Tag Archives: กฏหมาย 112

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

ปฏิรูปกษัตริย์ไม่ได้เพราะมันจะล้มล้างระบบเผด็จการทหารที่ใช้กษัตริย์

คำตัดสินของศาลว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์เป็นการ “ล้มล้างระบบการปกครอง” พิสูจน์ 3 อย่างว่า

สิ่งศักดิ์สิทธิ์??????
  1. สถาบันกษัตริย์ปฏิรูปไม่ได้ ต้องยกเลิกอย่างเดียว 112ก็ต้องยกเลิกเช่นกันเพราะแก้ไม่ได้
  2. ระบบการปกครองไทยในปัจจุบันเป็นระบบเผด็จการทหาร/นายทุน ที่ใช้กษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรม ชนชั้นปกครองจึงสร้างภาพเท็จว่ากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปฏิรูปไม่ได้ แต่มันไม่ได้พิสูจน์ว่าไทยปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อค้ำจุนเผด็จการทหารที่มาจากรัฐประหาร หรือเผด็จการนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยทุนนิยม กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่แช่แข็งความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม
  3. ศาล ตำรวจ คุก เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้เผด็จการ มันไม่เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรมหรือความสงบสุขของพลเมืองแต่อย่างใด

นักเคลื่อนไหวหลายคนเสนอว่า “เราไปไกลเกินไปที่จะย้อนกลับไปเป็นสูญ” ถ้าเราจะทำให้เป็นจริง และเราควรทำให้เป็นจริง เราต้องมุ่งหน้าสู้กับเผด็จการทหาร และมุ่งหน้ายกเลิกสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเราทำได้ถ้าเราพร้อมจะจัดตั้งการเคลื่อนไหวให้เข้มแข็ง

เราต้องสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยมวลชนจำนวนมากและมีความสามัคคีระหว่างกลุ่มต่างๆ และเราต้องมีองค์กรทางการเมือง -พรรค- ที่พร้อมจะปลุกระดมพลเมือง โดยเฉพาะกรรมาชีพคนทำงานที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ

การสร้างขบวนการดังกล่าวควรเริ่มด้วยการจัดสมัชชาใหญ่เพื่อถกแนวทางและเป้าหมายในหมู่คนจำนวนมาก และคนที่มีอายุมากกว่าคนหนุ่มสาวที่นำการต่อสู้ ต้องลงมาสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ไม่ใช่นั่งเอ็นดูเยาวชนแต่ไม่ทำอะไร

อ่านเพิ่ม

อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj

เลนินกับเรื่องอำนาจ https://bit.ly/3h2DROi

ความเลวของวชิราลงกรณ์ https://bit.ly/2Lptg4d

ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ https://bit.ly/30Ma32f   และ  https://bit.ly/2Lk2WJ9

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?http://bit.ly/365296t

ข้อเสนอสำหรับการเดินหน้าในการต่อสู้

ทุกวันนี้ขบวนการปลดแอกที่นำโดยคนหนุ่มสาวถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ คงจะมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันถึงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเป็นธรรมดา ซึ่งแน่นอนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ผมจึงมีข้อเสนอบางประการในฐานะนักเคลื่อนไหวสังคมนิยม

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดี 112 เพราะถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

โครงสร้างของขบวนการและการนำ

ผู้เขียนเข้าใจว่าแกนนำขบวนการของคนหนุ่มสาวต้องการหลีกเลี่ยงการนำแบบเผด็จการของ “ผู้ใหญ่” ที่สั่งจากเบื้องบนลงมา ในอดีตขบวนการเสื้อแดงมีลักษณะบางอย่างแบบนี้ ดังนั้นการเน้นการนำแบบรากหญ้าเป็นเรื่องดี

ในขณะเดียวกันการปฏิเสธ “การนำ” และโครงสร้างของขบวนการก็มีปัญหา

ในกรณีฮ่องกง ปี 2019 ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำ ตรวจสอบแกนนำ หรือเลือกแนวทางด้วยกระบวนการประชาธิปไตย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป

ประชาธิปไตยผ่านการจัด “สภาปลดแอก” เพื่อการแลกเปลี่ยน

การจัด “สภาปลดแอก” เป็นประจำ เพื่อให้นักเคลื่อนไหวมาพบกันและถกเถียงเรื่องแนวทางหรือเลือกแกนนำ เป็นวิธีที่จะนำกระบวนการประชาธิปไตยเข้ามาในขณะที่รักษาการนำแบบรากหญ้า

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้นแนว “ทุกคนเป็นแกนนำ” ในที่สุดมีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถดึงผู้แทนจากสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมได้อีกด้วย

หันหน้าสู่กรรมาชีพคนทำงาน

การนัดหยุดงานของประชาชนผู้ทำงานหรือกรรมาชีพ เป็นการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ และพลังนี้สามารถล้มเผด็จการทหารได้

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

เวลาเราพูดถึงประชาชนผู้ทำงานหรือกรรมาชีพ เราไม่ได้หมายถึงแค่คนทำงานในโรงงานเท่านั้น เพราะกรรมาชีพสมัยใหม่จะรวมถึงทุกคนที่เป็นลูกจ้าง เช่นในธนาคาร โรงพยาบาล ห้างร้าน ระบบคมนาคม และในรัฐวิสาหกิจ

[อ่านเพิ่ม – ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU ]

เตรียมพรรค

นักเคลื่อนไหวไทยที่เห็นด้วยกับแนวสังคมนิยมควรจะให้ความสำคัญกับการสร้าง “เตรียมพรรค” โดยมีเป้าหมายในการสร้างพรรคสังคมนิยมในอนาคต

ความสำคัญของการมีพรรคคือจะเป็นจุดรวมของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ที่จะสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องการวิเคราะห์สังคม และการกำหนดแนวทางต่อสู้เพื่อสังคมนิยม

นอกจากนี้พรรคมีความสำคัญในการเชื่อมโยงประเด็นปากท้องหลายๆ ประเด็น ให้เข้ากับความเข้าใจทางการเมืองในภาพกว้าง

พรรคที่มีสมาชิกหลายคนที่เข้าใจตรงกันและเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน จะมีพลังมากกว่าปัจเจกมหาศาล

คนที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

อ่านเพิ่ม:

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

สังคมนิยมคือเสรีภาพที่แท้จริง https://bit.ly/3pSFUZ4

รัฐกับการปฏิวัติ https://bit.ly/3rM2pjN

ใจ อึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประชาธิปไตยศักดิ์สิทธิ์กว่ากษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

พวกไดโนเสาร์ที่เอะอะโวยวายจะใช้กฏหมายเถื่อน 112 กับพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยตลอดเวลา ชอบอ้างว่ากษัตริย์เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่มันเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ การกล่าวหาผู้เผยแพร่รูปถ่าย “แฟลชม็อบ” #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ก โดยพวกคลั่งเจ้า เป็นเพียงข้ออ้างในการคัดค้านการต้านเผด็จการของมวลชน

FUD

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับสังคม แต่ทหาร ชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษ์นิยม มักจะทำลายประชาธิปไตยของเราในนามของกษัตริย์

แต่ไหนแต่ไร กษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับคนธรรมดาในสังคม ในยุคอดีต การที่กษัตริย์นำการต่อสู้ และรบในสงคราม ไม่ใช่เพื่อรักษาเสรีภาพของคนส่วนใหญ่แม้แต่นิดเดียว ในยุคศักดินากษัตริย์มันทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรสำคัญกับกษัตริย์ในเมืองอื่นๆ ทรัพยากรนี้คือมนุษย์ มีการกวาดต้อนคนเข้ามาเพื่อเป็นทาสเป็นไพร่ให้กับตนเองและพรรคพวก สรุปแล้วคนอย่างพระนเรศวร หรือกษัตริย์อื่นในยุคศักดินา ทำสงครามเพื่อแย่งคนมาขูดรีดบังคับให้ทำงานสร้างมูลค่าให้พวกมันเอง แต่พวกที่หลงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครองจะมองว่าพวกที่กวาดต้อนคนมาขูดรีดได้มากที่สุดคือ “มหาราช”

สำหรับประชาชนธรรมดาในยุคนั้น เวลาพวกเจ้ายกทัพมาใกล้หมู่บ้านตนเอง มันเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะจะแย่งคนไปเป็นเมียน้อยหรือทาส และทำลายสภาพชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านจะมักจะหนีเข้าป่า

พอเข้าสู่ยุคทุนนิยมในสมัยรัตนโกสินทน์ การขูดรีดประชาชนเริ่มเปลี่ยนไปจากการบังคับแรงงานไปเป็นการขูดรีดทางการเงิน กษัตริย์ตั้งตัวเป็นนายทุนใหญ่และขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน โดยจ่ายค่าจ้างน้อยกว่ามูลค่าที่คนงานผลิต นอกจากนี้มีการรีดไถเกษตรกรผ่านการเก็บค่าเช่าที่ดินที่กษัตริย์ประกาศว่า “เป็นของตนเอง” และมีการรีดไถพ่อค้าแม่ค้าและคนอื่นด้วยการเก็บภาษี

มูลค่าที่กษัตริย์สะสมมา ไม่ได้นำไปพัฒนาสังคมแต่อย่างใด แต่ใช้ในการสร้างความสุขให้กษัตริย์และพรรคพวก นี่คือสาเหตุที่คณะราษฎร์ต้องเร่งสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นโรงเรียน และเร่งพัฒนาสังคม หลังการปฏิวัติ๒๔๗๕

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่กษัตริย์หมดอำนาจทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเผด็จการทหารและนายทุน การสร้างกษัตริย์ให้เป็น “กาฝากในคราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์”สำหรับชนชั้นปกครองในยุคภูมิพล กระทำไปเพื่อให้พลเมืองธรรมดาหลงคิดว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่บางคนเกิดสูงบางคนเกิดต่ำ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแค่ “ธรรมชาติของโจร” เท่านั้น

บทบาทกษัตริย์ในยุคภูมิพลกลายเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะภูมิพลไม่เคยกล้าทำอะไรเพื่อปกป้องประชาธิปไตยหรือพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนเลย ภูมิพลไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำ เขาเป็นคนอ่อนแอที่กลายเป็นเครื่องมือเบ็ดเสร็จของเผด็จการ และยังหน้าด้านสอนให้พลเมือง “รู้จักพอเพียง” ในขณะที่ตนเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศ และความร่ำรวยดังกล่าวมาจากการขูดรีดประชาชนไทยและการฉวยโอกาสได้ประโยชน์จากยุคเผด็จการด้วย แต่ทหารเผด็จการและนายทุนเชิดชูให้กาฝากภูมิพลเป็น “คนดี” และเป็น “มหาราช”

เราทราบดีว่าภูมิพลไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างจริงจังกับประชาชน เพราะแค่มาตรการในห้าปีแรกของรัฐบาลทักษิณก็ทำให้ประชาชนชื่นชม และฝ่ายรักเจ้าเริ่มไม่พอใจ อิจฉาริษยาทักษิณ แต่ทักษิณไม่ใช่เทวดา เขาเป็นนักการเมืองนายทุน และต้องการใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ตนเองด้วย

thaiking-728x486ก
วชิราลงกรณ์ทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทย

พอถึงยุค วชิราลงกรณ์ สถานภาพของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำที่สุดอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่อสตรี หรือการกอบโกยทรัพย์สินเพิ่มเติมโดยไม่รู้จักพอ วชิราลงกรณ์ กลายเป็นตัวตลกในสื่อทั่วโลก และเป็นที่เกลียดชังในหมู่คนไทยที่กล้าคิดเองจำนวนมาก

การใช้กฏหมาย 112 ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่การใช้ 112 กับอดีตกษัตริย์ที่ตายไปแล้วยิ่งกลายเป็นเรื่องเหลวไหล อีกหน่อยการวิจารณ์พระเจ้าเหาคงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย!!

Republic

เราไม่ควรยอมให้เผด็จการรัฐสภายุบพรรคอนาคตใหม่ และในขณะเดียวกันเราไม่ควรยอมให้ใครโดนกฏหมาย 112 อีกต่อไป กฏหมายนี้ต้องถูกยกเลิกเพื่อสร้างประชาธิปไตย

ในไทย ศาลกับความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลในไทยเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการมานาน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความยุติธรรม” และเนื่องจากศาลไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ชนชั้นปกครองไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างกลไกเพื่อปกป้องศาลจากการถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามแนวประชาธิปไตย

กฏหมายหมิ่นศาลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการตรวจสอบศาล และเป็นเครื่องมือในการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเผด็จการของรัฐไทยในยุคนี้ต้องการที่จะทำให้ศาลมีสถานภาพเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้” ไม่ต่างเลยจากการใช้กฏหมาย 112 เพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบประมุขและตรวจสอบการใช้ประมุขโดยทหารและชนชั้นปกครองไทยส่วนอื่น

