Tag Archives: คนหนุ่มสาว

บทเรียนจากความพ่ายแพ้ชั่วคราว

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องพยายามพูดความจริงเรื่องสภาพการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการฟังหรือไม่ ความจริงที่เราต้องพูดตอนนี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวมาถึงจุดพ่ายแพ้นานแล้ว ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำไม่กล้าหาญและไม่พร้อมจะเสียสละแต่อย่างใด

เพื่อให้ความพ่ายแพ้นี้เพียงแต่เป็นความพ่ายแพ้ชั่วคราว เราจะต้องมาสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ในอนาคตเราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้กับเผด็จการรอบใหม่โดยมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะ

จากจุดสูงสุดของการต่อสู้ที่นำโดยคนหนุ่มสาวในเดือนสิงหาคม/กันยายน ๒๕๖๓ ที่มีมวลชนออกมาประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวงเป็นหมื่นเป็นแสน ปัจจุบันเราเห็นแกนนำคนหนุ่มสาวหลายสิบคนติดคุกหรือติดคดีร้ายแรงโดยเกือบจะไม่มีการประท้วงใดๆ และถ้ามีก็แค่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหรือไม่ก็เป็นการออกมารำลึกถึงอาชญากรรมของรัฐทหารต่อคนเสื้อแดง หรือผู้ประท้วงในเหตุพฤษภา ๓๕

ก่อนอื่นเราต้องทบทวนดูภาพระยะยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวิกฤตการเมืองในไทยตั้งแต่การก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ซึ่งเป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

รัฐประหารครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่ยังไม่จบ และเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยมและอภิสิทธิ์ชน ต่อชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และการโต้กลับของคนเสื้อแดง และในที่สุดของคนหนุ่มสาว ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นกัน

แต่การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บริสุทธิ์” เพราะบ่อยครั้งในโลกจริงการต่อสู้ทางชนชั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่มีเรื่องซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

การต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากที่นักการเมืองนายทุนชื่อทักษิณ ชินวัตร พยายามนำคนระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการปลดหนี้เกษตรกร ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกรรมาชีพและเกษตรกร ในกรณีกรรมาชีพการที่ญาติพี่น้องของเขาได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องติดหนี้ มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่กรรมาชีพเองมีประกันสังคมของตนอยู่แล้ว

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชีวิตคนชั้นล่างดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นนโยบายที่ทักษิณและพรรคพวกมองว่าจะประตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่สำคัญคือจะทำให้สังคมทุนนิยมไทยพัฒนาและทันสมัย เพื่อการแข่งขันในตลาดโลกที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่พวกล้าหลังคัดค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย มันเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับนายทุนสมัยใหม่

นโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุนอนุรักษนิยม ซึ่งรวมพวกทหารระดับสูง มันสร้างความไม่พอใจกับชนชั้นกลางสลิ่มอีกด้วย พวกนี้พึงพอใจมานานกับสังคมล้าหลังที่กีดกันคนธรรมดา ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการพัฒนาในอดีต ในกรณีสลิ่ม เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ในเรื่องนี้ จึงต้องงัดเรื่อง “คอรัปชั่น” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับทหาร มีประวัติอันยาวนานในการโกงกินหรือใช้อิทธิพล อาจมากกว่าทักษิณอีก และพวกสลิ่มมักจะเงียบเรื่องอาชญากรรมรัฐที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตรวมถึงไทยรักไทยเคยทำไว้ ส่วนฝ่ายทหารเผด็จการก็มักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันสูงสุดเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองเสมอ

การที่ชนชั้นกลางสลิ่มสนับสนุนเผด็จการพิสูจน์ว่าทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกเสรีนิยมที่เน้นชนชั้นกลางใช้ไม่ได้

นโยบายของทักษิณและพรรคพวกทำให้ฐานเสียงของไทยรักไทยและพรรคการเมืองอย่างเช่นเพื่อไทย มีความมั่นคงจนพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถแข่งได้ มันไม่มีวิธีที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะถ้าไม่โบกมือเรียกทหาร

เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตนี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่บิดเบี้ยว เพราะฝ่ายคนชั้นล่างยอมรับการนำจากนายทุนอย่างทักษิณ และหลังจากที่ทักษิณต้องออกจากประเทศ ก็มีเศรษฐีนายทุนอีกคนหนึ่งคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามามีบทบาท สาเหตุสำคัญที่นายทุนได้รับการยอมรับแบบนี้ คือการล่มสลายก่อนหน้านั้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และกระแสฝ่ายซ้ายโดยทั่วไป มันจึงมีสุญญากาศทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

สุญญากาศของฝ่ายซ้ายมีผลทำให้พวกล้าหลังเสื้อเหลืองสามารถสร้างอิทธิพลในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การก่อตั้งของขบวนการเสื้อแดง ถึงการขึ้นมาของขบวนการคนหนุ่มสาวในภายหลัง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญๆ กับสถาบันต่างๆในสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันสูงสุดไปถึงศาลและกองทัพ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระเบียบวินัยต่างๆ จากยุคเผด็จการ เช่นทรงผมนักเรียนเป็นต้น

และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือฝ่ายทหารเผด็จการกับพรรคพวกต้องใช้เวลาถึง 13 ปีหลังรัฐประหาร ๑๙กันยา เพื่อเปลี่ยนกติกาการเมืองก่อนที่มันจะครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมได้

จุดเด่นของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ โดยเฉพาะในยุคเสื้อแดง คือการสร้างขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และหลังการล่มสลายของเสื้อแดง ขบวนการคนหนุ่มสาวก็เคยดึงมวลชนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน

แต่เราต้องศึกษาจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด

ประเด็นแรกที่เราต้องศึกษาคือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ เพราะทั้งเสื้อแดงกับคนหนุ่มสาว ไม่ว่าเขาจะประกาศอ้างอะไร ก็ล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสลับกับการตั้งความหวังในรัฐสภาทุนนิยม คือไม่มีเป้าหมายในการ “ล้มระบบ”

ในรูปธรรม การที่นักเคลื่อนไหวบางคนเสนอว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอให้ “ล้มระบบ” เพราะนอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ทหาร ผู้มีอำนาจจริง ลอยนวล

ในกรณีเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ต้องการกดดันให้พรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลได้ เสื้อแดงจัดตั้งกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ทักษิณมีอิทธิพลการนำทางการเมืองสูง ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งเสื้อแดง และในหลายช่วงทักษิณก็พยายามบอกเสื้อแดงให้ “นิ่ง” โดยหวังจะประนีประนอมกับชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในกรณีขบวนการคนหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตยหรือฝ่ายซ้าย และไม่ได้ปลื้มนายทุนใหญ่อย่างทักษิณหรือแม้แต่ธนาธร ในที่สุดเมื่อการชุมนุมซ้ำๆ ของมวลชนไปถึงทางตัน คือไม่สามารถเขย่าอำนาจเผด็จการพอที่จะล้มมันได้ ก็หันมาชุมนุมแบบ “สร้างสรรค์” ที่ไร้พลัง เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลเช่นกันและทางเผด็จการรุกปราบด้วยการใช้กฎหมาย 112 ก็เหลือแค่การตั้งความหวังกับพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา แต่ทั้งสองพรรคนี้ไม่ยอมคัดค้าน 112 ไม่ยอมพูดเป็นรูปธรรมเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ยอมปลุกมวลชน และมักยอมรับกติกาประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์ ที่มัดมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

