Tag Archives: ขบวนการนักศึกษา

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

เดินหน้าต่อไปถึงเส้นชัย!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ต้องยอมรับครับว่าเมื่อเห็นภาพนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงเผด็จการวันนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมน้ำตาไหลด้วยความดีใจ พวกเรารอวันนี้มานาน

FB_IMG_1597581477208

ผมไม่อยากจะ “แนะนำ” อะไรมากกับ “คณะประชาชนปลดแอก” เพราะเขาพิสูจน์ไปแล้วว่าเขาจัดการประท้วงที่ประสบความสำเร็จสุดยอด แต่ผมมีความหวังว่าการต่อสู้จะไม่จบแค่นี้ ผมหวังว่าจะมีการขยายมวลชน โดยเฉพาะในหมู่นักสหภาพแรงงาน และผมหวังว่าจะมีการชุมนุมอีก และถ้าเป็นไปได้มีการเดินออกจากสถานที่ทำงานด้วย และที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือผมหวังว่าจะมีการเรียกร้องขีดเส้นตายให้ยกเลิกทุกข้อหาที่รัฐไปยัดให้แกนนำขบวนการชุมนุมทุกคน

FB_IMG_1597582400786

ในความจริงเพื่อนๆทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงทราบว่าเราหยุดตอนนี้ไม่ได้ และการต่อสู้วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่งดงาม

FB_IMG_1597581301917

ในเรื่องการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ผมเข้าใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหวที่กล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะจะอ้างตลอดว่า “ไม่ได้หวังจะโค่นล้มสถาบัน” แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพูดแบบนี้ถือว่ายังอยู่ในกรอบที่เผด็จการทหารและพวกอนุรักษ์นิยมวางไว้และใช้เพื่อกดขี่คนในสังคม ถ้าเราจะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้จริงเราต้องสามารถเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยไม่ต้องมาแก้ตัวแบบนี้ ยิ่งกว่านั้นเราต้องสามารถเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยถ้าเรามีความคิดแบบนั้น

เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตยครับ กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเผด็จการทหารหมดไปจากสังคมไทยและเรามีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่

และเพื่อนๆ ที่อยากไปไกลกว่านั้น คืออยากสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไร้ชนชั้น กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเราจะสามารถสร้างสังคมนิยมในประเทศไทย

 

การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นก้าวสำคัญ แต่หยุดไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

การชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่สำคัญคือ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ยกเลิกการรวบทรัพย์สินภายใต้วชิราลงกรณ์และเพิ่มความโปร่งใสในเรื่องเงิน ลดงบประมาณที่จัดสรรให้กษัตริย์ ยกเลิก “ราชการในพระองค์” ยกเลิกอำนาจกษัตริย์ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ยกเลิกการเชิดชูกษัตริย์เกินเหตุเพียงด้านเดียว ยกเลิกการที่กษัตริย์จะรับรองรัฐประหาร และเปิดกระบวนการที่จะสืบความจริงเกี่ยวกับผู้เห็นต่างที่ถูกอุ้มฆ่า

117361552_10158431778723965_6127601580717401228_o

ถือได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือการต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง

และที่สำคัญคือเราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก

ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิญสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

Lebanon-Beirut-August-8-2020-e1596964569861
เบรูต เลบานอน

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐบาลเถื่อน

สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพลเมืองที่ออกมาสู้ต้องเข้าใจคือเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ในความเห็นผมสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรประเมินอำนาจของวชิราลงกรณ์สูงเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีการเบี่ยงเบนเป้าหมายจากคณะทหารเผด็จการ และมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเราใช้

ผมเขียนเรื่องข้อจำกัดของอำนาจกษัตริย์ไว้หลายที่ เช่น “การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล”  https://bit.ly/2XIe6el  และ“ว่าด้วยวชิราลงกรณ์” https://bit.ly/31ernxt

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนควรทำความเข้าใจ คือประเด็นว่าทำไมชนชั้นปกครองในหลายประเทศทั่วโลก นิยมให้คงไว้สถาบันกษัตริย์ เพราะในมุมมองผม การคงไว้สถาบัยกษัตริย์ในรูปแบบตะวันตกภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลเสียกับฝ่ายเรา เพราะเป็นเครื่องมือในการเสนอลัทธิอภิสิทธิ์ชนว่าคนเราเกิดสูงและเกิดต่ำและบางคนมีสิทธิ์จะเป็นผู้นำในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ตาม มันออกแบบมาเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมควรนิยมการยกเลิกระบบกษัตริย์เพื่อให้มีสาธารณรัฐ [ดู “ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” https://bit.ly/30Ma32f ]

แต่ระบบสาธารณรัฐภายใต้ทุนนิยม ไม่พอที่จะนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แค่ดูสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม ก็จะเห็นภาพชัดเจน พูดง่ายๆ เราต้องคิดต่อไปถึงเรื่อง “รัฐ” ภายใต้ระบบทุนนิยม และความสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มรัฐของนายทุนผู้เป็นชนชั้นปกครองในโลกสมัยใหม่ [ดู “รัฐกับการปฏิวัติ” https://bit.ly/2PEQK4K ]

