Tag Archives: การต่อสู้กับเผด็จการ

ความสำคัญของแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของ ลีออน ทรอตสกี้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์แต่ยังมีความสำคัญกับการต่อสู้ทั่วโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือมันนำไปสู่การเน้นบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเป้าหมายที่จะปฏิวัติสังคมนิยม

ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางฟิวเดิลที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมันหรือรัสเซีย แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี 1848 ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมสมัยนั้น ชนชั้นนายทุนกลัวกรรมาชีพมากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮืออย่างเด็ดขาด มาร์คซ์ผิดหวังกับชนชั้นนายทุนในปี 1848 และสรุปว่าหลัง1848เป็นต้นไป ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน มาร์คซ์เป็นคนแรกที่เขียนว่ากรรมาชีพต้อง “ปฏิวัติถาวรไปเลย!”

แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?

มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตย (หรือที่บางคนเรียกว่า “ประชาชาติประชาธิปไตย”) เพราะกรรมาชีพจะยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป  ดังนั้นควรจะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม “อย่างถาวร”          

มาร์คซ์เขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนประชาธิปไตยสองหน้า ที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง… คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ‘ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!’”

กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์ อาจจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อล้มเผด็จการในช่วง๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือยุคเสื้อแดง เพราะเป้าหมายในการต่อสู้กับเผด็จการในไทย ไม่เคยเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมเลย

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนไว้ในหนังสือ “สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย”) ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ในปี 1917 ใน “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” ของเลนิน เขาเปลี่ยนใจและหันมาเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน “การปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์

ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมสู้อย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ทรอตสกี้ เขาเสนอการปฏิวัติถาวรตามแนวคิดของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ก่อนที่เลนินจะเสนอ “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” 11ปี สาเหตุสำคัญที่ทรอตสกี้มองว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสามารถก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในรูปแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยผ่านนั้น ก็เพราะทุนนิยมได้ขยายไปเป็นระบบโลกและเข้ามามีอิทธิพลหลักในประเทศล้าหลังทั่วโลก แต่การเข้ามามีลักษณะร่วมกับทุนนิยมทั่วโลกและในขณะเดียวกัน “ต่างระดับ” ตัวอย่างเช่นการที่รัสเซียประกอบไปด้วยเกษตรกรจำนวนมากที่อยู่ในสภาพล้าหลังแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าพอๆ กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่ถ้าการปฏิวัติถาวรจะสำเร็จในประเทศล้าหลัง ต้องมีการขยายการต่อสู้ไปในระดับสากล

พวก “เมนเชวิค” ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปในรัสเซียสมัย 1917 ยังคงเชื่อว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมและไม่ก้าวข้ามไปสู่สังคมนิยม ดังนั้นเมนเชวิคจะสนับสนุนนักการเมืองนายทุนและการทำสงครามกับเยอรมันต่อไป ในขณะที่บอลเชวิคของเลนินและทรอตสกี้ยุติสงครามและล้มรัฐสภาของนายทุนเพื่อสร้างสภาคนงานแทน

ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่นโดยเฉพาะนายทุน และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เพราะขยายในลักษณะสากลไปสู่เยอรมันและประเทศพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็สตาลินขึ้นมามีอำนาจและทำลายความก้าวหน้าที่มาจากการปฏิวัติจนหมดสิ้น เพื่อสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ในรัสเซีย สตาลินเรียกระบบนี้ว่า “สังคมนิยมในประเทศเดียว” และใช้แนวชาตินิยมแทนแนวสากลนิยม ต่อจากนั้นสตาลินเสนอกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกหรือด้อยพัฒนา ว่าต้องตั้งเป้าไว้เพื่อหยุดที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหรือ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นายทุน “ที่รักชาติ” แทนนที่จะสู้เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม

สาเหตุที่สตาลินหันกลับมาเสนอจุดยืนของพวกเมนเชวิค หรือจุดยืนเก่าที่เลนินทอดทิ้งไป ก็เพื่อหวังผูกไมตรีกับประเทศทุนนิยมตะวันตก หรืออย่างน้อยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น เพราะในความเห็นของเขาความมั่นคงของรัสเซียสำคัญกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากล

สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนาภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของทรอตสก้ที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป  สตาลินจำต้องฆ่าทรอตสกี้และลบใบหน้าของเขาออกจากรูปถ่ายต่างๆ ที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์ก็คล้อยตามแนวของสตาลิน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งถือนโยบายตามแนวคิดของ สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ก็เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม (ประชาชาติประชาธิปไตย) และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ  พคท. ถึงกับทำแนวร่วมกับจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะถูกสฤษดิ์ปราบ

ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยในไทยที่เชื่อแนวนี้อยู่ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เคยเข้าไปในพรรคไทยรักไทยและยอมรับการนำของนายทุนอย่างทักษิณ  การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พคท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?

มรดกของทรอตสกี้และเลนินเสนอว่าในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง  โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสังคมนิยมเท่านั้น แต่พคท.นิยามความคิดแบบนี้ว่าเป็น “ลัทธิแก้” และเสนอว่าไทยเป็นประเทศ “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ซึ่งในปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยศักดินา

เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยในยุค พคท.ไม่ได้เป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จักรวรรดินิยมอเมริกามีอิทธิพลสูงในสมัยสงครามเย็น การเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เพราะไม่ต้องมีการยึดพื้นที่เพื่อปกครอง และในเรื่องที่เสนอว่าไทยเป็นประเทศกึ่งศักดินา เราควรเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบศักดินาได้ถูกทำลายไปแล้วเพื่อสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้สำคัญในปัจจุบัน เพราะมีผลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ เพราะพวกที่มองว่าประเทศปกครองโดยระบบศักดินามักจะพร้อมที่จะจับมือกับนายทุนหรือนักการเมืองนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือนักการเมืองพรรคก้าวไกล ในขณะที่ไม่สนใจที่จะสร้างฐานการต่อสู้ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และพวกนี้มักจะยอมรับแนวชาตินิยมและเสรีนิยมอีกด้วย

หลังจากที่ทรอตสกี้เสียชีวิตเพราะถูกลูกน้องของสตาลินฆ่า เราเริ่มเห็นการปฏิวัติปลดแอกประเทศในอดีตอณานิคมของตะวันตกในเอเชียและอัฟริกา แต่ไม่ว่าประเทศอิสระใหม่ๆจะเรียกตัวเองเป็นสังคมนิยมหรือไม่ สภาพความเป็นจริงคือชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และระบบที่ประเทศเหล่านั้นใช้มีลักษณะคล้ายๆ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของรัสเซีย คือเน้นรัฐวิสาหกิจและพรรคนำที่เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพและชาวนา

โทนี่ คลิฟ นักมาร์คซิสต์ชาวยิวจากปาเลสไตนที่ไปลี้ภัยในอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวรชนิด “หันเห” เขาอธิบายว่าสาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานอาจถูกนำโดย “คนภายนอก” ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ ซึ่งก่อให้เกิด “ลัทธิสหภาพ”

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน “แนวร่วมรักชาติ”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น โดยเฉพาะปัญญาชนที่เสนอตัวนำชาวนาหรือคนยากจน จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย  นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท “หันเห” เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มานำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีการล้มทุนนิยม และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีน คิวบา หรือเวียดนาม

หัวใจสำคัญของทฤษฎีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก  เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง และเราจะวนเวียนอยู่ในความเหลื่อมล้ำและวิกฤตของทุนนิยมโลก

สองคำถามสำคัญสำหรับทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์กับตูนีเซียในยุคอาหรับสปริง อิหร่านในสมัยล้มพระเจ้าชาร์หรือแม้แต่ในการลุกฮือปีนี้  หรือซูดานหรือศรีลังกาในยุคปัจจุบัน….. คือ (1)จะสู้เพื่อเป้าหมายอะไร? และ(2)จะอาศัยพลังในการล้มเผด็จการมาจากส่วนไหนของสังคม?

คำถามแรกท้าทายคนที่มองว่าควรล้มเผด็จการเพื่อให้มีแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบทุนนิยม คือตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองกระแสหลักและรัฐสภา ซึ่งจะจบลงด้วยการประนีประนอมกับพวกทหารหรือนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และคงไว้ระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่

คำถามที่สองจะท้าทายคนที่มองว่าพลังหลักในการปลดแอกสังคมคือคนชั้นกลาง ประเทศจักรวรรดินิยมเสรีนิยม หรือพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา แทนที่จะมองว่าพลังหลักในการปลดแอกคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ และคนที่เห็นด้วยกับแนวพลังกรรมาชีพจะต้องลงมือสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานตั้งอยู่ในหมู่กรรมาชีพ

ทุกคนที่พึ่งผ่านการต่อสู้กับเผด็จการประยุทธ์ในไทย คงเข้าใจความสำคัญของสองคำถามนี้ สรุปแล้วคุณจะพอใจกับการจมอยู่ในระบบรัฐสภาที่ถูกตีกรอบโดยเผด็จการทหาร ซึ่งอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จะแค่นำไปสู่สภาพสังคมในยุคที่ทักษิณเคยเป็นผู้นำประเทศ… หรือคุณจะพยายามต่อสู้เพื่อสังคมที่ก้าวหน้ากว่านี้? สังคมนิยมนั้นเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

ทำไมเราต้องสร้างพรรคปฏิวัติ

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตโลกร้อน

ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม

วิกฤตสิทธิเสรีภาพ

ใน 16 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทหารและพรรคพวกที่ต้านประชาธิปไตย ได้ทำลายสิทธิเสรีภาพของเราอย่างถ้วนหน้าภายใต้ข้ออ้างเท็จ เช่นการอ้างว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะฉ้อโกง การอ้างว่าพลเมืองส่วนใหญ่โง่และขาดการศึกษา หรือข้ออ้างเรื่องความมั่นคงหรือเรื่องการปกป้องสถาบันฯ เป็นต้น

คนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดยืนหลากหลายเป็นธรรมดา บ้างเชียร์ทักษิณกับเพื่อไทย บ้างไม่ชอบทักษิณแต่เชียร์พรรคก้าวไกล คนทั้งสองกลุ่มนี้มองก้าวพ้นระบบรัฐสภาที่ถูกควบคุมโดยทหารไม่ได้ บางคนออกมาประท้วงเผด็จการ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ไม่ค่อยมีการประสานกับขบวนการแรงงานหรือคนกลุ่มอื่น และในที่สุดก็จบด้วยการฝากความหวังไว้ที่พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักในสภา

ในขณะเดียวกันรัฐบาลเผด็จการกับนายทุนก็ใช้อำนาจรุกรานพื้นที่ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวก็ออกมาแสดงความไม่พอใจร่วมกับองค์กรเอ็นจีโอ แต่บ่อยครั้งกลุ่มเหล่านี้ไปฝากปัญหาไว้กับรัฐบาล โดยหวังว่ารัฐบาลทหารจะแก้ปัญหาให้ นี่คือการมองโลกแบบแยกส่วน

หลายครั้งมีการวิเคราะห์ต้นเหตุของการทำลายประชาธิปไตยแบบผิดๆ เช่นพวกที่มองว่าไทยอยู่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้น บ่อยครั้งมีการฝากความหวังไว้กับสหประชาชาติหรือมหาอำนาจตะวันตก โดยไม่วิเคราะห์ปัญหาของจักรวรรดินิยมและผลประโยชน์ของรัฐทุนนิยมทั่วโลก หลายคนฝันว่าถ้าใช้แนวคิด “เสรีนิยม” เราจะสร้างประชาธิปไตยได้ แต่แนวเสรีนิยมเป็นลัทธิของชนชั้นนายทุนที่ต้องการให้นายทุนมีอำนาจเหนือสังคมผ่านการอ้างกลไกตลาด พร้อมกับกดทับสิทธิเสรีภาพของกรรมาชีพและคนจน หลายคนมองไม่ออกว่าเผด็จการทหารใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม หลายคนมองไม่ออกว่าลัทธิเสรีนิยมในแง่การเมืองเป็นแค่การฝากความหวังไว้กับระบบรัฐสภา

แต่สำหรับพวกเราที่เป็นนักสังคมนิยม เรามองว่าทุนนิยมจะเป็นเผด็จการไม่มากก็น้อย เผด็จการทหารหรือประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งสองดำรงอยู่กับระบบทุนนิยมได้เสมอ ประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น เพราะในสถานประกอบการทุกแห่งและในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไม่มีประชาธิปไตยเลย ยิ่งกว่านั้นกฎหมาย ศาล ตำรวจ และทหาร ไม่ได้อยู่ในมือประชาชน ข้อสรุปคือถ้าจะเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยต้องอาศัยการต่อสู้จากล่างสู่บนเสมอ ไม่ใช่ไปพึ่งพาการเลือกตั้ง พรรคกระแสหลัก หรือรัฐธรรมนูญ แต่ชาวสังคมนิยมจะร่วมสู้กับคนที่ต้องการล้มเผด็จการ หรือเพื่อสิทธิเลือกตั้ง โดยมองว่าการล้มเผด็จการทหารเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมในระยะยาว

ถ้าเราจะพยายามเสนอแนวคิดแบบนี้กับมวลชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องมีการจัดตั้งเป็นองค์กร และต้องมีสื่อและระบบที่จะพัฒนาการศึกษาทางการเมืองของสมาชิกของเรา ปัจเจกชนไม่สามารถทำได้

การที่จะวิเคราะห์ลักษณะแท้ของสังคมกับต้นเหตุของปัญหาปัจจุบัน กับการที่จะเสนอแนวทางในการต่อสู้ ต้องอาศัยการคิด อ่าน และการกระทำร่วมกัน ปัจเจกที่โดดเดี่ยวมักจะถูกโน้มน้าวจะฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ยิ่งกว่านั้น ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกที่คิดอะไรเองได้คนเดียว ไม่มีศาสดาวิเศษ เพราะการพัฒนาความเข้าใจในโลกมาจากการต่อยอดจากความคิดในอดีต และการถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบัน พรรคปฏิวัติแนวสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สามารถเป็น “คลังแห่งความรู้จากการต่อสู้ในอดีต” และเป็นพื้นที่ที่นักสังคมนิยมสามารถถกเถียงและร่วมกันหาแนวทางในการต่อสู้ปัจจุบัน และที่สำคัญคือการถกเถียงเรื่องแนวทางสามารถทำในหมู่คนที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือการสร้างสังคมนิยมแทนความป่าเถื่อนของทุนนิยม

วิกฤตค่าครองชีพ

ทุกวันนี้ เนื่องจากวิกฤตโควิด การก่อสงคราม และการเน้นแสวงหากำไรอย่างเดียวในระบบทุนนิยม ปัญหาการขนส่ง ปัญหาการผลิต และความขาดแคลนสิ่งของจำเป็น กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันกับก๊าซ และอาหารพุ่งขึ้น อุตสาหกรรมก็ขาดชิ้นส่วนบางประเภท ในขณะเดียวกันนายทุนที่เลิกจ้างคนในยุคที่มีวิกฤตโควิด ยังไม่สามารถหรือยังไม่ต้องการที่จะเพิ่มการจ้างงาน

ในทุกกรณีนายทุนและรัฐบาลต่างๆ ไม่เคยมองปัญหาดังกล่าวจากจุดยืนประชาชนคนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร เขาจะมองปัญหานี้จากจุดยืนนายทุนเสมอ ซึ่งมักเน้นความสำคัญของกำไร บ่อยครั้งเมื่อมีความขาดแคลน นายทุนจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้อและยิ่งมีผลกระทบกับคนจนมากขึ้น ระบบทุนนิยมไม่เคยมีการวางแผนสำหรับสังคม เพื่อให้มีการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่เลย ถ้ามีแผนในบริษัทต่างๆ ก็เพื่อปกป้องกำไรเท่านั้น

ถ้าเราจะเริ่มปกป้องชีวิตของคนธรรมดา เราต้องทำสองอย่างคือ 1. สามารถวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจากจุดยืนกรรมาชีพ และ 2. ปลุกระดมการต่อสู้ของกรรมาชีพ เช่นการนัดหยุดงาน การประท้วง และการพยายามล้มรัฐบาลเป็นต้น ซึ่งเราก็เห็นการต่อสู้แบบนี้เกิดขึ้นในบางประเทศเช่นศรีลังกา แต่ท่ามกลางการต่อสู้เราต้องสามารถเสนอเป้าหมายที่ชัดเจน คือไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่เสนอว่ารัฐบาลใหม่ของนักการเมืองนายทุนคนหน้าใหม่จะแก้ปัญหา เป้าหมายต้องเป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจกรรมาชีพในสังคมเพื่อล้มทุนนิยมในระยะยาว มันเป็นเรื่อง “การเมือง” ทางชนชั้นซึ่งแปลว่าต้องผสมทั้งการต่อสู้ในประเด็นปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าสหภาพแรงงานสู้เรื่องปากท้องได้แต่มักจะไม่ผสมการต่อสู้เรื่องปากท้องกับเรื่องการเมืองเข้าด้วยกัน ดังนั้นต้องมีพรรคสังคมนิยมที่มีสมาชิกที่เข้าไปทำงานการเมืองในสหภาพแรงงาน ซึ่ง“สหภาพคนทำงาน” ที่เป็นองค์กรแนวอนาธิปไตยที่ปฏิเสธการสร้างพรรค ไม่สามารถทำตรงนี้ได้เพราะทำงานการเมืองในสหภาพแรงงานที่ดำรงอยู่แล้วไม่ได้ และสมาชิกมักเคลื่อนไหวแบบปัจเจก

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมไม่ได้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นแค่เหยื่อของทุนนิยม เรามองว่ากรรมาชีพมีพลังที่สามารถล้มทุนนิยมหรือเผด็จการปัจจุบันได้ถ้ามีการจัดตั้งทางการเมือง ดังนั้นการสู้กับระบบเผด็จการทหารและการสู้กับปัญหาค่าครองชีพเป็นเรื่องเดียวกันและต้องทำพร้อมๆ กัน

วิกฤตภัยสงคราม

ในรอบ100ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปีไหนที่โลกไม่มีสงคราม และสาเหตุไม่ใช่เพราะมันเป็น “ธรรมชาติของมนุษย์” เหมือนที่หลายคนอ้าง สงครามเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และระหว่างรัฐต่างๆ ที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนอย่างใกล้ชิด นี่คือปรากฏการณ์ที่มาร์คซิสต์เรียกว่า “ระบบจักรวรรดินิยม”

ในโลกปัจจุบันระบบจักรวรรดินิยมประกอบไปด้วยมหาอำนาจใหญ่ สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ รัสเซีย และจีน แต่มีอำนาจย่อยด้วย เช่นอินเดีย ออสเตรเลีย ตุรกี ญี่ปุ่น บราซิล ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และแม้แต่ไทย

จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ดังนั้นการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ที่สำคัญคือชนชั้นกรรมาชีพ หรือคนธรรมดา ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากการแข่งขันดังกล่าว เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ที่ขูดรีดกดขี่เราทั่วโลก แถมกรรมาชีพจะถูกเกณฑ์ไปฆ่ากรรมาชีพจากประเทศอื่นเพื่อกำไรของนายทุน และกรรมาชีพที่เป็นพลเรือนจะล้มตายจากการทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นชนชั้นปกครองจะพยายามหลอกลวงกรรมาชีพให้สนับสนุนรัฐด้วยลัทธิชาตินิยมเสมอ

ในภูมิภาคของเรา จะเห็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับจีน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งข่มขู่กันและการสะสมอาวุธ สภาพเช่นนี้กำลังสร้างภัยสงคราม ซึ่งเราต้องเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทั้งมหาอำนาจตะวันตกและจีนเป็นประเทศจักรวรรดินิยม กรรมาชีพไม่ควรสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างที่บางคนเสนอ

ในยุโรป การรุกรานยูเครนโดยจักรวรรดินิยมรัสเซีย เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดินิยมสองฝ่ายคือตะวันตกภายใต้นาโต้และสหรัฐ กับรัสเซีย ดังนั้นเราไม่สามารถสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นกัน แต่สื่อกระแสหลักและกระแสรองเช่น“ประชาไท”จะนำเสนอข่าวจากมุมมองจักรวรรดินิยมตะวันตก และชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ ผ่านการจงใจมองข้ามการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งโดยนาโต้ อย่างไรก็ตามเราไม่ควรคล้อยตามบางคนที่ปิดหูปิดตาถึงความโหดร้ายของรัสเซียในฐานะจักรวรรดินิยมอีกฝ่าย

การที่มหาอำนาจตะวันตกต้านรัสเซียในยูเครน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแข่งขันระหว่างตะวันตกกับจีน เพราะระบบจักรวรรดินิยมเป็นระบบที่ครอบคลุมโลก โดยแต่ละอำนาจพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ของตนเองเพื่อข่มคู่แข่ง

สถานการณ์สงครามในยูเครนและกระแสความคิดหลักในสังคมไทย ทำให้ปัจเจกชนที่รักความเป็นธรรมค้านกระแสที่ชวนให้เราสนับสนุนนาโต้ค่อนข้างยาก แต่คนที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติสามารถร่วมกันศึกษาเรื่องจักรวรรดินิยมและกล้ามีจุดยืนที่ตรงข้ามกับกระแสหลักได้ การคัดค้านกระแสชาตินิยมไทยที่มาจากชนชั้นปกครองก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน

สรุปแล้วการเรียนรู้ร่วมกัน การถกเถียงกัน และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทางการเมือง ทำให้เราสามารถมีความมั่นใจที่จะต้านแนวคิดกระแสหลักได้

วิกฤตโควิด

การที่มีเครือข่ายพรรคสังคมนิยมทั่วโลกทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาโควิดได้ดีกว่าคนอื่น เพราะรัฐบาลและกลุ่มทุนบ่อยครั้งจะปกปิดความจริงเกี่ยวกับโรคระบาดเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบในการดูแลประชาชน

นักชีววิทยาฝ่ายซ้ายและนักเคลื่อนไหวเรื่องรัฐสวัสดิการได้อธิบายปัญหาไว้ดังนี้ วิกฤตโควิดเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโดยตรง เพราะระบบเกษตรแบบทุนนิยม และการพัฒนาของชนบทที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเมือง แปลว่ามนุษย์รุกเข้าไปในธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน ซึ่งส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาว ซึ่งเป็นแหล่งไวรัสที่สำคัญเพราะค้างคาวมีภูมิต้านทานไวรัสสูงและสามารถอยู่กับไวรัสหลายสิบชนิดได้ นอกจากนี้ ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเลี้ยงหมูหรือไก่ที่มีลักษณะเหมือนกันหลายพันตัว ในคอกขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ไวรัสกระโดดจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เลี้ยง และต่อไปสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

การเดินทางระหว่างชนบทกับเมือง และที่อยู่อาศัยแออัดในเมือง สำหรับคนที่ต้องไปหางานทำในเมืองก็เพิ่มการระบาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสใหม่ๆ มากขึ้น และองค์กรอนามัยโลกก็มองว่าโควิด 19 คงจะไม่ใช่ไวรัสร้ายแรงชนิดสุดท้ายที่จะระบาดไปทั่วโลก

วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด กระทบคนทั้งโลก แต่ในขณะเดียวกันมันเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมของทุกประเทศ เพราะคนจน คนที่มีสีผิว คนที่มีเชื้อชาติเป็นคนส่วนน้อยของสังคม และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มคนที่ล้มตายและยากลำบากจากโควิดมากที่สุด สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นคนที่ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานจากบ้านได้ ต้องออกไปเลี้ยงชีพทุกวันในงานสกปรกหรืองานที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส นอกจากนี้สภาพที่อยู่อาศัยมักจะแออัด และในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขและวัคซีนไม่ได้เพราะยากจนเกินไปหรือตกงาน

สถานการณ์แบบนี้นำไปสู่ข่าวปลอมมากมายในโลกออนไลน์ เช่นเรื่องวัคซีนหรือเรื่องที่มาของโรคภัยไข้เจ็บ

เมื่อโควิดระบาด รัฐบาลอาจปิดเมือง ปิดงาน หรือปิดโรงเรียน แต่การที่ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับคนที่ต้องพักงานทำให้มาตรการนี้ไม่ประสพความสำเร็จ และความหิวโหยกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพบังคับให้รัฐบาลเปิดเสรีก่อนที่ภัยโควิดจะหมดไป

จะเห็นได้ว่าวิกฤตโควิดมาจากระบบทุนนิยม และเกี่ยวโยงกับเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ และการกดขี่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เราไม่สามารถสร้างโลกใหม่ที่ไม่มีภัยแบบโควิดได้ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาองค์รวมของทุนนิยมและสู้ในหลายประเด็นพร้อมกัน ซึ่งพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเป็นองค์กรที่สู้ในหลายประเด็นพร้อมกันเสมอ

วิกฤตโลกร้อน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ (ก๊าซเรือนกระจก) ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วยที่สร้างปัญหาเช่นมีเทน

การที่โลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนท่วมเกาะและพื้นที่ที่อยู่ต่ำ ทำให้ระบบภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย มีพายุมากขึ้นและมีภัยจากไฟไหม้ป่า ซึ่งจะมีผลกระทบกับระบบเกษตรและวิถีชีวิตของคนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้

พวกกลุ่มทุนและรัฐบาลในโลกทุนนิยมโกหกว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อขาย “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2 หรือ “แลก” การปลูกต้นไม้กับ “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2  บางกลุ่มก็โกหกว่าจะใช้เทคโนโลจีเพื่อดูด CO2  ออกจากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลจีแบบนั้นที่จะมีผลจริงในระดับโลกยังไม่มี นอกจากนี้มีการพูดว่าจะประกาศเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ จะ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อให้สามารถผลิต CO2 ต่อไป โดยอ้างว่าไปคานกับมาตรการอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น แต่ในไทยกระแสต้านโลกร้อนยังไม่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวที่ประท้วงเผด็จการ หรือในขบวนการสหภาพแรงงาน ในไทยการที่ทหารครองอำนาจรัฐ และคุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีทางเสนอนโยบายก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้น และการต่อสู้กับเผด็จการทหารได้ และชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ เป็นชนชั้นเดียวที่มีพลังทางเศรษฐกิจพอที่จะสามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านการนัดหยุดงานและยึดสถานที่ทำงาน แต่แค่การกดดันให้แก้ปัญหาภายในโครงสร้างทุนนิยมมันจะไม่พอ ต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มทุนนิยมและเปลี่ยนระบบในที่สุด ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีพรรคปฏิวัติที่มีอิทธิพลในสังคม