ศาลเตี้ย

ตัวอย่างของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย ที่ถูกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นเรื่องคดีเลือกตั้งและการถือหุ้นสื่อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ศาลพยายามปิดปากไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะสร้างความยุติธรรมในสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย “การหมิ่นศาล” ไม่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศาล แต่เกี่ยวกับการไม่ทำตามคำตัดสินของศาลหรือการสร้างเหตุวุ่นวายภายในศาลในขณะที่กำลังพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยหรือความยุติธรรม เราไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ศาลเลย

อีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลกับความยุติธรรมไม่เกี่ยวข้องกันคือคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต ซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่า ซึ่งเป็นแพะรับบาปแทนพวกมาเฟียบนเกาะที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ร้ายที่แท้จริง นอกจากนี้มีการวิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยภายใต้แรงกดดันให้หาคนร้ายโดยเร็วจากรัฐบาล โดยที่ตำรวจไม่ปกป้องสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาหลักฐานตามวิธีการวิทยาศาสตร์

ใครๆ ก็ทราบดีว่าในสังคมไทย ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับนักประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาการอุ้มฆ่า และมักจะอยู่ภายใต้อำนาจ “ผู้มีอิทธิพล” ดังนั้นการหาแพะรับบาป โดยเฉพาะในหมู่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นวิธีการปกติของตำรวจไทย

ในบริบทนี้ การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย

ในสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมทั่วโลก ศาลเป็นเครื่องมือร่วมกับทหารและตำรวจในการบังคับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและปกป้องรัฐ แต่ในสังคมที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ศาลถูกแรงจากสังคมบังคับให้ต้องมีความโปร่งใสและต้องพิสูจน์ต่อสังคมว่าสร้างความยุติธรรม ระบบลูกขุนที่ประกอบไปด้วยประชาชนธรรมดา ก็เกิดจากแรงกดดันอันนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางกรณีที่ศาลตัดสินคดีผิดและหันหลังให้กับความยุติธรรม แต่กรณีแบบนี้น้อยกว่าในไทยมาก

ในสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในค่ายทหารเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด และการฟอกความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นผ่านสื่อ ผ่านทหารในรัฐสภา และผ่านการใช้ “ภาคประชาชน” จอมปลอม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาพูดว่าทหารไม่ได้ทำร้าย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่อิสระจากอำนาจรัฐและทหารแต่อย่างใด มันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยทหารที่กดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี

การสร้างความยุติธรรม แยกออกไม่ได้จากการสร้างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย แยกออกไม่ได้จากการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทหาร และแยกออกไม่ได้จากความจำเป็นที่จะรื้อถอนศาล ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ และรื้อถอนอำนาจทหาร แต่สิ่งเหล่านี้อาศัยแค่รัฐสภาหรือกลุ่มนักวิชาการไม่ได้ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา

ราชวงศ์ไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรค์ในการปลดแอกสตรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข่าวเรื่องการขู่ใช้ 112 กับคนที่วิจารณ์ชุดผ้าไหมสีฟ้าที่ สิริวัณณวรีนารีรัตน์ ออกแบบให้ โศภิดา ใส่เข้าร่วมงาน Thai Night ที่เกี่ยวข้องกับการประกวดนางงามจักรวาลหรือ “มิสยูนิเวิร์ส” กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วโลก แต่เรื่องการประกวดนางงามจักรวาล มันมีเรื่องแย่ๆ มากกว่านั้น

mARaBFpWW6RFqEqY

นักสิทธิสตรีเข้าใจมาเป็นสิบๆ ปีแล้วว่าการประกวดนางงาม เป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นแค่ “ก้อนเนื้อ” ที่จะมาโชว์กันเพื่อความสุขของชายบางคนที่มีอำนาจ มันเป็นประเพณีน้ำเน่าที่ช่วยผลิตซ้ำความคิดล้าหลังว่าผู้หญิงมีแค่ร่างกายตนเองที่จะใช้ในสังคม ไม่มีสติปัญญาและความสามารถเท่าผู้ชาย มันย้ำแนวคิดว่าผู้หญิงควรเป็นเท้าหลังตลอดกาล

