Tag Archives: การเมืองไทย

อายุเกษียณ และบำเหน็จ บำนาญ ในมุมมองมาร์คซิสต์

ประเด็นอายุเกษียณเป็นเรื่องที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายนหลังจากที่ประธานาธิบดีมาครงใช้มาตรการเผด็จการเพื่อผ่านกฎหมายยืดเวลาเกษียณโดยไม่ผ่านรัฐสภา การต่อสู้ในฝรั่งเศสลามไปสู่ประเด็นอื่น เช่นเรื่องประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องมานาน และเรื่องอื่นที่มีความไม่พอใจสะสมอยู่ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่การต่อสู้รอบนั้นไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามประนีประนอมเสมอ เพราะกลัวการต่อสู้ของมวลชนจะทำลายความสงบของสังคมทุนนิยมและฐานะของผู้นำแรงงานเหล่านั้น

แต่มันไม่ใช่แค่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ต้องการยืดเวลาทำงานของเรา รัฐบาลทั่วโลกในระบบทุนนิยมต้องการจะทำเช่นนั้น และแอบอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ระบบบํานาญบําเหน็จ  ทั้งๆ ที่เป็นการพยายามที่จะ “ทำลาย” สวัสดิการของเรา

การใช้คำว่า“ปฏิรูป” ในลักษณะที่ไม่ซื่อสัตย์  ไม่ต่างจากพวกที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบการเมืองไทย สรุปแล้วเมื่อไรที่ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกับนักข่าวที่รับใช้นายทุนพูดถึงการ “ปฏิรูป” เขาหมายถึงการทำลายสิทธิและสภาพชีวิตของกรรมาชีพเสมอ

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือบำเหน็จและบํานาญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่กรรมาชีพคนทำงานสะสมและออมในชีวิตการทำงาน มันไม่ใช่ของขวัญที่นายจ้างหรือรัฐมอบให้เราฟรีเลย ดังนั้นการยืดอายุเกษียณก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้บำเหน็จบํานาญถือว่าเป็นการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้นเพื่อสวัสดิการเท่าเดิม

ขณะนี้อายุเกษียณในประเทศตะวันตกกำลังถูกยืดออกไปจากที่เคยเป็นอายุ 60 ไปเป็น 67 ในสหรัฐ กรีซ เดนมาร์ก อิตาลี่ 66 ในอังกฤษกับไอร์แลนด์ และ65.7 ในเยอรมัน

ในสเปนรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณ แต่เรียกเก็บเงินสมทบบำเหน็จบำนาญจากหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแทน มันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของกรรมาชีพเช่นกัน และในประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษมีการตัดระดับสวัสดิการที่คนงานพึงจะได้หลังเกษียณ

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่าในระบบทุนนิยมหลังจากที่เราทำงานและถูกขูดรีดมาตลอดชีวิตการทำงาน กรรมาชีพควรมีสิทธิ์ที่จะเกษียณและรับบำเหน็จบํานาญในระดับที่ปกป้องคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ต่างจากเรื่องการรณรงค์เพื่อค่าจ้างที่อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับคุณภาพชีวิตที่ดี

ยิ่งกว่านั้น เราชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่าในระบบทุนนิยม ค่าจ้างบวกกับบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยเท่ากับมูลค่าที่เรามีส่วนในการผลิต เพราะนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ขโมย “มูลค่าส่วนเกิน” ไปในระบบการขูดรีดแรงงาน เพื่อเอาไปเป็น “กำไร”

การขูดรีดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ เพราะคนทำงานในภาคบริการ เช่นพนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์มีส่วนในทางอ้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดูแลสุขภาพคนงาน หรือการเพิ่มฝีมือความสามารถผ่านการศึกษา คนที่ทำงานในภาคขนส่งก็เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมจะขายสินค้าไม่ได้ และไม่มีคนงานมาทำงานถ้าไม่มีระบบขนส่ง

ในขณะที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปตอนนี้ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองในประเทศพัฒนาได้ลดลง หลังจากที่เคยเพิ่ม สาเหตุมาจากโควิด และนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เพื่อกู้คืนเงินที่รัฐเคยนำไปอุ้มธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ คือมีการพยายามดึงรายได้รัฐที่เคยอุดหนุนกลุ่มทุนกลับมาจากคนทำงานและคนจน

ในประเทศพัฒนาอายุขัยของประชาชนลดลงจาก 72.5 ในปี 2019 เหลือ 70.9 ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าการยืดอายุเกษียณออกไปถึง 67 แปลว่ากรรมาชีพโดยเฉลี่ยจะตายภายใน 4 ปีหลังเกษียณ

ยิ่งกว่านั้นมันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนคนจนกับคนรวย เช่นในอังกฤษคนที่อาศัยอยู่ในย่านยากจนจะตายก่อนคนที่อาศัยในย่านร่ำรวยถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามพวกที่รับใช้ชนชั้นนายทุนจะอ้างว่าตอนนี้ระบบทุนนิยม “ไม่สามารถ” จ่ายบำเหน็จบำนาญในระดับเดิมได้ โดยมีการใช้คำแก้ตัวว่า (1) สัดส่วนคนชราในสังคมเพิ่มในขณะที่คนในวัยทำงานลดลง (2) อายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองยาวขึ้น คือโดยเฉลี่ยเราตายช้าลงนั้นเอง ดังนั้นเรา “ต้อง” ทำงานนานขึ้น และ(3) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีที่เชียร์การยืดอายุการทำงานหรือการตัดบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย ไม่เคยเสนอว่าเราควรจะเพิ่มความเสมอภาค มีแต่จะเชียร์การทำลายมาตรฐานชีวิตของคนจนคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำแก้ตัวของชนชั้นปกครองฟังไม่ขึ้น

(1)  ในเรื่องสัดส่วนคนชราในสังคมที่เพิ่มขึ้นในขณะที่คนในวัยทำงายลดลง ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุน คนในวัยทำงานจะสามารถพยุงคนชราได้ ในยามปกติทุนนิยมจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และแค่การขยาย GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ)  เพียง 1% อย่างต่อเนื่อง ก็เพียงพอที่จะอุ้มคนชราได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ทุนนิยมมักมีวิกฤตเสมอเพราะมีการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นบ่อยครั้งการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ซึ่งแก้ได้ถ้าเรายกเลิกทุนนิยมและนำการวางแผนการผลิตโดยกรรมาชีพมาใช้แทนในระบบสังคมนิยม

นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

มาตรการชั่วคราวอันหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นเพื่อเข้ามา แต่ทุกรัฐบาลต้องการรณรงค์แนวคิดชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพื่อแบ่งแยกกรรมาชีพไม่ให้รวมตัวกัน ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ ในระบบทุนนิยมจะมีปัญหาในการยกเลิกพรมแดนหรือต.ม.ที่ควบคุมคนเข้าเมือง

(2) ในเรื่องอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองที่ยาวขึ้นนั้น (ยกเว้นในยุคนี้ในตะวันตก) สิ่งแรกที่เราต้องฟันธงคือมันเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น แต่ชนชั้นนายทุนมองว่าเป็นเรื่องแย่ เขาต้องการให้เราทำงานตลอดชีวิตแล้วพอเกษียณก็ตายไปเลย คือใช้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่มีการเคารพพลเมืองว่าเป็นมนุษย์แม้แต่นิดเดียว ส่วนนักมาร์คซิสต์สังคมนิยมจะมองว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้และถูกขูดรีดอย่างเดียว เราต้องการให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในชีวิตที่ยาวขึ้นเพื่อขยายคุณภาพชีวิตและเพื่อให้เราสามารถมีกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเรา การขยายอายุเกษียณมันสวนทางกับสิ่งนี้

(3) ในเรื่องข้ออ้างว่าถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้นนั้น การรักษา “วินัยทางการคลัง” เป็นศัพท์ที่ฝ่ายขวาใช้เสมอเวลาพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ พวกนั้นเคยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณทหาร หรืองบประมาณที่ใช้เลี้ยงคนชั้นสูงให้มีชีวิตหรูหรา

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและบริษัทลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราสูง เพราะเป้าหมายรัฐบาลในระบบทุนนิยมคือการเพิ่มอัตรากำไรโดยทั่วไป

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก  บำเหน็จบำนาญเป็นเงินเดือนที่รอจ่ายหลังเกษียณ ไม่ใช่เงินของรัฐหรือนายทุน แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และจะพูดเสมอว่าเราตัดงบประมาณทหารหรืองบเลี้ยงดูอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ และการเพิ่มภาษีให้กับนายทุนและคนรวยก็เช่นกัน พวกนี้จะพูดว่าถ้าเพิ่มภาษีให้นายทุนเขาจะหมดแรงจูงใจในการลงทุน แล้วแรงจูงใจในการทำงานของเราหายไปไหน?  ถ้านายทุนไม่พร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม เราควรจะยึดทรัพย์เขาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเอาใจพวกหน้าเลือดที่ขูดรีดเรา

ในสหรัฐอเมริกากับยุโรประดับรายได้ของคนธรรมดา แย่ลงเรื่อย ๆ และคนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการเพิ่มขึ้นมหาศาล

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคาร ข้อแก้ตัวใหม่ที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ คือ “ปัญหาหนี้สินของรัฐ” แต่เขาไม่ซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่าหนี้ของภาครัฐมาจากการอุ้มธนาคารที่ล้มละลายจากการปั่นหุ้นในตลาดเสรี หรือมาจากการล้มละลายของธนาคารเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเพื่อหวังลดเงินเฟ้อผ่านการขู่กรรมาชีพว่าจะตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในความเป็นจริงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อในยุคปัจจุบันที่มาจากการผลิตที่ต้องหยุดไปในช่วงโควิด หรือจากผลของสงครามในยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นนโยบาย “มั่ว” ของคนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนึกได้แค่ว่าถ้าก่อให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะลดลง

ดังนั้นพวกนี้พร้อมจะให้คนธรรมดาแบกรับภาระวิกฤตที่นายธนาคารและนายทุนสร้างแต่แรก ในขณะเดียวกันพวกนายทุนและนักการเมืองก็ขยันดูแลตนเอง โดยรับประกันว่าพวกเขาจะได้บำเหน็จบำนาญหลายร้อยเท่าคนธรรมดาเมื่อตนเองเกษียณ

ในไทย

อายุเกษียณในไทยคือ 60ปี ซึ่งเหมือนกับมาเลเซีย และใกล้เคียงกับของ อินโดนีเซีย (58) บังกลาเทศ (59) และศรีลังกา (55) สิงคโปร์ (63) เวียดนาม (61)

อายุขัยของคนไทยตอนนี้อยู่ที่ 72.5 ปีสำหรับชาย และ78.9 ปีสำหรับหญิง แต่นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนเหมือนที่อื่นๆ ในโลกทุนนิยมแล้ว อายุสุดท้ายโดยเฉลี่ยของการยังมีสุขภาพที่ดีในไทยคือ  68 ปีสำหรับชาย และ 74 ปีสำหรับหญิง พูดง่ายๆ กรรมาชีพไทยที่เป็นชายจะมีสุขภาพที่ดีพอที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแค่ 8 ปีหลังเกษียณ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพย์สินพอที่จะสามารถหยุดงานตอนอายุ 60 ได้อีกด้วย

ถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในไทย ก่อนอื่นต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร รวมถึงบำเหน็จบำนาญสำหรับวัยชรา เพื่อให้คนเกษียณมีชีวิตอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว หรือพึ่งตนเองท่ามกลางความยากจน ในอดีตคนชราจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักจะได้ยินพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะสร้าง แต่ในความเป็นจริงเขาหมายถึงแค่สวัสดิการแบบแยกส่วนและเพื่อคนที่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ใช่แบบถ้วนหน้า ครบวงจร “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน

สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขในสังคมไทยคือปัญหารายได้ของคนชราปัจจุบัน ดังนั้นการเสนอว่าพลเมืองต้องจ่ายประกันสังคมครบหลายๆ ปีก่อนที่จะได้รับสวัสดิการไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับนายทุนน้อยอย่างเช่นเกษตรกรในชนบท คือต้องมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กองทุนของรัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองทุกคน ทั้งในเมืองและในชนบทมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน และเพื่อให้ทุกคนสามารถออมและจ่ายเงินสมทบทุนประกันสังคมได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมรณรงค์ให้สหภาพแรงงานมีเสรีภาพ อำนาจต่อรอง และความมั่นคงมากขึ้น และต้องมีการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่ไปหวังพึ่งพรรคการเมืองที่นำโดยนายทุนแต่มีผู้แทนจากแรงงานสองสามคนเป็นเครื่องประดับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ มีเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพย์สินในระดับเศรษฐีสากล มีกองทัพที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือเพื่อทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง

พวกที่ปกครองเรามักเรียกร้องให้เรา “สามัคคี” และ “รักชาติ” และเรียกร้องให้เราหมอบคลานก้มหัวให้อภิสิทธิ์ชนหรือผู้ใหญ่ แต่เขาเองไม่เคยเคารพพลเมืองในสังคม ไม่เคยมองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในวัยชรา

MOU ของก้าวไกลชี้ให้เห็นจุดยืนแท้จริง

สิ่งที่อยู่ใน MOU ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่กระทบผลประโยชน์ อำนาจ ของชนชั้นนำ กลุ่มทุน นี่เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า กรรมาชีพ คนจน ไม่สามารถใช้รัฐสภาทุนนิยมเพื่อปลดแอกตนเองได้ โดยเฉพาะเวลาอาศัยพรรคเสรีนิยมของนายทุนอย่างก้าวไกล… เราต้องเดินหน้าไกลกว่านี้ด้วยการสร้างพรรคสังคมนิยมที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาและการสร้างพลังกรรมาชีพ

พรรคก้าวไกล เน้นโยบายที่เอื้อกับนายทุนและชนชั้นนำเพื่อครองเก้าอี้ รมต. ผ่านการเอาใจพรรคอื่น แต่ก้าวไกลอ้างความก้าวหน้าเพื่อหลอกให้คนลงคะแนนให้ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าในรูปธรรมไม่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ในที่สุดคนก็จะผิดหวังและเบื่อ คราวหน้าอาจไม่เลือกอีก
ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสากล จะเห็นว่าไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรคการเมืองแบบปฏิรูป ที่อ้างว่าจะเปลี่ยนสังคม จบลงด้วยการก้มหัวให้ชนชั้นนำ
แน่นอน จะมีคนที่พูดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่นั้นก็แค่ข้ออ้างที่พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมอย่างจริงจังผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้

สหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง บทเรียนสากล

ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ประเด็นแรกคือการแยกหน้าที่กันในความคิดของสายซ้ายปฏิรูป และประเด็นที่สองคือบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน

ในโลกทุนนิยม แนวคิดซ้ายสังคมนิยมแบบปฏิรูป จะส่งเสริมความคิดว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” แยกกัน โดยที่สหภาพแรงงานมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มค่าจ้างและพัฒนาสภาพการจ้างผ่านการนัดหยุดงาน ประท้วง หรือเจรจา ในขณะที่พรรคการเมืองของแรงงานเช่น “พรรคแรงงาน” หรือ “พรรคสังคมนิยม” มีหน้าที่ผลักดันการเมืองในรัฐสภาที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

ในรูปธรรมมันหมายความว่าผู้นำแรงงานระดับชาติจะปฏิเสธการนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ในเรื่องการเมือง คือจะไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานเพื่อล้มรัฐบาล หรือการนัดหยุดงานในประเด็นเฉพาะทางการเมืองเช่นการขยายหรือปกป้องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านสงคราม หรือการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จริงอยู่ผู้นำแรงงานอาจส่งเสริมให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปประท้วงกับขบวนการอื่นๆ ในเรื่องการเมือง เพื่อส่งต่อเรื่องให้นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะไม่สนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยตรง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะไปเกี่ยวข้อกับระบบเศรษฐกิจ

เราเห็นผลพวงของความคิดนี้ในกรณีคลื่นการนัดหยุดงานในอังกฤษ และในฝรั่งเศสในปีนี้ คือผู้นำสหภาพแรงงานกำหนดวันหยุดงานเป็นวันๆ ไป ไม่เสนอให้นัดหยุดงานทั่วไปโดยไม่มีกำหนดเลิกจนกว่ารัฐบาลจะยอมจำนนหรือลาออก ทั้งนี้เพราะผู้นำแรงงานมองว่ามันเลยขอบเขตหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และเขากลัวอีกว่าถ้ามีการนัดหยุดงานทั่วไปการนำการต่อสู้จะมาจากแรงงานรากหญ้าไฟแรง แทนที่ผู้นำเดิมจะควบคุมได้ ยิ่งกว่านั้นในกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทมากกว่าพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษห้ามไม่ให้สส.ไปสนับสนุนการนัดหยุดงานใดๆ เพราะพรรคตั้งเป้าไว้ที่จะเอาใจนายทุน

ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปจริงๆ มันมักจะไม่ผ่านขั้นตอนทางการ และมักจะ “ผิดกฎหมาย” และมักจะนำโดยคณะกรรมการระดับรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่อาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติ และตลอดเวลาที่มีการต่อสู้แบบนี้ผู้นำแรงงานเดิมจะพยายามกล่อมให้คนงานกลับเข้าทำงานและปล่อยให้นักการเมืองในสภาเข้ามาแก้ปัญหา

ในแง่หนึ่งรัฐทุนนิยมทั่วโลกก็จะมองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และมักจะมีการออกกฎหมายห้ามการกระทำแบบนี้ ซึ่งเราเห็นในไทยและในประเทศตะวันตก

สำหรับนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ เรามองว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรามองว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสูงสุดของประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสภาพสังคมทุนนิยมและการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ 1%ของประชากร คือมันปกป้องรัฐของชนชั้นนายทุนที่มีไว้กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาลกับคุก ดังนั้นเรามองว่าถ้าการต่อสู้จะยกระดับให้สูงขึ้น การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับการเมืองต้องรวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเริ่มสร้างองค์กรบริหารสังคมแบบใหม่ที่กรรมาชีพมีบทบาทโดยตรง ตัวอย่างที่ดีคือสภาคนงาน แบบโซเวียตในปีแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในอิหร่านท่ามกลางการปฏิวัติ1979 หรือสภาประสานงานกรรมาชีพในชิลีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพยายามต่อต้านรัฐประหารในปี1973

