Tag Archives: คณะราษฎร์

ระหว่างตากสินกับอ.ปรีดี ใครกู้ชาติกันแน่?

พวกที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะอวยกษัตริย์ตากสินเพราะไม่ชอบราชวงศ์ปัจจุบัน และใช้ข้ออ้างว่าตากสิน “กู้ชาติ” ดังนั้นเป็นคุณประโยชน์กับคนไทย แต่นั้นเป็นการเข้าใจประวัติศาสตร์ผิด เป็นการกลืนคำโกหกของชนชั้นปกครองไทยเรื่องกษัตริย์ และไม่ใช้กรอบคิดทางชนชั้นในการวิเคราะห์เลย

ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริง ไม่ใช่ตากสินและกษัตริย์อื่นๆ ที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕

เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพกับความเท่าเทียม และล้มอำนาจที่เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีต ในความคิดของคณะราษฎรมันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิดอ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย

ที่สำคัญคือ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา ดังนั้นกษัตริย์ตากสินจะ “กู้ชาติ” ไม่ได้

ตากสินขูดรีดไพร่ทาสเป็นพิเศษเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี สิ่งที่แรงงานบังคับต้องสร้างคือวังต่างๆ การเกณฑ์แรงงานครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างไม่น้อย และอาจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจของรัชกาลที่๑ การย้ายเมืองหลักไปอยู่ธนบุรีซึ่งใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพื่อควบคุมการค้าทางทะเลอย่างผูกขาดและเพื่อขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ตนเอง

ไม่มีกษัตริย์ไหนในไทยหรือในโลกที่มีคุณประโยชน์กับประชาชนธรรมดา การ “กู้ชาติ” ของกษัตริย์ที่บางคนพูดถึงเป็นแค่สงครามแย่งพื้นที่กันระหว่างมาเฟียสมัยศักดินา แย่งกันเพื่อมีอำนาจและสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย” ที่กำลังพิมพ์อยู่)

การฆ่าตากสินโดยทองด้วงกับพวก ซึ่งทำให้ทองด้วงตั้งตัวเป็นรัชกาลที่หนึ่งได้ เป็นแค่รัฐประหารแย่งอำนาจตามสันดานกษัตริย์ทั่วโลกในยุคก่อนไม่ว่าจะในไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที่อื่น และมีการโกหกกันว่าตากสิน “บ้า” ตากสินตายอย่างไรเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ในยุคที่ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อน๑๔ตุลา ครูบอกว่าโดนทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เราเข้าใจว่า “ถึงแม้จะบ้าก็ต้องเคารพ” ทำนองนั้น ครูคนเดียวกันในภายหลังสอนเราเรื่องปฏิวัติ ๒๔๗๕ และร้องไห้เพราะสงสารรัชกาลที่๗!!

ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน คนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย

พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแต่อวยกษัตริย์ตากสิน ทำตัวเหมือนไม่รู้จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีผู้ใหญ่ให้กราบไหว้ เป็นพวกที่ไม่มีความมั่นใจว่าพลเมืองผู้น้อยสามารถปลดแอกตนเองได้ จึงไม่ให้ความสำคัญกับม็อบหรือเยาวชนที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ แต่ฝากความหวังไว้กับทักษิณและนักการเมือง “ผู้ใหญ่” อื่นๆ ในที่สุดไม่ต่างจากพวกที่เคยโบกมือให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แทนที่จะพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา

มาร์คซิสต์กับ “ความรุนแรง”

เมื่อพูดถึง “ความรุนแรง” สิ่งแรกที่นักมาร์คซิสต์ต้องย้ำเสมอคือ ความรุนแรงของพวกที่กดขี่เรา (เช่น รัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล) ไม่เหมือนความรุนแรงของคนที่ถูกกดขี่ปราบปราม ในเรื่องนี้พวก “สันติวิธี” แบบหอคอยงาช้างมักจะละเลยเสมอด้วยคำพูดในเชิง “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง”

