Tag Archives: กลไกตลาดเสรี

การล้มละลายของบริษัท “คอริเลี่ยน” ในอังกฤษ พิสูจน์อีกครั้งว่าเอกชนไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชน

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อเดือนที่แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ “คอริเลี่ยน” ล้มละลายในอังกฤษ บริษัทนี้เริ่มต้นเป็นบริษัทก่อสร้าง แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคที่มีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการแทนรัฐในโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด หรือระบบคมนาคม มีการใช้ระบบเหมาช่วงเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ในอัตราเงินเดือนต่ำ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ แทนลูกจ้างของรัฐที่เคยทำงานบริการ มีการทำสัญญา “รัฐ-เอกชน” (PFI) เพื่อก่อสร้างตึกใหม่ของโรงพยาบาล โดยที่ภาคเอกชนลงทุนในการก่อสร้าง และรัฐต้องจ่าย “ค่าเช่า” ในระบบนี้จำนวนเงินที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากรัฐถึง 40% และค่าบริการโครงการต่างๆ หลังจากการก่อสร้างเส็จสิ้น ก็สูงกว่าการจ้างพนักงานโดยตรงทั้งๆ ที่เอกชนตัดค่าแรงและสวัสดิการ สาเหตุเพราะมีการกินกำไรตลอด แต่รัฐบาลต่างๆ ในอดีต ต้องการลดหนี้รัฐที่คำนวณจากการกู้เงินโดยตรง และรัฐบาลต้องการเพิ่มบทบาทเอกชน และตัดค่าแรงในสังคม ตามลัทธิคลั่งกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

 

บริษัทอย่าง “คอริเลี่ยน” มักจะชิงสัญญาจากรัฐเมื่อมีการเปิดประมูล เพราะมีการตีราคาต่ำกว่าคู่แข่งผ่านการตัดค่าแรงและลดคุณภาพการทำงาน ในที่สุดยุทธศาสตร์นี้ทำให้บริษัทล้มละลายและคนงานสี่หมื่นสามพันคนต้องเกร็งกลัวกับการตกงานและการถูกตัดเงินบำนาญ ในขณะเดียวกัน ซีอีโอ ของบริษัทบางคนที่รีบลาออกก่อนการล้มละลายสามารถกอบโกยเงินโบนัสเป็นล้าน และสุดท้ายคาดกันว่ารัฐอังกฤษและประชาชนธรรมดาที่เสียภาษีจะต้องก้าวเข้ามาอุ้มกิจกรรมที่ “คอริเลี่ยน” เคยทำ

 

คอริเลี่ยน ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีปัญหา บริษัท “คาพิตา” และ “เชอร์โค” ซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ คอริเลี่ยน คือเข้ามาให้บริการแทนรัฐ ก็มีวิกฤตเช่นกัน ในกรณี “คาพิตา” มีหมอและพยาบาลตามคลินิคชุมชนที่ไม่ได้รับเงินเดือนตรงเวลา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในภาครัฐ

 

การคลั่งกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีต่างๆ ในอังกฤษ สร้างปัญหามากมายสำหรับระบบรถไฟ ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ประสบการณ์ของการใช้บริษัทเอกชนในการบริการแทนรัฐ ทำให้คุณภาพการบริการตกต่ำลง เพราะเน้นการจ่ายเงินเดือนต่ำและการขูดรีดกำไร

 

การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ค้นพบว่าองค์กรรัฐที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในภาคโทรคมนาคม พลังงาน และรถไฟ ของอังกฤษ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัฐวิสาหกิจ และการวิจัยรูปแบบเดียวกันเกี่ยวกับยุโรปก็มีข้อสรุปเหมือนกัน แม้แต่ธนาคารโลกก็รายงานว่าในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าลักษณะการเป็นเจ้าของระหว่างรัฐกับเอกชน มีผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรแต่อย่างใด

[ http://bit.ly/2BctqBC ]

 

พรรคแรงงานในอดีตภายใต้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ มีนโยบายส่งเสริมสัญญา “รัฐ-เอกชน” ไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน แต่ในยุคนี้หลังการเลือก เจเรมี คอร์บิน เข้ามานำพรรคแรงงาน และหลังจากกระแสในสังคมเรียกร้องให้มีการนำบริษัทเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ จุดยืนของพรรคแรงงานก็เปลี่ยนไป

จอห์น แมคดอนเนล “รัฐมนตรีเงา”ทางด้านการคลังของพรรคแรงงานอังกฤษ ที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ เจเรมี คอร์บิน ได้ออกมาประกาศว่ากรณี “คอริเลี่ยน” พิสูจน์ว่าลัทธิสุดขั้วที่เชื่อว่า “เอกชนดีกว่าเสมอ” หมดยุคไปแล้ว ถ้าพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในโอกาสหน้าจะมีการนำการบริการของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ

 

ในไทยนักวิชาการจำนวนมากมัก โดยเฉพาะใน “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะท่องสูตร “เอกชนดีกว่า” และ “เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า” โดยไม่เปิดหูเปิดตาดูความจริง และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้านักวิชาการขี้เกียจทั้งหลายภายใต้กะลา จะท่องสูตรเท็จนี้และสอนลัทธิคลั่งกลไกตลาดในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

ต้นกำเนิดของนิยาย “กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าภาครัฐ” ในยุคนี้ เริ่มต้นจากการฟื้นตัวของเสรีนิยมในทศวรรษที่ 70 นำโดยนักคิดเช่น มิลตัน ฟรีดแมน และนำมาปฏิบัติโดยนักการเมืองเช่น มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ ในอังกฤษ หรือ โรนัลด์ เรแกน ในสหรัฐ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นลัทธิที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

นิยายอันนี้เป็นความพยายามอย่างหยาบๆ ที่จะลดบทบาทรัฐ เพื่อลดการเก็บภาษีจากคนรวย และเพิ่มกำไรให้ภาคเอกชนผ่านการตัดเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนในโลกที่ยืนยันประโยชน์ของความเชื่อนี้เลย ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณะสุขแบบอิงเอกชน ที่เน้นการประกันตน แทนการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐ มักจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบรัฐสวัสดิการเสมอ ระบบสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชนเป็นหลัก แพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคน ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขสหรัฐกับระบบของประเทศอื่น จะพบว่าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ หรืออย่างน้อยระบบถ้วนหน้าที่บริหารโดยรัฐอยู่ในอันดับ1 ถึง 25

 

พวกสำนักเสรีนิยมกลไกตลาดชอบเสนอว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด ไม่ควรปกป้องการผลิตในกรอบรัฐชาติ จึงเสนอให้มีการค้าเสรี และรัฐไม่ควรลงมาทำหน้าที่แทนนายทุนเอกชนอีกด้วย อีกประเด็นที่สำคัญคือพวกนี้มองว่าควรสร้างความ “ยืดหยุ่น” ในตลาดแรงงาน คือไม่ควรมีการปกป้องมาตรฐานการทำงานและไม่ควรมีสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง พูดง่ายๆ พวกเสรีนิยมเป็นพวกที่เข้าข้างนายทุน และมองว่าแรงงานควรได้รับค่าจ้างสวัสดิการน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรให้นายทุนมากที่สุด

 

แต่สำนักเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองประการคือ

  1. ทั้งๆที่พูดว่าปฏิเสธบทบาทนำของรัฐ แต่ในรูปธรรมมีการใช้รัฐในการต่อรองทางเศรษฐกิจตลอด โดยเฉพาะในรูปแบบการสร้างกำลังทหารเพื่อทำสงคราม

 

  1. มีการเลือกปฏิบัติเสมอ เช่นสนับสนุนให้รัฐอุ้มธุรกิจเอกชนในยามวิกฤต แต่มองว่ารัฐไม่ควรช่วยคนจนเพราะจะไปทำลาย “วินัยทางการคลัง” หรือมีการมองว่าควรเปิดตลาดการค้าเสรีในกรณีที่นายทุนของชาติตัวเองเข้มแข็งกว่าคู่แข่ง แต่ในกรณีที่อ่อนแอควรมีมาตรการจำกัดนายทุนต่างชาติเป็นต้น

 

การอ้างว่ากลไกตลาดเสรีสร้างประสิทธิภาพสูงสุดถูกพิสูจน์ว่าไม่จริงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในกรณีการก่อให้เกิดวิกฤตจากการแข่งขัน เช่นวิกฤตเศรษฐกิจเอเซียปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดจากฟองสบู่ sub-prime ซึ่งในทุกกรณีภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการอุ้มบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย ล่าสุดกรณีของบริษัท “คอริเลี่ยน” ก็พิสูจน์ปัญหาของการเน้นบริษัทเอกชน  สรุปแล้วกลไกตลาดไม่สามารถบริการและตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมโลกได้เลย

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2tWNJ3V

เราจะปกป้องและพัฒนาระบบบัตรทองได้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในอดีตพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีพยายามหลายครั้ง ที่จะทำลายอุดมการณ์ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า ที่หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้บุกเบิกในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอุดมการณ์นี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนชื่นชมรัฐบาลทักษิณในยุคนั้น ล่าสุดรัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ก็พยายามเช่นกัน โดยที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่าประชาชน “ต้องร่วมจ่าย” ในระบบบัตรทอง โดยอ้างว่ารัฐ “แบกรับไม่ไหว”

ส่วน สุริยะใส กตะศิลา สุนักรับจ้างขององค์กรสลิ่มทุกยุค ก็ออกมาเห่าหอนสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องนี้

ทุกคำที่ออกมาจากปากพวกนี้ล้วนแต่เป็นคำโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น

ระบบ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค” เป็นแนวคิดของคนก้าวหน้าในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนที่ได้ชื่อว่าผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จมากที่สุดคือ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งชื่นชมระบบสาธารณสุขอังกฤษ ในยุคนั้น “อุดมการณ์” ของระบบนี้ คือความพยายามที่จะให้พลเมืองทุกคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมหรือระบบข้าราชการ สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างถ้วนหน้า โดยอาศัยแค่สิทธิการเป็นพลเมืองเท่านั้น การเก็บเงิน ๓๐ บาท เป็นแค่การเก็บเงินในเชิงสัญลักษณ์ จึงไม่เรียกว่าเป็นการ “ร่วมจ่าย”

หลังจากการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ นสพ. บางกอกโพสธ์รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการลงมือตัดงบระบบ ๓๐ บาทไป 23% แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มงบประมาณทหาร 30% ซึ่งก่อนหน้านี้ในยุคทักษิณมีการค่อยๆ ลดงบประมาณทหาร

เราไม่ควรลืมว่ารัฐบาลทหารหลัง ๑๙ กันยาเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี พวกนี้ไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร พระราชวัง และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลทักษิณว่าเป็น “ประชานิยม” และ “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการขึ้นงบประมาณทหารเป็นการ “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

ภายใต้รัฐบาลเผด็จการยุคนั้นมีการยกเลิกเก็บค่าพยาบาล ๓๐ บาท ซึ่งในแง่การปฏิบัติเป็นเรื่องดี แต่ถ้าตรวจสอบเจตนาของการทำให้ระบบนี้ฟรี เราจะเห็นว่าหลายคนในแวดวงเผด็จการมีอคติและวาระแอบแฟง คือหลายคนเตรียมจะเสนอให้เก็บค่าพยาบาลเพิ่มขึ้นหลายเท่าภายใต้ระบบที่เขาเรียกว่า “การร่วมจ่าย” คนจนสุดอาจไม่ต้องจ่าย แต่ใครมีรายได้มากกว่านั้นนิดเดียวคงต้องจ่ายมากกว่า ๓๐ บาท หลายเท่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างระบบอนาถาสำหรับคนจนแล้ว ยังสร้างภาระมหาศาลให้กับคนที่ถูกจำแนกว่าไม่ได้อยู่ในระดับยากจนที่สุด

ในยุครัฐบาล “แต่งตั้งโดยทหาร” ของอภิสิทธิ์ มีการเปลี่ยนชื่อจากบัตร ๓๐ บาท เป็น “บัตรทอง” เพื่อตัดความหลังที่มาจากยุคทักษิณออกไป และแน่นอนอภิสิทธิ์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นพวกคลั่งตลาดเสรีที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ที่เคยวิจารณ์ระบบ ๓๐ บาทมาตลอด

หลายคนเข้าใจผิดว่าแนวเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมไปกับระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่จริง ในกรณีไทยเราจะเห็นว่าทั้งประชาธิปัตย์และเผด็จการทหารยุค ๑๙ กันยา และยุคปัจจุบัน เป็นพวกที่เกลียดชังการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชนตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี ในขณะที่รัฐบาลทักษิณใช้แนวเศรษฐศาสตร์คู่ขนาน คือใช้รัฐและตลาดร่วมกันตามสูตรเศรษฐศาสตร์ “เคนส์”

จริงๆ แล้วคำว่า “ร่วมจ่าย” เป็นคำหลอกลวงของพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี เพราะพลเมืองไทยทุกคนจ่ายภาษี ไม่ว่าจะจนหรือรวย ทั้งทางอ้อมเช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีน้ำมัน หรือผ่านการจ่ายภาษีรายได้ ดังนั้นระบบอะไรที่ใช้งบประมาณรัฐ เป็นระบบที่ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายสมทบผ่านภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระบบภาษีไทยเป็นระบบที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำเพราะคนจนมักจ่ายภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนรวยถ้าเปรียบเทียบกับรายได้

ดังนั้นเวลาพวกนี้พูดถึงการ “ร่วมจ่าย” เราควรรู้ทันทีว่ามันแปลว่า “คิดค่าพยาบาล” ซึ่งสำหรับบัตรทองแล้ว เป็นการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคก่อนไทยรักไทย และก่อนยุคความทันสมัย ตามความฝันของอำมาตย์ล้าหลัง

การพยายามทำลายอุดมการณ์ของ “๓๐ บาท” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๖ เราจะเห็นความเสื่อมของแนวคิดเดิม โดยที่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอระบบ “ร่วมจ่าย” เพื่อเปิดประเด็นแนวคิดย้อนยุค แต่มันไม่ออกมาเป็นนโยบายรูปธรรม เหตุการณ์นี้พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถหวังพึ่งพรรคเพื่อไทยให้ปกป้องระบบ ๓๐ บาทได้ และแน่นอนเราทราบดีว่าเขาจะไม่นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข ในยุคแรกๆ ของเผด็จการประยุทธ์ ก็ออกมาเสนอแนว “ร่วมจ่าย” อีก โดยเสนอว่าประชาชนควรจ่ายถึงครึ่งหนึ่งของค่ารักษาพยาบาล นายแพทย์คนนี้เคยเข้าร่วมกับม็อบอันธพาลของสุเทพ รัฐบาลเผด็จการหลังรัฐประหารประยุทธ์ก็จำกัดงบประมาณบัตรทองในขณะที่เพิ่มงบประมาณทหารมหาศาลตามสูตรเดิม ล่าสุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาเสนอเรื่อง “ร่วมจ่าย” อีก

นิมิตร์ เทียนอุดม นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพ เตือนว่าตั้งแต่มีรัฐบาลเผด็จการทหารชุดปัจจุบัน มีการแอบกัดและค่อยๆ ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและผลงานดีๆ ในเรื่องนี้หลายอย่าง โดยเฉพาะผ่านระเบียบออกใหม่ที่จำกัดการใช้งบประมาเหมาจ่ายรายหัวของโรงพยาบาลสำหรับหลายสิ่งหลายอย่าง และการลดบทบาทรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมในการหายาสำหรับโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย เราสามารถคาดเดาได้ว่ามาตรการใหม่ๆ ที่เกิดภายใต้เผด็จการประยุทธ์ จะนำไปสู่การอ้างว่ารัฐ “แบกรับ” ไม่ไหว หรือต้อง “ปฏิรูป” ระบบ ซึ่งจริงๆ แล้วแปลว่าพวกนี้อยากทำลายมันมากกว่า แต่ทางออกที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคือต้องมีการเพิ่มงบประมาณโดยรัฐ

ปัญหาคือหลายคนที่อยากปกป้องระบบบัตรทอง แค่ชี้ถึงความไม่เสมอภาคระหว่างระบบข้าราชการ ระบบประกันสังคม กับระบบบัตรทอง โดยไม่มองภาพกว้างและไม่เข้าใจพิษภัยของแนวคิดคลั่งตลาดเสรีที่เผด็จการชื่นชม

การที่จะไปขโมยทรัพยากรจากระบบข้าราชการ หรือระบบประกันสังคม เพื่อไปอุดบัตรทอง มันไม่ใช่คำตอบ มันเป็นแค่การกระจายการบริการระหว่างคนทำงานธรรมดา ซึ่งจะกดมาตรฐานสำหรับบางคนเพื่อไปเพิ่มให้คนจนคนอื่น โดยไม่ไปแตะกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ โดยเฉพาะทหาร นายทุนใหญ่และคนรวยชั้นสูงแต่อย่างใด

คนที่ไม่กล้าพูดถึงปัญหางบประมาณทหาร และระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ควบคู่กับการพยายามปกป้องบัตรทอง จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และถ้าเราไม่ร่วมกันล้มเผด็จการทหารเราก็จะเดินหน้าไม่ได้เช่นกัน