จุดอ่อนประเด็นที่สองของทั้งเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาว คือไม่ยอมศึกษาพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีการลงไปจัดตั้งนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพในขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่ พคท. และฝ่ายซ้ายอื่นเคยทำ ซึ่งจุดอ่อนนี้ทำให้ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อไล่เผด็จการและเปลี่ยนระบบอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น เช่นฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือซูดาน ดังนั้นเรื่องมักจะจบลงที่รัฐสภาแทน และพรรคในรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรได้มากและยังอาจโดน “รัฐประหาร” จากทหารหรือศาล ถ้าทำอะไรมากเกินไปอีกด้วย

การหันหลังให้กับขบวนการกรรมาชีพก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเข้าไปดึงนักสหภาพแรงงานเข้ามาในกระบวนการรัฐสภาด้วย แทนที่จะปลุกระดมการต่อสู้ทางชนชั้น

ในเรื่องจุดอ่อนประเด็นที่สาม การที่ขบวนการเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาวไม่มีเป้าหมายในรูปธรรมที่จะล้มระบบ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะตอนนั้นและตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติ ที่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเสนอการนำแข่งกับสายความคิดอื่น เช่นสายความคิด “ปฏิรูป” ของพรรคก้าวไกลหรือพรรคกระแสหลักอื่นๆ และแนวคิดอนาธิปไตยอีกด้วย

การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ต้องผ่านการ “เปลี่ยนระบบ” โค่นอำนาจอนุรักษ์นิยมของทหารและนายทุน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาแนวปฏิวัติสังคมนิยมที่เน้นพลังประชาธิปไตย “จากล่างสู่บน” เราใช้ความคิดของพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะเน้นการทำงานในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ

แนวคิดอนาธิปไตยก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างจริงจังได้อีกด้วย ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดนี้ในไทยคือ การอ้างโดยแกนนำคนหนุ่มสาวว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” และการสร้าง “สหภาพคนทำงาน”

ในกรณีการอ้างว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” เป็นการใช้คำขวัญที่หวังดี คือให้คนนำกันเองแทนที่จะให้คนอย่างทักษิณ ธนาธร หรือนักการเมืองกระแสหลักอื่น เข้ามานำ แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อให้มีการนำแบบรากหญ้าอย่างจริงจัง เช่นผ่านการตั้ง “สภาการประท้วง” และการเลือกแกนนำเป็นประจำ มันจะกลายเป็นแค่คำขวัญนามธรรม และในรูปธรรมแกนนำเดิมจะผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ และการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการถกเถียงเรื่องแนวทางแบบต่อหน้าต่อตา จะไม่แก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำ

การสร้างสหภาพคนทำงาน โดยแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” เกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวบางคนที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ แต่พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอและสร้างไม่ได้อีกด้วย

สหภาพคนทำงาน ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร สหภาพคนทำงานจึงไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานเพื่อสร้างกระแสนัดหยุดงานทางการเมืองได้ มันใช้แทนการสร้างพรรคไม่ได้

ภาระของเราชาวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ(หรือเตรียมพรรค)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มีอิทธิพลเพียงพอจะที่จะเสนอแนวทางการต่อสู้และช่วยประสานการเคลื่อนไหวระหว่างขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงาน ขบวนการต้านเผด็จการ ขบวนการปกป้องนักโทษทางการเมือง ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน และขบวนการของสิทธิชาวบ้าน ฯลฯ เราจะได้เรียนรู้สรุปบทเรียนจากการต่อสู้และเสียสละของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต และนำมาใช้ในการต่อสู้รอบต่อไป เราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้และปกป้องไม่ให้การต่อสู้ของเพื่อนเราในอดีตจบแบบเสียเปล่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

จากฮ่องกงถึงไทย – สรุปบทเรียนการต่อสู้ – แนะนำหนังสือ “กบฎในฮ่องกง” ของ อาว ลองยู

หลายคนคงทราบดีว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในไทย ได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อสรุปสำคัญๆ จากหนังสือ“กบฏในฮ่องกง” ซึ่งเขียนโดยนักสังคมนิยมและนักสิทธิแรงงานชาวฮ่องกงชื่อ อาว ลองยู

บทสรุปสำคัญที่จะขอยกมาพิจารณาคือเรื่องการสร้าง “สภามวลชน” และพรรคการเมือง กับการสร้างกระแสนัดหยุดงาน

ขบวนการคณะราษฏร์ในไทยปัจจุบันยืนอยู่บนไหล่ของคนเสื้อแดงรุ่นพี่ที่เคยออกมาต่อสู้ก่อนหน้านี้ ในลักษณะเดียวกันขบวนการในฮ่องกงในปี 2019 ยืนอยู่บนไหล่ของ “ขบวนการร่ม” จากปี 2014

“ขบวนการร่ม” เกิดจากการปะทะทางความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนะและความหวังทางสังคมการเมืองที่ต่างจากคนรุ่นก่อน และความพยายามของเผด็จการจีนที่จะควบคุมและปราบปรามผู้เห็นต่างในฮ่องกง สิ่งนี้เริ่มปรากฏตัวในการประท้วงปี 2012

ในปี 2014 พรรคการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นวัยกลางคน เช่น กลุ่มนักวิชาการและนักบวช 3 คน Benny Tai, Chan Kin-man, Chu Yiu-ming เสนอให้ยึดจุดต่างๆ กลางเมือง “ด้วยความรักและสันติภาพ”  แต่นักบวช 3 คนนี้ และนักการเมืองเสรีนิยม Pan-democrats ที่เคยวิจารณ์รัฐบาลฮ่องกง ไม่ยืนหยัดในการต่อสู้ ไม่ทำอะไรเป็นรูปธรรม และในที่สุดก็หมดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นมีการขึ้นมานำของคนรุ่นใหม่ในสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง HKFS และองค์กรนักศึกษา Scholarism ซึ่งทำให้การต่อสู้พัฒนาสูงขึ้นในเชิงคุณภาพและปริมาณ และนำไปสู่การยึดถนนในใจกลางเมืองเมื่อกรกฏาคม 2014 พร้อมกันนั้นมีการบอยคอตการเรียนหนึ่งสัปดาห์ในเดือนกันยายน

เมื่อการบอยคอตการเรียนเกิดขึ้น สหภาพแรงงานและกลุ่มประชาสังคม 25 องค์กรได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษา และโจมตีระบบการเมืองของชนชั้นนำที่กดขี่และปรามข้อเรียกร้องของคนรากหญ้าที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย และการริเริ่มมาตรการควบคุมชั่วโมงการทำงานพร้อมกับนำระบบบำนาญถ้วนหน้ามาใช้

ในปีนั้นสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง (HKCTU) ประกาศนัดหยุดงานทั่วไป แต่คนออกมาน้อย ถือว่าล้มเหลว มีแค่สหภาพเครื่องดื่มและสหภาพแรงงานครูที่นัดหยุดงาน และก่อนหน้านั้นสหภาพนักสังคมสงเคราะห์ได้หยุดงานไปครั้งหนึ่ง

การประท้วงในปี 2019 เริ่มจากข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ซึ่งทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นตัวขึ้นอีก จากปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเมษายน มีการปลุกระดมและให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งมีผลทำให้คนออกมาเป็นแสน ในวันที่ 9 มิถุนายน คนออกมา 1 ล้าน และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมอายุต่ำกว่า 29 ปี นักเรียนมัธยมมีบทบาทสำคัญ

ท่ามกลางการชุมนุมมีการขยายข้อเรียกร้องจากการยกเลิกกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ ไปสู่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเสรี ยกเลิกคดีสำหรับผู้ชุมนุมที่ถูกจับ และเลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อจลาจล” นอกจากนี้มีการเรียกร้องให้ตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจในการสลายการชุมนุม

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการเคลื่อนไหวปี 2019 และบทสรุปสำหรับไทย

สันติวิธีหรือความรุนแรง

ขบวนการเคลื่อนไหวในปี 2019 มีการแบ่งพวกกันระหว่างคนที่เน้นสันติวิธีกับคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง พวก “กล้าหาญ” เป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องมีการปิดลับ แต่การปิดลับแปลว่าไม่สามารถมีแถลงการณ์อย่างเปิดเผยได้ การถกเถียงแนวทางอย่างกว้างขวางทำไม่ได้เลย มวลชนธรรมดาจึงตรวจสอบพวก “กล้าหาญ” ไม่ได้ และตำรวจลับสามารถแทรกเข้าไปเป็นสายลับและผู้ก่อกวนได้ง่าย ในรูปธรรมวิธีการแบบนี้ลดบทบาทของมวลชน และในหลายกรณีทำให้เสียการเมืองอีกด้วยเมื่อมีการทำลายสถานที่ต่างๆ

การนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นวิธีต่อสู้ทีมีพลัง แต่ต้องค่อยๆ สร้างกระแส ในวันที 5 สิงหาคม 2019 มีการนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานหลายแสนซึ่งประสพความสำเร็จมาก คนงานท่าอากาศยานและพนักงานสายการบินเป็นหัวหอก และมีนักสหภาพแรงงานของคนที่ทำงานในธนาคารและไฟแนนส์ ข้าราชการ พนักงานร้านค้า และภาคอาหารและเครื่องดื่มเข้าร่วม นอกจากนี้มีการชุมนุมของคนหนุ่มสาวและการบอยคอตการเรียน การนัดหยุดงานและการประท้วงครั้งนี้สามารถกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอนกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามชาติ

แต่ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม รัฐบาลจีนกดดันให้มีการปราบปรามนักสหภาพแรงงานในบริษัทสายการบินที่หยุดงานและเป็นหัวหอกการประท้วง ซึ่งทำให้กระแสหยุดงานลดลง

หลังจากที่มีการปราบสหภาพแรงงานสายการบิน มีคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่อารมณ์ร้อน เสนอว่าต้องไปปิดระบบคมนาคมและถนน เพื่อบังคับไม่ให้คนเข้าทำงาน ซึ่งมีผลในแง่ลบในระยะยาว เพราะสร้างความไม่พอใจ และไม่สามารถสร้างกระแสนัดหยุดงานเองในขบวนการแรงงานได้ นักสหภาพแรงงานวิจารณ์พวกหนุ่มสาวที่ใช้วิธีนี้โดยอธิบายว่าการนัดหยุดงานไม่เหมือนการปรุง “เส้นหมี่สำเร็จรูป” ที่แค่เติมน้ำร้อนก็พอ คือต้องมีการสร้างกระแสผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนและการฝึกฝน

ดังนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นกรรมาชีพหนุ่มสาวจากสำนักงานต่างๆ เริ่มกิจกรรม “กินข้าวกลางเมือง” ทุกวันศุกร์ ซึ่งกลายเป็นการประท้วงของคนงานคอปกขาวหลายพันคน ที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงและกลับเข้าไปทำงานหลังจากนั้น

นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ในที่สุดสามารถสร้าง “ขบวนการสหภาพแรงงานใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยสหภาพแรงงานในหลายอาชีพและสายงาน เช่นข้าราชการ พนักงานเทคโนโลจี พนักงานในระบบสาธารณสุข พนักงานบริษัทไฟแนนส์ พนักงานบัญชี พนักงานในบาร์ และพนักงานในอุตสาหกรรมดนตรี เป็นต้น

จำนวนนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพและการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเสนอให้ตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำล้าหลังที่ไม่ยอมลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง ในปลายเดือนธันวาคมมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานใหม่ 40 แห่ง เช่นสหภาพแรงงานในโรงพยาบาล (HAEA) และที่อื่นๆ เพื่อเตรียมสู้ในระยะยาว และในเดือนมกราคม 2020 สหภาพแรงงานโรงพยาบาลสามารถดึงพนักงาน 7 พันคนออกมานัดหยุดงาน 5 วัน

