงมาก ในการเลือกตั้งต่อจากนั้นพรรคกระแสหลักเสียคะแนนเสียงมากจนไม่มีพรรคไหนสามารถตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายซ้ายโพดามอส ที่เพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก กลับเสียคะแนนเล็กน้อย สาเหตุสำคัญคือการที่แกนนำพรรคมีพฤติกรรมสองจิตสองใจตลอดเวลาว่าจะผลักดันนโยบายก้าวหน้าหรือไม่ เช่นเรื่องการคัดค้านการรัดเข็มขัด หรือการรณรงค์ให้รัฐต่างๆ ในสเปนมีความอิสระมากขึ้น พรรคนี้เติบโตมาเพราะสะท้อนกระแสต้านนโยบายเสรีนิยม และสะท้อนความไม่พอใจของคนหนุ่มสาว

ในสถานการณ์วิกฤตหนัก ฝ่ายซ้ายในกรีซและสเปนถูกทดสอบอย่างหนัก และผลคือสอบตก เพราะในสเปนพรรคโพเดมอสในที่สุดไปเข้ารัฐบาลกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูปและผลักดันแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และในกรีซพรรคไซรีซาก็หักหลังประชาชนจนในที่สุดแพ้การเลือกตั้ง

ในกรณีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้นำฝ่ายขวากระแสหลักที่สร้างพรรค “ใหม่”หลังจากการล่มสลายของพรรคนายทุนกับพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มาครงมุ่งหน้าพยายามทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนผู้ทำงาน และทำลายสิทธิของสหภาพแรงงานจนเกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศกับการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง รัฐบาลของเขาใช้นโยบายรัดเข็มขัดกับประชาชนธรรมดา แต่ตัว มาครง เองก็ใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อซื้อชุดกินข้าวหรูราคาเป็นแสน และสั่งสร้างสระว่ายน้ำในทำเนียบฤดูร้อน นอกจากนี้เขาพร้อมจะคบจับมือกับทรราชรอบโลก และใช้นโยบายเหยียดสีผิวเชื้อชาติ ซึ่งไปให้กำลังใจกับพรรคฟาสซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

Le Pen ในฝรั่งเศส

ในอิตาลี่วิกฤตทางการเมืองไม่ต่างจากที่อื่น เพียงแต่มีเรื่องการโกงกินคอร์รับชั่นเข้ามาเป็นปัจจัยเสริม ท่ามกลางการล่มสลายของพรรคกระแสหลัก ซึ่งเราต้องรวมพรรคคอมมิวนิสต์ในนั้นเพราะแปรไปเป็นพรรคเสรีนิยม พรรคใหม่ๆ เช่นพรรคห้าดาว และพรรคฟาสซิสต์ก็เพิ่มคะแนนเสียง

ในเยอรมัน รัฐบาลผสมระหว่างพรรคนายทุน CDU และพรรคสังคมประชาธิปไตย SPD เสียคะแนนเสียงอย่างต่อเนื่องจนแนวร่วมระหว่างสองพรรคนี้พัง ขณะนี้พรรค SPD สร้างแนวร่วมกับพรรคกรีนเพื่อตั้งรัฐบาล แต่พรรคฟาสซิสต์ก็ขยายฐานเสียง ส่วนพรรคฝ่ายซ้าย Die Linke ที่เคยเพิ่มคะแนนหลังวิกฤตปี2008 มีปัญหาเพราะคะแนนเสียงลดลงอันเนื่องมาจากการทำแนวร่วมกับพรรคกระแสหลักในรัฐต่างๆ และสนับสนุนนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด

ในอังกฤษกระแสที่เห็นชัดคือการขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงานของคอร์บิน ซึ่งในตอนแรกประชาชนจำนวนมากตื่นเต้นกับนโยบายซ้ายๆ ของเขาจนเกือบชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นพวก สส.ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานกดดันให้เขาเปลี่ยนจุดยืนและเอียงไปทางขวา ซึ่งทำให้แพ้การเลือกตั้งในที่สุด [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3kQAZrq ]

ปรากฏการณ์ความรู้สึกแปลกแยกและห่างเหินจากการเมืองกระแสหลัก เห็นได้ชัดจากผลประชามติอังกฤษด้วย เพราะคนที่ลงคะแนนให้อังกฤษ “ออก” มีแนวโน้มจะยากจนและอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่อุตสาหกรรมเก่าถูกทำลาย มันมีกระแสเหยียดเชื้อชาติที่ถูกปลุกระดมโดยนักการเมืองฝ่ายขวาทั้งสองฝ่าย คือพวกที่สนับสนุนอียูและพวกที่อยากออก แต่สาเหตุหลักที่คนจำนวนมากโหวดออกก็เพราะทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อไปแบบเดิม

