Tag Archives: กรัมชี่

รัฐกับการปฏิวัติ ทำไมเราต้องปฏิวัติ

รัฐ คืออะไร? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบเผด็จการ? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบประชาธิปไตย? นี่คือประเด็นที่นักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจ

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของ มาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมภายใต้ทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มีพวกชนชั้นปกครองดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย และการกำจัดพวกนี้จะอาศัยแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นไม่พอ เพราะ “รัฐ” มันมากกว่าแค่รัฐบาล

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติเลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”    เลนิน ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” และรัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือหัวหน้า CPเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ นักการเมืองผู้ใหญ่ และนายทุนเอกชน

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร

สังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และสังคมศักดินาในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมชนชั้น คือคนส่วนน้อยปกครองและขูดรีดคนส่วนใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ที่อาจเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ได้ ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราจึงต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐ หรือที่ เลนิน เรียกว่าเป็นการ “สิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์กำหนดอนาคตตนเองในชุมชนต่างๆ อย่างเสรี

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐ อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (๑) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก กับ(๒) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียนที่สุด นี่คือสาเหตุที่นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครองมักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในยุคนี้รัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน จึงครองใจพลเมืองยากขึ้น แต่ในอนาคตเขาจะพยายามสร้างภาพว่าเป็นกลางอีกครั้ง

ทุกวันนี้เราต้องสู้ทางความคิดเพื่อทำลายความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง ตรงนี้เราจะได้เปรียบในแง่หนึ่ง เพราะการหาความชอบธรรมของชนชั้นปกครองย่อมอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวงเสมอ เข้าใจได้ง่าย เพราะชนชั้นปกครองมีผลประโยชน์ตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกปกครอง ดังนั้นข้อสรุปสำคัญคือ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่ไปประนีประนอมกับความคิดชนชั้นปกครองโดยกลัวว่าคนส่วนใหญ่ “ยังไม่พร้อม” จะรับความคิดใหม่ นี่คือ “สงครามจุดยืน” ที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยพูดถึง สำหรับกรัมชี่มันมีสงครามสองชนิดที่เราต้องทำคือ “สงครามจุดยืน” และ “สงครามขับเคลื่อน” –การเผชิญหน้า ปฏิวัติ และล้มรัฐเก่านั้นเอง

ถ้าเราจะทำสงครามจุดยืน มันแปลว่า เราทุกคนที่อยากร่วมในการต่อสู้ ต้องสร้างตัวขึ้นมาเป็น “อาจารย์” หรือสิ่งที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ปัญญาชนอินทรีย์” คือนักคิดติดดินที่เลือกข้างประชาชนคนจน และกรรมาชีพนั้นเอง ถ้าใครคิดว่าจะพัฒนาตนเองเป็นอาจารย์ไม่ได้ ก็ลองดูพวกอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน พวกนี้มีอคติกับคนจนที่รักประชาธิปไตย และเขาพร้อมจะโกหกบิดเบือนทฤษฏีต่างๆ เพื่อปกป้องคนรวยและอภิสิทธิ์ชน  การกระทำของเขาไม่ใช่การใช้ปัญญาอะไรหรอก มันเป็นการเอาผลประโยชน์ชนชั้นตนเองมานำทุกอย่าง

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองในทุกสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมถึงไทยและที่อื่น เป็นส่วนหนึ่งของ “อำนาจพิเศษสาธารณะ” นี่คือสาเหตุที่ในประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตย บ่อยครั้งรัฐบาลพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจต้องยอมอ่อนน้อมต่อนายทุนใหญ่หรือข้าราชการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

การทำลายอำนาจชนชั้นปกครองจึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดชนชั้นปกครองต้องอาศัยการปฏิวัติล้มรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงาน… เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะประชาธิปไตยแท้ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ชน และต้องไม่มีนายทุนที่เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจในสถานที่ทำงานและระบบการผลิตอีกด้วย

