Tag Archives: คนอยากเลือกตั้ง

พรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การที่นักการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเยี่ยมและให้กำลังใจแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่โดนขังหลังจากการชุมนุม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

images-771303392988.33234804_1679739312111511_4525595980254412800_n

แต่พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าต้านเผด็จการ และจะลบผลพวงของเผด็จการประยุทธ์ จะต้องทำมากกว่านี้ เพราะในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็น “ละครประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจไปข้างหน้าอีก 20 ปี

ทั้งรัฐธรรมนูญทหาร แผนการเมืองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของทหาร การแต่งตั้งสว. การแต่งตั้งตุลาการ การเขียนกฏหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง กกต.ฯลฯ จะมีผลในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี และไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เพราะจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายอะไรบ้าง และจะมีการมัดมือรัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และการลบผลพวงของเผด็จการประบุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ตามคำนิยามของเผด็จการ แต่ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมายเผด็จการ มันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมีความชอบธรรมสูงตามมาตรฐานประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ล้วนแต่ผ่านกระบวนการของการฝืนกฏหมายทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเผด็จการของ “ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด” ชอบอ้างว่าทำตามกฏหมายเสมอ ก็แน่นอนล่ะ!กฏหมายของมัน มันกับพรรคพวกล้วนแต่ร่างเองออกเองทั้งนั้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะละครการเลือกตั้งในอนาคต จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฏหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ

สรุปแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว

การไปเยี่ยมและให้กำลังใจกับแกนนำการประท้วงที่ถูกจับเป็นเรื่องดี แต่มันต้องมีการพัฒนาไปสู่การไปร่วมประท้วงด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการชักชวนมวลชนเข้ามาเพิ่ม ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนฝ่ายทหารจะจับตาดูพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่บางทีมันต้องมีการแบ่งงานกันทำในหมู่สมาชิกและแกนนำของพรรค

33424580_1680606478691461_2432532333853671424_o

ในมุมกลับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ จะต้องไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพรรคภายใต้ข้ออ้างว่าจะ “รักษาความบริสุทธิ์” แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมให้กลุ่มหรือพรรคเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการนำและแผนการทำงานต้องมาจากมติประชาธิปไตยภายในองค์กร ซึ่งดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแบบนี้

นอกจากนี้การพูดถึง “ความบริสุทธิ์” มันเป็นการสร้างภาพลวงตาพอๆ กับคนที่อ้างว่าหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นคน “บริสุทธิ์” และมันเป็นการดูถูกคนอื่นๆ เป็นล้านๆ ที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพรรคการเมืองว่าเป็นคน “สกปรกที่เสียความบริสุทธ์”

ถ้าเราดูประวัติของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย เช่นการสร้างขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา หรือการสร้างเสื้อแดง จะเห็นว่ามีการกระตุ้นและประสานงานโดยพรรคการเมือง

ในช่วง ๑๔ ตุลา จะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในกรณีเสื้อแดงก็เป็นพรรคของทักษิณ

ในยุคนี้การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยต้องทำแบบไม่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแปลว่าต้องมีการสร้างแนวร่วมระหว่างหลายกลุ่ม ไม่ใช่คุมโดยพรรคใดหรือกลุ่มใดอย่างผูกขาด ต้องมีการเปิดกว้างยอมรับหลากหลายมุมมองภายใต้จุดยืนร่วมสำคัญๆ เกี่ยวกับการลบผลพวงของเผด็จการ

บทเรียนอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้มาจากขบวนการเสื้อแดง ที่เคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันมีสองบทเรียนที่สำคัญคือ หนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคคอยประสานงานและกระตุ้นให้เกิดมันก็ไม่เกิดแต่แรก สอง การที่พรรคของทักษิณนำขบวนการเสื้อแดงมีผลทำให้เสื้อแดงถูกแช่แข็งและทำลายโดยนักการเมืองของทักษิณได้ เมื่อพรรคมองว่าไม่ควรเคลื่อนไหวต่อทั้งๆ ที่สังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการ

จริงๆ ประสบการณ์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า พรรคที่จะให้ความสนใจกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างจริงจัง จากล่างสู่บน มักเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการสหภาพแรงงานและคนชั้นล่างโดยทั่วไป และจะเป็นพรรคที่ไม่ได้หมกมุ่นกับรัฐสภาจนลืมเรื่องอื่นๆ อีกด้วย แต่พรรคการเมืองแบบนี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาในไทยอย่างจริงจัง

 

[หลายภาพถ่ายโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ แต่เขาไม่มีส่วนในการเขียนบทความนี้  ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว]