Tag Archives: การเมืองโลก

เข้าใจการเมืองและประวัติศาสตร์พม่า

หนังสือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาคนี้ แต่จะไม่สำรวจสภาพสังคมการเมืองของแต่ละประเทศอย่างแยกส่วน เหมือนกับหนังสือภาษาไทยอื่นๆ เพราะผู้เขียนมองว่าการเปรียบเทียบประเด็นการเมือง และข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวจากสำนักต่างๆ เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากหนังสือวิชาการไทย และเป็นสิ่งที่จำเป็นถ้าเราจะสร้างความเข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ในทุกบท จะมีการตั้งคำถามเพื่อชวนให้ผู้อ่านคิดต่อไป และทั้งๆ ที่ผู้เขียนมีจุดยืนมาร์คซิสต์ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในงานเขียน แต่มีความพยายามที่จะรายงานความคิดเห็นของทุกฝ่ายมา เพื่อประกอบการถกเถียง ไม่ใช่มองข้ามหรือละเลยสำนักคิดที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด ในที่สุดผู้อ่านจะต้องตัดสินใจเองว่าจะมีจุดยืนอย่างไร

     หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นในยุคก่อนทุนนิยมและอาณานิคม หลังจากนั้นก็มีการพิจารณาขบวนการชาตินิยมและขบวนการคอมมิวนิสต์ มีการพิจารณาข้อถกเถียงใหญ่ๆ เกี่ยวกับเชื้อชาติและชนชั้น เกี่ยวกับลัทธิการเมืองที่แข่งกัน เกี่ยวกับรัฐหรือตลาดในนโยบายเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย นอกจากนี้มีการสำรวจการเมืองเพศ และการเมืองภาคประชาชนซึ่งรวมถึงขบวนการแรงงานอีกด้วย

     เล่มนี้เขียนขึ้นในปี ๒๕๕๒ เพื่อเป็นตำราสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทในมหาวิทยาลัย แต่ผู้เขียนพยายามใช้ภาษาและการอธิบายง่ายๆ ดังนั้นมีความหวังว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยน่าจะอ่านและเข้าใจได้ดี

บทที่ 1 ทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

บทที่ 2   การท้าทายอำนาจตะวันตกด้วยขบวนการชาตินิยม

บทที่ 3 เชื้อชาติและชนชั้นสำคัญขนาดไหน?

บทที่ 4  พรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 5 สงครามเวียดนาม

บทที่ 6 ลัทธิการเมืองของชนชั้นปกครอง

บทที่ 7 รัฐหรือตลาด?

บทที่ 8 การเมืองเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 9 แรงงานกับทุน และขบวนการภาคประชาชน

บทที่ 10 เงื่อนไขและกระบวนการในการสร้างประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เชิญอ่าน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง https://bit.ly/1sH06zu

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

การวิเคราะห์สังคมแบบมาร์คซิสต์คืออะไร

เวลามีคนเอ่ยถึงลัทธิมาร์คซ์คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง หรือระบบการปกครองในจีน ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าลัทธิมาร์คซ์ในที่นี้ต่างกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เหมาเจ๋อตุง และสตาลิน

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ตามความคิดของมาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี ซึ่งเป็นแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมสำหรับยุคสมัยใหม่มีองค์ประกอบดังนี้คือ

1. แนวคิดวิทยาศาสตร์ที่อิงเหตุผลและพร้อมที่จะถูกทดสอบในโลกจริงเสมอ สำนักคิดของเราไม่ใช่สำนักคัมภีร์นิยมที่ท่องจำสูตรของผู้นำผู้เป็นพระเจ้า ถ้าในอนาคตสิ่งที่เราเสนอถูกทดสอบกับโลกแห่งความจริงแล้วล้มเหลว เราพร้อมที่จะปรับความคิดเสมอ

2. เป็นวิธีการมองโลกเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องสร้างขึ้นเอง จากล่างสู่บน ไม่มีอัศวินม้าขาวที่ไหนที่จะมาสร้างให้แทนได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์เพื่อเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่วิเคราะห์เพื่อให้รู้อย่างเดียว คาร์ล มาร์คซ์ จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ในอดีตนักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลก แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการเปลี่ยนโลก” ดังนั้นนักมาร์คซิสต์จะต้องลงมือทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และลงมือสร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อเปลี่ยนโลกในรูปธรรม

3. การวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์ อาศัยหลักความคิดที่ค้นพบและถูกนำมาใช้โดย มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และ กรัมชี่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้คือ

     (ก) มองว่ามนุษย์ธรรมดาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ และเราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจโลกปัจจุบัน

     (ข) มองว่าถึงแม้ว่ามนุษย์สามัญเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่เขาไม่มีอำนาจที่จะเลือกสถานการณ์ภายนอกที่ดำรงอยู่ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสภาพความเป็นจริงในโลกแห่งวัตถุ ดังนั้นการเปลี่ยนสังคมขึ้นอยู่กับทั้งอัตวิสัย และภววิสัยเสมอ

     (ค) มองว่าลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคใดยุคหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต และพลังการผลิต” เป็นสิ่งหลักที่กำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นระบบการปกครองหรือระบบสังคม และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะความคิดในสมองมนุษย์ด้วย การให้ความสำคัญกับสิ่งของที่แตะต้องได้ หรือวัตถุ ในการกำหนดความคิดของมนุษย์ เรียกว่าแนวคิดแบบ “วัตถุนิยม” ซึ่งต่างจากแนวคิด “จิตนิยม” ที่มองว่าความคิดมนุษย์ โดยเฉพาะ “คนเก่ง” เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของโลกแต่แรก

     (ฆ) มองว่าถ้าเราจะเข้าใจโลกเราได้เราต้องมองโลกด้วย “วิภาษวิธี” (หรือไดอาเลคทิค) คือต้องมองภาพรวมของโลก ต้องหาความขัดแย้งในภาพรวมดังกล่าว และเมื่อหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ จะค้นพบสิ่งที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ นักมาร์คซิสต์จึงมองว่าสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง และสภาพการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ

     ในรูปธรรมแนวคิดมาร์คซิสต์มองว่า “วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิม” เป็นเรื่องรองที่เปลี่ยนตามยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งที่เติบโตจากลักษณะระบบการผลิต และบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้ทางชนชั้น

     สรุปแล้วแนวความคิดมาร์คซิสต์อาศัยหลักของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และวิภาษวิธี” ซึ่งตรงข้ามกับแนวความคิดของฝ่ายกระแสหลักที่มีรูปแบบ “บูชาปัจเจกคนเก่งที่เป็นชนชั้นนำ”   หรือแนวคิดสำนัก “วัฒนธรรมนิยม” ที่มองว่าการเมืองและสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่มาจากวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนว “กลไก” ของพวกสตาลิน-เหมาที่มักอ้างวิภาษวิธีหรือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในทางที่บิดเบือน

ใจ อึ๊งภากรณ์

โลกาภิวัตน์ทุนนิยมกับความแตกต่างระหว่างอัตราการตายจากโควิด19 ในประเทศต่างๆ ของโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามอ้างว่านโยบายรัฐบาลทำให้ไทย “เอาชนะ” โควิด19ได้ แต่ในความเป็นจริงอัตราการตายจากโควิดในไทย ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด สูงกว่าบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่นเวียดนาม และในกรณีไทยและหลายๆ ประเทศ ที่อยู่นอกกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันตกกับสหรัฐ ผลกระทบของไวรัสโคโรน่าออกมาในรูปแบบวิกฤตชีวิตหรือวิกฤตทางสังคมของคนจนมากกว่าวิกฤตจากพิษทางชีววิทยาของตัวไวรัส และวิกฤตทางสังคมของคนจนมาจากนโยบายของรัฐบาลโดยตรงบวกกับผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์

total-covid-deaths-per-million

อัตราการตายจากโควิด19ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ค่อนข้างจะต่ำถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกเกือบทุกประเทศคือ อัตราการตายสะสมในวันที่ 24 พ.ค. 2020 ต่อประชากรหนึ่งล้านคนเท่ากับ 4.3 ในอินโดนีเซีย 7.3 ในฟิลิปปินส์ 3.2 ในมาเลเซีย 0.9 ในไทย และ 0 ในเวียดนาม เทียบกับ 525 ในอังกฤษ [ดู https://bit.ly/2Zvc0A0 ]