ความสำคัญเกี่ยวกับสภาคนงานแบบที่พูดถึงนี้คือ มันเป็นหน่ออ่อนของการบริหารสังคมแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยของกรรมาชีพซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการนัดหยุดงานทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าพร้อมกับสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่เน้นรัฐสภา

ในประเด็นที่สองคือ เรื่องบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวแรงงานที่หวังทำงานภายในพรรคก้าวไกล บทเรียนแรกมาจากอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างพรรคแรงงาน และผู้แทนของสหภาพแรงงานมักจะทำงานภายในพรรค “เสรีนิยม” ซึ่งเป็นพรรคนายทุน การทำงานภายในพรรคนี้ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย จึงมีการสรุปกันว่าต้องสร้างพรรคแรงงานขึ้น

แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคเดโมแครตในสหรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีมายาวนานในขณะที่พรรคของสหภาพแงงานหรือพรรคแรงงานไม่มี ดังนั้นเวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐจะมีทางเลือกให้ประชาชนระหว่างแค่สองพรรคของนายทุนเท่านั้น คือระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรคริพับลิกัน และผู้นำสหภาพแรงงานจะชวนให้สมาชิกเลือกพวกเดโมแครต ส่วนหนึ่งคือการตั้งความหวังจอมปลอมว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ขวาตกขอบเหมือนริพับลิกัน อีกส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์เมื่อยุค 1930 ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้นโยบายเอาใจสหภาพแรงงานและนายทุนพร้อมกันเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องหลักๆ ปัจจุบัน นโยบายของทั้งสองพรรคมักจะไม่ต่างกันมากนัก เช่นในเรื่องการทำสงคราม เรื่องจักรวรรดินิยม เรื่องกลไกตลาดเสรีกับการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ หรือในเรื่องการไม่ยอมสร้างรัฐสวัสดิการ

บทเรียนสำคัญสำหรับยุคนี้คือการที่ประธานาธิบดีไบเดิน ออกคำสั่งยกเลิกการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟสหรัฐในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยอ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ  ในที่สุดสหภาพแรงงานต้องไปยอมรับข้อตกลงกับบริษัทเดินรถไฟที่แย่มาก เพราะไม่มีการให้สวัสดิการล่าป่วย และบังคับขึ้นเงินเดือนแค่ 24% ในช่วง 4 ปี โดยที่ระดับเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ กับพรรคพวกที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ภายในพรรคเดโมแครต ก็ไปยกมือสนับสนุนไบเดินในการกดขี่เสรีภาพของสหภาพแรงงาน

บทเรียนนี้ชี้ให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองของนายทุนในที่สุดจะสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเสมอ ไม่ว่าจะมีผู้แทนที่อ้างว้าเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักสหภาพแรงงานสี่ห้าคนภายในพรรคก็ตาม

การเรียกร้องสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะนัดหยุดงาน โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐ และการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้นจนเท่ากับมาตรฐานคนชั้นกลาง เป็นสิ่งจำเป็นในไทย แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีผู้แทนสายแรงงานอยู่ในพรรค ซึ่งยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คำถามคือพรรคนายทุนพรรคนี้จะสนับสนุนผลประโยชน์ของแรงงานถ้ามันไปขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนจริงหรือ?

ความสำคัญของแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของ ลีออน ทรอตสกี้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์แต่ยังมีความสำคัญกับการต่อสู้ทั่วโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือมันนำไปสู่การเน้นบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเป้าหมายที่จะปฏิวัติสังคมนิยม

ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางฟิวเดิลที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมันหรือรัสเซีย แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี 1848 ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมสมัยนั้น ชนชั้นนายทุนกลัวกรรมาชีพมากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮืออย่างเด็ดขาด มาร์คซ์ผิดหวังกับชนชั้นนายทุนในปี 1848 และสรุปว่าหลัง1848เป็นต้นไป ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน มาร์คซ์เป็นคนแรกที่เขียนว่ากรรมาชีพต้อง “ปฏิวัติถาวรไปเลย!”

แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?

มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตย (หรือที่บางคนเรียกว่า “ประชาชาติประชาธิปไตย”) เพราะกรรมาชีพจะยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป  ดังนั้นควรจะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม “อย่างถาวร”          

มาร์คซ์เขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนประชาธิปไตยสองหน้า ที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง… คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ‘ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!’”

กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์ อาจจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อล้มเผด็จการในช่วง๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือยุคเสื้อแดง เพราะเป้าหมายในการต่อสู้กับเผด็จการในไทย ไม่เคยเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมเลย

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนไว้ในหนังสือ “สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย”) ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ในปี 1917 ใน “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” ของเลนิน เขาเปลี่ยนใจและหันมาเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน “การปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์

ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมสู้อย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ทรอตสกี้ เขาเสนอการปฏิวัติถาวรตามแนวคิดของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ก่อนที่เลนินจะเสนอ “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” 11ปี สาเหตุสำคัญที่ทรอตสกี้มองว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสามารถก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในรูปแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยผ่านนั้น ก็เพราะทุนนิยมได้ขยายไปเป็นระบบโลกและเข้ามามีอิทธิพลหลักในประเทศล้าหลังทั่วโลก แต่การเข้ามามีลักษณะร่วมกับทุนนิยมทั่วโลกและในขณะเดียวกัน “ต่างระดับ” ตัวอย่างเช่นการที่รัสเซียประกอบไปด้วยเกษตรกรจำนวนมากที่อยู่ในสภาพล้าหลังแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าพอๆ กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่ถ้าการปฏิวัติถาวรจะสำเร็จในประเทศล้าหลัง ต้องมีการขยายการต่อสู้ไปในระดับสากล

พวก “เมนเชวิค” ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปในรัสเซียสมัย 1917 ยังคงเชื่อว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมและไม่ก้าวข้ามไปสู่สังคมนิยม ดังนั้นเมนเชวิคจะสนับสนุนนักการเมืองนายทุนและการทำสงครามกับเยอรมันต่อไป ในขณะที่บอลเชวิคของเลนินและทรอตสกี้ยุติสงครามและล้มรัฐสภาของนายทุนเพื่อสร้างสภาคนงานแทน

ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่นโดยเฉพาะนายทุน และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เพราะขยายในลักษณะสากลไปสู่เยอรมันและประเทศพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็สตาลินขึ้นมามีอำนาจและทำลายความก้าวหน้าที่มาจากการปฏิวัติจนหมดสิ้น เพื่อสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ในรัสเซีย สตาลินเรียกระบบนี้ว่า “สังคมนิยมในประเทศเดียว” และใช้แนวชาตินิยมแทนแนวสากลนิยม ต่อจากนั้นสตาลินเสนอกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกหรือด้อยพัฒนา ว่าต้องตั้งเป้าไว้เพื่อหยุดที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหรือ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นายทุน “ที่รักชาติ” แทนนที่จะสู้เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม

สาเหตุที่สตาลินหันกลับมาเสนอจุดยืนของพวกเมนเชวิค หรือจุดยืนเก่าที่เลนินทอดทิ้งไป ก็เพื่อหวังผูกไมตรีกับประเทศทุนนิยมตะวันตก หรืออย่างน้อยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น เพราะในความเห็นของเขาความมั่นคงของรัสเซียสำคัญกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากล

สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนาภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของทรอตสก้ที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป  สตาลินจำต้องฆ่าทรอตสกี้และลบใบหน้าของเขาออกจากรูปถ่ายต่างๆ ที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์ก็คล้อยตามแนวของสตาลิน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งถือนโยบายตามแนวคิดของ สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ก็เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม (ประชาชาติประชาธิปไตย) และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ  พคท. ถึงกับทำแนวร่วมกับจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะถูกสฤษดิ์ปราบ

ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยในไทยที่เชื่อแนวนี้อยู่ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เคยเข้าไปในพรรคไทยรักไทยและยอมรับการนำของนายทุนอย่างทักษิณ  การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พคท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?

มรดกของทรอตสกี้และเลนินเสนอว่าในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง  โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสังคมนิยมเท่านั้น แต่พคท.นิยามความคิดแบบนี้ว่าเป็น “ลัทธิแก้” และเสนอว่าไทยเป็นประเทศ “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ซึ่งในปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยศักดินา

เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยในยุค พคท.ไม่ได้เป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จักรวรรดินิยมอเมริกามีอิทธิพลสูงในสมัยสงครามเย็น การเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เพราะไม่ต้องมีการยึดพื้นที่เพื่อปกครอง และในเรื่องที่เสนอว่าไทยเป็นประเทศกึ่งศักดินา เราควรเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบศักดินาได้ถูกทำลายไปแล้วเพื่อสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้สำคัญในปัจจุบัน เพราะมีผลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ เพราะพวกที่มองว่าประเทศปกครองโดยระบบศักดินามักจะพร้อมที่จะจับมือกับนายทุนหรือนักการเมืองนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือนักการเมืองพรรคก้าวไกล ในขณะที่ไม่สนใจที่จะสร้างฐานการต่อสู้ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และพวกนี้มักจะยอมรับแนวชาตินิยมและเสรีนิยมอีกด้วย

หลังจากที่ทรอตสกี้เสียชีวิตเพราะถูกลูกน้องของสตาลินฆ่า เราเริ่มเห็นการปฏิวัติปลดแอกประเทศในอดีตอณานิคมของตะวันตกในเอเชียและอัฟริกา แต่ไม่ว่าประเทศอิสระใหม่ๆจะเรียกตัวเองเป็นสังคมนิยมหรือไม่ สภาพความเป็นจริงคือชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และระบบที่ประเทศเหล่านั้นใช้มีลักษณะคล้ายๆ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของรัสเซีย คือเน้นรัฐวิสาหกิจและพรรคนำที่เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพและชาวนา

โทนี่ คลิฟ นักมาร์คซิสต์ชาวยิวจากปาเลสไตนที่ไปลี้ภัยในอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวรชนิด “หันเห” เขาอธิบายว่าสาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานอาจถูกนำโดย “คนภายนอก” ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ ซึ่งก่อให้เกิด “ลัทธิสหภาพ”

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน “แนวร่วมรักชาติ”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น โดยเฉพาะปัญญาชนที่เสนอตัวนำชาวนาหรือคนยากจน จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย  นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท “หันเห” เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มานำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีการล้มทุนนิยม และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีน คิวบา หรือเวียดนาม

หัวใจสำคัญของทฤษฎีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก  เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง และเราจะวนเวียนอยู่ในความเหลื่อมล้ำและวิกฤตของทุนนิยมโลก

สองคำถามสำคัญสำหรับทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์กับตูนีเซียในยุคอาหรับสปริง อิหร่านในสมัยล้มพระเจ้าชาร์หรือแม้แต่ในการลุกฮือปีนี้  หรือซูดานหรือศรีลังกาในยุคปัจจุบัน….. คือ (1)จะสู้เพื่อเป้าหมายอะไร? และ(2)จะอาศัยพลังในการล้มเผด็จการมาจากส่วนไหนของสังคม?

คำถามแรกท้าทายคนที่มองว่าควรล้มเผด็จการเพื่อให้มีแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบทุนนิยม คือตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองกระแสหลักและรัฐสภา ซึ่งจะจบลงด้วยการประนีประนอมกับพวกทหารหรือนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และคงไว้ระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่

คำถามที่สองจะท้าทายคนที่มองว่าพลังหลักในการปลดแอกสังคมคือคนชั้นกลาง ประเทศจักรวรรดินิยมเสรีนิยม หรือพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา แทนที่จะมองว่าพลังหลักในการปลดแอกคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ และคนที่เห็นด้วยกับแนวพลังกรรมาชีพจะต้องลงมือสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานตั้งอยู่ในหมู่กรรมาชีพ

ทุกคนที่พึ่งผ่านการต่อสู้กับเผด็จการประยุทธ์ในไทย คงเข้าใจความสำคัญของสองคำถามนี้ สรุปแล้วคุณจะพอใจกับการจมอยู่ในระบบรัฐสภาที่ถูกตีกรอบโดยเผด็จการทหาร ซึ่งอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จะแค่นำไปสู่สภาพสังคมในยุคที่ทักษิณเคยเป็นผู้นำประเทศ… หรือคุณจะพยายามต่อสู้เพื่อสังคมที่ก้าวหน้ากว่านี้? สังคมนิยมนั้นเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

ปัจเจกหรือมวลชน?

คนที่ออกมาสู้แบบปัจเจกมีความจริงใจ กล้าหาญ และเสียสละจริง แต่การต่อสู้แบบปัจเจกมีปัญหาที่เราต้องวิจารณ์ มันเป็นการเอาตัวเองมาแทนมวลชน ในที่สุดจะล้มเหลว ทำแบบมหาตมา คานธี  ที่อดอาหารแทนการปลุกพลังมวลชน คิดว่าความชอบธรรมมีพลัง แต่หันหลังให้พลังแท้ของกรรมาชีพที่จะไล่เจ้าอาณานิคมหรือล้มเผด็จการได้ มันเป็นกลยุทธ์ที่หลงคิดว่าการกระทำที่สร้างข่าวจะปลุกกระแสมวลชนโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำงานจัดตั้ง

ถ้าเราเห็นใจและอยากสมานฉันท์กับผู้ที่สู้แบบปัจเจก เราต้องกลับมาพิจารณาการสร้างขบวนการมวลชนที่มีพลัง ขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการปลุกระดมมวลชนเป็นแสน มันเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพสังคม แต่การต่อสู้ครั้งนั้น ไม่สนใจจัดตั้งพลังกรรมาชีพ เน้นความชอบธรรม เน้นสัญลักษณ์ เน้นการสร้างเครือข่ายหลวมๆ และชูตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่ประกาศว่าไร้ผู้นำ

แค่ชื่นชมการต่อสู้ จิตใจกล้าหาญ ของนักสู้ปัจเจก ไม่พอ ต้องหาทางฟื้นขบวนการมวลชน และต้องเดินออกห่างจากการเน้นการต่อสู้แบบปัจเจกชน บางครั้งอาจจะปลุกระดมคนได้บ้างชั่วคราว แต่พอกระแสลง จะไม่เหลือองค์กรที่สามารถรักษาระดับการต่อสู้ระยะยาวได้ต่อไป นั้นคือสาเหตุที่เราเน้นการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายพร้อมกับการสร้างมวลชนเสมอ

เราต้องลดความโรแมนติกในการต่อสู้แบบปัจเจกลง และเลิกการออกมาแสดง “ความเคารพ” เฉยๆ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของนักต่อสู้กล้าหาญที่เลือกแนวทางปัจเจกเพราะมองไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

เงินเฟ้อกับค่าจ้างเกี่ยวข้องกันหรือไม่?

ทุกวันนี้นักการเมือง นายธนาคาร และนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มักอ้างว่ากรรมาชีพไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเพราะจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ข้ออ้างนี้ล้วนแต่เป็นเท็จ และมาจากความพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบนสันหลังชนชั้นกรรมาชีพ จะขออธิบายเหตุผลเป็นข้อๆ

  1. เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในยุคนี้ ไม่ว่าจะที่ไทย ที่ยุโรป หรือที่อื่นๆ เกิดขึ้นจากสองเหตุผลหลักๆคือ หนึ่งวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้คนงานต้องขาดงานไปเป็นเดือนๆ มีผลในการสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และสร้างปัญหาในระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศอีกด้วย (Supply Chain problems) ปัญหานี้ทำให้สินค้าหลายชนิดขาดตลาด แต่การที่สินค้าขาดตลาดไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย“มือที่มองไม่เห็น”แต่อย่างใด มือที่มองไม่เห็นไม่มีจริงและเป็นนิยายของชนชั้นปกครองเพื่อปกปิดสิ่งที่นายทุนทำ ในความจริงราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพราะนายทุนฉวยโอกาสจากการที่สินค้าขาดตลาดเพื่อเพิ่มราคา โดยหวังจะเพิ่มกำไร ถ้าสินค้าขาดตลาด นายทุนคงไว้ราคาเดิมได้ ดังนั้นเงินเฟ้อยุคนี้มาจากพฤติกรรมของนายทุน

สอง สงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในพื้นที่ยูเครน ซึ่งเกิดจากการรุกรานของรัสเซียเพื่อพยายามยับยั้งการขยายตัวของแนวร่วมทางทหารของตะวันตก (นาโต้) สงครามนี้นำไปสู่การทำสงครามทางเศรษฐกิจด้วย ตะวันตกพยายามทำลายเศรษฐกิจรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรตัดรัสเซียออกจากการค้าและลงทุน ทำให้รัสเซียโต้ตอบด้วยการจำกัดการส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไปสู่ยุโรป สิ่งนี้ทำให้ราคาเชื้อเพลิงเช่นก๊าซหรือน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากมือที่มองไม่เห็นเช่นกัน บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในภาคน้ำมันกับก๊าซ เพิ่มราคาและได้กำไรเพิ่มตามมามหาศาล การเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงซึ่งใช้ในทุกแง่ของชีวิตเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ยิ่งกว่านั้นสงครามระหว่างจักรวรรดินิยมในยูเครน มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำมันพืชซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งออกอาหาร ราคาอาหารจึงถูกดันให้พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก จนมีผลให้คนจนจำนวนมากในโลกเริ่มขาดแคลนอาหาร และเป็นแรงกระตุ้นให้มวลชนไม่พอใจในหลายประเทศ

  • จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด ตรงกันข้ามในช่วงสิบปีที่ผ่านมารายได้กรรมาชีพถูดกดตลอด แต่นายธนาคารและชนชั้นปกครองพูดเหมือนนกแก้วว่าเราไม่ควรเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม คือเราต้องยอมให้มูลค่าของค่าจ้างลดลงตามเงินเฟ้อ และธนาคารกลางในหลายประเทศก็ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการ “แก้ปัญหาเงินเฟ้อ” ซึ่งทำให้ธนาคารกลางในประเทศอื่นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ในความจริงการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทำให้การกู้ยืมเงินแพงขึ้น ซึ่งมีผลในระยะสั้นในการผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สาเหตุแท้ที่พวกธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคือต้องการบีบบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องกู้ยืมเงินเป็นธรรมดา ไม่ให้ยอมจ่ายค่าจ้างเพิ่มสำหรับลูกจ้าง และหวังว่าเศรษฐกิจจะหดจนเงินเฟ้อเริ่มลดลงเมื่อกำลังซื้อลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างวิกฤตชีวิตให้กรรมาชีพ และจะมีการตกงาน ถือว่าเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นให้กรรมาชีพกลัว ไม่กล้าสู้
  • ในเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สูงกว่า10% ในหลายประเทศ หรืออาจมากกว่านั้นอีก เราควรงอมืองอเท้าปล่อยให้มูลค่าค่าจ้างของเราลดลง โดยไม่ออกมาต่อสู้นัดหยุดงานและเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มให้ตรงกับอัตราเงินเฟ้อจริงหรือ? การเสียสละของเราจะให้ประโยชน์กับใคร? ให้ประโยชน์กับนายทุนแน่นอน เพราะกำไรของนายทุนมาจากมูลค่าการผลิตที่กรรมาชีพสร้างแต่ไม่ได้รับเป็นค่าจ้าง ซึ่งเราชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” (แต่ต้องพิจารณาการลงทุนด้วย) ชนชั้นนายทุนพยายามกดค่าจ้างเราเพื่อพยุงกำไร และกรรมาชีพในสหภาพแรงงานทั่วโลกกำลังขยับออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสภาพชีวิตด้วยการนัดหยุดงาน อย่างที่เราเห็นในอังกฤษ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้และที่อื่น
  • เราต้องถามว่าค่าจ้างเป็นสัดส่วนเท่าไรของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตของนายทุน? เราต้องดูว่ามีการลงทุนในเครื่องจักรกับเทคโนโลจีแค่ไหน มีการลงทุนในการขนส่งแค่ไหน ฯลฯ โดยทั่วไป ค่าจ้างไม่ใช่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของค่าใช้จ่ายในการผลิต ทั่วโลกมักจะประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับภาคเศรษฐกิจ และขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันอีกด้วย ในไทยนายทุนพยายามดึงการลงทุนเข้ามาโดยอวดว่าอัตราค่าจ้างต่ำกว่าที่อื่น และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในรอบ10-20ปีที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าที่ตกอยู่ในมือกรรมาชีพลดลงในขณะที่นายทุนขูดรีดกอบโกยกำไรและมูลค่าเพิ่มขึ้น ในประเทศตะวันตกก็เช่นกัน ขณะที่กรรมาชีพธรรมดาทำงานเพื่อพยุงสังคมในยามวิกฤตโควิด รายได้กรรมาชีพลดลงในขณะที่พวกเศรษฐีรวยขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่ากรรมาชีพเป็นผู้สร้างมูลค่าและพยุงสังคมในยามวิกฤต แต่พวกนายทุนกอบโกยผลประโยชน์และกดค่าแรงกรรมาชีพ
  • การกดค่าแรงของกรรมาชีพ จะนำไปสู่การเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุน แต่ในขณะเดียวกันจะนำไปสู่การลดกำลังซื้อของกรรมาชีพ สินค้าก็จะขายไม่ออกในที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องสภาพชีวิตของเรา?

ในประการแรกเราต้องเข้าใจที่มาของเงินเฟ้อ และต้องเข้าใจการทำงานของระบบทุนนิยมที่มีการขูดรีดกำไรจากการทำงานของกรรมาชีพ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ “ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน”) เราจะได้มั่นใจในการปลุกระดมให้กรรมาชีพอื่นๆ สู้  แต่บางคนอาจพร้อมที่จะสู้อยู่แล้วเพราะโกรธสภาพชีวิต นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่เราไม่ควรหลงคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะปล่อยให้เราสู้โดยไม่เปิดศึกกับเรา

ศึกที่ชนชั้นนายทุนมักเปิดกับเรามีทั้งแง่ของลัทธิความคิดและการใช้กำลัง

ศึกทางความคิดจะรวมไปถึงการพยายามกล่อมเกลาเราให้เชื่อว่า “เงินเฟ้อมาจากการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม” พวกเขาจะเข็น “ผู้เชี่ยวชาญ”เงินเดือนสูง ออกมาในสื่อกระแสหลักเพื่อสั่งสอนเรา แต่พวกนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของทุนนิยมได้ และมักจะปิดหูปิดตาถึงสภาพจริงในโลก เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เราต้องสร้าง “ปัญญาชนอินทรีย์” และสื่อของฝ่ายเราเองเพื่อโต้ตอบ“ผู้เชี่ยวชาญ”เหล่านั้น

ในอังกฤษ หลังจากที่ราชินีเสียชีวิตไป มีการรณรงค์ให้หยุดการนัดหยุดงานเพื่อ “สร้างความสามัคคีของชาติ” และเป็นที่น่าสียดายที่ผู้นำแรงงานระดับชาติยอมพักสู้ชั่วคราวในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยพักการขูดรีดแต่อย่างใด ในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย จะมีการใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อชวนให้เราเสียสละเพื่อชาติเช่นกัน และมีการขู่ว่านายทุนจะย้ายการผลิตไปที่อื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนายทุนเสมอไป โดยเฉพาะในภาคการผลิตรถยนต์ ก่อสร้าง การคมนาคม และระบบการศึกษาและสาธารณสุข

ศึกด้วย”กำลัง”ที่ฝ่ายตรงข้ามจะเปิดกับเราคือการใช้กฎหมายและตำรวจในการปราบการนัดหยุดงาน หรือการสร้างอุปสรรคในการนัดหยุดงาน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามทำ และรัฐบาลไทยทำมานานแล้ว

เราจะต่อสู้อย่างไร?

