Tag Archives: การเมืองเปรียบเทียบ

พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาว

ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศลาว “ขบวนการปะเทดลาว” เลือกที่จะใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โดยนำพระสงฆ์มาเป็นแนวร่วม ในขณะที่ฝ่ายขวาและรัฐบาลกษัตริย์ไม่สามารถใช้ศาสนาพุทธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรลืมในกรณีลาวคือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนลาวลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีชาติพันธ์อื่นๆ ในประเทศลาวอีกมากมายที่ไม่นับถือพุทธ แต่นับถือผีสางนางไม้หรือบรรพบุรุษ ซึ่งแปลว่าขบวนการปะเทดลาวต้องหาวิธีการอื่นในการสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่วิธีการของศาสนาพุทธ และก็ทำได้สำเร็จ เพราะกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มเป็นกำลังต่อสู้สำคัญของขบวนการปะเทดลาว วิธีการอื่นที่กล่าวถึงคือการยกเลิกการดูถูกชาติพันธ์ที่ไม่ใช่ลาวลุ่มว่าต่ำต้อยกว่า เช่นการยกเลิกใช้คำดูถูกว่าเขาเป็น “ข้า”

ทำไมขบวนการปะเทดลาวได้เปรียบเหนือรัฐบาลกษัตริย์ฝ่ายขวาในการใช้พุทธศาสนา?

ในประการแรกฝรั่งเศสไม่ได้พัฒนาประเทศในยุคอาณานิคม ลาวจึงเป็นประเทศยากจนที่ขาดโรงเรียน หนทางในการรับการศึกษาของลูกคนจน (ที่เป็นชาย) คือการบวชเป็นพระ ดังนั้นวัดลาวจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์หนุ่มๆ ที่เป็นลูกคนจน ส่วนลูกคนรวยสามารถไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ ได้ พระสงฆ์จำนวนมากจึงเข้าใจดีว่าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและฝ่ายขวากับกษัตริย์ไม่ยอมแก้ปัญหานี้

ในประการที่สองเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเชิดชูเจ้าลาวเพื่อเป็นเครื่องมือแต่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ เพราะมองว่าศาสนาคริสต์ดีกว่า พอมาถึงยุคสงครามกับสหรัฐ ขบวนการปะเทดลาวสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้านและวัดวาอารามอีกด้วย และสหรัฐเป็นอำนาจต่างชาติที่ทำแนวร่วมอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขวาและพวกเจ้าลาว ดังนั้นขบวนการปะเทดลาวกลายเป็นฝ่ายที่ปกป้องวัฒนธรรมพุทธของลาว

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวทำงานจัดตั้งพระสงฆ์ได้ เพราะพระสงฆ์หันมาสนใจการเมืองและสังคมท่ามกลางสงคราม มีการจัดกลุ่มศึกษาสำหรับพระและประชาชนธรรมดาในวัดเพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาต่างๆ จนมีการตั้งคำถามในหมู่พระสงฆ์เองว่าทำไมพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในการทำงานสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สาเหตุสุดท้ายที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบในการใช้ศาสนาพุทธคือรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคปี ค.ศ. 1960 พยายามออกระเบียบเพื่อควบคุมคณะสงฆ์และทำให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก ในขณะที่ขบวนการปะเทดลาวปล่อยพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนและคิดอย่างเสรี

การที่พระสงฆ์จำนวนมากสนับสนุนขบวนการปะเทดลาวแปลว่าขบวนการนี้มีเครือข่ายและนักปฏิบัติการตามวัดวาอารามทั่วลาว

ถึงแม้ว่า “ขบวนการปะเทดลาว” อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนว “มาร์คซิสต์” แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้ศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของลัทธิการเมือง ทั้งในช่วงที่ต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและในช่วงที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ควรแปลกใจอะไร เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น หลังปี ค.ศ. 1930 ล้วนแต่ใช้ลัทธิสตาลิน แทนลัทธิมาร์คซ์ แต่การใช้ลัทธิสตาลินบ่อยครั้งนำไปสู่การต่อต้านศาสนาโดยพรรคหรือโดยรัฐบาลหลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปรัชญาว่าสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนา เพราะลัทธิสตาลินเป็น “ปรัชญาปลอม” ก็ว่าได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าใช้แนวคิดมาร์คซิสต์แต่ในทางปฏิบัติทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้นการคัดค้านหรือสนับสนุนศาสนาของพรรคที่ใช้แนวสตาลินกลายเป็นเรื่องของการคำนวณอย่างไร้อุดมการณ์ว่าศาสนาหรือองค์กรศาสนาเป็นคู่แข่งหรือควรนำมาเป็นแนวร่วม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน https://bit.ly/3hf6LMP

Martin Stuart-Fox (1996) Buddhist kingdom Marxist state. White Lotus.  

อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ (๒๕๔๘) “การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ป.ป. ลาว ระหว่าง 1975-2003” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาคปกครองคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ

จะบริหารเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือจะสู้เพื่อประชาธิปไตย?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่วิจัยของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เรื่องประเทศไทย คนนี้จะมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผมแปลกใจมากเมื่อเขาเอ่ยปากพูดว่า “ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เขาพูดต่อไปว่าเขากังวลว่า นางอองซานซูจี อาจจะไม่ยืดหยุ่นพอที่จะทำงานร่วมกับทหารพม่า

ในความเห็นของผม ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมภาคนี้ ทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่องในระบบการเมืองพอสมควร อย่าลืมว่าในความเป็นจริงระบบประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐกับอังกฤษก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นนายทุนอยู่อีกด้วย

สำหรับพม่า มันเป็นระบบการปกครองที่รัฐธรรมนูญแช่แข็งอิทธิพลของทหารเผด็จการเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปัญหาของ นางอองซานซูจี คือเขาประนีประนอมกับทหารมากเกินไป ใช้แนวคิดชาตินิยมพม่าพุทธสุดขั้ว และเป็นคนที่ชื่นชมกลไกตลาดเสรี

แล้วความคิดแปลกๆ เกี่ยวกับพม่าของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอังกฤษมาจากไหน?

Guillermo O'Donnell
Guillermo O’Donnell

แนวคิดกระแสหลักของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองในตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากสำนักคิดรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาในสาขา “การเมืองเปรียบเทียบ” โดยเฉพาะความคิดเรื่องการสร้างประชาธิปไตยหลังยุคเผด็จการของคนอย่าง โอดอนนัล (Guillermo O’Donnell) สำหรับสำนักนี้การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการ “บริหารเสถียรภาพและความมั่นคง” พวกนี้ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือความเท่าเทียมทางสังคมของคนธรรมดาเลย และเขาตาบอดถึงและเกรงกลัวการลุกฮือของมวลชนชั้นล่างอย่างถึงที่สุด

เมื่อเราอ่านตำรารัฐศาสตร์เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่เขียนก่อนยุคที่เผด็จการ ซุฮาร์โต หรือ มาร์คอส ถูกล้ม จะไม่มีนักวิชาการกระแสหลักคนใดที่สนใจพิจารณาการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนเลย โดยเฉพาะขบวนการกรรมาชีพและคนจน พวกนี้จะสนใจแต่การพิจารณาว่าชนชั้นนำซีกต่างๆ จะมีบทบาทอะไรบ้างเท่านั้น

แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ไปแล้วว่าทั้ง ซุฮาร์โต และมาร์คอส ถูกล้มจากการเคลื่อนไหวลุกฮือของมวลชน และในกรณีอาหรับสปริง ไม่มีนักวิชาการกระแสหลักที่พูดถึงมวลชนหรือขบวนการแรงงาน แต่เผด็จการ มูบารัก ถูกมวลชนคนชั้นล่างล้ม ในไทยในช่วง ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา ๓๕ ก็เหมือนกัน

ในกรณีที่ความจริงในโลกไปตบหัวนักวิชาการฝ่ายขวา จนเขาต้องยอมรับว่ามวลชนล้มเผด็จการได้ เขามักจะพยายามย้อมสีประวัติศาสตร์เพื่อให้บทบาทหลักอยู่กับชนชั้นกลาง

สรุปแล้วจุดยืนเรื่องการพัฒนาสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” ของสำนักคิดฝ่ายขวา “การเมืองเปรียบเทียบ” ดูถูกและเกรงกลัววุฒิภาวะของคนชั้นล่าง และมองว่าพวกอภิสิทธิ์ชนและชนชั้นกลางเป็นพลังในการปฏิรูปการเมือง ซึ่งพอคิดดูแล้วก็ตรงกับแนวคิดในไทยของ สลิ่ม เสื้อเหลือง ม็อบสุเทพ ทหาร และนักวิชาการที่รับใช้ทหารด้วยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิกูลการเมือง

1404358011-fun0120045-o

ดังนั้นมันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เพื่อนผมคนหนึ่งจากจุฬาฯ คือ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ออกมาเสนอแนวคิดประเภท “การเมืองเปรียบเทียบ” ฝ่ายขวา โดยแนะว่าเราต้องทำความเข้าใจกับสถาบันทหาร เพื่อหาทางคุยกับทหารเผด็จการในกระบวนการปฏิรูปการเมือง แต่ “ประชาธิปไตย” ที่จะมาจากวิธีคิดแบบนี้มันเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้อิทธิพลของทหารและอำมาตย์ อย่างที่เราเห็นในพม่าทุกวันนี้

13526104291352610462l

บทเรียนจากเรื่องนี้คือ เราไม่ควรหวังพึ่งรัฐบาลของประเทศอื่น โดยเฉพาะรัฐบาลตะวันตก ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในไทย สิ่งที่รัฐบาลเหล่านี้สนใจคือการทำธุรกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติในประเทศไทย เขาอยากมีช่องทางพูดคุยติดต่อกับชนชั้นนำไทยรวมถึงเผด็จการทหารด้วย และจะบอกให้ว่าในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษ มีการวิพากษ์วิจารณ์ทูตอังกฤษคนที่กำลังจะหมดวาระไปที่ไทย เพราะบางคนมองว่าเขามีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากเกินไป ซึ่งทำให้ช่องทางที่จะคุยกับคนอย่างไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดมันถูกปิดไป

เราควรรู้อีกว่าสส.พรรคเพื่อไทยบางคนก็วิจารณ์ทูตคนนี้ด้วย เพราะมองว่าไม่ควรยุ่งในเรื่องการเมืองไทย

ในลักษณะเดียวกัน คงจะมีคนในแวดวงรัฐบาลสหรัฐ ที่กลัวว่าถ้าวิจารณ์เผด็จการไทยมากไป จีนจะได้เปรียบสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

14041086241404108638l

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เราต้องพึ่งตนเองในระดับรากหญ้า ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางสังคม ย่อมมาจากขบวนการเคลื่อนไวทางสังคมของคนชั้นล่างเสมอ