_111039738_gettyimages-1203060096

ถ้าเราจะเข้าใจสาเหตุเราต้องดูปัจจัยหลายอย่างด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่คลั่งชาติหรือฟังข้อโกหกของผู้นำรัฐบาลต่างๆ

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่ออัตราการตายสะสมคือ

  1. ความเชื่อมโยงกับระบบโลกาภิวัตน์ในแง่ของการเคลื่อนไหวของคนและสินค้า ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐมีความเชื่อมโยงสูงที่สุดในโลก ซึ่งดูได้จากเที่ยวบินที่เข้าออกจากประเทศ ปริมาณสินค้า และจำนวณนักท่องเที่ยวก่อนที่จะมีการปิดประเทศ เช่นฝรั่งเศสมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก และสนามบินหลักๆ ของสหรัฐและอังกฤษมีเที่ยวบินต่างๆ สูงที่สุดในโลก ปัจจัยนี้ทำให้ไวรัสโคโรน่าสามารถเดินทางในร่างมนุษย์จากจีนได้ง่ายที่สุด
  2. สัดส่วนคนชราต่อประชากรทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราการตาย เพราะคนชราเสี่ยงกับการตายมากที่สุดเนื่องจากมีโรคประจำตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรคหัวใจและเส้นโลหิต หรือโรคระบบปอดและการหายใจ ปรากฏว่าประเทศตะวันตกมีอัตราคนชราต่อประชากรทั้งหมดสูงที่สุดในโลก และประชาชนในประเทศโลกที่สามหรือประเทศ “ใต้” ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย อัฟริกา หรือลาตินอเมริกา มีจำนวนประชากรในวัยเด็กและหนุ่มสาวสูง นี่คือสาเหตุสำคัญที่อัตราการตายในหลายประเทศของอัฟริกาและเอเชียค่อนข้างต่ำ และองค์กร WHO ก็ยืนยันสิ่งนี้ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าประเทศยากจนไม่มีวิกฤตสาธารณะสุข เพราะในบางประเทศเกือบจะไม่มีอุปกรณ์ทางแพทย์เลย และสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกผลักดันจากไอเอ็มเอฟหรือองค์กรสากลอื่นๆ นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดินิยม และความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการลงทุนจากกลุ่มทุนใหญ่ภายใต้เงื่อนไขของตลาดเสรี ทำให้มีการตัดงบสาธารณะสุขอีกด้วย
  3. ปริมาณประชากรที่น้ำหนักตัวสูงหรือมีความอ้วนจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตายจากโควิด19 และปัจจัยนี้อาจช่วยอธิบายว่าทำไมอัตราการตายต่อประชากรหนึ่งล้านคนในญี่ปุ่นค่อนข้างต่ำคืออยู่ที่ 6.3 ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนชราสูงและมีความเชื่อมโยงกับระบบโลกาภิวัตน์พอๆ กับยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา ปริมาณคนอ้วนในญี่ปุ่นเกือบจะต่ำที่สุดในโลกคืออยู่ที่ 4.3 % เทียบกับ 36 % สำหรับสหรัฐ 28 % สำหรับอังกฤษ 24 % สำหรับสเปน 22 % สำหรับฝรั่งเศส และ 20 % สำหรับอิตาลี่ ในประเทศที่ยากจนกว่าปริมาณคนอ้วนมีน้อยมาก เช่น 2% ในเวียดนาม 4 % สำหรับอินเดีย และ 3.6% สำหรับบังกลาเทศ ส่วนไทยอยู่ที่ 10% (ตัวเลขจากCIAปี2020)

ความอ้วนเป็นปัญหาที่มักพบในหมู่คนจนในประเทศตะวันตก ซึ่งความยากจนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เพิ่มอัตราการตายในสังคมตะวันตกทุกแห่งทีเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แต่ความอ้วนมักจะเป็นปัญหาสำหรับคนชั้นกลางในประเทศยากจน

  1. นโยบายโง่ๆ ของรัฐบาลฝ่ายขวา ที่ไม่สนใจในการปกป้องประชาชน และเน้นผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ต้องการให้คนไปทำงานทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเสี่ยง เป็นอีกปัจจัยสำคัญ และได้นำไปสู่ตัวเลขการตายที่สูงกว่าปกติในสหรัฐ อังกฤษ สวีเดน และบราซิล ในกรณีสวีเดนทั้งๆ ที่พรรคการเมืองหลักในรัฐบาลเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตย แต่นโยบายที่ใช้เป็นนโยบายฝ่ายขวาที่ปฏิเสธการปิดประเทศ

ประเทศที่มีนโยบายเพื่อปกป้องประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบสาธารณะสุขที่ไม่ขาดแคลน จะมีอัตราการตายต่ำกว่าประเทศที่ยกตัวอย่างมาข้างบน ตัวอย่างเช่นเยอรมันและเกาหลีใต้เป็นต้น

ในเม็กซิโกกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่ติดชายแดนสหรัฐต้องนัดหยุดงานประท้วงเพราะถูกกลุ่มทุนสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐ และรัฐบาลเม็กซิโก กดดันให้กลับไปทำงานในสภาพที่ไม่มีความปลอดภัย ในโรงพยาบาลหลายแห่งของยุโรปตะวันตกมีการประท้วงของแพทย์พยาบาลเพราะรัฐบาลไม่แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวจากโควิดอย่างทั่วถึง

การยกเลิกมาตรการกักตัวที่บ้านหรือยกเลิกการปิดเมืองในประเทศต่างๆ ไม่ได้เกิดจากการ “เอาชนะ” โควิดแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นเพื่อให้กรรมาชีพกลับไปทำงานเพื่อสร้างกำไรให้นายทุนต่างหาก โควิดจะอยู่กับสังคมมนุษย์ในทุกประเทศอีกนาน

 

วิกฤตทางสังคมหรือวิกฤตชีวิตสำหรับคนจนทั่วโลกร้ายแรงกว่าพิษของโควิดโดยตรง

ในระบบทุนนิยมที่ดำรงอยู่ในโลก (รวมถึงจีนและคิวบาด้วย) สภาพโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล่ำทำให้เกิดวิกฤตร้ายแรงสำหรับคนจน ในประเทศตะวันตกคนจนและคนที่มีสีผิวดำๆ จะเป็นคนที่ตายมากที่สุด และกรรมาชีพจำนวนมากจะตกงาน ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการคนเหล่านี้จะได้รับความช่วยเหลือระดับหนึ่งจากรัฐ แต่ย่อมไม่เพียงพอ ในสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีรัฐสวัสดิการกรรมาชีพที่ตกงานจะถูกปลดออกจากระบบประกันสุขภาพจึงไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้โดยไม่ติดหนี้มหาศาล

ในประเทศต่างๆ ของ เอเชีย อัฟริกา และลาตินอเมริกา คนจนจะประสบกับวิกฤตหนักทางสังคมและเศรษฐกิจอันมาจากนโยบายรัฐบาลในการปิดเมืองและปิดงานในขณะที่ไม่มีรัฐสวัสดิการอะไรเลย ในอินเดียคนงาน 40 ล้านคนจากหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศถูกปลดออกจากงานในเมืองใหญ่และต้องเดินเท้ากลับหมู่บ้านของตนท่ามกลางความอดอยากอย่างถึงที่สุด ส่วนใหญ่ต้องเดินเท้าในระยะทางหลายร้อยกิโล เพราะไม่มีระบบขนส่งมวลชน ถือว่าเป็นอาชญากรรมของรัฐบาลอินเดียต่อประชาชน ในไทยเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์อ้างว่าจะช่วยคนจนที่ตกงาน แต่ระบบของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้คนอดอยากเป็นจำนวนมาก