เมื่อเราคิดถึงเรื่อง “รัฐ” และ “ชนชั้น” เราจะเข้าใจว่า “ข้าราชการ” ชั้นผู้ใหญ่ ศาล และ ตำรวจ ไม่เคยรับใช้ประชาชนในโลกสมัยใหม่ การคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่ล้มรัฐของนายทุนและสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงานเป็นการเพ้อฝัน และแน่นอนเสรีภาพและประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องอาศัยกระบวนการปฏิวัติด้วยพลังมวลชน แทนที่จะไปฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

 

คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงจะปลื้มและได้ความหวังจากการประท้วงเผด็จการรอบใหม่โดยนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง

50129529371_4a1c52db15_k
ภาพจากประชาไท

ในแง่สำคัญๆ เราต้องดูภาพกว้างในระดับสากลของการต่อสู้ครั้งนี้ และต้องไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องไทยๆ ซึ่งแปลว่าต้องดูบทเรียนจากทั่วโลกและประวัติศาสตร์ไทยพร้อมๆ กัน

ในยุคสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลก เราเห็นปรากฏการณ์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ “ไม่กลัวใคร” ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาโลกร้อน และเรื่องการกดขี่คนผิวดำในขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งการประท้วงในช่วงการระบาดของโควิดผูกพันกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากโควิด การประท้วงล่าสุดในไทยก็ไม่ต่างออกไป มันผูกพันกับการที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามใช้โควิดในการเพิ่มอำนาจให้ตนเองในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้มันผูกพันกับความแย่ๆ ในสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น เช่นการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง การใช้อำนาจเพื่อสร้างสองมาตรฐาน โดยเฉพาะในระบบศาล การเชิดชูกษัตริย์เลวที่ใครๆ เกลียดชัง และการปล่อยให้ความยากจนและความเดือดในสังคมเพิ่มขึ้นขณะที่ทหารและนายทุนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสบาย ฯลฯ

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่าในสังคมมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว และการเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการต้านโลกร้อน ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เพราะเกิดจากปัญหาของระบบทุนนิยม มันมีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง มีลักษณะเข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลงตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จ

50129748457_498a0855f4_k
ภาพจากประชาไท

ด้วยเหตุนี้เราต้องมองว่าการลุกฮือของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เช่นขบวนการ ๑๔ ตุลา ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเสื้อแดง และการออกมาประท้วงของแต่ละกลุ่มหลังรัฐประหารของประยุทธ์

Lumpoon2
ภาพจากประชาไท

แต่สิ่งที่สำคัญและอาจว่า “ใหม่” ก็ได้คือความ “ไม่กลัว” ของคนหนุ่มสาว คือขณะนี้กล้ามากกว่าคนที่ผ่านการต่อสู้มาและมีบาดแผลจากอดีต

a3_0

ประเด็นสำคัญคือคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องช่วยกันอัดฉีดความกล้าหาญเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่อยู่ในวัยทำงาน และสิ่งนี้ทำได้เพราะคนจำนวนมากไม่พอใจอย่างยิ่งกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน แต่เขาอาจแค่ขาดความมั่นใจในการออกมาต่อสู้

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับขบวนการแรงงานและชนชั้นกรรมาชีพ? คำตอบง่ายๆ คือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงาน

ในเดือนที่ผ่านมาเราเห็นการนัดหยุดงานของคนงานผิวขาวและผิวดำร่วมกันในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อเรียกร้อง Black Lives Matter ซึ่งเสริมพลังให้กับกระแสต้านการเหยียดสีผิว ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทั่วโลกการล้มเผด็จการหรือท้าทายเผด็จการที่มีพลังมักจะมีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าร่วมด้วย

และนี่เป็นสาเหตุที่เราต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่พร้อมจะปลุกระดมการเมืองภาพกว้างในขบวนการกรรมาชีพ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่พรรคแบบนี้ก็ต้องได้รับการอัดฉีดความ “ไม่กลัวใคร” จากคนหนุ่มสาวเช่นกัน

อย่าลืมว่าการล้มเผด็จการทหารในช่วง ๑๔ ตุลา อาศัยทั้งการมีพรรคฝ่ายซ้าย (พคท.) และการที่นักศึกษาสามารถออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนผู้ทำงานจำนวนมาก

อ่านเพิ่ม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์   https://bit.ly/2UpOGjT

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

 

จะรออะไรอีก? เมื่อนักศึกษานำทาง คนทำงานควรตาม ลงถนนร่วมกัน!!

