Tag Archives: คณะประชาชนปลดแอก

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราต้องสู้เพื่อสิทธิทำแท้งเสรีและปลอดภัย

แต่ละปีทั่วโลกมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 20 ล้านครั้ง ส่งผลให้ผู้หญิงกว่า 70,000 คน เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัญหานี้สำคัญมากสำหรับสตรีไทย โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจนในชนบท

ภาพจากประชาไท

ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายใหม่ในไทยอาจจะอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ยังจำกัดว่าอายุตั้งครรภ์โดยทั่วไปต้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ อาจจะยกเว้นในกรณีวัยรุ่นที่ทำแท้งได้ถึง 20 สัปดาห์ ซึ่งต่างจากประเทศตะวันตกหลายประเทศที่อนุญาตให้สตรีทุกคนทำแท้งถึง 24 สัปดาห์

และร่างกฏหมายใหม่ยังไม่ได้ยกเลิกความผิดทางอาญาต่อบุคคลทีทำแท้งตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาสังคม

แต่การที่คนจนจะเข้าถึงบริการการทำแท้งที่ปลอดภัยยังมีข้อจำกัด เพราะแพทย์กับพยาบาลอาจมีอคติส่วนตัวที่นำมาตัดสินการตัดสินใจของคนผู้หญิงที่ตั้งท้อง นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ให้บริการการทำแท้งฟรีจะมีจำนวนเท่าไร?

สำหรับสตรีชนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงที่มีเงิน การทำแท้งเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่ากรรมาชีพและคนจน ดังนั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการแรงงานไทย มีข้อเรียกร้องให้สตรีทุกคนมีสิทธิ์ทำแท้งเสรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน

ในเวียดนามนอกจากผู้หญิงจะมีสิทธิ์ทำแท้งแล้ว ในช่วงแรกหลังการรวมประเทศในปี 1975 มีการพัฒนาการบริการของรัฐในเรื่องสุขภาพอนามัยสำหรับสตรี ซึ่งรวมถึงการบริการในด้านการคุมกำเนิดอีกด้วย และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนปี 1989 เน้นว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้ง และได้รับการบริการในทุกด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพสตรี ต่อมาในปี 1991 มีการออกกฎระเบียบให้ผู้หญิงลางานเพื่อทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม

กรณีเวียดนาม ที่มีเสรีภาพในการทำแท้ง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานภาพของผู้หญิงในเรื่องสุขภาพเจริญพันธ์ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศไทยสตรีไทยยังเสี่ยงภัยมากกว่าสตรีเวียดนามเพราะมีการจำกัดสิทธิทำแท้งเสรี

ในประเทศที่มีสิทธิทำแท้งเสรี อัตราการทำแท้งไม่ได้สูงไปกว่าประเทศที่จำกัดการทำแท้งตามกฏหมายหรือตามค่านิยม เพราะในประเทศที่ไม่มีสิทธิทำแท้งเสรี ผู้หญิงส่วนใหญ่จำเป็นต้องแอบไปทำแท้งที่อันตราย และไม่ใช่ว่าในประเทศที่เสรีกว่าผู้หญิงจะ “สําส่อน” หรือ ไม่พยายามคุมกำเนิดแต่อย่างใด จริงๆ แล้วคำว่า “สำส่อน” เป็นคำที่ใช้ดูถูกผู้หญิงโดยพวกอนุรักษ์นิยมประเภทมือถือสากปากถือศีล

ในโลกปัจจุบันมีหลายประเทศที่เคยอนุรักษ์นิยมแต่หันมาอนุญาตให้มีสิทธิทำแท้งเสรี เช่นไอร์แลนด์ และอาเจนติน่า และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการต่อสู้ของสตรีและคนหนุ่มสาวยุคใหม่

สิทธิของสตรีที่จะควบคุมร่างกายตนเอง โดยไม่มีนักการเมือง พระ ทหาร ผู้พิพากษา หรือพวกอนุรักษ์นิยมหัวไดโนเสาร์ มาควบคุม เป็นสิทธิพลเมืองพื้นฐาน “สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย” นี้ หมายถึงสิทธิที่จะตั้งท้องหรือไม่ และสิทธิที่จะยุติการตั้งท้องถ้าไม่พร้อม สิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัยนั้นเอง

พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” เพื่อนำความคิดของตนเอง มาบังคับใช้กับคนอื่น โดยสนับสนุนกฎหมายที่จำกัดการทำแท้ง เป็นพวกที่ใช้เผด็จการเพื่อกดขี่คนอื่น เพราะถ้าคุณเป็นสตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งคุณก็ไม่ต้องทำ แต่คุณไม่มีสิทธิ์เหนือร่างกายผู้หญิงคนอื่นที่คิดต่าง ถ้าคุณเป็นผู้ชายคุณมีสิทธิ์พูดและคิด แต่ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้นในบังคับผู้หญิงไม่ให้ทำแท้ง คนที่อยากเผด็จการกับร่างกายสตรี เป็นพวกที่นิยมระบบทาส เพราะการใช้อำนาจเหนือร่างกายผู้อื่นคือระบบทาส

