Tag Archives: ชนชั้นกลาง

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์ไม่ได้มาจากวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด คนที่เพ้อฝันคิดแบบนั้นเป็นคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และไม่เข้าใจธาตุแท้ของกษัตริย์ไทย ความคิดแบบนี้จะปล่อยให้ทหารลอยนวล และไม่นำไปสู่การสู้กับเผด็จการตรงจุด

อำนาจของเผด็จการประยุทธ์มาจาก

1. การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

2. ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

การคุมกองกำลังทหารที่สามารถทำรัฐประหารได้

การคุมกองกำลังทหารเป็นการคุมอำนาจทางการเมืองที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลหลายๆ ครั้ง ที่สำคัญสำหรับบทความนี้คือ บ่อยครั้งมีความขัดแย้งกันภายในกองทัพ เพื่อแย่งชิงอำนาจนี้ ซึ่งคงไม่เกิดถ้ากษัตริย์คุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ และที่สำคัญอีกคือมีกรณีที่มีการทำรัฐประหารที่สำเร็จและนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่กษัตริย์เคยสนับสนุน ตัวอย่างคือการทำรัฐประหารล้มรัฐบาล “หอย” ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ภูมิพลเคยชื่นชม เพียงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙

ฐานสนับสนุนเผด็จการประยุทธ์ในหมู่สลิ่มชนชั้นกลาง

ก่อนหน้าที่ประยุทธ์จะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีมวลชนของพวกสลิ่มออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนนมากมาย มวลชนฝ่ายขวาเหล่านี้ไม่สนับสนุนระบบประชาธิปไตย เกลียดทักษิณเพราะทักษิณทำแนวร่วมกับคนจนเพื่อสร้างฐานเสียงให้ตัวเอง และไม่พอใจการ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กษัตริย์รัชกาลที่ 9 ป่วยหนักและหมดสภาพที่จะทำอะไร และวชิราลงกรณ์ก็มัวแต่เสพสุขที่เยอรมัน

การทำรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่สามารถล้มรัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเสื้อเหลืองและกลุ่มพันธมิตรกึ่งฟาสซิสต์ทำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่องหลายเดือน และพวกเหลืองเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพวกเอ็นจีโออีกด้วย การทำรัฐประหารครั้งนี้ทำไม่ได้ถ้าไม่มีกระแสปฏิกิริยาของฝ่ายเหลืองในสังคม และย่อมทำไม่ได้ถ้าตอนนั้นทักษิณเตรียมตัวจัดมวลชนเพื่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเขาไม่มีวันทำ

หลังจากที่เผด็จการประยุทธ์ครองอำนาจมา 5 ปี มีการจัดการเลือกตั้งปลอมในปี 2562 ภายใต้กติกาที่ทหารร่างขึ้น ประเด็นสำคัญคือ 1. ทำไมต้องจัดการเลือกตั้งถ้าวชิราลงกรณ์ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ? แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ 2. มีประชาชนไทยหลายล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศที่ลงคะแนนสนับสนุนพรรคของประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจจากฐานเสียงในสังคมที่เผด็จการประยุทธ์ใช้เพื่อครองอำนาจ มันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกษัตริย์

พอมาถึงช่วงนี้ วิกฤตโควิดและความไม่พอใจอื่นๆ ที่สะสมในสังคม เริ่มทำลายฐานสนับสนุนของประยุทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” มีความสำคัญสำหรับทหารและชนชั้นนายทุนไทย ในการกล่อมเกลาประชาชนให้สนับสนุนสิ่งที่ชนชั้นปกครองเหล่านี้กระทำ แต่มันต่างโดยสิ้นเชิงกับ “อำนาจกษัตริย์” ซึ่งเป็นภาพลวงตา

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราจะล้มเผด็จการได้ ที่สำคัญคือต้องมีการปลุกระดมกรรมาชีพคนทำงาน คือคนที่มีพลังทางเศรษฐกิจ ให้นัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ และสิ่งนี้เกิดได้ง่ายขึ้นถ้ามีการสร้างพรรคสังคมนิยม (ไม่ใช่สร้าง “สหภาพคนทำงาน”)

การทำความเข้าใจกับกระแสสังคม ฐานเสียงในกลุ่มและชนชั้นต่างๆ ของสังคม จะช่วยกำจัดการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด” เกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สภาวะแปลกแยก กับการสร้างภาพลวงตาเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์  https://bit.ly/3B3mwOk

นักเคลื่อนไหวควรปฏิเสธการถูกครอบงำโดย “ทฤษฎีสมคบคิด”   https://bit.ly/385NoRk

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5  

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t  

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

คำถามสำหรับนักรัฐศาสตร์เรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประกาศออกมาว่า “ตอนที่ผมมีส่วนร่วมบ้างในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผมคิดว่าถ้าผมรู้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นแบบนี้ ผมไม่ทำหรอก ๑๔ ตุลา ผมปล่อยให้จอมพลถนอมปกครองประเทศต่อไปดีกว่า ถึงแม้จะมีอะไรไม่ดี แต่ผมคิดว่าความเลวร้ายของระบบเลือกตั้งที่เราเห็นกันมา ผมว่ามันเลวร้ายกว่านี้”  ควรนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญสำหรับคนที่สอนและศึกษารัฐศาสตร์คือ ในแวดวงวิชาการยังมีการให้ความสำคัญกับผลงานและข้อเสนอของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทชนชั้นกลางในเมืองในการสร้างประชาธิปไตย และในเรื่องระบบอุปถัมภ์? [ดู https://bit.ly/2LE9Cha ประกอบเรื่องนี้]