ในเมื่อนักศึกษาจากหลายๆ สถาบันทั่วประเทศออกมาแสดงพลังประท้วงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นการทำลายประชาธิปไตยอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ คนทำงาน นักสหภาพแรงงาน อดีตเสื้อแดง และประชาชนทั่วไปที่รักประชาธิปไตย….ควรวางแผนลงถนนร่วมกับคนหนุ่มสาวที่นำทางให้เราแล้ว

58525-728x546

49579356928_c4b624afdb_k

49583284531_afa9faa7f5_b

49588263307_6852e3839b_b

87050886_3965432330137236_6425129018772684800_o

49585215417_1dd10602a5_h

49587901378_37c8a8b6b4_b

ภาพจากประชาไท

เบื้องหลังการลุกฮือในฮ่องกง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประชาชนอ่องกงกำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างน่าทึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวมีมวลชนนับล้านและรวมนักศึกษา คนหนุ่มสาว และคนทำงานในสหภาพแรงงานอิสระ (ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายรัฐของฮ่องกงกับจีน) สิ่งที่น่าชื่นชมคือความมุ่งมั่นในการต่อสู้ท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายรุนแรงของตำรวจ

นักเคลื่อนไหวไทยควรให้ความสนใจและเรียนรู้จากการต่อสู้กับเผด็จการครั้งนี้

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือคือการพยายามผ่านกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้รัฐบาลเผด็จการจีนสามารถควบคุมสังคมฮ่องกงมากขึ้น สภานิติบัญญัติของฮ่องกง ประกอบไปด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตามสาขาอาชีพผ่านกระบวนการกึ่งประชาธิปไตย แต่ตำแหน่ง “ผู้บริหารสูงสุด” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

การเรียกร้องให้ขยายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งชาวฮ่องกงไม่เคยมี ไม่ว่าจะภายใต้อังกฤษหรือภายใต้จีน เป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวของ “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีที่แล้ว

แต่ถ้าเราจะเข้าใจสถานการณ์ในอ่องกงในภาพรวม เราต้องพิจารณาสภาพชีวิตประจำวันและเรื่องปากท้องของประชาชน และการที่ฮ่องกงเชื่อมโยงกับเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก (Pearl River) หรือแม่น้ำจูเจียงอีกด้วย

hong-kong-protests-august2019-ap-img

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง คนทำงานมักจะทำงานหลายชั่วโมงต่อวันและได้รับเงินเดือนต่ำ สภาพการขูดรีดเช่นนี้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันค่าที่พักพุ่งขึ้นสูง 242 % ท่ามกลางค่าแรงที่ถูกแช่แข็ง เมืองฮ่องกงขาดบ้านที่อยู่อาศัยในระดับวิกฤตจนประชาชน 2 แสนคนต้องอาศัยใน “ห้องโลงศพ” ที่มีพื้นที่สำหรับเตียงเล็กๆ เท่านั้น สาเหตุหนึ่งของวิกฤตที่อยู่อาศัยในฮ่องกง คือนโยบายรัฐบาบลที่พยายามกักตุนที่ดิน เพื่อเพิ่มกำไร

1.37 ล้านคนในฮ่องกงถือว่าอยู่ในระดับยากจนเพราะมีรายได้ต่ำกว่า HK$4000 ต่อเดือน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เริ่มมีปัญหาและขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะในสาขาการนำเข้าและส่งออก ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญมากสำหรับคนทำงาน

สภาพเช่นนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดและอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวอายุ 19-24 นอกจากการทำงานหนักหลายชั่วโมงแล้ว นักศึกษาต้องเรียนหนักมากและไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลย

นี่คือส่วนหนึ่งของแรงกดดันที่ทำให้ชาวอ่องกงลุกฮือทางการเมือง

แต่ฮ่องกงไม่ได้โดดเดี่ยวตัดขาดจากสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะรอบๆ ฮ่องกง มีการพัฒนาเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก ที่มีประชากร 69 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน

IMG_2427

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในถูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง

foshan-workers-strike

สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ

Support Group last video grab
นักศึกษาสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน

มันไม่มีหลักประกันอะไรว่าขบวนการต่อสู้ของชาวฮ่องกงจะรวมตัวกับกระแสการนัดหยุดงานและความไม่พอใจในจีนแผ่นดินใหญ่ในเขตแม่น้ำไข่มุก แต่ถ้าเกิดขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นขบวนการที่ท้าทายเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างแรง และเป็นโอกาสที่จะปลดแอกกรรมาชีพและนักศึกษาจากการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยมทั้งในจีนและในฮ่องกง