นอกจากนี้พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” ในการห้ามทำแท้ง เป็นพวกสองมาตรฐาน เพราะเน้นสิทธิจอมปลอมของทารกที่ยังไม่เกิดเหนือสิทธิแม่ แต่ยิ่งกว่านั้นพวกนี้เป็นคนที่ให้ความชอบทำกับการมีกองทัพเพื่อฆ่าคน และมักจะให้ความชอบธรรมกับการฆ่าผู้รักประชาธิปไตยโดยทหาร นอกจากนี้พวกที่คัดค้านการทำแท้ง บ่อยครั้งมักจะสนับสนุนโทษประหารชีวิตอีกด้วย

คาดว่าในประวัติศาสตร์ของประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ในยุคก่อนที่จะมีการค้นพบวิธีคุมกำเนิด การทำแท้งเป็นวิธีการปกติของผู้หญิงในการจำกัดจำนวนบุตร

สิทธิทำแท้งปลอดภัยและเสรีเป็นเรื่องจุดยืนทางการเมือง และเรื่องชนชั้นเป็นหลัก เพราะในขณะที่คนจนหรือกรรมาชีพในโรงงานต้องเสี่ยงกับการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยในสถานที่เถื่อน หรือเสี่ยงกับการติดหนี้มหาศาลเพื่อไปทำแท้งในคลินิก คนรวยและลูกสาวของครอบครัวชั้นสูง สามารถใช้เงินซื้อการทำแท้งปลอดภัยในไทยหรือในต่างประเทศ และเขาทำเป็นประจำ

นอกจากเรื่องชนชั้นแล้ว สิทธิการทำแท้งเสรีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสตรีคนรุ่นใหม่อีกด้วย เพราะเขาอยู่ในกลุ่มที่มักจะเสี่ยงกับการตั้งท้อง

นี่คือสาเหตุที่เราต้องสนับสนุนการรณรงค์ของสหภาพแรงงานและกลุ่มภาคประชาชนเพื่อสิทธิทำแท้งเสรี และปลอดภัย

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักสังคมนิยมเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่จะปลดแอกประเทศไทยได้

ชนชั้นกรรมาชีพคือใคร?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของลัทธิมาร์คซ์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ลูกจ้างนั้นเอง ลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาวในธนาคาร คนขับรถเมล์ คนขับรถไฟ พนักงานสายการบิน พนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์ฯลฯ

หลายคนไม่เข้าใจคำว่า “ปัจจัยการผลิต” และคิดว่าคำนี้เหมือนคำว่า “ทรัพย์สมบัติ” แต่สองคำนี้ต่างกันมาก ปัจจัยการผลิตคือ โรงงาน ที่ดิน และบริษัทที่นำมาใช้ในการผลิตหรือในการแจกจ่ายผลผลิต ส่วนทรัพย์สมบัติอาจรวมถึงสิ่งที่ไม่ได้ใช้ในการผลิต เช่น เสื้อผ้า เตียง โทรทัศน์ หรือตู้เย็น

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปลดแอกสังคมไม่ใช่เพราะชนชั้นนี้ถูกกดขี่หนักที่สุด หรือถูกขูดรีดหนักที่สุด บางครั้งการที่มนุษย์ถูกกดขี่อย่างหนักอาจทำให้ขาดความมั่นใจ และไม่มีความประสงค์ที่จะทำอะไรเลยนอกเหนือจากการแสวงหาวิธีเลี้ยงชีพเพื่อเอาตัวรอดเป็นวัน ๆ ไป

ชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้สำคัญต่อการปลดแอกสังคมเพราะชนชั้นนี้มีจิตสำนึกสูงกว่าชนชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ ความจริงแล้วจิตสำนึกไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่มาจากประสบการณ์ในการต่อสู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กระทำอยู่ทุกวัน มาร์คซ์ เขียนถึงปัญหาการวมตัวของชนชั้นกรรมาชีพว่า ชนชั้นนี้ต้องพยายามสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นเพื่อให้แปรรูปเป็น “ชนชั้นเพื่อตัวเอง” การแปรรูปแบบนี้จะเริ่มด้วยการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อการแก้ปัญหาปากท้อง แต่จะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาการเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วย ตรงนี้บทบาทของพรรคสังคมนิยมมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปลดแอกสังคมมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

(1)      ชนชั้นกรรมาชีพมีความสัมพันธ์พิเศษในระบบการผลิตและบริการของทุนนิยมเพราะทุนนิยมผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพเข้ามาทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงานขนาดใหญ่ โดยที่งานของแต่ละคนต้องอาศัยพึ่งพางานของเพื่อนร่วมงานตลอด ตัวอย่าง เช่น พนักงานสร้างรถยนต์ในโรงงาน ไม่สามารถสร้างรถคันหนึ่งขึ้นมาตามลำพัง แต่ต้องอาศัยงานของคนอื่นจากแผนกอื่น ๆ ของโรงงาน หรือในโรงพยาบาล พนักงานคนหนึ่งไม่สามารถรักษาคนไข้ตามลำพังได้ ต้องอาศัยงานของคนในแผนกต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการทำงานแบบนี้ช่วยส่งเสริมความคิดในเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม และการร่วมมือกัน

นอกจากนี้แล้วเวลามีปัญหาที่ทำให้คนงานเดือดร้อนวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลมากที่สุด คือ การรวมกลุ่มเพื่อเจรจากับนายจ้างซึ่งอาจช่วยทำให้คนงานเห็นคุณค่าของความสามัคคีด้วย

(2)     ชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้หลักที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพตลอด นายทุนนายจ้างไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เครื่องจักรหรือระบบคมนาคมต้องถูกควบคุมและสร้างขึ้นโดยกรรมาชีพ และต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน ทีมาจากการทำงานของคนงาน

ถ้าชนชั้นกรรมาชีพทุกคนหยุดงานพร้อม ๆ กันจะเกิดอะไรขึ้น ? ไฟฟ้าจะดับ น้ำจะไม่ไหล การคมนาคมสื่อสารทุกชนิดจะยุติลง ในสำนักงานต่าง ๆ แอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์จะดับ และการผลิตในโรงงานจะยุติลง

อำนาจซ่อนเร้นแบบนี้ของชนชั้นกรรมาชีพมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้กำลังทุกชนิดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพสามารถปลดแอกสังคมได้

(3)     ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ ในยุคที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคลื่อนไหว ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกมีจำนวนน้อยมาก น้อยกว่าจำนวนคนงานทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันเสียอีก แต่ในยุคสมัยใหม่ชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของโลก แม้แต่ในประเทศไทยในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพมีมากกว่าชนชั้นอื่น

การปลุกระดมและเตรียมตัวนัดหยุดงาน

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อนร่วมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการอยู่แล้ว แต่คนเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ใจ อึ๊งภากรณ์

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัญญาณเตือนภัย

ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างความตื่นเต้นและความหวังล้นฟ้าสำหรับคนไทยเป็นล้านๆ และคนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเองทั่วโลก

แต่สัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ว่าจะมีการลดเพดานและจะจบลงด้วยการประนีประนอมแบบแย่ๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวและแกนนำต้องการให้จบแบบนั้น แต่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการทบทวนและพัฒนาการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้ เพราะการชุมนุมไปเรื่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ จะเอาชนะทหารไม่ได้

ภัยหลักตอนนี้คือการยอมปล่อยให้รัฐสภาจัดการเรื่องการปฏิรูปสังคม เพราะถ้าเราไม่ระวังรัฐสภาที่คุมโดยทหารจะยอมแค่ให้แก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ประยุทธ์จะไม่ลาออก และจะไม่มีการปฏิรูปกษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวควรภูมิใจในผลงานในสามเดือนที่ผ่านมาเพราะมีการชุมนุมใหญ่ของคนจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาข้อเรียกร้อง มีการแสดงความกล้าหาญที่จะวิจารณ์กษัตริย์ และมีการดึงเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีเข้ามาเพื่อขยายแนวร่วม สิ่งเหล่านี้ขบวนการเสื้อแดงในอดีตไม่สามารถทำได้

และทั้งๆ ที่ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น ทุกคนเดือดร้อนและคนจำนวนมากต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการประนีประนอมหรือลดเพดานจะไม่มีวันแก้ปัญหาของสังคมได้ และไม่มีวันทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ

มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเรื่องยุทธ์วิธีที่จะพัฒนาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

ปัญหาอันหนึ่งคือการใช้วิธี “ทุกคนเป็นแกนนำ” สามารถช่วยให้การต่อสู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่แกนนำหลายคนถูกจับก็จริง แต่ไม่นำไปสู่การสร้างโครงสร้างภายในขบวนการที่จะกำหนดแนวทางด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ แน่นอนแกนนำไม่ได้หวังเป็นเผด็จการ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างเพื่อให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ แกนนำจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยปริยาย และจะไม่สามารถดึงคนรากหญ้ามาช่วยตัดสินแนวทางได้ นี่คือประสบการณ์จากขบวนการเคลื่อนไหว Podemos ที่อ้างว่าไม่มีแกนนำในสเปน

ขบวนการที่ไทยได้รับความคิดและความสมานฉันท์จากขบวนการฮ่องกง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความสำคัญของการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นข้อสรุปสำคัญของหลายส่วนที่ฮ่องกง

ทุกวันนี้มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมชุมนุมกับคนหนุ่มสาว และกระแสความชื่นชมในขบวนการประชาธิปไตยยังสูงอยู่ ดังนั้นคนหนุ่มสาวและนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าควรลงมือเดินเข้าไปหาคนทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพูดคุยกับคนทำงานในเรื่องการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงานเพื่อหนุนการชุมนุมของคนหนุ่มสาว

แน่นอน จะมีคนที่ออกมาพูดว่าการนัดหยุดงาน “ทำไม่ได้” หรือ “คนงานไทยไม่มีวันนัดหยุดงาน” หรือ “คนงานกำลังจะเอาตัวรอดไม่ได้” แต่พวกนี้จะเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และปิดหูปิดตาถึงการพัฒนาทางความคิดที่เกิดขึ้นในรอบสามสี่เดือนที่ผ่านมาในไทย ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนขอท้าคนที่พูดแบบนี้ว่า “ถ้าไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกระแสการนัดหยุดงาน ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้?” “ท่านมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ?”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้ประท้วงไม่ควรฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

ถ้าเป้าหมายในใจของผู้ประท้วงคือแค่การกดดันให้รัฐสภาพิจารณาสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฏร หรือส่งลูกและฝากความหวังไว้กับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องจะจบลงด้วยการประนีประนอมที่แย่ที่สุด

ในเมื่อผู้รักประชาธิปไตยออกมาแสดงพลังเป็นแสนๆ และฝ่าการปราบปรามของตำรวจ มันจะเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเศร้าใจ

อย่าให้ใครมาบอกเราว่า “เราทำได้แค่นี้” หรือ “ต้องใจเย็นปฏิรูปไปทีละก้าว” เพราะการปฏิรูปไปทีละก้าวอาจทำให้มีการถอยหลังทีละก้าวได้ง่าย

เราพอจะเดากันได้ว่าถ้ามีการพิจารณาสามข้อเรียกร้องในสภา มีแค่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐรรมนูญที่พวกนั้นจะยอมพิจารณา และคงจะเป็นการ “แก้” รัฐธรรมนูญในบางจุดเท่านั้น ไม่ใช่การร่างใหม่โดยประชาชนรากหญ้า

ในบทความก่อนหน้านี้ผมพยายามเสนอว่าประยุทธ์คงไม่ลาออกง่ายๆ เพราะพวกโจรเผด็จการมันลงทุนไว้เยอะ เช่นเรื่องการแต่งตั้งส.ว.และโกงการเลือกตั้งฯลฯ ถ้าประยุทธ์จะลาออกมันจะเป็นการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง และเสียหน้ามากมาย ถ้าจะทำให้เป็นจริงต้องมีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่พลังเศรษฐกิจผ่านการนัดหยุดงานเพื่อทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือการก่อจลาจลซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย

ชลบุรี

การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักสหภาพแรงงานบางส่วนออกมาร่วมการประท้วงแล้วที่รังสิตกับชลบุรี การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักเรียนนักศึกษาที่นำการประท้วงได้รับความชื่นชมในสายตาประชาชนเป็นล้านๆ แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องจับมือกับนักสหภาพแรงงานที่ก้าวหน้า และวางแผนเพื่อไปเยี่ยมพูดคุยถกเถียงกับคนทำงานตามสถานที่ทำงานหลายๆ แห่ง และไม่ใช่แค่โรงงาน ควรคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พนักงานในสำนักงาน และคนที่ทำงานในระบบคมนาคม สรุปแล้วมันต้องมีการลงทุนลงแรงในการทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นจริง พลังที่จะล้มเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นเองแบบง่ายๆ

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลมากมาย และหลายคนมองว่าเป็นข้อเสนออ่อนๆ ที่ไม่ใช่การล้มเจ้า แต่สำหรับทหารมันเป็นเรื่องใหญ่มากและยอมยาก เพราะทหารใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือมา 50 ปีกว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทหารเชิดชูเพื่อใช้ในการให้ความชอบธรรมกับระบบเผด็จการ การสร้างกษัตรย์ให้ดูเหมือนมีอำนาจดุจพระเจ้า เป็นวิธีสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน ดังนั้นถ้าเขายอมถอยในเรื่องนี้ ทหารจะหมดความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมือง ด้วยเหตุนี้เราต้องย้อนกลับมาดูวิธีที่จะกดดันแก๊งประยุทธ์ให้ยอมแพ้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบน

การสร้างภาพของทหารที่มีอำนาจเหนือวชิราลงกรณ์

กษัตรย์ไทยไม่มีอำนาจในตัวเอง ทั้ง ร.9 และ ร.10 เป็นคนอ่อนแอทางการเมือง ร.10 อาจทำตัวเหมือนนักเลงกระจอกในเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขา แต่เขาสั่งการทหารไม่ได้ สาเหตุที่คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่ากษัตริย์มีอำนาจ ก็เพราะทหารและชนชั้นนำไทย รวมถึงทักษิณด้วย ได้เชิดชูกษัตริย์มานานและสร้างขึ้นมาให้ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เรากลัวที่จะตั้งคำถามกับระบบชนชั้นที่กดทับเรา และยอมจำนนต่อแนวคิดว่า “บางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ” สาเหตุที่คนจำนวนมากยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ใช่เพราะความโง่ แต่เป็นเพราะขาดความมั่นใจที่จะคิดทวนกระแสของชนชั้นปกครอง และการขาดความมั่นใจแบบนี้มักจะหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหวประท้วงของมวลชน นักมาร์คซิสต์เรียกการมองปรากฏการณ์ในโลกแบบ “กลับหัวกลับหาง” ว่าเป็นอาการของสภาพแปลกแยก Alienation และเราแก้ได้ด้วยการต่อสู้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นกับตาในไทย ตอนนี้ร.10 ไมใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่คนที่ตาสว่างควรจะตาสว่างเพิ่มขึ้นและเข้าใจว่าศัตรูหลักของเราคือทหารกับพรรคพวกที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ขึ้นมาแต่แรก

ถ้าจะขอให้จบที่รุ่นนี้ ต้องมีการยกระดับการต่อสู้ ไม่ใช่ส่งลูกให้นักการเมืองในรัฐสภา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประยุทธ์เปื้อนเลือดมันไม่ออกง่ายๆ

ทั้งๆ ที่พวกเราเชียร์ความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวในการต้านเผด็จการ แต่ในใจเราลึกๆ แล้ว หลายคนเข้าใจว่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือดมันคงไม่ออกง่ายๆ ซึ่งแปลว่าเราต้องขยับการต่อสู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ประยุทธ์กับแก๊งเผด็จการมันลงทุนในการครองอำนาจมากมายและยาวนาน มันมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดง มันยึดอำนาจผ่านการทำรัฐประหาร มันขู่ ขัง และฆ่าคนเห็นต่าง มันวางแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20  ปี มันออกแบบรัฐธรรมนูญเผด็จการ มันแต่งตั้งพวกของมันเป็นส.ว. และคุมศาล และหลังจากปกครองแบบเผด็จการโดยตรงมันก็โกงการเลือกเพื่อปกครองผ่านเผด็จการรัฐสภา ทั้งหมดนี้แปลว่ามันจะไม่ลงจากอำนาจง่ายๆ

ชนชั้นปกครองไทยแสดงตัวว่าพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่รักประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ทหารหรือตำรวจตชด.ยิงผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธและทำทารุณกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, ตากใบในปาตานี, หรือการฆ่าเสื้อแดง และอย่าลืมว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมอีกมากมาย รัฐไทยคือรัฐอาชญากร และประยุทธ์มีส่วนโดยตรงในการฆ่าเสื้อแดง และการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง

ดังนั้นหลังจากที่ตำรวจสลายการประท้วงของคนหนุ่มสาวที่สยามเมื่อวันก่อน เรามีสิทธิ์ที่จะต้องโกรธแค้น แต่เราไม่ควรแปลกใจ

เราไม่ควรแปลกใจด้วยที่มีการสั่งปิดบริการรถไฟไฟฟ้าด้วย อย่าลืมว่าตอนเสื้อแดงประท้วง BTS มันหยุดวิ่งรถเพื่อให้ทหารสไนเปอร์ขึ้นรางและยิงเสื้อแดงตายที่วัดปทุม

พูดง่ายๆ ฝ่ายมันจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของมัน

การขับไล่เผด็จการออกไป ต้องอาศัยการทำให้ชนชั้นปกครองอยู่ต่อแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีการทำให้เขาบริหารประเทศไม่ได้ และต้องทำให้ฝ่ายเขาเริ่มแตกแยกกันเอง พลังที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากไหน?

ในอดีตสมัย 14 ตุลา 2516 มีการนัดหยุดงานมหาศาลในต้นเดือนตุลาคม มีการเคลื่อนไหวของเกษตรกร มีการขยายจำนวนคนที่ชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์ และในที่สุดนักเรียนนักศึกษาและประชาชนคนทำงานก็ออกมา 5 แสนคนกลางถนน มีการสู้กับทหารที่ใช้อาวุธและกระสุนจริงเข่นฆ่าประชาชน และในที่สุดทรราชก็ต้องออกจากประเทศไป

ในสมัยพฤษภา 35 มีการจลาจลเกิดขึ้นหลายวันหลังจากที่ทหารไล่ฆ่าประชาชน จนในที่สุดทรราชต้องลาออก

การรวมตัวกันของพวกเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนมากันเป็นแสนในเดือนกันยายน และในวันที่ 14 ตุลาคม และความก้าวหน้ากล้าหาญของนักเรียนนักศึกษา แสดงว่าพลังการต่อสู้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แต่พอมาถึงจุดนี้การใช้เฟลชม็อบเล่น “วิ่งไล่กัน” หรือเล่น “ซ่อนหา” ในกรุงเทพฯ ซึ่งอาศัยความกล้าหาญและความอดทน มันไม่พอที่จะล้มทรราชประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการประท้วง “ดาวกระจาย” ในวันนี้ (17 ต.ค.) พิสูจน์ว่ากระแสต่อสู้และความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูงในหมู่ประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น เราต้องใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการต่อสู้

เราถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะเราจะต้องรักษาโมเมนตัมหรือการเพิ่มพลังที่ขยับไปข้างหน้าให้มันเพิ่มขึ้นอีก ถ้าไม่เช่นนั้นขบวนการเราจะถอยหลัง ดังนั้นต้องมีการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น การพักรบชั่วคราวเพื่อหารือกันและนัดวันประท้วงใหม่ในเดือนข้างหน้าไม่เสียหายอะไรถ้านำไปสู่การประท้วงที่เพิ่มพลัง

แน่นอนผมไม่อยากเห็นการจลาจลที่ทำให้ฝ่ายเราเสียเลือดเนื้อ ทั้งๆ ที่วันก่อนประยุทธ์มันขู่ฆ่าพวกเราไปแล้ว นี่คือสาเหตุที่ผมเสนอว่าเราต้องหาทางปิดสถานที่ทำงานเพื่อให้มีผลทางเศรษฐกิจกับรัฐบาล การหาทางให้คนทำงานนัดหยุดงานประท้วงเผด็จการเป็นวิธีสำคัญที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ [ดูรายละเอียดขั้นตอนการสร้างกระแสนัดหยุดงานที่ผมเสนอในบทความก่อนหน้านี้ https://bit.ly/31eJMcX ] แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ใหญ่ที่พ้นวัยนักเรียนนักศึกษาแล้วจะต้องออกมาเคลื่อนไหวในจำนวนมากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

การนัดหยุดงานเป็นพลังที่ล้มรัฐบาลได้ และปราบยากที่สุด แต่จะเกิดได้อย่างไร

ในหลายประเทศของโลกที่ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ การที่ขบวนการแรงงานเข้ามาร่วมโดยมีการนัดหยุดงานในสถานที่ทำงานทั่วประเทศ ทำให้การต่อสู้มีพลังมากขึ้นมหาศาล ตัวอย่างเช่นใน ซูดาน เบลารุส อียิปต์ อัลจีเรีย หรือในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกา

ดังนั้นถ้าเราจะเสริมพลังของขบวนการที่นำโดยคนหนุ่มสาวในไทย เราต้องหาทางให้มีการนัดหยุดงานตามสถานที่ทำงานต่างๆ ประเด็นคือจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องอธิบายคือแค่การประกาศทางสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ไม่มีวันทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เลย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าวันที่ 14 ตุลาปีนี้จะมีการนัดหยุดงานทั่วไป สำนักข่าวต่างประเทศยังมีการออกข่าวด้วย แต่ในรูปธรรมมันไม่ได้เกิด

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อราวมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ราษฎร์ประสงค์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการ แต่คนเป็นหมื่นพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

สาเหตุที่คนออกมาประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้ก็เพราะเขาไม่พอใจกับสภาพการเมืองที่แช่แข็งสังคมมานาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักกิจกรรมต้องทำในขบวนการแรงงานคือ ต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองภาพกว้างและความสำคัญของการออกมาประท้วง ไม่ใช่ไปแค่พูดเรื่องปากท้องวนซ้ำอยู่กับที่

ขอย้ำอีกที ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ท้ายสุดเราต้องเข้าใจว่าสถานที่ทำงานมีหลายประเภทและสำคัญพอๆ กันหมด มันไม่ใช่แค่โรงงาน ซึ่งก็สำคัญ แต่มันรวมถึงสำนักงานต่างๆ ที่มีลูกจ้างปกคอขาว เช่นธนาคารหรือแม้แต่ข้าราชการผู้น้อยในกระทรวงต่างๆ มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบขนส่ง มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข และมันรวมถึงครูบาอาจรย์ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนด้วย

และมันรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของคนหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วง

ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ จะทำเมื่อไร? ถ้าไม่ล้มเผด็จการวันนี้ เราจะอยู่ต่อไปเป็นทาสนานเท่าไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว

ใจ อึ๊งภากรณ์

เนื่องในวันครบรอบรัฐประหาร ๑๙ กันยา และวันชุมนุมใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตย ผมขอเสนอบทความสั้นบทนี้

เผด็จการและมรดกของเผด็จการจะไม่หายไปเอง นักเคลื่อนไหวปัจจุบันจะต้องทบทวนแนวคิดที่ตั้งความหวังไว้กับพรรคการเมืองกระแสหลัก

ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน และถ้าจะให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง เราต้องกระตือรือร้นในการลงพื้นที่เพื่อคุยกับและปลุกระดมคนจำนวนมาก ต้องไว้ใจว่ามวลชนกลุ่มต่างๆ จะนำตนเองได้ และต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างยอมทำงานกับคนที่มีความคิดหลากหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของมวลชนที่ต่อต้านเผด็จการ หลายคนเริ่มทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แต่การจัดตั้งต้องขยายออกไปอีกมาก

ในระยะยาวการสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

รัฐไทย

ในบริบทวิกฤตประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน มีแนวความคิดหลายแนวที่สร้างความสับสนในการทำความเข้าใจกับลักษณะแท้ของรัฐไทย

แนวความคิดที่ถือว่าเป็นกระแสหลักมากที่สุด คือความเชื่อว่าการชนะการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ แต่สิ่งที่อาจทำให้นักประชาธิปไตยจำนวนมากตั้งคำถามก็คือ ในเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสิบปี การชนะการเลือกตั้งดูเหมือนไม่พอ เพราะมีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยทหารกับศาล

บางคนจะอธิบายว่าทหารกับศาลกำลังทำงานภายใต้การควบคุมของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือบางคนอาจพูดถึงอำนาจของ “รัฐพันลึก”

แต่เกือบตลอดเวลาที่มีวิกฤตประชาธิปไตยไทยรอบนี้ กษัตริย์ภูมิพลป่วยและไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะสั่งการอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ และในขณะนี้พรรคพวกของเผด็จการประยุทธ์ได้ออกแบบระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติและรัฐธรรมนูญทหาร ในเรื่องนี้กษัตริย์คนใหม่ก็ไม่เคยแสดงความเห็นหรือแสดงความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจรัฐอยู่ในมือของทหาร ข้าราชการชั้นสูง ศาล และในมือของนายทุนใหญ่อีกด้วย ทุกส่วนที่คุมอำนาจรัฐนี้ถือว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง เพียงแต่ว่ามีการแบ่งงานและหน้าที่กัน เช่นทหารมีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยการใช้อาวุธ ยิ่งกว่านั้นส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยก็ทะเลาะกันเป็นประจำ คือทั้งสามัคคีในผลประโยชน์รวมของชนชั้น แต่แย่งชิงกันในเรื่องปลีกย่อยอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ไม่ต่างจากสภาพรัฐทุนนิยมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

จริงๆ แล้วอำนาจของทหาร ข้าราชการชั้นสูง และนายทุนใหญ่ ไม่ใช่อำนาจที่เรามองไม่เห็น เพราะก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร เราก็เห็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นรัฐไทยไม่ได้มีอำนาจลึกลับหรือพันลึกแต่อย่างใด ความคิดเรื่องรัฐพันลึกในไทยอาศัยการเข้าใจผิดว่ารัฐควร “เป็นกลาง” และยอมรับกติกาประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงรัฐในระบบทุนนิยมทั่วโลกถูกออกแบบเพื่อจำกัดกระบวนการประชาธิปไตยแท้และสิทธิเสรีภาพของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ การที่ยิ่งลักษณ์หรือทักษิณหรือธนาธร จะชนะการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นสมาชิกของชนชั้นปกครอง เพราะเป็นนายทุน ไม่ได้แปลว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของเขาคนเดียว เขาต้องแบ่งอำนาจกับส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง หรือถูกกีดกันจากกลุ่มอื่น

ถ้าพรรคการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าพรรคกระแสหลัก โดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจน เกิดชนะการเลือกตั้งในอนาคต แน่นอนอำนาจรัฐจะยังคงอยู่ในมือของพวกที่เป็นศัตรูของประชาชน

แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ แต่การวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคกระแสหลักเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้วในกรณีคนเสื้อแดง

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย ถ้าจะทำสิ่งนี้ได้ พรรคจะต้องไม่เป็น “แนวร่วม” ระหว่างชนชั้นนายทุน ชนชั้นกลาง และชนชั้นกรรมาชีพ/เกษตรกรยากจน อย่างที่เราเห็นในกรณีพรรคก้าวไกล เพราะพรรคแบบนั้นจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์นายทุนและชนชั้นกลางเหนือชนชั้นอื่น และกรรมาชีพและเกษตรกรจะเป็นเพียง “แผนก” เล็กๆ ของพรรค

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรหันหลังให้กับการเลือกตั้งในรัฐสภาหรือสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียง และนี่คือจุดยืนของเลนินด้วย เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิเสรีภาพตามกติกาของรัฐนายทุน หรือไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่จะยากขึ้น

สรุปแล้วเราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่หลงคิดว่ารัฐปัจจุบันควรเป็นกลาง หรือหลงคิดว่าแค่การชนะการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมจะนำไปสู่การคุมอำนาจรัฐ

การนัดหยุดงานกับพลังในการสร้างเสรีภาพ

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา และอียิปต์

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล

มันมีตัวอย่างจากไหนในโลก ในยุคปัจจุบันหรืออดีต ที่ผู้ปกครองเผด็จการอาศัยอยู่นอกประเทศและสั่งการจากแดนไกล? อันนี้เป็นคำถามที่ท่านจะต้องตอบ ถ้าท่านจะอ้างว่าวชิราลงกรณ์อยู่เบื้องหลังระบบเผด็จการและการทำลายประชาธิปไตย หรือแม้แต่การอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง

ตัวอย่างจากทั่วโลกและในไทยชี้ให้เห็นว่าผู้นำเผด็จการมักเกรงกลัวว่าจะถูกโค่นล้มเมื่อไปต่างประเทศ และเป็นเป็นความกลัวที่ตรงกับประวัติศาสตร์ด้วย แต่พวกคลั่งซุบซิบเกี่ยวกับกษัตริย์ไม่เคยสนใจที่จะเปิดตาศึกษาประวัติศาสตร์โลกหรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ไทย คงจะเป็นเพราะส่วนใหญ่หมกมุ่นกับการด่ากษัตริย์เพื่อ “ความมัน” โดยไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมในการล้มระบบเผด็จการไทย

นอกจากนี้ในช่วงที่นายภูมิพลหมดสภาพและใกล้ตาย ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปี ใครคุมอำนาจในสังคมไทย? ร่างหมดสภาพของภูมิพลหรือทหารเผด็จการ? และอย่าลืมว่าพวกที่เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจล้นฟ้า เคยทำนายว่าเมื่อภูมิพลตาย จะมีสงครามแย่งบัลลังก์ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเลย

คนที่ศึกษาระบบกษัตริย์สากลจะพบว่าสาเหตุหลักที่มีการคงไว้ระบบกษัตริย์ในบางประเทศของยุโรป ในมาเลเซีย หรือในญี่ปุ่น ก็เพื่อที่จะส่งเสริมแนวคิดอนุรักษนิยมของชนชั้นนายทุนที่หมั่นสอนประชาชนชั้นล่างว่า “การเกิดสูงและเกิดต่ำเป็นเรื่องธรรมชาติ” ดังนั้นนายทุนใหญ่ คนรวย และเหล่ารัฐบุรุษต่างๆ สมควรที่จะมีอำนาจในการปกครอง และสมควรที่จะร่ำรวยมหาศาล ในขณะที่คนธรรมดาต้องเชื่อฟังและทำตาม เพราะคนธรรมดาไม่มีความสามารถในการปกครองตนเอง

สถาบันกษัตริย์ไทยปฏิรูปไม่ได้ และไม่ควรพยายามปฏิรูป

ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ

ในยุคนี้มีนักประชาธิปไตยบางคนเสนอว่าเราควร “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ แต่สถาบันกษัตริย์ปัจจุบันภายใต้นายวชิราลงกรณ์แย่เกินไปที่จะปฏิรูปแล้ว

การเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในที่สุดเป็นเพียงข้อเสนอให้คงไว้ระบบที่แช่แข็งความเหลื่อมล้ำ มันไม่เปิดประเด็นให้มีการถกเถียงกันในสังคมเรื่องระบบสาธารณรัฐ

ตั้งแต่นายวชิราลงกรณ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์และพฤติกรรมของกษัตริย์กลายเป็นละครน้ำเน่าราคาแพงสำหรับประชาชนไทยที่ต้องจ่ายแล้วจ่ายอีก เพื่อให้วชิราลงกรณ์เสพสุขในเยอรมันกับบรรดาเมียต่างๆ ของเขา และประชาชนไทยต้องจ่ายค่าเลี้ยงปรสิตคนนี้ เพื่อให้ทหารและส่วนอื่นของชนชั้นปกครองสร้างความชอบธรรมกับตนเอง ในขณะที่พวกนี้ไร้ความชอบธรรมที่จะปกครองเราโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เคยเคารพประชาชน ไม่เคยเคารพประชาธิปไตย และทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยเสมอ

ขบวนการเคลื่อนไหวจะคงไว้เป้าหมาย “3+10” อย่างไร?

  1. อย่าไปฝากความหวังอะไรทั้งสิ้นกับ “ผู้ใหญ่” ในวงวิชาการ หรือนักการเมืองจากพรรคกระแสหลัก อย่าให้เขาออกแบบวิธีปฏิรูปสังคมไทย
  2. พวกเรา โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว จะต้องรีบคุยกันเพื่อหาจุดร่วมว่าต้องการเห็นสังคมไทยแบบไหน ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน และต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พูดง่ายๆ ควรมีสมัชชาใหญ่ของคณะปลดแอกประชาชนและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเอา “เนื้อ” มาใส่โครงกระดูกของข้อเรียกร้อง “3+10” และคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
  3. ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อส่งต่อเรื่องให้คนอื่น และควรมีความพยายามที่จะขยายมวลชนไปสู่นักสหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนธรรมดากลุ่มอื่นๆ ควรมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในสถานที่ทำงานสามารถประท้วงได้อย่างไร เช่นการนัดหยุดงาน
  4. เราต้องเรียอร้องให้ยุติคดีของเพื่อนเราทุกคนที่ถูกหมายเรียกหมายจับทันที

ประชาชนจงเจริญ!!

เชิญอ่านบทความเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/3bQkvtx