Tag Archives: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

MOU ของก้าวไกลชี้ให้เห็นจุดยืนแท้จริง

สิ่งที่อยู่ใน MOU ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่กระทบผลประโยชน์ อำนาจ ของชนชั้นนำ กลุ่มทุน นี่เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า กรรมาชีพ คนจน ไม่สามารถใช้รัฐสภาทุนนิยมเพื่อปลดแอกตนเองได้ โดยเฉพาะเวลาอาศัยพรรคเสรีนิยมของนายทุนอย่างก้าวไกล… เราต้องเดินหน้าไกลกว่านี้ด้วยการสร้างพรรคสังคมนิยมที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาและการสร้างพลังกรรมาชีพ

พรรคก้าวไกล เน้นโยบายที่เอื้อกับนายทุนและชนชั้นนำเพื่อครองเก้าอี้ รมต. ผ่านการเอาใจพรรคอื่น แต่ก้าวไกลอ้างความก้าวหน้าเพื่อหลอกให้คนลงคะแนนให้ เมื่อเวลาผ่านไปถ้าในรูปธรรมไม่เอื้อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ในที่สุดคนก็จะผิดหวังและเบื่อ คราวหน้าอาจไม่เลือกอีก
ซึ่งถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองสากล จะเห็นว่าไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พรรคการเมืองแบบปฏิรูป ที่อ้างว่าจะเปลี่ยนสังคม จบลงด้วยการก้มหัวให้ชนชั้นนำ
แน่นอน จะมีคนที่พูดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่นั้นก็แค่ข้ออ้างที่พิสูจน์ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนสังคมอย่างจริงจังผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

ปัจเจกหรือมวลชน?

คนที่ออกมาสู้แบบปัจเจกมีความจริงใจ กล้าหาญ และเสียสละจริง แต่การต่อสู้แบบปัจเจกมีปัญหาที่เราต้องวิจารณ์ มันเป็นการเอาตัวเองมาแทนมวลชน ในที่สุดจะล้มเหลว ทำแบบมหาตมา คานธี  ที่อดอาหารแทนการปลุกพลังมวลชน คิดว่าความชอบธรรมมีพลัง แต่หันหลังให้พลังแท้ของกรรมาชีพที่จะไล่เจ้าอาณานิคมหรือล้มเผด็จการได้ มันเป็นกลยุทธ์ที่หลงคิดว่าการกระทำที่สร้างข่าวจะปลุกกระแสมวลชนโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำงานจัดตั้ง

ถ้าเราเห็นใจและอยากสมานฉันท์กับผู้ที่สู้แบบปัจเจก เราต้องกลับมาพิจารณาการสร้างขบวนการมวลชนที่มีพลัง ขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการปลุกระดมมวลชนเป็นแสน มันเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพสังคม แต่การต่อสู้ครั้งนั้น ไม่สนใจจัดตั้งพลังกรรมาชีพ เน้นความชอบธรรม เน้นสัญลักษณ์ เน้นการสร้างเครือข่ายหลวมๆ และชูตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่ประกาศว่าไร้ผู้นำ

แค่ชื่นชมการต่อสู้ จิตใจกล้าหาญ ของนักสู้ปัจเจก ไม่พอ ต้องหาทางฟื้นขบวนการมวลชน และต้องเดินออกห่างจากการเน้นการต่อสู้แบบปัจเจกชน บางครั้งอาจจะปลุกระดมคนได้บ้างชั่วคราว แต่พอกระแสลง จะไม่เหลือองค์กรที่สามารถรักษาระดับการต่อสู้ระยะยาวได้ต่อไป นั้นคือสาเหตุที่เราเน้นการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายพร้อมกับการสร้างมวลชนเสมอ

เราต้องลดความโรแมนติกในการต่อสู้แบบปัจเจกลง และเลิกการออกมาแสดง “ความเคารพ” เฉยๆ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของนักต่อสู้กล้าหาญที่เลือกแนวทางปัจเจกเพราะมองไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปฏิวัติหรือปฏิรูป?  

เวลาชาวมาร์คซิสต์พูดถึง “การปฏิวัติ” คนจำนวนมากจะนึกภาพไม่ออกว่ามันคืออะไร มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรืออาจมองย้อนกลับไปถึงการปฏิวัติในอดีต ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกที่ดำรงอยู่ในยุคนี้ บางคนอาจมองไปถึงการยึดอำนาจด้วย “กองทัพปลดแอก” หรือการปฏิวัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมือง แล้วสรุปว่ามันรุนแรง ไม่เอาดีกว่า ดังนั้นเราต้องอธิบายว่าการปฏิวัติหมายถึงอะไร และทำไมต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

มาร์คซ์ เขียนเป็นประจำว่าการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสร้างสังคมนิยม เป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องทำเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้นำระดับสูง จะมาปลดปล่อยกรรมาชีพหรือสร้างสังคมนิยมเพื่อยกให้คนส่วนใหญ่

เลนิน ซึ่งเคยนำการปฏิวัติจริงในรัสเซียในปี 1917 เคยนิยามการปฏิวัติว่าเป็นการแทรกแซงโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองของสังคมโดยมวลชน  มวลชนชั้นล่างที่ถูกกดทับและขูดรีดจะ ร่วมกันลุกขึ้นกบฏโดยกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้ เพื่อพยายามสร้างสังคมใหม่ท่ามกลางการพังทลายของสังคมเก่า

ทรอตสกี ซึ่งเคยร่วมกับเลนินในการนำการปฏิวัติรัสเซีย เคยเสนอว่าการปฏิวัติคือจุดที่มวลชนทนไม่ไหวที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และเดินหน้าทะลุกำแพงที่เคยปิดกั้นไม่ให้เขามีบทบาทในเวทีการเมือง และพร้อมกันนั้นจะมีการปลดผู้แทนเก่าของประชาชนทิ้ง และสร้างผู้แทนใหม่

เราจะเห็นได้ว่าการปฏิวัติเป็นกิจกรรมของมวลชนจำนวนมาก โดยมีชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลาง มันไม่ใช่อะไรที่กระทำโดยกลุ่มเล็กๆ ได้ มันไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเพราะพรรคปฏิวัติต้องการให้มันเกิด

นอกจากการปฏิวัติจะต้องเป็นการกระทำของมวลชนเพื่อปลดแอกตนเองแล้ว มันนำไปสู่การพลิกแผ่นดินพลิกสังคม คือในสังคมที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน คนธรรมดามักจะถูกกีดกันไม่ให้กำหนดนโยบายทางการเมืองหรือนำสังคม ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่จะมีอำนาจในสังคมได้ อำนาจของคนธรรมดามักถูกจำกัดด้วยหลายปัจจัย เช่นลัทธิความคิดที่มองว่าการปกครองต้องกระทำโดย “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่คนชั้นล่าง หรือการที่นายทุนใหญ่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองผ่านการลงทุน เงื่อนไขการสร้างกำไรและกลไกตลาด

ดังนั้นในการปฏิวัติ มวลชนจะลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย การขยายพื้นที่เสรีภาพนี้ จนก่อให้เกิดสังคมใหม่ เป็นสิ่งที่ชาวมาร์คซิสต์มักจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบวิภาษวิธี “จากปริมาณ สู่คุณภาพ” คือปริมาณเสรีภาพเพิ่มขึ้นจนสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมนั้นเอง

มันไม่มีหลักประกันอะไรในโลกที่จะทำให้การปฏิวัติสำเร็จเสมอ การปฏิวัติซ้อนหรือการทำลายการปฏิวัติมักใช้ความรุนแรงสูง มันไม่ใช่แค่การปราบปรามเพื่อสถาปนาระบบเดิม แต่เป็นการรุกสู้เคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาจุดอ่อนของขบวนการปฏิวัติและเพื่อแกะเปลือกและขยายความขัดแย้งภายในมวลชน จนความสามัคคีในทิศทางเป้าหมายการปฏิวัติถูกทำลายลง บ่อยครั้งลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือศาสนา จะถูกนำมาใช้ในสงครามทางชนชั้นอันนี้ ในกรณีอียิปต์เมื่อสิบปีก่อน มีการฆ่าประชาชนผู้สนับสนุนพรรคมุสลิมเป็นหมื่นๆ ขณะที่ชุมนุมบนท้องถนน โดยก่อนหน้านั้นมีการสร้างความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่สนใจศาสนา ในกรณีซูดาน ฝ่ายทหารพยายามใช้วิธีป่าเถื่อนข่มขืนผู้หญิงท่ามกลางม็อบเพื่อหวังทำลายการปฏิวัติ แต่มวลชนยังสู้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ เรื่องจึงยังไม่จบ

ความรุนแรงจากรัฐและกองทัพของรัฐในการปฏิวัติซ้อน คือสิ่งที่เปิดโปงคำโกหกของฝ่ายชนชั้นนำและสื่อกระแสหลักว่าการปฏิวัติของคนชั้นล่างมักจะเกิดขึ้นด้วยความรุนแรง แต่ความรุนแรงไม่ได้มาจากชนชั้นล่าง มันมาจากชนชั้นนำต่างหาก

การเบี่ยงเบนแนวทางปฏิวัติของคนชั้นล่างด้วยแนวคิด “ขั้นตอน” ในยุคพรรคคอมมิวนิสต์รุ่งเรือง

ในการปฏิวัติปลดแอกประเทศจากเจ้าอาณานิคมในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา มักเชื่อตามคำสอนของสตาลินว่าเนื่องจากประเทศของตนด้อยพัฒนา และชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนน้อย ต้องมีการสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับ “นายทุนชาติ” เพื่อสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” หรือประชาธิปไตยทุนนิยมนั้นเอง ส่วนสังคมนิยมต้องรอไปอีกนานในอนาคต แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในประเทศที่พรรคคอมมิวนิสต์นำการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย อย่างเช่นจีน เวียดนาม หรือลาว พอยึดอำนาจได้แล้วก็จะรีบอ้างว่าประเทศเป็นสังคมนิยมไปแล้ว

แต่การปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ไม่ได้นำโดยมวลชน ไม่ได้นำโดยกรรมาชีพที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางของสังคม ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจสนับสนุนการปฏิวัติ เพราะการสนับสนุนกับการลุกขึ้นทำเองเป็นคนละเรื่องกัน และมันนำไปสู่ผลที่ต่างกันด้วย คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจในสังคม ไม่มีการขยายพื้นที่เสรีภาพจนเกิดสังคมใหม่ในลักษณะปริมาณสู่คุณภาพ และรัฐใหม่ที่สร้างขึ้นยังไม่ก้าวพ้นทุนนิยม เพียงแต่เปลี่ยนจากรัฐในอาณานิคมเป็นรัฐอิสระเท่านั้น มันเป็นการเบี่ยงเบนการปฏิวัติจากเป้าหมายสังคมนิยมไปสู่การปฏิรูปทุนนิยม

ในตะวันออกกลาง การสร้างแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนชาติและพรรคชาตินิยมของชนชั้นปกครองใหม่หลังอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์คล้อยตามรัฐบาลและไม่สามารถเป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดขี่ต่อไปได้ ซึ่งเปิดช่องทางให้กลุ่มอื่นเข้ามาอ้างว่าอยู่เคียงข้างคนจนและผู้ถูกขูดรีด กลุ่มการเมืองมุสลิมจึงเข้ามามีความสำคัญในสังคมได้

ในกรณีไทยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสร้างภาพปลอมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา เพื่อเป็นข้ออ้างในการพยายามทำการปฏิวัติชาตินิยมที่สร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ และหลังจากที่ พคท. ล่มสลาย แนวคิดนี้ก็ยังดำรงอยู่ในลักษณะแปลกเพี้ยน คือชวนให้คนไปจับมือกับนายทุนชาติแบบทักษิณ และพาคนไปมองอำนาจกษัตริย์แบบเกินเหตุ แทนที่จะมองว่าศัตรูหลักของเสรีภาพตอนนี้คือทหารเผด็จการ

ในประเทศที่ชนชั้นนายทุนอ่อนแอและยังไม่พัฒนามากนัก ในช่วงหลังจากเจ้าอาณานิคมถอนตัวออก รัฐมักถูกใช้ในการสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเราไม่ควรหลงคิดว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้คือ “สังคมนิยม” แต่อย่างใด และบ่อยครั้งกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของรัฐที่มีบทบาทในการเป็นนายทุนรัฐเองด้วย ในหลายประเทศที่เน้นการพัฒนาประเทศผ่านบทบาทของรัฐ มีการสร้างสหภาพแรงงานภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจต่อรองของกรรมาชีพ ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่เรียกตัวเองว่า “สังคมนิยม” ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าถ้าจะมีเสรีภาพต้องเรียกร้องให้แปรสังคมจากการเน้นรัฐมาเป็นทุนนิยมตลาดเสรี แต่ทุนนิยมตลาดเสรีไม่เคยสร้างสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตย แนวคิดแบบนี้ที่หลงเชิดชูกลไกตลาดถูกสะท้อนในข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอในการต้านทุนนิยมผูกขาด พวกนี้เข้าใจผิดว่าเผด็จการทหารไม่สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และมองไม่ออกว่าการล้มทุนนิยมจะเป็นทางออกได้

ชนชั้นกรรมาชีพ

ในโลกปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศของโลก ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง และคนที่เป็น “ลูกจ้าง”ในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ชนชั้นกรรมาชีพจึงมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่อาจไม่ใช่กรรมาชีพ แต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีอาชีพมั่นคง เขาเป็นคนจนในเมืองนั้นเอง

ถ้าเราศึกษาการปฏิวัติใน ตูนิเซีย อียิปต์ กับซูดาน จะเห็นว่าพลังของกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิวัติล้มเผด็จการ ถึงแม้ว่าอาจเป็นชัยชนะชั่วคราวในกรณีอียิปต์ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมในกรณี ซีเรีย การปฏิวัติไม่สำเร็จและเสื่อมลงมากลายเป็นสงครามโหด เพราะในซีเรียขบวนการแรงงานถูกครอบงำโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จผ่านการเอาใจแรงงานบวกกับระบบสายลับของรัฐ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพจะมีพลังในการปฏิวัติต้องมีสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ สหภาพแรงงานแบบนี้ก็เกิดขึ้นท่ามกลางการปฏิวัติอียิปต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางชนชั้นในจีนก็มีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐในบางแห่ง

ในกรณีซูดานขบวนการแรงงานในส่วนที่เข้มแข็งที่สุดมาจากกลุ่มครูบาอาจารย์ ทนาย และหมอ คือคนเหล่านี้ไม่ใช่คนชั้นกลาง ในตูนิเซียขบวนการแรงงานมีบทบาทมานานตั้งแต่สมัยที่สู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงมีความอิสระจากรัฐระดับหนึ่ง ในอียิปต์การนัดหยุดงานในสิบปีก่อนการล้มเผด็จการทำให้มีการสร้างความเข้มแข็งพอสมควร ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝนการนัดหยุดงานมาหลายปีพร้อมกับการจัดตั้ง นี่คือสิ่งที่ เองเกิลส์ เคยเรียกว่า “โรงเรียนแห่งสงครามทางชนชั้น” 

แต่ในการปฏิวัติจีน เหมาเจอตุง ขึ้นมามีอำนาจผ่านกองทัพปลดแอกจากชนบท และคำประกาศในวันแรกๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์คือคำสั่งให้กรรมาชีพในเมืองอยู่นิ่งๆ และทำงานต่อไป โดยไม่มีส่วนอะไรเลยในการปฏิวัติ

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในขบวนการกรรมาชีพ ทั้งในการนัดหยุดงานทั่วไปที่อียิปต์โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และในการลุกฮือนัดหยุดงานในซูดาน จะเห็นว่าในกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนสังคม บ่อยครั้งผู้ที่เป็น “ช้างเท้าหลัง” มักแซงไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้นำได้ ซึ่งเราก็เห็นในไทยด้วยในกรณีที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ มันทำให้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเมืองเพศในหลายมิติ มันเป็นหน่ออ่อนของการกำหนดข้อเรียกร้องของการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้า

ประท้วงที่ซูดาน

ในทุกกรณี ตูนิเซีย อียิปต์ และซูดาน การต่อสู้นัดหยุดงานของกรรมาชีพไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่มีการขยายจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องไปสู่การต่อสู้ทางการเมือง และกลับมาพัฒนาการต่อสู้เรื่องปากท้องอีกที อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบายในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” ดังนั้นภารกิจสำคัญสำหรับนักสังคมนิยมในไทยและที่อื่น คือการเกาะติดขบวนการกรรมาชีพเพื่อขยายกรอบคิดของนักเคลื่อนไหวไปสู่เรื่องการเมืองเสมอ ไม่ใช่คล้อยตามแค่เรื่องปากท้อง

การขยายตัวของระบบการศึกษา เพิ่มความหวังกับคนรุ่นใหม่ว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ แต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมกับนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม มักจะทำลายความฝันดังกล่าว ซึ่งในหลายกรณีนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว และเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นหัวหอกของการต่อสู้ในฐานะ “เตรียมกรรมาชีพ” ได้ ทุกวันนี้ทั่วโลก คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เราไม่ต้องไปเชื่อคนอายุมากที่ชอบบ่นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่สนใจสังคม

ปัญหาของแนวคิดปฏิรูป

การปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร แนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่า “รัฐ” คืออะไร

รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้

แนวคิดปฏิรูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการหรือในการพยายามปฏิวัติในยุคปัจจุบัน คือความคิดที่เสนอว่ามวลชนมีความสำคัญในการล้มเผด็จการ แต่หลังจากนั้นต้อง “ส่งลูก” ต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เพื่อปฏิรูปสังคมและสร้างประชาธิปไตย แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถสร้างรัฐใหม่ได้ เพราะอย่างที่ กรัมชี เคยอธิบาย ระบบรัฐสภาไม่สามารถทะลายกำแพงต่างๆ ใน “ประชาสังคม” ที่มีไว้ปกป้องรัฐได้ เช่นระบบการศึกษา สื่อมวลชน สถาบันศาสนา และศาล

กรัมชี

การออกมาต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนนหรือท่ามกลางการนัดหยุดงานทั่วไป เป็นแนวต่อสู้แบบ “ปฏิวัติ” แต่มันขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ในหัวของมวลชน เพราะแนวคิดปฏิรูปที่อยู่ในหัวของมวลชนหลายหมื่นหลายแสนคน มักจะมองว่าเราไม่ต้องหรือไม่ควรล้มรัฐ และสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องหลักคือการ “แบ่งอำนาจ” ให้ประชาชนปกครองร่วมกับชนชั้นนำผ่านการเพิ่ม “การมีส่วนร่วม” ในกรณีการต่อสู้กับเผด็จการทหาร อาจมีการเสนอว่าทหารต้องแบ่งอำนาจกับพลเรือน อย่างเช่นในซูดานหรือพม่า การที่มวลชนส่งลูกต่อให้พรรคการเมืองในรัฐสภา เกิดขึ้นที่ไทยด้วย ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของการต่อสู้กับเผด็จการ แต่มันก็ยังคงจะเกิดถ้ามวลชนชนะในการล้มประยุทธ์

ธงชาติและแนวคิดชาตินิยม

เกือบทุกครั้งในการประท้วงที่ไทย มีคนถือธงชาติ ผู้ประท้วงในอียิปต์ก็ถือธงชาติ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามวลชนคือตัวแทนของชาติมากกว่าชนชั้นปกครอง และเพื่อปกป้องตัวเองจากคนที่อยากจะใส่ร้ายว่า “ไม่รักชาติ” หรือใส่ร้ายว่าการประท้วงมีต่างชาติหนุนหลัง แต่การมองการต่อสู้ล้มเผด็จการผ่านกรอบชาตินิยม นำไปสู่การมองว่าเราไม่ควรล้มรัฐชาติ ในไทยการใช้แนวชาตินิยมของทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ต้านรัฐ เป็นอีกมรดกหนึ่งของนโยบายปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยของ พคท. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปฏิรูปที่ไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบรัฐทุนนิยมได้

การปฏิวัติถาวรและพลังอำนาจคู่ขนาน

ทฤษฎี “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ และทรอตสกี เสนอว่าท่ามกลางการปฏิวัติ มวลชนกรรมาชีพควรปลดปล่อยความคิดในหัวที่จำกัดการต่อสู้ไว้แค่ในขั้นตอนการปฏิรูปรัฐ เพื่อเดินหน้าสู่การปกครองของกรรมาชีพและคนชั้นล่างเอง ถ้ามันจะเกิดขึ้นได้ มวลชนต้องสร้าง “พลังคู่ขนาน” ที่แข่งกับอำนาจรัฐเดิม เช่นสภาคนงานที่เคยเกิดในรัสเซีย ชิลี หรืออิหร่าน หรือ “คณะกรรมการต้านเผด็จการ” ในซูดาน แต่ถ้าอำนาจคู่ขนานที่มวลชนสร้างท่ามกลางการปฏิวัติ จะก้าวไปสู่การล้มรัฐเก่า และสร้างรัฐใหม่ ต้องมีพรรคปฏิวัติที่คอยปลุกระดมให้มวลชนเดินหน้าเลยกรอบแนวคิดปฏิรูปที่ยึดติดกับรัฐทุนนิยม เพื่อสร้างรัฐใหม่ภายใต้การกำหนดรูปแบบสังคมโดยกรรมาชีพและคนจนเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

เราสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย

ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ

นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา

ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ

ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม

กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ

ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ

ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ

สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า

ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย

ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม

ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ   เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง

บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน

นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา

วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ

การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน

ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ

การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ

การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร

ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง

แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ

และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน

ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ

นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทเรียนจากความพ่ายแพ้ชั่วคราว

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องพยายามพูดความจริงเรื่องสภาพการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการฟังหรือไม่ ความจริงที่เราต้องพูดตอนนี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวมาถึงจุดพ่ายแพ้นานแล้ว ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำไม่กล้าหาญและไม่พร้อมจะเสียสละแต่อย่างใด

เพื่อให้ความพ่ายแพ้นี้เพียงแต่เป็นความพ่ายแพ้ชั่วคราว เราจะต้องมาสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ในอนาคตเราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้กับเผด็จการรอบใหม่โดยมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะ

จากจุดสูงสุดของการต่อสู้ที่นำโดยคนหนุ่มสาวในเดือนสิงหาคม/กันยายน ๒๕๖๓ ที่มีมวลชนออกมาประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวงเป็นหมื่นเป็นแสน ปัจจุบันเราเห็นแกนนำคนหนุ่มสาวหลายสิบคนติดคุกหรือติดคดีร้ายแรงโดยเกือบจะไม่มีการประท้วงใดๆ และถ้ามีก็แค่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหรือไม่ก็เป็นการออกมารำลึกถึงอาชญากรรมของรัฐทหารต่อคนเสื้อแดง หรือผู้ประท้วงในเหตุพฤษภา ๓๕

ก่อนอื่นเราต้องทบทวนดูภาพระยะยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวิกฤตการเมืองในไทยตั้งแต่การก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ซึ่งเป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

รัฐประหารครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่ยังไม่จบ และเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยมและอภิสิทธิ์ชน ต่อชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และการโต้กลับของคนเสื้อแดง และในที่สุดของคนหนุ่มสาว ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นกัน

แต่การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บริสุทธิ์” เพราะบ่อยครั้งในโลกจริงการต่อสู้ทางชนชั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่มีเรื่องซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

การต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากที่นักการเมืองนายทุนชื่อทักษิณ ชินวัตร พยายามนำคนระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการปลดหนี้เกษตรกร ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกรรมาชีพและเกษตรกร ในกรณีกรรมาชีพการที่ญาติพี่น้องของเขาได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องติดหนี้ มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่กรรมาชีพเองมีประกันสังคมของตนอยู่แล้ว

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชีวิตคนชั้นล่างดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นนโยบายที่ทักษิณและพรรคพวกมองว่าจะประตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่สำคัญคือจะทำให้สังคมทุนนิยมไทยพัฒนาและทันสมัย เพื่อการแข่งขันในตลาดโลกที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่พวกล้าหลังคัดค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย มันเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับนายทุนสมัยใหม่

นโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุนอนุรักษนิยม ซึ่งรวมพวกทหารระดับสูง มันสร้างความไม่พอใจกับชนชั้นกลางสลิ่มอีกด้วย พวกนี้พึงพอใจมานานกับสังคมล้าหลังที่กีดกันคนธรรมดา ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการพัฒนาในอดีต ในกรณีสลิ่ม เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ในเรื่องนี้ จึงต้องงัดเรื่อง “คอรัปชั่น” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับทหาร มีประวัติอันยาวนานในการโกงกินหรือใช้อิทธิพล อาจมากกว่าทักษิณอีก และพวกสลิ่มมักจะเงียบเรื่องอาชญากรรมรัฐที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตรวมถึงไทยรักไทยเคยทำไว้ ส่วนฝ่ายทหารเผด็จการก็มักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันสูงสุดเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองเสมอ

การที่ชนชั้นกลางสลิ่มสนับสนุนเผด็จการพิสูจน์ว่าทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกเสรีนิยมที่เน้นชนชั้นกลางใช้ไม่ได้

นโยบายของทักษิณและพรรคพวกทำให้ฐานเสียงของไทยรักไทยและพรรคการเมืองอย่างเช่นเพื่อไทย มีความมั่นคงจนพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถแข่งได้ มันไม่มีวิธีที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะถ้าไม่โบกมือเรียกทหาร

เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตนี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่บิดเบี้ยว เพราะฝ่ายคนชั้นล่างยอมรับการนำจากนายทุนอย่างทักษิณ และหลังจากที่ทักษิณต้องออกจากประเทศ ก็มีเศรษฐีนายทุนอีกคนหนึ่งคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามามีบทบาท สาเหตุสำคัญที่นายทุนได้รับการยอมรับแบบนี้ คือการล่มสลายก่อนหน้านั้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และกระแสฝ่ายซ้ายโดยทั่วไป มันจึงมีสุญญากาศทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

สุญญากาศของฝ่ายซ้ายมีผลทำให้พวกล้าหลังเสื้อเหลืองสามารถสร้างอิทธิพลในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การก่อตั้งของขบวนการเสื้อแดง ถึงการขึ้นมาของขบวนการคนหนุ่มสาวในภายหลัง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญๆ กับสถาบันต่างๆในสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันสูงสุดไปถึงศาลและกองทัพ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระเบียบวินัยต่างๆ จากยุคเผด็จการ เช่นทรงผมนักเรียนเป็นต้น

และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือฝ่ายทหารเผด็จการกับพรรคพวกต้องใช้เวลาถึง 13 ปีหลังรัฐประหาร ๑๙กันยา เพื่อเปลี่ยนกติกาการเมืองก่อนที่มันจะครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมได้

จุดเด่นของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ โดยเฉพาะในยุคเสื้อแดง คือการสร้างขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และหลังการล่มสลายของเสื้อแดง ขบวนการคนหนุ่มสาวก็เคยดึงมวลชนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน

แต่เราต้องศึกษาจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด

ประเด็นแรกที่เราต้องศึกษาคือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ เพราะทั้งเสื้อแดงกับคนหนุ่มสาว ไม่ว่าเขาจะประกาศอ้างอะไร ก็ล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสลับกับการตั้งความหวังในรัฐสภาทุนนิยม คือไม่มีเป้าหมายในการ “ล้มระบบ”

ในรูปธรรม การที่นักเคลื่อนไหวบางคนเสนอว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอให้ “ล้มระบบ” เพราะนอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ทหาร ผู้มีอำนาจจริง ลอยนวล

ในกรณีเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ต้องการกดดันให้พรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลได้ เสื้อแดงจัดตั้งกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ทักษิณมีอิทธิพลการนำทางการเมืองสูง ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งเสื้อแดง และในหลายช่วงทักษิณก็พยายามบอกเสื้อแดงให้ “นิ่ง” โดยหวังจะประนีประนอมกับชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในกรณีขบวนการคนหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตยหรือฝ่ายซ้าย และไม่ได้ปลื้มนายทุนใหญ่อย่างทักษิณหรือแม้แต่ธนาธร ในที่สุดเมื่อการชุมนุมซ้ำๆ ของมวลชนไปถึงทางตัน คือไม่สามารถเขย่าอำนาจเผด็จการพอที่จะล้มมันได้ ก็หันมาชุมนุมแบบ “สร้างสรรค์” ที่ไร้พลัง เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลเช่นกันและทางเผด็จการรุกปราบด้วยการใช้กฎหมาย 112 ก็เหลือแค่การตั้งความหวังกับพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา แต่ทั้งสองพรรคนี้ไม่ยอมคัดค้าน 112 ไม่ยอมพูดเป็นรูปธรรมเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ยอมปลุกมวลชน และมักยอมรับกติกาประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์ ที่มัดมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

จุดอ่อนประเด็นที่สองของทั้งเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาว คือไม่ยอมศึกษาพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีการลงไปจัดตั้งนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพในขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่ พคท. และฝ่ายซ้ายอื่นเคยทำ ซึ่งจุดอ่อนนี้ทำให้ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อไล่เผด็จการและเปลี่ยนระบบอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น เช่นฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือซูดาน ดังนั้นเรื่องมักจะจบลงที่รัฐสภาแทน และพรรคในรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรได้มากและยังอาจโดน “รัฐประหาร” จากทหารหรือศาล ถ้าทำอะไรมากเกินไปอีกด้วย

การหันหลังให้กับขบวนการกรรมาชีพก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเข้าไปดึงนักสหภาพแรงงานเข้ามาในกระบวนการรัฐสภาด้วย แทนที่จะปลุกระดมการต่อสู้ทางชนชั้น

ในเรื่องจุดอ่อนประเด็นที่สาม การที่ขบวนการเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาวไม่มีเป้าหมายในรูปธรรมที่จะล้มระบบ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะตอนนั้นและตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติ ที่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเสนอการนำแข่งกับสายความคิดอื่น เช่นสายความคิด “ปฏิรูป” ของพรรคก้าวไกลหรือพรรคกระแสหลักอื่นๆ และแนวคิดอนาธิปไตยอีกด้วย

การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ต้องผ่านการ “เปลี่ยนระบบ” โค่นอำนาจอนุรักษ์นิยมของทหารและนายทุน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาแนวปฏิวัติสังคมนิยมที่เน้นพลังประชาธิปไตย “จากล่างสู่บน” เราใช้ความคิดของพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะเน้นการทำงานในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ

แนวคิดอนาธิปไตยก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างจริงจังได้อีกด้วย ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดนี้ในไทยคือ การอ้างโดยแกนนำคนหนุ่มสาวว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” และการสร้าง “สหภาพคนทำงาน”

ในกรณีการอ้างว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” เป็นการใช้คำขวัญที่หวังดี คือให้คนนำกันเองแทนที่จะให้คนอย่างทักษิณ ธนาธร หรือนักการเมืองกระแสหลักอื่น เข้ามานำ แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อให้มีการนำแบบรากหญ้าอย่างจริงจัง เช่นผ่านการตั้ง “สภาการประท้วง” และการเลือกแกนนำเป็นประจำ มันจะกลายเป็นแค่คำขวัญนามธรรม และในรูปธรรมแกนนำเดิมจะผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ และการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการถกเถียงเรื่องแนวทางแบบต่อหน้าต่อตา จะไม่แก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำ

การสร้างสหภาพคนทำงาน โดยแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” เกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวบางคนที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ แต่พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอและสร้างไม่ได้อีกด้วย

สหภาพคนทำงาน ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร สหภาพคนทำงานจึงไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานเพื่อสร้างกระแสนัดหยุดงานทางการเมืองได้ มันใช้แทนการสร้างพรรคไม่ได้

ภาระของเราชาวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ(หรือเตรียมพรรค)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มีอิทธิพลเพียงพอจะที่จะเสนอแนวทางการต่อสู้และช่วยประสานการเคลื่อนไหวระหว่างขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงาน ขบวนการต้านเผด็จการ ขบวนการปกป้องนักโทษทางการเมือง ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน และขบวนการของสิทธิชาวบ้าน ฯลฯ เราจะได้เรียนรู้สรุปบทเรียนจากการต่อสู้และเสียสละของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต และนำมาใช้ในการต่อสู้รอบต่อไป เราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้และปกป้องไม่ให้การต่อสู้ของเพื่อนเราในอดีตจบแบบเสียเปล่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

หลังฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้งในชิลี จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก (Gabriel Boric) อายุ 35 ปี ผู้แทนฝ่ายซ้าย และอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศชิลี

บอริก เชื่อว่าเขาสามารถจะปฏิรูปสังคมชิลีแบบถอนรากถอนโคนได้ผ่านรัฐสภา โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญ การศึกษา และที่อยู่อาศัย เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการนักศึกษาในรอบสิบปีที่ผ่านมา เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่พอใจกับนโยบายกลไกตลาดที่รัฐบาลในอดีตใช้ จึงมีการชุมนุมอย่างดุเดือดเพื่อเรียกร้องการศึกษาฟรี

บอริก ชนะผู้แทนฝ่ายขวาสุดขั้ว โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) ที่มาจากครอบครัวนาซีเยอรมัน และปกป้องประวัติศาสตร์ของเผด็จการ พิโนเชต์ ที่ขึ้นมามีอำนาจหลังรัฐประหารโหดในปี 1973 รัฐประหารครั้งนั้นทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของของประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม หลังรัฐประหารพวกทหารเผด็จการไล่ฆ่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายรวมถึง อาเยนเดย์ เอง และมีคนก้าวหน้าติดคุกจำนวนมาก นอกจากนี้ชิลีกลายเป็นสถานที่ทดลองนโยบายกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว

ชัยชนะของ บอริก มาจากกระแสการประท้วงไล่รัฐบาลนายทุนในปี 2019 ซึ่งเป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคปฏิรูปที่รับแนวกลไกตลาดมาใช้ สิ่งที่จุดประกายการประท้วงปี 2019 คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเชต์ เวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวง และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย เรื่องหลักสองอย่างคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชต์ในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

ก่อนหน้าที่ บอริก จะชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีการรณรงค์โดยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งในที่สุดกระแสนี้ชนะประชามติให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่น่าทึ่งคือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกมาประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว 100 คนจากตำแหน่งทั้งหมด 150 ตำแหน่ง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรกเป็นผู้หญิงพื้นเมือง คนที่สองเป็นนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และมีนักเคลื่อนไหว GLBT+ เป็นรองประธานอีกด้วย ไม่เหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญของไทยในอดีตที่มักประกอบไปด้วยพวกนักกฎหมายและผู้ใหญ่ล้าหลัง

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนแรก

ความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวในชิลี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการของคนที่ไม่ไว้ใจนักการเมืองมากนัก ทำให้ผู้แทนฝ่ายขวา คาสต์ ชนะการเลือกตั้งรอบแรก เพราะนักเคลื่อนไหวไม่ออกมาลงคะแนนเนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ แต่เมื่อมันชัดเจนว่า คาสต์ มีนโยบายล้าหลังแค่ไหนและอาจชนะ คนเหล่านี้ก็ออกมาลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสอง และทุ่มคะแนนให้ บอริก แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเขาไว้ใจเชื่อ บอริก โดยไม่มีเงื่อนไข

บอริกตอนเป็นนักเคลื่อนไหว
ใส่สูท

บอริก เองทั้งๆ ที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษา เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้งก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคน” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ และในนโยบายเศรษฐกิจจะสนับสนุน “เศรษฐกิจผสม” คือภาครัฐกับภาคเอกชน แทนที่จะเสนอว่าจะยึดกิจการสำคัญๆ มาเป็นของรัฐ ทุกวันนี้เหมืองแร่หลายแห่งอยู่ในมือบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะเหมืองลิเธียม ซึ่งใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถไฟฟ้า ชิลีมีแหล่งลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและถูกควบคุมโดยทุนสหรัฐกับจีน

ในอดีตหลังจากที่มีการนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เข้ามาในหลายๆ ประเทศของลาตินอเมริกา การส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ น้ำมัน และผลผลิตทางเกษตร กลายเป็นกิจกรรมหลักที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรม การพึ่งการส่งออกวัตถุดิบแบบนี้ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ซึ่งบางครั้งขึ้นบางครั้งลง ตอนราคาวัตถุดิบสูงมีหลายรัฐบาลที่ใช้เงินนี้ในการพัฒนาชีวิตของประชาชน แต่พอราคาตกต่ำก็มีการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้อย่างโหดร้าย [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/340NB9L และ https://bit.ly/2DlwMsp ]

ประวัติศาสตร์ของรัฐบาลซ้ายปฏิรูปในชิลีและที่อื่น สอนให้เรารู้ว่าผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต้องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จะเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากกลุ่มทุน ชนชั้นปกครอง และประเทศจักรวรรดินิยม ถ้าไม่ยอมประนีประนอมก็จะถูกโค่นล้มด้วยความรุนแรง มันมีวิธีการเดียวที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง คือการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของขบวนการประชาชน โดยเฉพาะกรรมาชีพ และการทำแนวร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ข้ามพรมแดนกับขบวนการในประเทศอื่นๆ ของลาตินอเมริกา เพื่อลดอิทธิพลของจักรวรรดินิยม

ขบวนการแรงงานชิลีในท่าเรือและในเหมืองแร่เข้มแข็ง เพราะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจการส่งออก นอกจากนี้สหภาพแรงงานในภาครัฐเช่นในระบบการศึกษาและโรงพยาบาลก็เข้มแข็งด้วย

ถ้า บอริก จริงจังที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคมชิลี เขาจะต้องจับมือทำแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และจะต้องปลุกระดมนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพ แต่นักการเมืองที่เปลี่ยนไปใส่สูทเพื่อให้ชนชั้นปกครองและคนชนชั้นกลางยอมรับเขา มักจะหันหลังให้กับการปลุกระดม ซึ่งแปลว่านักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าจะต้องนำการต่อสู้จากล่างสู่บนเอง แต่ถ้าขาดพรรคปฏิวัติที่โตพอ เพื่อประสานการต่อสู้ในหลายๆ ประเด็น และเพื่อร่วมถกเถียงและเสนอแนวทางการต่อสู้ การนำจากล่างสู่บนจะยากขึ้น อย่างไรก็ตามเรายังไม่ถึงจุดที่จะสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชิลีไม่ได้

ประชุม COP 26 ล้มเหลวในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ชื่อของการประชุมสหประชาชาติ COP26 บ่งบอกถึงความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของการประชุมดังกล่าว เพราะประชุมกันมา 26 ครั้งแต่ไม่แก้ปัญหาโลกร้อนเลย ซึ่งเราเห็นชัดในรูปแบบไฟไหม้ป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุร้ายแรง และวิกฤตอากาศเสียจากฝุ่นละออง ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีสองปีที่ผ่านมา

องค์กร IPCC ซึ่งเป็นคณะกรรมการระหว่างประเทศระดับโลก ได้ประกาศว่าปีนี้วิกฤตโลกร้อนถึงขั้นสูงสุด “ไฟแดง” เพราะในปี 2020 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2)ในบรรยากาศโลกสูงถึง 417 ppm (ppm CO2 คือหน่วย CO2 ต่อหนึ่งล้านหน่วยของบรรยากาศ) ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกครั้งสุดท้ายที่สูงถึงขนาดนี้คือก็เมื่อ 3 ล้านปีมาก่อน

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการสะสมก๊าซในบรรยากาศโลกประเภทที่ปิดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ถูกสะท้อนกลับออกจากโลกได้ (ก๊าซเรือนกระจก) ความร้อนจึงสะสมมากขึ้น ก๊าซหลักที่เป็นปัญหาคือคาร์บอนไดออคไซท์ (CO2) แต่มีก๊าซอื่นๆ ด้วยที่สร้างปัญหาเช่นมีเทน ก๊าซ CO2 มาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลก ปริมาณ CO2 ในบรรยากาศมีประมาณ 280 ppm

การที่โลกร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น จนท่วมเกาะและพื้นที่ที่อยู่ต่ำ ทำให้ระบบภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย ซึ่งจะมีผลกระทบกับระบบเกษตรและวิถีชีวิตของคนที่ยากจนที่สุดในโลก รวมถึงไทยด้วย คาดว่าถ้าไม่มีการแก้ปัญหาจะมีผู้ลี้ภัยภูมิอากาศหลายล้านคน

ปัญหาโลกร้อนเชื่อมโยงกับปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองในเมืองใหญ่ๆ เพราะมาจากการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนในระบบขนส่ง และไฟไหม้ป่าที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

บางคนมักพูดว่า “เราทุกคน” ทำให้โลกร้อน ยังกับว่า “เรา” มีอำนาจในระบบทุนนิยมที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน การพูดแบบนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น โยนให้พลเมืองยากจนรับผิดชอบแทนนายทุน เขาเสนอว่า “เรา” จึงต้องลดการใช้พลังงานในลักษณะส่วนตัว ในขณะที่นายทุนกอบโกยกำไรต่อไปได้ มันเป็นแนวคิดล้าหลังที่ใช้แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เพราะไม่แตะระบบอุตสาหกรรมใหญ่ และโครงสร้างระบบคมนาคมเลย

ทั้งๆ ที่มีการประชุม COP มาเรื่อยๆ และทั้งๆ ที่รัฐบาลต่างๆ สัญญาแบบลมๆ แล้งๆ ว่าจะลดการผลิตก๊าซ CO2 ทุกปี แต่ทุกปีการผลิตก๊าซนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกพวกรัฐบาลและกลุ่มทุนพยายามปฏิเสธปัญหาโลกร้อนทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าเป็นความจริง ต่อมาก็มีการแย่งกันโทษประเทศอื่นๆ เพื่อปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของตน และล่าสุดก็มีการโกหกกันว่าจะใช้กลไกตลาดเสรีกับเทคโนโลจีใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งทำไม่ได้

พวกกลุ่มทุนและรัฐบาลในโลกทุนนิยมโกหกว่าสามารถแก้ปัญหาด้วยการซื้อขาย “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2 หรือ “แลก” การปลูกต้นไม้กับ “สิทธิ์” ที่จะผลิต CO2  บางกลุ่มก็โกหกว่าจะใช้เทคโนโลจีเพื่อดูด CO2  ออกจากบรรยากาศ ซึ่งเทคโนโลจีแบบนั้นที่จะมีผลจริงในระดับโลกยังไม่มี นอกจากนี้มีการพูดว่าจะประกาศเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือเป้าหมาย “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อให้สามารถผลิต CO2 ต่อไป โดยอ้างว่าไปคานกับมาตรการอื่นที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง การโกหกทุกคำ พูดไปเพื่อชะลอการลดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนอันเป็นที่มาของกำไรมหาศาลของกลุ่มทุน