คำพูดแบบนั้นเรามักได้ยินในเรื่องความขัดแย้งในปาตานี หรือการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่พวกสันติวิธีแบบหอคอยงาช้างมองข้ามเสมอคือ ฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธและพร้อมที่จะใช้อาวุธเหล่านั้นเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เขาถืออาวุธไว้ปราบประชาชนเป็นการประกาศตั้งแต่แรกว่ารัฐพร้อมจะใช้ความรุนแรงเสมอ ดังนั้นข้อเรียกร้องว่า “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง” ไม่มีผลกับรัฐ แต่กลับกลายเป็นคำวิจารณ์คนที่ถูกกดขี่ปราบปรามที่พยายามป้องกันตัวเท่านั้น

คนที่อยู่ในไทยที่นั่งอยู่บ้านไม่ทำอะไร แต่วิจารณ์ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือประกาศว่า “เป็นห่วงน้องๆ” ที่ออกมาชุมนุม เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะถ้าเขาไม่อยากเห็นความรุนแรงเขาจะต้องมาร่วมชุมนุม ในหลายๆ กรณีมวลชนยิ่งมากเท่าไร รัฐยิ่งไม่กล้าปราบ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การกดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมที่ปาตานี เราจะเห็นว่าขบวนการติดอาวุธสู้กับรัฐไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นหลังจากที่หะยีสุหลงถูกรัฐไทยอุ้มฆ่าในปี ๒๔๙๗  โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือหลังจากการลงมือฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมไร้อาวุธที่ตากใบในปี ๒๕๔๗ โดยรัฐบาลทักษิณ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราจะเข้าใจว่าการจับอาวุธเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐไทยเข้ามาปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่นการจับขังหรือการฆ่าเป็นต้น

ในปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฏร์ หรือ REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้อาวุธ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เตรียมอาวุธมาทำร้ายคนอื่นคือตำรวจกับทหาร และอันธพาลของฝ่ายคลั่งเจ้า การที่ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการฉีดน้ำใส่สารเคมี การใช้ก๊าซน้ำตา การใช้กระสุนยาง หรือการใช้กระสุนจริง (อันหลังนี้โดยเฉพาะในกรณีเสื้อแดง) ถือว่าเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ฝ่ายรัฐปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหารแต่แรก

การที่แกนนำผู้ชุมนุมหลายๆ คนถูกรัฐจับกุมและขังในคุกด้วยกฏหมายเถื่อน112 ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปิดปากประชาชนและห้ามไม่ให้มีการแสดงออกอย่างเสรี อย่าลืมว่าคนที่กำลังโดน 112 แค่ใช้คำพูดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสูงตามหลักประชาธิปไตย เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดประยุทธ์ที่เคยสั่งฆ่าเสื้อแดง และต้องรับผิดชอบกับการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในยุคนี้

ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยพยายามป้องกันตัวหรือโกรธแค้นขึ้นมา และใช้ความรุนแรงโต้ตอบตำรวจหรือทหารมันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เข้าใจได้ และมาร์คซิสต์จะไม่มีวันวิจารณ์ เราจะพุ่งเป้าการวิจารณ์ไปที่รัฐบาลเผด็จการกับตำรวจทหาร

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วงในขบวนการ “Black Lives Matter” และไปเผาโรงพักที่ส่งตำรวจออกไปฆ่าคนผิวดำ เราจะไม่มีวันวิจารณ์

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าภายในขบวนการเคลื่อนไหว มวลชนจะไม่มีการถกเถียงกันเรื่องความฉลาดในการใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเสียการเมือง

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเราพูดแค่นี้ไม่ได้ มีอีกสองประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณา

ประเด็นแรกคือยุทธวิธีการจับอาวุธ ที่เคยใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่ BRN ใช้ในปาตานีตอนนี้ ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยได้ เพราะกองกำลังของรัฐไทยมีอาวุธและจำนวนคนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นการใช้แนวจับอาวุธมีผลทำให้มวลชนคนธรรมดาไม่มีบทบาทอะไรเลย และไม่มีส่วนในการกำหนดแนวทางต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพวกจับอาวุธย่อมปิดลับเสมอ มาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะล้มเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคม เราต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเมื่อใกล้ชนะแล้วมวลชนจะไม่ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากฝ่ายรัฐเก่าที่พร้อมจะฆ่าคนจำนวนมากในการรักษาอำนาจอันไม่ชอบธรรม แต่ในกรณีนั้นแนวทางจะเน้นมวลชนเหนือการจับอาวุธ