พรรค

จากสิ่งที่นำเสนอไปแล้ว จะเห็นเป็นรูปธรรมว่าวิกฤตร้ายแรงห้าวิกฤตที่ท้าทายชีวิตของเราเชื่อมโยงกันเพราะเกิดจากระบบทุนนิยม เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทเรียนจากความพ่ายแพ้ชั่วคราว

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องพยายามพูดความจริงเรื่องสภาพการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการฟังหรือไม่ ความจริงที่เราต้องพูดตอนนี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวมาถึงจุดพ่ายแพ้นานแล้ว ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำไม่กล้าหาญและไม่พร้อมจะเสียสละแต่อย่างใด

เพื่อให้ความพ่ายแพ้นี้เพียงแต่เป็นความพ่ายแพ้ชั่วคราว เราจะต้องมาสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ในอนาคตเราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้กับเผด็จการรอบใหม่โดยมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะ

จากจุดสูงสุดของการต่อสู้ที่นำโดยคนหนุ่มสาวในเดือนสิงหาคม/กันยายน ๒๕๖๓ ที่มีมวลชนออกมาประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวงเป็นหมื่นเป็นแสน ปัจจุบันเราเห็นแกนนำคนหนุ่มสาวหลายสิบคนติดคุกหรือติดคดีร้ายแรงโดยเกือบจะไม่มีการประท้วงใดๆ และถ้ามีก็แค่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหรือไม่ก็เป็นการออกมารำลึกถึงอาชญากรรมของรัฐทหารต่อคนเสื้อแดง หรือผู้ประท้วงในเหตุพฤษภา ๓๕

ก่อนอื่นเราต้องทบทวนดูภาพระยะยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวิกฤตการเมืองในไทยตั้งแต่การก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ซึ่งเป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

รัฐประหารครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่ยังไม่จบ และเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยมและอภิสิทธิ์ชน ต่อชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และการโต้กลับของคนเสื้อแดง และในที่สุดของคนหนุ่มสาว ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นกัน

แต่การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บริสุทธิ์” เพราะบ่อยครั้งในโลกจริงการต่อสู้ทางชนชั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่มีเรื่องซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

การต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากที่นักการเมืองนายทุนชื่อทักษิณ ชินวัตร พยายามนำคนระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการปลดหนี้เกษตรกร ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกรรมาชีพและเกษตรกร ในกรณีกรรมาชีพการที่ญาติพี่น้องของเขาได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องติดหนี้ มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่กรรมาชีพเองมีประกันสังคมของตนอยู่แล้ว

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชีวิตคนชั้นล่างดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นนโยบายที่ทักษิณและพรรคพวกมองว่าจะประตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่สำคัญคือจะทำให้สังคมทุนนิยมไทยพัฒนาและทันสมัย เพื่อการแข่งขันในตลาดโลกที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่พวกล้าหลังคัดค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย มันเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับนายทุนสมัยใหม่

นโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุนอนุรักษนิยม ซึ่งรวมพวกทหารระดับสูง มันสร้างความไม่พอใจกับชนชั้นกลางสลิ่มอีกด้วย พวกนี้พึงพอใจมานานกับสังคมล้าหลังที่กีดกันคนธรรมดา ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการพัฒนาในอดีต ในกรณีสลิ่ม เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ในเรื่องนี้ จึงต้องงัดเรื่อง “คอรัปชั่น” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับทหาร มีประวัติอันยาวนานในการโกงกินหรือใช้อิทธิพล อาจมากกว่าทักษิณอีก และพวกสลิ่มมักจะเงียบเรื่องอาชญากรรมรัฐที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตรวมถึงไทยรักไทยเคยทำไว้ ส่วนฝ่ายทหารเผด็จการก็มักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันสูงสุดเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองเสมอ

การที่ชนชั้นกลางสลิ่มสนับสนุนเผด็จการพิสูจน์ว่าทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกเสรีนิยมที่เน้นชนชั้นกลางใช้ไม่ได้

นโยบายของทักษิณและพรรคพวกทำให้ฐานเสียงของไทยรักไทยและพรรคการเมืองอย่างเช่นเพื่อไทย มีความมั่นคงจนพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถแข่งได้ มันไม่มีวิธีที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะถ้าไม่โบกมือเรียกทหาร

เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตนี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่บิดเบี้ยว เพราะฝ่ายคนชั้นล่างยอมรับการนำจากนายทุนอย่างทักษิณ และหลังจากที่ทักษิณต้องออกจากประเทศ ก็มีเศรษฐีนายทุนอีกคนหนึ่งคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามามีบทบาท สาเหตุสำคัญที่นายทุนได้รับการยอมรับแบบนี้ คือการล่มสลายก่อนหน้านั้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และกระแสฝ่ายซ้ายโดยทั่วไป มันจึงมีสุญญากาศทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

สุญญากาศของฝ่ายซ้ายมีผลทำให้พวกล้าหลังเสื้อเหลืองสามารถสร้างอิทธิพลในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การก่อตั้งของขบวนการเสื้อแดง ถึงการขึ้นมาของขบวนการคนหนุ่มสาวในภายหลัง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญๆ กับสถาบันต่างๆในสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันสูงสุดไปถึงศาลและกองทัพ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระเบียบวินัยต่างๆ จากยุคเผด็จการ เช่นทรงผมนักเรียนเป็นต้น

และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือฝ่ายทหารเผด็จการกับพรรคพวกต้องใช้เวลาถึง 13 ปีหลังรัฐประหาร ๑๙กันยา เพื่อเปลี่ยนกติกาการเมืองก่อนที่มันจะครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมได้

จุดเด่นของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ โดยเฉพาะในยุคเสื้อแดง คือการสร้างขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และหลังการล่มสลายของเสื้อแดง ขบวนการคนหนุ่มสาวก็เคยดึงมวลชนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน

แต่เราต้องศึกษาจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด

ประเด็นแรกที่เราต้องศึกษาคือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ เพราะทั้งเสื้อแดงกับคนหนุ่มสาว ไม่ว่าเขาจะประกาศอ้างอะไร ก็ล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสลับกับการตั้งความหวังในรัฐสภาทุนนิยม คือไม่มีเป้าหมายในการ “ล้มระบบ”

ในรูปธรรม การที่นักเคลื่อนไหวบางคนเสนอว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอให้ “ล้มระบบ” เพราะนอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ทหาร ผู้มีอำนาจจริง ลอยนวล

ในกรณีเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ต้องการกดดันให้พรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลได้ เสื้อแดงจัดตั้งกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ทักษิณมีอิทธิพลการนำทางการเมืองสูง ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งเสื้อแดง และในหลายช่วงทักษิณก็พยายามบอกเสื้อแดงให้ “นิ่ง” โดยหวังจะประนีประนอมกับชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในกรณีขบวนการคนหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตยหรือฝ่ายซ้าย และไม่ได้ปลื้มนายทุนใหญ่อย่างทักษิณหรือแม้แต่ธนาธร ในที่สุดเมื่อการชุมนุมซ้ำๆ ของมวลชนไปถึงทางตัน คือไม่สามารถเขย่าอำนาจเผด็จการพอที่จะล้มมันได้ ก็หันมาชุมนุมแบบ “สร้างสรรค์” ที่ไร้พลัง เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลเช่นกันและทางเผด็จการรุกปราบด้วยการใช้กฎหมาย 112 ก็เหลือแค่การตั้งความหวังกับพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา แต่ทั้งสองพรรคนี้ไม่ยอมคัดค้าน 112 ไม่ยอมพูดเป็นรูปธรรมเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ยอมปลุกมวลชน และมักยอมรับกติกาประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์ ที่มัดมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

จุดอ่อนประเด็นที่สองของทั้งเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาว คือไม่ยอมศึกษาพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีการลงไปจัดตั้งนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพในขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่ พคท. และฝ่ายซ้ายอื่นเคยทำ ซึ่งจุดอ่อนนี้ทำให้ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อไล่เผด็จการและเปลี่ยนระบบอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น เช่นฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือซูดาน ดังนั้นเรื่องมักจะจบลงที่รัฐสภาแทน และพรรคในรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรได้มากและยังอาจโดน “รัฐประหาร” จากทหารหรือศาล ถ้าทำอะไรมากเกินไปอีกด้วย

การหันหลังให้กับขบวนการกรรมาชีพก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเข้าไปดึงนักสหภาพแรงงานเข้ามาในกระบวนการรัฐสภาด้วย แทนที่จะปลุกระดมการต่อสู้ทางชนชั้น

ในเรื่องจุดอ่อนประเด็นที่สาม การที่ขบวนการเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาวไม่มีเป้าหมายในรูปธรรมที่จะล้มระบบ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะตอนนั้นและตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติ ที่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเสนอการนำแข่งกับสายความคิดอื่น เช่นสายความคิด “ปฏิรูป” ของพรรคก้าวไกลหรือพรรคกระแสหลักอื่นๆ และแนวคิดอนาธิปไตยอีกด้วย

การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ต้องผ่านการ “เปลี่ยนระบบ” โค่นอำนาจอนุรักษ์นิยมของทหารและนายทุน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาแนวปฏิวัติสังคมนิยมที่เน้นพลังประชาธิปไตย “จากล่างสู่บน” เราใช้ความคิดของพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะเน้นการทำงานในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ

แนวคิดอนาธิปไตยก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างจริงจังได้อีกด้วย ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดนี้ในไทยคือ การอ้างโดยแกนนำคนหนุ่มสาวว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” และการสร้าง “สหภาพคนทำงาน”

ในกรณีการอ้างว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” เป็นการใช้คำขวัญที่หวังดี คือให้คนนำกันเองแทนที่จะให้คนอย่างทักษิณ ธนาธร หรือนักการเมืองกระแสหลักอื่น เข้ามานำ แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อให้มีการนำแบบรากหญ้าอย่างจริงจัง เช่นผ่านการตั้ง “สภาการประท้วง” และการเลือกแกนนำเป็นประจำ มันจะกลายเป็นแค่คำขวัญนามธรรม และในรูปธรรมแกนนำเดิมจะผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ และการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการถกเถียงเรื่องแนวทางแบบต่อหน้าต่อตา จะไม่แก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำ

การสร้างสหภาพคนทำงาน โดยแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” เกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวบางคนที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ แต่พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอและสร้างไม่ได้อีกด้วย

สหภาพคนทำงาน ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร สหภาพคนทำงานจึงไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานเพื่อสร้างกระแสนัดหยุดงานทางการเมืองได้ มันใช้แทนการสร้างพรรคไม่ได้

ภาระของเราชาวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ(หรือเตรียมพรรค)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มีอิทธิพลเพียงพอจะที่จะเสนอแนวทางการต่อสู้และช่วยประสานการเคลื่อนไหวระหว่างขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงาน ขบวนการต้านเผด็จการ ขบวนการปกป้องนักโทษทางการเมือง ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน และขบวนการของสิทธิชาวบ้าน ฯลฯ เราจะได้เรียนรู้สรุปบทเรียนจากการต่อสู้และเสียสละของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต และนำมาใช้ในการต่อสู้รอบต่อไป เราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้และปกป้องไม่ให้การต่อสู้ของเพื่อนเราในอดีตจบแบบเสียเปล่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิรูปกษัตริย์ไม่ได้เพราะมันจะล้มล้างระบบเผด็จการทหารที่ใช้กษัตริย์

คำตัดสินของศาลว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปกษัตริย์เป็นการ “ล้มล้างระบบการปกครอง” พิสูจน์ 3 อย่างว่า

สิ่งศักดิ์สิทธิ์??????
  1. สถาบันกษัตริย์ปฏิรูปไม่ได้ ต้องยกเลิกอย่างเดียว 112ก็ต้องยกเลิกเช่นกันเพราะแก้ไม่ได้
  2. ระบบการปกครองไทยในปัจจุบันเป็นระบบเผด็จการทหาร/นายทุน ที่ใช้กษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรม ชนชั้นปกครองจึงสร้างภาพเท็จว่ากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปฏิรูปไม่ได้ แต่มันไม่ได้พิสูจน์ว่าไทยปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อค้ำจุนเผด็จการทหารที่มาจากรัฐประหาร หรือเผด็จการนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยทุนนิยม กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่แช่แข็งความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยม
  3. ศาล ตำรวจ คุก เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้เผด็จการ มันไม่เกี่ยวอะไรกับความยุติธรรมหรือความสงบสุขของพลเมืองแต่อย่างใด

นักเคลื่อนไหวหลายคนเสนอว่า “เราไปไกลเกินไปที่จะย้อนกลับไปเป็นสูญ” ถ้าเราจะทำให้เป็นจริง และเราควรทำให้เป็นจริง เราต้องมุ่งหน้าสู้กับเผด็จการทหาร และมุ่งหน้ายกเลิกสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเราทำได้ถ้าเราพร้อมจะจัดตั้งการเคลื่อนไหวให้เข้มแข็ง

เราต้องสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ประกอบไปด้วยมวลชนจำนวนมากและมีความสามัคคีระหว่างกลุ่มต่างๆ และเราต้องมีองค์กรทางการเมือง -พรรค- ที่พร้อมจะปลุกระดมพลเมือง โดยเฉพาะกรรมาชีพคนทำงานที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ

การสร้างขบวนการดังกล่าวควรเริ่มด้วยการจัดสมัชชาใหญ่เพื่อถกแนวทางและเป้าหมายในหมู่คนจำนวนมาก และคนที่มีอายุมากกว่าคนหนุ่มสาวที่นำการต่อสู้ ต้องลงมาสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ไม่ใช่นั่งเอ็นดูเยาวชนแต่ไม่ทำอะไร

อ่านเพิ่ม

อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj

เลนินกับเรื่องอำนาจ https://bit.ly/3h2DROi

ความเลวของวชิราลงกรณ์ https://bit.ly/2Lptg4d

ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ https://bit.ly/30Ma32f   และ  https://bit.ly/2Lk2WJ9

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?http://bit.ly/365296t

อนาธิปไตยกับมาร์คซิสต์ต่างกันอย่างไร?

สำหรับคนที่ต้องการล้มระบบปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ปฏิรูปแบบเล็กๆ น้อยๆ ผ่านรัฐสภา มีสองทางเลือกที่แตกต่างกันคือ แนวอนาธิปไตย กับแนวมาร์คซิสต์

คนหนุ่มสาวอาจมองว่าแนวอนาธิปไตย ที่เสนอการต่อสู้แบบไม่มีผู้นำ ไม่มีพรรค และปฏิเสธการสร้างรัฐใหม่ เป็นแนวที่ควรจะเลือก เพราะเขามีประสบการณ์ของแกนนำที่เป็นเผด็จการหรืออย่างน้อยไม่ได้หารือกับรากหญ้า เขาอาจมีประสบการณ์ของพรรคกระแสหลักที่ไม่ยอมนำการต่อสู้ และพยายามห้ามคนที่เสนออะไรก้าวหน้าไม่ให้พูด และเขาอาจมองไปที่จีน ที่อ้างว่าเป็นประเทศที่มีรัฐกรรมาชีพ แต่แท้จริงเป็นเผด็จการทุนนิยมภายใต้อำนาจพรรคแนวสตาลินเป็นต้น นอกจากนี้คนที่ปลื้มแนวอนาธิปไตยอาจเบื่อกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่มาจากสังคมอนุรักษ์นิยมด้วย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

เราอาจเห็นใจคนที่คิดแบบนี้บนพื้นฐานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม แต่เราไม่เห็นด้วยในแนวทาง เพราะเป็นการวิเคราะห์สังคมแบบตื้นเขิน

สำหรับนักมาร์คซิสต์เรามีจุดยืนที่แตกต่างกับพวกอนาธิปไตยในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องคือ วิธีการพัฒนาและนำการต่อสู้ บทบาทผู้นำ บทบาทพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และบทบาทของรัฐ

มาร์คซ์ต่างจากพวกผู้นำแนวอนาธิปไตยในยุคของเขา ตรงที่มาร์คซ์มองว่าทุนนิยมมีลักษณะก้าวหน้าในบางเรื่องคือสามารถพัฒนาระบบการผลิตได้ จนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ควรจะต้องอดอยาก แต่ทุนนิยมไม่สามารถจะระบายความก้าวหน้านี้ไปสู่พลเมืองส่วนใหญ่ได้ เพราะเน้นการแสวงหากำไรเป็นหลัก อย่างไรก็ตามทุนนิยมเป็นระบบที่รวมผู้ผลิต กรรมาชีพนั้นเอง เข้าสู่ศูนย์กลางของการผลิต จึงให้พลังซ้อนเร้นกับกรรมาชีพ

มาร์คซ์เข้าใจว่าคนที่มีอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยม ชนชั้นปกครอง มักหาวิธีหลอกลวงกรรมาชีพให้ยอมรับสภาพชีวิตและระบบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าในหมู่กรรมาชีพมีคนสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกรรมาชีพที่ยอมรับสภาพของสังคมทุนนิยมโดยไม่คิดจะต่อต้านเลย กลุ่มที่สองเป็นกรรมาชีพที่ไม่พอใจ มีจิตสำนึกทางชนชั้น และพร้อมจะสู้กับระบบทุนนิยม สองกลุ่มแรกนี้เป็นคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในกลุ่มที่สามที่แกว่งไปแกว่งมาระหว่างสองกลุ่มแรก ดังนั้นสำหรับมาร์คซ์ภาระของนักสังคมนิยมคือการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและพร้อมจะสู้ นี่คือความหมายของ “การนำ”

“การนำ” แบบมาร์คซิสต์ ไม่ใช่การสั่งของผู้ใหญ่ในขบวนการ แต่เป็นการพยายามช่วงชิงมวลชนโดยกรรมาชีพที่ก้าวหน้าที่สุด ซึ่งแน่นอนไม่ใช่คนคนเดียวหรือกลุ่ม “ผู้ใหญ่” และในเวลาที่แตกต่างกันการนำอาจมาจากคนที่แตกต่างกันด้วย แต่บ่อยครั้งพวกอนาธิปไตยจะมองว่าการนำคือการสร้างอภิสิทธิ์ชน เราจึงเห็นขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยที่ “ปฏิเสธการมีผู้นำ”

เราเข้าใจดีว่าขบวนการของคนหนุ่มสาวต้องการหลีกเลี่ยงการนำแบบเผด็จการของ “ผู้ใหญ่” ที่สั่งจากเบื้องบนลงมา

ในขณะเดียวกันการปฏิเสธ “การนำ” และโครงสร้างของขบวนการก็มีปัญหา

ในกรณีฮ่องกง ปี 2019 ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำ ตรวจสอบแกนนำ หรือเลือกแนวทางด้วยกระบวนการประชาธิปไตย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชยลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้

ในไทย ขบวนการที่ปฏิเสธการนำ ก็มีผู้นำอยู่ดีเพราะในทุกขบวนการต้องมีการกำหนดทิศทางการต่อสู้และประสานการต่อสู้ ซึ่งผู้นำย่อมเป็นคนกำหนด การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวในไทยและฮ่องกง แปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้ การคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงพอ เพราะหลายคนอาจเข้าไม่ถึง

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป

พูดง่ายๆ มันต้องมีการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจากกลุ่มคนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อให้พรรคสามารถปลุกระดมการต่อสู้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนพรรคต้องมีโครงสร้างประชาธิปไตยภายในที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นพรรคเผด็จการเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต หรือพรรคแนวสตาลินอื่นๆ ทั่วโลก

กลับมาเรื่องภาระของนักสังคมนิยมในการหาทางดึงคนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างกลุ่มคนที่มีจิตสำนึกทางชนชั้น

นักต่อสู้จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจะเลือกการทำงานที่เขาคิดว่า “เป็นไปได้” บางคนอาจเลือกประนีประนอมกับคนที่ล้าหลังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เช่นนักสหภาพแรงงานที่ไม่ยอมคุยเรื่องการเมืองก้าวหน้าในสหภาพ คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าเขาควรทำงานกับคนก้าวหน้าเท่านั้นเพราะ “คุยกันรู้เรื่อง” แต่ปัญหาคือจะโดดเดี่ยวตัวเองและเพื่อนจากมวลชนคนส่วนใหญ่ อันนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับ “สหภาพคนทำงาน” ในอนาคต เพราะถ้าไม่สร้างพรรคสังคมนิยมกลุ่มคนที่ก้าวหน้าจะไม่ขยายตัวในเมื่อแค่คุยกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน

นักต่อสู้ที่เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเข้าใจแนวมาร์คซิสต์ จะให้ความสำคัญกับการปลุกระดมทั้งคนที่ก้าวหน้าที่สุด และมวลชนคนส่วนใหญ่ที่บางครั้งพร้อมจะรับฟังข้อเสนอก้าวหน้า ถ้าไม่มีพรรค เราไม่สามารถดึงมวลชนส่วนใหญ่มาอยู่ฝั่งที่ก้าวหน้าที่สุดได้ และเราไม่สามารถจัดตั้งนักปลุกระดมใหม่ๆ ของพรรคจากคนที่ก้าวหน้า

ในเรื่อง “รัฐ” พวกอนาธิปไตยเกลียดชังรัฐทุกชนิด แต่ทั้งๆ ที่มาร์คซิสต์เกลียดชังรัฐทุนนิยมในโลกปัจจุบัน เรามองว่าถ้าจะโค่นรัฐเก่า ก็ต้องอาศัยรัฐใหม่ของกรรมาชีพในการประสานงานการสร้างระบบสังคมนิยมและประชาธิปไตย

ความคิดของพวกอนาธิปไตยที่ปฏิเสธทั้งพรรคและการสร้างรัฐกรรมาชีพ และเน้นความกระจัดกระจายแทน แปลว่าเขาไม่สามารถใช้อำนาจกรรมาชีพอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างสังคมใหม่ เพราะไม่สามาระรวมศูนย์การต่อสู่และวางแผนการสร้างรัฐใหม่ ซึ่งในหลายๆ กรณีมันจบลงด้วยการที่ขบวนการอนาธิปไตยไปยอมจำนนต่อรัฐทุนนิยมและพรรคกระแสหลัก ตัวอย่างที่สำคัญคือสเปนในปีค.ศ.1936 ที่ขบวนการสหภาพแรงงานอนาธิปไตยและองค์กรอนาธิปไตยอื่นๆ จนปัญญาที่จะล้มรัฐเก่าแล้วหันไปสนับสนุนรัฐบาลที่นำโดยพวกแนวสตาลิน ซึ่งทำให้การปฏิวัติพ่ายแพ้ และสเปนในยุคปัจจุบันพวก“โพเดมอส”เข้าไปสนับสนุนพรรคปฏิรูปกระแสหลักในรัฐสภาทั้งๆ ที่เคยอาศัยแนวคิดอนาธิปไตย

ในรูปธรรมนักต่อสู้หลายคนในไทยที่ปฏิเสธการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นพวกอนาธิปไตยหรือไม่ ในที่สุดก็ไปเข้าพรรคก้าวไกล

สหภาพคนทำงาน

สหภาพคนทำงานเกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอ เราชาวมาร์คซิสต์คงต้องเห็นด้วยตรงนี้

แต่สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดที่นำไปสู่การตั้งสหภาพคนทำงาน ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์สังคมนิยม แต่เป็นแนวอนาธิปไตย “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” คือเน้นสหภาพแรงงานแทนการสร้างพรรค มันเป็นแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” (Anarcho-Syndicalist)

สิ่งที่สองที่ต้องเข้าใจคือ “สหภาพคนทำงาน” ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร “สหภาพคนทำงาน” ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในสหภาพแรงงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปแล้วการสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เป็นการสร้างองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองแนวอนาธิปไตยที่ไม่ใช่พรรคและไม่ใช่สหภาพแรงงานด้วย แต่นั้นคือสภาพการต่อสู้ในไทยในปี ๒๕๖๔ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องคอยติดตาม

แต่แน่นอน ในขณะที่ “สหภาพคนทำงาน” มีมวลชนจริงที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ก็ต้องทำงานร่วมกับเขาอย่างใกล้ชิดในขณะที่แลกเปลี่ยนถกเถียงกับเขาทางการเมือง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราควรช่วยสร้าง “สหภาพคนทำงาน” เพราะเราควรสร้างพรรคสังคมนิยมแทน

การสร้าง “เตรียมพรรค”

นักเคลื่อนไหวไทยที่เห็นด้วยกับแนวสังคมนิยมควรจะให้ความสำคัญกับการสร้าง “เตรียมพรรค” โดยมีเป้าหมายในการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในอนาคต

ความสำคัญของการมีพรรคคือจะเป็นจุดรวมของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ที่จะสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องการวิเคราะห์สังคม และการกำหนดแนวทางต่อสู้เพื่อสังคมนิยม

นอกจากนี้พรรคมีความสำคัญในการเชื่อมโยงประเด็นปากท้องหลายๆ ประเด็น ให้เข้ากับความเข้าใจทางการเมืองในภาพกว้าง

พรรคที่มีสมาชิกหลายคนที่เข้าใจตรงกันและเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกัน จะมีพลังมากกว่าปัจเจกมหาศาล

คนที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามเราไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

“เตรียมพรรค” จะต้องมีสื่อของพรรค หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และสิ่งตีพิมพ์อื่น และจะต้องมีการจัดกลุ่มศึกษาอย่างเป็นประจำ เพื่อขยายสมาชิกและนักปลุกระดมอย่างมีประสิทธิภาพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษาศีลปะเชียงใหม่… ศีลปะควรรับใช้ใคร?

ศีลปะมีความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิธีกับสังคมทุนนิยม

หัวข้อนี้แปลว่าอะไร? ศีลปะเกิดจากการทำงานของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในสังคมทุนนิยม ดังนั้นสะท้อนหรือถูกจำกัดจากโครงสร้างทางวัตถุของทุนนิยม เช่นระบบการผลิต และได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดต่างๆ ในสังคม ซึ่งมีทั้งแนวที่เชิดชูระบบและโครงสร้างอำนาจ และแนวที่เป็นกบฏต่อสิ่งเหล่านั้นและสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้นในลักษณที่ซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมาแบบกลไก (Molyneux 2020)

ศิลปะเพื่อประชาชนของจิตรเดินตามแนวลัทธิสตาลิน

การปฏิวัติรัสเซีย 1917 มิได้เพียงเป็นการปลดแอกมนุษย์จากการขูดรีดทางเศรษฐกิจและการกดขี่ทางการเมือง แต่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์พลิกแผ่นดินที่ท้าทายทุกกรอบและค่านิยมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ วิทยาศาสตร์ หรือศีลปะ เราอาจพูดได้ว่าการปฏิวัติของบอลเชวิคนำไปสู่การปฏิวัติทางศิลปะ เพราะในยุคนั้นมีการทดลองรูปแบบการทำงานและเป้าหมายในการสร้างศิลปะแบบใหม่ๆ โดยที่ศิลปินไม่ถูกจำกัดในกรอบเดิมของระบบเผด็จการหรือกรอบของอำนาจเงิน (สัญชัย ๒๕๔๕; 208) ยิ่งกว่านั้นมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในหมู่ปัญญาชนและศิลปินเรื่องภาระของศิลปินในยุคใหม่และท่าทีที่เราควรมีต่อศิลปะในยุคต่างๆ ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต (Trotsky 1991, 2001)

     แต่ในช่วงต่อมา เมื่อการปฏิวัติล้มเหลว พลังความก้าวหน้าของการปฏิวัติก็เริ่มทดถอย ซึ่งมีผลกับการพัฒนาทางศิลปะ และในที่สุดทำให้ศิลปะโซเวียตเสื่อมลงเป็นแค่ “ศิลปะแห่งโลกจริงแนวสังคมนิยม” (Socialist Realism) ทำไมสตาลินจึงแปรรูปศิลปะของการปฏิวัติไปเป็นศิลปะแข็งทื่อและกลไกของ “โลกจริงแนวสังคมนิยม”? สาเหตุหลักคือความขัดแย้งที่อยู่ในใจกลางแนวคิดของสตาลินระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติที่เอ่ยถึงไปแล้ว แต่มีสาเหตุอื่นด้วย

     ในเรื่องศิลปะ แนวสตาลินมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำกัดเสรีภาพของพวกศิลปิน เพราะถ้าเรารู้จักศิลปินในโลกจริงเราจะรู้ว่าเขาเป็นพวกที่ไร้วินัยและมีหัวกบฏมากพอสมควร ศิลปินคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมการต่อสู้ในป่ากับ พ.ค.ท. เคยตั้งข้อสังเกตว่า “ศิลปินเป็น ‘ย’ ยาก” คือศิลปินมักจะไม่ได้รับเชิญเป็น “สมาชิกเยาวชน” ของ พ.ค.ท. เนื่องจากมักเป็นตัวของตัวเอง ไม่ค่อยยอมขึ้นกับ “จัดตั้ง” มากนัก(สัมภาษณ์ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย) ดังนั้นถ้าสตาลินจะสร้างเผด็จการครอบงำสังคมสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องควบคุมศิลปินและปัญญาชนทั้งหลาย เพื่อไม่ให้คิดเองเป็นหรือถ้ายังดื้อคิดเองต่อไป อย่างน้อยต้องปิดปากหรือจำกัดการทำงาน วิธีที่สำคัญในการปิดปากจำกัดนักคิด นักเขียน และศิลปิน คือการนำข้ออ้างเรื่อง “ผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพและผู้ที่ถูกกดขี่ขูดรีด” มาเป็นเครื่องมือเพื่อจำกัดความสร้างสรรค์ของศิลปิน เช่นอาจมีการวิจารณ์งานศิลปะที่สลับสับซ้อน ท้าทาย และชวนให้คิดไกลโดยอ้างว่าศิลปะแบบนี้ “เข้าใจยากโดยกรรมาชีพหรือชาวนา” หรืออาจมีการมองว่าศีลปะแบบนี้ “ไม่ชัดเจน” หรือ “ไม่ตรงตามแนวของพรรค” เพียงพอที่จะ “รับใช้ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ นี่คือที่มาของแนว “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ในรูปแบบกลไกที่พยายามจำกัดรูปภาพหรือวรรณกรรมให้เป็นแค่เรื่องความทุกข์ร้อนของคนจนหรือความกล้าหาญของนักสู้

     แนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตหรือศิลปะเพื่อประชาชนภายใต้แนวสตาลิน ถูกถ่ายทอดไปสู่การปฏิวัติของเหมาในประเทศจีนและต่อมาในภายหลังมีความสำคัญในการสร้างมุมมองคับแคบของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่ตามมาในทศวรรษที่ 60 ที่ร้ายกว่านั้นพลังมวลชนที่ถูกปลุกระดมใน “การปฏิวัติวัฒนธรรม” จีนภายใต้ข้ออ้างว่าจะกำจัดล้างวัฒนธรรมแบบเก่าๆ ให้หมดไป เพียงแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ระหว่างคู่แข่งหรือพรรคพวกต่างๆ ในกลุ่มชนชั้นของนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น และมันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับศีลปะวัฒนธรรมแต่อย่างใด

     แนวนี้ในที่สุดก็เข้ามาในไทยผ่าน พ.ค.ท. การเสนอโดยรวมโดยพรรคไทยว่าเราต้องพิจารณาศิลปะจากมุมมองคำถามว่ามัน “รับใช้ใคร?” ภายใต้แนวคิดแบบสตาลิน นำไปสู่การสรุปว่าศีลปะสร้างสรรค์ หรือศีลปะที่อาจ “เข้าใจยาก” หรือ ไม่มีอะไรชัดเจนที่เกี่ยวกับชีวิตกรรมกรหรือชาวนา เป็นศิลปะ “ปฏิกิริยา” ของชนชั้นปกครอง นอกจากนี้ลัทธิสตาลินใช้ศิลปะเพื่อการบูชาตัวบุคคล โดยสร้างสิ่งที่เรียกว่าศิลปะปฏิวัติ รูปปั้นผู้นำจึงถูกทำให้เป็นราวกับเทวรูปเพื่อเคารพบูชา

     เราไม่ควรคิดว่าศิลปินฝ่ายซ้ายไทยมีมุมมองอย่างกลไกแบบนี้ทุกคน เพราะในช่วงประชาธิปไตยเปิกบานหลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ ศิลปินไม่น้อย โดยเฉพาะสายที่จบจากศิลปากรหรือวิทยาลัยเพาะช่าง ได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบ “ฝ่ายซ้ายใหม่” ที่เกิดจากการกบฏของคนหนุ่มสาวในยุโรปและอเมริกายุค 1968 ซึ่งมีลักษณะเสรีและหลากหลาย ดังนั้นถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของศิลปินไทยยุคนั้น เช่นการเคลื่อนไหวของ “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” จะพบว่ามีการถกเถียงเรื่องความหมายของศิลปะก้าวหน้าอย่างกว้างขวาง การเดินขบวนประท้วงต่อต้านฐานทัพสหรัฐในปี ๒๕๑๘ มีตัวอย่างความหลากหลายและเสรีภาพในผลงานของศิลปินไทยมากมาย ซึ่งบางส่วนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ยึดถือแนวคิดของเหมาแบบสุดขีด (แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ๒๕๓๗ และ สัมภาษณ์ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย)

     ถ้ากลับมาพิจารณางานของจิตร ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเขาใกล้ชิดกับแนวความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าเขาจะเป็นสมาชิกเยาวชนแบบทางการหรือไม่ ตรงนี้เรามั่นใจได้เพราะจิตรเลือกเส้นทางในการต่อสู้จับอาวุธร่วมกับ พ.ค.ท. และใช้กรอบการวิเคราะห์ที่คล้ายกับแนวสตาลิน-เหมา   เมื่อพิจารณาการวิเคราะห์ศิลปะจะเห็นว่าการให้นิยามคำว่า “ศิลป” ในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” (จิตร  ๒๕๔๑) เป็นไปในกรอบกลไก หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศิลปะเพื่อชีวิตส่วนหนึ่ง และศิลปะเพื่อประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ส่วนแรกประกอบด้วยบทความ 4 ชิ้น คือ “อะไรหนอที่เรียกกันว่าศิลปะ”  “ศิลปะบริสุทธิ์มีแท้หรือไฉน”  “ที่ว่า ‘ศิลปะเพื่อศิลปะ’ นั้นคืออย่างไรกันหนอ”  และ  “ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ ความหมายโดยแท้จริงเป็นไฉน” เนื้อความหลักที่อธิบายในส่วนศิลปะเพื่อชีวิต เริ่มด้วยการค้านความเชื่อเดิมว่ามาตรฐานวัดความสูงส่งของศิลปะนั้น คือ “ความงามอันวิจิตรบรรจง” และความ “มีกฎเกณฑ์ในการสร้างอันเฉพาะพิเศษยากแก่การเข้าใจ” ซึ่งเป็นความพยายามที่น่ายกย่องของจิตรที่จะดึงศีลปะลงมาเป็นทรัพย์สินรวมของทุกคน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่ “ของสูง” ของคนชั้นนำเท่านั้น

      จิตรเริ่มต้นด้วยการรวบรวมนิยามศิลปะแบบเดิมของฝ่ายชนชั้นปกครองมาเปรียบเทียบกัน  เช่น ความหมายของศิลปะที่ว่า “ศิลปะเป็นของสูงส่ง” เป็นของพิเศษเลิศเลอ มิใช่สมบัติของสามัญชน แต่สำหรับผู้มีวุฒิปัญญาพิเศษโดยเฉพาะ  มีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ   ที่ได้รับการยกย่องบูชาอย่างสูงส่ง ผู้ที่ผลิตขึ้นมาก็ “ทำอย่างมีเทคนิค” โดย“เทคนิค” หรือ“กรรมวิธี” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “วิธีทำ” คือ ประดิษฐกรรมที่ซับซ้อนสิ่ง มีความประณีต ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี และ พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) เรียกว่า “ผลิตกรรม-ทางเทคนิค” โดย ศิลปกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ จะต้องมีการแสดง  ขณะที่จิตรยกคำกล่าวของ ตอลสตอย ในการมองศิลปะว่าเป็นเพียง “งานฝีมือ” (Craftsman-ship) เท่านั้น สิ่งประดิษฐที่มีแต่ความประณีต ให้ความบันเทิงเริงใจนั้นหาใช่ศิลปะไม่ (จิตร ๒๕๔๑; 35)

     จิตรได้สรุปความเข้าใจของ ตอลสตอย ว่า ศิลปะจะต้องผลิตกรรมทางเทคนิคที่มีการสำแดงออกแฝงอยู่ภายใน ถ้าจะเขียนเป็นสูตรแบบวิทยาศาสตร์ก็คงจะได้สูตรว่า

ศิลป  =      รูปแบบ + การสำแดงออก

Art    =      From + Expression

โดย“การสำแดงออก” นั้นเป็นคำที่บ่งบอกถึงปฏิกิริยาของอารมณ์โดยทางตรง

ตอลสตอย วาง  “เงื่อนไขอันจำเป็นอย่างยิ่งของศิลปะ” ว่า  สิ่งที่จะจัดได้ว่าเป็นศิลปะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความคิดใหม่อันเป็น “เนื้อหา” ของศิลปะ   และความคิดใหม่เป็นเนื้อหาของศิลปะนั้น จักต้องมีความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ  มีความคิดริเริ่ม  และฉีกแนวในทางที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ทั้งยังต้อง เข้าใจความจริงของชีวิตและโลก เข้าใจถึงแนวทางที่จะนำชีวิตและโลกไปสู่ความสุขที่แท้จริง และขณะเดียวกันก็ต้องตีแผ่แนวทางนั้นออกมา โดยที่ความคิดใหม่หรือเนื้อหาของศิลปะนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของชีวิตและโลกโดยแท้จริง บรรดาผู้ผลิตงานฝีมือหรือผลิตกรรมทางเทคนิคอันไร้เนื้อหาออกมาดื้อ ๆ จะเป็นอย่างมากก็เพียง “ช่างฝีมือ” เท่านั้น จิตรประเมินว่าคุณค่าของงานศิลปะอื่นใดหากไร้เนื้อหา เจ้าของงานนั้น จักไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” ได้เลย

     ในยุคปัจจุบัน จอห์น มอลินิวซ์ สมาชิกพรรคสังคมนิยมแรงงานของอังกฤษ ให้นิยามศิลปะของฝ่ายมาร์คซิสต์ว่า        “เป็นสิ่งที่เกิดจากการรังสรรค์ของศิลปินอย่างเสรีโดยมิได้กระทำไปเพราะการบังคับ กดขี่หรือแลกเปลี่ยนมาซึ่งเงินตรา  หากแต่เป็นศิลปะที่สะท้อนศักยภาพของศิลปินเอง  ทั้งยังให้ผู้เสพหรือผู้ชมได้รับแรงบันดาลใจอันเป็นด้านบวก มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคม ” (Molyneux 1998) จอห์น มอลินิวซ์ ยังได้สะท้อนความคิดของ ตรอทสกี ว่า “ศิลปะเป็นการการผสมผสานของกลไกทางสมอง และ ความสัตย์จริง มันไม่ต้องการระเบียบกฏเกณฑ์   แต่สร้างขึ้นจากอิสรภาพ “

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและสังคม

จิตร โจมตีแนว “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ที่เชื่อว่าศิลปะเป็น “สิ่งบริสุทธิ์” ที่ลอยอยู่เหนือสังคม การตั้งคำถามว่า “ศิลปะรับใช้ใคร?” และ “ศิลปะเป็นสิ่งบริสุทธ์ที่ลอยอยู่เหนือสังคมหรือไม่?” เป็นประโยชน์ในการกระตุ้นให้เราพิจารณาสองปัญหาที่มีความสำคัญ

     จิตรให้ข้อสรุปว่าศิลปะทุกยุคสมัยล้วนรับใช้ชีวิต ไม่มีศิลปะลอยๆ “ศิลปะเพื่อชีวิต  คือ ศิลปะที่มีผลสะท้อนออกไปสู่ชีวิตและขึ้นชื่อว่า ‘ศิลปะ’ แล้วมันย่อมส่งผลสะท้อนออกไปสู่ชีวิตทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะศิลปะมีชีวิตเป็นพื้นฐาน” (จิตร ๒๕๔๑; 163)  ทั้งยังรับใช้ชนชั้นโดยอธิบายตามยุคของสังคมด้วย    ดังที่เขาเขียนบรรยายไว้ว่า “ศิลปะพึงรับใช้ชีวิตของสาธารณชน โดยแสดงแบบอย่างที่ดีและเป็นโคมไฟอันแจ่มจ้าที่จะส่องทางนำชีวิตของมวลมนุษย์ไปสู่ความดีงามนั่นคือ ศิลปะเพื่อชีวิต” ในเมื่อศิลปะคือการสะท้อนภาพของชีวิต  ผลิตกรรมใดก็ตาม ถ้าหากมันมิได้สะท้อนภาพชีวิตออกมามันก็หมดสภาพความเป็นศิลปะของมันลงในทันที  (จิตร ๒๕๔๑; 35-36)

     จิตรเชื่อว่า “ศิลปะที่ไม่รับใช้ใคร ไม่มี ในโลกมีแต่ศิลปะที่รับใช้ไม่ใครก็ใครฝ่ายหนึ่งเสมอ” (จิตร ๒๕๔๑; 72) โดยเขาแจกแจงว่า “ศิลปะเพื่อชีวิตอาจจะเป็นศิลปะเพื่อชีวิตของคนชั้นผู้กดขี่ประชาชนก็ได้ สิ่งที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดจึงต้องเป็น ศิลปะเพื่อชีวิตของประชาชนส่วนข้างมากผู้ทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ศิลปะเพื่อประชาชน  หากหมายถึงชีวิตของชนทุกชั้นโดยส่วนรวม…” (จิตร ๒๕๔๑; 163-164) และ “ในยุคสมัยที่สังคมไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดินิยม…(มี) การชักจูงให้มัวหลงระเริง  เคลิบเคลิ้มไปเสียกับความฟุ้งเฟ้อเหลวไหลนานาประการ (จิตร ๒๕๔๑; 171)

     “ศีลปะเพื่อศีลปะบริสุทธ์” นอกจากจะเป็นแนวคิดที่หลุดจากโลกจริงเพราะไม่ใช้แนววัตถุนิยมในการทำความเข้าใจว่ารูปแบบและโครงสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์มีความสำคัญในการกำหนดความคิดและรูปแบบของศีลปะแล้ว ยังเป็นแนวปฏิกิริยาที่ชวนให้เราละเลยการมองเนื้อหาของงานศีลปะเพื่อพิพากษาว่ามันก้าวหน้าหรือไม่ เช่นการมองแบบพวก โพสธ์โมเดอร์น ในยุคปัจจุบันที่ยอมรับ “อะไรก็ได้” และไม่แยกแยะว่างานไหนดูถูกผู้หญิง งานไหนดูหมิ่นคนเชื้อชาติอื่น หรืองานไหนเชิดชูการกดขี่หรือความไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จิตรเตือนใจเราให้คิดเรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง

     อย่างไรก็ตามในการโจมตีแนวคิดที่เสนอว่ามี “ศีลปะบริสุทธิ์” เราต้องไม่หลงด่าศีลปะแบบ แอบสแตรคท์ ไปด้วย เช่นงาน “หยดสี” ของศิลปินอเมริกาชื่อ แจกสัน พอลลอค เพราะงานแบบนี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีเนื้อหาสาระทางสังคม สามารถมีบทบาททางสังคมในการท้าทายกรอบความคิดของเราได้ เช่นกรอบความคิดเดิมๆ ที่มองว่ารูปภาพศีลปะ “ต้องดูออกว่าเป็นอะไรจึงจะถือว่าเป็นงานศีลปะได้”  ซึ่งการท้าทายเราแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกบฏในสังคม

     การมองอย่างด้านเดียวของจิตรว่างานของยุคศักดินาหรือทุนนิยมเป็นศีลปะที่ไร้ค่า สะท้อนความคิดกลไก เมื่อกำหนดนิยามขึ้นแล้วก็เอานิยามอันเป็นอัตตวิสัยนี้มาวัดคุณค่า ตีราคาให้สรรพสิ่ง โดยมิได้พิจารณาสภาพความเป็นจริง สภาพทางภววิสัยคืออะไร  ก็เพื่อทำให้ศิลปะในขั้วของชนชั้นปกครองกลายเป็นสิ่งดูน่ารังเกียจ เป็นสิ่งจอมปลอม เพราะเกิดขึ้นภายใต้อำนาจชนชั้นปกครองเก่าโดยที่ไม่ได้รับใช้มวลมนุษยชาติ และยกย่องว่าในทางตรงกันข้ามประดิษฐกรรมทุกอย่างที่มีเจตนาเพื่อการรับใช้มนุษย์ รับใช้ประชาชนย่อมเป็นศิลปะอันประเสริฐน่ายกย่อง  รูปปั้นการต่อสู้ของกรรมกร ชาวนา ทหารปลดแอก และภาพที่มีท่วงทำนองแบบเดียวกันจึงถือเป็นศิลปะที่แท้จริง…..จิตรให้ข้อสรุปไว้ว่า “งานสร้างสรรค์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ สิ่งที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์จึงควรรับใช้ชีวิตมนุษย์” และยังตอกย้ำ คำยืนยันของตอลสตอยว่า “ศิลปินจักต้องมีทรรศนะต่อชีวิต หรือ ชีวทรรศน์ (Life Conception) อันถูกต้อง และขณะเดียวกันก็ต้องมีทรรศนะต่อโลกหรือโลกทรรศน์ (Worlds Conception)”  ศิลปินจึงน่าจะเป็นคนพิเศษ เหนือมนุษย์   จะเป็นคนธรรมดาไม่ได้ ต้องมีทั้งชีวทรรศน์ โลกทรรศน์ เป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่คล้ายกับการสร้างภาพวีรชนปฏิวัติ ของเหมาเจ๋อตง และค่ายลัทธิสตาลินอื่นๆ

     ในแง่หนึ่งการเสนอว่าศีลปะต้องรับใช้ประชาชนก็เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ เพราะเราต้องคิดเสมอว่าศิลปินผลิตผลงานเพื่ออะไร เพื่อเก็บไว้ดูเองคนเดียว? หรือเพื่อสื่ออารมณ์และความหมายในสังคม? ถ้าศิลปินผลิตงานไว้ดูคนเดียวเรียกเขาว่าเป็น “ศิลปิน” ได้ไหม? ในเมื่อศิลปินต้องเลี้ยงชีพโดยการขายผลงานหรือโดยการที่สังคมตอบแทนการทำงานของเขาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ศิลปินก็ควรต้องรับผิดชอบกับการผลิตผลงานเพื่อสื่อให้กับพลเมืองในสังคมระดับหนึ่ง ดังนั้นศิลปินควรใช้เวลาในการพิจารณาการทำงานของตนเองว่ากำลังปกป้องทัศนะคติอะไรและท้าทายทัศนะคติอะไรด้วย

     แต่การที่จิตรไม่แยกแยะระหว่างคำถามว่า “ศีลปะรับใช้ใคร” กับคำถามว่า “ศีลปะชิ้นนี้ผลิตขึ้นภายใต้บริบทสังคมใด” ทำให้เกิดความสับสนที่นำไปสู่ความกลไก เพราะศีลปะที่ผลิตขึ้นในสังคมที่มีการกดขี่ขูดรีดย่อมสะท้อนลักษณะของสังคมนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับใช้ชนชั้นที่กดขี่ขูดรีดเสมอ แนววิภาษวิธีมาร์คซิสต์มองว่าทุกสังคมต้องมีความขัดแย้งภายใน ศิลปินก็เป็นส่วนของความขัดแย้งนั้นได้ และอาจผลิตงานที่เป็นกบฏต่อสังคมก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินไม่ได้มีอิสระภาพที่จะประกอบอาชีพตามใจชอบในเมื่อปัจจัยการผลิตหรืออำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกำมือของคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามแม้แต่งานศีลปะที่ออกมาจากบริษัทข้ามชาติ เช่นภาพยนต์อย่าง ไทแทนิค จาก ฮอลลีวูด หรือเพลงลูกทุ่ง ก็มีลักษณะขัดแย้งในตัวระหว่างความต้องการที่จะถ่ายทอดแนวคิด ค่านิยม และอำนาจของชนชั้นนายทุน กับ ความต้องการที่จะมียอดขายสูง ดังนั้นผลงานแบบนี้อาจสะท้อนความยากจนและความขัดแย้งทางชนชั้นเพื่อเอาใจรสนิยมของลูกค้าผู้เป็นกลุ่มเป้าหมายก็ได้ และนอกจากนี้กรรมาชีพศิลปินที่ทำงานในบริษัททุนนิยมที่ผลิตภาพยนต์หรือเพลงก็อาจมีจิตสำนึกทางชนชั้นได้

     ยิ่งกว่านั้นการที่มีศีลปะเกิดขึ้นที่เชิดชูการปกครองของชนชั้นผู้กดขี่ ไม่ได้แสดงว่างานนั้นจะงดงามไม่ได้ ตัวอย่างของวัดพระแก้วหรือเพลงชมพระเจ้าของโมซาร์ทที่เขียนให้ขุนนาง ทำให้เราเห็นภาพได้ และความละเอียดอ่อนในการมองจะนำเราไปสู่ความเข้าใจว่าระบบสังคมที่ไร้ความงามและเต็มไปด้วยความป่าเถื่อนอาจผลิตศีลปะบางชิ้นที่งดงามได้

ความงามต้อง “ง่ายและชัดเจน” จริงหรือ?

ขณะที่จิตรเน้นว่าศิลปะของประชาชนต้องสะท้อนความจริงโดยกล่าวว่า “ ศิลปะ คือ การสะท้อนความจริงของชีวิตตามที่เป็นอยู่แท้จริงและความแท้จริงนั่นแหละ คือ ความงาม”  ตลอดจนสนับสนุนว่าเงื่อนไขทางรูปแบบของศิลปะที่มีสามประการคือความแจ่มชัด (Clarity) ความง่าย (Simplicity) และความงาม (Beauty) นั้น โดยทั้ง 3 เงื่อนไขจักต้องสัมพันธ์กันเสมอไป และโดยที่ความแจ่มชัดตั้งอยู่บนฐานแห่งความงาม ความงามในศิลปะนั้นคือความจริง (จิตร ๒๕๔๑; 31) ศิลปะต้องเกิดจากความรู้สึกปรารถนาภายใน (Inner need) มิใช่ความเย้ายวนจากภายนอก (External inducement)

     แต่ “ความจริง” โดยพิจารณาตาม “ภววิสัย” (Objectively) คือความจริงตามที่มันเป็นอยู่จริงโดยตัวของมันเอง (Objective reality or reality by itself) “ความจริง” เคยเป็นที่มาของศิลปะหลายสาย จากภาพเหมือนใบหน้าคนในศตวรรษหนึ่ง มาสู่ภาพเหมือนในธรรมชาติ มาสู่ความเหมือนจริงแบบอุดมคติแล้วกลับมาสู่ความเหมือนจริงสองประการในเวลาเดียวกัน คือ ความเหมือนจริงอย่างที่ตาเห็น กับเรื่องเหตุการณ์จริง (Gustave Courbet เรียกความจริงชนิดนี้ว่า Le Realisme ในปี ค.ศ.1855) จนถึงความเหมือนจริงที่เป็นส่วนตัวกว่าคือ Die Neue Sachilchkeit  เล่าถึงความจริงในชีวิตประจำวัน เช่น งานจิตรกรรมของ Edward Hopper (ทัศนศิลป  ๒๕๔๒)

     ภาพคน ทิวทัศน์แบบ อิมเพรสชันนิสม์  หรือสิ่งแวดล้อมแบบ เอ็กเพรสชันนิสม์ ล้วนคลี่คลายไปจากความจริงทั้งสิ้น สะท้อนแสงสีจริงในธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา แม้กระทั่งศิลปะเหนือจริงอย่าง เซอร์เรียลิสม์ ก็ยังคงความเป็นจริงตามจิตใต้สำนึก  หากเราใช้ความคิดอย่างกลไก อย่างคับแคบ เราก็อาจจะปฏิเสธคุณค่าของศิลปะที่ดำรงอยู่จริง แล้วล้อมกรอบให้ศิลปะกลับด้อยค่าลง  ใครที่เคยทำงานด้านศิลปะในกองทัพปลดแอกไทย ภายใต้การนำของพรรคคอมิวนิสต์ไทยหรือเคยสัมผัสกับศิลปะยุคหลังม่านไม้ไผ่ย่อมเข้าใจได้ดี

     การให้นิยามศิลปะเช่นนี้ ลึกๆแล้วก็คือการสะท้อนความคิดลัทธิเผด็จการสตาลิน-เหมา ที่นำงานศิลปะ วัฒนธรรม และสื่อทุกอย่างมารับใช้แนวการต่อสู้เพื่อประชาชาติ ตีกรอบให้มนุษย์ปราศจากอิสรภาพทางความคิด  ยอมเบนความหมายของศิลปะอย่างที่มันดำรงอยู่ ยอมหลอกตัวเองอย่างปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในอดีต ที่นำเอาข้อความในคติพจน์เหมาเจ๋อตงมาใส่ทำนองแล้วกลายเป็นศิลปะดนตรีที่ “ไพเราะ” ทำให้ภาพของนักรบปฏิวัติตามอย่างจีนกลายต้นแบบศิลปะที่ “น่ายกย่อง”  และสร้างรูปปั้นต่างๆที่มีคนอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนชูมือชูไม้ออกมามากมาย ในทำนองเดียวกับภาพวาด  แล้วเทิดทูนว่า เป็นศิลปะ “ชั้นยอด”

     คุณค่าศิลปะจากความอุตสาหะของศิลปินในอดีตจึงถูกมองอย่างด้อยค่าในสายตาผู้แอบอ้างเป็นมาร์คซิสต์  ทั้งๆที่ศิลปะมีคุณค่าในตัวเอง นครวัด นครธม ทัชมาฮัล พระบรมมหาราชวัง   ภาพของเรมบรานท์ ของแวนโก๊ะ รูปปั้นฝีมือไมเคิล แองเจโล ไม่ใช่ศิลปะที่งดงามจริงหรือ…?     นั่นแสดงว่ากรรมกร ชาวนา ผู้ถูกขูดรีดสามารถเสพคุณค่างานศิลปะได้เฉพาะที่ดูหยาบๆ เรียบๆ ฟังได้เฉพาะเพลงที่แต่งง่ายๆ  ขอแต่ให้มีชีวทัศน์ โลกทัศน์อย่างท่านประธานเหมา แล้วสร้างประดิษฐกรรมอะไรขึ้นมาก็เป็นอันใช้ได้   ความคิดคับแคบ ด้านเดียวปิดกั้นตนเองในการเสพศิลปะ เช่นนี้แหละที่จำกัดให้งานศิลปะของฝ่ายซ้ายไม่สามารถงอกงามได้ ยิ่งกว่านั้นการเน้นความง่ายและความชัด เป็นการไหลไปตามแนวคิดของชนชั้นปกครองโดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นการมองว่าคนธรรมดาโง่และขาดปัญญาที่จะเสพ “ของสูง”             

ภารกิจของศิลปินก้าวหน้า

การที่จิตรเสนอว่าศิลปินก้าวหน้าต้องคำนึงถึงภารกิจของตนเองที่มีต่อสังคม  เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแสวงหาบทบาทของตนเองในการปฏิวัติสังคมนิยม แต่บางครั้งจิตรเรียกร้องการทำงานของศิลปินที่ขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพและความสร้างสรรค์ตามความหมายของสังคมนิยม  โดยตั้งกรอบจริยธรรมคล้ายๆ แนวลัทธิศาสนา ตามหลักวิธีคิดแบบลัทธิเหมา ที่ทำให้มนุษย์ต้องเป็นมนุษย์พิเศษ ไม่มีคำว่า “ส่วนตัว” มีแต่ส่วนรวม (ยังดี ๒๕๓๕; 121) แล้วในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้  กลายมาเป็นข้อเข้มงวดกัน กลายเป็นวัฒนธรรมการจับผิด อย่างที่ในกองทัพปลดแอกของไทยเคยปฏิบัติมา จิตรกล่าวว่า “เรามองเห็นศิลปินที่ไม่ยอมรับรู้ในผลสะท้อนที่ศิลปะมีต่อชีวิตนั้น เลวทรามเสียยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก ศิลปินที่สักแต่สร้างศิลปะออกมาโดยถือเอาความพึงพอใจของตนเป็นใหญ่ หรือโดยถือเอาการค้าขายหรือเงินตราเป็นใหญ่ โดยไม่ยอมรับผิดชอบต่อผลสะท้อนที่มันจะมีต่อมวลประชาชนก็คือสัตว์ที่เลวทรามที่สุดในสายตาของเรา!” (จิตร ๒๕๔๑; 179) ในเรื่องเงินตราเราคงไม่เถียงกับจิตร แต่การปฏิเสธความสำคัญของ “ส่วนตัว” ในงานศิลปะอาจคับแคบเกินไป เพราะจุดเริ่มต้นของงานศิลปะมักจะมาจากประสบการณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวภายในเสมอ ดังนั้นภารกิจของศิลปินก้าวหน้าน่าจะเป็นการขยายประสบการณ์ส่วนตัวที่ทุกคนมี เพื่อแสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ของมนุษย์แต่ละคนมีส่วนคล้ายกันตรงไหนเพราะอะไร คือเราไม่โดดเดี่ยวในสังคม และปัญหาหรือความรู้สึกของเราเป็นปัญหาหรือความรู้สึกที่มาจากสภาพสังคม

     ภารกิจโดยทั่วไปขั้นพื้นฐานของศิลปินฝ่ายประชาชนในมุมมอง จิตร ก็คือ “สร้างสถานที่ในประวัติศาสตร์แห่งศิลปะให้แก่ประชาชน”  บุกเบิกและแหวกช่องเพื่อสร้างสถานที่ให้แก่ประชาชนปรากกฏเด่นขึ้นมาในประวัติศาสตร์แห่งศิลปะ …ศิลปะและวรรณคดีในยุคก่อน ๆ นั้น วนเวียนอยู่แต่เพียงการฉายสะท้อนภาพชีวิตหรือความคิดฝันของชนชั้นผู้ขูดรีด  ที่ถือว่าเป็นวรรณคดีเอกของชาติ ล้วนเป็นหนังสือที่ฉายสะท้อนภาพชีวิตของเจ้าขุนมูลนายในราชสำนัก ภาพของประชาชนทั้งมวลมิได้ปรากฏขึ้นในวรรณคดีเหล่านั้นเลย  (จิตร ๒๕๔๑; 192-193)

     จิตรเรียกร้องผู้สร้างงานศิลปะว่า “เพื่อที่จะสร้างสรรค์ยุคสมัยของประชาชนที่แท้จริง ศิลปินมีหน้าที่อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษา ‘คุณค่าของประชาชน’ อย่างใกล้ชิด แล้วสะท้อนถ่ายออกมาแสดงแก่ตาของ (1) ศัตรูของประชาชน เพื่อให้เขาได้ตระหนักชัดถึงคุณค่าแห่งความเป็นคนและคุณค่าแห่งการทำงานของประชาชนที่เขาเคยดูถูกเหยียบย่ำ (2) ประชาชน เพื่อที่จะได้ปลุกให้เขาตื่นขึ้นตระหนักในคุณค่าของตนเอง และเกิดความมั่นใจในตัวเองขึ้นในอันที่จะต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์โลกใหม่ที่เขาต้องการ”  (จิตร ๒๕๔๑; 208-209)  และ “ศิลปินจึงจำเป็นต้องชี้ชัดถึงลักษณะอันอัปลักษณ์ของชีวิตที่เป็นอยู่จริงที่มาของความอัปลักษณ์แห่งชีวิตวิธีแก้ไขเปลี่ยนแปลงความอัปลักษณ์แห่งชีวิตให้กลายกลับเป็นความดีงามตัวอย่างอันเจิดจ้าของความดีงามใหม่แห่งชีวิตที่จะมาถึง”  สรุปก็คือในทัศนะของจิตรภูมิศักดิ์เป้าหมายอันสำคัญยิ่งของศิลปะคือการสร้างความเจริญวัฒนาแก่ชีวิตและสังคม ศิลปะจึงต้องมีบทบาทขจัดแนวคิดที่ล้าหลัง และสร้างแนวคิดก้าวหน้า ศิลปินจำต้องมีสำนึกทางชนชั้น แสดงคุณค่าของประชาชนด้วยทัศนะอันถูกต้อง ศิลปะจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผนึกกำลังสามัคคีของ “ฝ่ายประชาชน” ทั้งมวลเข้าด้วยกัน (จิตร ๒๕๔๑; 230) 

     เราคงไม่เถียงกับจิตรว่าศิลปินก้าวหน้าควรเข้าใจการเมืองของผู้ถูกกดขี่ แต่ “ประชาชน” ที่จิตรพูดถึงคือใคร? ถ้าตามแนวสตาลิน-เหมา “ประชาชน” คือกรรมาชีพ ชาวนาย่อย ชาวนาใหญ่ นายทุนน้อยและนายทุนชาติที่รักชาติ การกล่าวอ้างถึงประชาชนอย่างคลุมเครือเป็นที่มาของความสับสนในเวลาต่อมาเพราะมีเป้าหมายในการสร้างแนวร่วมประชาชาติ ที่ประกอบขึ้นจากหลายชนชั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่ยุติเพราะในหมู่ชนชั้นต่างๆ ที่ถือว่าเป็นประชาชนน่าจะมีความขัดแย้งทางชนชั้นหนักพอสมควร ( ใจ ๒๕๔๐; 80 และ ก.ป.ร. “วิธีสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน”; 14)

มุมมองมาร์คซิสต์ต่อศีลปะที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ของจิตร

ในยุคของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ตรอทสกี เคยวิจารณ์ข้อเสนอของพวกศิลปินซ้ายจัดในกลุ่ม Proletcult “กลุ่มวัฒนธรรมกรรมาชีพ” ที่ต้องการสร้างงาน “ศีลปะของชนชั้นกรรมาชีพแบบบริสุทธิ์” ศิลปินกลุ่มนี้เคยโจมตีภาพวาดของ Cezanne และ Picasso ว่าเป็นศิลปินที่รับใช้นายทุน

     ตรอทสกี แย้งว่า Proletcult ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและชนชั้นตามประวัติศาสตร์ เพราะในสังคมชนชั้น เช่นทุนนิยม กระแสความคิดหลักย่อมมาจากชนชั้นปกครอง ดังนั้นศีลปะของสังคมทุนนิยมย่อมเป็นศีลปะของชนชั้นนายทุน ซึ่งไม่ได้เป็นการพิพากษาว่างามหรือไม่งาม ปัญหาคือในระบบทุนนิยมศิลปินที่ก้าวหน้าไม่สามารถปลีกตัวออกจากระบบที่ดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องเลี้ยงชีพ ไม่ต่างจากกรรมาชีพอื่นๆ ดังนั้นเขาคงต้องผลิตศีลปะแบบทุนนิยมอยู่ดี และแม้แต่ศิลปะกบฏที่เกิดในระบบทุนนิยมก็ถือว่าเป็นผลของทุนนิยมได้ ตรอทสกีอธิบายว่าในระยะยาวหลังจากการปฏิวัติสังคมนิยม ชนชั้นกรรมาชีพจะขึ้นมามีอำนาจ แต่การขึ้นมามีอำนาจครั้งนี้ก็เพื่อจะล้มล้างระบบชนชั้นทั้งหมดและสลายชนชั้นตนเองไปด้วย ดังนั้นในระบบสังคมนิยมศีลปะย่อมไม่เป็นของชนชั้นใดอีกต่อไปเพราะมีการสลายระบบชนชั้น (Trotsky 2001; 83)

     ในงานเขียนเกี่ยวกับศีลปะและวัฒนธรรม ตรอทสกี อธิบายว่า “มุมมองมาร์คซิสต์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างศีลปะกับสังคมและคุณประโยชน์ของศีลปะ ไม่ได้อยู่ในกรอบแคบของการออกคำประกาศหรือคำสั่ง เราปฏิเสธข้อเสนอที่ว่าเราต้องถือว่าศีลปะปฏิวัติใหม่ควรมีแต่เนื้อหาเกี่ยวกับกรรมาชีพเท่านั้น มันเป็นเรื่องไร้สาระอย่างยิ่งที่จะพูดว่าเราเรียกร้องให้นักประพันธ์กล่าวถึงปล่องควันโรงงานหรือการลุกขึ้นสู้กับทุนนิยม ถึงแม้ว่าศีลปะใหม่จะต้องนำการต่อสู้ของกรรมาชีพมาเป็นหัวใจของขบวนการอย่างแน่นอน แต่ทิศทางการไถนาของขบวนการศีลปะแบบใหม่ไม่ได้กำหนดอย่างตายตัวกลไกเหมือนการระบายสีตามหมายเลข ตรงกันข้าม ขบวนการใหม่จะต้องไถนานี้ทั้งแปลงในหลากหลายทิศทาง ประเด็นส่วนตัว ไม่ว่าจะลงรายละเอียดปลีกย่อยแค่ไหน มีสิทธิอย่างสมบูรณ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของศีลปะใหม่ดังกล่าว”  (Harrison & Wood 2003; 445)

     ในยุคเดียวกัน เลนิน เคยเสนอมติในสภาโซเวียตเกี่ยวกับมุมมองระยะสั้นต่อวรรณคดีและศีลปะที่มีใจความว่า “ลัทธิมาร์คซ์มีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเป็นลัทธิของชนชั้นกรรมาชีพผู้ปฏิวัติสังคม ทั้งนี้เนื่องจากลัทธิมาร์คซ์ไม่ยอมปฏิเสธส่วนของผลงานชนชั้นนายทุนที่มีประโยชน์ ตรงกันข้าม ลัทธิมาร์คซ์สามารถกลืนและดัดแปลงผลงานทางปัญญาและวัฒนธรรมของมนุษย์ในรอบสองพันปีที่ผ่านมาที่ถือว่ามีคุณค่า การทำงานของเราในช่วงท้ายของการต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดทุกชนิดจะต้องเป็นการพัฒนาและสารต่อในทิศทางนี้เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันแท้จริงของชนชั้นกรรมาชีพ โดยเราจะได้รับแรงบันดาลใจจากพลังการปฏิวัติของกรรมาชีพ”  มตินี้ ซึ่งเสนอในปีวันที่ 8 ตุลาคม 1920 มีจุดมุ่งหมายเพื่อโจมตีความคับแคบของกลุ่ม Proletcult (Harrison & Wood 2003; 402)

     ต่อมาในยุคของเผด็จการสตาลิน สตาลินได้นำคำขวัญเดิมๆ ของศิลปิน Proletcult มาใช้เพื่อให้ดูดีว่ายังยึดถือแนวต่อสู้ทางชนชั้นอยู่ แต่ในความเป็นจริงเป็นการใช้ในลักษณะที่ปราศจากเนื้อหาเดิม เพราะในขณะที่สตาลินเอ่ยถึงศีลปะของชนชั้นกรรมาชีพ และมีการปิดพิพิธภัณฑ์ที่แสดงรูปภาพของ Van Gogh, Matisse และ Picasso ก็มีการสลายการรวมตัวกันอย่างอิสระของศิลปินเพื่อจัดตั้งสหพันธ์ศิลปินของรัฐบาลขึ้นในปี 1932 และอดีตศิลปิน Proletcult หลายคนก็ถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่นการสร้างอุปสรรค์ในการเลี้ยงชีพเป็นต้น (Harrison & Wood 2003; 403-417, 672)

     ดีเอโก ริเวรา (Diego Rivera) ศิลปินมาร์คซิสต์จากเมกซิโกที่สร้างผลงานภาพวาดบนฝาผนังที่มีชื่อเสียง เสนอในงานเขียน The Revolutionary Spirit in Modern Art เมื่อปี 1932 ว่า “เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพจำเป็นต้องมีศีลปะ ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องยึดศีลปะมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ทางชนชั้นโดยต้องต่อสู้ในสองแนวพร้อมกันคือ (1)ต่อสู้กับผลผลิตของนายทุนที่ผลิตภายใต้เงื่อนไขนายทุน และ (2)สู้เพื่อผลิตศีลปะของกรรมาชีพเอง ในกระบวนการนี้ชนชั้นกรรมาชีพจำเป็นต้องใช้ความงดงามในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น ต้องมีการพัฒนาความละเอียดอ่อนของฝ่ายเรา พร้อมๆ กันนั้นต้องมีการรู้จักเสพสุขจากการใช้ศีลปะนายทุน เพราะชนชั้นดังกล่าวได้เปรียบเราในด้านการผลิตศิลปินที่มีฝีมือ เราไม่ควรรอให้ศิลปินนายทุนเปลี่ยนข้างมาอยู่กับเรา แต่เราต้องผลิตศิลปินของกรรมาชีพเองที่มีฝีมือเหนือกว่าศิลปินนายทุน” (Harrison & Wood 2003; 423)

 สรุปเรื่องจิตรกับศีลปะ

 หากศิลปะเป็นเพียงรูปฟอร์มที่เอาเนื้อหามาสอดใส่ตามนิยามของ จิตร ที่ให้เน้นแต่เนื้อหาที่รับใช้ประชาชน ก็เท่ากับหลอกตัวเองอย่างงมงาย สร้างวัฒนธรรม“ความเชื่อ”  แบบกลไกที่เป็นวิธีคิดตามลัทธิสตาลินมากกว่าลัทธิมาร์คซ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ละเอียดอ่อน ไม่สวยก็บอกว่าสวย ฟังไม่ได้ก็ชมว่าไพเราะ  แข็งกระด้างก็บอกว่าอ่อนโยนน่าประทับใจ ลามปามไปถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของนักปฏิวัติสายสตาลินที่ปฏิเสธกระทั่งอารมณ์ ความรู้สึก หลอกตัวเองให้เป็นบุคคลพิเศษ เป็นหุ่นยนต์บ้าง เป็นนักบวชบ้าง แต่เรื่องไม่ควรหยุดอยู่แค่นี้ เพราะนอกจากแนวคิดสายสตาลินจะมีความคัดแย้งระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติที่นำไปสู่ความกลไกดังกล่าวแล้ว แนวคิดสตาลินมีความคัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งดำรงอยู่พร้อมกัน ในมือหรือสมองของนักปฏิวัติทั่วโลกอย่างเช่น จิตร แนวคิดสตาลินไม่ใช่เครื่องมือของผู้ปกครองรัสเซียหรือจีนอย่างเดียว จิตร เองคงไม่ได้เจตนาที่จะใช้แนวคิดนี้เพื่อกดขี่สังคมไทย ตรงกันข้ามผู้เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมที่เสรีและเป็นธรรม ปัญหาคือชุดความคิดที่ตนนำมาใช้ ดังนั้นแนวคิดเรื่องศีลปะของจิตรจะสะท้อนทั้งความกลไกของแนวสตาลินที่มีต่อศีลปะและความพยายามใจบริสุทธิ์ที่จะนำศีลปะมารับใช้มวลชนด้วย

หนังสืออ้างอิง

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.) “วิธีสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” 

จิตร ภูมิศักดิ์ (๒๕๔๑) “ศิลปะเพื่อชีวิต  ศิลปะเพื่อประชาชน” พิมพ์ครั้งที่ 8 สำนักพิมพ์ศรีปัญญา กรุงเทพฯ

ใจ  อึ้งภากรณ์  (๒๕๔๐)  “สังคมนิยมและทุนนิยมในโลกปัจจุบัน”  ชมรมหนังสือ  ประชาธิปไตยแรงาน  กรุงเทพฯ

ทัศนศิลป (๒๕๔๒) จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม

แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย หนังสือ “สร้างสานตำนานศิลป์ ๒๐ ปี ๒๕๑๗-๒๕๓๗ “

ยังดี  วจีจันทร์ (๒๕๓๕) “อยากให้คุณเป็นผู้แพ้” บริษัท ต้นอ้อ จำกัด

สัญชัย สุวังบุตร (๒๕๔๕) “ประวัติศาสตร์โซเวียตสมัยเลนิน 1917-1924” ศักดิโสภาการพิมพ์

Harrison, Charles & Wood, Paul (2003) Art in Theory 1900-2000. An anthology of changes in ideas. Blackwell Publishers, Oxford.

Molyneux, J. (1998) The Legitimacy of modern art.. International Socialism Journal # 80 (SWP-UK), pp71-101.

Molyneux, J. (2020) The Dialectics of Art. Haymarket Books, Chicago IL.

Trotsky, L. (2001) Art and Revolution. Pathfinder Press, U.S.A.

15ปีรัฐประหาร๑๙กันยา -สังคมถอยหลัง

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

และที่สำคัญคือ เมื่อสังคมเผชิญวิกฤตโควิด ประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และป่วยล้มตาย เพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการ

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ตราบใดที่เราไม่สร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อปลุกระดมความคิดทางการเมืองที่เข้าข้างกรรมาชีพผู้ทำงานและคนจน และที่เน้นการทำงานทางการเมืองในขบวนการแรงงาน โดยหวังให้ให้ชนชั้นกรรมาชีพสำแดงพลังในรูปแบบการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ เราจะต้องอยู่กับเผด็จการอีกนาน

อย่างน้อยสุด ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ต้องหาทางรวมตัวกันเพื่อปกป้องปลดปล่อยคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ติดคดีกฎหมายเถื่อนอันเนื่องมาจากการปกครองของเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด คนที่เพ้อฝันคิดแบบนั้นเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่เข้าใจธาตุแท้ของกษัตริย์ไทย ความคิดแบบนี้จะปล่อยให้ทหารลอยนวล และไม่นำไปสู่การสู้กับเผด็จการตรงจุด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์มาจาก

1. การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

2. ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

การคุมกองกำลังทหารเป็นการคุมอำนาจทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหลายๆ ครั้ง ที่สำคัญสำหรับบทความนี้คือ บ่อยครั้งมีความขัดแย้งกันภายในกองทัพ เพื่อแย่งชิงอำนาจนี้ ซึ่งคงไม่เกิดถ้ากษัตริย์คุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ และที่สำคัญอีกคือมีกรณีที่มีการทำรัฐประหารที่สำเร็จและนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่กษัตริย์เคยสนับสนุน ตัวอย่างคือการทำรัฐประหารล้มรัฐบาล “หอย” ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ภูมิพลเคยชื่นชม เพียงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

ก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีมวลชนของพวกสลิ่มออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนนมากมาย มวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ไม่สนับสนุนระบบประชาธิปไตย เกลียดทักษิณเพราะทักษิณทำแนวร่วมกับคนจนเพื่อสร้างฐานเสียงให้ตัวเอง และไม่พอใจการ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ป่วยหนักและหมดสภาพที่จะทำอะไร และวชิราลงกรณ์ก็มัวแต่เสพสุขที่เยอรมัน

การทำรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่สามารถล้มรัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเสื้อเหลืองและกลุ่มพันธมิตรกึ่งฟาสซิสต์ทำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และพวกเหลืองเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพวกเอ็นจีโออีกด้วย การทำรัฐประหารครั้งนี้ทำไม่ได้ถ้าไม่มีกระแสปฏิกิริยาของฝ่ายเหลืองในสังคม และย่อมทำไม่ได้ถ้าตอนนั้นทักษิณเตรียมตัวจัดมวลชนเพื่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่มีวันทำ

หลังจากที่เผด็จการประยุทธ์ครองอำนาจมา 5 ปี มีการจัดการเลือกตั้งปลอมในปี 2562 ภายใต้กติกาที่ทหารร่างขึ้น ประเด็นสำคัญคือ 1. ทำไมต้องจัดการเลือกตั้งถ้าวชิราลงกรณ์ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ? แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ 2. มีประชาชนไทยหลายล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคของประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจจากฐานเสียงในสังคมที่เผด็จการประยุทธ์ใช้เพื่อครองอำนาจ มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกษัตริย์

พอมาถึงช่วงนี้ วิกฤตโควิดและความไม่พอใจอื่นๆ ที่สะสมในสังคม เริ่มทำลายฐานสนับสนุนของประยุทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” มีความสำคัญสำหรับทหารและชนชั้นนายทุนไทย ในการกล่อมเกลาประชาชนให้สนับสนุนสิ่งที่ชนชั้นปกครองเหล่านี้กระทำ แต่มันต่างโดยสิ้นเชิงกับ “อำนาจกษัตริย์” ซึ่งเป็นภาพลวงตา

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราจะล้มเผด็จการได้ ที่สำคัญคือต้องมีการปลุกระดมกรรมาชีพคนทำงาน คือคนที่มีพลังทางเศรษฐกิจ ให้นัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ และสิ่งนี้เกิดได้ง่ายขึ้นถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยม (ไม่ใช่สร้าง “สหภาพคนทำงาน”)

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม จะช่วยกำจัดการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด” เกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สภาวะแปลกแยก กับการสร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์  https://bit.ly/3B3mwOk

นักเคลื่อนไหวควรปฏิเสธการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด”   https://bit.ly/385NoRk

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5  

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t  

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