Tag Archives: จักรวรรดินิยม

เบื้องหลังการกบฏที่อิหร่าน

การต่อสู้รอบล่าสุดของประชาชนอิหร่านที่ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามที่โหดร้ายป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐ คาดว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบสี่ร้อยคน รวมถึงเด็ก และถูกจับอีกหลายร้อย นอกจากนี้รัฐบาลประกาศประหารชีวิตผู้ถูกจับอีกด้วย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้นในต้นเดือนตุลาคมกระแสกบฏลามไปสู่บางส่วนของกรรมาชีพในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการนัดหยุดงาน ปิดถนน และตะโกนด่าผู้นำสูงสุด อะลี คอเมเนอี ล่าสุดคนงานโรงเหล็กในเมือง อิสฟาฮาน ก็นัดหยุดงาน

นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาประท้วงอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่นำโดยนักศึกษาหญิง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการทุบผนังที่ใช้แยกนักศึกษาหญิงออกจากชาย

บนท้องถนนเวลามีการประท้วงมีการปัดผ้าโพกหัวพวกพระตกลงบนพื้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการย่อยปิดร้านค้าประท้วงอีกด้วย

การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นจากการฆ่า มาห์ซา อามินี โดยตำรวจในขณะที่เขาถูกขังในคุกตำรวจ เขาเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัว เนื่องจากเธอไม่ได้สวมฮิญาบในลักษณะ “ถูกต้อง” ตามระเบียบอนุรักษ์นิยม

โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา พบว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลบังคับให้สวมฮิญาบ ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างคนที่เคร่งศาสนากับคนที่ไม่เคร่งศาสนา แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำของประเทศ

ในไม่ช้าความไม่พอใจของประชาชนขยายจากเรื่อง มาห์ซา อามินี ไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการที่สังคมไร้เสรีภาพ และประท้วงปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของประชาชนในวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เกลียดชังกฎหมายเผด็จการและไม่พอใจกับการที่จะตกงานและยากจนในอนาคต การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงขนาดใหญ่โดยกรรมาชีพเรื่องค่าครองชีพ การตกงาน และการตัดสวัสดิการ ซึ่งในการต่อสู้ของกรรมาชีพนี้ ไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นการประท้วงรัฐบาลอีกด้วย ปีที่แล้วคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่คนงานที่ประท้วงตอนนี้และตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีสัญญาการจ้างชั่วคราว และทำงานซ่อมแซมโครงสร้างของอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนงานหลักในใจกลางอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเคยปิดการผลิตน้ำมันในการปฏิวัติปี 1979 การต่อสู้ครั้งนี้จะมีพลังมากขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพในใจกลางเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุติการอุดหนุนราคาอาหาร มีการประท้วงบนท้องถนนของประชาชนหลายพัน รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถพยุงราคาได้เพราะค่าอาหารพุ่งขึ้นเนื่องจากวิกฤตโลก โดยเฉพาะวิกฤตอาหารในตลาดโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน สภาพย่ำแย่ของประชาชนมาจากอีกสองสาเหตุด้วยคือ การปิดกั้นเศรษฐกิจอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกา และการใช้นโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลอิหร่านในรอบสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามวิดีโอที่เปิดเผยความรุนแรงของตำรวจบนท้องถนนทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น แม้แต่ในคุกเอวินในกรุงเตหะรานก็มีการต่อสู้ คุกนี้เป็นคุกสำหรับนักโทษการเมืองที่ขังปัญญาชน นักศึกษา และนักต่อสู้ผู้หญิง แต่การปราบปรามของฝ่ายรัฐคงจะมีผลทำให้หลายคนกลัว อย่างไรก็ตามคนบนท้องถนนจำนวนมากมองว่าต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อล้มรัฐบาล แต่กระแสนี้อาจเปลี่ยนได้

นักการเมืองฝ่าย “ปฏิรูป” บางคนแนะให้รัฐบาลประนีประนอมเพื่อจำกัดและลดการประท้วง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคิดจะปราบท่าเดียว

นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอิหร่านรายงานว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกพยายามฉวยโอกาสแทรกแซงความวุ่นวายในอิหร่าน พร้อมขู่ว่าจะช่วยล้มรัฐบาล และออกมาพูดสนับสนุนผู้ประท้วง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้หลงคิดว่าสหรัฐกับตะวันตกเป็นเพื่อนของประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการแต่อย่างใด เขาจำหรือเข้าใจบทบาทตะวันตกในอดีตได้ดี ยิ่งกว่านั้นท่าทีของสหรัฐและตะวันตกเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านโกหกว่าการประท้วงถูกจัดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจริง

ถ้าจะเข้าใจการต่อสู้รอบนี้ เข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเข้าใจที่มาของชนชั้นปกครองอิหร่านในยุคปัจจุบัน เราต้องศึกษาการปฏิวัติ 1979

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอิหร่าน

ในปี1979 มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอีหร่าน      ก่อนหน้านั้นอีหร่านปกครองโดยกษัตริย์เผด็จการที่เรียกว่า “พระเจ้าชาห์” พระเจ้าชาห์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นจักรวรรดินิยมรายใหญ่และตอนนั้นประเทศอีหร่านเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์กรสายลับ “ซีไอเอ” ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพราะสหรัฐพยายามปกป้องผลประโยชน์เรื่องน้ำมันในตะวันออกกลางมาตลอด ซึ่งเห็นชัดในกรณีรัฐประหารปี 1953 ที่ล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดฆ ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง รัฐประหารนี้เกิดจากการที่ โมซัดเดฆ พยายามนำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผลของรัฐประหารคือการขึ้นมาของเผด็จการพระเจ้าชารห์

เนื่องจากพระเจ้าชาห์มีองค์กรตำรวจลับ “ซาวัค” ที่โหดร้ายทารุน และมีกองทหารสมัยใหม่ที่มีกำลังถึง 7 แสนคน เขามักอวดดีว่า “ไม่มีใครล้มกูได้”  แต่ในขณะที่อีหร่านเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันสูง ประชาชนกลับยากไร้ หมู่บ้าน87%ในประเทศในไม่มีโรงเรียน และเกือบจะไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีสถานพยาบาล      80%ของประชากรอ่านหนังสือไม่ได้อีกด้วย                 

ในปี 1977 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มักเกิดกับทุนนิยมเป็นระยะๆ ปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานทั่วไป มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่อิสระจากอิทธิพลของตำรวจ “ซาวัค” และมีการประท้วงทุกรูปแบบ เช่นมีคนเข้าฟังกวีอ่านกลอนต่อต้านรัฐบาลถึง 2 หมื่นคน 

พอถึงกันยายนปี 1978 มีประชาชนออกมาชุมนุมต้านกษัตริย์ชาห์ 2 ล้านคนในเมืองเตหะราน กรรมาชีพส่วนที่สำคัญที่สุดของอีหร่านคือคนงานสูบและกลั่นน้ำมัน เขาก็นัดหยุดงาน พนักงานสื่อมวลชนมีการดับรายการวิทยุโทรทัศน์คืนละหนึ่งชั่วโมง พนักงานรถไฟไม่ยอมให้ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นรถไฟ กรรมกรท่าเรือไม่ยอมขนสินค้ายกเว้นอาหารและยา   สรุปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมาชีพยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอีหร่านตอนนั้น แต่เป็นส่วนที่มีพลังมากที่สุดและเป็นส่วนที่ใช้พลังบีบระบบเศรษฐกิจจนพระเจ้าชาห์ต้องหนีออกนอกประเทศ

ฝ่ายค้าน

ปัญหาของการปฏิวัติอีหร่านในปี 1979 เป็นปัญหาเดียวกับการปฏิวัติในยุคปัจจุบันทุกครั้ง คือล้มรัฐบาลแล้วจะเอาอะไรมาแทนที่?   ตอนนั้นฝ่ายค้านมีสามพวกคือ

1.พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้แบบติดอาวุธ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากเพราะไม่สนใจบทบาทมวลชน หรือกรรมาชีพ

2.พวกพระศาสนาอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลเก่าเพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์กัน พวกนี้ได้เปรียบฝ่ายซ้ายเพราะรัฐบาลพระเจ้าชาห์ไม่ค่อยกล้าปราบปรามสถาบันศาสนาโดยตรง มัสยิดจึงกลายเป็นแหล่งจัดตั้งของพระฝ่ายค้านได้ดี กลุ่มพระเหล่านี้มีฐานสนับสนุนในพวกนายทุนน้อยในตลาดตามเมืองต่างๆ แต่พร้อมจะทำงานกับนายทุนใหญ่

3.ฝ่ายซ้าย “พรรคทูเดย” แนวคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ที่ต้องการทำแนวร่วมรักชาติกับพวกพระ ตามแนวปลดแอก “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะสู้เพื่อล้มทุนนิยม

กรรมาชีพตั้งสภาคนงาน “ชอร่า”

เมื่อกรรมาชีพอีหร่านเริ่มรู้พลังของตนเอง ก็มีการตั้งสภาคนงานในรูปแบบเดียวกับ “โซเวียด” ของรัสเซีย แต่ในอีหร่านเขาเรียกว่า “ชอร่า” ซึ่งสภาคนงานนี้ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของรัฐชนชั้นกรรมาชีพได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือฝ่ายซ้ายในอีหร่านไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพในการสร้างสังคมใหม่ เขามองว่าอีหร่าน “ยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติสังคมนิยม” และ “ต้องสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน” ตามสูตรแนวคิดลัทธิสตาลิน ฝ่ายซ้ายจึงสนับสนุนและสร้างแนวร่วมกับพวกพระศาสนาอิสลาม เพื่อ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในการต่อต้านรัฐบาลเก่า  แต่พวกพระอิสลามไม่สนใจที่จะล้มระบบทุนนิยมเลย เขาต้องการปกป้องทุนนิยมในรูปแบบชาตินิยมผสมอิสลามเท่านั้น และพวกพระพยายามทุกวิธีทางที่จะทำลายสภาคนงาน“ชอร่า”ที่ถูกตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงด้วย

ในที่สุด ทั้งๆที่กรรมาชีพมีพลังสูง และทั้งๆที่กรรมาชีพออกมาประท้วงถึง 1.5 ล้านคนในวันแรงงานสากลปี 1979 ฝ่ายพระอิสลามที่นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

ทรอตสกี กับ “การปฏิวัติถาวร”

ลีออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซียที่เป็นคู่สหายของเลนิน เคยเสนอตั้งแต่ปี 1905 ว่าในประเทศล้าหลังถึงแม้ว่าจะมีกรรมาชีพน้อยกว่าชาวนา แต่กรรมาชีพจะต้องไม่พอใจกับการสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในกรณีที่มีการล้มเผด็จการ และจะต้องยกระดับการต่อสู้ให้เลยขั้นตอนนี้ไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยม กรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเลย และจะยังถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป นี่คือการต่อสู้ที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติถาวร” และในการต่อสู้แบบนี้กรรมาชีพจะต้องรบกับระบบทุนนิยมและนายทุนอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่สร้างแนวร่วมกับนายทุน แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมกับชาวนายากจนในชนบท

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จะเป็นไปตามที่ทรอตสกีเสนอ แต่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือฝ่ายซ้ายในอีหร่าน ก็ล้วนแต่ปฏิเสธการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น และหันมาเสนอการสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของนายทุนแทน การปฏิเสธการปฏิวัติถาวรมาจากการที่สตาลินยึดอำนาจในรัสเซีย ทำลายสังคมนิยม และเปลี่ยนแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

อีหร่าน 1979    ไทย ๑๔ ตุลา

แนวทางชาตินิยมต้านจักรวรรดินิยมที่ปฏิเสธบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเสนอให้สู้เพื่อได้มาแค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุน แทนที่จะต่อสู้อย่างไม่ขาดขั้นตอนไปสู่สังคมนิยม เป็นแนวทางที่เราได้รับการสั่งสอนมาในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แนวนี้เป็นแนวที่เปิดโอกาสให้นายทุนไทยฉวยโอกาสครอบงำการเมืองไทยหลังการล้มเผด็จการทุกครั้ง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นหกปีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน แนวนี้นำกรรมาชีพไทยไปเป็นทาสรับใช้นายทุนไทย เช่นเดียวกับแนวทางที่นำกรรมาชีพอีหร่านไปสู่การเป็นทาสของนายทุนอิสลามและความพ่ายแพ้ในปี 1979

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือ (1)กรรมาชีพไม่ควรฝากความหวังไว้กับชนชั้นอื่นเลย ไม่ควรสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสู้กับจักรวรรดินิยมและสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างเดียว นายทุนชาติไม่ใช่มิตร แต่เป็นผู้ขูดรีด และประชาธิปไตยทุนนิยมไม่มีวันยกเลิกการขูดรีดดังกล่าว (2) ฝ่ายซ้ายต้องเน้นพลังมวลชนกรรมาชีพในการต่อสู้ และเข้าใจแนว “ปฏิวัติถาวร”

ปัจจุบัน

ถ้ากรรมาชีพอิหร่านเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองอีกครั้ง จะต้องต่อสู้โดยไม่หลงเชื่อว่าประชาธิปไตยนายทุนจะเพียงพอ หรือพึ่งพามิตรจอมปลอมในรูปแบบรัฐบาลตะวันตก กรรมาชีพและนักสังคมนิยมอิหร่านจะต้องผลักดันการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพในสังคมและมุ่งสู่สังคมนิยม ต้องเดินตามแนว “ปฏิวัติถาวร” เพราะในอดีตสิ่งที่กรรมาชีพได้จากการต่อสู้เสียสละในปี 1979 คือเผด็จการจากมัสยิดที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน และกดขี่สตรีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ฝ่ายซ้ายในไทยและที่อื่นจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอิหร่าน พร้อมกับคัดค้านการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของตะวันตก เพราะผู้ที่จะปลดแอกสังคมคือคนอิหร่านเอง

จีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งจักรวรรดินิยม เราไม่ควรเลือกข้าง

การเยือนเกาะไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และนักการเมืองที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐ เป็นการตั้งใจที่จะยั่วยุท้าทายประเทศจีนท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยม

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ คำว่า “จักรวรรดินิยม” ที่ เลนิน เคยนิยามว่าเป็น “ขั้นตอนสูงสุดของระบบทุนนิยม” ไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศใดประเทศเดียว ทั้งๆ ที่เรามักจะได้ยินคำว่า “จักรวรรดินิยมสหรัฐ” แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” คือเป็นระบบความขัดแย้งระหว่างรัฐทุนนิยมทั่วโลก โดยที่บางประเทศ ประเทศมหาอำนาจ จะมีอำนาจสูง และประเทศเล็กๆจะมีอำนาจน้อย อำนาจดังกล่าวมาจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางทหารซึ่งนำไปสู่อำนาจทางการทูตด้วย

เรื่องเศรษฐกิจกับการทหารแยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่ เลนิน เคยอธิบายไว้คือ เวลาทุนนิยมพัฒนา กลุ่มทุนใหญ่กับรัฐมักจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะกลุ่มทุนในประเทศหนึ่งๆ มักจะอาศัยอำนาจทางทหารและการเมืองของรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และในขณะเดียวกันรัฐต้องอาศัยพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ สถานการณ์แบบนี้ยังดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่มีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจทั่วโลก แต่จริงๆ แล้วบริษัทข้ามชาติยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการปกป้องผลประโยชน์เวลาทำธุรกิจข้ามพรมแดนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทต่างๆ มันไม่ใช่ว่าบริษัทข้ามชาติสามารถหนีพรมแดนรัฐชาติหรือรัฐชาติมีความสำคัญน้อยลง อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ

จักรวรรดินิยมจึงเป็นระบบหรือเครือข่ายการแข่งขันกันทั่วโลกระหว่างรัฐ-ทุนประเทศหนึ่งกับรัฐ-ทุนอื่นๆ และจะออกมาในรูปแบบการพยายามเอาชนะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทหาร บางครั้งจึงเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมระบบทุนนิยมเป็นต้นกำเนิดของสงครามเสมอ

มหาอำนาจในโลกปัจจุบัน มีสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปในอียู จีน และรัสเซีย และมีประเทศมหาอำนาจย่อยๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนเองในการแข่งขันทั่วโลก ชนชั้นนำอังกฤษยังฝันว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจ แต่แท้จริงถ้าอังกฤษจะมีอิทธิพลในโลกก็ต้องเกาะติดสหรัฐเหมือนลูกน้อง เราเห็นสภาพแบบนี้ในสงครามอิรัก และประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ก็ต้องรวมตัวกับเยอรมันในสหภาพยุโรป (อียู)ถึงจะมีอำนาจในเวทีโลกได้

หลายคนเข้าใจผิดว่าจักรวรรดินิยมมีแค่สหรัฐอเมริกา แต่จีนกับรัสเซียก็เป็นมหาอำนาจในระบบจักรวรรดินิยมด้วย และทั้งจีนกับรัสเซียเป็นประเทศทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดแรงงานของตน และสร้างกองทัพเพื่อข่มขู่ประเทศอื่นๆ ไม่ต่างจากสหรัฐ ดังนั้นเราชาวมาร์คซิสต์จะไม่มีวันเข้าข้างประเทศหรือชนชั้นปกครองของจีน หรือรัสเซีย โดยหลงคิดว่าการต้านสหรัฐโดยรัสเซียหรือจีนเป็นสิ่ง “ก้าวหน้า” มันไม่ใช่เลย คนที่คิดแบบนี้เป็นแค่คนที่ต้องการพึ่งนักเลงกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านนักเลงอีกกลุ่มเท่านั้น มันไม่นำไปสู่เสรีภาพหรือการปลดแอกแต่อย่างใด และมันเป็นการมองข้ามพลังของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อไปเชียร์ชนชั้นปกครอง

กลับมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนและเรื่องเกาะไต้หวัน เมื่อแนนซี เพโลซี ตั้งใจท้าทายจีนด้วยการเยือนเกาะไต้หวัน จีนก็โต้ตอบด้วยการประกาศว่าถ้าจีนอยากบุกยึดเกาะไต้หวัน จีนก็ทำได้เสมอ นอกจากนี้มีการสำแดงพลังกันทั้งสองฝ่ายด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบไปท้าทายอีกฝ่ายในเชิงสัญลักษณ์ และสหรัฐพยายามสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อต้านจีน (The Quad) ที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น กับสหรัฐ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “นาโต้เอเชีย”

รัฐบาลสหรัฐเริ่มหันไปให้ความสนใจกับเอเชียอีกครั้งหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงตั้งแต่ยุคของโอบามา โอบามาเปลี่ยนนโยบายระหว่างประเทศโดยการหันไปทางตะวันออก และกำหนดให้ 60% ของกองกำลังทหารสหรัฐหันหน้าไปทางจีน

ถ้าเราเข้าใจนโยบายของสหรัฐตรงนี้เราจะเข้าใจได้ว่าในกรณีสงครามยูเครน สหรัฐกับนาโต้หนุนรัฐบาลยูเครนด้วยอาวุธ เพื่อทำลายหรือลดอำนาจของรัสเซีย โดยที่เป้าหมายหลักอยู่ที่การพิสูจน์ความเข้มแข็งของสหรัฐและนาโต้ให้จีนดู นั้นคือสิ่งที่สะท้อนว่าระบบจักรวรรดินิยมมันครอบคลุมโลกและเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน และความก้าวร้าวของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียตอนนี้ มาจากความกลัวของสหรัฐว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สหรัฐจึงพึ่งอำนาจทางทหารมากขึ้น

ในทศวรรษที่80 จีนเป็นเศรษฐกิจที่เล็กถ้าเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก คือแค่2%ของเศรษฐกิจโลก แต่การขยับสู่กลไกตลาดและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน นำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอุตสาหกรรมส่งออก 60% เป็นทุนเอกชน แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ บ่อยครั้งเศรษฐีใหญ่ของจีนเป็นลูกหลานญาติพี่น้องของผู้ดำรงตำแหน่งสูงในพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย ในปี 2011 ชนชั้นปกครองจีนแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยเศรษฐีรวยที่สุด70คน ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในสังคมก็พุ่งสูงขึ้น มันไม่ใช่ว่ากรรมาชีพจีนคุมการเมืองหรือรัฐแต่อย่างใด

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายกำลังทหารและอาวุธอย่างรวดเร็วจ จาก20พันล้านดอลลาร์ในปี 1989 เป็น 266พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 แต่งบประมาณทางทหารของจีนเทียบเท่าแค่ 1/3ของงบประมาณสหรัฐ จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินแค่ 2 ลำ ในขณะที่สหรัฐมี 11 ลำ

ตอนนี้จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นอำนาจทางทหารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองด้วย เราจึงไม่แปลกใจที่ชนชั้นปกครองสหรัฐมองว่าจีนคือคู่แข่งหลักในเวทีโลกซึ่งเป็นเวทีจักรวรรดินิยม พร้อมกันนั้นสหรัฐและแนวร่วมก็เปิดศึกทางการทูตด้วยการวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีชาวอุยกูร์หรือกรณีฮ่องกง และทั้งๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในสองกรณีนี้จริง แต่สหรัฐและประเทศตะวันตกไม่เคยจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ดูได้จากการที่ตำรวจสหรัฐฆ่าคนผิวดำ หรือการที่สหรัฐปกป้องและสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลเป็นต้น

ถ้าดูกรณีไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายประชาธิปไตยของพวกทหารเผด็จการ อาจถูกวิจารณ์อย่างอ่อนๆจากสหรัฐ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องนามธรรม เพราะรัฐบาลสหรัฐยังร่วมมือทางทหารกับไทย ส่วนเผด็จการจีนก็ไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ทั้งจีนกับสหรัฐสนใจจะดึงรัฐบาลไทยมาเป็นพรรคพวกมากกว่าเรื่องอุดมการณ์

อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐและกลุ่มทุนทั้งแข่งขันและร่วมมือกันพร้อมๆ กัน มาร์คซ์ เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวว่าพวกนายทุนเป็น “พี่น้องที่ตีกันอย่างต่อเนื่อง”

ในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันผูกพันกับจีนโดยที่ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด และชิ้นส่วนดังกล่าวใช้ในการประกอบคอมพิวเตอร์ที่จีน เพื่อส่งออกให้ตะวันตกและส่วนอื่นของโลก และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนไปสู่สหรัฐมีความสำคัญกับทั้งจีนและสหรัฐ ยิ่งกว่านั้นเงินรายได้ของจีนจากการส่งออกก็ถูกนำไปลงทุนในสหรัฐอีกด้วย นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนกับสหรัฐผูกพันกันทางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทหาร และไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดสงคราม ไม่ได้แปลว่าโลกไม่ได้เสี่ยงจากการปะทะกันทางอาวุธ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ที่เพิ่มความตึงเคลียดและทั้งสองฝ่ายไม่ยอมถอยโดยมองว่าอีกฝ่ายจะขยายอิทธิพลและท้าทายผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง อย่างที่เราเห็นในกรณียูเครน ก็เกิดสงครามได้ และสงครามดังกล่าวเสี่ยงกับการขยายไปสู่สงครามนิวเคลียร์อีกด้วยเพราะจะเป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจโดยตรง

มันไม่จบอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความขัดแย้งเรื่องเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเล และรัฐบาลต่างๆ กำลังสะสมอาวุธอย่างเร่งด่วน เราเห็นว่าในไทยกองทัพเรือประกาศว่าจะต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อแข่งกับประเทศรอบข้าง

แล้วเรื่องไต้หวัน เราจะเข้าใจประเด็นการเมืองและหาจุดยืนอย่างไร?

ในปี 1949 เหมาเจ๋อตุงนำการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ชัยชนะ แต่การปฏิวัติครั้งนั้นไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยมแต่อย่างใด เพราะไม่ได้นำโดยชนชั้นกรรมาชีพเลย นำโดยกองทัพแดงแทน มันเป็นการปฏิวัติ “ชาตินิยม” ที่ปลดแอกจีนจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและตะวันตก และมันนำไปสู่การสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

เจียง ไคเชก กับ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

หลังการปฏิวัติจีนพรรคก๊กมินตั๋ง (หรือ “กั๋วหมินต่าง”) ของเจียง ไคเชก คู่ขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้หนีไปอยู่บนเกาะไต้หวันและปกครองเกาะด้วยเผด็จการทหาร ตอนนั้นกองทัพจีนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดเกาะ และในช่วงสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาหนุนเจียง ไคเชก แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปี การต่อสู้ของกรรมาชีพและประชาชนในไต้หวันท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถล้มเผด็จการและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ และกรรมาชีพเริ่มมีสิทธิเสรีภาพพอๆ กับประเทศทุนนิยมตะวันตก

อย่างไรก็ตามเกาะไต้หวันและประชาชนกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐที่ต่อต้านการขยายตัวของจีน แน่นอนประชาชนในไต้หวันเป็นคนเชื้อสายจีน แต่ถ้ารัฐบาลจีนเข้ามายึดเกาะ สิทธิเสรีภาพที่เคยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนก็จะถูกทำลายโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองกระแสหลักของไต้หวันแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่มองว่าน่าจะค่อยๆ รวมชาติกับจีน และฝ่ายที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ อย่างไรก็ตามทั้งสองพรรคนี้ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลัก และที่สำคัญคือถ้าไต้หวันจะเป็นประเทศอิสระก็จะเป็นอิสรภาพจอมปลอมภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

ทางออกสำหรับประชาชนและกรรมาชีพไต้หวันจากการเป็นเหยื่อของความขัดแย้งจักรวรรดินิยม คือกรรมาชีพและนักสังคมนิยมไต้หวันจะต้องสมานฉันท์กับกรรมาชีพบนแผ่นดินใหญ่จีนในการต่อสู้กับชนชั้นปกครองจีน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม โดยไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้กรรมาชีพจีนอยู่ในสภาพความขัดแย้งทางชนชั้นกับรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน

ท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยมระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝ่ายซ้ายทั่วโลกมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นสามจุดยืนคือ

  1. พวกที่แก้ตัวแทนจีน โดยอ้างว่าจีน “ก้าวหน้า” กว่าสหรัฐ อ้างว่าจีนยังเป็นสังคมนิยม และอ้างว่าจีนไม่ใช่จักรวรรดินิยม พวกนี้เป็นพวกที่ปิดหูปิดตาถึงลักษณะทุนนิยมของจีน การกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพของชนชั้นปกครองจีน และการที่รัฐบาลจีนเบ่งอำนาจกับฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน ฝ่ายซ้ายพวกนี้เป็นพวกที่เลือกเข้าข้างโจรกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านโจรอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมว่าพลังหลักที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าและล้มทุนนิยมคือชนชั้นกรรมาชีพ จีนไม่เคยเป็นสังคมนิยม และเมื่อทุนนิยมโดยรัฐพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้ ก็มีการหันหน้าออก เน้นกลไกตลาด และใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อบุกเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาศัยการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น
  2. พวกฝ่ายซ้ายที่เชียร์ตะวันตก เพราะมองว่า “ไม่แย่เท่าจีน” พวกนี้มองแค่เปลือกภายนอกของระบบประชาธิปไตย และสภาพแรงงานในตะวันตกเท่านั้น ซึ่งแน่นอนการมีประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน และรัฐสวัสดิการในบางประเทศ (ไม่ใช่สหรัฐ) เป็นเรื่องสำคัญที่จับต้องได้ แต่แค่นั้นไม่พอที่จะทำให้เรา “เลือกนาย” จากชนชั้นปกครองตะวันตก และเราต้องไม่ลืมด้วยว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจตะวันตกที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามจักรวรรดินิยมโดยสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งกองทัพดังกล่าว หรือแนวร่วมทหารของนาโต้ ไม่เคยมีประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพในตะวันตก ตรงกันข้ามมันนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณทางทหารในขณะที่มีการตัดงบประมาณสาธารณสุขหรือรัฐสวัสดิการ และมันนำไปสู่การเกณฑ์กรรมาชีพไปล้มตายในสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
  3. ฝ่ายซ้ายที่ยังไม่ลืมจุดยืนมาร์คซิสต์และจุดยืนสากลนิยม จะมองว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยที่จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกปัจจุบัน นักมาร์คซิสต์มองว่ากรรมาชีพไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฝ่าย “ของเรา” คือกรรมาชีพในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ ยุโรป หรือไทย และชนชั้นกรรมาชีพโลกนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะล้มระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม

ในระบบจักรวรรดินิยมปัจจุบัน ในรอบ20ปีที่ผ่านมา แทนที่เราจะเห็นแค่สหรัฐเบ่งอำนาจกับประเทศเล็กๆ เราเห็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโดยตรง ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดสงครามใหญ่มากขึ้นอย่างน่ากลัว แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมมีต้นกำเนิดจากวิกฤตของระบบทุนนิยมที่มีหลายรูปแบบเช่น วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อ

เราชาวสังคมนิยมจะต้องขยันในการเปิดโปงและวิจารณ์ระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม ต้องเข้าใจและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เพื่อปลุกระดมมวลชนให้เห็นภาพจริงและออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกรรมาชีพทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงคราม การสนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อค่าจ้างเพิ่ม การประท้วงโลกร้อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม ภาระงานอันยิ่งใหญ่นี้ย่อมทำไม่ได้ถ้าเราไม่พยายามสร้างพรรคปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

จักรวรรดินิยมและสงครามยูเครน

เราชาวสังคมนิยมมองว่าสงครามในยูเครน มีต้นกำเนิดจากความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตก กับจักรววรดินิยมรัสเซีย เราต่อต้านจักรววรดินิยมทุกรูปแบบ ต่อต้านการบุกรุกยูเครนโดยรัสเซีย และต่อต้านการที่อำนาจตะวันตกพยายามขยายแนวร่วมทางทหาร “นาโต้” ไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเพื่อล้มรอบรัสเซีย

จักรวรรดินิยม

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของ เลนิน คือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของ เลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบความขัดแย้ง” ระหว่างรัฐต่างๆ ในเศรษฐกิจทุนนิยมโลก โดยที่มีมหาอำนาจที่พยายามข่มขู่ประเทศที่อ่อนแอและเล็กว่า บ่อยครั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจนำไปสู่การแข่งขันทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสะสมอาวุธ หรือการทำสงคราม ทฤษฎีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

ในอดีตมหาอำนาจใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลก แต่ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร

ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก

ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองขั้ว คือ อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม

“สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักของตะวันตกมักโกหกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะปูติน “บ้า” หรือ “กระหายเลือด” ทั้งนี้เพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งจริง

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของ เลนิน ในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามระหว่างชนชั้น!”

อเล็กซ์ คาลินิคอส นักมาร์คซิสต์ชาวอังกฤษ อธิบายว่าจักรวรรดินิยมไม่ใช่การกระทำของประเทศมหาอำนาจประเทศเดียว แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีอำนาจแตกต่างกัน การทีระบบทุนนิยมมีลักษณะการพัฒนาต่างระดับเสมอ ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจทางทหาร และอำนาจในเชิงจักรวรรดินิยม มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่เรื่องคงที่แต่อย่างใด

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ตราบใดที่มีระบบทุนนิยม เราจะมีภัยสงครามที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน อเล็กซ์ คาลินิคอส อธิบายว่าเราไม่สามารถเลือกข้างได้ในการแข่งขันดังกล่าว อย่าหลงคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งทางลัทธิหรืออุดมการณ์ทางการเมือง อย่างที่ผู้นำพยายามโกหกเราเสมอ

การเมืองระหว่างประเทศในโลก ทั้งในปัจจุบันและในอดีต เป็นแค่ “โต๊ะกินข้าวของหมาป่า” ดังนั้นเราต้องต้านสงครามและระบบขูดรีด และต้องทำแนวร่วมสากลกับประชาชนชั้นล่างทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ยูเครน

หลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 พรรคบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินกับทรอตสกี้ผลักดันนโยบายที่ให้เสรีภาพกับประเทศที่เคยถูกกดขี่ภายใต้อนาจักรรัสเซียของกษัตริย์ซาร์ แต่ยูเครนกลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างกองทัพขาวที่ต้านการปฏิวัติกับกองทัพแดง ยูเครนตะวันออกที่มีอุตสาหกรรมมีกรรมาชีพจำนวนมากที่สนับสนุนบอลเชวิค นอกจากนี้เยอรมันกับโปแลนด์พยายามแย่งพื้นที่ของยูเครนอีกด้วย

พอสตาลินขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียและทำลายการปฏิวัติ มีการรื้อฟื้นชาตินิยมรัสเซียเหมือนสมัยกษัตริย์ซาร์ ก่อนหน้านี้สตาลินคัดค้านเลนินในเรื่องการให้ชาวยูเครนกำหนดอนาคตตนเอง การยึดผลผลิตจากเกษตรกรของเผด็จการสตาลินระหว่าง 1932-1933 ทำให้ประชาชน 3.9 ล้านอดอาหารตาย

ในปี 1936 ทรอตสกี้ ซึ่งเป็นคนยิวที่เกิดในยูเครนและต้องลี้ภัยจากสตาลินในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของสตาลินทำลายความเชื่อมั่นของชาวยูเครนต่อรัฐบาลโซเวียตโดยสิ้นเชิง เขาอธิบายต่อว่าผู้นำปฏิกิริยาของยูเครนพยายาม “ขายชาติ” โดยชวนให้ประชาชนไปก้มหัวให้จักรวรรดินิยมต่างๆ ภายใต้คำสัญญาที่ไร้ค่าว่ายูเครนจะได้รับอิสรภาพ ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สองยูเครนกลายเป็นสมรภูมิระหว่างกองทัพนาซีของเยอรมันกับกองทัพของรัสเซีย พวกนาซีซึ่งรวมถึงฝ่ายขวาฟาสซิสต์ของยูเครนเองได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

หลังการล่มสลายของระบบทุนนิยมโดยรัฐและเผด็จการพรรคคอมมมิวนิสต์ของรัสเซีย คนยูเครนจำนวนมากฝันว่าถ้าหันไปหาอียูกับอำนาจตะวันตกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ในปี 1990 มีการลุกฮือของนักศึกษาที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพจากรัสเซียในปีต่อไป แต่มีการข้อขัดแย้งว่าใครจะได้ครอบครองอาวุธในฐานทัพของรัสเซียที่ไครเมีย คนส่วนใหญ่ในทางตะวันออกของยูเครนเป็นคนเชื้อสายรัสเซียและอยากอยู่กับรัสเซีย คนทางตะวันตกมักจะมองไปที่อียู ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วยูเครนพูดสองภาษาที่บ้านคือรัสเซียกับยูเครน ชาวรัสเซียกับชาวยูเครนใกล้ชิดกันเหมือนคนไทยกับคนลาว

ในปี 1993 ความฝันของประชาชนจำนวนมากที่คิดว่าการหันไปทางตะวันตกและรับกลไกตลาดเสรีจะทำให้ฐานะดีขึ้น ก็กลายเป็นฝันร้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐบาลใช้นโยบายรัดเข็มขัด ท่ามกลางวิกฤตนี้พวกนักการเมืองฉวยโอกาสก็เริ่มใช้แนวคิดชาตินิยมเพื่อเบี่ยงเบนความไม่พอใจของประชาชน มีทั้งชาตินิยมที่ชอบตะวันตก และชาตินิยมที่ชอบรัสเซีย สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงอีกเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008

ในปี 2013 ธนาคารกลางของยูเครนไม่มีเงินเหลือที่จะควบคุมเศรษฐกิจ ผู้นำทางการเมืองพยายามเข้าใกล้อียูเพื่อแก้ปัญหา แต่ในที่สุดประธานาธิบดี Yanukovych เลือกทำข้อตกลงใต้โต๊ะกับปูตินแทนที่จะเซ็นสัญญากับอียู

ประธานาธิบดี Yanukovych เคยถูกขับไล่ออกไปในการลุกฮือ “สีส้ม” ในปี2004 แต่เข้ามาใหม่ในปี 2010 ด้วยการโกงการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาที่จัตุรัส Maidan นักศึกษาเหล่านี้มองว่าพวกผู้นำแนวสตาลินเก่าเช่น Yanukovychมักจะโกงกิน

หลังจากการพยายามปราบการลุกฮือที่ Maidan มีผู้ออกมาชุมนุมมากขึ้นและมีหลากหลายกลุ่มที่การเมืองแตกต่างกัน หลายคนอยากล้มรัฐบาลแต่ไม่ชัดเจนว่าต้องการให้ยูเครนใกล้ชิดกับอียูหรือรัสเซีย มันเป็นโอกาสทองที่ทั้งตะวันตกและรัสเซียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองยูเครน ประชาชนทางตะวันตกของประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนอียูและนาโต้ พวกนักการเมืองที่มองไปทางตะวันตกมักจะโจมตีประชาชนทางตะวันออกและทางใต้ที่พูดภาษารัสเซีย ว่าเป็นพวก “บุกรุก” ในบรรยากาศแบบนี้พวกกลุ่มฝ่ายขวาจัดก็เพิ่มอิทธิพล และปูตินก็โต้ตอบด้วยการใช้แนวชาตินิยมรัสซียและการเสนอว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานาน

สถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้นำไปสู่การสู้รบระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของยูเครนกับประชาชนในแถบ Donbas ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารโดยรัสเซีย คาดว่ามีคนล้มตายจากสงครามกลางเมืองนี้หลายหมื่น ในขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึด Crimea ซึ่งมีฐานทัพสำคัญของรัสเซีย

โลกหลังสงครามเย็น

หลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับรัสเซีย และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลกในช่วงปี 1989 มีการจัดระเบียบระบบจักรวรรดินิยมใหม่

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนฝ่ายขวาหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย อันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ก็เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว เขาเสนอต่อว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

สถานการณ์หลังวิกฤตโลกปี 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ในทะเลจีนตอนใต้ เราจะเห็นว่ารากฐานความขัดแย้งมาจากการที่ทุนนิยมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนจีนกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และแซงหน้าญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทางทหารและเศรษฐกิจ เริ่มถอยหลังและประสบปัญหาทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ

สหรัฐแพ้สงครามในอิรักกับอัฟกานิสถาน เพราะไม่สามารถครอบครองและรักษาอิทธิพลระยะยาวในทั้งสองประเทศ อหร่าน อดีตศัตรูของสหรัฐ มีการเพิ่มอิทธิพลในพื้นที่ และในหลายประเทศของตะวันออกกลางมีสงครามต่อเนื่องขณะที่องค์กรอย่าง “ไอซิล” ก็เพิ่มบทบาท

เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 อย่างหนัก และการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังจากนั้นล้าช้า ญี่ปุ่นยิ่งมีปัญหาหนักกว่าสหรัฐอีก

ในอดีตสหรัฐจะพยายามคุมอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีน ด้วยกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ชนชั้นปกครองจีนมองว่าจีนต้องสร้างกองทัพเรือและฐานทัพในทะเลจีน เพื่อปกป้องเส้นทางการค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญกับจีน การขยายตัวทางทหารของจีนในทะเลจีนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐและหลายประเทศรอบข้าง มีการสร้างแนวร่วมทางการทูตและทหารใหม่ขึ้นมา จีนจับมือกับรัสเซียอีกครั้ง สหรัฐจับมือกับเวียดนามและขยายบทบาททางทหารในญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ มันเป็นสถานการณ์ที่อันตรายเพราะถ้าเกิดการปะทะกันระหว่างสองประเทศใด ประเทศอื่นๆ จะถูกลากเข้ามาในความขัดแย้ง และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา รวมถึงเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

การบุกยูเครนของรัสเซียปีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ของปูตินว่าสหรัฐอ่อนแอลง และการเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยสหรัฐกับพันธมิตร มากจากความต้องการของสหรัฐที่จะพิสูจน์กับจีนว่าสหรัฐยังมีอำนาจอยู่ จะเห็นว่าทุกส่วนของโลกหนีไม่พ้นอิทธิพลของความขัดแย้งในระบบจักรวรรดินิยม

แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม ชนชั้นปกครองประเทศต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมกับฝ่ายตนเอง เช่นการเสนอว่าตะวันตกขัดแย้งกับรัสเซียเพราะตะวันตกเป็นประชาธิปไตยและรัสเซียเป็นเผด็จการ ซึ่งไม่ต่างจากข้ออ้างเรื่อง “โลกเสรี” ที่เผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์” ในสงครามเย็น แต่ในความเป็นจริง “โลกเสรี” ของตะวันตกมักจะรวมเผด็จการโหดในหลายประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทุกวันนี้นาโต้กับตะวันตกก็สนับสนุนการทำสงครามโดยเผด็จการอย่างซาอุหรืออิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างรัฐในระบบจักรวรรดินิยมโลกมาจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับลัทธิทางความคิดเลย

การยุติสงครามโดยประชาชน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติเพราะมีการปฏิวัติล้มชนชั้นปกครองในรัสเซียและเยอรมัน และทหารอังกฤษกับฝรั่งเศสเบื่อหน่ายกับสงครามไม่พร้อมจะสู้ต่อ

สงครามเวียดนามยุติลงเพราะทหารอเมริกาไม่พร้อมจะรบต่อไปท่ามกลางการประท้วงต้านสงครามในสหรัฐและที่อื่นๆ

สงครามในอิรักและอัฟกานิสถานยุติลงเพราะคนในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ต่อภายใต้อำนาจสหรัฐ สหรัฐจึงบริหารปกครองประเทศไม่ได้

การเรียกร้องให้จักรวรรดิยมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาแทรกแซงทางทหารจะไม่นำไปสู่สันติภาพ แต่จะนำไปสู่การขยายสงครามต่างหาก คำตอบต้องอยู่ที่ประชาชนชั้นล่าง

ทุกวันนี้ประชาชนชาวรัสเซียส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อคำโกหกของปูติน และออกมาประท้วงต่อต้านสงครามทั้งๆ ที่ถูกรัฐบาลรัสเซียปราบและข่มขู่ ทุกวันนี้ประชาชนยูเครนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับการเข้ามาของทหารรัสเซีย ดังนั้นพวกเราในทุกประเทศของโลกจะต้องพยายามสร้างขบวนการต้านสงครามของทุกฝ่าย และสมานฉันท์กับคนในประเทศอื่นที่ต้านสงคราม ในไทยการต่อต้านพลังทหารและสงคราม แยกออกไม่ได้จากการต่อต้านเผด็จการทหารของประยุทธ์และการทำรัฐประหาร และแยกออกไม่ได้จากการที่ทหารไทยกำลังยึดครองปาตานี

ใจอึ๊งภากรณ์

อนาคตของอัฟกานิสถานหลังตาลิบันชนะตะวันตก

ไม่มีใครสามารถทำนายด้วยความมั่นใจว่าอนาคตของอัฟกานิสถานหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถตั้งข้อสังเกตสำคัญๆ ได้ดังนี้

ตาลิบันสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก เพราะในพื้นที่ที่เขาคุมเขาใช้ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม ส่วนในพื้นที่ที่รัฐบาลหุ่นของสหรัฐคุม ระบบยุติธรรมเต็มไปด้วยการคอร์รับชันและการเล่นเส้นเล่นสาย จนพูดได้ว่าไม่มีความยุติธรรมเลย นอกจากนี้ประชาชนในชนบทเกลียดชังตะวันตกเพราะมีการทิ้งระเบิดทำลายชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ตาลิบันยึดอำนาจได้ โดยไม่มีเหตุนองเลือดและไม่ต้องสู้รบ เพราะตาลิบันเจรจาทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในชุมชนและเมืองต่างๆ หลายฝ่าย และสัญญาว่าจะยุติสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ยอมให้ตาลิบันยึดอำนาจเพราะมองไม่ออกว่าอดีตรัฐบาลจะชนะตาลิบันอย่างไร และทหารของรัฐบาลเก่าก็หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อ แต่การทำสัญญากับหลายกลุ่มที่เคยอยู่ข้างสหรัฐและอังกฤษมีข้อเสีย เพราะพวกนั้นคงหวังผลประโยชน์เป็นการตอบแทน และเขาเป็นพวกที่มีประวัติการคอร์รับชันสูง ถ้าตาลิบันต้องปกครองร่วมกับพวกนี้ในที่สุดจะเสี่ยงกับการเสียฐานสนับสนุนจากคนธรรมดาในชนบท

ตาลิบันมีการดึงชาวอัฟกันหลายเชื้อชาติเข้ามาร่วมขบวนการ ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เน้นกลุ่มเชื้อชาติเดียว ซึ่งทำให้ตาลิบันขยายฐานอำนาจได้ ในขณะเดียวกันพวกขุนศึกที่เคยคุมหลายพื้นที่ก็หมดอำนาจลงไป

อัฟกานิสถานเป็นประเทศยากจนที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดินสูงมาก รัฐบาลต่างๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อการปฏิรูปที่ดิน ในอนาคตถ้ารัฐบาลตาลิบันสามารถปฏิรูปที่ดินเพื่อให้คนจนในชนบทมีที่ดินของตนเองก็จะสามารถครองใจประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าตาลิบันต้องสร้างรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยแนวร่วมจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนสหรัฐ พวกนี้จะกีดกันการปฏิรูปที่ดินเพราะขัดกับผลประโยชน์ชนชั้นตนเอง ซึ่งถ้าตาลิบันล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดินประชาชนในชนบทจะเริ่มไม่พอใจมากขึ้น

ในเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งเป็นข้ออ้างเท็จของตะวันในการบุกและยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อยี่สิบปีก่อน โฆษกตาลิบันออกมาพูดว่าอยากให้สตรีมีบทบาทในสังคมการเมือง แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตาลิบันเปลี่ยนความคิดจริงหรือแค่โกหก การกดขี่สตรีของตาลิบันมาจากลัทธิศาสนาสายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรากฐานการก่อตั้งขบวนการแต่แรก มันเป็นลัทธิที่มาควบคู่กับความคิดกู้ชาติจากรัสเซีย ตะวันตก และขุนศึกอัฟกัน

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่เคยสนใจสิทธิสตรีในรูปธรรมเลย เพราะทำแนวร่วมและขายอาวุธให้ประเทศที่กดขี่สตรีหนักๆ อย่างซาอุดิอาระเบีย และในสหรัฐเองสิทธิทำแท้งเสรีก็ถูกรัฐคุกคามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในรูปธรรมกองทัพของจักรววรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถาน แสดงความสมานฉันท์กับสตรีอัฟกันในชนบทด้วยการทิ้งระเบิดหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งทำให้พลเรือนทั้งหญิงและชายล้มตายจำนวนมาก

สตรีในอัฟกานิสถานสามารถปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากสตรีที่อื่น แต่แน่นอนต้องใช้เวลา และต้องได้รับความสมานฉันท์จากชาย แต่สิ่งที่ชัดเจนคือไปหวังพึ่งจักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ได้

ดูเหมือนตาลิบันอยากจะไปจับมือกับรัฐบาลจีน จีนต้องการเห็นความมั่นคงในอัฟกานิสถานและต้องการปกป้องการลงทุนในเรื่องพลังงานในภูมิภาคนี้ ถ้าตาลิบันผูกมิตรกับจีน ก็คงจะทำเพื่อหวังคานอำนาจตะวันตก แต่ทั้งจีน รัสเซีย สหรัฐและอังกฤษก็ล้วนแต่เป็นจักรวรรดินิยมทั้งนั้น จีนคงจะเรียกร้องให้ตาลิบันเลิกสนับสนุนชาวมุสลิมในจีนที่ถูกรัฐบาลกดขี่อีกด้วย เช่นชาวอุยกูร์

ขอย้ำอีกครั้งว่าชาวมาร์คซิสต์ไม่ได้สนับสนุนตาลิบันแต่อย่างใด เรามองว่าตาลิบันเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ซึ่งเกิดขึ้นจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยมตะวันตกและเคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐในอดีต แต่เราดีใจที่จักรวรรดินิยมสหรัฐและอังกฤษแพ้สงครามในอัฟกานิสถาน เพราะเราคัดค้านสงครามจักรวรรดินิยมทุกรูปแบบ ชาวอัฟกันจะมีเสรีภาพได้เมื่อปลดแอกตนเอง ไม่ต่างจากในไทย คนไทยจะมีเสรีภาพได้ก็ต้องปลดแอกตนเองเช่นกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/3B0k0bw  

สหรัฐกับอังกฤษพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน ฝ่ายซ้ายคิดอย่างไร?