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ 20 กันยายนปีนี้ นักสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ จะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้านปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ

greta_finland_twitter

การประท้วงระดับโลกครั้งนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในรอบปีที่ผ่านมา คนที่มีชื่อเสียงในการจุดประกายเรื่องนี้คือสาวสวีเดนชื่อ เกรตา ธันเบิร์ก​ (Greta Thunberg) นักศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศต่างๆ ได้เดินออกจากห้องเรียนในวันศุกร์ทุกเดือนเพื่อกดดันให้รัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญกับวิกฤตโลกร้อนที่กำลังก่อตัวขึ้น ต่อมาก็เกิดการประท้วงใหญ่ที่ใช้วิธีสันติ เช่นการปิดถนน ขององค์กร Extinction Rebellion ในหลายประเทศ

exr2

เกรตาและพรรคพวกได้ประกาศเรียกร้องให้คนทำงานและผู้ใหญ่อื่นๆ “นัดหยุดงานทั่วไป” ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน เพื่อเป็นพลังสำคัญในการกดดันรัฐบาลและกลุ่มทุน ดังนั้นนักเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงาน และคนอื่นๆ กำลังเตรียมตัวประท้วงในวันนั้น สหภาพแรงงานบางกลุ่มในเยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ กำลังวางแผนเพื่อเดินออกจากสถานที่ทำงาน บางคนจะนัดหยุดงาน บางคนจะลาพักร้อน และบางคนอาจออกมาตอนพักเที่ยง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในที่ทำงานต่างๆ และการออกมาประท้วงในวันที่ 20 กันยายน คงจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่จะใช้เวลา

D8Kz5kCXYAEjyZz

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น เพราะต้นสาเหตุของปัญหามาจากการกอบโกยกำไรโดยกลุ่มทุน และการที่รัฐบาลต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ ตัวอย่างที่ดีคือรัฐบาลของ ดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ ที่ปฏิเสธข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องเชื้อเพลิงคาร์บอนกับปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ผลร้ายของโลกร้อนในด้านภูมิอากาศ เช่นพายุ น้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือฝนแล้ง ล้วนแต่มีผลกระทบกับคนจนมากกว่าคนรวย

FlatMapStillFinal_nasa-e1549853874827

การแก้ปัญหาโลกร้อนคงจะมีผลกระทบกับกำไรกลุ่มทุนแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ถ่านหิน หรือการประกอบรถยนต์ แต่มันสามารถสร้างงานให้คนทำงานได้ เช่นในเรื่องการผลิตวิธีปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแสงแดด การสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มการขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัวหรือเครื่องบิน หรือผ่านการปรับบ้านเรือนและตึกทำงานให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเป็นต้น

ดังนั้นเราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ มีพลังทางเศรษฐกิจที่สามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ผ่านการนัดหยุดงาน นี่คือความสำคัญของการที่เกรตาและพรรคพวกประกาศเรียกร้องให้มีการ “นัดหยุดงานทั่วไป” ในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วย ที่สร้างปัญหา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 385 ppm ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่ม 0.2 องศาทุกสิบปี

ผลคือน้ำแข็งในขั้วโลกเริ่มละลาย เกิดภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก ไฟไม้ป่าเพิ่มขึ้น ผลผลิตทางเกษตรลดลง และมีการสูญพันธ์ของสัตว์จำนวนมาก รวมถึงแมลงที่มีความสำคัญสำหรับการผสมเกสรดอกไม้ เพื่อให้มีการออกผล

3.1.1-Temperature-rise_1280x720

ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทั่วโลก เช่นจากองค์กรสากล IPCC ของสหประชาชาติ แนะนำว่าต้องมีการลดอัตราการผลิตก๊าซ CO2 อย่างเร่งด่วน ในปลายปี ๒๕๖๑ IPCC เสนอว่าเรามีเวลาแค่ 12 ปี ที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิดวิกฤตร้ายแรงที่สุด และ IPCC เตือนว่าต้องมีการเปลี่ยน “ระบบเศรษฐกิจ” อย่างถอนรากถอนโคน

ก๊าซ CO2 นี้ถูกผลิตขึ้นเมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ และแหล่งผลิต CO2 หลักๆ คือโรงไฟฟ้าที่เผาถ่านหิน/น้ำมัน/ก๊าซ และระบบขนส่งที่ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน

tnews_1558141107_1624

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย

พวกเสรีนิยมกลไกตลาดมีหลายข้อเสนอที่เขาอ้างว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ในโลกจริงจะไม่มีผลเลย เช่นการซื้อขาย “สิทธิที่จะผลิตCO2” ซึ่งเป็นแค่การให้สิทธิกับบริษัทใหญ่ในการผลิตต่อไปแบบเดิม เพราะเขาจะสามารถซื้อ “สิทธิ์ที่จะผลิต CO2”จากประเทศหรือบริษัทที่ยังไม่พัฒนา หรือข้อเสนอว่าต้องใช้ “กลไกราคา” ในการชักชวนให้ทุกฝ่ายลด CO2 แต่กลไกราคาที่เขาเสนอ จะไม่มีวันมีผล เพราะต้องแข่งกับผลประโยชน์กำไรของบริษัทน้ำมัน ซึ่งทำไม่ได้ และการขึ้นราคาน้ำมันหรือเชื้อเพลิงคาร์บอนอื่นๆ ก็แค่ทำให้คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีปัญหาเดือดร้อน

youth-climate-strike-may-24-2019-007-May-25-2019-011
ประท้วงโลกร้อนที่ฟิลิปปินส์ ถ้าเขาทำได้ เราก็ทำได้ในไทย

นักสังคมนิยมเข้าใจว่าต้นตอปัญหาไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรมหรือความโลภของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ยังยากจน ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศพัฒนาหรือในประเทศยากจน ปัญหาไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีเทคโนโลจีที่จะผลิตพลังงานโดยไม่ทำลายโลก เทคโนโลจีเหล่านี้เรามีอยู่แล้ว เช่นการปั่นไฟฟ้าจากลมหรือแรงคลื่นในทะเล และการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ปัญหามาจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดที่ตาบอดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และตาบอดถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ เพราะมุ่งแต่แข่งขันกันเพื่อเพิ่มกำไรอย่างเดียว

จะเห็นว่าเราต้องปฏิวัติสังคมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราต้องรอให้มีกระแสปฏิวัติก่อนที่จะทำอะไรได้ ในช่วงนี้เราต้องรณรงค์ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและพรรคการเมืองก้าวหน้าให้มีการเลิกผลิต CO2 และเลิกใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนทุกชนิด ต้องมีการใช้พลังงานทางเลือก และส่งเสริมการขนส่งมวลชนอย่างเช่นรถไฟไฟฟ้า และต้องมีการประหยัดพลังงาน แต่อย่าไปหวังว่าตามลำพังผู้นำโลกจะทำในสิ่งเหล่านี้เลย และในไทยการที่เรายังมีเผด็จการทหารที่อาศัยกลไกรัฐสภา ก็เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาโลกร้อนเช่นกัน

นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยจะต้องสร้างขบวนการต้านโลกร้อน และร่วมประท้วงในวันที่ 20 กันยายน

 

อ่านเพิ่ม สิ่งแวดล้อม โลกร้อน และ Anthropocene https://bit.ly/2QMpL6F

 

 

เราจะสู้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหาร และการสืบทอดอำนาจผ่านการสร้างภาพความเป็น “ประชาธิปไตย” เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการ มีแต่การพึ่งพาศาลลำเอียง และกระบวนการในรัฐสภาเท่านั้น ในรูปธรรมมันเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ

โกงเลือกตั้ง

แต่เมื่อนักประชาธิปไตยบางคนเสนอว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะลงถนน” ก็มีพวกหดหู่ยอมจำนนออกมาวิจารณ์ว่าการลงถนนหรือการประท้วงจะนำไปสู่การปราบปรามโดยฝ่ายตรงข้าม ตกลงถ้าเราฟังพวกนี้เราก็ควรกลับบ้านไปมุดหัวและยอมจำนนเท่านั้น

แน่นอนการออกมาค้านเผด็จการเป็นสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงอยู่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะสู้อย่างไรต้องมาจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักกิจกรรมที่อยู่ในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือ การออกมาคัดค้านเผด็จการไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงเสมอ มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่แน่นอนคือ การเลือกที่จะไม่สู้จะไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยและทำลายเผด็จการ

การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

พรรคซ้ายหรือพรรคสังคมนิยมของคนชั้นล่างจำเป็นต้องสร้าง เพราะพรรคของนายทุนไม่สนใจสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือ เราต้องเน้นการนำร่วมกันจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน และเราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วมด้วย

เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่ง ที่กล้าหาญออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่บ่อยครั้งพวกเขาหันหลังให้กับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน และไปเน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง

เราจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไป ถ้าคนไทยเคยทำได้ในอดีต ตอนนี้ก็ยังทำได้ แต่ต้องมีการวางแผนและการจัดตั้ง

FI-fists_0

การเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน

ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้งแบบประชาธิปไตย”

แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น

เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตยควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้าฯลฯ

ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก

การนัดหยุดงานกับพลังในการสร้างเสรีภาพ

ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา อียิปต์ ซูดาน และแอลจีเรีย

การลงถนนเพื่อประท้วงของมวลชน จะมีพลังมากขึ้นถ้ามีการนัดหยุดงาน การปราบปรามด้วยความรุนแรงของฝ่ายเผด็จการทำได้ยากขึ้นเมื่อเน้นการนัดหยุดงานด้วย

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

stop dictatorship

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

  1. ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน โดยใช้ประสบการณ์จากโลกจริงมาเป็นตัวอย่าง
  2. ต้องมีการใช้เวลาเพื่อสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร
  3. ควรเริ่มเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากเล็กไปใหญ่ โดยเน้นการดึงมวลชนเข้ามาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เน้นการลงถนนเป็นครั้งๆ ไม่ใช่ชุมนุมยืดเยื้อ และควรตั้งเป้าให้มีการหยุดงานด้วย
  4. ควรพยายามสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับพรรคการเมืองของนายทุน

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาส

วิเคราะห์ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส เป็นขบวนการที่ดูเหมือนระเบิดขึ้นอย่างกระทันหันจนสามารถท้าทายการปกครองของประธานาธิบดีมาครง

มีนักวิเคราหะบางคน รวมถึงอดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งจากยุค 1968 ที่มองว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเป็นขบวนการของชาวชนบทที่มี่นำโดยพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน

แต่พวกที่มองแบบนี้เป็นคนที่มองอะไรแบบตื้นเขิน ไม่ติดดิน และไม่ทันกับสถานการณ์โลกจริง เพราะขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองซับซ้อนกว่านั้นมากและกลายเป็นขบวนการทางชนชั้นที่เอียงไปทางซ้าย

ในตะวันตกพอมาครงชนะการเลือกตั้งในปี2017 พวกเสรีนิยมทั้งหลายพากันตื่นเต้นและเชียร์เขาสุดขีด หลายคนมองว่าเขาคือความหวังใหม่และจะปฏิรูปฝรั่งเศสและยุโรปให้ทันสมัย

macron-1

ในไทยตอนที่มาครงเข้ามาใหม่ๆ นสพ ไทยรัฐ เขียนชมไว้ว่า “หลายคนเห็นหน้าประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่แล้ว กรี๊ดกร๊าดในความหล่อ ทั้งยังฉลาด รู้สึกหลงรักอย่างบอกไม่ถูก” ส่วน MThaiNews ก็มีบทความ “เปิดประวัติ ‘มาครง’ ผู้นำหล่อคนใหม่แห่งเมืองน้ำหอม”

ยิ่งกว่านั้น ความ “หน้าใหม่หน้าหล่อ” ของมาครงทำให้สำนักข่าวรอยเตอร์สเสนอว่าบางคนเปรียบเทียบเขากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อไทยชื่อ The Momentum ก็พูดทำนองนี้เหมือนกัน [ดู https://bit.ly/2G3SQIP และ https://bit.ly/2S3MSto ] แต่ที่สำคัญคือธนาธรเองไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับมาครง

1920px-Manif_fonctionnaires_Paris_contre_les_ordonnances_Macron_(37572386626)

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มาครงขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 ก็มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องที่ต่อต้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของเขา โดยแนวร่วมสหภาพแรงงานเป็นแกนหลัก สาเหตุคือความพยายามของมาครงที่จะทำลายสิทธิแรงงานเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน อีกสาเหตุหนึ่งคือการพยายามนำรัฐวิสาหกิจในภาคขนส่งออกขายให้เอกชน

นอกจากนี้ในไม่นานมาครงได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” เพราะลดภาษีให้คนรวยทันที และใช้เงินรัฐเพื่อการเสพสุขของตนเอง เช่นซื้อของใช้ราคาแพงสำหรับบ้านพักประธานาธิบดี และเขายังผลักดันนโยบายรัดเข็มขัดที่ทุกรัฐบาลในอียูทำกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจนมาก

mka05lnsc5d123536

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองเกิดขึ้นจากการประท้วงนโยบายของมาครงที่ประกาศขึ้นภาษีน้ำมัน โดยที่มาครงใช้ข้ออ้างเท็จว่าจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ในความจริงมันมีผลกระทบกับคนจนและคนชั้นกลางมากกว่า ในช่วงแรกพรรคฟาซิสต์ “รวมพลังชาติ” ของ เลอ แปน พยายามจะฉวยโอกาสด้วยการสนับสนุน แต่เมื่อขบวนการเริ่มชูประเด็นของชนชั้นกรรมาชีพ เช่นข้อเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย เลอ แปน ก็ถอยออกไป ในไม่ช้าขบวนการนักศึกษาก็มาร่วมโดยนำข้อเรียกร้องของตนเองเกี่ยวกับการเก็บค่าเล่าเรียนและการกีดกันนักศึกษาจำนวนมากออกจากระบบมหาวิทยาลัย สหภาพแรงงานก็มาสนับสนุนและประกาศนัดหยุดงานด้วย แต่แกนนำสหภาพระดับชาติยังสองจิตสองใจอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ดุเดือดมากขึ้น ประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศและเรื่องสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนผิวดำก็ถูกชูขึ้นอีกด้วย และเวลาเกิดการทำลายทรัพย์สิน มักจะเป็นร้านค้าและรถยนต์ของเศรษฐีคนรวยที่ถูกเผา แต่ความรุนแรงส่วนใหญ่มากจากตำรวจของรัฐที่พยายามปราบผู้ประท้วงที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง

กลุ่มล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมคือกลุ่มคนพิการที่ไม่พอใจกับกฏหมายของรัฐบาลที่ลดมาตรฐานในการสร้างบ้านใหม่ นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานที่ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกลงในหนังสือพิมพ์เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแรงงานออกมาประสานการนัดหยุดงาน

yellow-vests-demonstration-in-paris

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ และเป็นพื้นที่สำหรับการช่วงชิงการนำโดยพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ฝ่ายซ้ายปฏิรูป และฝ่ายขวารวมถึงฟาสซิสต์ด้วย ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายซ้ายสามารถชิงการนำได้ [ดูhttps://bit.ly/2cvlmCk ]

นอกจากนี้นักมาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าจะเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคใดยุคหนึ่ง ต้องดูบริบททางประวัติศาสตร์ คือดูว่าการต่อสู้ก่อนหน้านั้นมีหน้าตาอย่างไร มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ การต่อต้านมาครงระเบิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2008 นำไปสู่นโยบายรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงในทุกประเทศของยุโรปและหลายประเทศของลาตินอเมริกา มันทำให้คนจนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และความเดือดร้อนดังกล่าวนำไปสู่ความโกรธแค้นที่สะสมในหัวใจคนจำนวนมาก มันแค่รอวันที่จะแสดงตัวเท่านั้น มันอธิบายได้ว่าทำไปประชาชนอังกฤษจึงลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียูซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตรุนแรงสำหรับชนชั้นปกครอง มันอธิบายได้ว่าทำไมประชาชนใน บราซิล เยอรมัน อิตาลี่ ฯลฯ เบื่อหน่ายกับพรรคกระแสหลัก และมันอธิบายความโกรธแค้นอย่างรุนแรงของ “ผู้ที่ถูกลืม” ในฝรั่งเศส

c318c5c05db8a043348e993cf24f8214_w982_h543
นักสหภาพแรงงานร่วมประท้วงกับเสื้อกั๊กเหลือง

ทุกวันนี้ชนชั้นปกครองในประเทศต่างๆ ของยุโรป เกรงกลัวว่าเสื้อกั๊กเหลืองจะลามจากฝรั่งเศสไปสู่ประเทศของตนเอง เหมือนกับคลื่นประท้วงอาหรับสปริงเมื่อไม่นานมานี้

ชัยชนะของขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ที่จะล้มมาครงและเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงมวลชนกับพลังของชนชั้นกรรมาชีพและนักศึกษา แต่ถ้าผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามจะประนีประนอมมันก็จะไม่ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตามกรณีเสื้อกั๊กเหลืองแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและคนจนมีผลสำคัญในการผลักพวกฟาซิสต์ออกจากเวทีการเมืองของมวลชน และมันมีผลทำให้รัฐบาลมาครงหมดความชอบธรรม

จะวางแผนสู้ หรือจะอยู่ต่อเป็นทาส?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในต้นปี ๖๐ มันชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเผด็จการวางแผนแช่แข็งการเมืองไทยระยะยาว และการแช่แข็งนี้รวมถึงการแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมด้วย อย่างไรก็ตามตั้งแต่รัฐประหารแรกในปี ๒๕๔๙ พลเมืองที่รักประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการด้วยวิธีการต่างๆ หลายคนต้องสละชีพหรือสละเสรีภาพ ดังนั้นเราควรแสดงความเคารพต่อเขาเหล่านั้นด้วยการวางแผนสู้รอบต่อไป

ถ้าเราไม่อยากอยู่เป็นทาสตลอดไป เราควรทบทวนวิธีการที่แต่ละกลุ่มใช้ เพื่อออกแบบวางแผนแนวสู้ใหม่ที่เหมาะสม

ในประการแรกเราต้องร่วมกันตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ผมจะตั้งคำถามและเสนอคำตอบของผม สหายคนอื่นอาจมีคำถามและคำตอบที่ต่างออกไป นั้นคือจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยน แต่การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้ากระทำในอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดียแบบปัจเจก เราต้องตั้งวงคุยต่อหน้าต่อตาในไทย การแลกเปลี่ยนจะไร้ค่าด้วยถ้าไม่มีเป้าหมายในการจัดขบวนการเคลื่อนไหว และท้ายสุดการแลกเปลี่ยนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นคำถามแรกที่เราต้องถามคือ “เราต้องการเห็นสังคมไทยที่มีหน้าตาแบบไหน?”

บางคนอาจตอบว่าแค่อยากให้กลับไปสู่ยุคมักษิณก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาก็พอ แต่สำหรับผม ผมต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่านั้นมาก เพราะในยุคทักษิณมีการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดและในปาตานี ยังมีกฏหมาย112 ทหารยังมีบทบาทสูงเกินไปในเรื่องการเมือง และยังมีความเหลื่อมล้ำสูง สภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีพอ ผมอยากเห็นไทยมีรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ครบวงจร และสร้างบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าสูงๆ จากคนรวย ผมอยากเห็นการยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นคือแค่จุดเริ่มต้นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งควรจะนำไปสู่การยกเลิกการขูดรีดและการกดขี่อื่นๆ ในที่สุด ถ้าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเราต้องมีพรรคสังคมนิยมที่เน้นผลประโยชน์คนธรรมดา สู้เพื่อผลประโยชน์กรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย เพราะเราจะไปฝากความหวังไว้กับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ฝากความหวังกับกษัตริย์ใหม่ก็ไม่ได้ และแน่นอนมันไม่เกิดเองถ้าเรานิ่งเฉย

ทำไมการต่อสู้ในยุคนี้เกือบจะไม่มีเลย? คำตอบมีสองส่วน ส่วนแรกคือมีการจงใจทำลายขบวนการเสื้อแดง โดยที่แกนนำ นปช. จงใจแช่แข็งการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ และทักษิณก็บอกให้ “รอ” ประสบการณ์จากทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไหนที่ไม่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเคยมีสมาชิกเป็นแสนหรือเป็นล้าน ก็จะเน่าตาย หมดสภาพ หรือถอยหลังลงคลอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเสื้อแดงแล้ว ประเด็นคือถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้เราจะทำอะไรต่อ? นั้งบ่นในวงเหล้า หรือตั้งใจทบทวนแนวทางเพื่อสู้ในรอบใหม่?

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของเสือแดงคือ เราต้องเน้นการนำร่วมจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน เราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วม เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน ถ้าเราจะปลดแอกตนเองต้องร่วมกันสู้ ต้องมองไปข้างๆ เพื่อหาเพื่อน ไม่ใช่มัวแต่ไปมองข้างบน

NewDemocracy

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่งที่กล้าหาญ ออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่คราวนี้พวกเขาหันหลังให้กับขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน เน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ อย่างไผ่ดาวดิน ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือไม่มีขบวนการมวลชนภายนอกคุกที่สามารถเรียกร้องด้วยพลังให้เขาถูกปล่อยตัวหรือเดินต่อไปสู่การล้มเผด็จการ

ท่านจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไปสำเร็จ

14October732

ขอพูดตรงๆ ครับ การต่อสู้ในรูปแบบปัจเจกของคนกล้าหาญกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งตัวเป็นวีรชน ก็เหมือนยุงกัดสำหรับเผด็จการทหาร ไม่เหมือนการท้าทายเผด็จการของมวลชนเสื้อแดงในอดีต เรารู้เพราะในตัวอย่างคนเสื้อแดงพวกเผด็จการต้องนำรถถังและทหารติดปืนมาเข้นฆ่าประชาชน

การต่อสู้แบบปัจเจกที่ปฏิเสธการจัดตั้งและปฏิเสธพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในสเปนเมื่อไม่นานมานี้ก็เงียบไป ถ้าคนบางส่วนในกลุ่มผู้ประท้วงไม่จัดตั้งพรรคซ้าย “โพเดมอส” คงไม่มีอะไรเหลือ

การลุกฮือของมวลชนในตะวันออกกลางสามารถล้มเผด็จการป่าเถื่อนได้ ไม่มีใครเขาออกมาเป็นกลุ่มเล็กๆ มีแต่ออกมาเป็นแสน แต่ปัญหาใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์ คือ “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” คำถามนี้จะถูกตั้งขึ้นและตอบโดยองค์กรทางการเมืองเสมอ พรรคการเมืองนั้นเอง ในกรณีอียิปต์มีแต่พรรคมุสลิมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรมากมาย พร้อมจะทำงานกับทหาร และพร้อมจะใช้แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ จึงเปิดช่องโหว่ให้เผด็จการกลับมาผ่านการทำรัฐประหารและการเลือกตั้งปลอม

cpt2

ในไทยหลัง ๑๔ ตุลา คำถาม “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” ก็ถูกตอบโดยสอง “องค์กรทางการเมือง” กลุ่มรักเจ้าอนุรักษ์นิยม รีบออกมาเพื่อพยายามสร้างเสถียรภาพของการปกครอง ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีอีกคำตอบหนึ่งคือ ต้องสู้ต่อไปเพื่อสิ่งที่เขามองด้วยความผิดพลาดว่าเป็น “สังคมนิยม” พคท. เสนอให้เราออกจากเมืองไปเข้าป่า แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ไปแล้วว่าการหันหลังให้กับมวลชนคนจนและมวลชนผู้ทำงานในเมือง โดยการจับอาวุธ เป็นข้อผิดพลาดที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ แต่อย่างน้อย ๑๔ ตุลาเคยพิสูจน์ว่ามวลชนล้มเผด็จการได้

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

1.    ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน

2.    จากวงคุยและกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ไปท้าทายเผด็จการโดยตรง เราควรจะรวมกลุ่มคนที่เห็นตรงกันว่าต้องการสังคมที่ก้าวหน้ากว่ายุคทักษิณ เพื่อตั้งพรรคสังคมนิยมใต้ดิน พรรคควรเน้นการศึกษา การเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมาชีพและนักศึกษา และกิจกรรมเช่นการช่วยเหลือนักโทษการเมืองทุกคนและคนอื่นที่เป็นเหยื่อของทหาร โดยเฉพาะในปาตานี

3.    ท่ามกลางการทำกิจกรรมประจำวัน ควรมีการศึกษาแนวคิดทางการเมืองต่างๆ โดยไม่ลืมเป้าหมายระยะยาวที่จะล้มเผด็จการและสร้างสังคมใหม่

การตั้งพรรคหรือการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมันจะเป็นเครือข่ายโครงสร้างองค์กรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้เมื่อเกิดการลุกฮืออย่างจรึงจัง

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาสตลอดกาล