เมื่อไม่นานมานี้รองโฆษกตำรวจหน้าโง่ออกมาเตือนประชาชนว่าซีรีส์ Squid Game “มีพฤติกรรมรุนแรง แก่งแย่งกันเอาตัวรอด อาจเกิดการเลียนแบบ”!! ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตำรวจคนนี้ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ แต่ยิ่งกว่านั้น ถ้าประชาชนไทยเกิดออกมาแก่งแย่งกันเพื่อเอาตัวรอด มันก็ต้องเป็นความผิดของรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ที่ตำรวจคอยปกป้องทุกวันด้วยความรุนแรงอีกด้วย
มันมีฉากหนึ่งใน Squid Game ที่บ่งบอกที่มาที่ไปของความคิดผู้แต่ง ฉากนั้นคือตำรวจปราบฝูงชนเกาหลีใต้กำลังใช้ความรุนแรงกับคนงานโรงงานรถยนต์ที่นัดหยุดงาน โรงงานนั้นไม่ได้จ่ายค่าแรงให้กับคนงาน เขาจึงออกมาประท้วง และเพื่อนของตัวเอกในซีรีส์ก็โดนตำรวจตีจนตาย คนเขียนเรื่องนี้อยู่ข้างกรรมาชีพผู้ที่โดนตำรวจกระทำอย่างแน่นอน
ในหลายภาคหลายตอนของเรื่อง มีการสร้างเรื่องที่เปิดโปงความขัดแย้งในความคิดมนุษย์ระหว่าง “ความสมานฉันท์” กับการ “เอาตัวรอดแบบเห็นแก่ตัวของปัจเจก” และตัวละครจะต้องคิดหนักเรื่องนี้ทุกครั้ง มันน่าจะเป็นคำถามหลักสำหรับเราทุกคนในโลกจริงด้วย
มีฉากหนึ่งที่เสียดสีระบบการเลือกตั้งในประชาธิปไตยทุนนิยม ตัวละครกำลังจะลงคะแนนว่าจะเลิกเล่นหรือไม่ คนที่มีอำนาจในSquid Game ขู่คนที่ทะเลาะกันว่าผู้คุมจะไม่ยอมให้มีการใช้กำลังโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวให้ใครลงคะแนนในทางใด เสร็จแล้วผู้มีอำนาจก็เอาเงินก้อนใหญ่มาล่อให้คนเล่นเกมต่อไปโดยหวังจะซื้อเสียง
ตลอดทั้งเรื่องผู้มีอนาจจะพูดเสมอว่า “ทุกคนเท่าเทียมกัน” ทั้งๆ ที่ไม่มีความจริงเลย คือแต่ละคนที่เล่นเกมจะมีศักยภาพต่างกัน และแน่นอนคนเล่นกับผู้มีอำนาจและ “ตำรวจ” ของเขา มีอำนาจเหนือคนเล่นเสมอ
บ่อยครั้งผู้มีอำนาจจะพูดว่า “ทุกคนที่เข้าร่วมเล่น เลือกจะเล่นโดยสมัครใจ” ซึ่งไม่ต่างจากพวกที่มักพูดว่าในระบบทุนนิยมไม่มีใครถูกบังคับให้ทำงานในสถานที่ต่างๆ หรือที่มีการพูดกันว่า “ทุนนิยมทำให้ทุกคนมีเสรีภาพมีสิทธิ์เท่ากัน” ซึ่งนักสังคมนิยมจะโต้ตอบว่า “ใช่!! เสรีภาพที่จะอดอยากถ้าไม่มีงานทำ เสรีภาพที่จะนอนใต้สะพานลอยถ้าโชคร้ายไม่มีที่อยู่อาศัย”
Squid Games คือซีรีส์ที่วิจารณ์สังคมทุนนิยมอย่างแหลมคม ถ้าดูภาพรวมของเรื่อง จะเห็นว่าเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของโลก ที่มองว่าตัวเขาเองมีสิทธิ์เหนือมนุษย์ผู้อื่นเสมอ ได้มารวมตัวกันเพื่อชมคนยากจนฆ่ากันเองเพื่อเอาตัวรอด นี่คือ “ความสนุก” ของพวกปรสิตเหล่านั้น และในฉากหนึ่งคนรวยคนหนึ่งอธิบายว่า “เศรษฐีกับคนยากจนเหมือนกันตรงที่เบื่อหน่ายกับชีวิต” แต่ในโลกแห่งความจริงความเบื่อหน่ายของคนจนมาจากการถูกทอดทิ้งหรือการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต่างจากคนรวยดุจฟ้ากับดิน
คนที่เป็นตัวละครในเกม ล้วนแต่เป็นคนชั้นล่างที่ตกยาก มีแรงงานข้ามชาติจากปากีสถาน มีผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ มีสาวที่ถูกพ่อละเมิด มีคนที่ติดการพนัน มีโจรอันธพาล ฯลฯ และบ่อยครั้งคำถามว่าจะสมานฉันท์กันหรือแก่งแย่งกันก็ปรากฏขึ้น
เวลาผู้เขียนดูเรื่องนี้จะนึกถึงสหายสังคมนิยมคนหนึ่งที่เคยทำงานทในโรงงานเหล็ก เขาจะมีจุดยืนต่อต้านหวยหรือลอตเตอรี่อย่างชัดเจน เพราะเป็นการหลอกกรรมาชีพคนจนด้วยความฝันฝันลมๆแล้งๆ Squid Game ที่เล่นเพื่อก้อนเงินใหญ่ก็ไม่ต่าง
เรื่องนี้เป็นการวิจารณ์ความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรง และความโหดร้ายของทุนนิยมแน่นอน แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือทางออกในการแก้ไขสถานการณ์ ซีรีส์นี้ไม่มีทางออก แต่ในโลกทุนนิยมจริงทางออกมีเสมอ เพราะกรรมาชีพทำงานในหัวใจของระบบเศรษฐกิจ ถ้าเลือกที่จะรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ เราสามารถเอาชนะนายทุนและปรสิตต่างๆ ได้ และบ่อยครั้งก็มีการต่อสู้เกิดจริง ถึงแม้ว่าฝ่ายเรายังไม่ได้ชัยชนะในการโค่นระบบ แต่สักวันหนึ่งประชาชนจะเป็นใหญ่ในโลก!!
ใจ อึ๊งภากรณ์