ใจ อึ๊งภากรณ์
มันเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างยิ่งที่หลายคน รวมถึงผมเอง ต้องเสียเวลาอ่านเศษขยะที่นักวิชาการรับจ้างเช่นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และเห็บไรสมุนเผด็จการคนอื่น เขียนออกมาแล้วอ้างว่าเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะพวกเรานักประชาธิปไตยทุกคนก็รู้อยู่ในใจแล้วว่าคงไม่มีอะไรดีออกมาจากกระบวนการปฏิกูลการเมืองหลังรัฐประหาร อย่างไรก็ตามเราต้องทนอ่านเพื่อวิจารณ์รายละเอียดของมัน
ในภาพกว้างร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต่างจากร่างแรกที่พวกนี้คายออกมาหลายเดือนก่อน เพราะมันเต็มไปด้วยเนื้อหาวิชา “หน้าที่พลเมือง” ระดับอนุบาลแบบไทยๆ ที่มองว่าประชาชนเป็นเด็กที่ต้องถูกสั่งสอนให้เชื่อฟังและจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา กษัตริย์ ทุกคนที่เรียนในโรงเรียนไทยอย่างที่ผมเคยเรียนก็คงนึกภาพออกทันที
แทนที่จะเน้นสิทธิเสรีภาพของพลเมือง รัฐธรรมนูญนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยและการรักษาระบบชนชั้นแบบที่พลเมืองส่วนใหญ่อยู่ใต้ตีนทหาร กษัตริย์ และอำมาตย์อื่นๆ มันเป็นระบบชนชั้นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดโกหกว่า “ไม่มี”
มันมีหมวดชวนให้ขำแบบตลกร้าย ที่พูดถึงคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองที่เป็น “คนดี” อย่าลืมว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นจากการกระทำของโจรฆาตกรที่ปล้นอำนาจจากประชาชน และฆ่า จำคุก และทรมานคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และพวกนั้นทำสิ่งชั่วๆเหล่านี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ตนเอง ของแถมในช่วงท้ายๆ คือมาตรา 285 เพื่อฟอกตัวทหารมือเปื้อนเลือด พร้อมกับมีการอิงรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ชั่ว”…คราว ที่ทหารเบ่งออกมาหลังรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
ในทางเศรษฐกิจ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ค่อยต่างจากรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ในแง่ที่มันเป็นรัฐธรรมนูญที่เชิดชูกลไกตลาดเสรีแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ภายใต้ลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง (มาตรา87) ดังนั้นมันจะกล่าวถึงการใช้กลไกตลาดในระบบสาธารณสุข แทนที่จะใช้ระบบที่ตอบสนองความต้องการของพลเมืองไม่ว่าจะจนหรือรวย มันกล่าวซ้ำๆ เรื่อง “วินัยทางการคลัง” แต่แน่นอนค่าใช้จ่ายมหาศาลทางทหาร หรือสำหรับราชวงศ์ คง “ไม่เป็นภัย” ต่อวินัยทางการคลัง เพราะมันไม่ใช่งบประมาณที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจน ดังนั้นมาตรา 189 และส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญห้ามสิ่งที่สลิ่มชอบเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจเองว่าอะไรเป็นประโยชน์กับตนเอง ต้องให้ผู้รู้หรือคนที่มีตำแหน่งสูงตัดสินใจให้ อย่างไรก็ตามประชาชนจะมีโอกาส “เล่น” การมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นผ่าน “สมัชชาพลเมือง” เหมือนของเล่นที่ชื่อว่า “ดูสิตธานี” สมัยรัชกาลที่๖
แน่นอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบเพื่อกีดกันนักการเมืองที่มีชื่อแบบ “ท.ช.” หรือ “ย.ช.” โดยมีมาตรการทางกฏหมายเพื่อให้ความชอบธรรม รูปแบบของการกีดกันนักการเมืองฝ่ายค้านอย่างนี้ โดยอ้างถึงกฏหมาย มีในสิงคโปร์และพม่า
รัฐสภาจะมี สส.เขต 300 คน และสส.บัญชีรายชื่อระดับชาติอีก 150-170 คน โดยปรับจำนวน สส.บัญชีรายชื่อขึ้นหรือลง เพื่อให้สะท้อนคะแนนเสียงของแต่ละพรรค แต่รัฐสภาจะมีอำนาจจำกัดมาก และนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีการห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งติดต่อกันมากกว่า 8 ปี ซึ่งคงจะลดภาระของทหารในการทำรัฐประหารในอนาคต
อำนาจในการเห็นชอบกับสิ่งที่รัฐสภาหรือรัฐบาลทำจะถูกควบคุมโดยสององค์กรคือ
- วุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ 77 คน บวกกับสมาชิกลากตั้งโดยอำมาตย์อีก 123 คน และวุฒิสภานี้จะมีอำนาจแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และองค์กร “ไม่อิสระ” อื่นๆ ที่เคยใช้อำนาจเหนือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอดีต ถ้าสส.ในรัฐสภาเห็นชอบกับการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องคลานไปขออนุญาตจากวุฒิสภา และการแก้รัฐธรรมนูญให้ชาวปาตานีปกครองตนเอง หรือให้ไทยเป็นสาธารณรัฐย่อมทำไม่ได้
- มาตรา 259 เป็นต้นไป กำหนดให้มี “คณะทหารมหาอำนาจ” ที่เรียกยาวๆ และน่าเบื่อว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิกูลและการบังคับปรองดองแห่งชาติหมา” คณะทหารมหาอำนาจนี้เป็นรัฐบาล “รุ่นพี่” ที่จะคอยควบคุมทุกอย่างที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกระทำ และถ้านึกไม่พอใจอะไรก็สามารถก่อ “รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ” ได้เสมอ ถึงแม้ว่า “คณะทหารมหาอำนาจ” จะอยู่ได้แค่ 5 ปีในช่วงแรก แต่ก็ต่ออายุได้อีกด้วย
แค่การตั้ง “คณะทหารมหาอำนาจ” นี้ก็พอที่จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญโจรฉบับนี้สวนทางโดยสิ้นเชิงกับประชาธิปไตย และเป็นเรื่องดีที่หลายคนออกมาวิจารณ์แล้ว
แต่พวกปฏิกูล เช่นวิษณุ เครืองาม ยังหน้าด้านเสนออีกว่าพลเมืองไทย “ไม่มีสิทธิ์” ในการรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญนี้ ในขณะเดียวกัน วิษณุไม่ละอายที่จะชมรัฐธรรมนูญนี้ผ่านสื่อมวลชน… คงเป็นเพราะเราทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่บางคนมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนอื่น!!