Tag Archives: กรีน นิว ดีล

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]