ในอัฟกานิสถานเราเห็นความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกท่ามกลางการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในรอบ20ปีของการแทรกแซง เราดีใจที่สหรัฐและอังกฤษแพ้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนตาลิบัน ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายขวาคลั่งศาสนา แต่ในการปลดแอกประชาชนจากตาลิบัน ประชาชนต้องทำเอง คนอื่นทำให้ไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำให้มันก็กลายเป็นการแทรกแซงโดยจักรวรรดินิยมอีกรอบไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือสหรัฐ

เราต้องเน้นว่าโศกนาฏกรรมของอัฟกานิสถานเป็นสิ่งที่เกิดจากการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม

จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มสงครามในประเทศอัฟกานิสถานโดยใช้ข้ออ้างในการก่อสงครามจากการถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ในการทำสงครามครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าทำเพื่อกำจัดการก่อการร้าย โดยเฉพาะองค์กรอัลเคดาที่แอบอยู่ในประเทศ และทั้งๆ ที่รัฐบาลตาลิบันเสนอว่าพร้อมจะขับไล่อัลเคดาออกไป แต่สหรัฐไม่สนใจ ในที่สุดสงครามของสหรัฐและอังกฤษได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลกและทำให้ผู้คนบริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากกว่าที่ล้มตายในนิวยอร์คแต่แรก  เพราะฉนั้นถ้าหากเราต้องการมองเห็นต้นตอสาเหตุของสงครามที่แท้จริง   เราต้องมองว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวข้องกับระบบจักรวรรดินิยมของทุนนิยมอย่างแยกไม่ออก

ในยุคหลังความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนาม สหรัฐที่เคยเป็นเจ้าโลก เริ่มถูกมองว่าอ่อนแอลงทั้งทางกำลังทหารและเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องการฟื้นความเป็นใหญ่ของสหรัฐผ่านการทำสงครามให้ชาวโลกเห็น

สื่อต่าง ๆ  พยายามนำเสนอว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสรีภาพ ตามที่มีนักคิดฝ่ายขวา ชื่อ Samuel  P. Huntington  เคยเสนอไว้ในหนังสือชื่อ  ” The clash of civilizations ”  (ซึ่งแปลว่าการปะทะกันทางอารยธรรม)  เขาเสนอว่าหลังยุคสงครามเย็นจะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก  ระหว่างคริสต์กับอิสลาม ระหว่างประชาธิปไตยเสรีกับเผด็จการอิสลาม แต่ในความเป็นจริงสหรัฐและประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ ไม่เคยมีหลักการณ์ในนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ เพราะบ่อยครั้งสนับสนุนการทำรัฐประหารของฝ่ายขวา หรือไปจับมือกับรัฐอิสลามล้าหลังสุดขั้วอย่างซาอุดิอาระเบีย

ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น  จะเห็นว่ามีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นหลักในการเกิดสงครามครั้งนี้  แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะไม่มีทรัพยากรให้กอบโกย  แต่ประเทศรอบข้างในแถบตะวันออกกลางนั้นมีบ่อน้ำมันเป็นจำนวนมาก  และประเทศอัฟกานิสถานก็เป็นประตูสู่ประเทศในแถบตะวันออกกลาง  ซึ่งมีการแย่งชิงผลประโยชน์ในเรื่องบ่อน้ำมันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาจนถึงสงครามอ่าวเพอร์เซีย  ทำให้เราตัดสินได้ว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรวรรดินิยม  ที่มีจักรวรรดินิยมรายใหญ่อย่างสหรัฐและพันธมิตรเป็นผู้เข้ารุมประเทศอัฟกานิสถาน  เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในโลกทางทหารซึ่งเชื่อมไปสู่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก

จักรวรรดินิยมตะวันตกไม่ใช่กลุ่มมหาอำนาจเดียวที่แทรกแซงอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะบุกเข้าไปจักรวรรดินิยมรัสเซียก็เคยแทรกแซงและในที่สุดพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกไป ในยุคนั้นสหรัฐแอบสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ที่สู้กับรัสเซียรวมถึงตาลิบันด้วย

ตาลิบันเกิดขึ้นในรูปแบบขบวนการกู้ชาติของนักศึกษาในวิทยาลัยอิสลามแนวอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีแนวคิดปฏิกิริยา กลุ่มนี้ยึดอำนาจได้ก่อนที่ตะวันตกจะบุกเข้ามา เพราะรัฐบาลขอกลุ่มขุนศึกต่างๆ ที่ครองอำนาจหลังจากที่รัสเซียถอนออกไป ล้วนแต่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันและเต็มไปด้วยการคอรรับชั่น

ความพ่ายแพ้ของจักรวรรดินิยมตะวันตกในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยลดอิทธิพลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่จะไปก่อสงครามและแทรกแซงประเทศต่างๆ

ในเรื่องของสถานภาพสตรีในอัฟกานิสถาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลิบันกดขี่สตรี แต่การแทรกแซงของตะวันตกไม่เคยทำไปเพื่อปลดแอกสตรี เพราะไม่เคยสนใจที่จะปลดแอกสตรีในประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และภายในสหรัฐและประเทศตะวันตกอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีการกดขี่ทางเพศ

เหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยม  เป็นต้นเหตุความรุนแรง ทั้งในรูปแบบการก่อการร้ายของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่แต่ไร้พลัง และการทำสงครามของมหาอำนาจ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเท่าเทียม ทุนนิยมกลับไปเน้นการแย่งชิงทรัพยากร การกอบโกยกำไร และผลิตอาวุธ และคนที่ไปรบและเสียชีวิตส่วนมากก็เป็นประชาชนคนจนในทุกประเทศรวมถึงในสหรัฐด้วย

สหประชาชาติไม่ใช่คำตอบ หลายคนอาจคิดว่าสันติภาพหรือความสงบสุขของโลกใบนี้มาจากสหประชาชาติ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่  เพราะประเทศที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายของสหประชาชาติก็ล้วนแต่เป็นประเทศจักรวรรดินิยมรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จุดยืนนักมาร์คซิสต์ต่อสงครามโดยทั่วไป

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับโลกภายใต้ระบบทุนนิยม  ใช่ว่าทุกคนบนโลกจะเห็นด้วยหรือจะอยู่เฉย ๆ โดยดูได้จากจำนวนคนที่ต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน อย่างเช่น ที่ประเทศอินเดียออกมาประท้วง 100,000 คน  อิตาลี 300,000 คน ญี่ปุ่น 5,000 คนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมด้วย อังกฤษ 100,000 คน รวมถึงในไทยด้วยตัวอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายหมื่นคน

เราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม  และที่สำคัญสงครามแต่ละครั้งหยุดได้เพราะมีการรวมตัวกันและออกมาต่อต้าน เช่น สงครามเวียดนามที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากออกมาต่อต้าน  หรือสงครามโลกครั้งที่1 หยุดได้เพราะมีการปฏิวัติในรัสเซีย

เพราะฉะนั้นจุดยืนของนักมาร์คซิสต์เห็นด้วยกับการสร้างแนวร่วมต้านสงคราม เห็นด้วยกับการที่กรรมาชีพ คนหนุ่มสาวและกลุ่มต่าง ๆ ที่รักความเป็นธรรมออกมาต่อต้านสงครามร่วมกัน แต่ในที่สุดถ้าจะยับยั้งสงครามระหว่างประเทศอย่างจริงจังเราต้องแปรรูปการต่อสู้ไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ เพื่อโค่นล้มนายทุนและขุนศึกทั้งหลายและระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดสงครามตลอดมา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ และอดุลย์ อัจฉริยากร

ถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีหลังการพังลงมาของกำแพงเมืองเบอร์ลิน การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการล้มละลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนว “สตาลิน-เหมา” ในเกือบทุกประเทศของโลก

ในช่วงนั้นมีนักวิชาการและนักเขียนหลายคนที่มองว่า เราถึง “จุดจบแห่งประวัติศาสตร์” หรือถึง “จุดจบแห่งความขัดแย้ง” หรือถึง “จุดอวสานของรัฐชาติ” เพราะระบบทุนนิยมตลาดเสรีแบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างเครือข่ายทุนและไฟแนนส์ไปทั่วโลก และสร้างความผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ผ่านการกดดันและบังคับให้รัฐบาลต่างๆ นำนโยบายกลไกตลาดเสรีมาใช้ ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนและคนทำงานธรรมดา

220px-Empire_(book)

นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง สายอนาธิปไตย ที่เสนอว่ารัฐชาติกำลังจะหายไป และระบบจักรวรรดินิยมที่มีศูนย์กลางในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐไม่มีแล้ว คืออันโตนิโอ เนกรี กับ ไมเคิล ฮาร์ท ซึ่งเขาเขียนไว้ในหนังสือ Empire ว่ายุคการแข่งขันระหว่างจักรวรรดินิยมสิ้นสุดลงหลังสงครามเย็น และเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ปลอดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

แต่พวกเราในกลุ่มและพรรคฝ่ายซ้ายสายมาร์คซิสต์มักจะมองต่างมุม และเสนอว่าจักรวรรดินิยมและความขัดแย้งระหว่างประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะไปเท่านั้น และสงครามกับความขัดแย้งระหว่างประเทศก็เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องตามที่เราคาดไว้

พอถึงปี 2008 ได้เกิดวิกฤตใหญ่ของระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรีที่ลามจากสหรัฐสู่ยุโรปและแพร่กระจายไปทั่วโลก วิกฤตนี้เกิดจากการลดลงของอัตรากำไร แต่นโยบายกลไกตลาดเสรีและการเคลื่อนย้ายทุนจากจุดต่างๆ ของโลกอย่างเสรี ยิ้งทำให้ผลกระทบร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นในไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็มีลักษณะคล้ายวิกฤตใหญ่ที่ตามมาสิบปีหลังจากนั้น

ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตปี 2008 ทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายคลั่งกลไกตลาดเสรีลดลงอย่างมาก ในไทยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณนำระบบเศรษฐกิจ “คู่ขนาน” มาใช้ผ่านการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐในระดับชุมชน เพื่อยกระดับคนจน ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เสื้อเหลือง ทหาร และพวกอนุรักษ์นิยมที่คลั่งตลาดเสรี หลายคนในไทยทุกวันนี้ไม่เข้าใจว่าพวกเผด็จการทหารและประชาธิปัตย์เป็นพวกเสรีนิยมคลั่งกลไกตลาด ในขณะที่ทักษิณนิยมผสมการใช้รัฐกับกลไกตลาด

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในสหรัฐและยุโรปหลัง 2008 เริ่มมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับกลไกตลาดเสรีในหมู่นักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหว แต่รัฐบาลต่างๆ ยังหน้าด้านเดินหน้าต่อไป และโอนภาระในการแก้วิกฤตให้กับประชาชนธรรมดาผ่านนโยบายรัดเข็มขัดของพวกเสรีนิยม

ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสียงสนับสนุนพวกขวาจัดในบางกรณี เช่นชัยชนะของดอนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐ หรือการขึ้นมาของรัฐบาลขวาจัดในอิตาลี่เป็นต้น ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองกระแสหลักของพวกเสรีนิยมเริ่มเข้าสู่วิกฤตหนักในหลายประเทศของยุโรป เช่นในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และสเปน

ในกรณีอื่นการวิจารณ์กลไกตลาดเสรีออกดอกออกผลในทางที่ก้าวหน้า เช่นในข้อเสนอเรื่อง The Green New Deal (“กรีน นิว ดีล”) ที่เสนอให้รัฐฝืนตลาดและเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ที่มาจากนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาที่มาจากสภาพโลกร้อนพร้อมๆ กัน มีการเสนอ “กรีน นิว ดีล” ในสหรัฐและแพร่ไปสู่คานาดาและอังกฤษผ่านนักการเมืองสายซ้ายปฏิรูป

Untitled

สถานการณ์หลังวิกฤต 2008 นำไปสู่ “สงครามทางการค้า” คู่อริใหญ่คือสหรัฐกับจีน เพราะจีนเริ่มท้าทายอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการใช้นโยบายพัฒนาเทคโนโลจีที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด บริษัท หัวเว่ย (Huawei) เป็นตัวอย่างที่ดี

huawei_0

ในขณะเดียวกันเราทราบดีว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการใช้นโยบายทางทหารของรัฐต่างๆ ซึ่งชาวมาร์คซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “จักรวรรดินิยม” ดังนั้นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีแง่ของความขัดแย้งทางทหารด้วย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้

761fdce8-2e6d-11e9-80ef-0255f1ad860b_image_hires_092316

สำหรับคำถามว่าตอนนี้เราถึงจุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัตน์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เพราะทุนนิยมโลกยังมีลักษณะโลกาภิวัตน์ แต่ในขณะเดียวกันมี “กลุ่มอำนาจ” หลายกลุ่มในภูมิภาคต่างๆ เช่น อียู จีน สหรัฐ ซึ่งไปกดทับผลประโยชน์ของประเทศที่เล็กกว่าแต่อยากจะโตเท่าทันประเทศเจริญ เช่นอินเดียหรืออาเจนทีนาเป็นต้น

จุดยืนของมาร์คซิสต์คือ เราต้องคัดค้านแนวชาตินิยม หรือแนวที่จะพาเราไปสนับสนุนกลุ่มอำนาจหนึ่งในความขัดแย้งกับกลุ่มอื่น และเราต้องเน้นความสมานฉันท์ในหมู่กรรมาชีพสากลเพื่อต่อสู้กับรัฐทุนนิยมในประเทศของเรา และระบบทุนนิยมทั่วโลก

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาส่วนใหญ่จากการอภิปรายโดย Alex Callinicos หัวข้อ “Is this the end of globalisation?” ดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2XMpE1S ]

ชาวปาเลสไตนจะมีเสรีภาพได้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เกือบทุกสัปดาห์เราจะเห็นความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลอิสราเอล ที่ใช้ความรุนแรงสุดขั้วในการถล่มชาวปาเลสไตน์ที่กาซา คาดว่าระหว่างมีนาคม 2018 ถึง มกราคม 2019 อิสราเอลใช้สไนเปอร์และกระสุนจริงฆ่าชาวปาเลสไตน์ที่ประท้วงโดยไร้อาวุธตรงจุดชายแดน จนมีคนเสียชีวิตถึง 250 คน และมีผู้บาดเจ็บเป็นหมื่น นอกจากนี้มีหลักฐานชัดเจนว่าทหารอิสราเอลตั้งเป้าจงใจฆ่า เด็ก คนพิการ และนักข่าวอีกด้วย ในกรณีหนึ่งเด็กอายุ 11 ถูกยิงตายเพราะแค่ตะโกนเรียกร้องเสรีภาพ

merlin_141523254_f75be117-4f2b-4184-bfef-295e89595374-articleLarge

تقرير-مجلس-حقوق-الانسان-التابع-للأمم-المتحدة-حول-مسيرات-العودة-في-قطاع-غزة

56dd29a2c77f4a70b3ef635b1aeba451_18

กาซาถูกอิสราเอลปิดล้อมมา 12 ปี โดยที่ประชาชนปาเลสไตน์ 2 ล้านคนถูกขังไว้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนเชื้อเพลิง ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในขณะเดียวกันพวก”ไซออนนิสต์”สุดขั้ว ก็ขยายการยึดพื้นที่ของชาวบ้านปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลอิสราเอลคอยสนับสนุนตลอดเวลา

ล่าสุดรัฐบาลฝ่ายขวาของอิสราเอลประกาศใช้ “กฏหมายแห่งชาติ” ที่ทำให้คนปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง และนายกรัฐมนตรี เนทันยาฮู ประกาศว่า “อิสราเอลคือชาติของชาวยิวเท่านั้น”

Trump-on-Middle-East-730x426

051418_ivanka-1526310465

ทุกอย่างที่อิสราเอลทำ ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาของดอนัลด์ ทรัมป์ โดยที่ ทรัมป์ ประกาศย้ายสถานทูตสหรัฐไปที่เมืองเยรูซาเลม ในขณะที่สหประชาชาติและชาวโลกมองว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองที่ต้องถูกแบ่งเป็นดินแดนของปาเลสไตน์และอิสราเอลคนละครึ่ง การย้ายสถานทูตครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐสนับสนุนการกลืนดินแดนปาเลสไตน์โดยรัฐบาล “ไซออนนิสต์”

สหรัฐและชาติตะวันตกสนับสนุนอิสราเอลเพื่อเป็น “หมาดุเฝ้าพื้นที่ตะวันออกกลาง” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะคอยปกป้องผลประโยชน์จักรวรรดินิยมตะวันตกในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำมัน หน้าที่ของอิสราเอลในการรับใช้ตะวันตกคือการทำลายขบวนการชาตินิยมของชาวอาหรับอย่างต่อเนื่อง มันไม่ใช่ว่าอิสราเอลหรือชาวยิวมีอำนาจเหนือรัฐบาลตะวันตกแต่อย่างใด

เราต้องเข้าใจว่ารัฐบาลอิสราเอลไม่ใช่ตัวแทนของชาวยิวทั้งหมดในโลก และลัทธิ “ไซออนนิสต์” ซึ่งเป็นลัทธิคลั่งชาติเหยียดเชื้อชาติปาเลสไตน์ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการเป็นยิว มันเพียงแต่เป็นแนวความคิดหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเราไม่ควรประณามคนยิว แต่ควรประณามรัฐบาลอิสราเอลและพวก”ไซออนนิสต์” แทน

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวโดยพวกนาซีในเยอรมัน ซึ่งทำให้ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน แนวคิดคลั่งเชื้อชาติแบบ “ไซออนนิสต์” ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในแวดวงชาวยิวนัก กระแสหลักในหมู่คนยิวยุโรปคือแนวสังคมนิยมและแนวมาร์คซิสต์ ส่วนยิวสาย “ไซออนนิสต์” คือพวกฝ่ายขวาชาตินิยมจัด พวกนี้ต่อต้านการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ และมองว่ายิวอยู่กับคนอื่นอย่างสันติไม่ได้เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อชาติที่ต่างกันย่อมฆ่ากันหรือขัดแย้งกันเสมอ ดังนั้นเขาเสนอว่าวิธีการปกป้องชาวยิวคือต้องสร้างชาติ “บริสุทธิ์” ของตนเองขึ้นมา สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายและกรรมาชีพในเยอรมัน นำไปสู่ชัยชนะของนาซีในยุค ฮิตเลอร์ และการสังหารชาวยิวถึง 6 ล้านคน เหตุการณ์นี้มีผลในการหนุนกระแสฝ่ายขวา “ไซออนนิสต์” แทนแนวมาร์คซิสต์ จนมีการก่อตั้งประเทศอิสราเอ็ลหลังสงครามโลก ปัญหาสำคัญคือ รัฐอิสราเอ็ลถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ คือพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์และชาวยิวเคยอาศัยร่วมกันอย่างสันติมาเป็นพันๆ ปี ดังนั้นรัฐเชื้อชาติเดียวที่ถูกสร้างขึ้นต้องอาศัยการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ 850,000 คนออกจากบ้านเกิดในเหตุการณ์ “นักบา” ในปี 1948

479
อินติฟาดาห์

เสรีภาพของชาวปาเลสไตน์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการลุกฮือของคนชั้นล่าง เช่นใน “อินติฟาดาห์” บวกกับการสร้างแนวร่วมการต่อสู้ของคนชั้นล่างและกรรมาชีพในระดับรากหญ้าในพื้นที่ตะวันออกกลาง การปฏิวัติของมวลชนในอียิปต์ใน “อาหรับสปริง” เคยเปิดทางให้มีการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในกาซาอย่างจริงจัง ก่อนที่กองทัพอียิปต์จะทำลายการปฏิวัติดังกล่าว ตอนนี้ขบวนการปฏิวัติในซูดานและแอลจีเรีย อาจเป็นความหวังใหม่ในการปลุกกระแสเสรีภาพ

palestinian-women-protest-ap-img

ชาวปาเลสไตน์ต้องร่วมสู้กับกรรมาชีพและคนชั้นล่างในตะวันออกกลาง เพราะกรรมาชีพปาเลสไตน์ไม่มีพลังพอ มีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ และคนชั้นล่างในพื้นที่ตะวัยออกกลางมีผลประโยชน์ร่วมกันในการล้มเผด็จการที่กดขี่ตนเองในประเทศต่างๆ

4dadaf89ccd1d5de44290000-750
แกนนำ ฟะตะห์ จับมือกับอิสราเอลและสหรัฐ

อย่างไรก็ตามแกนนำทางการเมืองในปาเลสไตน์ โดยเฉพาะองค์กร “ฟะตะห์” จะหันหลังให้มวลชนชั้นล่างเสมอ และทำแนวร่วมกับชนชั้นปกครองปฏิกิริยาในตะวันออกกลางแทน และทุกครั้งที่มีวิกฤต ชนชั้นปกครองเผด็จการพวกนี้ก็จะหักหลังชาวปาเลสไตน์และไปจับมือกับสหรัฐหรืออิสราเอล ในที่สุด“ฟะตะห์” ก็ไปทำข้อตกลงยอมจำนนต่ออิสราเอล ส่วนองค์กร “ฮะมาส” ที่ดูเหมือนจะต้องการสู้กับอิสราเอลอย่างจริงจัง ก็ใช้แนวเดียวกับ “ฟะตะห์” คือเน้นคุยกับชนชั้นปกครองรอบข้าง แทนที่จะปลุกระดมการปฏิวัติรากหญ้า

763
ฮะมาส

ถ้าจะมีการสร้างสันติภาพและสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในดินแดนปาเลสไตน์ รัฐอิสราเอลต้องถูกรื้อถอน เพื่อสร้างรัฐใหม่ที่เคารพความหลากหลาย และเปิดโอกาสให้ช่าวปาเลสไตน์กับชาวยิวอาศัยร่วมกันอย่างสงบโดยเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน สภาพเช่นนี้เคยมีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและการแทรกแซงของจักรวรรดินิยมตะวันตก

1146350198

แต่ถ้าจะเกิดขึ้นจริง ต้องมีกระแสการเมืองใหม่ในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่เน้นการต่อสู้จากระดับรากหญ้า และการสมานฉันท์กับการปฏิวัติของมวลชนในประเทศรอบข้าง

SudanAlgeria

เราควรคัดค้านรัฐประหารของสหรัฐในเวเนสเวลา

ใจ อึ๊งภากรณ์

อนาคตของกระบวนการปฏิรูป “โบลิวาร์”[1] ของอดีตประธานาธิบดีชาเวสในประเทศเวเนสเวลา อยู่ในสภาพวิกฤตอันเนื่องมาจากการที่สหรัฐอเมริการ่วมกับรัฐบาลตะวันตกกำลังสนับสนุนให้มีรัฐประหาร

วิกฤตนี้จะมีจุดจบได้ในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือจบในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพและคนจน รูปแบบที่สองคือจบลงในลักษณะที่เอื้อประโยชน์กับจักรวรรดินิยม กลุ่มทุนใหญ่ กับคนรวย ผ่านการใช้กำลังและแนวกลไกตลาดสุดขั้ว

บทเรียนสำคัญสำหรับเราคือ “พรรคสังคมนิยมปฏิรูป ที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด” ผมจะขออธิบายรายละเอียด…

เจ้าหน้าที่ทางทูตคนสำคัญของสหรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์ให้ดูแลเรื่องรัฐประหาร คือ เอลิออด เอแบรมส์ คนนี้มีประวัติในการสนับสนุนการฆ่าประชาชนเป็นพันโดยกองกำลังฆาตกรในประเทศเอลซาลวาดอร์ มีประวัติในการหนุนพวกฝ่ายขวาในนิคารากัว โดยโกหกรัฐสภาสหรัฐในเรื่องนี้สองครั้ง และมีประวัติในการสนับสนุนรัฐประหารที่ล้มเหลวในเวเนสเวลาในปี 2002

skynews-juan-guaido-nicolas-maduro_4560239
วาน กูไอโด กับ นิโคลัส มาดูโร

ตอนนี้สหรัฐกับตะวันตกกำลังสนับสนุนความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาชื่อ วาน กูไอโด ที่ประกาศว่าตนเป็น “ประธานาธิบดีที่แท้จริง” ของเวเนสเวลา แทนประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แต่พรรคการเมืองของ วาน กูไอโด มีแค่14ที่นั่งในรัฐสภา และประชาชน80%ของประเทศไม่เคยรู้จักเขามาก่อน

พรรคฝ่ายขวาต่างๆ ในเวเนสเวลา เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ คนรวยและคนชั้นกลาง ซึ่งในอดีต ก่อนที่ ฮูโก ชาเวส จะชนะการเลือกตั้งในปี 1998 มีประวัติในการปกครองประเทศด้วยความป่าเถื่อนเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองและเพื่อควบคุมคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในปี 1989 เมื่อคนจนลุกฮือเนื่องจากการใช้นโยบายรัดเข็มขัดสุดขั้ว รัฐบาลฝ่ายขวาลงมือฆ่าประชาชนมือเปล่าสองพันคนกลางเมืองคาราคัส เหตุการณ์นี้เรียกว่าการลุกฮือ Caracazo นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน เคยพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ ฮูโก ชาเวส ในปี 2002 แต่ไม่สำเร็จ

โดยรวม เป้าหมายของฝ่ายขวาในเวเนสเวลา คือการหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคที่คนจนต้องเจียมตัวกับความยากจนท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการใช้อำนาจของคนรวย ดังนั้นนักการเมืองพวกนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่จะมาปลดแอกประชาชนแต่อย่างใด และเขายังพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมอีกด้วย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร มีส่วนในการสร้างวิกฤตร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีสามสาเหตุคือ

ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเคยมีราคาสูงในตลาดโลก แต่ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในรอบสองสามปีที่ผ่านมา เงินรายได้จากการขายน้ำมันได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านหน่วยงาน Las Misiones แต่พอราคาน้ำมันลดลงงบประมาณรัฐก็หายไป และรัฐบาลไม่ได้พยายามส่งเสริมการผลิตสิ่งอื่นๆ แทนน้ำมัน

screen_shot_2015-05-22_at_09.33.27
Las Misiones

ตอนนี้เกือบ 90% ของประชาชนถือว่ายากจน 3 ล้านคนย้ายไปอยู่ในประเทศอื่น และอัตราเงินเฟ้อตอนนี้สูงถึง 1.3ล้าน%!!! ซึ่งแปลว่าทุก 19 วันราคาสินค้าจะเพิ่มเท่าตัว ประชาชนคนจนขาดแคลนของใช้จำเป็น ส่วนหนึ่งมาจากการกักสินค้าโดยนายทุนเอกชน และข้าราชการในพรรครัฐบาลด้วย และการกีดกันการค้าขายโดยรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี 2017 ก็ไม่ช่วย

สาเหตุที่สองของวิกฤตคือการคอร์รับชั่นโกงกินของข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองของพรรคสังคมนิยม PSUV และทหารระดับสูง ซึ่งร่วมกันกินกับนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนธรรมดาเบื่อหน่ายและหมดความเชื่อมั่นในพรรครัฐบาล แต่ไม่ใช่ว่าจะชื่นชมพรรคฝ่ายค้าน

stream_img

สาเหตุที่สามของวิกฤตปัจจุบัน คือความพยายามของนักการเมืองฝ่ายขวาที่จะฉวยโอกาสกลับมาปกครองประเทศผ่านการนำการประท้วงบนท้องถนนในปี 2014 และในปัจจุบัน บ่อยครั้งมีการใช้ความรุนแรงในการประท้วง แต่รัฐบาลก็โต้ตอบด้วยความรุนแรงเช่นกัน

ขณะนี้เวเนสเวลามีสองสภา ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ “สภาแห่งชาติ” ที่พรรคฝ่ายขวามีเสียงข้างมากมาตั้งแต่ปี 2015 และ “สภาผู้แทนประชาชน” ซึ่งพรรค PSUV ของ มาดูโร มีเสียงข้างมาก สองสภานี้กำลังแย่งอำนาจกัน

ปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในเวเนสเวลาคือ กระบวนการปฏิรูป “บอลลิวา” ของอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวส ที่ ชาเวส พยายามอ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยม เป็นแค่การปฏิรูปเพื่อทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้น โดยไม่แตะอำนาจของกลุ่มทุนใหญ่หรือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมแต่อย่างใด การปฏิรูป “จากบนลงล่าง” แบบนี้ล้มเหลวเพราะไม่ได้ทำลายระบบเดิม และเพราะพึ่งพาการส่งออกน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาในประเทศ บราซิล เลย [ดู https://bit.ly/2sU4mh1 ]

chavez_legacy.jpg_1718483346

ถ้าประชาชนคนจนและกรรมาชีพในเวเนสเวลา จะกู้สถานการณ์กลับมา เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ จะต้องมีการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชนรากหญ้าในรูปบบที่เคยเกิดในปีก่อนๆ ที่ผ่านมา เช่นการลุกฮือของประชาชนจำนวนมากที่ล้มรัฐประหารของฝ่ายขวาในปี 2002 การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพเป็นล้านเพื่อต่อต้านความพยายามของนายทุนที่จะทำลายเศรษฐกิจน้ำมันระหว่างปี2002และ2003 การปลุกระดมการมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวของคนธรรมดาในการสร้างและบริหาร “องค์กรแก้ไขปัญหาความยากจน” Las Misiones ซึ่งเข้ามาบริการคนจนในเรื่อง อาหารราคาถูก ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การปฏิรูปที่ดิน การศึกษา และปัญหาอีกมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง หลัง2003 สมัยที่ ชาเวส ยังมีชีวิตอยู่

TOPSHOTS-VENEZUELA-ELECTION-CAMPAGIN-MADURO

แต่ถ้าการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่างจะสำเร็จ จะต้องปฏิเสธวัฒนธรรมการควบคุมพลังมวลชน ที่ชาเวสเริ่มใช้ผ่านพรรคสังคมนิยม PSUV และจะต้องไม่หวังพึ่งคนอย่าง นิโคลัส มาดูโร นายทหารชั้นสูง หรือผู้นำโกงกินของ PSUV

ปัญหาของพรรคสังคมนิยมเวเนสเวลา พรรคแรงงานของบราซิล และพรรคไซรีซาในกรีซ คือพรรคปฏิรูปที่ไม่สามารถปฏิรูปอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะไม่ยอมก้าวสู่กระบวนการปฏิวัติล้มอำนาจทุน ย่อมเปิดทางให้ฝ่ายขวากลับเข้ามาในที่สุด

 

[1] ชาเวสตั้งชื่อกระบวนการปฏิรูปสังคมของเขาตาม ซิมอน โบลิวาร์ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปลดแอกลาตินอเมริกาจากการปกครองของสเปน

อ่านเพิ่ม เรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp  เรื่องกรีซ https://bit.ly/293hWr1

 

 

การเมืองปัจจุบันในอิหร่าน

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

หลายปีหลังจากการปฏิวัติล้มกษัตริย์ชาร์ในปี 1979 และการก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม การเมืองภายในประเทศอิหร่านกลายเป็นเรื่องของการแข่งขันระหว่าง “ฝ่ายปฏิรูป” กับ “ฝ่ายอนุรักษ์” ในช่วงนี้ผู้นำประเทศเป็นฝ่าย “ปฏิรูป”

พวกอนุรักษ์เป็นพวกที่อยากจะคงไว้กฏหมายศาสนาและการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ส่วนฝ่ายปฏิรูปเป็นพวกที่อยากจะเปิดกว้างมากขึ้นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับตะวันตก แต่ทั้งสองฝ่ายไม่อยากเปลี่ยนโครงสร้างของระบบปัจจุบันเท่าไร

ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ รูฮานี ซึ่งมาจากฝ่ายปฏิรูป แต่ภายในระบบการเมืองของอิหร่าน มีอำนาจคู่ขนาน เพราะผู้นำทางศาสนา อาลี คาห์เมนี ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นประมุขสูงสุดและมีอำนาจพอๆ กัน ประมุขสูงสุดมักจะเอียงไปทางสายอนุรักษ์

800px-Ali_Khamenei_delivers_Nowruz_message_02

ในอดีตในช่วงการเลือกตั้งปี 2009 มีการออกมาประท้วงชัยชนะของ อะห์มะดีเนจาด นักการเมืองสายอนุรักษ์ เพราะคนจำนวนมากมองว่ามีการโกงการเลือกตั้ง ดังนั้นคำขวัญสำคัญของการประท้วงครั้งนั้นคือ “คะแนนเสียงฉันหายไปไหน?” ขบวนการประท้วงที่เกิดขึ้นมีฐานในหมู่ชนชั้นกลางเป็นหลักและใช้สัญญลักษณ์สีเขียว

iranwomengreen

เมื่อต้นปีนี้ เกือบสิบปีหลังจากการประท้วงสีเขียว เกิดการประท้วงภายในประเทศอีก คราวนี้เรืองปากท้องมีความสำคัญ ประเด็นปากท้องเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ และปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่มันพัฒนาไปสู่เรื่องการเมืองอย่างรวดเร็ว

Iran Protest

เมื่อประธานาธิบดี รูฮานี ชนะการเลือกตั้งสมัยที่สองเมื่อปีที่แล้ว คนจำนวนมากหวังว่าการเจรจาและการเซ็นสัญญาระหว่างอิหร่านกับประเทศตะวันตกในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่นำไปสู่การยกเลิกการคว่ำบาตรโดยหลายประเทศ จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นไปตามคาด เบื้องหลังความไม่พอใจครั้งนี้คือการสะสมความเดือดร้อนจากนโยบายเสรีนิยมของรัฐบาลทุกชุดที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันเราเห็นคนไร้บ้านที่ต้องไปนอนในป่าช้าในขณะที่เศรษฐีสร้างบ้านเหมือนวัง 30%ของเยาวชนตกงาน และ ประชาชน10 ล้านคนอาศัยอยู่ในสลัม

นอกจากนี้นายทุนน้อยในตลาด ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงสำคัญของชนชั้นปกครองอิหร่าน ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ เพราะเสียผลประโยชน์จากการขยายตัวของพวกห่างใหญ่ๆ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเช่นกัน

People protest in Tehran

การประท้วงรอบนี้ก้าวหน้ากว่าประท้วงของชั้นกลางในขบวนการสีเขียว เพราะคราวนี้คนจนและชนชั่นกลางระดับล่าง เรียกร้องให้ “เปลี่ยนระบบ” วัยรุ่นตกงานมีบทบาทสูงในการประท้วง ซึ่งทำให้เรานึกถึงการประท้วงที่อียิปต์และที่อื่นในปี 2010 การประท้วงครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสุดขั้ว จนแม้แต่นักการเมืองแนวปฏิรูปก็ลังเลใจที่จะสนับสนุน

อย่างไรก็ตามคนงานไม่ค่อยมาร่วมประท้วงครั้งนี้อย่างเป็นระบบ แต่ก่อนหน้านี้มีการนัดหยุดงานจำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างกระแสใน 3ปีที่ผ่านมา เช่นการนัดหยุดงานของครู คนงานโรงเหล็ก และคนขับรถบรรทุก

ในขณะที่รัฐบาลเผชิญหน้ากับปัญหาภายในแบบนี้ ปัญหาต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น เพราะอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลางขยายตัวหลังจากสหรัฐทำลายประเทศอิรัก ดังนั้นอิหร่านจึงสร้างศัตรูในรูปแบบประเทศอิสราเอล ซาอุ และสหรัฐ

สหรัฐกีดกันการขายน้ำมันของอิหร่าน และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรโดยการฉีกทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์ ทุนอิหร่านกำลังไหลออกนอกประเทศ และสำหรับประชาชนธรรมดายารักษาโรคก็แพงขึ้นมหาศาล

คนรวยที่เป็นนักการเมืองหรือพรรคพวกของนักการเมือง ทั้งสายอนุรักษ์และปฏิรูป ก็แห่กันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการคอร์รับชั่นก็เพิ่มขึ้น มันสร้างวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัฐ และเพิ่มความขัดแย้งระหว่างพวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกับนักการเมืองเลือกตั้งอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับสายการเมืองทั้งสองซีก ประชาชนรู้สึกผิดหวัง

วิกฤตในลัทธิการเมืองที่เคยอ้างว่าการใช้แนวอิสลามแตกต่างจากทุนนิยม ทำให้มีกระแสที่มองว่าควรแยกศาสนาออกจากการเมืองและรัฐ ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้านศาสนา ประมาณ 50%  ของประชาชนมองว่าสตรีควรมีสิทธิที่จะใส่ฮิญาบหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงถูกบังคับให้ใส่เวลาออกจากบ้าน

_96128906_72ab3dca-cb35-49e8-a64c-57fd94a6174e

แต่ความก้าวร้าวของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ ทรัมป์ ในการปลุกกระแสสงคราม สร้างปัญหาให้กับคนอิหร่านที่อยากจะสู้กับรัฐ เพราะฝ่ายอนุรักษ์สามารถอ้างได้ว่าทุกคนควรสามัคคีภายใต้ภัยสงครามจักรวรรดินิยม

เราคงต้องติดตามข่าวจากอิหร่านต่อไป….

ทรัมป์ พบ คิม กับทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง-อึน จากเกาหลีเหนือ คงลดความเครียดสำหรับคนจำนวนมากในโลก โดยเฉพาะในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือนภัยจากสงครามนิวเคลียร์จะกลับมาเป็นเรื่องจริงอีกครั้งตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น

เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือได้อย่างไร? เพราะมันไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งระหว่าง “โลกเสรี” กับ “คอมมิวนิสต์” อย่างที่นักวิเคราะห์ปัญญาอ่อนคิดเลย

LENIN Imperialism the Highest Stage of Capitalism_250

     ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน มีความสำคัญทุกวันนี้ในการทำความเข้าใจกับภัยสงคราม ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเลิกใช้การล่าอาณานิคมในการกดขี่ประชากรโลกในรูปแบบเดิม เพราะทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ออกมาในรูปแบบการแข่งขันทางทหาร ทฤษฏีจักรวรรดินิยมของเลนิน เน้นว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากการแข่งขันทางทหารเสมอ

180609141740-01-merkel-trump-g7-0609-exlarge-169

     ทุกวันนี้ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด เริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับจีน หรือประเทศอื่นๆ ในโลกพัฒนา เช่นญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศในอียู สหรัฐจึงจงใจใช้อำนาจทางทหารในการรักษาตำแหน่งในโลก สงครามในอ่าว สงครามอิรัก การแทรกแซงในซิเรีย ฯลฯ ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะสาเหตุนี้ และปัจจุบันความก้าวร้าวของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องเกาหลีเหนือ ก็เกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน [ดู https://bit.ly/2MhgYY2 ]ยิ่งกว่านั้น การที่โลกไม่ได้แยกเป็นสองฝ่ายตามมหาอำนาจหลัก อเมริกา กับ รัสเซีย อย่างที่เคยเป็นในยุคสงครามเย็น แปลว่าประเทศขนาดกลางมีพื้นที่ในการเบ่งอำนาจ เช่นในตะวันออกกลางเป็นต้น มันทำให้โลกเราในยุคนี้ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยภัยสงคราม “สงคราม” ทางเศรษฐกิจกับการค้าระหว่างสหรัฐกับ อียู คานาดา และจีน เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ ในกรณีสหรัฐกับเกาหลีเหนือมันเป็นภัยสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย

คิม จอง-อึน เป็นผู้นำเผด็จกการที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผ่านสายเลือด คิม อิล-ซ็อง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำโดยสตาลินเมื่อกองทัพรัสเซียเข้ามายึดทางเหนือของเกาหลีในช่วงปลายๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีเหนือจึงกลายเป็นรัฐเผด็จการในรูปแบบที่สตาลินใช้ปกครองรัสเซีย ระบบนี้ไม่ใช่ “สังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ตามแนวคิดของมาร์คซ์หรือเลนินแต่อย่างใด เพราะชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ปกครองตนเอง แต่กลับกลายเป็นผู้ถูกขูดรีดกดขี่ และการสถาปนารัฐมาจากกองทัพรัสเซีย ไม่ใช่การปฏิวัติของกรรมาชีพ ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองของเกาหลีใต้คือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ที่รัฐกลายเป็นกลุ่มทุนผูกขาดแทนที่จะมีกลุ่มทุนเอกชน นอกจากนี้ คิม อิล-ซ็อง ได้เสนอแนวทาง “เศรษฐกิจพึ่งตนเอง” (จูเช) อีกด้วย

ในระยะแรกทุนนิยมโดยรัฐประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ โดยที่เกาหลีเหนือพัฒนาไปไกลกว่าเผด็จการทุนนิยมตลาดเสรีของเกาหลีใต้ แต่เมื่อระบบทุนนิยมโลกพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องโลกาภิวัฒน์ การพึ่งตนเองและระดมทุนภายในกลายเป็นจุดอ่อน จนเกาหลีเหนือยากจนลงเรื่อยๆ นี่คือสาเหตุที่ คิม จอง-อึน ปล่อยให้ทุนเอกชนทำการค้าขายลงทุนได้ และความอ่อนแอของเกาหลีเหนือ เป็นสาเหตุที่รัฐบาลเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องตัวเองและเอาตัวรอดจากการข่มขู่จากภายนอก

สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่าทีก้าวร้าวที่เคยมีกับเกาหลีเหนือ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการปกป้อง “โลกเสรี” เพราะท่าทีนี้ทำให้พลเมืองในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเสี่ยงตายจากสงครามนิวเคลียร์ และอย่าลืมว่าสองประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย

นโยบายของสหรัฐต่อเกาหลีเหนือเป็นแค่เครื่องมืออันหนึ่งในการแข่งขันกับจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในเอเชีย

การข่มขู่ทางทหาร และการเจรจาทางการทูต เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน และในกรณีตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งแข่งขันระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ทรัมป์ ได้ยุยงให้อิสราเอลก้าวร้าวมากขึ้นจนประชาชนในภูมิภาคเสี่ยงภัยสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างน่าใจหาย

ในปีค.ศ. 1916 หนึ่งปีก่อนการปฏิวัติรัสเซีย เลนิน ได้เขียนหนังสือสำคัญชื่อ “จักรวรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม”

ประเด็นสำคัญในความคิดเรื่องจักรวรรดินิยมของเลนินคือ การพัฒนาของระบบทุนนิยมทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลุ่มทุนผูกขาดเหล่านั้นกับรัฐ ทำงานในทิศทางเดียวกัน รัฐใหญ่ๆ ของโลกจะใช้อำนาจทางทหารเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนในประเทศของตนเอง และมีการแบ่งพื้นที่ของโลกภายใต้อำนาจของรัฐดังกล่าวในรูปแบบอาณานิคม และที่สำคัญคือการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ และรัฐที่จับมือกับกลุ่มทุน นำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งในที่สุดระเบิดออกมาในรูปแบบสงคราม

ความคิดกระแสหลักที่ยังสอนกันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ มักจะอธิบายสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเกิดจากอุบัติเหตุทางการเมือง หรือการจับมือเป็นพันธมิตรสองขั้วของชาติต่างๆ ในยุโรป แต่นั้นเป็นเพียงการบรรยายอาการของ “จักรวรรดินิยม” เพราะต้นกำเนิดของสงครามมาจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมโลก และสงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่กลุ่มทุนใหญ่และรัฐกระทำเพื่อเพิ่มอำนาจของฝ่ายตนเองในการขูดรีดกรรมาชีพและปล้นทรัพยากรในประเทศอื่น แต่ในการทำสงครามมักมีการโกหกสร้างภาพว่าทุกสงครามเป็นการรบเพื่อ “เสรีภาพ” เพราะคนที่ต้องไปรบมักจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกร

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจว่าทำไม เลนิน กับนักมาร์คซิสต์จะไม่สนับสนุนสงครามจักรวรรดินิยม และจะไม่มีวันคลั่งชาติ คำขวัญสำคัญของเลนินในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ “เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมไปเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชนชั้น!”

สงครามไม่ได้เกิดจาก “นิสัยพื้นฐานของมนุษย์” มันเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบทุนนิยม สงครามต่างๆ ในประเทศซิเรียทุกวันนี้ และการแทรกแซงจากภายนอกเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้นถ้าจะห้ามสงคราม เราต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่โจมตีการจับมือกันระหว่างรัฐกับทุน และโจมตีระบบทุนนิยมโลกอีกด้วย

บางคนไปตั้งความหวังไว้กับองค์กรสหประชาชาติ เพื่อสร้างสันติภาพในโลก แต่สหประชาชาติเป็นเพียงสมาคมของรัฐต่างๆ ทั่วโลก โดยมหาอำนาจคุมองค์กรผ่านคณะมนตรีความมั่นคง รัฐเหล่านี้เป็นผู้ก่อสงครามแต่แรก ไม่ใช่ผู้ที่จะสร้างสันติภาพแต่อย่างใด

ในไทยเราต้องต่อต้านการแข่งกันสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโจมตีการซื้ออาวุธของรัฐไทยเป็นหลัก เราต้องต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วย และเราต้องคัดค้านการรักชาติ และหันมารักประชาชนแทน

นอกจากนี้เมื่อประชาชนปาตานีพยายามต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากอำนาจรัฐไทย เราต้องเข้าข้างเขาเสมอ ไม่ใช่ไปเชียร์กองทัพไทยซึ่งมีประวัติในการกดขี่ชาวปาตานีและประวัติการทำรัฐประหารเข่นฆ่าพลเมืองไทยเพื่อปล้นประชาธิปไตยอีกด้วย