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของสหภาพแรงงานในการต่อสู้กับนายทุนและรัฐบาล แต่การนัดหยุดงานในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน เช่นการนัดหยุดงานหนึ่งหรือสองวัน อาจเป็นการเตือนหรือขู่นายจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่แสดงความสนใจ อาจต้องมีการขยายการนัดหยุดงานไปโดยไม่จำกัดวัน อันนี้เป็นประเด็นในตะวันตก แต่อาจไม่เป็นประเด็นในไทย แต่การนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ที่มีสมาชิกสหภาพรงงานจากหลายๆ สถานที่ทำงานนัดหยุดงานพร้อมกัน

การสร้างกระแสนัดหยุดงานทั่วไปเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ากรรมาชีพเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกันทั้งประเทศ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและเงินเฟ้อ และการนัดหยุดงานทั่วไปเคยเกิดขึ้นในไทยช่วง ๑๔ ตุลา และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่าแค่การเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปโดยฝ่ายซ้ายในนามธรรม จะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น คือมันต้องเป็นข้อเรียกร้องจากคนงานรากหญ้าจำนวนมาก ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวเป็นรูปธรรม

ปัญหาผู้นำแรงงานระดับชาติ

มันไม่ใช่ว่ามีแค่นายจ้างและรัฐที่จะพยายามห้ามและยับยั้งการนัดหยุดงานทั่วไปหรือแม้แต่การนัดหยุดงานธรรมดา ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติ ที่ห่างเหินจากคนทำงานธรรมดาด้วยรายได้ วิถีชีวิต และตำแหน่ง เป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้ของกรรมาชีพ แน่นอน มีผู้นำแรงงานระดับชาติบางคนที่พร้อมจะนำการต่อสู้อย่างจริงจัง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำแรงงานระดับชาติเป็นบุคคลที่มีฐานะทางชนชั้นระหว่างนายจ้างกับคนทำงานรากหญ้า และฐานะทางชนชั้นนี้มีอิทธิพลกับแนวความคิดของเขา ผู้นำเหล่านี้มีความขัดแย้งในตัว เพราะเขาจะมองว่าหน้าที่ของเขาคือการนำข้อเรียกร้องของสมาชิกสหภาพแรงงานไปเสนอต่อนายจ้างเพื่อ “แก้ไขปัญหาให้แรงงาน” ไม่ใช่เพื่อเอาชนะนายจ้างหรือรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาไม่นำการต่อสู้เลย สมาชิกจะลาออกจากสหภาพ

ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่ต้องการจะสู้ ต้องพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อนำการเคลื่อนไหว และนำนัดหยุดงาน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานที่ทำงาน และเพื่อกดดันผู้นำแรงงานระดับชาติหรือพวกผู้นำระดับสภาคนงาน การสร้างพลังรากหญ้าของคนทำงานภายในสหภาพแรงงานเพื่อเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าในสถานที่ทำงานอื่นๆ เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยพยายามสร้างในรูปแบบ “กลุ่มย่าน” ในอดีต และมีเอ็นจีโอสายแรงงานบางองค์กรที่สืบทอดเรื่องนี้ เราเลยเห็นเครือข่ายสหภาพแรงงานกลุ่มย่านที่ยังมีอยู่ในบางแห่ง

ที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมคงต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์จากล่างสู่บน เพื่อสนับสนุนการหนุนช่วยซึ่งกันข้ามรั้วสถานที่ทำงานและข้ามสหภาพแรงงาน และเพื่อให้คนทำงานรากหญ้ามีบทบาทนำโดยไม่ปล่อยให้ “ผู้นำแรงงานแบบข้าราชการ” มีอิทธิพลแต่ฝ่ายเดียว

ปัญหาการพึ่งรัฐสภา

ในเรื่องการเมืองของกรรมาชีพ มักจะมีความขัดแย้งในแนวทางระหว่างคนที่เน้นการเคลื่อนไหวประท้วงหรือนัดหยุดงาน กับคนที่ฝากความหวังไว้กับรัฐสภา ในประเทศตะวันตกพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอาจถูกก่อตั้งขึ้นโดยขบวนการแรงงาน แต่นักการเมืองของพรรคเหล่านี้จะมองว่าเขามีบทบาทในการแก้ปัญหาให้กรรมาชีพผ่านกระบวนการของรัฐสภา และมองว่าการนัดหยุดงานหรือการประท้วงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม ยิ่งกว่านั้นถ้านักการเมืองพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล เขาอาจพร้อมที่จะปราบการนัดหยุดงานอีกด้วย เพราะเขามองว่าเขามีหน้าที่บริหารระบบทุนนิยม

ในไทยเรายังไม่มีพรรคการเมืองของสหภาพแรงงาน แต่พรรคการเมืองอย่างเช่นพรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ก็พยายามดึงนักสหภาพแรงานเข้ามาในพรรค ซึ่งจะทำให้เขาให้ความสำคัญกับรัฐสภามากกว่าการเคลื่อนไหว ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยก็มีตัวอย่างของการลดบทบาทการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพื่อไปตั้งความหวังกับรัฐสภา และความหวังว่า “ท่านจะทำให้” เป็นกระแสทั้งๆ ที่รัฐสภาไทยถูกคุมโดยอำนาจเผด็จการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ารัฐสภาไทยไม่มีอำนาจเผด็จการคุมอยู่ในอนาคต ปัญหาการเลือกแนวทางระหว่างรัฐสภากับการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานก็ยังคงเป็นประเด็น

ทำไมต้องมีพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ

ระบบทุนนิยมสร้างปัญหาวิกฤตมากมายสำหรับประชาชนโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามจักรวรรดินิยม วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิดที่มาจากระบบเกษตรอุตสาหกรรม หรือวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไร และในทุกวิกฤต สันดานของนายทุนกับนักการเมืองฝ่ายทุนคือต้องโยนภารกิจในการแก้ปัญหาให้กับคนธรรมดาเสมอ

ถ้าเราจะปลุกระดมชักชวนให้คนเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบทุนนิยม เช่นในเรื่องเงินเฟ้อกับค่าจ้าง หรือเรื่องการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องปัญหาผู้นำแรงงาน ฯลฯ เราต้องมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ที่มีสื่อและสมาชิกที่จะลงไปต่อสู้ร่วมกับคนธรรมดา การที่เราจะเริ่มสร้างเครือข่ายสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้าก็อาศัยการทำงานของพรรคเช่นกัน แค่เป็นนักเคลื่อนไหวปัจเจกหรือนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานไม่พอ เราต้องอัดฉีดการเมืองแนวมาร์คซิสต์ที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเข้าไปในการต่อสู้ต่างๆให้มากที่สุด ถ้าเราไม่มีพรรค เราจะทำไม่ได้ และฝ่ายกรรมาชีพจะอ่อนแอ

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

เราสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย

ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ

นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา

ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ

ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม

กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ

ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ

ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ

สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า

ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย

ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม

ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ   เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง

บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน

นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา

วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ

การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน

ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ

การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ

การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร

ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง

แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ

และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน

ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ

นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์