ในยุคปัจจุบันขบวนการประท้วง #MeToo มีส่วนในการเปิดโปงการที่ชายผู้มีอำนาจในการให้คุณให้โทษในงานแบบนี้หรือในแวดวงการบันเทิง มักจะใช้อำนาจในการละเมิดผู้หญิงทางเพศอีกด้วย

Sarit Prayut

ในอดีตจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” ผู้เป็นแบบอย่างให้กับประยุทธ์มือเปื้อนเลือดทรราชปัจจุบัน มักจะนำนางงามต่างๆ ของไทยมาเป็นเมียน้อย โดยอาศัยอำนาจปืนและเงินทองของสังคมที่ได้มาผ่านการทำรัฐประหาร

สรุปแล้วการประกวดนางงามหรืองานประกวด “ก้อนเนื้อ” อื่นๆ ควรถูกยกเลิกไปนานแล้ว และเราไม่ควรไปชื่นชมหรือเศร้าใจจากการที่สตรีไทยได้หรือไม่ได้ตำแหน่งจากการประกวดแบบนี้

นอกจากคำถามว่าพวกแฟมินนิสต์ไทยหายไปไหน? จมอยู่ในกะลากับพวกสลิ่มหรือยังไง? เราต้องถามเหล่าพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่อ้างว่าเป็นของคนรุ่นใหม่ ว่าทำไมเงียบเฉยกับงานที่ทำให้สตรีเป็นก้อนเนื้อ? หรือพวกพรรคเหล่านี้ไม่สนใจสิทธิสตรีอย่างแท้จริง?

แน่นอนบางคนคงจะถูกพวกแนวคิด “หลังเฟมินิสต์” หรือ Post-Feminist เป่าหูว่าการประกวดนางงาม หรือการโชว์นมของผู้หญิง เป็นวิธีที่สตรีจะสร้างอำนาจกับตนเอง…. ถุย!!  แนวคิด “หลังเฟมินิสต์” เป็นเพียงข้ออ้างของสตรีชนชั้นกลางที่มีฐานะดีและไม่อยากต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป มันเป็นการยอมจำนนต่อการกดขี่ทางเพศ โดยที่พวกผู้หญิงชนชั้นกลางหลงตัวเองว่าสามารถใช้ทรัพย์สินของตนเองเพื่อซื้อการปลดแอกตัวเองแบบปัจเจก [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2QI9Wl3 ]

ในเรื่องการประกวดนางงามจักรวาล เราต้องวิจารณ์การที่สมาชิกราชวงศ์ไทยมีส่วนในการเชิดชูงาน “ก้อนเนื้อ” นี้ด้วย แล้วยังพยายามหา “ความดีความชอบ” จากการออกแบบชุด ที่ใครๆ คงทำได้แต่ห้ามใครวิจารณ์

แต่ใครที่รู้จักสถาบันกษัตริย์ไทยดี คงทราบว่านายวชิราลงกรณ์ กษัตริย์คนปัจจุบัน ก็เป็นคนที่ละเมิดสิทธิสตรีอย่างเป็นระบบ เราจึงไม่ควรแปลกใจในพฤติกรรมของ สิริวัณณวรีนารีรัตน์

นายวชิราลงกรณ์ไม่ได้ละเมิดสิทธิสตรีเพราะมีแฟนหลายคน แต่เขาละเมิดสิทธิสตรีเพราะตั้งใจให้คนอื่นถ่ายภาพเปลือยของแฟนแล้วไปปล่อยในอินเตอร์เน็ด ยิ่งกว่านั้นวิดีโอ “ริมสระ” แสดงให้เห็นว่านายวชิราลงกรณ์ใช้อำนาจของตนเองเพื่อให้แฟนเปลือยกายแล้วทำท่าเหมือนหมา และที่แย่สุดคือพฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ต่ออดีตแฟนอีกด้วย มันเป็นการใช้อำนาจเพื่อดูถูกสตรี

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าพลเมืองไทยหลายคน โดยเฉพาะสตรีไทย ที่ยืนเคารพหรือกราบไหว้นาย วชิราลงกรณ์ ตั้งใจจะทำตัวเป็นทาสหรือยังไง

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องสรุปว่าระบบกษัตริย์และราชวงศ์ไทยอย่างที่พบอยู่ในปัจจุบัน เป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างความเท่าเทียมของสตรี หรือความเท่าเทียมทางเพศ เราควรยกเลิกการประกวดนางงาม ยกเลิกกฏหมาย 112 และยกเลิกสถาบันกษัตริย์