ในระยะยาวการที่เราต้องปฏิวัติ ไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวันในสังคม หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภาในระบบทุนนิยม การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมทุนนิยม เป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เช่น โรซา ลัคแซมเบอร์ค มองว่าสำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ มันช่วยให้เรามีสื่อและสิทธิในการแสดงออก และที่สำคัญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายในระบบทุนนิยม จะผลักดันชนชั้นปกครองจนเขาไม่กล้ามาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพมากเกินไป มันทำให้ชนชั้นปกครองลำบากมากขึ้นในการใช้อำนาจเพราะต้องหลบไปในมุมมืดและแอบใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนลับหลัง ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่เห็นในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐ

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบาย…ในหนังสือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าการต่อสู้ประจำวันเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมเพื่อการปฏิวัติที่จะล้มและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต แต่สำหรับคนที่เสนอให้ “ค่อยเป็นค่อยไป” นั้น เธออธิบายว่าพวกนี้จะเป็นคนที่ต้องการประนีประนอมกับรัฐเก่าเสมอ

รัฐทุนนิยมปกป้องการขูดรีด

รัฐทุนนิยมจะปกป้องกฎหมายและระบบศาลที่ให้ประโยชน์กับนายทุนในการขูดรีด การ “ขูดรีด” หมายถึงการที่นายทุนไม่กี่คน สามารถยึดมูลค่าทั้งหมดที่คนงานทั้งหลายสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นระบบการขูดรีดแบบแอบแฝง ไม่เหมือนสมัยก่อนทุนนิยมที่ขุนนางส่งทหารมาบังคับให้เราทำงาน หรือบังคับให้เราส่งภาษี มันดูเหมือนว่าไม่มีใครบังคับเรา แต่ในความเป็นจริง คนที่ทำงานในระบบทุนนิยมไม่มีทางเลือกอะไร เพราะถ้าไม่ทำงานก็อดตาย ที่สำคัญคือ…..

การเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่สามารถกำจัดระบบขูดรีดของนายทุนได้

ความมั่นใจในตนเอง

การต่อสู้ของมวลชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจกับทุกคนว่าเราสามารถเปลี่ยนสังคมได้ มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าในระบบทุนนิยม เราจะถูกสอนให้คิดว่าเราด้อยกว่าชนชั้นปกครอง “เราไม่มีความสามารถ และเราต้องจงรักภักดีต่อเขาเสมอ” ชนชั้นปกครองใช้สื่อ โรงเรียน และศาสนาในการกล่อมเกลาเราเรื่องนี้ แต่ มาร์คซ์ และนักมาร์คซิสต์ชาวฮังการี่ชื่อ จอร์ช ลูคักส์ อธิบายว่าถ้าจะแก้ไขสภาพเช่นนี้ เราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ ต้องเสริมความมั่นใจซึ่งกันและกัน และท่ามกลางการต่อสู้เราจะตาสว่างถึงคำหลอกลวงของชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามถ้าจะให้การต่อสู้มีพลัง นอกจากจะต้องมีมวลชนแล้ว ยังต้องจัดระบบความคิดและจัดตั้งมวลชนผ่านการสร้างพรรคปฏิวัติ

มรดกมาร์คซิสต์ของ อันโตนิโอ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรัมชี่ เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่ต้องใช้เวลาในคุกฟาสซิสต์หลายปี

7_93_20070522104203

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน L’Ordine Nuovo กรัมชี่ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการปัจจุบันหลายคนที่พูดถึง กรัมชี่ เหมือนเป็นแนวคิด “วิชาการ” ที่ซับซ้อนจนคนธรรมดาเข้าใจยาก

กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง
กรรมาชีพยึดโรงงานในปีสีแดง