เราต้องเข้าใจเสมอว่าเรื่องนี้มีพื้นฐานจากการถกเถียงในประเด็นผลประโยชน์ทางชนชั้น เพราะถ้ารัฐบาลอ้างว่ามีงบไม่พอที่จะบริการสาธารณสุข ก็ต้องไปเก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพิ่ม และต้องตัดงบทหารและงบคนชั้นสูงอื่นๆ เพื่อเป็นทางออก

การยึดโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นของรัฐจะช่วยประหยัดเงินด้วย เพราะตัดค่านายหน้าของกลุ่มทุน และการผลิตยารักษาโรคแพงๆ เอง โดยการฝืนลิขสิทธิ์กลุ่มทุนข้ามชาติ ก็สำคัญเช่นกัน

ประสบการณ์ในอดีตและปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีการวิจารณ์ข้อเสนอเพื่อทำลายระบบ ๓๐ บาทของรัฐบาล ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลชุดไหน คนของรัฐบาลมักจะรีบออกมาแก้ตัวโกหกว่าจะ “ไม่แตะ”หรือ “ไม่ทำลาย” ซึ่งมันบ่งบอกว่าพวกนี้กลัวกระแสความโกรธของประชาชน ดังนั้นเราต้องออกมาวิจารณ์กันมากๆ

เราควรรณรงค์เพื่อเดินหน้าสู่การสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ขั้นตอนแรกคือการรวมทั้งสามกองทุนสาธารณสุขเป็นกองทุนเดียวกัน โดยรักษามาตรฐานที่ดีที่สุดแล้วนำมาใช้กับทุกส่วน ต้องมีการตัดงบประมาณทหารและงบสิ้นเปลืองอื่นๆ และเราต้องยืนยันว่างบประมาณหลักของระบบสาธารณสุขต้องมาจากภาษีรัฐที่เก็บในอัตราก้าวหน้า คือในอัตราสูงจากคนรวย

สังคมไทยขาดการถกเถียงเรื่องกลไกตลาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่านักวิชาการ “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) วิจารณ์กระทรวงสาธารณสุขว่าการเป็นทั้ง ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ให้บริการ’ จะสร้างผลเสียให้ประชาชน และทุกครั้งที่นักวิชาการจากสถาบันนี้พูดอะไรออกมา สื่อในไทยก็พากันคารวะ เหมือนกับว่าพวกนี้เป็นปรมาจารย์ที่ผลิตมหาคัมภีร์เศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ทุกครั้งที่ อัมมาร สยามวาลา ออกมาพูดอะไร สื่อก็พากันกราบไหว้ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือนักวิชาการเกียรติคุณ

แต่ ทีดีอาร์ไอ เป็นแค่ตัวแทนของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักหนึ่งเท่านั้น และ อัมมาร สยามวาลา เป็นแค่นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวาคนหนึ่งของสำนักเสรีนิยมใหม่ ที่คลั่งกลไกตลาด เพื่อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ เขาเชี่ยวชาญเหลือเกิน จนเคยเอ่ยปากมาว่าไม่รู้ว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทยได้อย่างไร!! คือพูดง่ายๆ อัมมาร สยามวาลา ไม่กล้าและไม่ต้องไปการศึกษารัฐสวัสดิการในตะวันตกนั้นเอง

ในฐานะที่ผมทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ และในฐานะที่ผมเป็นนักสังคมนิยม ผมสามารถรายงานว่า การแยกระบบสาธารณสุขอังกฤษออกเป็นฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เป็นมาตรการของนายกรัฐมนตรีแทชเชอร์ เพื่อค่อยๆ ทำลายระบบรัฐสวัสดิการและเปิดโอกาสให้มีการตัดงบประมาณรัฐพร้อมกับดึงบริษัท “หากิน” เอกชนเข้ามา ผลคือมีการจ้างนักบัญชีและนักบริหารตัวเลขมากขึ้นอย่างมหาศาล ผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้เพราะจำเป็นต้องเลี้ยงชีพ แต่เงินที่เคยทุ่มเทไปในการดูแลรักษาคนไข้กลับลดลง เงินซื้อยาถูกจำกัด และจำนวนพยาบาลก็ขาดแคลนเรื่อยมา พร้อมกันนั้นมีการกดค่าแรงให้ต่ำสุด และเปิดให้บริษัทเอกชนอย่าง G4S เข้ามากอบโกยกำไรจากภาษีประชาชน

ในระบบนี้ทุกรายละเอียดของการดูแลคนไข้จะถูกตีราคา ไม่ว่าจะเป็นการใส่สายในเส้นโลหิต การตรวจไขสันหลัง หรือการให้ยา มันเป็นระบบที่สิ้นเปลืองทรัพยากรและขาดประสิทธิภาพในการดูแลคนป่วย เพราะการทำบัญชีกลายเป็นสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง แทนที่จะเอาความต้องการของคนไข้มาเป็นหลัก

สาเหตุที่การแยก ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ให้บริการ’ เปิดโอกาสให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็เพราะมีการโยน “งบประมาณก้อน” ให้โรงพยาบาลหรือคลินนิคเพื่อบริหารเอง มีการตัดงบประมาณก้อนอันนั้น และมีการกดดันให้ฝ่าย “ขายบริการ” แข่งกันในตลาด คือแข่งกันตัดคุณภาพการรักษาและมาตรฐานการจ้างงาน เพื่อลดราคา

ในสังคมไทย เกือบจะไม่มีการถกเถียงกันเลยเรื่องสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่แตกต่างกัน ในประวัติศาสตร์สิบปีที่ผ่านมา มีแค่สองตัวอย่างของกลุ่มคนที่คัดค้านการคลั่งกลไกตลาดเสรี อันนี้ไม่นับกลุ่มสังคมนิยมเล็กๆ ที่ผมเคยร่วมทำงานด้วย ตัวอย่างแรกคือรัฐบาลไทยรักไทยที่ใช้นโยบาย “คู่ขนาน” คือนโยบาบทุ่มเทงบประมาณรัฐตามแนวเคนส์รากหญ้าบวกกับกลไกตลาดเสรีในระดับชาติ และตัวอย่างที่สองคือกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านเอดส์และต่อต้านลิขสิทธิ์ของบริษัทข้ามชาติที่ผลิตยา แต่ในกรณีไทยรักไทย การใช้แนวคู่ขนานไม่ได้เป็นการคัดค้านกลไกตลาดทั้งหมด มีการซื้อขายบริการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และเราคงจำได้ว่ามีการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรณีกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านเอดส์ ถึงแม้ว่าจะต้านกลไกตลาดเสรีในเรื่องเอดส์ แต่ไม่ได้เชื่อมและขยายเรื่องนี้ไปสู่การคัดค้านกลไกตลาดทั่วไป เพราะติดอยู่ในกับดักการเคลื่อนไหวแยกส่วนประเด็นเดียว มีแต่พวกเราชาวสังคมนิยมเท่านั้นที่พยายามเชื่อมเรื่องนี้ในภาพกว้างไปสู่การคัดค้านกลไกตลาดเสรีโดยทั่วไป ดูได้จากหนังสือเล่มเล็กที่เราเคยผลิตสำหรับงานเอดส์โลกชื่อ “ทำไมทุนนิยมทำให้เอดส์เป็นโรคร้ายแรง” และดูได้จากความพยายามของเราในงานสมัชชาสังคมไทย ที่จะชวนกลุ่มคนที่สนใจหลากหลายปัญหามานั่งคุยร่วมกันถึงปัญหากลไกตลาด

20130218181838_3400

จริงๆ แล้วมีคนอีกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุนใหญ่ แต่พวกนี้เป็นพวกแนวเศรษฐกิจชุมชนที่อยากฝันว่าเราสามารถหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคนิยายอะไรก็ไม่รู้ในอดีต พร้อมกันนั้นการที่พวกนี้รับแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาด้วย ทำให้ไม่สามารถค้านกลไกตลาดเสรีได้จริง เพราะแนวเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวที่ไปได้ดีกับกลไกตลาดเสรี ไม่เชื่อก็ลองอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ หรือร่างรัฐธรรมนูญโจรล่าสุดดูก็ได้

ปัญหาความอ่อนแอในเรื่องการค้านกลไกตลาด เป็นมรดกร้ายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะแนวคิดเหมาเจ๋อตุงของพรรคไม่สนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ สนใจแต่การ “กู้ชาติ” ดังนั้นหลังป่าแตก คนที่ออกมาจากพรรค ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ หรือนักวิชาการชาตินิยม ก็ไม่เข้าใจปัญหากลไกตลาดเลย เอ็นจีโอส่วนใหญ่สนับสนุนตลาดเสรีด้วยซ้ำ

ในไทยเวลาใครจัดเสวนาหรือชวนนักวิชาการมาร่วมกันเขียนบทความ จะไม่มีการเปรียบเทียบสำนักคิด เพราะความคิดของคนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่อง “เทคนิค” หรือ “ความเชี่ยวชาญ” เท่านั้น ดังนั้นจะมีการพูดถึงปัญหาหนึ่งจากมุมมองนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฏหมาย มันเป็นวิธีพิจารณาประเด็นแบบปัญญาอ่อนที่ปลอดการเมืองของฝ่ายที่ตั้งคำถามต่อระบบกระแสหลัก

เมื่อผมเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ที่จุฬาฯ ผมจำได้ว่าผมเคยถามเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งที่สอน “การบริหารโรงพยาบาล” ว่าเขาสอนสำนักคิดไหนบ้าง เขามองผมด้วยความสงสัยและถามว่า “มีหลายสำนักคิดด้วยหรือ?”

