ใจ อึ๊งภากรณ์
การต่อสู้ของชาวคาทาโลเนีย[1]เพื่อแยกตัวออกจากรัฐสเปน และก่อตั้งสาธารณรัฐอิสระ เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองในการกำหนดอนาคตตนเอง และเราทุกคนที่รักเสรีภาพประชาธิปไตยควรจะสนับสนุนโดยไม่มีเงื่อนไข ในลักษณะเดียวกันเราควรสนับสนุนชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานีที่ต้องการเสรีภาพจากรัฐไทย
การปราบปรามชาวคาทาโลเนียที่เพียงแต่ต้องการจะไปลงประชามติ โดยรัฐสเปนที่ใช้ตำรวจปราบจลาจลระดับชาติ และกองกำลัง Guardia Civil นำไปสู่การกระทำอันความป่าเถื่อนของฝ่ายรัฐสเปน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อเป็นการประท้วง และก่อนหน้านั้นกรรมาชีพดับเพลิงและกรรมาชีพท่าเรือมีบทบาทในการพยายามปกป้องประชาชนจากความป่าเถื่อนของตำรวจ
ข้ออ้างของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของสเปนคือ รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ภายใต้อิทธิพลของนายพลฟรังโกซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ เขียนไว้ว่าประเทศสเปนจะแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างเลยจากรัฐธรรมนูญไทย เพราะไทยมีมาตราแบบนี้มาตั้งแต่เผด็จการฝ่ายขวาของไทยขึ้นมามีอำนาจ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๗๕ ที่ร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของ อ. ปรีดี ไม่มีมาตราดังกล่าวเลย และ อ. ปรีดี เคยสนับสนุนการปกครองตนเองของชาวปาตานีอีกด้วย ดังนั้นการต่อสู้ของชาวคาทาโลเนีย มีประเด็นที่อาจทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราควรสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานีที่จะกำหนดอนาคตตนเอง
กษัตริย์ราชวงอื้อฉาวของสเปนได้ออกมาด่าชาวคาทาโลเนียอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งไม่ต่างจากราชินีไทยที่เคยพูดว่าอยากจับปืนสู้กับขบวนการต้านรัฐไทยในกรณีปาตานี
ถ้าเราจะเข้าใจเหตุการณ์ในคาทาโลเนียในขณะนี้เราต้อง ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสเปน
ในปี 1936 นายพล ฟรังโก พยายามทำรัฐประหารฟาสซิสต์เพื่อล้มรัฐบาล “สาธารณรัฐ” ของสเปนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแนวร่วมระหว่างพรรคนายทุนและพรรคฝ่ายซ้าย แต่ชนชั้นกรรมาชีพ พรรคฝ่ายซ้าย และองค์กรอนาธิปไตยสเปน ลุกฮือจับอาวุธจากกองทัพเพื่อต่อสู้กับฟรังโกและพวกฟาสซิสต์ การต่อสู้ในขั้นตอนแรกมีรูปแบบการยึดเมือง ยึดสถานที่ทำงาน และยึดที่ดินในชนบท มันเป็นการพยายามปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมพร้อมๆ กับการต่อสู้กับทหารเผด็จการ
นักเขียนชื่อ จอร์ช ออร์เวล ในหนังสือ “แด่คาทาโลเนีย” อธิบายจากประสบการณ์โดยตรงในคาทาโลเนียว่า “มันเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นเมืองที่ชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ ทุกตึด ทุกสถานที่ทำงาน ถูกกรรมาชีพยึดแล้วเปลี่ยนเป็นสหกรณ์การผลิต แม้แต่คนขัดรองเท้าข้างถนนยังมีสหกรณ์ คนเสริฟอาหาร และคนขายของตามร้านค้า ที่เคยก้มหัวให้ลูกค้าหรือคนรวย จะยืนตรงและกล้ามองหน้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการเลิกใช้ภาษาของผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ รถยนต์ส่วนตัวไม่มีเหลือ กลายเป็นของส่วนรวมหมด และคนชั้นกลางและคนรวยหายไปจากเมือง ทุกคนมีความหวังในอนาคตอันสดใสที่มีการปลดแอกมนุษย์… มนุษย์กำลังพยายามทำตัวเป็นมนุษย์ที่แท้จริง”
ท่ามกลางกระแสการปฏิวัตินี้ มีสถานการณ์ “อำนาจคู่ขนาน” เกิดขึ้น ในเมือง บาซาโลนา อย่างที่เคยเกิดในรัซเสียเมื่อต้นปี 1917 คือมีรัฐบาล “พรรคสาธารณรัฐ” ที่เป็น “อำนาจทางการ” แต่อำนาจจริงอยู่ในมือของสหภาพแรงงาน องค์กรอนาธิปไตย (CNT) และพรรคฝ่ายซ้าย “สามัคคีแรงงานมาร์คซิสต์” (POUM) ที่เป็นฝ่ายปฏิวัติ ปัญหาคือองค์กรการเมืองสององค์กรหลักของกรรมาชีพคาทาโลเนีย ไม่ยอมตั้งสภาคนงาน เพื่อรวมศูนย์อำนาจกรรมาชีพ และล้มระบบเก่าเพื่อสร้างรัฐใหม่ พวกอนาธิปไตยมีอิทธิพลมากที่สุด และเขาไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจหรือการสร้างรัฐใหม่