Screen-Shot-2020-04-17-at-7.22.58-AM

ในประเทศเคนยา ในอัฟริกาตะวันออก มีการก่อจลาจลโดยคนจนในสลัมที่รัฐบาลกำลังสั่งให้รื้อ “เพื่อป้องกันสังคมจากโควิด” และในหลายประเทศของอัฟริกาความพยายามที่จะสั่งให้คนจนที่หาเช้ากินค่ำกักตัวอยู่บ้าน โดยไม่มีความช่วยเหลืออะไรเลยจากรัฐ นำไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาล ซึ่งเราเห็นบ้างในไทยด้วย แต่ที่อัฟริกามีการส่งทหารติดอาวุธไปยิงประชาชน ในไทยประยุทธ์ที่มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื่อแดงยังไม่กล้าทำแบบนี้

ขณะนี้โลกกำลังเดินเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง ในสภาพเช่นนี้รัฐบาลและนายทุนต่างๆ จะพยายามให้กรรมาชีพและคนจนแบกรับภาระด้วยการตกงาน ถูกตัดค่าจ้าง และการรัดเข็มขัดลดงบประมาณที่เป็นการบริการประชาชน ในขณะเดียวกันพวกคนรวย นายทุน และพวกเผด็จการจะเสพสุขต่อไป บางคนอาจเพิ่มกำไรจากโควิดด้วยซ้ำ ถ้ากรรมาชีพและคนจนไม่รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับศึกทางชนชั้นที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เรามีสิทธิ์ที่จะโดนเหยียบหัวฝังดินจนอดตาย

แต่ในหลายส่วนของโลก เช่นที่อัลจีเรีย ซุดาน ฝรั่งเศส หรือฮ่องกง ขบวนการประท้วงที่ต้องหยุดพักเพราะโควิด สามารถฟื้นตัวขึ้นมาอีกได้ และในประเทศอื่นการต่อสู้ใหม่ๆ อาจเกิดขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าใจตอนนี้คือ การต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิดที่รัฐบาลแจกให้เรา เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะที่ไทยหรือที่อื่น

ทำไมคอมมิวนิสต์ไทยต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่นการที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม “เวียดเกียว” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ธง แจ่มศรี บวกกับคนเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ

แต่ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือขาดการวิเคราะห์ในบริบทของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวลัทธิสตาลิน และไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียของพรรคอีกด้วย มันเป็นแค่หนังสือ “บอกเล่า”

CPT Stalin

พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยกำเนิดขึ้นราวๆ ปี ๒๔๗๓ (1930) ในยุคที่สตาลินขึ้นมาปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นพรรคไทยจึงทำตามคำสั่งของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้สตาลินตลอด

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นใน“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฏรว่าเป็น “คณะราษฏรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า188) คำวิจารณ์ของคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” และการมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องโดดเดี่ยวตนเอง ไม่รวมมือกับฝ่ายปฏิรูป มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในยุคนั้นคอมมิวนิสต์ในไทยพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” ภายใต้คอมมิวนิสต์ แทนที่จะสร้างสหภาพแรงงานที่รวมคนงานทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “แดงเอียงซ้าย” ตามแนว “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ (1935) มีการยกเลิกนโยบาย “แดงเอียงซ้าย” เพื่อหันขวาอีกครั้งไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของสตาลินเช่นกัน เพราะสตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ (1941) คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “ศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน จริงๆ แนวนี้เริ่มมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและตรอทสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของตรอดสกี้และมาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ (1957) วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า358)

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

การฝากความหวังไว้กับแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนแบบนี้ ตามด้วยการถูกปราบอย่างหนัก เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินในช่วงนั้นในตะวันออกกลาง ในอินโดนีเซีย และเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1926 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนทำแนวร่วมกับ เชียง ไกเชก จากพรรคก๊กมินตั๋งแล้วโดนฆ่าทิ้งเกือบหมด

สำหรับไทยมันกลายเป็นหนึ่งข้ออ้างในการหันไปใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เหมือนกับข้ออ้างของเหมาเจ๋อตุงในจีน โดยที่พรรคไทยไม่มีการทบทวนสรุปข้อบกพร่องของนโยบายพรรคแต่อย่างใด

นโยบายชนบทล้อมเมืองของพรรคไทยเริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (1950) แต่ลงมือทำกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๔ (1961) ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นผู้ปกป้องแนวลัทธิสตาลินหลังจากที่สตาลินตายและผู้นำรัสเซียเริ่มตั้งคำถามกับเผด็จการสตาลิน

นโยบาย “ชนบทล้อมเมือง” นำไปสู่การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยละเลยหน้าที่ที่จะนำการต่อสู้กับเผด็จการทหารในกรุงเทพฯ ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และนำไปสู่การละเลยที่จะปกป้องนักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น ส่วนการสู้รบในชนบทนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดเนื่องจากละเลยการต่อสู้ในเมือง ความเป็นเผด็จการภายในพรรค และการพึ่งพาแนวสตาลิน-เหมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือการเดินตามแนวสตาลินโดยไม่ใช้แนวมาร์คซิสต์ และไม่ศึกษาข้อเขียนของเลนินกับตรอทสกี้หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เช่นกรัมชี่ หรือโรซา ลัคแซมเบอร์ค ข้อเสียนี้รวมถึงปัญหาแนว เหมาเจ๋อตุง ในเรื่องชนบทล้อมเมือง และปัญหาแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุน

ข้อดีของพรรค ซึ่งนักกิจกรรมในยุคปัจจุบันควรนำไปศึกษาคือ มีการเน้นการจัดตั้งในช่วงแรกในหมู่กรรมาชีพและนักศึกษา มีการให้ความสำคัญกับการตั้งกลุ่มศึกษาและห้องสมุด มีการใช้การต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาพร้อมกัน และมีการให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อนำมาขาย โดยมีเป้าหมายในการขยายสมาชิกพรรค

ดังนั้นผมจึงแนะนำให้นักเคลื่อนไหวในยุคนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไปหาอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

 

อ่านเพิ่ม

ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ ฉบับสังเขป Chris Harman แปลและเรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์  https://bit.ly/2i294Cn

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/1sH06zu

ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy

ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๕๕๗) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี (๒๕๖๒)

 

“เข้าทางเผด็จการ” ข้ออ้างของคนที่ไม่อยากเปลี่ยนสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนล่าสุดที่พูดทำนองว่าการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาหรือบนท้องถนนจะเป็นการ “เข้าทางเผด็จการ” ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จะไม่สร้างขบวนการมวลชนแบบนั้น และก่อนหน้านี้จะมีหลายคนพูดในแนวนี้เหมือนกัน ทั้งหมดก็เพื่อคัดค้านการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อล้มเผด็จการรัฐสภาชุดปัจจุบันของประยุทธ์

แต่ในโลกจริง การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงทั้งไทยและต่างประเทศ มาจากการเคลื่อนไหว และการนัดหยุดงาน ไม่เคยมาจากการเล่นละครในรัฐสภาภายใต้กติกาเผด็จการ

จะขอยกตัวอย่างรูปธรรมมาจากปีที่ผ่านมา

ที่เลบานอนการประท้วงของมวลชนที่สามัคคีกลุ่มเชื้อชาติศาสนา ประสพความสำเร็จในการกดดันให้นายกรัฐมนตรี ซาอีด ฮ่รีริ ลาออกและสร้างวิกฤตให้กับรัฐบาลและชนชั้นปกครองที่ผูกขาดแช่แข็งระบบการเมือง นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
ประท้วงที่เลบานอน “เข้าทางเผด็จการ” ?

ในซูดาน การประท้วงของมวลชนอย่างต่อเนื่องสามารถล้มเผด็จการของ อัล บาเชียร์ และกดดันให้คณะทหารที่เข้ามาแทนที่ยอมเจรจากับผู้แทนฝ่ายค้าน ยอมเสนอแนวทางไปสู่การสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพรรคการเมืองของอดีตหัวหน้าเผด็จการ อัล บาเชียร์ ก็ถูกยุบ นอกจากนี้กฏหมายความมั่นคงที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการก็ถูกยกเลิกไป นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

download-0
ประท้วงที่ซูดาน “เข้าทางเผด็จการ” ?

ที่แอลจีเรีย หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียถูกบังคับให้เขี่ยประธานาธิบดีเผด็จการ บูเตฟลิกา ผู้นำที่ประชาชนเกลียดชัง ออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่มวลชนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยชนชั้นปกครองเดิมและทหารในเดือนนี้จะเป็นการเลือกตั้งเสรี จึงมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออกและทหารถอนตัวออกจากการเมือง นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

_109496398_algeriacrowds
ประท้วงที่แอจีเรีย “เข้าทางเผด็จการ” ?

ในประเทศเอกวาดอร์ การประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลตามแผนไอเอ็มเอฟ สามารถบังคับให้รัฐบาลหนี้ออกจากเมืองหลวงและยกเลิกนโยบายดังกล่าว  นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

PA-46149521.max-760x504
ประท้วงที่เอกวาดอร์ “เข้าทางเผด็จการ” ?

ผมไม่ได้เสนอว่าเราควรเคลื่อนไหวแบบโง่ๆ “หัวชนฝา” โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์และความพร้อมของมวลชน แต่คนที่ตอบโต้ผมแบบปัญญาอ่อนว่าผมควรจะกลับไทยเพื่อนำการเคลื่อนไหวนั้น เป็นคนที่ไม่สนใจความจริงว่าผมในฐานะผู้ลี้ภัย 112 จะโดนจับทันทีที่เข้าประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือพวกนี้ไม่มีข้อเสนออะไรในรูปธรรมเพื่อล้มเผด็จการ คือไม่เสนอทางเลือกอื่นที่ต่างจากการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สรุปแล้วเราต้องยอมจำนน

_109611660_859054da-32fb-443d-92d5-fd9d8c637b8c
อิรัก การประท้วงเดือนนี้สามารถไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออกได้ “เข้าทางเผด็จการ” ?

ทั่วโลกในขณะนี้มีขบวนการมวลชนที่ลงถนนเพื่อล้มรัฐบาลหรือกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นในชิลี ฮ่องกง สาธารณรัฐเช็ก เฮติ กินี อิหร่าน และล่าสุดมีประท้วงใหญ่และนัดหยุดงานที่ฝรั่งเศส และเรากำลังรอดูผล

แน่นอนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มีหลักประกันอัตโนมัติว่าการต่อสู้จะชนะหรือไม่ถูกปราบ และไม่มีหลักประกันอัตโนมัติว่าชัยชนะของมวลชนจะเป็นชัยชนะถาวรถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีตัวอย่างรูปธรรมจากที่ไหนในโลกที่ระบอบเผด็จการถูกล้มหรือยกเลิกผ่านการเล่นละครในรัฐสภาภายใต้กติกาของเผด็จการ

_105677294_89beebc0-321d-4a57-8f5e-f320b98271d3
กาตาลูญญา

ตัวอย่างของข้อเสียของการ “รอให้เผด็จการตายเอง” และปฏิรูปผ่านรัฐสภา เห็นได้จากประเทศชิลีและสเปน เพราะในสองประเทศนี้รัฐธรรมนูญที่ได้มาจากกระบวนการนี้เป็นรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งตอนนี้มีการลุกฮือต่อต้านที่ชิลี และในสเปนชนชั้นปกครองพยายามใช้รัฐธรรมนูญเพื่อปราบปรามฝ่ายที่ชนะประชามติเพื่อสร้างประเทศอิสระใน กาตาลูญญา/คาทาโลเนีย พูดง่ายๆคือ กติกาเผด็จการที่ถูกฝังลึกในรัฐธรรมนูญหรือระบบการเมืองเป็นอุปสรรค์ในการสร้างประชาธิปไตยในภายหลัง

การเงียบเฉยและยอมจำนนต่างหากที่เข้าทางเผด็จการ

อ่านเพิ่ม

ซูดานกับแอลจีเรีย    https://bit.ly/36SxEj5

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

จากคาทาโลเนียถึงปาตานี https://bit.ly/2qgGE0U