ถ้าจะเปรียบเทียบแนวจับอาวุธกับแนวมวลชน เรามีบทเรียนสำคัญจาก Arab Spring เพราะในกรณีอียิปต์ หรือตูนิเซีย มีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ในกรณีซิเรีย การใช้แนวจับอาวุธนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้ และแถมเปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมในสงคราม จนสังคมซิเรียพังทะลาย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปก้องกันตัวจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าเราสู้ด้วยอาวุธชนิดเดียวกับที่ผู้กดขี่เราใช้ จะไม่ได้ผลเท่าไร แต่ถ้าเราใช้พลังของมวลชนในการนัดหยุดงาน มันเป็นอาวุธที่ฝ่ายรัฐมีความลำบากมากในการปราบหรือโต้ตอบ เพราะกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ การนัดหยุดงานจึงเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง และสามารถใช้ล้มเผด็จการได้

อ่านเพิ่ม

ถ้าจะไล่เผด็จการทหารต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน http://bit.ly/2Oh1mJz

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัญญาณเตือนภัย

ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างความตื่นเต้นและความหวังล้นฟ้าสำหรับคนไทยเป็นล้านๆ และคนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเองทั่วโลก

แต่สัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ว่าจะมีการลดเพดานและจะจบลงด้วยการประนีประนอมแบบแย่ๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวและแกนนำต้องการให้จบแบบนั้น แต่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการทบทวนและพัฒนาการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้ เพราะการชุมนุมไปเรื่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ จะเอาชนะทหารไม่ได้

ภัยหลักตอนนี้คือการยอมปล่อยให้รัฐสภาจัดการเรื่องการปฏิรูปสังคม เพราะถ้าเราไม่ระวังรัฐสภาที่คุมโดยทหารจะยอมแค่ให้แก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ประยุทธ์จะไม่ลาออก และจะไม่มีการปฏิรูปกษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวควรภูมิใจในผลงานในสามเดือนที่ผ่านมาเพราะมีการชุมนุมใหญ่ของคนจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาข้อเรียกร้อง มีการแสดงความกล้าหาญที่จะวิจารณ์กษัตริย์ และมีการดึงเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีเข้ามาเพื่อขยายแนวร่วม สิ่งเหล่านี้ขบวนการเสื้อแดงในอดีตไม่สามารถทำได้

และทั้งๆ ที่ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น ทุกคนเดือดร้อนและคนจำนวนมากต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการประนีประนอมหรือลดเพดานจะไม่มีวันแก้ปัญหาของสังคมได้ และไม่มีวันทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ

มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเรื่องยุทธ์วิธีที่จะพัฒนาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

ปัญหาอันหนึ่งคือการใช้วิธี “ทุกคนเป็นแกนนำ” สามารถช่วยให้การต่อสู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่แกนนำหลายคนถูกจับก็จริง แต่ไม่นำไปสู่การสร้างโครงสร้างภายในขบวนการที่จะกำหนดแนวทางด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ แน่นอนแกนนำไม่ได้หวังเป็นเผด็จการ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างเพื่อให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ แกนนำจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยปริยาย และจะไม่สามารถดึงคนรากหญ้ามาช่วยตัดสินแนวทางได้ นี่คือประสบการณ์จากขบวนการเคลื่อนไหว Podemos ที่อ้างว่าไม่มีแกนนำในสเปน

ขบวนการที่ไทยได้รับความคิดและความสมานฉันท์จากขบวนการฮ่องกง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความสำคัญของการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นข้อสรุปสำคัญของหลายส่วนที่ฮ่องกง

ทุกวันนี้มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมชุมนุมกับคนหนุ่มสาว และกระแสความชื่นชมในขบวนการประชาธิปไตยยังสูงอยู่ ดังนั้นคนหนุ่มสาวและนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าควรลงมือเดินเข้าไปหาคนทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพูดคุยกับคนทำงานในเรื่องการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงานเพื่อหนุนการชุมนุมของคนหนุ่มสาว

แน่นอน จะมีคนที่ออกมาพูดว่าการนัดหยุดงาน “ทำไม่ได้” หรือ “คนงานไทยไม่มีวันนัดหยุดงาน” หรือ “คนงานกำลังจะเอาตัวรอดไม่ได้” แต่พวกนี้จะเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และปิดหูปิดตาถึงการพัฒนาทางความคิดที่เกิดขึ้นในรอบสามสี่เดือนที่ผ่านมาในไทย ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนขอท้าคนที่พูดแบบนี้ว่า “ถ้าไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกระแสการนัดหยุดงาน ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้?” “ท่านมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ?”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้ประท้วงไม่ควรฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

ถ้าเป้าหมายในใจของผู้ประท้วงคือแค่การกดดันให้รัฐสภาพิจารณาสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฏร หรือส่งลูกและฝากความหวังไว้กับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องจะจบลงด้วยการประนีประนอมที่แย่ที่สุด

ในเมื่อผู้รักประชาธิปไตยออกมาแสดงพลังเป็นแสนๆ และฝ่าการปราบปรามของตำรวจ มันจะเป็นการพลาดโอกาสที่น่าเศร้าใจ

อย่าให้ใครมาบอกเราว่า “เราทำได้แค่นี้” หรือ “ต้องใจเย็นปฏิรูปไปทีละก้าว” เพราะการปฏิรูปไปทีละก้าวอาจทำให้มีการถอยหลังทีละก้าวได้ง่าย

เราพอจะเดากันได้ว่าถ้ามีการพิจารณาสามข้อเรียกร้องในสภา มีแค่ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐรรมนูญที่พวกนั้นจะยอมพิจารณา และคงจะเป็นการ “แก้” รัฐธรรมนูญในบางจุดเท่านั้น ไม่ใช่การร่างใหม่โดยประชาชนรากหญ้า

ในบทความก่อนหน้านี้ผมพยายามเสนอว่าประยุทธ์คงไม่ลาออกง่ายๆ เพราะพวกโจรเผด็จการมันลงทุนไว้เยอะ เช่นเรื่องการแต่งตั้งส.ว.และโกงการเลือกตั้งฯลฯ ถ้าประยุทธ์จะลาออกมันจะเป็นการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง และเสียหน้ามากมาย ถ้าจะทำให้เป็นจริงต้องมีการยกระดับการต่อสู้ไปสู่พลังเศรษฐกิจผ่านการนัดหยุดงานเพื่อทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ หรืออีกทางหนึ่งคือการก่อจลาจลซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเพราะจะมีการเสียเลือดเนื้อมากมาย

ชลบุรี

การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักสหภาพแรงงานบางส่วนออกมาร่วมการประท้วงแล้วที่รังสิตกับชลบุรี การนัดหยุดงานเป็นไปได้เพราะนักเรียนนักศึกษาที่นำการประท้วงได้รับความชื่นชมในสายตาประชาชนเป็นล้านๆ แต่ถ้าจะให้เกิดขึ้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องจับมือกับนักสหภาพแรงงานที่ก้าวหน้า และวางแผนเพื่อไปเยี่ยมพูดคุยถกเถียงกับคนทำงานตามสถานที่ทำงานหลายๆ แห่ง และไม่ใช่แค่โรงงาน ควรคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พนักงานในสำนักงาน และคนที่ทำงานในระบบคมนาคม สรุปแล้วมันต้องมีการลงทุนลงแรงในการทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นจริง พลังที่จะล้มเผด็จการไม่ได้เกิดขึ้นเองแบบง่ายๆ

ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลมากมาย และหลายคนมองว่าเป็นข้อเสนออ่อนๆ ที่ไม่ใช่การล้มเจ้า แต่สำหรับทหารมันเป็นเรื่องใหญ่มากและยอมยาก เพราะทหารใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือมา 50 ปีกว่าแล้ว สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทหารเชิดชูเพื่อใช้ในการให้ความชอบธรรมกับระบบเผด็จการ การสร้างกษัตรย์ให้ดูเหมือนมีอำนาจดุจพระเจ้า เป็นวิธีสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน ดังนั้นถ้าเขายอมถอยในเรื่องนี้ ทหารจะหมดความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมือง ด้วยเหตุนี้เราต้องย้อนกลับมาดูวิธีที่จะกดดันแก๊งประยุทธ์ให้ยอมแพ้ อย่างที่เขียนไว้ข้างบน

การสร้างภาพของทหารที่มีอำนาจเหนือวชิราลงกรณ์

กษัตรย์ไทยไม่มีอำนาจในตัวเอง ทั้ง ร.9 และ ร.10 เป็นคนอ่อนแอทางการเมือง ร.10 อาจทำตัวเหมือนนักเลงกระจอกในเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขา แต่เขาสั่งการทหารไม่ได้ สาเหตุที่คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่ากษัตริย์มีอำนาจ ก็เพราะทหารและชนชั้นนำไทย รวมถึงทักษิณด้วย ได้เชิดชูกษัตริย์มานานและสร้างขึ้นมาให้ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้เรากลัวที่จะตั้งคำถามกับระบบชนชั้นที่กดทับเรา และยอมจำนนต่อแนวคิดว่า “บางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ” สาเหตุที่คนจำนวนมากยอมรับความคิดแบบนี้ไม่ใช่เพราะความโง่ แต่เป็นเพราะขาดความมั่นใจที่จะคิดทวนกระแสของชนชั้นปกครอง และการขาดความมั่นใจแบบนี้มักจะหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหวประท้วงของมวลชน นักมาร์คซิสต์เรียกการมองปรากฏการณ์ในโลกแบบ “กลับหัวกลับหาง” ว่าเป็นอาการของสภาพแปลกแยก Alienation และเราแก้ได้ด้วยการต่อสู้ นี่คือสิ่งที่เราเห็นกับตาในไทย ตอนนี้ร.10 ไมใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป แต่คนที่ตาสว่างควรจะตาสว่างเพิ่มขึ้นและเข้าใจว่าศัตรูหลักของเราคือทหารกับพรรคพวกที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ขึ้นมาแต่แรก

ถ้าจะขอให้จบที่รุ่นนี้ ต้องมีการยกระดับการต่อสู้ ไม่ใช่ส่งลูกให้นักการเมืองในรัฐสภา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประยุทธ์เปื้อนเลือดมันไม่ออกง่ายๆ

ทั้งๆ ที่พวกเราเชียร์ความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวในการต้านเผด็จการ แต่ในใจเราลึกๆ แล้ว หลายคนเข้าใจว่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือดมันคงไม่ออกง่ายๆ ซึ่งแปลว่าเราต้องขยับการต่อสู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ประยุทธ์กับแก๊งเผด็จการมันลงทุนในการครองอำนาจมากมายและยาวนาน มันมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดง มันยึดอำนาจผ่านการทำรัฐประหาร มันขู่ ขัง และฆ่าคนเห็นต่าง มันวางแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20  ปี มันออกแบบรัฐธรรมนูญเผด็จการ มันแต่งตั้งพวกของมันเป็นส.ว. และคุมศาล และหลังจากปกครองแบบเผด็จการโดยตรงมันก็โกงการเลือกเพื่อปกครองผ่านเผด็จการรัฐสภา ทั้งหมดนี้แปลว่ามันจะไม่ลงจากอำนาจง่ายๆ

ชนชั้นปกครองไทยแสดงตัวว่าพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่รักประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ทหารหรือตำรวจตชด.ยิงผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธและทำทารุณกรรมในเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, ตากใบในปาตานี, หรือการฆ่าเสื้อแดง และอย่าลืมว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมอีกมากมาย รัฐไทยคือรัฐอาชญากร และประยุทธ์มีส่วนโดยตรงในการฆ่าเสื้อแดง และการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง

ดังนั้นหลังจากที่ตำรวจสลายการประท้วงของคนหนุ่มสาวที่สยามเมื่อวันก่อน เรามีสิทธิ์ที่จะต้องโกรธแค้น แต่เราไม่ควรแปลกใจ