ฝ่ายฟาสซิสต์ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศาสนาคริสต์นิกายแคทอลลิค และได้รับการสนับสนุนด้วยอาวุธ กับเครื่องบินทิ้งระเบิด จากรัฐบาลนาซีในเยอรมันและรัฐบาลพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี่ แต่ประเทศ “ประชาธิปไตย” ตะวันตก อย่างอังกฤษและแม้แต่ฝรั่งเศส ประกาศว่าจะ “เป็นกลาง” อย่างไรก็ตาม มวลชนฝ่ายซ้ายจากยุโรปและทวีปอเมริกาจำนวนมาก เข้าไปเป็นอาสาสมัครในการสู้รบกับฟาสซิสต์ที่สเปน
ในไม่ช้า สตาลิน มีคำสั่งให้พรรคคอมมิวนิสต์สเปน ช่วยยับยั้งการปฏิวัติ และเปลี่ยนการต่อสู้จากการปฏิวัติไปเป็นสงครามทางทหารแบบกระแสหลักกับฝ่ายฟาสซิสต์ “เพื่อประชาธิปไตย” ทั้งนี้เพราะ สตาลิน ต้องการรักษามิตรภาพกับอังกฤษและฝรั่งเศส มีการใช้กองกำลังของรัฐบาล “พรรคสาธารณรัฐ” ในการปราบพวกอนาธิปไตย (CNT) และพรรค “สามัคคีแรงงานมาร์คซิสต์” (POUM) ในเมือง บาซาโลนา
สรุปแล้วการจำกัดการต่อสู้ และการยับยั้งการปฏิวัติ ที่พรรคคอมมิวนิสต์สเปนกระทำ ตามคำสั่งของสตาลิน จบลงด้วยความพ่ายแพ้และโศกนาฏกรรม เพราะเผด็จการฟาสซิสต์ของฟรังโกสามารถครองอำนาจในสเปนถึง 40 ปี
ในขณะที่รัฐบาลฟาสซิสต์ครองอำนาจ มีการกดขี่ประชาชนอย่างหนัก โดยกองกำลังหลักของฟาสซิสต์คือตำรวจ Guardia Civil และคนพื้นเมืองในภูมิภาค คาทาโลเนีย กับ บาส์ค ที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ถูกห้ามไม่ให้ใช้ภาษาพื้นเมือง
จริงๆ แล้วรัฐสเปนไม่เคยเป็นรัฐเอกภาพ เพราะในหลายพื้นที่มีพลเมืองที่มีภาษาและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างรัฐรวมศูนย์ย่อมอาศัยการบังคับด้วยความรุนแรงเสมอ
ล่าสุดกระแสเรียกร้องเสรีภาพของชาวคาทาโลเนียระเบิดขึ้นเมื่อรัฐบาลกลางไม่ยอมปฏิรูปการปกครองเพื่อเพิ่มออำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นของ คาทาโลเนีย ผลคือพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคที่สนับสนุนการแยกประเทศก็ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่นี้ รัฐบาลท้องถิ่นของ คาทาโลเนีย พยายามจะนำนโยบายก้าวหน้าหลายอย่างมาใช้ เช่นกฎหมายห้ามการไล่คนจนออกจากบ้านเมื่อไม่สามารถจ่ายค่าเช่า ห้ามตัดไฟบ้านคนจนที่ติดหนี้ กฏหมายเก็บภาษีจากการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อส่งเสริมพลังงานทางเลือก กฏหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีในสถานที่ทำงาน และห้ามการลวนลามทางเพศ หรือกฏหมายห้ามการสู้กระทิง แต่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนออกมาล้มทุกกฏหมาย
พฤติกรรมศาลรัฐธรรมนูญสเปนก็ไม่ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญไทย
ในประเด็นเรื่อง คาทาโลเนีย กับ ปาตานี ส่วนที่คล้ายกันคือรัฐบาลกลางใช้อำนาจและความรุนแรงในการรวมประเทศ และในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความชอบธรรมกับการรวมประเทศ โดยไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนพื้นเมือง และมีการกดขี่ภาษาและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง มันหมายความว่าเราจะต้องสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาวมเลย์มุสลิมในปาตานีที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง รวมถึงการแยกประเทศด้วย ในขณะเดียวกันพลเมืองทุกคนในปาตานี ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใด ควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะอาศัยอยู่ในรัฐแบบไหนในอนาคต
สิ่งที่เกิดขึ้นในคาทาโลเนียอาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชาวปาตานีด้วย เพราะในกรณีคาทาโลเนียมีการอาศัยพลังมวลชน รวมถึงพลังกรรมาชีพ ในการต่อสู้ แทนที่จะเน้นกองกำลังติดอาวุธ และการใช้พลังมวลชนดังกล่าวที่คาทาโลเนียมีความเข้มแข็งมาก
[1] คนพื้นเมืองออกเสียงว่า “กาตาลูญญา”