ข้อสรุปสำคัญสำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ จากวิกฤตการเมืองในยุโรปคือ ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายไปประนีประนอมกับนโยบายทุนนิยมกลไกตลาดเสรี อย่างเช่นในกรีซ สเปน เยอรมัน หรืออังกฤษ มันจะนำไปสู่ความหายนะ และถ้าไม่มีการสร้างขบวนการต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว พวกฟาสซิสต์มีโอกาสโตได้ ตัวอย่างที่แย่ที่สุดคือกรณีฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มีขบวนการดังกล่าว

การสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแนวมาร์คซิสต์ เป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกประเทศและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้เราเผชิญหน้ากับสามวิกฤตที่มาจากลักษณะของระบบทุนนิยม คือวิกฤตโลกร้อน วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด ซึ่งนักการเมืองกระแสสหลักไม่มีวันแก้ปัญหาที่เกิดจากสามวิกฤตนี้ได้ เพราะยึดติดกับกรอบของระบบทุนนิยม [อ่านเพิ่ม สามวิกฤตของทุนนิยม https://bit.ly/2XKQ69L ]

ทุกวันนี้กระแสการต่อสู้และความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นในทุกที่ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/30EsGaG  ] และนี่คือสิ่งที่สร้างความหวังให้กับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ โดยเฉพาะในเครือข่าย IST (International Socialist Tendency) เราไม่หดหู่เหมือนพวกที่หลงใหลในระบบการเลือกตั้ง หรือแนวเสรีนิยม เราเป็นนักปฏิวัติที่สู้เพื่อการปฏิรูปอย่างถึงที่สุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประชุม COP 26 ล้มเหลวในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ชื่อของการประชุมสหประชาชาติ COP26 บ่งบอกถึงความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของการประชุมดังกล่าว เพราะประชุมกันมา 26 ครั้งแต่ไม่แก้ปัญหาโลกร้อนเลย ซึ่งเราเห็นชัดในรูปแบบไฟไหม้ป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุร้ายแรง และวิกฤตอากาศเสียจากฝุ่นละออง ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีสองปีที่ผ่านมา

องค์กร IPCC ซึ่งเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศระดับโลก ได้ประกาศว่าปีนี้วิกฤตโลกร้อนถึงขั้นสูงสุด “ไฟแดง” เพราะในปี 2020 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2)ในบรรยากาศโลกสูงถึง 417 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกครั้งสุดท้ายที่สูงถึงขนาดนี้คือก็เมื่อ 3 ล้านปีมาก่อน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ (ก๊าซเรือนกระจก) ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วยที่สร้างปัญหาเช่นมีเทน ก๊าซ CO2 มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm

การที่โลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนท่วมเกาะและพื้นที่ที่อยู่ต่ำ ทำให้ระบบภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย ซึ่งจะมีผลกระทบกับระบบเกษตรและวิถีชีวิตของคนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย คาดว่าถ้าไม่มีการแก้ปัญหาจะมีผู้ลี้ภัยภูมิอากาศหลายล้านคน

ปัญหาโลกร้อนเชื่อมโยงกับปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองในเมืองใหญ่ๆ เพราะมาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบขนส่ง และไฟไหม้ป่าที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย

ทั้งๆ ที่มีการประชุม COP มาเรื่อยๆ และทั้งๆ ที่รัฐบาลต่างๆ สัญญาแบบลมๆ แล้งๆ ว่าจะลดการผลิตก๊าซ CO2 ทุกปี แต่ทุกปีการผลิตก๊าซนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกพวกรัฐบาลและกลุ่มทุนพยายามปฏิเสธปัญหาโลกร้อนทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าเป็นความจริง ต่อมาก็มีการแย่งกันโทษประเทศอื่นๆ เพื่อปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของตน และล่าสุดก็มีการโกหกกันว่าจะใช้กลไกตลาดเสรีกับเทคโนโลจีใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งทำไม่ได้

พวกกลุ่มทุนและรัฐบาลในโลกทุนนิยมโกหกว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อขาย “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2 หรือ “แลก” การปลูกต้นไม้กับ “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2  บางกลุ่มก็โกหกว่าจะใช้เทคโนโลจีเพื่อดูด CO2  ออกจากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลจีแบบนั้นที่จะมีผลจริงในระดับโลกยังไม่มี นอกจากนี้มีการพูดว่าจะประกาศเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือเป้าหมาย “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อให้สามารถผลิต CO2 ต่อไป โดยอ้างว่าไปคานกับมาตรการอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง การโกหกทุกคำ พูดไปเพื่อชะลอการลดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนอันเป็นที่มาของกำไรมหาศาลของกลุ่มทุน

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันนานแล้วว่าถ้าเราจะหลีกเลี่ยงวิกฤตภูมิอากาศร้ายแรง เราจะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 OC แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.1 OC และถ้าเราคำนวณผลของคำมั่นสัญญาของผู้นำโลกเรื่องเป้าหมายในการผลิตก๊าซเรือนกระจกในอนาคต อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.4 OC