แม้แต่ในเรื่องการบริหารโรงพยาบาลมีมากกว่าหนึ่งสำนักคิด ในอดีตก่อนที่แทชเชอร์จะนำกลไกตลาดเข้ามาในระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษ ระบบนี้อาศัยการให้บริการตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และมีการตั้งงบประมาณตามนั้น ระบบสาธารณสุขจะบริหารโดยผู้แทนฝ่ายรัฐ ฝ่ายนักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง และฝ่ายผู้แทนสหภาพแรงงาน นั้นคือรูปแบบการบริหารโรงพยาบาลตามแนวรัฐสวัสดิการที่เอียงไปทางสังคมนิยม มันไม่มีการซื้อขายบริการ และไม่มีการคิดเลขทำบัญชีและตีราคาของทุกอย่างแบบที่มีทุกวันนี้

อ่าน “ทำไมทุนนิยมทำให้เอดส์เป็นโรคร้ายแรง” ได้ที่นี่  data5.blog.de/media/961/3348961_223eae8460_d.doc

มาทำความเข้าใจกับการต่อสู้ที่กรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ แปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา

 

ในวันอาทิตย์นี้รัฐบาลฝ่ายซ้าย พรรค “ไซรีซา” ของกรีซ ซึ่งพึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมถึงการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน จะมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว รัฐบาลนี้ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากภายใต้คำมั่นสัญญาว่าจะต้านการตัดสวัสดิการและต้านการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน แต่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น

 

การบังคับใช้มาตรการแบบนี้โดยสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ ตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี จะไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman วิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” ในประชามติ

 

ทั้งรัฐบาลฝ่ายซ้ายกรีซ ฝ่ายซ้ายนอกรัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เสนอว่าประชาชนควรจะปฏิเสธมาตรการของสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในประชามติ และทุกคนอธิบายว่านอกจากมันจะทำลายชีวิตประชาชนกรีซแล้ว มันเป็นความพยายามของศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี ซึ่งในไทยเราเห็นรัฐบาลเผด็จการทหารใช้มาตรการแบบนี้ เช่นการโจมตี “30บาทรักษาทุกโรค” อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการโจมตีการที่รัฐช่วยเหลือคนจน

 

อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามบิดไปบิดมา หลอกตัวเองและประชาชน และสร้างความสับสนพอสมควร เพราะในการเจรจากับอียูมีการยอมจำนนในหลายเรื่องที่ไม่ควรยอม และมีการพยายามอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร ซึ่งแปลว่าต้องยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนอียู แนวทางของ “ไซรีซา” ดูเหมือนไม่มียุทธ์ศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และเน้นการตัดสินใจเฉพาะหน้าตลอด “ไซรีซา” เป็นพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูปที่กลัวการเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยม

 11667509_10206432657907955_3918985612875712957_n

ส่วนพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆมาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน คนหนุ่มสาวต้านทุนนิยมในแนวร่วม “แอนตาซียา” ร่วมรณรงค์ให้พลเมืองโหวต “OXI” (ไม่) ในวันอาทิตย์นี้

 

เราต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าประชาชนจะโหวตรับหรือไม่รับเงื่อนไขของอียูและไอเอ็มเอฟ เรื่องมันไม่ได้พึ่งเริ่ม และเรื่องมันจะไม่จบภายในวันเดียว ถ้าประชาชนโหวตรับเงื่อนไขอียู กลุ่มทุนใหญ่จะได้ใจและรัฐบาลอาจต้องลาออก ถ้าประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไข แกนนำ “ไซรีซา” ก็แค่นำคำตัดสินใจของประชาชนอันนี้เพื่อไปเจรจาต่อและคงจะประนีประนอมต่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาและโดยเฉพาะขบวนการแรงงานจะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปอย่างดุเดือดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน กรีซมีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายๆ ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และการที่ “แอนตาซียา” รักษาความอิสระจากรัฐบาล “ไซรีซา” ทำให้สามารถปลุกระดมคนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยสนับสนุน “ไซรีซา” และเริ่มผิดหวังไม่พอใจ

 

อย่างน้อยการจัดประชามติมีประโยชน์ในการทำให้ประชาชนกรีซตื่นตัวมากขึ้น

ทำไมเราควรคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

รัฐบาลเผด็จการทหารปัจจุบันกำลังผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ธรรมดาแล้วจะมีการคัดค้านและตรวจสอบจากประชาชนในยุคที่มีประชาธิปไตย ล่าสุดคือการนำมหาวิทยาลัยหลายแห่งออกนอกระบบ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยจากองค์กรภาครัฐ ให้เป็นองค์กรที่บริหารตนเองเหมือนธุรกิจเอกชน คือเน้นการหารายได้เองโดยการ “ขายวิชา” เพื่อลดงบประมาณรัฐ นโยบายดังกล่าวจะเป็นผลเสียต่อมาตรฐานทางวิชาการ และสภาพการจ้างงานของพนักงานและอาจารย์ นอกจากนี้จะเพิ่มการกีดกันนักศึกษายากจนโดยการขึ้นค่าเทอม คราวก่อนที่มีรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา มีการผลักดันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนจุฬาฯคัดค้าน รอบนี้มีการผลักดันให้ ม. เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น และธรรมศาสตร์ออกไป และมีการระบุด้วยว่าไม่ต้องปรึกษาใคร

การนำกลไกตลาดเข้ามาในมหาวิทยาลัยผ่านการออกนอกระบบ จะมีผลในการนำการแข่งขันแบบตลาดเข้ามาในระบบการศึกษา ทั้งๆ ที่มีการอ้างว่ามหาวิทยาลัยจะยังอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

ผลที่เห็นชัดเจนคือ จะมีการตัดค่าจ้างสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัยในรูปแบบทางอ้อมและทางตรง ค่าจ้างอาจดูเหมือนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ต้องแลกกับการตัดสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน ในขณะเดียวกันจะเพิ่มค่าจ้าง ผลประโยชน์ และอำนาจให้กับฝ่ายบริหาร อาจารย์บางคนที่ “ถูกประเมินว่าดี”  เพราะเลียก้นผู้บริหาร จะมีโอกาสพัฒนาอาชีพ ส่วนอาจารย์คนไหนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือไปขัดคอผู้บริหาร ก็จะไม่ได้รับการต่อสัญญาการจ้างงาน

จะมีการตัดรายวิชาที่ “ไม่คุ้มทุน” เพราะมีคนเลือกเรียนน้อย เช่นปรัชญา ทฤษฏีการเมืองฝ่ายที่ไม่ใช่กระแสหลัก วรรณคดีไทย ฟิซิกส์แนวทฤาฏี หรืออะไรที่ชวนให้นักศึกษาคิดเองเป็นต้น พร้อมกันนั้นจะมีการเพิ่มวิชาบริหารธุรกิจ วิชาที่ทำให้หางานเงินเดือนสูงได้ หรือวิชาที่จบง่ายๆ และรับประกันว่าไม่มีสอบตก เพื่อเอาใจนักศึกษาที่กลายเป็น “ลูกค้า” ในบางแห่งอาจมีกำเนิด “วิชาไร้สาระ” ที่ขายให้คนรวยได้ เช่น “กอลฟ์สำหรับผู้บริหาร C.E.O.” ซึ่งมีในมหาวิทยาลัยที่ประเทศออสเตรเลีย สรุปแล้วมหาวิทยาลัยจะมีความหลากหลายและทางเลือกทางวิชาการน้อยลง และมหาวิทยาลัยจะไม่เน้นผลิตนักคิดที่มีคุณภาพ แต่จะเน้นการเป็น “โรงงานผลิตคนเพื่อรับใช้นายจ้างและกลุ่มทุนใหญ่” มาตรฐานทางวิชาการก็จะลดลง

แน่นอนจะต้องมีการเพิ่มค่าเทอมและลดความช่วยเหลือจากรัฐ ตามลัทธิคลั่งกลไกตลาดเสรี ซึ่งคนที่เสียประโยชน์จะเป็นลูกหลานคนจน ซึ่งเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ บทสรุปจากการทำให้มหาวิทยาลัยเกี่ยวเข้ากับกลไกตลาดจากประเทศในยุโรปและที่อื่นๆ คือ สัดส่วนนักศึกษาจากครอบครัวกรรมาชีพลดลง เพราะต้นทุนการเรียนสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการอ้างว่าจะมีทุนพิเศษให้คนจนกู้ซึ่งไม่เคยเพียงพอ