อ. ปิยบุตร ไม่ต้องขอโทษหรือถอยเรื่อง 112

ใจ อึ๊งภากรณ์

กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง และสังคมใดที่พลเมืองไม่สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เกี่ยวกับการเมือง หรือบุคคลสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้นการที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล มองว่าต้องปฏิรูปกฏหมาย 112 เป็นเรื่องที่ดีและเป็นการพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรจะปกป้องและสนับสนุนเขาในเรื่องนี้

จริงๆ แล้ว ผมมองว่ากฏหมาย 112 มันแก้ไขไม่ได้ มันต้องถูกยกเลิก การแก้กฏหมาย 112 เช่นให้สำนักงานหนึ่งเป็นผู้ฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ควบคู่กับการลดโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาว่า 112 เป็นกฏหมายที่ปิดปากประชาชน และทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดได้ หรือไม่สามารถแก้การที่มีกระบวนการลับในศาล

การยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเปิดโอกาสให้ใครด่าใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอย่างเสรี เพราะมีกฏหมายหมิ่นประมาทธรรมดาที่ปกป้องไม่ให้มีการให้ข้อมูลเท็จอยู่แล้ว ส่วนกฏหมาย112 ไม่ใช่การปกป้องไม่ให้คนกล่าวเท็จ แต่เป็นกฏหมาย “การเมือง” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปิดปากพลเมือง

นอกจากนี้สังคมใดที่ฆาตกรมือเปื้อนเลือดอย่างประยุทธ์ ทำรัฐประหารตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน แล้วลอยนวลเหมือนฆาตกรรัฐของไทยคนอื่นๆ แล้วมาจำคุกคนที่เห็นต่างด้วยกฏหมาย 112 นั้น ต้องถือว่าเป็นสังคมทรามที่ขาดความยุติธรรมพื้นฐาน

พวกที่ปกป้องกฏหมาย 112 เป็นพวกที่ต่อต้านและทำลายประชาธิปไตย

crownandfont

คำถามสำหรับ ๖ ตุลา: ทำไม สมศักดิ์ จรัล และใจ ต้องหลี้ภัยนอกประเทศ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เวลาคนพูดว่า “มันมีอะไรที่พูดไม่ได้เกี่ยวกับ ๖ ตุลา” ผมขอเสนอว่าคำถามที่หลายคนไม่กล้าถามหรือตอบคือ “ทำไม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย และ ใจ อึ๊งภากรณ์ ต้องหลี้ภัยทางการเมืองในยุโรป?” เพราะสามคนนี้เกี่ยวข้องทางตรงและทางอ้อมกับเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้น

เวลามีการจัดงานรำลึก ๖ ตุลา ในปีนี้ ผมคาดว่าอาจไม่มีใครกล้าถามหรือตอบคำถามนี้

ถ้าจะตอบคำถามนี้ และเรียนบทเรียนจาก ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เราต้องมาคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับกษัตริย์ เราต้องคุยกันในเรื่องว่าทำไมทหารและฝ่ายขวาสามารถใช้ข้ออ้างหมิ่นหรือล้มล้างกษัตริย์เพื่อก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเสมอ ทั้งในปี ๒๕๑๙ และในยุคหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เราต้องคุยกันว่าจะยกเลิกกฏหมาย 112 อย่างไร เราต้องคุยกันว่าทำไมเราไม่มีสิทธิ์ถกเถียงทางปัญญาว่าประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ เราต้องคุยกันว่าเราจะกำจัดเผด็จการทหารออกจากระบบการเมืองไทยอย่างถาวรได้อย่างไร

ในเช้าตรู่ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กองกำลังของรัฐไทย ซึ่งนำโดยตำรวจตระเวนชายแดน ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการยิงปืนสกัดรถถังและปืนกลกราดใส่นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมภายในรั้วมหาวิทยาลัย เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐไทย แต่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐไทยก่อกับประชาชน เพื่อปกป้องอภิสิทธ์และอำนาจของชนชั้นปกครอง

เวลาเราพูดถึง ๖ ตุลา เราต้องพูดในภาพกว้าง คือพูดถึงการเข่นฆ่าเสื้อแดงโดยประยุทธ์และพรรคพวก  พูดถึงการเข่นฆ่าชาวปาตานีในยุคทักษิณ พูดถึงนักโทษ112กับนักโทษการเมืองอื่นๆ พูดถึงผู้หลี้ภัยทางการเมืองที่ต้องไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทุกวันนี้ และพูดถึงรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำอีก แน่นอนต้องพูดถึงการกักตัวส่งกลับ โจชัว หว่อง ด้วย ในที่สุดเราอาจจะเข้าใจธาตุแท้ของชนชั้นปกครองไทยได้

ภาพกว้างนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้นมีพฤติกรรมป่าเถื่อน โกงกิน และไม่เคารพประชาชนหรือระบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เขาทนอยู่กับประชาธิปไตยได้บ้างเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้น แต่พอถึงจุดที่มีการท้าทายอภิสิทธิ์ของเขา เขาจะกลับสู่ระบบเผด็จการ

ดังนั้นผมขอตั้งคำถามกับคนที่จะร่วมในงาน ๖ ตุลาปีนี้ว่า “ท่านไปงานนี้เพื่อเป้าหมายอะไร?” แต่อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมปลื้มมากๆ ที่คนรุ่นใหม่ดูเหมือนมีส่วนสำคัญในการจัดงานปีนี้ ดังนั้นกรุณาอย่าพลาดโอกาสที่จะคุยในเรื่องสำคัญๆ อย่างเป็นรูปธรรม อย่าให้ใครพาไปคุยในเชิงปรัชญาลอยๆ หรือในเชิงศิลปินๆ ที่เต็มไปด้วย “น้ำ”

ในความเห็นผมการพูดคุยถึง ๖ ตุลาควรกระทำภายใต้เป้าหมายที่จะเรียนรู้จุดเด่นจุดอ่อนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรทางการเมืองของคนชั้นล่างในยุคต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างขบวนการมวลชนและพรรคการเมืองที่จะล้มชนชั้นปกครองไทยในอนาคต เป้าหมายเพื่อสร้างสังคมใหม่

จริงๆ แล้วมันไม่มี “ปริศนา” ทางการเมืองเกี่ยวกับ ๖ ตุลา เลย เรารู้ว่าใครก่อเหตุ และเรารู้ว่าพวกนี้ หรือลูกหลานทางการเมืองของเขา ยังมีอำนาจอยู่ในสังคมไทย แน่นอนรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สูญหายล้มตายหรือบาดเจ็บยังไม่ครบ เช่นประเด็นเรื่องผู้ที่ถูกแขวนคอเป็นต้น

ในเช้าวันที่ ๖ ตุลา ภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย กองกำลังอันธพาล ที่มีหน้าตาคล้ายๆ พวกเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ และม็อบสุเทพในยุคนี้ ได้ลากนักศึกษาออกมาทุบตี แขวนคอ และเผาทั้งเป็น พวกนี้คือ “ลูกเสื้อชาวบ้าน” “กระทิงแดง” และ “นวพล”  เขาเคลื่อนไหวภายใต้การคลั่ง ลัทธิล้าหลัง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ลูกเสือชาวบ้านมีผ้าพันคอที่ราชวงศ์ประทานให้ และเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยตำรวจตระเวนชายแดน “นวพล” หมายถึงกองกำลังของ “เบอร์๙” และกระทิงแดงเป็นนักศึกษาอาชีวะที่ถูกจัดตั้งโดยทหารและฝ่ายขวา หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ป่าเถื่อนที่สุดนี้ ในวันเดียวกัน เจ้าฟ้าชายซึ่งเป็น “เตรียมกษัตริย์” ในยุคนี้ ได้ออกมาให้กำลังใจกับลูกเสือชาวบ้านที่ลานพระรูปทรงม้า เมื่อไม่นานมานี้ราชินี ยังมองย้อนหลังด้วยความภูมิใจ และหวังว่าลูกเสือชาวบ้านจะถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกเพื่อปกป้องราชวงศ์ เช่นในกรณีปาตานีเป็นต้น

มีคนไม่น้อยในสังคมไทยที่มองว่าการเข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน เป็นผลงานกษัตริย์ภูมิพล การมองแบบนี้เป็นการล้างฟอกความชั่วร้ายของทหารและชนชั้นปกครองไทยโดยทั่วไปออกจากประวัติศาสตร์

จริงอยู่ นายภูมิพลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทย และพร้อมจะปล่อยให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยถูกเข่นฆ่าเหมือนผักเหมือนปลา จริงอยู่เขามีส่วนสำคัญในการร่วมมือกับเผด็จการที่ทำให้สังคมไทยล้าหลังและขาดประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ จริงอยู่เขามีทัศนะทางการเมืองที่ล้าหลังต่อต้านการลดความเหลื่อมล้ำและเขาเกลียดสังคมนิยม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ต่างจากกษัตริย์ทั่วโลก รวมถึงในยุโรปตะวันตกด้วย

เราควรเข้าใจว่านายภูมิพลเป็นคนน่าสมเพช เขาอาสาด้วยความเต็มใจที่จะเป็นเครื่องมือของทหาร เขาพร้อมจะให้ทหารแสวงหาความชอบธรรมในการทำชั่วโดยอ้างชื่อเขา แต่เขาสั่งทหารไม่ได้ เพราะเขาไม่มีอำนาจหรือความกล้าหาญพอที่จะเป็นผู้นำ

เวลาพล.ท.อภิรัชต์  คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ พูดว่า “ขอตั้งปณิธานเทิดทูนสถาบันฯ ด้วยชีวิต” เขากำลังอ้างถึงลัทธิสุดขั้วที่ให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ เขากำลังพูดว่าเขาพร้อมจะใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือของกองทัพต่อไป

คนส่วนใหญ่ในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุค ๖ ตุลา ซึ่งรวมถึงทหาร ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองฝ่ายขวา และนักธุรกิจ เห็นว่า “จำเป็น” ที่จะต้องใช้ความรุนแรงและการปฏิบัตินอกกรอบของระบบประชาธิปไตยในการสกัดกั้นขบวนการ “สังคมนิยม” ดังนั้นเกือบทุกส่วนของชนชั้นนำเห็นชอบกับการใช้ความรุนแรงในวันนั้น

การนำ ถนอม กลับมาบวชที่วัดบวรนิเวศน์ เป็นแผนของฝ่ายอำมาตย์เพื่อก่อเรื่องทำรัฐประหาร และเพื่อใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาและฝ่ายสังคมนิยมในไทย เราต้องเข้าใจว่านักศึกษาหรือประชาชนที่สนใจการเมืองและต้องการประชาธิปไตยในยุคนั้น เป็นฝ่ายซ้ายสังคมนิยมกันส่วนใหญ่ ในสายตาของพวกเราสมัยนั้นเผด็จการอำมาตย์ผูกกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย จึงมีความพยายามที่จะสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยมพร้อมๆ กัน

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคนี้ ก็แยกออกไม่ได้จากการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางสังคมการเมือง และเศรษฐกิจเช่นกัน สังคมนิยมกับประชาธิปไตยคือสิ่งเดียวกัน

สังคมนิยมที่ผมพูดถึงนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกับเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาที่เราเคยเห็นในรัสเซีย จีน หรือประเทศอื่นๆ แต่สังคมนิยมเป็นระบบที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างจริงจัง เรามั่นใจได้ว่าระบบนี้คือทางออกสำหรับสังคมโลก เพราะระบบทุนนิยมปัจจุบันตกอยู่ในสภาพวิกฤตเรื้อรังที่เต็มไปด้วยการก่อสงคราม และการเพิ่มความยากจนสำหรับส่วนคนใหญ่นับเป็นล้านๆ ท่ามกลางความเจริญของระบบการผลิตที่ระบายสินค้าออกไปไม่ได้

ภาพของอาชญากรรมรัฐไทย ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นภาพที่สะท้อนว่าชนชั้นปกครองไทยพร้อมจะเข่นฆ่าประชาชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ของตนเสมอ เวลามีกลุ่มคนเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองหรือพัฒนาสวัสดิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะช่วง ก่อน ๖ ตุลา หรือช่วงก่อน ๑๙ กันยา ๒๕๓๙ อำมาตย์ก็จะก่อรัฐประหารเพื่อยับยั้งความก้าวหน้าของสังคม จะมีสื่อคอยบิดเบือนความจริง และจะมีความพยายามที่จะปิดปากผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่เป็นนักสังคมนิยม และถึงแม้ว่าอำมาตย์จะสามัคคีกันในการปราบประชาชน แต่ภายหลังเขาก็หันมาแย่งกระดูกผลประโยชน์กันเหมือนหมาป่า

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้สภาพแบบนี้ในสังคมเรา?