ในเรื่องการเผาถ่านหิน การประชุมCOPแค่สรุปว่าจะลดการใช้ในอนาคต ไม่ใช่ว่าจะเลิกเผาถ่านหินแต่อย่างใด มีแค่สิบประเทศเท่านั้นที่จะเลิกเผาถ่านหิน และหลายประเทศกำลังขยายเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มการใช้ถ่านหินจากปีที่แล้วถึง 22% ประเทศจีนก็จะเพิ่มการใช้ถ่านหินเช่นกัน นอกจากนี้การประชุมCOPไม่เอ่ยถึงปัญหาการใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเลย

ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ผู้นำต่างๆ สัญญา ไม่เคยแปรไปเป็นความจริงในรูปธรรมเลย และทุกวันนี้ทั่วโลก บริษัทเชื้อเพลิงคาร์บอนได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต่างๆ ถึง $11ล้านต่อนาที

ผลของการประชุม COP ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะคณะตัวแทนที่ใหญ่ที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือคณะของตัวแทนบริษัทน้ำมัน ก๊าซ กับถ่านหิน ซึ่งมีผู้แทนทั้งหมด 500 คน ในขณะที่ตัวแทนของคนจนในโลกที่สาม หรือตัวแทนของประชาชนที่จะเดือดร้อนที่สุด ไม่สามารถเข้าประชุมได้ สรุปแล้วมันเป็นการประชุมของนายทุนและรัฐบาลพรรคนายทุนเท่านั้น

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น แต่ในไทยกระแสต้านโลกร้อนยังไม่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวที่ประท้วงเผด็จการ หรือในขบวนการสหภาพแรงงาน

เราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ เป็นชนชั้นเดียวที่มีพลังทางเศรษฐกิจพอที่จะสามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านการนัดหยุดงานและยึดสถานที่ทำงาน แต่แค่การกดดันให้แก้ปัญหาภายในโครงสร้างทุนนิยมมันจะไม่พอ ต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มทุนนิยมและเปลี่ยนระบบ

แต่ท่ามกลางความล้มเหลวของการประชุมCOP พวกนักการเมืองกระแสหลักอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดีโอบามา หรือพวกเอ็นจีโอ มักจะเสนอว่าเราต้องรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนภายในระบบทุนนิยมปัจจุบัน

เราไม่สามารถเชื่อมันได้ว่าระบบทุนนิยมปัจจุบัน จะหาทางออกแท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตร้ายแรงที่เผชิญหน้าเราทุกคนในโลก เรานิ่งนอนใจไม่ได้ แค่ดูวิกฤตโควิดที่นำไปสู่การล้มตายของประชาชนโลกประมาณ 5-15 ล้านคน หรือดูสงครามร้ายแรงที่เกิดจากระบบทุนนิยมซ้ำแล้วซ้ำอีกในร้อยปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นภาพ พวกนายทุนและนักการเมืองนายทุนไม่สนใจที่จะปกป้องอะไรนอกจากกำไรและผลประโยชน์ของตน ไม่ว่าพลเมืองโลกเป็นล้านๆ จะล้มตายหรือเดือดร้อนแค่ไหน

ในไทยการที่ทหารครองอำนาจรัฐ และคุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีทางเสนอนโยบายก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็เพิ่งอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 2 แห่งที่แม่เมาะ

สำนักข่าวBloombergรายงานว่ารัฐบาลไทยสัญญาว่าจะนำประเทศสู่การ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ภายในปี 2050 หรือ 2065 แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงานสูงถึง 67% และเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนเพื่อผลิตพลังงานอีก23% ในขณะที่แสงแดด ลม และพลังน้ำผลิตแค่ 10% ของพลังงานทั้งหมด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำอันใหม่ที่เขื่อนสิรินธรที่พึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้า และอีก 16 โครงการคล้ายๆ กัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าแค่ 2.7 gigawatts ดังนั้นต้องมีการขยายโครงการแบบนี้ทั่วประเทศในขณะที่เลิกเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนและปิดโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้ก๊าซ ถ่านหิน หรือฟืน Biomass

เราสามารถลดการผลิต CO2 และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง ด้วยมาตรการรูปธรรม คือ

  1. หยุดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน คือ ก๊าซ ฟืน กับ ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าและหันมาใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กับลมแทน และเลิกใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนในครัวเรือน
  2. พัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟกับรถเมล์ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดกับลม ยกเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัว และลดการใช้เครื่องบิน
  3. ยกเลิกระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก
  4. สร้างงานจำนวนมากมาทดแทนงานเก่าในโรงงานไฟฟ้าและโรงงานประกอบรถยนต์ งานใหม่นี้ต้องช่วยลดการผลิตก๊าซเรือนกระจก เช่นการสร้างและคุมโรงไฟฟ้าแบบใหม่ การลดความร้อนของตึกต่างๆ และการสร้างรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงกับรถเมล์ไฟฟ้า แต่เราไว้ใจบริษัทเอกชนไม่ได้ ต้องเป็นกิจกรรมของภาครัฐภายใต้การควบคุมของประชาชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

leftwing