การสร้างกระแสก้าวหน้าในขบวนการแรงงานฮ่องกงแบบนี้ มีผลในการกู้กระแสการต่อสู้ของมวลชนที่ซบเซาลงให้กลับคืนมาได้ แต่ในช่วงนั้นพอดี วิกฤตโควิดก็เข้ามาแช่แข็งการต่อสู้

ยุทธวิธี “เหมือนน้ำ” และ “ไม่มีเวที”

ศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่น่าสนใจคือ “เหมือนน้ำ” ซึ่งหมายถึงแฟลชม็อบที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และมีการกล่าวถึงการ “ไม่มีเวที” ซึ่งแปลว่าไม่มีผู้นำ

การประท้วงในปี 2019 ต่างจาก “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีก่อนตรงที่ไม่มีการพึ่งนักการเมือง และไม่มีการเน้นแกนนำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดกันว่าไม่มีแกนนำแต่ในรูปธรรม ท่ามกลางการเคลื่อนไหว ก็มีคนนำอยู่ดี ปัญหาคือไม่มีโครงสร้างที่จะเลือกผู้นำด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมีการปฏิเสธโครงสร้าง และปฏิเสธการสร้างพรรค ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่มีความพยายามที่จะสร้าง “สภามวลชน” เพื่อให้ผู้ชุมนุมแลกเปลี่ยนถกเถียงประเด็นปัญหาการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเลย บางครั้งมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่มีการสรุปและไม่สามารถมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอะไรได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพที่กลุ่มต่างๆ ทำอะไรเองในรูปแบบหลากหลาย นี่คือข้ออ่อนของการ “ไม่มีเวที”

ในการต่อสู้ของม็อบเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่เน้น “ทุกคนเป็นแกนนำ” มีการสรุปว่าการชุมนุมอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการสร้าง “สภามวลชน” เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความสามัคคี และที่สำคัญคือประสานการต่อสู้ระหว่างเมืองต่างๆ ได้ นอกจากนี้สามารถดึงสหภาพแรงงานเข้ามาร่วมอีกด้วย

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายการต่อสู้ มันแปลว่าแกนนำในรูปธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถดึงมวลชนเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางได้

การปฏิเสธโครงสร้างประชาธิปไตยในขบวนการฮ่องกงแปลว่าในอนาคต เมื่อการประท้วงเลิกไป จะไม่มีโครงสร้างหรือสถาบันการเมืองของประชาชนเหลืออยู่ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวในไทยตอนนี้ อย่างน้อยในฮ่องกงยังมีขบวนการสหภาพแรงงานใหม่ที่ใช้วิธีประชาธิปไตยในการเลือกผู้นำและกำหนดการต่อสู้ ซึ่งจะคงอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า

ขบวนการคณะราษฏร์ที่นำโดยคนหนุ่มสาว ควรจะพยายามตั้งพรรคการเมืองแบบรากหญ้าขึ้นมา แทนที่จะไปยกให้พรรคก้าวไกลทำให้แทน เพราะพรรคก้าวไกลตามขบวนการปัจจุบันไม่ทัน ไม่อยากขยายเพดานการต่อสู้ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์กับ 112 และในที่สุดจะหาทางประนีประนอมกับทหาร

ขณะนี้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับนักเคลื่อนไหวฮ่องกงกับไทย คือจะปกป้องแกนนำที่ติดคุกและโดนคดีอย่างไร ถ้าไม่มีการพัฒนาพลังในการประท้วงคงจะทำไม่ได้

[Au Loong-Yu “Hong Kong in Revolt. The protest movement and the future of China.” Pluto Press 2020.]

ใจ อึ๊งภากรณ์

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัญญาณเตือนภัย

ขบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้สร้างความตื่นเต้นและความหวังล้นฟ้าสำหรับคนไทยเป็นล้านๆ และคนต่างประเทศที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของตนเองทั่วโลก

แต่สัญญาณเตือนภัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว ว่าจะมีการลดเพดานและจะจบลงด้วยการประนีประนอมแบบแย่ๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวและแกนนำต้องการให้จบแบบนั้น แต่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการทบทวนและพัฒนาการต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้ เพราะการชุมนุมไปเรื่อยๆ ในรูปแบบเดิมๆ และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ จะเอาชนะทหารไม่ได้

ภัยหลักตอนนี้คือการยอมปล่อยให้รัฐสภาจัดการเรื่องการปฏิรูปสังคม เพราะถ้าเราไม่ระวังรัฐสภาที่คุมโดยทหารจะยอมแค่ให้แก้บางมาตราในรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ประยุทธ์จะไม่ลาออก และจะไม่มีการปฏิรูปกษัตริย์

ขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวควรภูมิใจในผลงานในสามเดือนที่ผ่านมาเพราะมีการชุมนุมใหญ่ของคนจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาข้อเรียกร้อง มีการแสดงความกล้าหาญที่จะวิจารณ์กษัตริย์ และมีการดึงเรื่องสิทธิทางเพศ และสิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีเข้ามาเพื่อขยายแนวร่วม สิ่งเหล่านี้ขบวนการเสื้อแดงในอดีตไม่สามารถทำได้

และทั้งๆ ที่ขบวนการนี้นำโดยคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวเท่านั้น ทุกคนเดือดร้อนและคนจำนวนมากต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการประนีประนอมหรือลดเพดานจะไม่มีวันแก้ปัญหาของสังคมได้ และไม่มีวันทำให้คนส่วนใหญ่พอใจ

มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังเรื่องยุทธ์วิธีที่จะพัฒนาการต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

ปัญหาอันหนึ่งคือการใช้วิธี “ทุกคนเป็นแกนนำ” สามารถช่วยให้การต่อสู้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่แกนนำหลายคนถูกจับก็จริง แต่ไม่นำไปสู่การสร้างโครงสร้างภายในขบวนการที่จะกำหนดแนวทางด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ แน่นอนแกนนำไม่ได้หวังเป็นเผด็จการ แต่ถ้าไม่มีโครงสร้างเพื่อให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ แกนนำจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยปริยาย และจะไม่สามารถดึงคนรากหญ้ามาช่วยตัดสินแนวทางได้ นี่คือประสบการณ์จากขบวนการเคลื่อนไหว Podemos ที่อ้างว่าไม่มีแกนนำในสเปน

ขบวนการที่ไทยได้รับความคิดและความสมานฉันท์จากขบวนการฮ่องกง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องความสำคัญของการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นข้อสรุปสำคัญของหลายส่วนที่ฮ่องกง

ทุกวันนี้มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมชุมนุมกับคนหนุ่มสาว และกระแสความชื่นชมในขบวนการประชาธิปไตยยังสูงอยู่ ดังนั้นคนหนุ่มสาวและนักสหภาพแรงงานก้าวหน้าควรลงมือเดินเข้าไปหาคนทำงานในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพูดคุยกับคนทำงานในเรื่องการใช้พลังทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงานเพื่อหนุนการชุมนุมของคนหนุ่มสาว

แน่นอน จะมีคนที่ออกมาพูดว่าการนัดหยุดงาน “ทำไม่ได้” หรือ “คนงานไทยไม่มีวันนัดหยุดงาน” หรือ “คนงานกำลังจะเอาตัวรอดไม่ได้” แต่พวกนี้จะเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และปิดหูปิดตาถึงการพัฒนาทางความคิดที่เกิดขึ้นในรอบสามสี่เดือนที่ผ่านมาในไทย ยิ่งกว่านั้นผู้เขียนขอท้าคนที่พูดแบบนี้ว่า “ถ้าไม่เห็นด้วยกับการพยายามสร้างกระแสการนัดหยุดงาน ท่านมีข้อเสนออื่นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้?” “ท่านมีข้อเสนออะไรที่จะนำไปสู่ชัยชนะของขบวนการ?”

ใจ อึ๊งภากรณ์