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันนานแล้วว่าถ้าเราจะหลีกเลี่ยงวิกฤตภูมิอากาศร้ายแรง เราจะต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 OC แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.1 OC และถ้าเราคำนวณผลของคำมั่นสัญญาของผู้นำโลกเรื่องเป้าหมายในการผลิตก๊าซเรือนกระจกในอนาคต อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.4 OC

ในเรื่องการเผาถ่านหิน การประชุมCOPแค่สรุปว่าจะลดการใช้ในอนาคต ไม่ใช่ว่าจะเลิกเผาถ่านหินแต่อย่างใด มีแค่สิบประเทศเท่านั้นที่จะเลิกเผาถ่านหิน และหลายประเทศกำลังขยายเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน สหรัฐอเมริกาจะเพิ่มการใช้ถ่านหินจากปีที่แล้วถึง 22% ประเทศจีนก็จะเพิ่มการใช้ถ่านหินเช่นกัน นอกจากนี้การประชุมCOPไม่เอ่ยถึงปัญหาการใช้น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเลย

ยิ่งกว่านั้นสิ่งที่ผู้นำต่างๆ สัญญา ไม่เคยแปรไปเป็นความจริงในรูปธรรมเลย และทุกวันนี้ทั่วโลก บริษัทเชื้อเพลิงคาร์บอนได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต่างๆ ถึง $11ล้านต่อนาที

ผลของการประชุม COP ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะคณะตัวแทนที่ใหญ่ที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือคณะของตัวแทนบริษัทน้ำมัน ก๊าซ กับถ่านหิน ซึ่งมีผู้แทนทั้งหมด 500 คน ในขณะที่ตัวแทนของคนจนในโลกที่สาม หรือตัวแทนของประชาชนที่จะเดือดร้อนที่สุด ไม่สามารถเข้าประชุมได้ สรุปแล้วมันเป็นการประชุมของนายทุนและรัฐบาลพรรคนายทุนเท่านั้น

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่ในประเทศต่างๆ ในเรื่องปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว คนจำนวนมากในปัจจุบันเริ่มหูตาสว่างมากขึ้น และเข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับความยุติธรรมทางสังคมและผลประโยชน์ชนชั้น แต่ในไทยกระแสต้านโลกร้อนยังไม่เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวที่ประท้วงเผด็จการ หรือในขบวนการสหภาพแรงงาน

เราไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนออกจากการต่อสู้ทางชนชั้นได้ และยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศต่างๆ เป็นชนชั้นเดียวที่มีพลังทางเศรษฐกิจพอที่จะสามารถกดดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังผ่านการนัดหยุดงานและยึดสถานที่ทำงาน แต่แค่การกดดันให้แก้ปัญหาภายในโครงสร้างทุนนิยมมันจะไม่พอ ต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มทุนนิยมและเปลี่ยนระบบ

แต่ท่ามกลางความล้มเหลวของการประชุมCOP พวกนักการเมืองกระแสหลักอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดีโอบามา หรือพวกเอ็นจีโอ มักจะเสนอว่าเราต้องรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนภายในระบบทุนนิยมปัจจุบัน

เราไม่สามารถเชื่อมันได้ว่าระบบทุนนิยมปัจจุบัน จะหาทางออกแท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตร้ายแรงที่เผชิญหน้าเราทุกคนในโลก เรานิ่งนอนใจไม่ได้ แค่ดูวิกฤตโควิดที่นำไปสู่การล้มตายของประชาชนโลกประมาณ 5-15 ล้านคน หรือดูสงครามร้ายแรงที่เกิดจากระบบทุนนิยมซ้ำแล้วซ้ำอีกในร้อยปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นภาพ พวกนายทุนและนักการเมืองนายทุนไม่สนใจที่จะปกป้องอะไรนอกจากกำไรและผลประโยชน์ของตน ไม่ว่าพลเมืองโลกเป็นล้านๆ จะล้มตายหรือเดือดร้อนแค่ไหน

ในไทยการที่ทหารครองอำนาจรัฐ และคุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีทางเสนอนโยบายก้าวหน้าเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้เลย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็เพิ่งอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 2 แห่งที่แม่เมาะ

สำนักข่าวBloombergรายงานว่ารัฐบาลไทยสัญญาว่าจะนำประเทศสู่การ “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นสูญ” ภายในปี 2050 หรือ 2065 แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงานสูงถึง 67% และเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนเพื่อผลิตพลังงานอีก23% ในขณะที่แสงแดด ลม และพลังน้ำผลิตแค่ 10% ของพลังงานทั้งหมด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำอันใหม่ที่เขื่อนสิรินธรที่พึ่งเริ่มผลิตไฟฟ้า และอีก 16 โครงการคล้ายๆ กัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าแค่ 2.7 gigawatts ดังนั้นต้องมีการขยายโครงการแบบนี้ทั่วประเทศในขณะที่เลิกเผาเชื้อเพลิงคาร์บอนและปิดโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่ใช้ก๊าซ ถ่านหิน หรือฟืน Biomass

เราสามารถลดการผลิต CO2 และก๊าซเรือนกระจกได้อย่างจริงจัง ด้วยมาตรการรูปธรรม คือ

  1. หยุดใช้เชื้อเพลิงคาร์บอน คือ ก๊าซ ฟืน กับ ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าและหันมาใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กับลมแทน และเลิกใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนในครัวเรือน
  2. พัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟกับรถเมล์ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดกับลม ยกเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัว และลดการใช้เครื่องบิน
  3. ยกเลิกระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก
  4. สร้างงานจำนวนมากมาทดแทนงานเก่าในโรงงานไฟฟ้าและโรงงานประกอบรถยนต์ งานใหม่นี้ต้องช่วยลดการผลิตก๊าซเรือนกระจก เช่นการสร้างและคุมโรงไฟฟ้าแบบใหม่ การลดความร้อนของตึกต่างๆ และการสร้างรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงกับรถเมล์ไฟฟ้า แต่เราไว้ใจบริษัทเอกชนไม่ได้ ต้องเป็นกิจกรรมของภาครัฐภายใต้การควบคุมของประชาชน

ใจ อึ๊งภากรณ์