เราไม่ควรแปลกใจด้วยที่มีการสั่งปิดบริการรถไฟไฟฟ้าด้วย อย่าลืมว่าตอนเสื้อแดงประท้วง BTS มันหยุดวิ่งรถเพื่อให้ทหารสไนเปอร์ขึ้นรางและยิงเสื้อแดงตายที่วัดปทุม

พูดง่ายๆ ฝ่ายมันจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของมัน

การขับไล่เผด็จการออกไป ต้องอาศัยการทำให้ชนชั้นปกครองอยู่ต่อแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีการทำให้เขาบริหารประเทศไม่ได้ และต้องทำให้ฝ่ายเขาเริ่มแตกแยกกันเอง พลังที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากไหน?

ในอดีตสมัย 14 ตุลา 2516 มีการนัดหยุดงานมหาศาลในต้นเดือนตุลาคม มีการเคลื่อนไหวของเกษตรกร มีการขยายจำนวนคนที่ชื่นชมพรรคคอมมิวนิสต์ และในที่สุดนักเรียนนักศึกษาและประชาชนคนทำงานก็ออกมา 5 แสนคนกลางถนน มีการสู้กับทหารที่ใช้อาวุธและกระสุนจริงเข่นฆ่าประชาชน และในที่สุดทรราชก็ต้องออกจากประเทศไป

ในสมัยพฤษภา 35 มีการจลาจลเกิดขึ้นหลายวันหลังจากที่ทหารไล่ฆ่าประชาชน จนในที่สุดทรราชต้องลาออก

การรวมตัวกันของพวกเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนมากันเป็นแสนในเดือนกันยายน และในวันที่ 14 ตุลาคม และความก้าวหน้ากล้าหาญของนักเรียนนักศึกษา แสดงว่าพลังการต่อสู้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แต่พอมาถึงจุดนี้การใช้เฟลชม็อบเล่น “วิ่งไล่กัน” หรือเล่น “ซ่อนหา” ในกรุงเทพฯ ซึ่งอาศัยความกล้าหาญและความอดทน มันไม่พอที่จะล้มทรราชประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการประท้วง “ดาวกระจาย” ในวันนี้ (17 ต.ค.) พิสูจน์ว่ากระแสต่อสู้และความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูงในหมู่ประชาชนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น เราต้องใช้โอกาสนี้ในการยกระดับการต่อสู้

เราถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เพราะเราจะต้องรักษาโมเมนตัมหรือการเพิ่มพลังที่ขยับไปข้างหน้าให้มันเพิ่มขึ้นอีก ถ้าไม่เช่นนั้นขบวนการเราจะถอยหลัง ดังนั้นต้องมีการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น การพักรบชั่วคราวเพื่อหารือกันและนัดวันประท้วงใหม่ในเดือนข้างหน้าไม่เสียหายอะไรถ้านำไปสู่การประท้วงที่เพิ่มพลัง

แน่นอนผมไม่อยากเห็นการจลาจลที่ทำให้ฝ่ายเราเสียเลือดเนื้อ ทั้งๆ ที่วันก่อนประยุทธ์มันขู่ฆ่าพวกเราไปแล้ว นี่คือสาเหตุที่ผมเสนอว่าเราต้องหาทางปิดสถานที่ทำงานเพื่อให้มีผลทางเศรษฐกิจกับรัฐบาล การหาทางให้คนทำงานนัดหยุดงานประท้วงเผด็จการเป็นวิธีสำคัญที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ [ดูรายละเอียดขั้นตอนการสร้างกระแสนัดหยุดงานที่ผมเสนอในบทความก่อนหน้านี้ https://bit.ly/31eJMcX ] แต่อย่างน้อยที่สุดผู้ใหญ่ที่พ้นวัยนักเรียนนักศึกษาแล้วจะต้องออกมาเคลื่อนไหวในจำนวนมากขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

การนัดหยุดงานเป็นพลังที่ล้มรัฐบาลได้ และปราบยากที่สุด แต่จะเกิดได้อย่างไร

ในหลายประเทศของโลกที่ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ การที่ขบวนการแรงงานเข้ามาร่วมโดยมีการนัดหยุดงานในสถานที่ทำงานทั่วประเทศ ทำให้การต่อสู้มีพลังมากขึ้นมหาศาล ตัวอย่างเช่นใน ซูดาน เบลารุส อียิปต์ อัลจีเรีย หรือในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออกและลาตินอเมริกา

ดังนั้นถ้าเราจะเสริมพลังของขบวนการที่นำโดยคนหนุ่มสาวในไทย เราต้องหาทางให้มีการนัดหยุดงานตามสถานที่ทำงานต่างๆ ประเด็นคือจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องอธิบายคือแค่การประกาศทางสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ไม่มีวันทำให้การนัดหยุดงานเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เลย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือก่อนหน้านี้มีการประกาศว่าวันที่ 14 ตุลาปีนี้จะมีการนัดหยุดงานทั่วไป สำนักข่าวต่างประเทศยังมีการออกข่าวด้วย แต่ในรูปธรรมมันไม่ได้เกิด

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อราวมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ราษฎร์ประสงค์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการ แต่คนเป็นหมื่นพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

สาเหตุที่คนออกมาประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้ก็เพราะเขาไม่พอใจกับสภาพการเมืองที่แช่แข็งสังคมมานาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่นักกิจกรรมต้องทำในขบวนการแรงงานคือ ต้องไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองภาพกว้างและความสำคัญของการออกมาประท้วง ไม่ใช่ไปแค่พูดเรื่องปากท้องวนซ้ำอยู่กับที่

ขอย้ำอีกที ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ท้ายสุดเราต้องเข้าใจว่าสถานที่ทำงานมีหลายประเภทและสำคัญพอๆ กันหมด มันไม่ใช่แค่โรงงาน ซึ่งก็สำคัญ แต่มันรวมถึงสำนักงานต่างๆ ที่มีลูกจ้างปกคอขาว เช่นธนาคารหรือแม้แต่ข้าราชการผู้น้อยในกระทรวงต่างๆ มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบขนส่ง มันรวมถึงคนที่ทำงานในระบบสาธารณสุข และมันรวมถึงครูบาอาจรย์ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนด้วย

และมันรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของคนหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วง

ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ จะทำเมื่อไร? ถ้าไม่ล้มเผด็จการวันนี้ เราจะอยู่ต่อไปเป็นทาสนานเท่าไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบริบทสังคมไทยประโยคนี้เป็นประโยคที่ขัดแย้งในตัวเอง เพราะทหารและพวกอภิสิทธิ์ชนกับนายทุนใช้สถาบันกษัตริย์ในการเบี่ยงเบนประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศตะวันตกการมีสถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อเน้น “ธรรมชาติ” ของระบบชนชั้นที่กดทับประชาชน แต่การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยโดยชนชั้นกรรมาชีพทำให้ชนชั้นปกครองในตะวันตกไม่สามารถทำให้กษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตยเหมือนในไทย

สถาบันกษัตริย์ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งสิ้นสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ในไทยหรือในโลก ตรงกันข้ามมันเป็นปรสิตใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อการเสพสุขของบุคคลที่ไม่เคยทำงาน ยิ่งกว่านั้นในไทยมันเป็นเครื่องมือราคาแพงเพื่อข่มพลเมืองให้เกรงกลัวการต่อต้านเผด็จการ อภิสิทธิ์ชน หรือนายทุน เพราะกลุ่มคนที่ปกครองเราโดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งที่แท้จริง เช่นรัฐบาลปัจจุบัน หรือนายทุน มักจะต้องเกาะติดกับสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองในการใช้อำนาจ

2019-05-04T072632Z-948315276-RC1EE0951570-RTRMADP-3-THAILAND-KING-CORONATION

ที่ตลกร้ายคือการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ผ่านสายเลือด ทำให้ไทยมีประมุขปัญญาอ่อนโหดร้ายอย่างวชิราลงกรณ์ และชนชั้นปกครองเรามักชักชวนให้เรากราบไหว้ตัวปัญญาอ่อนนี้ในขณะที่พวกเขาเองเอบดูถูกสมเพศวชิราลงกรณ์ลับหลังเรา

จริงๆ แล้วราชวงศ์อังกฤษและในยุโรปก็มีตัวเหี้ยๆ พอๆ กับของไทย โดยเฉพาะสามีและลูกชายของราชินีอังกฤษ แต่สังคมด่าเขาได้

ใครๆ รู้ว่าวชิราลงกรณ์เป็นคนที่ไม่สมควรที่จะมีบทบาทอะไรในลักษณะการเป็นประมุข การเชิดชูส่งเสริมวชิราลงกรณ์ว่าเป็น “อัจฉริยะมนุษย์” อย่างที่ชนชั้นนำเคยทำในกรณีนายภูมิพล ทำไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตามชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหารคลั่งเจ้าที่เป็นฝ่ายขวาตกขอบ กำลังพยายามทำให้ความจงรักภักดีต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องมือบังคับให้เราก้มหัวให้ทหารเผด็จการ เหมือนที่เขาใช้ลัทธิชาตินิยมและมักกล่าวหาคนที่รักประชาธิปไตยว่าเป็นพวก “ชังชาติ” การพยายามทำลายพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่างที่ดี

สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งเดียวกับบุคคลที่เป็นกษัตริย์ แต่ในเวลาเดียวกันมันผูกพันกันอย่างใกล้ชิด เรื่องนี้อาจสร้างปัญญาให้กับทหารคลั่งเจ้าขวาตกขอบ เพราะเนื่องจากเขากลัวการล้มอำนาจทหารโดยประชาชน เขากำลังพยายามส่งเสริมฐานะของสถาบันกษัตริย์ในลักษณะของสถาบัน ในขณะที่เขาอยากให้เราลืมความเลวทรามของวชิราลงกรณ์ มันมีความขัดแย้งในตัว

img_20200127_184610_1-696x511

49449713792_049f54baa7_b

ความพยายามใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องมือบังคับให้เราก้มหัวให้ทหารเผด็จการ เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการพยายามลบประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ด้วยการรื้อถอนอนุสาวรีย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ๒๔๗๕

วิธีที่จะสู้กับแนวทางของพวกทหารคลั่งเจ้าขวาตกขอบ และทหารเผด็จการทั่วไป คือการปกป้องรักษาประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ในไทยรวมถึง ๒๔๗๕ และการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรื่องอนุสาวรีย์อาจเป็นเรื่องรอง ถ้าเรารักษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายเราได้ แต่เราก็ต้องพยายามต่อต้านการรื้อทิ้งอนุสาวรีย์อย่างหลักสี่หรือหมุดคณะราษฎร

การรักษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายเราทำได้ด้วยประสิทธิภาพ ถ้าเราสร้างพรรคการเมืองของคนชั้นล่างและกรรมาชีพที่เน้นการศึกษาทางการเมือง อย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยทำ เพราะถ้าแค่รักษาประวัติศาสตร์ในแวดวงมหาวิทยาลัยมันจะไม่แพรากระจายสู่คนธรรมดา

Against Dictatorship

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการสร้างขบวนการมวลชนเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและไล่ทหารออกจากระบบการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับกรรมาชีพมากกว่าชนชั้นกลาง และถึงแม้ว่าในสังคมเปิดกว้างคนส่วนใหญ่ไม่สามารถแสดงจุดยืนสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐได้ แต่เราควรพูดถึงเรื่องนี้ในวงเล็กๆ เสมอ และที่สำคัญคือต้องรณรงค์ต่อต้านการใช้กฏหมาย112 หรือต่อต้านการพยายามใช้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเครื่องวัด “ความเป็นไทย” นอกจากนี้เราไม่ควรรีบไปแสดงความจงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์ถ้าไม่จำเป็น เราต้องพยายามรักษาจุดยืนประชาธิปไตยในสถานการณ์ลำบาก

เราต้องพยายามพูดในที่สาธารณะว่าระบอบประชาธิปไตยมีหลานรูปแบบที่มีความชอบธรรม และทหาร ศาล หรือรัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีความชอบธรรมในการผูกขาดว่าเราควรใช้ระบอบไหน