ถ้าเราจะเข้าใจธาตุแท้ของแนวเสรีนิยมกลไกตลาด เราต้องใช้มุมมองชนชั้นมาจับ เพื่อให้เห็นว่าแนวเสรีนิยมกลไกตลาดเป็นแนวคิดที่รับใช้และมาจากผลประโยชน์ชนชั้นนายทุนล้วนๆ นักเสรีนิยมส่วนใหญ่มองว่าควรนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อที่จะลดภาระของรัฐในเรื่องการบริการการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาเชื่อว่าถ้ารัฐลดงบประมาณลงในเรื่องนี้ และในเรื่องการบริการคนจนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการรัฐหรือระบบสาธารณะสุข จะช่วยให้ธุรกิจเอกชนรุ่งเรือง และรัฐจะสามารถลดภาระภาษีที่เอกชนและคนรวยจ่าย

นักเสรีนิยมกลไกตลาดที่มีสมองบางคน จะไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยต้องสูญเสียรายได้จากการลดงบประมาณรัฐ เพราะเขามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ดังนั้นเขาจึงหวังว่ามหาวิทยาลัยจะหารายได้เองมาทดแทนส่วนที่ลดลงจากรัฐ การหารายเสริมได้ดังกล่าวจะมาจากการเก็บค่าเล่าเรียนแพงขึ้นและ การรับเหมาทำการวิจัย หรือการขายวิชาและปริญญา ซึ่งในที่สุดมีผลในการทำลายมาตรฐานทางวิชาการสำหรับสังคมทั่วไปอยู่ดี

การมีเสรีภาพทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาของไทยควรจะเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ส่งเสริม แต่ภายใต้เผด็จการและวิกฤตการเมืองที่เป็นผลพวงของรัฐประหารสองรอบ มหาวิทยาลัยของเราขาดเสรีภาพไปมาก ดูได้จากพฤติกรรมของฝ่ายบริหารต่อขบวนการนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ และดูได้จากการลงโทษอาจารย์ก้าวหน้าที่ต่อต้านเผด็จการ ตราบใดที่ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในไทยที่จะมีคุณภาพเทียบเท่ามหาวิทยาลัยดีๆ ในต่างประเทศได้

ที่สำคัญคือ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กฏเกณฑ์ในการบริหารจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยถูกกำหนดไว้โดยระบบราชการ หลังการออกนอกระบบผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะกลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือพนักงานทุกคน จะเป็น C.E.O.ใหญ่ และสามารถใช้อคติทางการเมืองเพื่อให้คุณให้โทษกับอาจารย์หรือพนักงานได้ โดยไม่มีการตรวจสอบอะไรเลย แถมมีการเขียนกฏเกณฑ์ห้ามไม่ให้อาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อตั้งสหภาพแรงงาน เหมือนที่อาจารย์ในตะวันตกมี สภาพแบบนี้ก็จะยิ่งลดเสรีภาพลงและเพิ่มอำนาจผู้บริหารให้มากขึ้น

จะเห็นว่าการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไปได้ดีกับเผด็จการทางการเมืองและเผด็จการของแนวเสรีนิยมกลไกตลาด และการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในรอบสิบปีที่ผ่านมาในไทย เกิดขึ้นภายใต้อำนาจมืดของทหารทั้งสิ้น

องค์กร TDRI คลั่งตลาดเสรี เพื่อปกป้องสลิ่มกับอำมาตย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

“สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ออกมาแสดงความเห็นเป็นประจำเรื่องเศรษฐกิจไทย แต่ทุกคำที่ออกมาจากปากนักวิจัยขององค์กรนี้ ล้วนแต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคลั่งตลาดเสรี เสมือนของเสียที่ไหลออกมาจากท่อน้ำเน่าอย่างต่อเนื่อง

water-pollution-pipe

ก่อนหน้านี้ TDRI เคยออกมาด่าโครงการจำนำข้าว การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายสาธารณะสุขฟรี  ระบบรัฐสวัสดิการ และการใช้งบประมาณรัฐในการช่วยเหลือประชาชน ในขณะเดียวกันก็เสนอให้เก็บภาษีจากคนจนมากขึ้นในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย และมีการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เอกชนด้วย

ล่าสุด TDRI ประกาศว่าประเทศไทย “ต้อง” พัฒนาโดยเน้นให้รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด และบริการประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อทำหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอกชนและกลุ่มทุน พูดง่ายๆ TDRI มองไม่เห็นความสำคัญของประชาชน และมองไม่เห็นว่ามูลค่าที่กลุ่มทุนไทยสะสมมานาน มาจากการทำงานของประชาชนทั้งนั้น

เวลา TDRI อ้างว่า “ไม่มีอะไรดีกว่ากลไกตลาดเสรี” เขาจำเป็นต้องปิดหูปิดตาถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีการฟื้นตัวเลย วิกฤตนี้มาจากข้อบกพร่องในตัวมันเองของกลไกตลาดเสรีและการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตรากำไร การลดลงของการลงทุน ปรากฏการณ์ฟองสบู่ และในที่สุดทำให้มีการตกงานและลดมาตรฐานการจ้างงานทั่วโลกตะวันตก วิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ของไทยที่เกิดก่อนหน้านั้น ก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน

TDRI จึงเหมือนหมอเถื่อนที่ให้ยาพิษกับคนไข้จนป่วยหนัก แล้วเสนอให้เรากินยาพิษเพิ่ม

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 รัฐบาลจีนใช้รัฐและการลงทุนของรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ ซึ่งมีผลในการชะลอวิกฤตบ้าง และช่วยประเทศที่อาศัยการส่งออกไปจีน รัฐบาลสหรัฐก็ใช้งบประมาณรัฐในการ “พิมพ์เงินเพิ่ม” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลทั่วโลกต้องใช้ภาครัฐในการกู้ระบบธนาคารที่ล้มเหลวจากระบบตลาด ดังนั้นการมองโดย TDRI ว่า “ภาคเอกชนและกลไกตลาดเสรีมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ” เป็นการเพ้อฝันที่ไม่มีหลักฐานรองรับเลย

ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกกำลังหดตัวลงมากขึ้น เพราะรัฐใหญ่ๆ อย่างจีนและสหรัฐ ตัดสินใจเลิกพยุงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เข้าสู่วิกฤตอีกรอบ

ในโลกแห่งความเป็นจริง ระบบสำคัญๆ ที่ใช้ในการบริการประชาชนส่วนใหญ่ เช่นระบบสาธารณะสุข การศึกษา ระบบรถไฟ และการดูแลคนชรา มักมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเป็นของรัฐ ระบบสาธารณะสุขเอกชนของสหรัฐอเมริกาเปลืองงบประมาณมากกว่าสองเท่าของระบบรัฐในอังกฤษหรือในประเทศอื่นของยุโรป และที่สำคัญคือการนำกลไกตลาดเข้ามาบริการประชาชน จะไม่สามาระบริการคนจนจำนวนมากได้ เพราะตลาดมองเห็นแต่เงิน มองไม่เห็น ”คน” และพร้อมกันนั้นมีการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากมายในการคิดบัญชี แทนที่จะเน้นการบริการผู้ที่มีความต้องการแท้ในสังคม นี่คือสาเหตุที่คนจนจำนวนมากในสหรัฐมีระบบสาธารณะสุขที่มีคุณภาพต่ำกว่าประเทศยากจน

ในยุคนี้ หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีมาหลายทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ รายได้ของคนทำงานตกต่ำ ในขณะที่คนรวยกอบโกยผลประโยชน์เพิ่มตลอดเวลา

มันน่าสังเกตว่า ในขณะที่องค์กรคลั่งตลาดอย่าง TDRI ต่อต้านการใช้งบประมาณรัฐที่มาจากภาษีและการทำงานของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน  แต่ TDRI จะเงียบเฉยต่อการใช้งบประมาณรัฐสำหรับกองทัพ หรือสำหรับความสะดวกสบายของคนชั้นสูงหรือแม้แต่พิธีกรรมใหญ่หลวงระดับชาติ มันเป็นสองมาตรฐานที่ชัดเจน

ประเด็นที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดคลั่งกลไกตลาดเสรีของ TDRI เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับสลิ่มชนชั้นกลาง กองทัพ พวกอำมาตย์ และกลุ่มทุนใหญ่ มันตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับผลประโยชน์ของพลเมืองผู้ทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนี่คือสาเหตุที่รัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 19 กันยาถึงทุกวันนี้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพวกโจรที่กำลังอ้างว่าจะปฏิรูปประเทศไทย ถึงชื่นชมแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนี้เสมอ ทังๆที่บางครั้งเขากลัวประชาชนจนต้องป้อนผลประโยชน์ให้เราเล็กๆ น้อยๆ

กลไกตลาดเสรีเป็นระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มการกดขี่ขูดรีด และไปได้สวยกับระบบเผด็จการ และ TDRI เป็นปากเสียงให้กับระบบนี้

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ เป็นเรื่องดี แต่การด่า “ประชานิยม” เป็นแค่การสนับสนุน “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

การถกเถียงในวง เอ็นจีโอ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเรื่องดี เพราะควรจะมีการทบทวนบทบาท เอ็นจีโอ ในเรื่องการร่วมทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา และในเรื่องท่าทีต่อรัฐบาลทหาร รวมถึงการปฏิรูปจอมปลอมอีกด้วย บ่อยครั้งในอดีต รุ่นพี่ เอ็นจีโอ มักจะปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางการเมืองด้วยระบบอาวุโส และบ่อยครั้งการถกเถียงมักจะออกมาในรูปแบบความขัดแย้งส่วนตัว แทนที่จะเป็นเรื่องหลักการ

แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นจะไร้ประโยชน์ถ้าไม่ก้าวพ้นการสร้างภาพว่า เอ็นจีโอ ปฏิเสธทฤษฏีการเมืองหรือเศรษฐศาสตร์ในขณะที่รับทฤษฏีเสรีนิยมของนายทุนมาใช้โดยไม่มีการวิจารณ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ควรมีการทบทวนท่าทีต่อชาวบ้านจำนวนมากที่เป็นคนเสื้อแดง แทนที่จะดูถูกประชาชนว่าเลือกพรรคการเมืองของทักษิณ เพราะ “เข้าไม่ถึงข้อมูล”

นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนสร้างงาน การพักหนี้ชาวบ้าน บ้านเอื้ออาทร หรือโครงการจำนำข้าว ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยนานแล้ว และคนที่ด่านโยบายดังกล่าวว่าเป็นเพียง “ประชานิยม” ที่เลวร้าย เป็นแค่คนที่ท่องสูตรแนวเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี หรือ “เสรีนิยมใหม่” ที่คัดค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาสภาพชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่

พวกเสรีนิยมใหม่ทั่วโลก มักจะเงียบเฉยต่อการใช้เงินรัฐมหาศาลในทางทหาร หรือพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธิ์ชน หรือสำหรับการลดภาษีให้คนรวยและกลุ่มทุน เพราะทฤษฏีกลไกตลาดเสรีเข้าข้างกลุ่มทุนและคนรวยเสมอ อีกด้านหนึ่งของแนวคิดแบบนี้คือการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจให้กับทุนเอกชน การเสนอให้กดค่าแรง การเสนอให้ตัดอำนาจสหภาพแรงงานด้วยกฏหมายหลายชนิด และการเสนอให้คนจนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือแม้แต่การทำลายรัฐสวัสดิการในยุโรป

ดังนั้นการที่แกนนำ เอ็นจีโอ อย่าง กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เขียนจดหมายถึงเพื่อน เอ็นจีโอ เพื่อวิจารณ์การร่วมมือในโครงการ “ปฏิรูป” ของทหารนั้น ถึงแม้ว่าการวิจารณ์ดังกล่าวถูกต้อง 100% แต่การพ่วงคำวิจารณ์นี้กับการด่า “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ แสดงว่าคนอย่าง กิ่งกร ยังยึดถือแนวคิดของฝ่ายขวาที่ปูทางไปให้ความชอบธรรมกับการทำลายประชาธิปไตยโดยเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหารของทหาร

มันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อ คุณกิ่งกร เอ่ยถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นคำศัพท์ไร้สาระของฝ่ายต้านประชาธิปไตย และเป็นการปูทางไปสู่ความคิดที่ถือว่าเผด็จการทหารไม่แย่ไปกว่า “เผด็จการรัฐสภา”

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นแนวคิดที่ดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองธรรมดาที่ไปเลือกรัฐบาลทักษิณ และไม่ต่างจากการดูถูกนโยบายช่วยคนจน โดยการมองว่าคนจนเรียกร้องอะไรที่ทำให้ประเทศชาติ “เสียหาย” หรือการมองว่านโยบายดังกล่าวสร้างวัฒนธรรม “พึ่งพา” ในหมู่ชาวบ้าน

แนวคิด “เผด็จการรัฐสภา” เป็นข้ออ้างในการสร้างเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน เหนือคนส่วนใหญ่ และในประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยรัฐสภาทั่วโลก คนส่วนใหญ่มักยอมรับมติของคนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นการมีผู้แทนเสียงข้างมากในสภาของพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ในขณะเดียวกับที่มีการเผยแพร่จดหมายของ คุณกิ่งกร องค์กร “กป อพช.” ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารหยุดคุกคาม เอ็นจีโอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่ยอมเข้ากับกระบวนการ “ปฏิรูป” ของเผด็จการ ซึ่งก็ดีระดับหนึ่ง แต่แถลงการณ์นี้หมดความหมายเมื่อ กป อพช. ยังแสดงความหวังว่าทหารจะฟังเสียงประชาชนในกระบวนการปฏิรูปปลอมอันนี้ และทหารต้องการปรองดอง

เราโชคดีที่ กป อพช. ภาคอีสานออกมาเตือน กป อพช.ส่วนกลาง และล่าสุด วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ กป อพช. ก็ได้เขียนจดหมายลาออก เพราะไม่พอใจความไร้จุดยืนของ กป อพช. ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” “ความเป็นธรรม” ” การมีส่วนร่วม”

คำถามคาใจเกี่ยวกับพฤติกรรม เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่คือ มันยากที่จะเข้าใจหรือ ว่าเผด็จการทหารมันเกี่ยวกับการทำลายประชาธิปไตย และตรงข้ามกับการฟังเสียงประชาชน? มันอยากที่จะเข้าใจแค่ไหน ว่าทหารไม่สนใจปรองดอง แต่ต้องการปราบปรามผู้ที่รักประชาธิปไตยและคิดต่างมากกว่า?

สำหรับแกนนำ เอ็นจีโอ หลายคน มันอาจยากที่จะเข้าใจหลายประเด็นทางการเมือง เพราะพวกนี้หันหลังให้กับการศึกษาทฤษฏีการเมืองตั้งแต่หลังป่าแตก ดังนั้นเขาจึงไปกอดแนวเสรีนิยมกลไกตลาดแบบง่ายๆ โดยไม่รู้เรื่อง หรือไม่สนใจ ว่ามันเข้าข้างคนรวยและกลุ่มทุน และการที่พวกนี้ปฏิเสธ “การเมือง” กับการสร้างพรรคการเมืองของคนจนและกรรมาชีพ พร้อมกับปฏิเสธ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ทำให้เขาไร้พลังมวลชนที่จะเคลื่อนไหวได้ และในที่สุดก็ไปเข้ากับชนชั้นกลางสลิ่ม และหลายส่วนก็ไปเชียร์รัฐประหารอีกด้วย

แล้วเสรีภาพกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีได้อย่างไร ถ้าประเทศไทยยังใช้กฏหมาย 112 ในการปราบคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการ เมื่อไร เอ็นจีโอ จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอันนี้สักที?

ปัญหาที่แท้จริงของนโยบายรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือเป็นการช่วยคนจนในราคาถูก คือไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน เพื่อนำเงินนั้นมาบริการประชาชนที่สร้างมูลค่าทั้งหมดในสังคมแต่แรก พร้อมกันนั้นไม่ยอมลดงบประมาณพิธีกรรมและทหาร และมีการปฏิเสธการสร้างรัฐสวัสดิการครอบวงจรอีกด้วย แต่การไปด่านโยบายดังกล่าว ด้วยแนวคิดและวาจาของฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสลิ่ม ไม่ใช่คำตอบ เราต้องสร้างสังคมที่ดีกว่าสังคมสมัยไทยรักไทย ไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคมืด

ถ้า เอ็นจีโอ ควรทบทวนตนเอง ฝ่ายเสื้อแดงก็ควรทบทวนตนเองด้วย เพราะการไม่สร้างพลังที่อิสระจาก นปช. และทักษิณ ในหมู่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ทำให้เราล้มเผด็จการและลบผลพวงทั้งหมดของการปฏิรูปจอมปลอมยากขึ้น

นี่คือสาเหตุที่กรรมาชีพคนทำงาน และเกษตรกรรายย่อย ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของตนเอง และต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวที่อิสระจากนายทุนหรือคนใหญ่คนโตอีกด้วย

25 ปีหลังกำแพงเมืองเบอร์ลินพังลงมา

25 ปีผ่านไปแล้วหลังการล่มสลายของระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ในยุโรปตะวันออก และสัญญลักษณ์สำคัญของเหตุการณ์นั้นคือการที่กำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ต้องพ่ายแพ้สงคราม เยอรมันถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนที่ปกครองโดย สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรในการรบกับเยอรมัน แต่พอเกิดการแข่งขันอย่างหนักในสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับรัสเซียในภายหลัง เยอรมันก็ถูกแบ่งเป็นสองซีกคือเยอรมันตะวันตก ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทุนนิยม กับเยอรมันตะวันออกที่เป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ภายใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์

กำแพงเมืองเบอร์ลินเป็นกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีข้ามฝั่งไปสู่เบอร์ลินตะวันตก การปิดกั้นประชาชนแบบนี้พิสูจน์ว่าสังคมในเยอรมันตะวันออกไม่ใช่ “สังคมนิยม” ตามแนว มาร์คซ์ เลนิน ตรอทสกี้ แต่เป็นระบบเผด็จการแนวสตาลิน ซึ่งไม่ต่างจากเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน เพราะถ้าเป็นสังคมนิยมจริงจะมีการเน้นคุณภาพชีวิตและการผลิตเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ ประชาชนก็คงจะอยากเดินทางเข้ามาตั้งที่อยู่อาศัยในสังคมแบบนั้น ไม่ใช่พยายามหนีออกนอกประเทศ

ระบบสังคมนิยมแบบมาร์คซิสต์ เป็นระบบที่ชนชั้นกรรมาชีพ หรือผู้ทำงาน มีอำนาจในการควบคุมทั้งเศรษฐกิจและการเมืองด้วยระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ มันเคยเกิดขึ้นในโลกในแค่ช่วงเวลาสั้นหลังการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 ก่อนที่การปฏิวัติครั้งนั้นจะถูกทำลายโดยการขึ้นมาของสตาลิน สาเหตุสำคัญของการขึ้นมาของสตาลินคือการที่รัสเซียไม่สามารถขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเช่นเยอรมัน สังคมนิยมรัสเซียจึงโดดเดี่ยวในโลกทุนนิยม

เผด็จการสตาลินเป็นเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมาชีพผ่านระบบรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เพราะไม่มีการผลิตเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจกำหนดเศรษฐกิจอีกด้วย

ในขณะที่ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ ทุนนิยมตลาดเสรีในประเทศตะวันตกก็เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่มีประชาธิปไตยทางการเมือง คือระบบเศรษฐกิจในทุนนิยมตลาดเสรีถูกควบคุมโดยนายทุนใหญ่และกลุ่มทุน โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์กำหนดอนาคตตนเอง และแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องก้มหัวให้นายทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

25 ปีที่แล้ว เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น และหลังระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ก็จะมีนักวิชาการกระแสหลักออกมาพูดว่านี่คือจุดจบของประวัติศาสตร์ เพราะในความเห็นของเขาทุนนิยมตลาดเสรีถูกพิสูจน์ว่าได้รับชัยชนะ พวกนี้จะมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลไกตลาดของทุนนิยม และนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งก็จะอ้างว่าหลังจากนั้นจะมีแต่การพัฒนาประชาธิปไตยโดยที่ไม่มีสงคราม แต่คำทำนายทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์ว่าไร้สาระโดยสิ้นเชิง

การใช้กลไกตลาดเสรีในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ และในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งทำให้เกิดการกบฏ ประท้วง และปฏิวัติในหลายประเทศ และ 20 ปีหลังกำแพงเมืองเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจตะวันตก ก็เข้าสู่วิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญคือวิกฤตทุนนิยมครั้งนี้เกิดจากการแข่งขันในตลาดของทุนนิยม ที่นำไปสู่การลดลงของอัตรากำไรและการผลิตล้นเกิน อย่างที่ คาร์ล มาร์คซ์ อธิบายในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ผลคือมีการถอยหลังไปทำลายรัฐสวัสดิการและคุณภาพชีวิตประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้โลกก็จมอยู่ในสภาพสงครามอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรปและที่อื่น ก็ขยับไปทางขวา รับแนวกลไกตลาดเสรีมาใช้ จนแยกไม่ออกว่ามีนโยบายที่แตกต่างกันตรงไหน ซึ่งทำให้มีวิกฤตแห่งศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก และการขยายตัวของฝ่ายซ้ายก้าวหน้าในบางประเทศ กับการขยายอิทธิพลของพวกฟาสซิสต์ขวาจัดในประเทศอื่นๆ

ในไทย หลังกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง พวกฝ่ายซ้ายเก่าจำนวนมาก ที่เคยอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ประกาศว่า “สังคมนิยมหมดยุค” ส่วนหนึ่งไปจับมือกับทักษิณในการสร้างพรรคไทยรักไทย อีกส่วนก็หันหลังให้กับคนจนไปเลย โดยไปอยู่กับพันธมิตรฯเสื้อเหลืองและฝ่ายขวาที่เลียทหารเผด็จการ

แต่สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในความจริงเรามีทางเลือกมากกว่าแค่สองทางที่เลือกระหว่าง เผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ กับ เผด็จการทุนนิยมตลาดเสรี ทางเลือกที่สามคือการสร้างขบวนการสังคมนิยมจากล่างสู่บน เพื่อให้กรรมาชีพและคนจนสามารถเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยไม่ต้องไปพึ่งพวกอภิสิทธิ์ชนหรือนายทุน นี่คือแนวทางที่เราควรจะเลือกเพื่อก้าวพ้นความตันทางการเมืองที่เราเห็นในประเทศไทย หรือในประเทศอื่นเกือบทุกประเทศ

 

พวกเสรีนิยมกลไกตลาดต้องการขยายเวลาขูดรีดเรา

เรื่องอายุเกษียณ และสวัสดิการสำหรับคนชรา เป็นเรื่องที่นักสหภาพแรงงานไทยควรจะเข้าใจอย่างละเอียด เพื่อโต้นักวิชาการฝ่ายทุน เช่นพวกคลั่งกลไกตลาดใน “ทีดีอาร์ไอ”

ทุกวันนี้นักวิชาการและนักการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาด กำลังเสนอว่าคนชราในสังคม “เป็นภาระ” เพราะดันทะลึ่งไปมีสุขภาพดีและอายุยืนนานกว่าสมัยก่อน ความคิดนี้นอกจากจะไม่ระลึกถึงบุญคุณที่เราควรจะมีต่อคนทำงานรุ่นก่อนแล้ว ยังเป็นการโกหกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิชาการคลั่งเสรีนิยมกลไกตลาด จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่าไทยต้อง “รับมือกับสังคมสูงอายุ” เพราะ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศจะเป็นผู้สูงอายุภายในปี 2573

ตัวเลขของ “ทีดีอาร์ไอ” ถูกเสนอแบบกลับหัวกลับหาง เพราะในความเป็นจริง พอถึงปี พ.ศ. 2573 ในประเทศไทยจะมีคนในวัยทำงาน 3 คนต่อคนชรา 1 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่น่ากลัวเลย ถ้าพิจารณาการพัฒนาเท็คโนโลจีและประสิทธิภาพการผลิต คนในวัยทำงาน 3 คนสามารถสร้างมูลค่าเพื่อดูแลคนเกษียณ 1 คนได้ง่ายมาก แต่สื่อกระแสหลัก รวมถึง “ประชาไท” ไม่เคยตรวจสอบและวิจารณ์อคติของนักวิชาการเหล่านี้เลย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าพวกนักวิชาการกลัวว่าไทยจะขาดแรงงานในวัยทำงาน มันมีวิธีแก้ไขที่ง่ายมากคือเปิดประเทศและต้อนรับแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามา และรับเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย เพราะเขาจะสร้างมูลค่าและจ่ายภาษีเหมือนแรงงานไทย แต่พวกเสรีนิยมและพวกที่เลียเผด็จการทหาร ต้องการกีดกันคนจากประเทศเพื่อนบ้านเสมอ

สิ่งที่พวกนักวิชาการฝ่ายทุนใน “ทีดีอาร์ไอ” กลัวคือ กลุ่มทุนใหญ่และรัฐบาลจะต้องคืนส่วนแบ่งของมูลค่าในสังคมให้กับคนเกษียณมากขึ้น คือกลุ่มทุนอาจต้องลดกำไรไปบ้าง และรัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณดูแลคนชราจากการเก็บภาษี

กำไรของกลุ่มทุนทุกบาท และภาษีที่รัฐเก็บนั้น ทั้งหมดเป็นมูลค่าที่คนทำงานสร้างขึ้นแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งที่นายทุน เศรษฐี หรือรัฐบาลสร้างแต่อย่างใด

นักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล มาร์คซ์ และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่าง เดวิด ริคาร์โด ค้นพบมานานแล้วว่ามูลค่าทั้งปวงในสังคมมนุษญย์มาจากการทำงานของกรรมาชีพ แต่นายทุน เจ้าของที่ดิน และรัฐบาล ยึดส่วนเกินไปเป็น กำไร ค่าเช่า และภาษี

เงินบำเหน็จบำนาญของคนชรา เป็นเงินที่พวกเราสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นการออมค่าจ้างของเรา มันเป็นของเราและไม่มีใครอื่นให้เรา

แต่ทั่วโลกพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีอย่าง “ทีดีอาร์ไอ” กำลังเสนอว่าบำเหน็จบำนาญของคนชรา “แพงเกินไป” ในยุโรปความเชื่อนี้นำไปสู่การยืดเวลาทำงาน มีการพยายามขยายอายุเกษียนถึง 65 หรือ 67 และมีการกดระดับสวัสดิการอีกด้วย มันเป็นการทำลายคุณภาพชีวิตประชาชน

การบังคับให้เราต้องทำงานนานขึ้นก่อนการเกษียณ หรือการขยายชั่วโมงการทำงานทุกสัปดาห์ เป็นการเพิ่มเวลาเพื่อขูดรีดเราในขณะที่เราทำงาน เพื่อให้นายทุนกอบโกยกำไรเพิ่ม แต่ไม่มีการเพิ่มอัตราค่าจ้างแต่อย่างใด

ในประเทศไทยนอกจากจะมีทรัพย์สินมหาศาลกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่ตระกูลแล้ว ยังมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสำหรับงบทหารและงบพิธีกรรมต่างๆ และพร้อมกันนั้นคนรวยเกือบจะไม่จ่ายภาษีเลยเมื่อเทียบกับรายได้

ข้อมูลที่พวกเสรีนิยมนำมาใช้เพื่อสนับสนุนความเชื่อเท็จนี้ คือสัดส่วนระหว่างคนทำงานกับคนชราที่ลดลง แต่สิ่งที่พวกเสรีนิยมไม่เคยอยากพิจารณาคือในขณะที่สัดส่วนคนทำงานลดลง ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าใน 50ปีข้างหน้าคนทำงานจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉลี่ยสองเท่า ซึ่งแปลว่าคนทำงานสามารถเลี้ยงดูคนชราได้มากขึ้นสองเท่า นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและกลุ่มทุนลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และรัฐบาลไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก และแนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อให้ฝ่ายนายทุนได้ส่วนแบ่งมากขึ้นจากคนทำงาน นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ

อีโบลา เป็นวิกฤตที่ไม่ควรจะเกิดแต่แรก

ในปี 1977 ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยม ค้นพบไวรัสอีโบลาในประเทศไซเอียร์ ประเทศหนึ่งในอัฟริกาตะวันตก ในปีนั้น พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยนี้แนะนำให้องค์กรต่างประเทศต่างๆ ทำการตรวจประชาชนและควบคุมการระบาดของโรคนี้แต่แรก เพื่อไม่ให้มันลามต่อไปได้ แต่ไม่มีใครฟัง เพราะประเทศต่างๆ ในอัฟริกาตะวันตกเป็นประเทศยากจนที่ “ไม่มีความสำคัญ” ในเวทีโลก เกือบ 40 ปีหลังจากนั้นก็เกิดการระบาดครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งตอนนี้คาดว่าจำนวนคนไข้ที่ตายจากอีโบลารอบนี้สูงกว่า 4000 คนแล้ว

อีโบลาเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิด “ไข้เลือดออก” ชนิดหนึ่ง ประเมินกันว่ามาจากค้างคาวและธรรมดาไม่ได้เป็นโรคของมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่มนุษย์ไม่มีภูมิต้านทาน อาการของอีโบลาในระยะแรกๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่คือไข้สูง อาเจียนและเจ็บคอ แต่ในไม่ช้าจะมีอาการเลือดออกทางหูหรือจมูกและในอวัยวะภายในอีกด้วย ซึ่งจบลงด้วยการที่ไตและตับเลิกทำงาน เกือบครึ่งหนึ่งของคนไขจะเสียชีวิต

ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท ซึ่งขณะนี้เป็นคณบดี “วิทยาลัยอนามัยและโรคเมืองร้อนของลอนดอน” อธิบายว่าอีโบลาไม่ใช่โรคที่ติดง่ายๆ ผ่านหยดน้ำในอากาศเหมือนไข้หวัดใหญ่ เขาพูดว่า “ถ้ามีคนไข้ติดเชื้ออีโบลานั่งข้างๆ ผมบนรถไฟใต้ดิน ผมจะไม่กังวลถ้าคนไข้คนนั้นไม่อาเจียนใส่ผม” อีโบลาติดได้จากของเหลว เช่นเลือด อาเจียน หรือน้ำลาย และอาจติดจากเหงื่อคนไข้ได้ แต่ของเหลวเหล่านี้ต้องเข้าปากหรือจมูกเรา อย่างไรก็ตามไวรัสนี้แปรตัวได้ถ้ามีการแพร่ระบาดไปในหมู่คนจำนวนมาก

ระยะเวลาเพาะเชื้อใช้เวลาประมาณ 21 วัน และในช่วงนี้คนไข้จะไม่มีอาการและเราติดเชื้อจากเขาไม่ได้

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีวิกฤตอีโบลา

ในประการแรก ประเทศพัฒนาและบริษัทยาข้ามชาติ ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหามาเกือบ 40 ปี และในกรณีบริษัทยาข้ามชาติ การผลิตวัคซีนสำหรับอีโบลาไม่ก่อให้เกิดกำไร เพราะคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นคนจนผิวดำ ข้อมูลนี้ทำให้เราเข้าใจได้ดีว่ากลไกตลาดเสรีและบริษัทยาเอกชน ไม่เคยบริการความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในโลก เพราะเรื่องกำไรเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่ง

ในประการที่สอง ไลบีเรีย เซียราลีโอน และกินนี ตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองโหดร้ายในอดีต เพราะมีการแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุโดยขุนศึกที่มีบริษัทตะวันตกหนุนหลังหรือเป็นลูกค้า ระบบสาธารณะสุขจึงเกือบจะไม่มีหรือด้อยพัฒนามาก เผด็จการในหลายประเทศก็ไม่สนใจผลประโยชน์คนจน เพราะไม่จำเป็นต้องขึ้นมามีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง

ในประการที่สาม องค์กรไอเอ็มเอฟ และองค์กรที่เชิดชูนโยบายกลไกตลาดเสรี (ในไทย TDRI เป็นองค์กรแบบนี้) มักจะกดดันให้รัฐบาลในประเทศยากจน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งมีผลในการทำลายระบบสาธารณะสุขและสาธารณูปโภค เช่นระบบแจกจ่ายน้ำสะอาดหรือไฟฟ้า ในเมืองหลวงของไลบีเรียไม่มีโรงพยาบาลของรัฐแม้แต่แห่งเดียว และในหลายประเทศต้องมีการพึ่งพาหมออาสาสมัครของ “แพทย์ไร้พรมแดน” หรือจากประเทศคิวบา

สภาพย่ำแย่ของระบบสาธารณะสุขในหลายประเทศของอัฟริกาตะวันตก รวมถึงการที่หมอและพยาบาลขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัว ทำให้อีโบลากลายเป็นวิกฤต เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วการรักษาและการป้องกันการแพร่ระบาดจะทำได้อย่างจริงจัง ส่วนในไลบีเรียหรือที่อื่นในอัฟริกาตะวันตก หมอและพยาบาลล้มตายไปจำนวนมากหลังจากที่ดูแลคนไข้

ในระยะสั้นคงต้องมีการเร่งผลิตยารักษาและวัคซีน ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและยังไม่พร้อมที่จะถูกใช้อย่างปลอดภัย เพื่อให้คนไข้ได้รับทันที เพราะขณะนี้หมอกับพยาบาลได้แต่ให้น้ำเกลือ และต้องมีการเร่งส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์จากประเทศที่ร่ำรวย แต่รัฐบาลของมหาอำนาจไม่สนใจจะแก้ปัญหาอีโบลาเท่าไร พร้อมจะลงทุนมหาศาลในการก่อสงคราม แต่ไม่พร้อมจะป้องกันไม่ให้คนทั่วไปตายจากโรคร้าย

อีโบลาและโรคระบาดร้ายแรงอื่นๆ พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเรื่องการแพทย์กับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจแยกกันไม่ออก และภายใต้ระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรี คนจน คนผิวดำ และผู้ถูกกดขี่อื่นๆ มักจะไม่ได้รับการบริการแต่อย่างใด ทุนนิยมมองไม่เห็นหัวมนุษย์ เราจึงต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสังคมนิยมและประชาธิปไตยแทน