Tag Archives: ขบวนการแรงงาน

นักเคลื่อนไหวควรปฏิเสธการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด”

เมื่อสามปีก่อนมีบทความในบีบีซีภาษาไทยที่อธิบายว่า “นักจิตวิทยาให้คำอธิบายเรื่องความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อพยายามหลีกหนีความจริงที่รับฟังได้ยาก ของคนกลุ่มดังกล่าว

ในแง่สำคัญ การที่คนไทยจำนวนมากเชื่อใน “ทฤษฎีสมคบคิด” หรือ “นิยายจอมปลอม” ก็เพราะสังคมเราตกอยู่ภายใต้เผด็จการประยุทธ์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “สังคมใต้กะลา” คือในสังคมไทยปัจจุบัน ผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมักโกหกเป็นประจำ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตนเองและให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมชั่วร้ายของตนเอง ดังนั้นจึงเกิดแนวโน้มว่าประชาชนจะไม่เชื่อคำพูดหรือแถลงการณ์ใดๆ ของรัฐ และพยายามแสวงหา “ความจริงอื่น” แต่ปัญหาคือ ถ้า ”ความจริงอื่น” ที่คนหันไปเชื่อเป็นการโกหกอีกชนิดหนึ่ง สังคมจะจมอยู่ในความงมงาย ซึ่งความงมงายมักนำไปสู่ความอำพาตในการต่อสู้

วัคซีนโควิด

ตัวอย่างแรกของ “ทฤษฏีสมคบคิด” ที่จะยกมาพิจารณาคือเรื่องวัคซีนโควิด แน่นอนรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิงในการนำวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนอย่างเป็นระบบ สาเหตุมาจากการที่รัฐบาลของประยุทธ์ไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องประชาชน มัวแต่กอบโกยผลประโยชน์ และเต็มไปด้วยคนที่มีความคิดล้าหลังคับแคบ ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตจริงๆ ได้ เพราะจมอยู่ในความคิดอวดเก่งว่า “ทหาร รถถัง และปืน” สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้และประชาชนธรรมดา “โง่” สิ่งนี้นำไปสู่การสั่งจองวัคซีนล้าช้า การไม่สั่งวัคซีนจากหลายๆ แห่งตั้งแต่แรก และมัวแต่ให้ความสำคัญกับการสร้างความชอบธรรมในเรื่องวัคซีนให้กับราชวงศ์และทหาร สังคมไทยจึงขาดแคลนวัคซีนอย่างที่เห็นอยู่

อีกปัญหาหนึ่งคือการที่เผด็จการทหารไม่มีความคิดแบบ “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งทำให้ผู้บริหารไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของการปกป้องผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวก่อนอื่น และสังคมก็ขาดหมอชุมชนและสถาบันในชุมชนที่จะฉีดวัคซีนให้พลเมืองอย่างเป็นระบบ มันนำไปสู่กันลัดคิวของคนมีเส้น และการแตกกระจายของสำนักงานที่จะนำเข้าวัคซีนจนวุ่นวายไปหมด

แต่จากปัญหาอันใหญ่หลวงเหล่านี้และการโกหกของผู้นำประเทศ ก็เกิด “ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ และนำไปสู่การมองว่าวัคซีนซิโนแวค ของจีนเป็นวัคซีน “อันตราย” และขาดประสิทธิภาพ มีการพูดถึง แอสตร้าเซนเนก้า ในทำนองคล้ายๆ กัน และหลายคนก็หันไปชื่นชม ไฟเซอร์

ในความจริงถ้าดูข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าไว้ใจขององค์กรอนามัยโลก (WHO) จะพบว่าทั้งสามวัคซีนมีประสิทธิภาพพอๆ กัน และอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ โดยเฉพาะในการปกป้องคนจากการมีอาการรุนแรงหรือการเสียชีวิต และในเรื่องผลข้างเคียง ทั้งสามวัคซีนมีผลข้างเคียง ที่ไม่ค่อยพูดกันในสังคมไทยคือผลข้างเคียงต่อหัวใจของวัคซีนไฟเซอร์ในชายหนุ่ม

แต่ในเรื่องผลข้างเคียง ถ้าพูดถึงความเสี่ยง ต้องยอมรับว่าต่ำมากถ้าพิจารณาประชาชนเป็นล้านๆ ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วในหลายประเทศ และถ้าระบบสาธารณสุขพยายามลดความเสี่ยงโดยใช้วัคซีนชนิดที่แตกต่างกันกับคนกลุ่มต่างๆ ก็สามารถลดความเสี่ยงได้อีก แต่พวกที่เชื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด” ไม่สนใจที่จะแสวงหาข้อมูลวิทยาศาสตร์ และไม่สามารถวิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ได้ตรงจุด ซึ่งทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอกว่าที่ควร

นอกจากนี้ไฟเซอร์เป็นวัคซีนราคาแพงเพราะบริษัทต้องการกอบโกยกำไรสูงสุด และวัคซีนต้องเก็บไว้ในตู้แช่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ซึ่งต่างจาก ซิโนแวคกับ แอสตร้าเซนเนก้า ในแง่ราคาซิโนแวคก็แพง แต่แอสตร้าเซนเนก้าตั้งใจผลิตในราคาที่ไม่แสวงหากำไร

ในอนาคต ขณะที่ไวรัสโควิดกำลังแปรพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จะต้องมีการสร้างวัคซีนใหม่ๆ เรื่อย ๆ และถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย การเข้าใจวิทยาศาสตร์และการเสนอรูปแบบวิธีจัดการบริหารสังคมที่ไม่ใช่รูปแบบของทหารเผด็จการจะเป็นเรื่องสำคัญมาก

วชิราลงกรณ์และอำนาจกษัตริย์

ตัวอย่างที่สองของ “ทฤษฏีสมคบคิด” ที่จะยกมาพิจารณา คือเรื่องอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ความคิดนี้ จริงๆ แล้วถูกสร้างขึ้นมาโดยเผด็จการทหารและนายทุน เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเอง เพราะถ้ามีละครกราบไหว้และคลานเข้าไปหากษัตริย์ เผด็จการทหารสามารถอ้างได้ว่าทุกอย่างที่เขาทำ ทำไปภายใต้คำสั่งของกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกันเผด็จการทหารและนายทุนจะยืนยันเสมอว่า “กษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ซึ่งทำให้คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจะเชื่ออะไรได้

มันเป็นโศกนาฏกรรมที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากหลงเชื่อว่าวชิราลงกรณ์มีอำนาจทางการเมืองล้นฟ้า และสั่งการเผด็จการประยุทธ์ในทุกเรื่องได้ ความเชื่อแบบ “ทฤษฎีสมคบคิด” อันนี้ไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน เช่นในเรื่องการ “โอนอำนาจ” ระหว่างภูมิพลกับวชิราลงกรณ์เกิดได้อย่างไร โดยเฉพาะในสามสี่ปีก่อนที่ภูมิพลจะเสียชีวิต หรือในเรื่องที่ไม่มีตัวอย่างของเผด็จการที่ไหนที่สั่งการมาจากต่างประเทศในขณะที่ใช้เวลาอยู่นอกประเทศนาน หรือในเรื่องความปัญญาอ่อนของวชิราลงกรณ์ผู้ที่ไม่สนใจปัญหาสังคมและการเมืองเลย ฯลฯ

“ทฤษฏีสมคบคิด” เรื่องกษัตริย์วชิราลงกรณ์นำไปสู่เรื่องตลกร้ายเมื่อเดือนที่แล้วที่มีคนเชื่อแบบผิดๆ กันว่าวชิราลงกรณ์เสียชีวิตไปแล้ว เสียดายที่ไม่จริง แต่มันไม่เคยมีหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อนี้ และถ้าคนเชื่อว่ามีการโอนอำนาจระหว่างภูมิพลที่หมดสภาพในปีท้ายๆ ของชีวิตสู่วชิราลงกรณ์ มันก็มีการโอนอำนาจต่อได้

แต่ที่เป็นโศกนาฏกรรมแท้คือการที่ “ทฤษฎีสมคบคิด” เรื่องอำนาจกษัตริย์ ในรูปธรรมทำให้ผู้มีอำนาจตัวจริง คือเผด็จการทหารของประยุทธ์ สามารถลอยนวลได้ เพราะมีการมองว่าไม่ใช่ปัญหาหลัก ถึงกับมีคนดังหลายคนเสนอในทำนองว่า “ถ้าไล่แก๊งประยุทธ์ได้ กษัตริย์ก็จะยังอยู่” ซึ่งหมายความว่าการไล่เผด็จการทหารไม่มีประโยชน์ และข้อสรุป ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คือไม่ต้องให้ความสำคัญกับการต่อสู้ ยุทธศาสตร์แห่งการต่อสู้ หรือการจัดตั้งขบวนการต่อสู้ แค่อยู่บ้านนินทากษัตริย์และราชวงศ์ในอินเตอร์เน็ด หรือ “ตลาด Royalist Marketplace” ก็พอ และในความจริงไม่มีผู้มีอิทธิพลใดๆ ในสังคมนินทาราชวงศ์นี้ ที่สนใจหาทางเอาชนะเผด็จการประยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรมเลย เวลามีคนเสนอว่าต้องสร้างกระแสนัดหยุดงานเพื่อไล่รัฐบาล อย่างที่เขาทำกันที่พม่าหรือที่อื่น ก็จะออกมาพูดว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีการเสนอทางเลือกอื่นที่เป็นรูปธรรมเลย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตลก เพราะขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยคนหนุ่มสาวเมื่อปีที่แล้ว อ่อนตัวลงและพ่ายแพ้อำนาจเผด็จการในขณะนี้ และผลที่เห็นชัดเจนคือแกนนำผู้กล้าหาญจำนวนมากติดคดีร้ายแรง 112 ซึ่งในที่สุดจะจบลงด้วยการติดคุกถ้าไม่มีการฟื้นตัวของการต่อสู้ในอนาคต

สร้างพรรค

ในยุคนี้มีคนหนุ่มสาวหลายคนที่สนใจเรื่องแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ มันถึงเวลาแล้วที่คนเหล่านี้จะต้องรวมตัวกันสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมอย่างจริงจัง เพื่อที่จะให้มีการวิเคราะห์ลักษณะสังคมปัจจุบันด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แทนความเชื่อใน “ทฤษฎีสมคบคิด”  และเพื่อนำเสนอรูปธรรมทางออกในการต่อสู้กับเผด็จการ ที่เรียนบทเรียนจากอดีต และสามารถเดินหน้าสู่ชัยชนะได้

อ่านเพิ่ม

อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj

การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล  https://bit.ly/2XIe6el  

ว่าด้วยวชิราลงกรณ์ https://bit.ly/31ernxt

คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป    https://bit.ly/3jBKXKV

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t

ใจ อึ๊งภากรณ์

ไทย-พม่า ข้อแก้ตัวเหลวไหลของคนไทยบางคน

ข้อแก้ตัวว่าไทยมีกษัตริย์ที่คุมเผด็จการ จึงล้มเผด็จการยาก

เวลาเรามองเปรียบเทียบการต่อสู้กับเผด็จทหารระหว่างไทยกับพม่า เราจะพบว่าความเชื่อในนิยายว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์มีอำนาจล้นฟ้าและควบคุมเผด็จการประยุทธ์ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนตาบอด วิเคราะห์อะไรอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และที่แย่กว่านั้นกลายเป็นข้อแก้ตัวสำหรับบางคนที่จะไม่สู้กับเผด็จการไทย และไม่สนใจที่จะคิดถึงวิธีการจัดตั้งมวลชนในการต่อสู้ดังกล่าว

เราจึงได้ยินคนบางคนพูดว่าประชาชนพม่าสามารถสู้กับเผด็จการพม่าได้ง่ายกว่า “เพราะไม่มีกษัตริย์”

คำพูดนี้เหลวไหลที่สุด และดูถูกเพื่อนๆในพม่าอย่างถึงที่สุดด้วย เพราะเผด็จการพม่ามีประวัติในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในลักษณะที่โหดร้ายยิ่งกว่าของไทย มีการยิงกระสุนใส่มวลชนมือเปล่าจนล้มตายเป็นพันๆ หลายครั้ง และมีการล้างเผ่าพันธุ์ในกรณีชาวโรฮิงญาอีกด้วย

ที่สำคัญคือฝ่ายประชาธิปไตยในพม่ามีการจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อสู้ต่อไปหลังจากที่มีการปราบปรามโดยทหาร

เรื่องอำนาจกษัตริย์ไทย เป็นเรื่องเท็จตั้งแต่แรก และที่แย่กว่านั้นมันเป็นนิยายที่ชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหาร พยายามใช้ในการหลอกและกล่อมเกลาให้คนไทยไม่กล้าสู้อย่างถึงที่สุด เราโชคดีที่บ่อยครั้งมวลชนไทยไม่เชื่อ

แต่ที่สำคัญคือ คนที่เสนอว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจเหนือทหาร ไม่ว่าจะเป็นักวิชาการหรือประชาชนธรรมดา กำลังช่วยทหารในการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อความเท็จที่พยุงลัทธิกษัตริย์

และเป็นที่น่าเสียดายที่คนที่หมกมุ่นในเรื่องกษัตริย์และราชวงศ์ เช่นในเพจ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” มักจะไม่มีข้อเสนอใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ในการขยายการต่อสู้และเพิ่มอำนาจของการเคลื่อนไหว เพราะเขาดูเหมือนสดวกสบายที่จะแค่ซุบซิบ

สรุปแล้วแนวที่เน้นอำนาจกษัตริย์เป็นแนวที่ “เข้าทาง” เผด็จการทหารไทย

ในโลกแห่งความเป็นจริงความโหดร้ายของเผด็จการทหารไทยและพม่า ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการที่มีหรือไม่มีกษัตริย์

ข้อแตกต่างระหว่างเผด็จการไทยกับพม่าคือเผด็จการไทยใช้กษัตริย์เป็นหนึ่งในข้ออ้างเพื่อปราบฝ่ายตรงข้าม แต่เผด็จการทหารพม่าก็มีข้ออ้างเช่นกัน คือเรื่องความมั่นคงของชาติและศาสนา ซึ่งฝ่ายไทยก็ใช้ด้วย

คนไทยที่ยังไม่ตาสว่างเรื่องนี้ควรจะรีบออกจากกะลา เพื่อร่วมล้มเผด็จการประยุทธ์!!

ข้อแก้ตัวเพื่อไม่ลงมือจัดตั้งกรรมาชีพไทยให้ร่วมและเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับเผด็จการไทย

หลายคนจะบ่นว่ากรรมาชีพไทย “จะเอาตัวรอดไม่ได้อยู่แล้ว จะหวังให้ออกมานัดหยุดงานได้อย่างไร?” หรือบางคนพูดว่า “ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป” ที่จะเป็นหัวหอกในการต่อสู้

คำพุดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำแก้ตัวของนักสหภาพแรงงานหรือนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่จะไม่จัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง ก็เลยสดวกสบายที่จะทำอะไรเดิมๆ เช่นการสอนให้คนงานแค่รู้จักกฏหมายแรงงานและรัฐสวัสดิการ แทนที่จะปลุกระดมทางการเมือง หรือบางคนอาจแค่พึงพอใจที่จะให้ “ผู้แทน” ของสหภาพแรงงานปราศรัยกับม็อบคนหนุ่มสาว โดยไม่สนใจที่จะมีการตั้งวงเพื่อร่วมกันคิดว่าจะสร้างกระแสนัดหยุดงานอย่างไร

ครูพม่า ภาพจาก Myanmar Now

แต่การออกมาต่อสู้ของกรรมาชีพพม่า ท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยมต่อพลังกรรมาชีพของนักสหภาพแรงงานและนักเคลื่อนไหวไทย

พนักงานรถไฟ

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาในพม่ามีการออกมาประท้วงอย่างเป็นระบบของ พยาบาล หมอ ครู ข้าราชการ เจ้าหน้าทีธนาคารชาติ พนักงานรถไฟ และคนงานเหมืองแร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการจัดตั้งกรรมาชีพกลุ่มต่างๆ และที่สำคัญคือนักเคลื่อนไหวพม่าเข้าใจเรื่องพลังที่มาจากการนัดหยุดงาน เข้าใจมาตั้งแต่การลุกฮือ 8-8-88 ด้วย

คนงานเหมืองแร่ ภาพจาก irrawaddy

เห็นแล้วน่าปลื้มที่สุด แต่ในขณะเดียวกันละอายใจเพราะที่ไทยไม่มีแนวคิดแบบนี้ และขณะนี้ดูเหมือนคณะราษฏร์ไม่มียุทธศาสตร์ที่จะสร้างกระแสนัดหยุดงาน ทั้งๆ ที่แกนนำจำนวนมากโดนกฏหมาย 112 พร้อมกันนั้นพรรคที่เรียกตัวเองว่า “ก้าวไกล” แต่ก้าวไม่พ้นกรอบเดิมๆ จะยังคงไว้การจำคุกพลเมืองภายใต้ม.112

คนไทยที่ยังไม่ตาสว่างเรื่องกรรมาชีพควรจะรีบออกจากกะลา เพื่อช่วยสร้างกระแสนัดหยุดงานและร่วมล้มเผด็จการประยุทธ์!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล  https://bit.ly/2XIe6el อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj

การต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชนพม่ากับแนวการเมืองของอองซานซูจี

หลังรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่า เราต้องสมานฉันท์กับประชาชนพม่าในการต้านเผด็จการทหาร

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารรอบล่าสุด ในระบบการเมืองพม่า ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง กองทัพได้สำรองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา ยิ่งกว่านั้นกองทัพสงวนสิทธิ์ที่จะให้นายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย กลาโหม และรัฐมนตรีที่ควบคุมพรมแดน กองทัพมีสิทธิ์วีโต้การแก้รัฐธรรมนูญ และในกรณี “วิกฤต” กองทัพสามารถเข้ามาคุมรัฐบาลได้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น

เราสนับสนุนผู้ที่เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมถึง นางอองซานซูจี แต่เราต้องฟันธงว่า นางอองซานซูจี ไม่ใช่ผู้นำที่ประชาชนควรจะไว้ใจในการนำการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศ

อองซานซูจีคือใคร?

อองซานซูจี คือผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(N.L.D.) ที่คัดค้านรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่สมัยการลุกฮือของประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 หรือที่รู้จักกันว่า “การกบฏ 8-8-88”  เธอเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำขบวนการเอกราชในยุคอาณานิคมอังกฤษที่ชื่อ อองซาน

อองซาน ผู้เป็นพ่อ เป็นคนที่คลุกคลีกับแนวชาตินิยมปะปนกับแนวสังคมนิยม แต่ในหลายเรื่องค่อนข้างจะขัดแย้งกับแนวมาร์คซิสต์ เช่นไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนัดหยุดงานของกรรมกรในการต่อสู้กับอังกฤษหลังสงครามโลก เน้นแนวชาตินิยมเหนือแนวชนชั้น และสนับสนุนให้มีการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็นต้น

เผด็จการทหารพม่าเคยเป็น “สังคมนิยม” จริงหรือ?

ตั้งแต่อดีตนายพล เนวิน ยึดอำนาจในปี 1962 ผู้นำพม่าอ้างว่าปกครองตามแนว “สังคมนิยมแบบพม่า” พรรคของรัฐบาลก็เรียกตัวเองว่า “พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า” (B.S.P.P.) แต่ในความเป็นจริงถ้าเราสำรวจที่มาที่ไปของผู้นำเผด็จการทหารพม่าจะพบว่านายพล เนวิน มาจากซีกขวาของขบวนการชาตินิยมพม่าที่ชื่อขบวนการ Dobama Asiayone “เราพม่า” ซึ่งคนสำคัญของซีกซ้ายของขบวนการนี้คือ อองซาน และ ทะขิ่นโซ (ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาของพม่า)

ขณะที่นายพล เนวิน อ้างตัวเป็นสังคมนิยมแบบพม่า รัฐบาลทหารพม่าก็ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์โดยประกาศว่าแนวคิดคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อธรรมะ และศาสนาพุทธ นโยบายหลักๆ ของ “พรรคนโยบายสังคมนิยมพม่า” คือ การปิดประเทศเพื่อพัฒนาชาติผ่านการระดมทุนโดยรัฐ การบังคับรวมชาติและกดขี่กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ และการใช้ทหารปกครองประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีเศษของแนวคิดสังคมนิยมดำรงอยู่เลย

เราต้องสรุปว่าในสมัย เนวิน พม่าใช้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐภายใต้ลัทธิชาตินิยม” ซึ่งลอกแบบมาจากระบบเผด็จการสตาลิน-เหมาในรัสเซียกับจีน

นายพล เนวิน ต้องลงจากอำนาจท่ามกลางการกบฏปี 1988 และหลังจากนั้นเผด็จการทหารพม่าก็พยายามหันมาเปิดประเทศภายใต้แนวทุนนิยมตลาดเสรี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์

แนวทางความคิดของ อองซานซูจี

อองซานซูจี เป็นคนที่ไม่เคยสนใจแนวสังคมนิยม และมักจะเสนอแนวทางแบบ “พุทธ” ทุนนิยมตลาดเสรี และสันติวิธีปัญหาสำคัญของแนวการนำของ ซูจี คือเขาพยายามชักชวนให้กรรมาชีพที่ออกมานัดหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ใน 8-8-88 หรือนักศึกษาที่เป็นหัวหอกสำคัญในการจุดประกายไฟการต่อสู้ในครั้งนั้น สลายตัว เพื่อให้การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และบ่อยครั้ง ซูจี จะเสนอว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องประนีประนอมกับกองทัพพม่า

การประท้วงใหญ่ 8-8-88

ในเดือนสิงหาคมปี 1988 ซูจี ออกมาปราศรัยกับมวลชน5แสนคนที่เจดีย์ชเวดากอง และบอกให้มวลชน “ลืม” การที่ทหารพึ่งฆ่าประชาชนเป็นพันๆ พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชน “รักกองทัพต่อไป” (ดูหนังสือ Freedom From Fear ของ อองซานซูจี)

ประท้วง 8888

ในหลายๆ เรื่อง ซูจี มีความคิดอนุรักษ์นิยมที่เข้าข้างนายทุน (ดูหนังสือ “จดหมายจากพม่า”) เช่นเธอมักจะสนับสนุนกลไกตลาดเสรีและแนวขององค์กร ไอเอ็มเอฟ และมักจะมองปัญหาของพม่าในกรอบแคบๆ ของแนวชาตินิยม ประเด็นหลังนี้เป็นปัญหามาก และขัดแย้งกับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพแท้ เพราะประเทศ “พม่า” เป็นสิ่งที่อังกฤษสร้างขึ้นมาในยุคล่าอาณานิคม โดยที่ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนพม่า กลุ่มเชื้อชาติต่างๆ เหล่านี้ เช่นชาว กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน  คะเรนนี่ ฯลฯ ไม่พอใจที่จะถูกกดขี่เป็นพลเมืองชั้นสองในระบบรวมศูนย์อำนาจที่ดำรงอยู่ในอดีตและปัจจุบัน แต่ อองซานซูจี ไม่เคยเสนอว่ากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ควรมีสิทธิ์ปกครองตนเองอย่างเสรี เพราะเธอต้องการปกป้องรัฐชาติพม่าในรูปแบบเดิม ในงานเขียนหลายชิ้นเธอจะ “ชม” วัฒนธรรมหลากหลายและงดงามของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ แต่เป็นการชมเหมือนผู้ปกครองชมลูกๆ มากกว่าการให้เกียรติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ดังนั้นในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี

วิธีการต่อสู้ของ ซูจี จะเน้นการสร้างพรรคการเมืองกระแสหลักเพื่อแข่งขันทางการเมืองในรัฐสภา แทนที่จะสนับสนุนการสร้างขบวนการมวลชน เขาตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นจุดรวมศูนย์ของประชาธิปไตยพม่า แทนที่จะเน้นพลังรากหญ้า

และในห้ากว่าปีที่ผ่านมา ซูจี ประนีประนอมกับทหารตลอดเวลา จนเลขาธิการสหประชาชาติ อังตอนียู กูแตรึช พูดว่าเขา “ใกล้ชิดทหารมากเกินไป” ยิ่งกว่านั้นภายในพรรค NLD ซูจี เริ่มใช้มาตรการเผด็จการต่อคนที่เห็นต่างจากเขา ซึ่งสร้างความไม่พอใจไม่น้อย

หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี สลดใจและผิดหวังในเรื่องจุดยืนเขาต่อโรฮิงญา เพราะ ซูจี สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญาโดยกองทัพพม่า และเขาเกลียดชังชาวมุสลิม แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี ต่อโรฮิงญาแต่อย่างใด

พลังแท้ในการปลดแอกประชาชน

ในหมู่ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในประเทศพม่า มีแนวคิดหลักๆ สามแนวที่ใช้ในการต่อสู้คือ

1.แนวของ ซูจี ที่เสนอให้ใช้สันติวิธี ประนีประนอมกับเผด็จการ ลดการต่อสู้บนท้องถนน ลดการนัดหยุดงาน เน้นการค่อยๆ เจรจาในระดับสูงและการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของผู้นำเช่นตัว ซูจี เอง นอกจากนี้มีการตั้งความหวังกับการกดดันจากรัฐบาลภายนอกและองค์กรสหประชาชาติ

ปัญหาคือว่ารัฐบาลภายนอก อย่างเช่นรัฐบาลต่างๆ ในอาเซี่ยน  รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือในยุโรป ถึงแม้ว่าอาจเอ่ยถึงความสมควรที่จะมีประชาธิปไตยพม่าเป็นบางครั้งบางคราว แต่สิ่งที่เป็นเงื่อนไขหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดา เป็นเรื่องผลประโยชน์กลุ่มทุนมากกว่า

2. แนวจับอาวุธ แนวนี้เป็นแนวที่กลุ่มปลดแอกเชื้อชาติต่างๆ รวมถึงอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และกลุ่มนักศึกษาจากยุคหลัง 8-8-88 บางกลุ่มเลือกใช้ แต่การต่อสู้แบบนี้ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะกำลังทางทหารของรัฐบาลพม่าเหนือกว่าเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุดกำลังทหารของกลุ่มเชื้อชาติไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลกลางของพม่าได้เพราะอ่อนแอและแตกแยกกันเองเสมอ สงครามกลางเมืองในพม่าจึงยืดเยื้อยาวนานโดยดูเหมือนไม่มีจุดจบ

3. แนวมวลชนในเมือง ในรอบ 60 ปีของเผด็จการทหารพม่า มีเหตุการณ์สำคัญครั้งเดียวเท่านั้นที่เกือบล้มอำนาจทหารได้ นั้นคือการกบฏ 8-8-88 การกบฏครั้งนี้มีรูปแบบคล้ายๆ การต่อสู้ในเมืองทั่วไป อย่างเช่นกรณี ๑๔ ตุลา ในไทย หรือ 1968 ในเมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส คือนักศึกษาหนุ่มสาวเป็นหัวหอกในการจุดประกายไฟการต่อสู้กับรัฐบาล แต่ในไม่ช้าประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพในเมืองก็เปิดศึกออกรบร่วมกับนักศึกษาและให้พลังกับการต่อสู้

หลังจากที่กระแสต้านเผด็จการพม่าเริ่มก่อตัวขึ้น ในเช้าของวันที่ 8-8-88 กลุ่มแรกที่เคลื่อนออกมาคือกรรมกรท่าเรือในเมืองหลวง ตามด้วยกรรมาชีพในสถานที่อื่นๆ รวมถึงข้าราชการ นักศึกษา และพระสงฆ์ วันนั้นเป็นวันแรกของการนัดหยุดงานทั่วไปและการประท้วงในหลายๆ เมืองของพม่า

ระหว่างเดือนสิงหาคม 1988 และการเลือกตั้งในปี 1990 รัฐบาลเผด็จการพม่าไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะคุมสถานการณ์ได้หมด ทั้งๆ ที่มีการใช้อาวุธกับประชาชนธรรมดา เพราะมวลชนในเมืองลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างต่อเนื่อง นี่คือสาเหตุที่ทหารพม่ายอมจำนนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง แต่ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการอ่อนแอ ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก็อ่อนแอในการนำด้วย กลุ่มนักศึกษาและกรรมาชีพไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็งทางการเมืองเพียงพอ การนำจึงตกอยู่ในมือของคนภายนอกขบวนการอย่าง อองซานซูจี และเธอก็เรียกร้องเสมอให้มีการสลายม็อบและกลับไปทำงานเพื่อให้กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยเข้าสู่กรอบแคบๆ ของการเมืองรัฐสภา แนวทางการต่อสู้แบบนี้มีผลในการสลายพลังของมวลชน ซึ่งในที่สุดเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายทหารพม่ารื้อฟื้นอำนาจและกล้ารุกสู้ ดังนั้นหลังการเลือกตั้ง 1990 จึงมีการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ

บทเรียนจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือ พลังที่สามารถท้าทายเผด็จการทหารพม่าอยู่ที่มวลชนในเมือง ซึ่งรวมถึงกรรมาชีพด้วย ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำที่มีชื่อเสียง การจับอาวุธในป่า หรือการหวังแรงกดดันจากต่างประเทศ ดังนั้นต้องมีการต่อสู้อย่างต่อเนื่องและดุเดือดเพื่อโค่นล้มเผด็จการ ไม่ใช่ไปประนีประนอมจนฝ่ายประชาธิปไตยหมดกำลังใจและฝ่ายเผด็จการรวมตัวกันใหม่ได้ ที่สำคัญคือขบวนการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมาชีพ และพระสงฆ์ ต้องสามารถนำตนเอง ต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหาและทางออกเอง

ขบวนการกรรมาชีพพม่า ทั้งในพม่าและนอกประเทศในไทย มีพลังซ่อนเร้นมากขึ้นทุกวัน และหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้ มีการนัดหยุดงานในโรงพยาบาลเกือบหนึ่งร้อยแห่ง และมีการออกมาประท้วงของครู นักศึกษา และข้าราชการ นอกจากนี้กรรมกรสิ่งทอในพม่าก็มีพลังเพิ่มขึ้นผ่านการจัดตั้งสหภาพแรงงานอีกด้วย

“ปัญหา” เชื้อชาติในพม่า

การสร้างประชาธิปไตยและเสรีภาพในพม่าย่อมทำไม่ได้ถ้ากลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ไม่มีเสรีภาพที่จะกำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งรวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่จะปกครองตนเองและแยกประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการ

ข้อจำกัดสำคัญในการหาทางออกคือการมองทางออกในกรอบ “รัฐชาติ” ไม่ว่าจะเป็นการมองเพื่อปกป้องชาติพม่า อย่างที่ อองซานซูจี มอง หรือการแสวงหาชาติใหม่อิสระของชาว กะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน  หรือ คะเรนนี่ เพราะทั้งสองทางออกหนีไม่พ้นการกดขี่คนกลุ่มน้อยและการขูดรีดทางชนชั้นอยู่ดี เช่นถ้าจะสร้างชาติอิสระของฉาน หรือ กะเหรี่ยง จะพบว่าในดินแดนเหล่านั้นมีคนหลากหลายเชื้อชาติดำรงอยู่ และถ้าเกิดสร้างชาติใหม่ได้ ก็ย่อมมีความขัดแย้งทางชนชั้นตามมา ชาวมาร์คซิสต์ต้องเสนอทางออกที่ปฏิเสธกรอบรัฐชาติ และการเน้นความสำคัญของชนชั้นเหนือเชื้อชาติ เราต้องเสนอว่าการปลดแอกมนุษย์ต้องกระทำด้วยการเมืองแบบชนชั้น คือต้องปฏิวัติล้มระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อให้มนุษย์อยู่กันอย่างสงบในรูปแบบชุมชนที่ไร้ชาติ

อ่านเพิ่ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง https://bit.ly/1sH06zu

ติดตามสถานการณ์ในพม่าได้ที่ https://www.myanmar-now.org/en 

Twitter: @Myanmar_Now_Eng

ใจ อึ๊งภากรณ์

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัญญาณเตือนภัย

ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างความตื่นเต้นและความหวังล้นฟ้าสำหรับคนไทยเป็นล้านๆ และคนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเองทั่วโลก

แต่สัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ว่าจะมีการลดเพดานและจะจบลงด้วยการประนีประนอมแบบแย่ๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวและแกนนำต้องการให้จบแบบนั้น แต่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการทบทวนและพัฒนาการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้ เพราะการชุมนุมไปเรื่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ จะเอาชนะทหารไม่ได้

ภัยหลักตอนนี้คือการยอมปล่อยให้รัฐสภาจัดการเรื่องการปฏิรูปสังคม เพราะถ้าเราไม่ระวังรัฐสภาที่คุมโดยทหารจะยอมแค่ให้แก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ประยุทธ์จะไม่ลาออก และจะไม่มีการปฏิรูปกษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวควรภูมิใจในผลงานในสามเดือนที่ผ่านมาเพราะมีการชุมนุมใหญ่ของคนจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาข้อเรียกร้อง มีการแสดงความกล้าหาญที่จะวิจารณ์กษัตริย์ และมีการดึงเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีเข้ามาเพื่อขยายแนวร่วม สิ่งเหล่านี้ขบวนการเสื้อแดงในอดีตไม่สามารถทำได้

และทั้งๆ ที่ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น ทุกคนเดือดร้อนและคนจำนวนมากต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการประนีประนอมหรือลดเพดานจะไม่มีวันแก้ปัญหาของสังคมได้ และไม่มีวันทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ

มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเรื่องยุทธ์วิธีที่จะพัฒนาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

ปัญหาอันหนึ่งคือการใช้วิธี “ทุกคนเป็นแกนนำ” สามารถช่วยให้การต่อสู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่แกนนำหลายคนถูกจับก็จริง แต่ไม่นำไปสู่การสร้างโครงสร้างภายในขบวนการที่จะกำหนดแนวทางด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ แน่นอนแกนนำไม่ได้หวังเป็นเผด็จการ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างเพื่อให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ แกนนำจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยปริยาย และจะไม่สามารถดึงคนรากหญ้ามาช่วยตัดสินแนวทางได้ นี่คือประสบการณ์จากขบวนการเคลื่อนไหว Podemos ที่อ้างว่าไม่มีแกนนำในสเปน

ขบวนการที่ไทยได้รับความคิดและความสมานฉันท์จากขบวนการฮ่องกง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความสำคัญของการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นข้อสรุปสำคัญของหลายส่วนที่ฮ่องกง

ทุกวันนี้มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมชุมนุมกับคนหนุ่มสาว และกระแสความชื่นชมในขบวนการประชาธิปไตยยังสูงอยู่ ดังนั้นคนหนุ่มสาวและนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าควรลงมือเดินเข้าไปหาคนทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพูดคุยกับคนทำงานในเรื่องการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงานเพื่อหนุนการชุมนุมของคนหนุ่มสาว

แน่นอน จะมีคนที่ออกมาพูดว่าการนัดหยุดงาน “ทำไม่ได้” หรือ “คนงานไทยไม่มีวันนัดหยุดงาน” หรือ “คนงานกำลังจะเอาตัวรอดไม่ได้” แต่พวกนี้จะเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และปิดหูปิดตาถึงการพัฒนาทางความคิดที่เกิดขึ้นในรอบสามสี่เดือนที่ผ่านมาในไทย ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนขอท้าคนที่พูดแบบนี้ว่า “ถ้าไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกระแสการนัดหยุดงาน ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้?” “ท่านมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ?”

ใจ อึ๊งภากรณ์

การนัดหยุดงานเป็นพลังที่ล้มรัฐบาลได้ และปราบยากที่สุด แต่จะเกิดได้อย่างไร

ในหลายประเทศของโลกที่ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ การที่ขบวนการแรงงานเข้ามาร่วมโดยมีการนัดหยุดงานในสถานที่ทำงานทั่วประเทศ ทำให้การต่อสู้มีพลังมากขึ้นมหาศาล ตัวอย่างเช่นใน ซูดาน เบลารุส อียิปต์ อัลจีเรีย หรือในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกา

ดังนั้นถ้าเราจะเสริมพลังของขบวนการที่นำโดยคนหนุ่มสาวในไทย เราต้องหาทางให้มีการนัดหยุดงานตามสถานที่ทำงานต่างๆ ประเด็นคือจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องอธิบายคือแค่การประกาศทางสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ไม่มีวันทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เลย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าวันที่ 14 ตุลาปีนี้จะมีการนัดหยุดงานทั่วไป สำนักข่าวต่างประเทศยังมีการออกข่าวด้วย แต่ในรูปธรรมมันไม่ได้เกิด

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อราวมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ราษฎร์ประสงค์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการ แต่คนเป็นหมื่นพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

สาเหตุที่คนออกมาประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้ก็เพราะเขาไม่พอใจกับสภาพการเมืองที่แช่แข็งสังคมมานาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักกิจกรรมต้องทำในขบวนการแรงงานคือ ต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองภาพกว้างและความสำคัญของการออกมาประท้วง ไม่ใช่ไปแค่พูดเรื่องปากท้องวนซ้ำอยู่กับที่

ขอย้ำอีกที ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ท้ายสุดเราต้องเข้าใจว่าสถานที่ทำงานมีหลายประเภทและสำคัญพอๆ กันหมด มันไม่ใช่แค่โรงงาน ซึ่งก็สำคัญ แต่มันรวมถึงสำนักงานต่างๆ ที่มีลูกจ้างปกคอขาว เช่นธนาคารหรือแม้แต่ข้าราชการผู้น้อยในกระทรวงต่างๆ มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบขนส่ง มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข และมันรวมถึงครูบาอาจรย์ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนด้วย

และมันรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของคนหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วง

ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ จะทำเมื่อไร? ถ้าไม่ล้มเผด็จการวันนี้ เราจะอยู่ต่อไปเป็นทาสนานเท่าไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ระวังพวกที่จะพาเราหลงทางจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง 3+10

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้พวกประนีประนอมพาเราไปหลงทาง เบี่ยงเบน ไปจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10”

อันนี้เป็นปัญหาปกติในกระบวนการต่อสู้ เราเคยเจอในกรณีการล้มเผด็จการทหารช่วง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ที่ฝ่ายชนชั้นปกครองเชิญนายภูมิพลออกมาเพื่อแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำไปสู่การตั้ง “สภาสนามม้า” [ดู https://bit.ly/3ggYMLW ] มันเป็นวิธีที่ชนชั้นปกครองไทยสามารถกู้สถานการณ์ไม่ให้ลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริงตามที่คนจำนวนมากต้องการ โดยเฉพาะนักศึกษา กรรมาชีพ และพลเมืองที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้ชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งตัวใหม่และกลับมาในช่วง ๖ ตุลา ๒๕๑๙

a3_0

ทั้งในสถานการณ์สากลและไทย เมื่อมีการลุกฮือล้มเผด็จการ มักจะมีกลุ่มคนที่เสนอให้ประนีประนอม พวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองเก่า อีกส่วนเป็นพวกนักการเมืองและนักวิชาการกระแสหลักที่ต้องการแค่ปฏิรูประบบ เป้าหมายของสองกลุ่มนี้คือเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจเดิม

เรื่องแบบนี้มันเกิดที่ ซูดาน เลบานอน อียิปต์ ฮ่องกง และที่อื่นๆ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกที่อยากเปลี่ยนระบบให้น้อยที่สุดพร้อมปกป้องอำนาจเดิม กับพวกที่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน

ข้อเรียก 3 ข้อของ “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการล้มเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ ล้มรัฐธรรมนูญทหาร และยุติการคุกคามประชาชนโดยทหาร มันจะไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าประยุทธ์กับคณะทหารออกไปจากการเมืองไทย

ดังนั้นเราควรระมัดระวังคนที่เสนอให้แค่ “แก้” รัฐธรรมนูญทหาร เพราะมันจะเป็นการเสนอกระบวนการที่ใช้เวลานาน และเปิดช่องให้เผด็จการของประยุทธ์อยู่ต่อไป ถ้าเผด็จการประยุทธ์อยู่ต่อได้แบบนี้ ฝ่ายประนีประนอมหวังว่ากระแสการลุกฮือจะลดลง และนี่คืออันตรายสำหรับฝ่ายเรา

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังที่หยุดนิ่ง อยู่กับที่ มักจะถอยหลังในไม่ช้า

เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ไปแก้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้พวกประนีประนอมเดินเรื่อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองอย่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” รับรองมันจะถูกผลักออกไปจากวาระทางการเมืองอย่างแน่นอน

FB_IMG_1597581301917

ในความเป็นจริงข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะไม่ประสบความสำเร็จตราบใดที่เผด็จการประยุทธ์หรือเผด็จการทหารอื่นๆ ยังคุมอำนาจอยู่ เพราะทหารคือผู้ที่มีอำนาจในสังคมไทย และเป็นผู้ที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือของเขาเองเสมอ

ดังนั้นเราต้องคงไว้เป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10” ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

ในความเห็นผม จริงๆ แล้วประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ คือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลย เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมันปฏิรูปให้ดีขึ้นไม่ได้ และลัทธิกษัตริย์นิยมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมมาตลอด

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2Qf5yHB  https://bit.ly/2Qk0eCS  https://bit.ly/2QfI2dh และ หนังสือ “ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เขียนหลังรัฐประหาร๑๙กันยา๒๕๔๙ https://bit.ly/3gStOLd ]

เราจะคงไว้เป้าหมาย “3+10” อย่างไร?

  1. อย่าไปฝากความหวังอะไรทั้งสิ้นกับ “ผู้ใหญ่” ในวงวิชาการ หรือนักการเมืองจากพรรคกระแสหลัก อย่าให้เขาออกแบบวิธีปฏิรูปสังคมไทย
  2. พวกเรา โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว จะต้องรีบคุยกันเพื่อหาจุดร่วมว่าต้องการเห็นสังคมไทยแบบไหน ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน และต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พูดง่ายๆ ควรมีสมัชชาใหญ่ของคณะปลดแอกประชาชนและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเอา “เนื้อ” มาใส่โครงกระดูกของข้อเรียกร้อง “3+10” และคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
  3. ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อส่งต่อเรื่องให้คนอื่น และควรมีความพยายามที่จะขยายมวลชนไปสู่นักสหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนธรรมดากลุ่มอื่นๆ ควรมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในสถานที่ทำงานสามารถประท้วงได้อย่างไร เช่นการนัดหยุดงาน
  4. เราต้องเรียกร้องให้ยุติคดีของเพื่อนเราทุกคนที่ถูกหมายเรียกหมายจับทันที

อย่ายอมประนีประนอมเพื่อรักษาระบบที่ทำลายสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม!!

เดินหน้าต่อไปถึงเส้นชัย!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ต้องยอมรับครับว่าเมื่อเห็นภาพนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงเผด็จการวันนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมน้ำตาไหลด้วยความดีใจ พวกเรารอวันนี้มานาน

FB_IMG_1597581477208

ผมไม่อยากจะ “แนะนำ” อะไรมากกับ “คณะประชาชนปลดแอก” เพราะเขาพิสูจน์ไปแล้วว่าเขาจัดการประท้วงที่ประสบความสำเร็จสุดยอด แต่ผมมีความหวังว่าการต่อสู้จะไม่จบแค่นี้ ผมหวังว่าจะมีการขยายมวลชน โดยเฉพาะในหมู่นักสหภาพแรงงาน และผมหวังว่าจะมีการชุมนุมอีก และถ้าเป็นไปได้มีการเดินออกจากสถานที่ทำงานด้วย และที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือผมหวังว่าจะมีการเรียกร้องขีดเส้นตายให้ยกเลิกทุกข้อหาที่รัฐไปยัดให้แกนนำขบวนการชุมนุมทุกคน

FB_IMG_1597582400786

ในความจริงเพื่อนๆทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงทราบว่าเราหยุดตอนนี้ไม่ได้ และการต่อสู้วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่งดงาม

FB_IMG_1597581301917

ในเรื่องการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ผมเข้าใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหวที่กล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะจะอ้างตลอดว่า “ไม่ได้หวังจะโค่นล้มสถาบัน” แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพูดแบบนี้ถือว่ายังอยู่ในกรอบที่เผด็จการทหารและพวกอนุรักษ์นิยมวางไว้และใช้เพื่อกดขี่คนในสังคม ถ้าเราจะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้จริงเราต้องสามารถเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยไม่ต้องมาแก้ตัวแบบนี้ ยิ่งกว่านั้นเราต้องสามารถเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยถ้าเรามีความคิดแบบนั้น

เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตยครับ กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเผด็จการทหารหมดไปจากสังคมไทยและเรามีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่

และเพื่อนๆ ที่อยากไปไกลกว่านั้น คืออยากสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไร้ชนชั้น กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเราจะสามารถสร้างสังคมนิยมในประเทศไทย

 

คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงจะปลื้มและได้ความหวังจากการประท้วงเผด็จการรอบใหม่โดยนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง

50129529371_4a1c52db15_k
ภาพจากประชาไท

ในแง่สำคัญๆ เราต้องดูภาพกว้างในระดับสากลของการต่อสู้ครั้งนี้ และต้องไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องไทยๆ ซึ่งแปลว่าต้องดูบทเรียนจากทั่วโลกและประวัติศาสตร์ไทยพร้อมๆ กัน

ในยุคสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลก เราเห็นปรากฏการณ์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ “ไม่กลัวใคร” ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาโลกร้อน และเรื่องการกดขี่คนผิวดำในขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งการประท้วงในช่วงการระบาดของโควิดผูกพันกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากโควิด การประท้วงล่าสุดในไทยก็ไม่ต่างออกไป มันผูกพันกับการที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามใช้โควิดในการเพิ่มอำนาจให้ตนเองในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้มันผูกพันกับความแย่ๆ ในสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น เช่นการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง การใช้อำนาจเพื่อสร้างสองมาตรฐาน โดยเฉพาะในระบบศาล การเชิดชูกษัตริย์เลวที่ใครๆ เกลียดชัง และการปล่อยให้ความยากจนและความเดือดในสังคมเพิ่มขึ้นขณะที่ทหารและนายทุนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสบาย ฯลฯ

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่าในสังคมมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว และการเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการต้านโลกร้อน ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เพราะเกิดจากปัญหาของระบบทุนนิยม มันมีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง มีลักษณะเข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลงตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จ

50129748457_498a0855f4_k
ภาพจากประชาไท

ด้วยเหตุนี้เราต้องมองว่าการลุกฮือของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เช่นขบวนการ ๑๔ ตุลา ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเสื้อแดง และการออกมาประท้วงของแต่ละกลุ่มหลังรัฐประหารของประยุทธ์

Lumpoon2
ภาพจากประชาไท

แต่สิ่งที่สำคัญและอาจว่า “ใหม่” ก็ได้คือความ “ไม่กลัว” ของคนหนุ่มสาว คือขณะนี้กล้ามากกว่าคนที่ผ่านการต่อสู้มาและมีบาดแผลจากอดีต

a3_0

ประเด็นสำคัญคือคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องช่วยกันอัดฉีดความกล้าหาญเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่อยู่ในวัยทำงาน และสิ่งนี้ทำได้เพราะคนจำนวนมากไม่พอใจอย่างยิ่งกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน แต่เขาอาจแค่ขาดความมั่นใจในการออกมาต่อสู้

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับขบวนการแรงงานและชนชั้นกรรมาชีพ? คำตอบง่ายๆ คือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงาน

ในเดือนที่ผ่านมาเราเห็นการนัดหยุดงานของคนงานผิวขาวและผิวดำร่วมกันในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อเรียกร้อง Black Lives Matter ซึ่งเสริมพลังให้กับกระแสต้านการเหยียดสีผิว ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทั่วโลกการล้มเผด็จการหรือท้าทายเผด็จการที่มีพลังมักจะมีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าร่วมด้วย

และนี่เป็นสาเหตุที่เราต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่พร้อมจะปลุกระดมการเมืองภาพกว้างในขบวนการกรรมาชีพ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่พรรคแบบนี้ก็ต้องได้รับการอัดฉีดความ “ไม่กลัวใคร” จากคนหนุ่มสาวเช่นกัน

อย่าลืมว่าการล้มเผด็จการทหารในช่วง ๑๔ ตุลา อาศัยทั้งการมีพรรคฝ่ายซ้าย (พคท.) และการที่นักศึกษาสามารถออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนผู้ทำงานจำนวนมาก

อ่านเพิ่ม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์   https://bit.ly/2UpOGjT

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

 

การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันมีตัวอย่างจากไหนในโลก ในยุคปัจจุบันหรืออดีต ที่ผู้ปกครองเผด็จการอาศัยอยู่นอกประเทศและสั่งการจากแดนไกล? อันนี้เป็นคำถามที่ท่านจะต้องตอบ ถ้าท่านจะอ้างว่าวชิราลงกรณ์อยู่เบื้องหลังระบบเผด็จการและการทำลายประชาธิปไตย หรือแม้แต่การอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง

ตัวอย่างจากทั่วโลกและในไทยชี้ให้เห็นว่าผู้นำเผด็จการมักเกรงกลัวว่าจะถูกโค่นล้มเมื่อไปต่างประเทศ และเป็นเป็นความกลัวที่ตรงกับประวัติศาสตร์ด้วย แต่พวกคลั่งซุบซิบเกี่ยวกับกษัตริย์ไม่เคยสนใจที่จะเปิดตาศึกษาประวัติศาสตร์โลกหรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ไทย คงจะเป็นเพราะส่วนใหญ่หมกมุ่นกับการด่ากษัตริย์เพื่อ “ความมัน” โดยไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมในการล้มระบบเผด็จการไทย

นอกจากนี้ในช่วงที่นายภูมิพลหมดสภาพและใกล้ตาย ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปี ใครคุมอำนาจในสังคมไทย? ร่างหมดสภาพของภูมิพลหรือทหารเผด็จการ? และอย่าลืมว่าพวกที่เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจล้นฟ้า เคยทำนายว่าเมื่อภูมิพลตาย จะมีสงครามแย่งบัลลังก์ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเลย

กรุณาอย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ผมต้องทิ้งงานสอนที่จุฬาฯ และทิ้งบ้านเกิดที่กรุงเทพฯ และมาลี้ภัยที่อังกฤษ เพราะผมวิจารณ์นายภูมิพลในหนังสือ A Coup For The Rich โดยเฉพาะเรื่องที่เขาไม่เคยปกป้องประชาธิปไตย และหน้าด้านเสนอลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงในขณะที่ตนเองรวยที่สุดในประเทศ และผมไม่เคยหยุดวิจารณ์วชีราลงกรณ์ ราชินีเอลิซาเบธของอังกฤษ หรือพวกราชวงศ์ปรสิตทั้งหลายทั่วโลก ผมนิยมระบบสาธารณรัฐและสังคมนิยม

นอกจากนี้ตอนทีผมยังทำงานที่จุฬาฯ และยังไม่โดนคดี ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เริ่มรณรงค์ให้ยกเลิกกฏหมาย 112 อีกด้วย

10565125_10153078949002729_301020582058691456_n

การมองว่าวชิราลงกรณ์เป็นตัวร้ายที่ใช้อำนาจล้นฟ้าเพื่อสั่งการต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองและสังคมไทย เป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นอีก มันกลายเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ทหารลอยนวล เพราะตาบอดถึงอำนาจจริงที่ทำลายประชาธิปไตยและฆ่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย นั้นคือผู้นำทหาร

บ่อยครั้งการมองว่าวชิราลงกรณ์เป็นตัวร้ายที่ใช้อำนาจล้นฟ้าเพื่อสั่งการต่างๆ เป็นข้ออ้างสำเร็จรูปในการไม่ทำอะไร หรือในการวิจารณ์คนที่เคลื่อนไหวหรือต้องการสร้างขบวนการมวลชนเพื่อล้มระบบเผด็จการ ผมได้ยินมาจนเบื่อคำอ้างว่า “ถ้าออกมาชุมนุมแล้วล้มเผด็จการทหาร กษัตริย์ก็ยังอยู่ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร” หรือคนที่เล่าว่านักต่อสู้เพือประชาธิปไตยในอดีต ไม่ว่าจะ ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภา ๓๕ “โดนหลอกและโดนพาไปตายฟรี” ซึ่งเป็นคำพูดของนักวิชาการต้านเจ้าที่มีชื่อเสียง

แทนที่จะมองว่าวชิราลงกรณ์คุมเผด็จการประยุทธ์ ความจริงมันตรงข้าม คือเผด็จการประยุทธ์เลี้ยงวชิราลงกรณ์และระบบกษัริย์ไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการมอมเมาประชาชนหรือสร้างความกลัว เหมือนคนรวยเลี้ยงหมาดุไว้ป้องกันขโมย มีใครบ้างจะอ้างว่าหมาดุเป็นตัวคุมอำนาจจริงในบ้านคนรวย?

กษัตริย์วชิราลงกรณ์แสดงความโลภและพยายามกวาดกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ มาเป็นของตัวเองในลักษณะส่วนตัว และพยายามบังคับให้กองทหารหลายหน่วยมาดูแลตัวเขา แต่นั้นไม่ใช่อาการของคนที่มีอำนาจแท้เหนือสังคม มันเป็นแค่ความกระตือรือร้นของวชิราลงกรณ์ที่จะเสพสุขกับทรัพย์สินมหาศาลและนางสนม และเผด็จการทหารก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงเครื่องมือของมัน ก็เลยปล่อยให้ทำ

วชิราลงกรณ์ไม่เคยสนใจนโยบายการเมืองกับเศรษฐกิจ หรือสนใจที่จะกำหนดทิศทางของสังคมแม้แต่นิดเดียว แถมไม่มีปัญญาจะคิดเรื่องแบบนี้ด้วย ผู้นำที่มีอำนาจจริงย่อมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอ และย่อมพยายามเอาใจประชาชนด้วยการสร้างภาพที่ดีกับตนเองอีกด้วย เพราะรู้ว่าในการปกครองประชาชนต้องมีการเอาใจพลเมืองพร้อมกับการใช้กำลัง ตรงข้ามกับวชิราลงกรณ์เขาไม่แคร์อะไรนอกจากตัวเอง ไม่ต่างจากหมาดุที่เฝ้าบ้านคนรวยที่ไม่มีปัญญาที่จะแคร์อะไรนอกจากจะได้กินอาหารมื้อต่อไป

การมีอำนาจในสังคม มีไว้เพื่อกำหนดนโยบายต่างๆ ในสังคม ดังนั้นคนที่ไม่กำหนดนโยบายอะไรต่อสังคมย่อมไม่มีอำนาจ

สำหรับคนที่มองว่าเผด็จการทหารไม่แย่เท่ากับระบบกษัตริย์ กรุณาไปศึกษาการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผู้นำคนนี้เกลียดระบบกษัตริย์

ส่วนใหญ่แล้วคนที่คลั่งซุบซิบเกี่ยวกับกษัตริย์ไทย เป็นคนที่นิยมแนวคิด “ไทยเป็นสังคมพิเศษเฉพาะ” เพื่อจะได้ไม่ต้องศึกษาระบบกษัตริย์เปรียบเทียบด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ เช่นพวกนี้มักจะมองว่ากษัริย์ไทยไม่ต้องสั่งอะไรโดยตรงอย่างชัดเจนแต่คนรับใช้มักเดาใจ“พระองค์”ได้เอง [ดู https://bit.ly/3h2DROi และ https://bit.ly/2GcCnzj ] หรือพวกที่ชื่นชมสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ สวีเดน หรือญี่ปุ่น โดยไม่ศึกษาว่าสถาบันดังกล่าวยังคงไว้ทำไมและรับใช้ผลประโยชน์ชนชั้นไหนในสังคม

สิ่งที่ขาดหายไปจากการวิเคราะห์ของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่หมกมุ่นกับการด่ากษัตริย์เพื่อ “ความมัน” คือการศึกษาระบบกษัตริย์เปรียบเทียบในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ เพราะคนที่ศึกษาเรื่องนี้จะพบว่าสาเหตุหลักที่มีการคงไว้ระบบกษัตริย์ในบางประเทศของยุโรป ในมาเลเซีย หรือในญี่ปุ่น ก็เพื่อที่จะส่งเสริมแนวคิดอนุรักษนิยมของชนชั้นนายทุนที่หมั่นสอนประชาชนชั้นล่างว่า “การเกิดสูงและเกิดต่ำเป็นเรื่องธรรมชาติ” ดังนั้นนายทุนใหญ่ คนรวย และเหล่ารัฐบุรุษต่างๆ สมควรที่จะมีอำนาจในการปกครอง และสมควรที่จะร่ำรวยมหาศาล ในขณะที่คนธรรมดาต้องเชื่อฟังและทำตาม เพราะคนธรรมดาไม่มีความสามารถในการปกครองตนเอง

นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่ ย่อมเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองในการเป็น “ที่พึ่งสุดท้ายในยามวิกฤต” คือทำตัวเป็นสัญลักษณ์ของชาติเพื่อออกมาโชว์ตัวในยามวิกฤตที่นักการเมืองหรือผู้นำชนชั้นปกครองทำอะไรไม่ได้ ในแง่นี้ไทยก็ไม่ต่าง ลองดูพฤติกรรมของภูมิพลในเหตุกรณ์ ๑๔ ตุลา หรือพฤษภา ๓๕ ก็ได้ คือต้องถูกผลักออกมาเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านั้นลามไปสู่การล้มอำนาจของชนชั้นปกครองโดยประชาชน ในลักษณะเดียวกันท่ามกลางวิกฤตโควิด ราชินีเอลิซาเบธของอังกฤษ ก็ถูกเข็นออกมาปราศัยทางโทรทัศน์ เพื่อพยายามเสนอว่าพลเมืองอังกฤษต้องสามัคคีกัน แทนที่จะวิจารณ์นโยบายแย่ๆ ของรัฐบาลที่ทำให้คนตายหลายหมื่น

ในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐเขาอาศัยสัญลักษณ์อื่นในการส่งเสริมแนวคิดนี้ เช่นแนวชาตินิยม หรือนิยายเรื่องการปฏิวัติในอดีต แต่ที่สำคัญคือสถาบันกษัตริย์ในทุกประเทศในยุคปัจจุบัน รวมถึงประเทศไทย เป็นแค่สัญลักษณ์ล้าหลังที่ชนชั้นปกครองพยายามใช้ในการคุมพลเมือง การสร้างภาพว่าราชินีอังกฤษ “แต่งตั้ง” นายกรัฐมนตรี หรือศาลตุลาการ ฯลฯ หรือการที่ราชินีอังกฤษจะเปิดสภาหรือพูดถึงรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาล “ของเขา” เป็นเพียงพิธี ไม่ต่างจากไทย ไทยมีข้อแตกต่างคือมีประวัติความเป็นเผด็จการมาหลายปี ในขณะที่กระแสความคิดของคนไทยส่วนใหญ่นิยมประชาธิปไตย ท่ามกลางความขัดแย้งนี้พวกเผด็จการไทยจึงต้องหา “สิ่งศักดิสิทธิ์” มาช่วยกดทับพลเมืองเพื่อพยุงเผด็จการ และสาเหตุที่ยังทำได้ก็เพราะระดับการต่อสู้จากระดับรากหญ้าในไทย โดยเฉพาะจากขบวนการกรรมาชีพ ยังอ่อนแอ

กษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณ การเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทหารและชนชั้นนำคนอื่นเท่านั้น

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขที่เยอรมันอย่างเดียว

ประเด็นสำคัญคือ สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ วชิราลงกรณ์ ดูเหมือนไม่มีความสำคัญแม้แต่นิดเดียวต่อเรื่องชีวิตธรรมดาหรือปัญหาปากท้อง เวลาคนออกมาเคลื่อนไหวเพราะเดือดร้อนหรือโกรธแค้น ซึ่งยังเกิดขึ้นเป็นประจำ เป้าหมายของเขาอยู่ที่รัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์

46398d1788a446259c92282a67db5141

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ  ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคม พลเมืองไทยต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวในขบวนการมวลชนอันยิ่งใหญ่ ต้องลงถนน และต้องเคลื่อนกับขบวนการกรรมาชีพ ต้องสร้างพรรคที่พร้อมจะนำการเคลื่อนไหว ต้องเรียนบทเรียนเกี่ยวกับจุดอ่อนจาก ๑๔ ตุลา พฤษภา ๓๕ และเสื้อแดง เพื่อพัฒนาพลังการเคลื่อนไหว ไม่ใช่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ซุบซิบเรื่องวชิราลงกรณ์ การที่ภาระอันยิ่งใหญ่นี้ยังไม่สำเร็จก็เพราะยังไม่มีการลงมือจัดตั้งขบวนการอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพราะอะไรที่วชิราลงกรณ์ทำหรือไม่ทำ

 

อ่านเพิ่ม

บทความวิชาการของ ใจ อึ๊งภากรณ์ https://independent.academia.edu/GilesUngpakorn

การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย https://bit.ly/2ry7BvZ

มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย https://bit.ly/3112djA

บทบาทแท้ของนายภูมิพล และสถาบันกษัตริย์ไทย นิยายและความจริง https://bit.ly/2BLf2Gy

ข่าวมรณกรรมนายภูมิพล https://bit.ly/2XHjyhG

อำนาจกษัตริย์ https://bit.ly/2GcCnzj

ความเลวของวชิราลงกรณ์ https://bit.ly/2Lptg4d

เราจะสู้อย่างไร? https://bit.ly/2RQWYP4

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์   https://bit.ly/2UpOGjT