ในงานเขียนสมัย “ปีสีแดง” ที่มีการยึดโรงงานต่างๆ กรัมชี่ จะเน้นปัญหาว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิวัตินั้นนำผลประโยชน์แท้จริงมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรัมชี่ มองว่าคณะกรรมการคนงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่คนงานยึดโรงงานจากนายทุน เป็นหน่ออ่อนของรัฐกรรมาชีพในอนาคต แต่ท้ายสุดขบวนการยึดโรงงานใน “ปีสีแดง” ก็ถูกผู้นำสภาแรงงานและพรรคสังคมนิยมปฏิรูปทำลายโดยการประนีประนอมกับระบบทุน ประสบการณ์นี้พิสูจน์ให้ กรัมชี่ เห็นว่าต้องมีการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่แท้จริงในหมู่กรรมาชีพ กรัมชี่ จึงมีส่วนสำคัญในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ (PCI)

กรัมชี่ เสนอว่าต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า กรัมชี่ มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกันโดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยาฟาสซิสต์ของ มุสโสลีนี  ในการเสนอให้สร้างแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม กรัมชี่ ไม่ได้มองว่าพรรคนี้คือ “ซีกขวาของแนวคิดลัทธิกรรมาชีพ” แต่มองว่าพรรคสังคมนิยมและพรรคปฏิรูปทั้งหลายในขบวนการแรงงาน ที่ยอมรับระบบและกรอบของทุนนิยม เป็น “ซีกซ้ายของแนวคิดลัทธิชนชั้นนายทุน” งานเขียนของกรัมชี่เรื่องนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของ เลนิน เรื่องพรรคแรงงานอังกฤษว่าเป็น “พรรคกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดชนชั้นนายทุน”

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่ มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”  แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนมากที่เอ่ยถึง กรัมชี่ ไม่เคยทำงานจัดตั้งพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ตรอทสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค (จากเยอรมัน) และของ กรัมชี่ (จากอีตาลี่) จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

กรัมชี่ ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายในสังคม หรือที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ประชาสังคม” สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครอง เพื่อมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจในทางความคิด (hegemony) ว่าเป็นสงครามจุดยืน

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบนี้จบลงด้วยการไม่ท้าทายอำนาจรัฐแต่อย่างใด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความผูกขาดทางความคิดของชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐผ่านการปฏิวัติสังคมนิยม

สรุปแล้ว กรัมชี่ อธิบายว่าในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราจะล้มอำนาจรัฐและสร้างสังคมนิยม เราต้องต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองของแนวคิดกรรมาชีพเพื่อครองใจคนส่วนใหญ่และทำลายเกราะป้องกันตัวที่นายทุนสร้างขึ้นภายในสถาบันต่างๆ ของประชาสังคมในขั้นตอนแรก

กรัมชี่ เสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอน “สงครามทางจุดยืน” เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” (organic intellectuals) ซึ่งในมุมมอง กรัมชี่ “ปัญญาชนอินทรีย์” คือปัญญาชนที่ใกล้ชิดและเติบโตจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนากรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

กรัมชี่ อธิบายว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพ เราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าในสมองของคนคนเดียวกันมักจะมีความคิดขัดแย้งดำรงอยู่เสมอ ความคิดสายหนึ่งมาจากการพยายามครอบงำความคิดในสังคมโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราทุกคนจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาดังกล่าวกระทำผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่นโรงเรียน ศาสนา สื่อต่างๆ และแม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ในสมองของเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับแนวแรกดำรงอยู่เสมอ ซึ่งความคิดรูปแบบที่สองมาจากประสบการณ์ประจำวันของเรา

ตัวอย่างของความคิดที่ขัดแย้งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไป เช่น เราอาจถูกสั่งสอนให้รักชาติและเคารพผู้นำของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันเราอาจเห็นผู้นำกระทำตัวในลักษณะที่กอบโกยความร่ำรวยและกดขี่ขูดรีดคนไทยกันเองเป็นต้น ถ้าความขัดแย้งในความคิดดังกล่าวดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เราเห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานหรือการประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฏีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

ชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์คซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคกรรมาชีพจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

tft-30-p-22-c

อย่างไรก็ตามมีการบิดเบือนแนวคิดของ กรัมชี่ ในสมัยนี้ ซึ่งมักทำโดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ห่างเหินจากการต่อสู้จริงของกรรมาชีพ  พวกนี้พยายามตีความข้อเขียนของกรัมชี่ในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อการครองใจทางความคิด หรือการต่อสู้ใน “สงครามทางจุดยืน” ว่าเป็นการเสนอว่าไม่จำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐอีกแล้ว และพวกนี้มักคุยแลกเปลี่ยนเรื่องแนวคิดของ กรัมชี่ ในเสวนาวิชาการเหมือนกับว่าแนวคิดของ กรัมชี่ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการต่อสู้ปฏิวัติของกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยม และสร้างสังคมนิยม

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2l0HoCy

เก็บตกจากสัมนาปารีส กรัมชี่ กับ การสร้างฉันทามติในสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในงานสิบปีรัฐประหาร ๑๙ กันยาที่ปารีส มีประเด็นข้อตกเถียงที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนจะขอสรุปบางประเด็นตามความสนใจและมุมมองของผู้เขียนเอง แต่คนที่อยากศึกษาประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้านควรไปพยายามอ่านความเห็นของคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มองต่างมุมกับผม

อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา สังคมไทยค่อนข้างจะไร้ข้อขัดแย้งทางการเมือง คือมี “ฉันทามติ” ภายใต้แนวคิดรักเจ้า

ตรงนี้น่าจะเป็นการ “สรุป” ภาพรวม เพราะสำหรับประชาชนมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในปาตานี มันคงจะไม่มีฉันทามติแบบนี้เลย แต่ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป

จริงๆ แล้วสำหรับนักมาร์คซิสต์ “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคมไม่เคยมีในสังคมใดเลย เพราะมันมีความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ซึ่งบางครั้งเปิดเผย และบางครั้งซ่อนเร้น การที่ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ หรือคนรวยกับคนจน จะระเบิดออกมาหรือดูเหมือนเงียบไป มันขึ้นอยู่กับความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่าง และการปราบปรามหรือการเอาใจคนชั้นล่างโดยชนชั้นปกครอง สภาพเศรษฐกิจก็มีส่วนด้วย

ภาพของ “ฉันทามติ” ที่ อ.สมศักดิ์พูดถึงในไทยนี้ ผมอธิบายว่ามาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวจนประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ทั้งๆ ที่อาจได้ประโยชน์ตรงนี้น้อยกว่าพวกนายทุน คนรวย หรือชนชั้นกลาง

ทั้งๆ ที่ อ.สมศักดิ์ มองว่าในประชาธิปไตยตะวันตกมี “ฉันทามติ” ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงมีการแบ่งแยกการเมืองระหว่างสายแรงงานกับสายนายทุนมาตลอด และท่ามกลางปัญหาที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 มีกระแสไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลักมากมาย จนเกิดการแยกขั้วอย่างรุนแรง ในบางประเทศฝ่ายซ้ายใหม่เพิ่มคะแนนนิยม ในบางประเทศพรรคฟาสซิสต์ก็มาแรง และแนวสุดขั้วเหล่านี้ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยกระแสหลักเท่าไร ยิ่งกว่านั้นฝ่ายชนชั้นปกครองยุโรปก็ไม่เคารพประชาธิปไตย กรณีกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในอังกฤษมีนายพลขู่ว่าถ้านักการเมืองฝ่ายซ้าย เจเรอมี คอร์บิน เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคแรงงาน อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้น

ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ของยุโรป จะมีคนที่เห็นต่างกันอย่างรุนแรงในหลายเรื่อง เช่นเรื่องสหภาพยุโรป รัฐสวัสดิการ การทำสงคราม นโยบายรัดเข็มขัด หรือท่าทีต่อผู้ลี้ภัย ในสหรัฐก็ไม่ต่างออกไป นี่คือสาเหตุที่คะแนนนิยมนักการเมืองนอกกรอบมาแรงในยุคนี้ และนี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากในสหรัฐไม่เคยไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งด้วย เพราะมองว่ามันไม่เปลี่ยนอะไร

ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นทุกวันนี้ในไทยเป็นเรื่องธรรมดา

ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเดือดร้อนสูงจากนโยบายรัดเข็มขัด เพราะคนจำนวนมากตกงาน พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ Podemos วิวัฒนาการมาจากการประท้วงของคนหนุ่มสาวในจัตุรัสต่างๆ กลางเมือง [ดู http://bit.ly/293hWr1 ] แกนนำของพรรคนี้พยายามเสนอว่าเขาจะสร้าง “ฉันทามติ” ใหม่ โดยข้ามพ้นความเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ยิ่งกว่านั้นพวกนี้จะอ้าง กรัมชี่ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองเสนอ แต่มันเป็นการบิดเบือนกรัมชี่

กรัมชี่ เดิมเสนอความคิดเรื่อง hegemony หรือ “การครองความเป็นใหญ่ในสังคม” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ความคิดของชนชั้นปกครองกลายเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีข้อเสนอว่าฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพและแนวร่วม ควรสร้างพลังเพื่อครองความเป็นใหญ่ทางความคิดและต้านความคิดของชนชั้นปกครอง และในเรื่องนี้กรัมชี่จะเน้นเรื่องชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ที่สำคัญคือ กรัมชี่ ไม่ได้เสนอความคิดนี้เพื่อสร้างสันติภาพในสังคมภายใต้ฉันทามติที่สร้างความสามัคคีระหว่างชนชั้นที่ขัดแย้งกัน และเขาต้องการเห็นชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ในสังคมเพื่อสร้างสังคมนิยม

แต่แกนนำพรรค Podemos ปฏิเสธเรื่องชนชั้น และผลพวงของชนชั้น…คือความเป็น “ซ้าย” หรือ “ขวา” คือไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับกรรมาชีพ เช่นรัฐสวัสดิการ สิทธิแรงงาน การเพิ่มฐานะความเป็นอยู่ของคนจนผ่านการขึ้นภาษีกับคนรวย หรือการต่อต้านคำสั่งจากกลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป ฯลฯ และวิธีการที่เขาใช้ในการบริหารพรรคคือการนำแบบเผด็จการภายในพรรค ทั้งนี้เพื่อกีดกันไม่ให้กระแสรากหญ้าที่เคยมีสามารถกำหนดนโนบายได้ แกนนำเท่านั้นจึงมีสิทธิ์กำหนดนโยบายที่คลุมเครือไม่มีรายละเอียดแต่ฟังดูดี

ที่นี้ อ.สมศักดิ์ ก็อ้าง กรัมชี่ ในลักษณะเหมือนกันกับ Podemos คือเสนอว่าเราควรสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมกันกับพวกชนชั้นกลางสลิ่ม คือข้ามพ้นความขัดแย้งทางชนชั้นในไทยที่ปรากฏออกมาในรูปแบบความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยระหว่างแดงกับเหลือง นอกจากนี้ อ.สมศักดิ์ ก็มองว่าแนวคิดมาร์คซิสต์เป็นเรื่องที่มาล้อกันได้ในที่ประชุมเพื่อพยายามให้คนที่มองต่างมุมถูกมองว่าเป็นตัวตลก ดูเหมือนอาจารย์ข้ามพ้นความคิดมาร์ซิสต์ไปแล้ว

การสร้าง “ฉันทามติ” ระหว่างสลิ่มชนชั้นกลางกับคนเสื้อแดงในไทย ในบริบทที่ไม่มีการสร้างพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ย่อมจบลงด้วยการประนีประนอมกับฝ่ายที่เกลียดประชาธิปไตยเพราะเกลียดคนจน ผลที่ออกมาคือประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น อ.สมศักดิ์ จริงใจในความพยายามที่จะหาทางไปสู่สันติภาพในไทย และจริงใจในการรักประชาธิปไตย แต่เนื่องมาจากเขาไม่เคยสนใจและไม่เคยมั่นใจในพลังมวลชน เขาจึงถึงทางตัน

อีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนอยากคุยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่มุ่งสร้างขบวนการมวลชนคือ รังสิมันต์ โรม [ดู http://bit.ly/2dizkuE %5D

วิธีสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในไทยที่ยั่งยืน คือการสร้างพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการสร้างพรรคซ้ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกรรายย่อย และคนจน และถ้าพลังของขบวนการนี้เข้มแข็งพอเมื่อไร เราจะกดดันให้ชนชั้นกลางหลายส่วน หันมาสนับสนุนเราได้ภายใต้เงื่อนไขของเรา ไม่ใช่ภายใต้เงื่อนไขของพวกที่เกลียดประชาธิปไตย ชนชั้นกลางไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงและสามัคคี แต่เป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย และจุดยืนทางการเมืองมักแกว่งไปมาเสมอ ยุคหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ ยุคหนึ่งสนับสนุนคนชั้นล่าง ขึ้นอยู่กับพลังของสองชนชั้นที่อยู่เหนือและใต้ชนชั้นของเขา

พลังการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องสร้างบนรากฐานขบวนการเสื้อแดงเก่า ประชาชนสิบล้านคนที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญทหาร และนักศึกษาก้าวหน้า ที่สำคัญคือต้องสร้างขบวนการที่มีการนำอิสระจากอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ

14480594_10207643228419481_7044129971385575274_o

การสร้างขบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา และตราบใดที่ยังอ่อนแออยู่ ระดับการต่อต้านเผด็จการจะไม่สูง ซึ่งแปลว่าคำพูดของ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง ที่พูดในงานสัมมนาที่ปารีส และเสนอว่า “สังคมไทยใกล้จะระเบิด” คงไม่เป็นอย่างนั้นจริง

นอกจากเรื่อง “ฉันทามติ” แล้ว การมองข้ามพลังของมวลชน มักพาคนไปหลงเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจทางการเมือง อ.สมศักดิ์ มองต่างมุมกับผมว่ากษัตริย์เป็นแค่คนที่ถูกทหารใช้ [ดู http://bit.ly/1OtUXBm   http://bit.ly/2cAODfC  http://bit.ly/2cnQepl  ]

เขาเสนอว่า “อำนาจ” เป็นเรื่องซับซ้อน เขาเสนอว่าคนที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้มีอำนาจสูง แต่กษัตริย์ไม่ต้องออกคำสั่งอะไรอย่างตรงไปตรงมา ผมก็เลยเถียงกลับไปว่า “พระเจ้า” ก็เหมือนกัน แต่นอกจากพระเจ้าไม่มีจริงแล้ว และอำนาจพระเจ้าจึงไม่มีจริง แต่พระเจ้าก็ยังเป็นสิ่งที่นักการเมืองและชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความชอบธรรมกับตนเอง

ในเรื่องที่ผมปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “รัฐพันลึก”  [ ดู http://bit.ly/2a1eP01 ]  มีคนไทยคนหนึ่งถามผมเพิ่มเติมและผมก็อธิบายให้ฟังตามที่เคยเขียนไว้ แต่ภาพหนึ่งที่ อ.สมศักดิ์ฉายที่ปารีส ในเรื่องจำนวนรัฐประหารของประเทศไทย ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ท้าทายทฤษฏีรัฐพันลึกคือ ในอดีตมีหลายครั้งที่พวกทหารทำรัฐประหารกันเองอันเนื่องจากความแตกแยกในกองทัพ นี่ไม่ใช่ลักษณะของการมีรัฐพันลึกแต่อย่างใด

สุดท้ายนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบ อ.สมศักดิ์ และ อ.ปวิน ที่ปารีส และผมหวังว่าทั้งสองท่านจะมีความสุขต่อไปในชีวิตที่อาจลำบากเพราะความกล้าหาญของเขา ผมหวังด้วยว่าทั้งสองท่านคงจะเข้าใจว่าที่ผมเถียงด้วยในบทความนี้ ไม่ได้สะท้อนอคติส่วนตัวแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไทยจะรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีในเรื่องความคิดได้