Tag Archives: การปฏิวัติทางสังคม

การเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จากยุคศักดินาสู่ยุคทุนนิยมในไทยและที่อื่น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความเร็วแตกต่างกัน บางครั้งจะเป็นการวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเวลาปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น แต่พอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงจุดที่นำไปสู่วิกฤต ที่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองแก้ไขไม่ได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นในรูปแบบการปฏิวัติ กระบวนการแบบนี้ นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน (Base) กับโครงสร้างส่วนบน(Super Structure)”

ท่ามกลางระบบศักดินา ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลผ่านการค้าขาย และผ่านการแข่งขันทางอำนาจกับผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสำคัญอันนี้ทำให้ระบบทุนนิยมเริ่มแทรกซึมเข้ามาในไทย แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในยุคนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศไทย เพราะระบบศักดินาเป็นระบบเมือง ไม่ใช่ระบบประเทศพอระบบทุนนิยมโลกเข้ามาสัมผัสกับเศรษฐกิจไทย คนไทยสามกลุ่มสามารถพัฒนาตัวเองเป็นนายทุนได้อย่างรวดเร็ว  คนไทยสามกลุ่มนี้คือ กษัตริย์  พ่อค้าเชื้อสายจีน และ ข้าราชการ ในกรณีข้าราชการเกิดขึ้นหลัง ๒๔๗๕ ดังนั้นเราไม่ควรมองว่าสังคมไทยล้าหลังถึงขนาดที่พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมไม่ได้

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์และวรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่าในต้นยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของระบบการผลิตแบบทุนนิยมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยิ่งคือมีแนวโน้มที่จะค้าขายสินค้าที่อาศัยแรงงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากการควบคุมระบบการค้าขายอย่างผูกขาดลดลง ฉะนั้นแนวโน้มที่สำคัญคือ มีการลงทุนในการจ้างแรงงานและการผลิตสินค้ามากขึ้น และการขูดรีดส่วนเกินจากการผลิตดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น     เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภาษีที่เก็บจากการผลิตเท่ากับ 40% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐ

หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘  ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที  ระบบการค้าเสรีสร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครอง

“ปัญหา” คือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดย่อมหมดไป  แต่ในขณะเดียวกันการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับตลาดโลกให้ใกล้ชิดมากขึ้น มีผลในการ “สร้างโอกาส”มหาศาลสำหรับผู้ปกครอง ที่สามารถลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก  จะเห็นได้ว่าระหว่างช่วงพ.ศ. ๒๔๑๒/๒๔๑๗ และช่วงพ.ศ. ๒๔๑๘/๒๔๒๒ การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาไทยที่อาศัยการเกณฑ์แรงงานในระบบการเมืองที่กระจายอำนาจ กลายเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ดังนี้คือ

(๑) ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีจำนวนไม่พอ จะเห็นได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ผู้ปกครองไทยต้องเปลี่ยนระบบแรงงานจากแรงงานบังคับไปเป็นแรงงานรับจ้าง และต้องนำแรงงานรับจ้างเสริมเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย นอกจากนั้นชนชั้นปกครองเริ่มใช้ระบบสัญญาเช่าที่ดิน และการแจกกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบทุนนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเองเพื่อส่งให้ตลาดทุนนิยม

ที่รังสิตมีระบบคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง การลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนในระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ไม่ใช่การผลิตแบบพึ่งตนเองแต่อย่างใด ผู้ที่ลงทุนคือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์และนายทุนต่างชาติ

(๒) เนื่องจากมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกกำลังยึดดินแดนรอบๆ เขตอิทธิพลของเมืองกรุงเทพฯ กษัตริย์กรุงเทพฯ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดเขตแดนที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และจำต้องหาทางสถาปนาระบบการปกครองใหม่ในรูปแบบรวมศูนย์ที่ไม่พึ่งการแบ่งอำนาจกับมูลนาย ขุนนาง และเจ้าหัวเมือง  และที่สำคัญคือการปกครองในรูปแบบใหม่จะต้องเอื้ออำนวยให้ระบบการผลิตทุนนิยมพัฒนาได้ดี ฉะนั้นจะต้องมีระบบเงินตรา ระบบธนาคาร ภาษากลาง ระบบข้าราชการ ตำรวจ และกองทัพแห่งชาติที่เกณฑ์โดยรัฐรวมศูนย์  และจะต้องมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและกิจการทางธุรกิจทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคม และความขัดแย้งที่นำไปสู่การปฏิวัติสังคมไทยในครั้งนั้นมาจากสามแหล่ง คือ (๑)การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกที่เข้ามาเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมในดินแดนไทย (๒)ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกษัตริย์กับเจ้าขุนมูลนาย และความขัดแย้งกับคู่แข่งของรัชกาลที่๕ในราชวงศ์ (ดูงานของ อ.กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด)  และ (๓)ความไม่พอใจของไพร่ที่จะทำงานภายใต้ระบบแรงงานบังคับ

ถ้ารัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น ไม่ใช่รัฐในระบบศักดินา รัฐนี้เป็นรัฐของระบบการผลิตแบบไหน? ในอนาคตผมจะอธิบายว่าทำไมรัฐนี้เป็นรัฐทุนนิยมรัฐแรกของไทย และทำไมระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องถือว่าเป็นการปกครองในระบบทุนนิยมชนิดหนึ่ง

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

 

สงครามทางความคิดเรื่อง๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

 ประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย เก็บมาเพื่อถ่ายทอดให้เรารับรู้เท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ที่หวังเสนอแนวคิดในเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเองในสมัยนี้ ไม่มีตำราเรียนในโรงเรียนเล่มไหนที่ไม่ลำเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพื่อสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และบทความนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อเสนอในบทนี้พยายามอ้างประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมโดยตรงได้ ไม่ใช่ว่าต้องหยุดนิ่งกับที่ตลอดไป ดังนั้นบทนี้จะพยายามแย้งแนวกระแสหลักทางความคิดของชนชั้นปกครองไทยเรื่องการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยมภายใต้เผด็จการกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่รัฐทุนนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีรูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือเผด็จการก็ได้ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและมีประโยชน์กับฝ่ายประชาชนชั้นล่างเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย มวลชนธรรมดาในยุคนั้นเข้าใจสิ่งนี้ดี จึงมีส่วนร่วมในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แต่ในยุคปัจจุบันชนชั้นปกครองไทยต้องการที่จะลดความสำคัญของเหตุการณ์นี้ เพื่อให้ประชาชนลืมว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมในเกือบทุกประเทศมีต้นกำเนิดจากการปฏิวัติ

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้เกิดจากการนำเอา “ความคิดตะวันตก” มาใช้ในสังคมไทย แต่มาจากการที่ระบบการผลิตแบบทุนนิยมในไทยพัฒนาถึงระดับที่สามัญชน ซึ่งเข้ามามีบทบาทในระบบราชการ ไม่พอใจที่จะถูกปกครองต่อไปโดยเจ้าในรูปแบบเดิม  แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากมวลประชาไทยมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงทั่วโลก และในที่สุดระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นทางผ่านชั่วคราวระหว่างระบบศักดินากับระบบรัฐสภาทุนนิยมก็หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย

มีนักประวัติศาสตร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อย่างละเอียด เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หรือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฯลฯ บทความชิ้นนี้จะไม่บังอาจยกตัวขึ้นเพื่อแข่งกับชิ้นงานดังกล่าว      แต่จะอาศัยข้อมูลที่ผู้อื่นค้นหามาเพื่อใช้วิเคราะห์เหตุการณ์นี้จากมุมมองมาร์คซิสต์ และในการวิเคราะห์ครั้งนี้จะพิจารณาสี่นิยายที่ชนชั้นปกครองเสนอให้เราเชื่อเกี่ยวกับ ๒๔๗๕

การปฏิวัติครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีรูปแบบผิวเผินที่ดูคล้ายกับการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษปี 1640 ที่มีการล้มการปกครองที่ใช้อำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ เพื่อสถาปนาการปกครองรูปแบบรัฐสภาทุนนิยมของนายทุน แต่แท้จริงแล้วการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ปฏิวัติทางสังคม” ที่ล้มระบบศักดินาเพื่อไปสู่ระบบทุนนิยมแต่อย่างใด เพราะระบบศักดินาไทยถูกล้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว       การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติ “ทางการเมือง” จากรัฐทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่รัฐทุนนิยมที่มีการปกครองแบบคณะภายใต้รัฐธรรมนูญต่างหาก [ดู http://bit.ly/2pmhLNT ]

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการ ชิงสุกก่อนห่ามความจริงแล้วถ้าเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยังไม่ถึงยุคสุกงอมสำหรับเมืองไทย ต้องถือว่าไทยล้าหลังประเทศอื่นพอสมควรเพราะแม้แต่ประเทศจีนก็ปฏิวัติยกเลิกระบบจักรพรรดิไปแล้วในปี 1911   21 ปีก่อนการปฏิวัติในไทย และไม่ใช่ว่าในไทยไม่ได้มีกระแสที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญมานาน เพราะตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ ก็ได้มีการขอรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นความไม่พร้อมของประชาชน คณะราษฎร์เองในคำประกาศฉบับที่หนึ่ง มีความเห็นว่า รัฐบาลของกษัตริย์ ….กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้เจ้าได้กิน ว่าราษฎรมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้เสนอข้อมูลที่สนับสนุนแนวคิดที่มองว่ากระแสและจิตสำนึกในส่วนสำคัญๆ ของเหล่าประชาชนไทยในยุคนั้นเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะก่อนหน้านั้นมีการตีพิมพ์บทความและเสนอฎีกาความเห็นจากประชาชนคนสามัญมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในสมัยนั้น และความไร้ประสิทธิภาพและความเห็นแก่ตัวของรัฐบาลกษัตริย์ในการแก้วิกฤตดังกล่าว

พวกที่มองว่า ๒๔๗๕ เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” มักอ้างว่าการปฏิวัติครั้งนี้นำไปสู่เผด็จการแทนที่จะมีประชาธิปไตย แต่นั้นเป็นคำโกหกของพวกที่เชียร์เผด็จการ แท้จริงแล้วเผด็จการทหารเกิดขึ้นในไทยเพราะพวกทหารหลายกลุ่มต้องการทำลายประชาธิปไตยต่างหาก และการไม่ยกเลิกเผด็จการกษัตริย์ของรัชกาลที่๗ จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้แต่อย่างใด เพราะเผด็จการของ ร.๗ ก็เลวพอๆ กับเผด็จการทหาร และรัชกาลที่๗ ไม่เคยมีแผนจะสละอำนาจเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร์เอา ความคิดตะวันตกที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้? กระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ไปเรียนต่างประเทศอย่างปรีดี พนมยงค์ เพราะความจริงผู้นำส่วนใหญ่ของคณะราษฎร์ไม่ได้จบจากนอกแต่อย่างใด และปรีดีเองได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อข้าพเจ้ากลับเมืองไทยปี ๒๔๗๐ ชนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยไปต่างประเทศมีความตื่นตัวที่จะเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นักวิชาการหลายคนเช่น Girling ได้เสนอว่าที่จริงแล้วในต้นศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของกษัตริย์ไทยในชนบทเกือบจะไม่มีเลย และ Bowie รายงานว่านักมนุษยวิทยาคนหนึ่งเคยพบว่าในปี ๒๔๙๗ 61% ของคนไทยที่อยู่ในชนบทห่างไกลไม่เข้าใจความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามพอเข้ายุครัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ก็มีการฟื้นฟูค่านิยมและประเพณีในพระเจ้าแผ่นดินใหม่เพื่อหวังสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นการกระทำของกลุ่มชั้นนำโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม? มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่าในหมู่ประชาชนมีกระแสความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสูง และมีหลักฐานว่าประชาชนชั้นล่างมีส่วนร่วมในการปฏิวัติพอสมควร แม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมาก่อนหน้าการปฏิวัติ ตัวอย่างที่ดีคือ“คณะกรรมกร”ของ ถวัติ ฤทธิเดช ที่สนับสนุนคนงานรถรางและที่มีหนังสือพิมพ์ชื่อ “กรรมกร” คณะกรรมกรถูกก่อตั้งขึ้นในปี ๒๔๖๓ และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าในปี ๒๔๗๕ และในปราบกบฏบวรเดชปี ๒๔๗๖ เหรียญของคณะราษฎร์ที่มอบให้ผู้นำกรรมกรยังตั้งไว้ให้เราชมที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

รัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตยไทย? กระแสที่เสนอว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นบิดาแห่งการปกครองประชาธิปไตย  เป็นกระแสที่ได้รับการสนับสนุนในแวดวงชนชั้นปกครองไทยในยุคหลังเหตุการณ์รุนแรง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีการสร้างรูปปั้นรัชกาลที่ ๗ ไว้หน้าตึกใหม่ของรัฐสภาไทยในสมัยนั้น ชนชั้นปกครองต้องการที่จะลบล้างประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยให้หมดไปจากจิตสำนึกของเรา การล้างจิตสำนึกของประชาชนมีหลายรูปแบบ อีกตัวอย่างคือการไม่ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่เป็นหมุดโลหะซึ่งเคยตั้งไว้บนถนนใกล้ๆ พระรูปทรงม้า และอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงชัยชนะของคณะราษฎร์ในการปราบกบฏบวรเดชที่หลักสี่ [ดู http://bit.ly/2quNSZx ]

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราควรเฉลิมฉลองและรักษาไว้ในความทรงจำของพลเมืองไทย

เชิญอ่านบทความเต็มเรื่องนี้ได้ที่นี่ http://bit.ly/2pz4oul

การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์แยกการปฏิวัติ “เปลี่ยนระบอบ” ออกเป็นสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติทั้งสองรูปแบบนี้ไม่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของทหาร อย่างเช่นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดทำไปเมื่อปี ๕๗ เพราะนั้นเป็นแค่การยึดรัฐบาลโดยอันธพาลที่มีปัญญาจำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองอยู่แล้ว มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ

นักมาร์คซิสต์ชาวอเมริกาชื่อ แฮล ดเรเพอร์ เคยอธิบายว่าการปฏิวัติทางการเมือง เป็นการปฏิวัติภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจสังคมที่ดำรงอยู่ โดยที่มีการยึดอำนาจรัฐจากคนที่เคยคุมอำนาจรัฐในอดีต รูปแบบรัฐอาจเปลี่ยน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไม่เปลี่ยน

การยึดอำนาจรัฐมันยิ่งใหญ่กว่าแค่การยึดรัฐบาล ซึ่งทหารไทยทำเป็นประจำตามสันดาน

แต่ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางการเมืองคือ การปฏิวัติทางสังคม เพราะมันจะเปลี่ยนทั้งรูปแบบรัฐและลักษณะเศรษฐกิจสังคม มีการเปลี่ยนลักษณะการผลิต โดยมีการถ่ายเทอำนาจสู่ชนชั้นใหม่

ตัวอย่างของการปฏิวัติสังคมก็เช่นการปฏิวัติทุนนิยมที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ มันปูทางไปสู่การพัฒนาของระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่ระบบขุนนางฟิวเดิล มันนำไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมและความสำคัญของเมืองสมัยใหม่ มันนำไปสู่หรือมาควบคู่กับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ เช่นแนวเสรีนิยม และในบางกรณีมันนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยในที่สุด แต่นั้นไม่ใช่ผลงานของนายทุนผู้นำการปฏิวัติ มันเป็นผลงานของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพภายในระบบทุนนิยมต่างหาก

การปฏิวัติทางสังคมอาจเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคม ที่ค่อยเกิดขึ้น จนมีการปะทะกับระบบเก่า เช่นในกรณีฝรั่งเศส หรืออาจปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม อย่างเช่นในกรณีอังกฤษ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิวัติทางการเมืองในยุคปัจจุบัน คือการลุกฮือที่ล้มระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ “แบบสตาลิน” ในยุโรปตะวันออกราวๆ ปี 1989 เพราะมันแค่เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมโดยรัฐ” ไปเป็น “ทุนนิยมตลาดเสรี” และที่สำคัญคือคนที่ยึดรัฐมักจะเกี่ยวข้องกับ หรือเป็นคนๆเดียวกันกับ ชนชั้นปกครองคอมมิวนิสต์เก่า ในยุโรปตะวันออกพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ที่พัฒนาจากอดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกเรียกว่า “คนมีชื่อ” และพวกนี้หรือญาติพี่น้องของเขามักจะแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ และนักการเมืองนายทุน แต่ที่สำคัญคือมีการล้มและทำลายระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน

ในการปฏิวัติทางการเมือง คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดในระบบเก่า ก็จะยังเป็นคนที่ถูกขูดรีดในระบบใหม่ พูดง่ายๆ กรรมาชีพในระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ก็ยังเป็นกรรมาชีพในระบบทุนนิยมตลาดเสรี ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยหรือไม่ บ่อยครั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจดีขึ้นหลังการปฏิวัติทางการเมืองก็ได้ แต่พลังการผลิตยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อย

บ่อยครั้งการปฏิวัติทางสังคมจะเชื่อมโยงกับการปฏิวัติทางการเมือง ในกรณีอังกฤษการปฏิวัติทางสังคมที่ล้มระบบฟิวเดิลและตัดหัวกษัตรย์เกิดขึ้นในปี 1640 แต่ตามมาด้วยการปฏิวัติทางการเมืองในปี 1688 ที่เปลี่ยนลักษณะรัฐและลดบทบาทกษัตริย์อย่างถาวร ในกรณีสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ที่เอาชนะอังกฤษและนำไปสู่อิสรภาพในปี 1776 เป็นแค่ขั้นตอนแรกของการยึดอำนาจรัฐจากอังกฤษ คือการปฏิวัติทางการเมืองนั้นเอง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม เพราะตอนนั้นมีหลายระบบซ้อนกันที่อเมริกา เช่นระบบเกษตรกรรายย่อยอิสระ ระบบทาส และหน่ออ่อนของระบการผลิตอตสาหกรรม แต่ชัยชนะของรัฐทางเหนือของอเมริกาในสงครามกลางเมือง 1861-65 เป็นชัยชนะของนายทุนเหนือพวกเจ้าของทาสในรัฐทางใต้ มันคือขั้นตอนที่สองและเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่สถาปนาทุนนิยมในสหรัฐ

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ล้มเผด็จการก็จริง แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิวัติทางสังคมที่จะสถาปนาสังคมนิยมแทนทุนนิยมได้ ในกรณีอียิปต์ดูเหมือนถอยหลังลงคลอง มีแต่ตูนิเซียที่มีระบบการเมืองใหม่

ในยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การสถาปนาทุนนิยมและรัฐทุนนิยม มักจะไม่นำโดยนายทุนที่ลุกขึ้นสู้กับระบบเก่า เพราะชนชั้นปกครองในระบบเก่าอาจมองว่าถ้าไม่ปฏิวัติตนเองกับจัดการล้มระบบเก่า จะไปไม่รอด มีสองตัวอย่างที่น่าสนใจคือไทยกับญี่ปุ่น ในกรณีญี่ปุ่นการปฏิวัติทางสังคมที่ปูทางไปสู่ทุนนิยมคือ “การปฏิวัติเมจี่” นำโดยชนชั้นปกครองเก่าที่แปรตัวไปเป็นชนชั้นนายทุนเพื่อพัฒนาความสมัยใหม่ของชาติ ในไทยการปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นกัน มันเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่เปิดทางไปสู่ทุนนิยม โดยที่กษัตริย์ไทยแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ในระบอบทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ไทยมีความสมัยใหม่ ในทั้งสองกรณีมันมีการยึดรัฐและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมโดยชนชั้นใหม่ แต่ตัวบุคคลไม่เปลี่ยน เพราะบุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพทางชนชั้นแทน

ถ้าในอนาคตมวลชนล้มเผด็จการทหารได้และเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐ มันจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมจากทุนนิยมที่ดำรงอยู่ปัจจุบันไปเป็นอย่างอื่น มันจะเป็นแค่การปฏิวัติทางการเมือง แต่ในพื้นที่เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น เราจะต้องเตรียมตัวปฏิวัติทางสังคมต่อไปสู่สังคมนิยมได้