Tag Archives: กฏหมายหมิ่นศาล

ในไทย ศาลกับความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลในไทยเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการมานาน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความยุติธรรม” และเนื่องจากศาลไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ชนชั้นปกครองไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างกลไกเพื่อปกป้องศาลจากการถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามแนวประชาธิปไตย

กฏหมายหมิ่นศาลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการตรวจสอบศาล และเป็นเครื่องมือในการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเผด็จการของรัฐไทยในยุคนี้ต้องการที่จะทำให้ศาลมีสถานภาพเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้” ไม่ต่างเลยจากการใช้กฏหมาย 112 เพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบประมุขและตรวจสอบการใช้ประมุขโดยทหารและชนชั้นปกครองไทยส่วนอื่น

ศาลเตี้ย

ตัวอย่างของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย ที่ถูกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นเรื่องคดีเลือกตั้งและการถือหุ้นสื่อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ศาลพยายามปิดปากไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะสร้างความยุติธรรมในสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย “การหมิ่นศาล” ไม่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศาล แต่เกี่ยวกับการไม่ทำตามคำตัดสินของศาลหรือการสร้างเหตุวุ่นวายภายในศาลในขณะที่กำลังพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยหรือความยุติธรรม เราไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ศาลเลย

อีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลกับความยุติธรรมไม่เกี่ยวข้องกันคือคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต ซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่า ซึ่งเป็นแพะรับบาปแทนพวกมาเฟียบนเกาะที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ร้ายที่แท้จริง นอกจากนี้มีการวิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยภายใต้แรงกดดันให้หาคนร้ายโดยเร็วจากรัฐบาล โดยที่ตำรวจไม่ปกป้องสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาหลักฐานตามวิธีการวิทยาศาสตร์

ใครๆ ก็ทราบดีว่าในสังคมไทย ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับนักประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาการอุ้มฆ่า และมักจะอยู่ภายใต้อำนาจ “ผู้มีอิทธิพล” ดังนั้นการหาแพะรับบาป โดยเฉพาะในหมู่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นวิธีการปกติของตำรวจไทย

ในบริบทนี้ การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย

ในสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมทั่วโลก ศาลเป็นเครื่องมือร่วมกับทหารและตำรวจในการบังคับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและปกป้องรัฐ แต่ในสังคมที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ศาลถูกแรงจากสังคมบังคับให้ต้องมีความโปร่งใสและต้องพิสูจน์ต่อสังคมว่าสร้างความยุติธรรม ระบบลูกขุนที่ประกอบไปด้วยประชาชนธรรมดา ก็เกิดจากแรงกดดันอันนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางกรณีที่ศาลตัดสินคดีผิดและหันหลังให้กับความยุติธรรม แต่กรณีแบบนี้น้อยกว่าในไทยมาก

ในสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในค่ายทหารเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด และการฟอกความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นผ่านสื่อ ผ่านทหารในรัฐสภา และผ่านการใช้ “ภาคประชาชน” จอมปลอม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาพูดว่าทหารไม่ได้ทำร้าย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่อิสระจากอำนาจรัฐและทหารแต่อย่างใด มันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยทหารที่กดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี

การสร้างความยุติธรรม แยกออกไม่ได้จากการสร้างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย แยกออกไม่ได้จากการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทหาร และแยกออกไม่ได้จากความจำเป็นที่จะรื้อถอนศาล ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ และรื้อถอนอำนาจทหาร แต่สิ่งเหล่านี้อาศัยแค่รัฐสภาหรือกลุ่มนักวิชาการไม่ได้ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา