การเยือนเกาะไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และนักการเมืองที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐ เป็นการตั้งใจที่จะยั่วยุท้าทายประเทศจีนท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยม
สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ คำว่า “จักรวรรดินิยม” ที่ เลนิน เคยนิยามว่าเป็น “ขั้นตอนสูงสุดของระบบทุนนิยม” ไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศใดประเทศเดียว ทั้งๆ ที่เรามักจะได้ยินคำว่า “จักรวรรดินิยมสหรัฐ” แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” คือเป็นระบบความขัดแย้งระหว่างรัฐทุนนิยมทั่วโลก โดยที่บางประเทศ ประเทศมหาอำนาจ จะมีอำนาจสูง และประเทศเล็กๆจะมีอำนาจน้อย อำนาจดังกล่าวมาจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางทหารซึ่งนำไปสู่อำนาจทางการทูตด้วย
เรื่องเศรษฐกิจกับการทหารแยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่ เลนิน เคยอธิบายไว้คือ เวลาทุนนิยมพัฒนา กลุ่มทุนใหญ่กับรัฐมักจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะกลุ่มทุนในประเทศหนึ่งๆ มักจะอาศัยอำนาจทางทหารและการเมืองของรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และในขณะเดียวกันรัฐต้องอาศัยพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ สถานการณ์แบบนี้ยังดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่มีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจทั่วโลก แต่จริงๆ แล้วบริษัทข้ามชาติยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการปกป้องผลประโยชน์เวลาทำธุรกิจข้ามพรมแดนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทต่างๆ มันไม่ใช่ว่าบริษัทข้ามชาติสามารถหนีพรมแดนรัฐชาติหรือรัฐชาติมีความสำคัญน้อยลง อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ
จักรวรรดินิยมจึงเป็นระบบหรือเครือข่ายการแข่งขันกันทั่วโลกระหว่างรัฐ-ทุนประเทศหนึ่งกับรัฐ-ทุนอื่นๆ และจะออกมาในรูปแบบการพยายามเอาชนะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทหาร บางครั้งจึงเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมระบบทุนนิยมเป็นต้นกำเนิดของสงครามเสมอ
มหาอำนาจในโลกปัจจุบัน มีสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปในอียู จีน และรัสเซีย และมีประเทศมหาอำนาจย่อยๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนเองในการแข่งขันทั่วโลก ชนชั้นนำอังกฤษยังฝันว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจ แต่แท้จริงถ้าอังกฤษจะมีอิทธิพลในโลกก็ต้องเกาะติดสหรัฐเหมือนลูกน้อง เราเห็นสภาพแบบนี้ในสงครามอิรัก และประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ก็ต้องรวมตัวกับเยอรมันในสหภาพยุโรป (อียู)ถึงจะมีอำนาจในเวทีโลกได้
หลายคนเข้าใจผิดว่าจักรวรรดินิยมมีแค่สหรัฐอเมริกา แต่จีนกับรัสเซียก็เป็นมหาอำนาจในระบบจักรวรรดินิยมด้วย และทั้งจีนกับรัสเซียเป็นประเทศทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดแรงงานของตน และสร้างกองทัพเพื่อข่มขู่ประเทศอื่นๆ ไม่ต่างจากสหรัฐ ดังนั้นเราชาวมาร์คซิสต์จะไม่มีวันเข้าข้างประเทศหรือชนชั้นปกครองของจีน หรือรัสเซีย โดยหลงคิดว่าการต้านสหรัฐโดยรัสเซียหรือจีนเป็นสิ่ง “ก้าวหน้า” มันไม่ใช่เลย คนที่คิดแบบนี้เป็นแค่คนที่ต้องการพึ่งนักเลงกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านนักเลงอีกกลุ่มเท่านั้น มันไม่นำไปสู่เสรีภาพหรือการปลดแอกแต่อย่างใด และมันเป็นการมองข้ามพลังของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อไปเชียร์ชนชั้นปกครอง
กลับมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนและเรื่องเกาะไต้หวัน เมื่อแนนซี เพโลซี ตั้งใจท้าทายจีนด้วยการเยือนเกาะไต้หวัน จีนก็โต้ตอบด้วยการประกาศว่าถ้าจีนอยากบุกยึดเกาะไต้หวัน จีนก็ทำได้เสมอ นอกจากนี้มีการสำแดงพลังกันทั้งสองฝ่ายด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบไปท้าทายอีกฝ่ายในเชิงสัญลักษณ์ และสหรัฐพยายามสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อต้านจีน (The Quad) ที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น กับสหรัฐ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “นาโต้เอเชีย”
รัฐบาลสหรัฐเริ่มหันไปให้ความสนใจกับเอเชียอีกครั้งหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงตั้งแต่ยุคของโอบามา โอบามาเปลี่ยนนโยบายระหว่างประเทศโดยการหันไปทางตะวันออก และกำหนดให้ 60% ของกองกำลังทหารสหรัฐหันหน้าไปทางจีน
ถ้าเราเข้าใจนโยบายของสหรัฐตรงนี้เราจะเข้าใจได้ว่าในกรณีสงครามยูเครน สหรัฐกับนาโต้หนุนรัฐบาลยูเครนด้วยอาวุธ เพื่อทำลายหรือลดอำนาจของรัสเซีย โดยที่เป้าหมายหลักอยู่ที่การพิสูจน์ความเข้มแข็งของสหรัฐและนาโต้ให้จีนดู นั้นคือสิ่งที่สะท้อนว่าระบบจักรวรรดินิยมมันครอบคลุมโลกและเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน และความก้าวร้าวของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียตอนนี้ มาจากความกลัวของสหรัฐว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สหรัฐจึงพึ่งอำนาจทางทหารมากขึ้น
ในทศวรรษที่80 จีนเป็นเศรษฐกิจที่เล็กถ้าเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก คือแค่2%ของเศรษฐกิจโลก แต่การขยับสู่กลไกตลาดและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน นำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอุตสาหกรรมส่งออก 60% เป็นทุนเอกชน แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ บ่อยครั้งเศรษฐีใหญ่ของจีนเป็นลูกหลานญาติพี่น้องของผู้ดำรงตำแหน่งสูงในพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย ในปี 2011 ชนชั้นปกครองจีนแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยเศรษฐีรวยที่สุด70คน ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในสังคมก็พุ่งสูงขึ้น มันไม่ใช่ว่ากรรมาชีพจีนคุมการเมืองหรือรัฐแต่อย่างใด
การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายกำลังทหารและอาวุธอย่างรวดเร็วจ จาก20พันล้านดอลลาร์ในปี 1989 เป็น 266พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 แต่งบประมาณทางทหารของจีนเทียบเท่าแค่ 1/3ของงบประมาณสหรัฐ จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินแค่ 2 ลำ ในขณะที่สหรัฐมี 11 ลำ
ตอนนี้จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นอำนาจทางทหารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองด้วย เราจึงไม่แปลกใจที่ชนชั้นปกครองสหรัฐมองว่าจีนคือคู่แข่งหลักในเวทีโลกซึ่งเป็นเวทีจักรวรรดินิยม พร้อมกันนั้นสหรัฐและแนวร่วมก็เปิดศึกทางการทูตด้วยการวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีชาวอุยกูร์หรือกรณีฮ่องกง และทั้งๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในสองกรณีนี้จริง แต่สหรัฐและประเทศตะวันตกไม่เคยจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ดูได้จากการที่ตำรวจสหรัฐฆ่าคนผิวดำ หรือการที่สหรัฐปกป้องและสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลเป็นต้น
ถ้าดูกรณีไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายประชาธิปไตยของพวกทหารเผด็จการ อาจถูกวิจารณ์อย่างอ่อนๆจากสหรัฐ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องนามธรรม เพราะรัฐบาลสหรัฐยังร่วมมือทางทหารกับไทย ส่วนเผด็จการจีนก็ไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ทั้งจีนกับสหรัฐสนใจจะดึงรัฐบาลไทยมาเป็นพรรคพวกมากกว่าเรื่องอุดมการณ์
อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐและกลุ่มทุนทั้งแข่งขันและร่วมมือกันพร้อมๆ กัน มาร์คซ์ เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวว่าพวกนายทุนเป็น “พี่น้องที่ตีกันอย่างต่อเนื่อง”
ในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันผูกพันกับจีนโดยที่ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด และชิ้นส่วนดังกล่าวใช้ในการประกอบคอมพิวเตอร์ที่จีน เพื่อส่งออกให้ตะวันตกและส่วนอื่นของโลก และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนไปสู่สหรัฐมีความสำคัญกับทั้งจีนและสหรัฐ ยิ่งกว่านั้นเงินรายได้ของจีนจากการส่งออกก็ถูกนำไปลงทุนในสหรัฐอีกด้วย นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนกับสหรัฐผูกพันกันทางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทหาร และไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดสงคราม ไม่ได้แปลว่าโลกไม่ได้เสี่ยงจากการปะทะกันทางอาวุธ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ที่เพิ่มความตึงเคลียดและทั้งสองฝ่ายไม่ยอมถอยโดยมองว่าอีกฝ่ายจะขยายอิทธิพลและท้าทายผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง อย่างที่เราเห็นในกรณียูเครน ก็เกิดสงครามได้ และสงครามดังกล่าวเสี่ยงกับการขยายไปสู่สงครามนิวเคลียร์อีกด้วยเพราะจะเป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจโดยตรง
มันไม่จบอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความขัดแย้งเรื่องเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเล และรัฐบาลต่างๆ กำลังสะสมอาวุธอย่างเร่งด่วน เราเห็นว่าในไทยกองทัพเรือประกาศว่าจะต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อแข่งกับประเทศรอบข้าง
แล้วเรื่องไต้หวัน เราจะเข้าใจประเด็นการเมืองและหาจุดยืนอย่างไร?
ในปี 1949 เหมาเจ๋อตุงนำการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ชัยชนะ แต่การปฏิวัติครั้งนั้นไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยมแต่อย่างใด เพราะไม่ได้นำโดยชนชั้นกรรมาชีพเลย นำโดยกองทัพแดงแทน มันเป็นการปฏิวัติ “ชาตินิยม” ที่ปลดแอกจีนจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและตะวันตก และมันนำไปสู่การสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”
หลังการปฏิวัติจีนพรรคก๊กมินตั๋ง (หรือ “กั๋วหมินต่าง”) ของเจียง ไคเชก คู่ขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้หนีไปอยู่บนเกาะไต้หวันและปกครองเกาะด้วยเผด็จการทหาร ตอนนั้นกองทัพจีนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดเกาะ และในช่วงสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาหนุนเจียง ไคเชก แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปี การต่อสู้ของกรรมาชีพและประชาชนในไต้หวันท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถล้มเผด็จการและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ และกรรมาชีพเริ่มมีสิทธิเสรีภาพพอๆ กับประเทศทุนนิยมตะวันตก
อย่างไรก็ตามเกาะไต้หวันและประชาชนกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐที่ต่อต้านการขยายตัวของจีน แน่นอนประชาชนในไต้หวันเป็นคนเชื้อสายจีน แต่ถ้ารัฐบาลจีนเข้ามายึดเกาะ สิทธิเสรีภาพที่เคยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนก็จะถูกทำลายโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองกระแสหลักของไต้หวันแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่มองว่าน่าจะค่อยๆ รวมชาติกับจีน และฝ่ายที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ อย่างไรก็ตามทั้งสองพรรคนี้ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลัก และที่สำคัญคือถ้าไต้หวันจะเป็นประเทศอิสระก็จะเป็นอิสรภาพจอมปลอมภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ
ทางออกสำหรับประชาชนและกรรมาชีพไต้หวันจากการเป็นเหยื่อของความขัดแย้งจักรวรรดินิยม คือกรรมาชีพและนักสังคมนิยมไต้หวันจะต้องสมานฉันท์กับกรรมาชีพบนแผ่นดินใหญ่จีนในการต่อสู้กับชนชั้นปกครองจีน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม โดยไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้กรรมาชีพจีนอยู่ในสภาพความขัดแย้งทางชนชั้นกับรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน
ท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยมระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝ่ายซ้ายทั่วโลกมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นสามจุดยืนคือ
- พวกที่แก้ตัวแทนจีน โดยอ้างว่าจีน “ก้าวหน้า” กว่าสหรัฐ อ้างว่าจีนยังเป็นสังคมนิยม และอ้างว่าจีนไม่ใช่จักรวรรดินิยม พวกนี้เป็นพวกที่ปิดหูปิดตาถึงลักษณะทุนนิยมของจีน การกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพของชนชั้นปกครองจีน และการที่รัฐบาลจีนเบ่งอำนาจกับฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน ฝ่ายซ้ายพวกนี้เป็นพวกที่เลือกเข้าข้างโจรกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านโจรอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมว่าพลังหลักที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าและล้มทุนนิยมคือชนชั้นกรรมาชีพ จีนไม่เคยเป็นสังคมนิยม และเมื่อทุนนิยมโดยรัฐพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้ ก็มีการหันหน้าออก เน้นกลไกตลาด และใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อบุกเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาศัยการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น
- พวกฝ่ายซ้ายที่เชียร์ตะวันตก เพราะมองว่า “ไม่แย่เท่าจีน” พวกนี้มองแค่เปลือกภายนอกของระบบประชาธิปไตย และสภาพแรงงานในตะวันตกเท่านั้น ซึ่งแน่นอนการมีประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน และรัฐสวัสดิการในบางประเทศ (ไม่ใช่สหรัฐ) เป็นเรื่องสำคัญที่จับต้องได้ แต่แค่นั้นไม่พอที่จะทำให้เรา “เลือกนาย” จากชนชั้นปกครองตะวันตก และเราต้องไม่ลืมด้วยว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจตะวันตกที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามจักรวรรดินิยมโดยสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งกองทัพดังกล่าว หรือแนวร่วมทหารของนาโต้ ไม่เคยมีประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพในตะวันตก ตรงกันข้ามมันนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณทางทหารในขณะที่มีการตัดงบประมาณสาธารณสุขหรือรัฐสวัสดิการ และมันนำไปสู่การเกณฑ์กรรมาชีพไปล้มตายในสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
- ฝ่ายซ้ายที่ยังไม่ลืมจุดยืนมาร์คซิสต์และจุดยืนสากลนิยม จะมองว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยที่จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกปัจจุบัน นักมาร์คซิสต์มองว่ากรรมาชีพไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฝ่าย “ของเรา” คือกรรมาชีพในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ ยุโรป หรือไทย และชนชั้นกรรมาชีพโลกนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะล้มระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม
ในระบบจักรวรรดินิยมปัจจุบัน ในรอบ20ปีที่ผ่านมา แทนที่เราจะเห็นแค่สหรัฐเบ่งอำนาจกับประเทศเล็กๆ เราเห็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโดยตรง ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดสงครามใหญ่มากขึ้นอย่างน่ากลัว แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมมีต้นกำเนิดจากวิกฤตของระบบทุนนิยมที่มีหลายรูปแบบเช่น วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อ
เราชาวสังคมนิยมจะต้องขยันในการเปิดโปงและวิจารณ์ระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม ต้องเข้าใจและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เพื่อปลุกระดมมวลชนให้เห็นภาพจริงและออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกรรมาชีพทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงคราม การสนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อค่าจ้างเพิ่ม การประท้วงโลกร้อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม ภาระงานอันยิ่งใหญ่นี้ย่อมทำไม่ได้ถ้าเราไม่พยายามสร้างพรรคปฏิวัติ
ใจ อึ๊งภากรณ์