การที่นักวิชาการคนหนึ่งเปลี่ยนจุดยืนจากอดีต ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาเคยเสนอก่อนหน้านี้จะผิดโดยอัตโนมัติ แต่เราก็ต้องตรวจสอบทบทวนด้วย เพราะบางที อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจไม่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ได้

_101727936_cover

ข้อเสนอหลักในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” คือ มันมีความแตกแยกสำคัญระหว่างสองซีกในสังคมไทย (สองนครานั้นเอง) คือระหว่างคนเมืองและคนชนบท เอนก เสนอว่าคนเมืองเป็นคนชั้นกลาง และคนชนบทเป็นชาวไร่ชาวนา และเสนอต่อไปว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่ใช้วิจารณญาณ และมาตรฐานคุณธรรมในการเลือกหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่างๆ และคนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ส่วนชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีคะแนนเสียงข้างมากในวันเลือกตั้ง โดยมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นในลักษณะการเลือกเจ้านายอุปถัมภ์ คือจะเลือกผู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ตน และจะไม่มองว่าการซื้อขายเสียงผิดหรือขัดกับคุณธรรม เพราะเป็นพิธีกรรมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง เอนกมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวชนบทนี้ไม่ใช่ภายใต้ความคิดอิสระเหมือนชนชั้นกลาง แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณตามระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยไพร่กับนาย

เราอาจพูดได้ว่า “สองนคราประชาธิปไตย” เป็นแนวคิดที่ปูทางไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบและการเลือกตั้งที่ไม่เสรีของเผด็จการประยุทธ์ในปี ๒๕๖๒

UnemducatedPeopleReuters

นอกจากปัญหาเรื่องการนิยามชนชั้นในเมืองและชนบทของ เอนกแล้ว เวลามองย้อนกลับไปและพิจารณาประเด็นเรื่องความแตกต่างทางการเมืองระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนจนในชนบท(และในเมือง) มันมีสองเรื่องที่ต้องนำมาคิด

ในประการแรกมันชัดเจนว่าเราต้องสรุปว่าคนชั้นกลางไม่ได้เป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท่องกันมาแบบนกแก้วในแวดวงวิชาการกระแสหลักทั่วโลกรวมถึงในไทย ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน มักตามกระแส บางครั้งอาจเข้ากับฝ่ายก้าวหน้า บางครั้งเชียร์เผด็จการทหารหรือเผด็จการฟาสซิสต์

ทิศทางความเสื่อมทางการเมืองของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สะท้อนสิ่งนี้เกี่ยวกับชนชั้นกลางอย่างชัดเจน จากการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการเชียร์บทบาทชนชั้นกลางและดูถูกคนจนในชนบท ผ่านการต้านทักษิณและความผิดหวังเมื่อลงเล่นการเมือง สู่การจับมือชื่นชมเผด็จการและการหันหลังให้กับระบบประชาธิปไตยเพราะมองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะมีสิทธิทางการเมือง

ในประการที่สอง ข้อสรุปจากวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ คือชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่เข้าหาผู้อุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ทางชนชั้นและเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ดำรงอยู่มานาน ผู้อุปถัมภ์ของชนชั้นกลางในสายตาของชนชั้นกลางเองคือทหารเผด็จการ พวกเทคโนแครดอย่าง อานันท์ ปันยารชุน และกษัตริย์ และยังรวมถึงนายทุนนักการเมืองอย่างทักษิณที่ชนชั้นกลางชื่นชมในช่วงแรก เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เพื่อปกป้องสถานภาพของคนชั้นกลาง ดังนั้นชนชั้นกลางไม่ได้มีความคิดอิสระอย่างที่ เอนก อ้าง แต่มีความคิดที่คอยตามกระแสและคอยแสวงหาผู้มีอำนาจ

ส่วน “มาตรฐานคุณธรรม” ที่เอนกเสนอว่าเป็นมาตรฐานของชนชั้นกลาง เราทราบดีว่าถูกเปิดโปงด้วยคำพูดตอแหลของฝ่ายเผด็จการมือเปื้อนเลือดเกี่ยวกับ “คนดี” ชนชั้นกลางไม่มีคุณธรรมพอที่จะมองว่าการฆ่าประชาชนมือเปล่า อย่างคนเสื้อแดง หรือการทำรัฐประหารแล้วจับคนที่คิดต่างเข้าคุก เป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด

32261_399319099924_537184924_3928134_4527140_n

การกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ามีพฤติกรรม “คอร์รับชั่น” โดยชนชั้นกลาง มาจากการที่ชนชั้นกลางหลอกตัวเองและคนอื่นว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จริงเลย แต่มุมมองนี้มันทำให้คนชั้นกลางรู้สึกว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่านั้นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าโกงกิน เป็นข้อโจมตีแบบคลุมเครือที่เปิดโอกาสให้คนชั้นกลางปิดบังจุดยืนทางการเมืองของตนเองในเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิเสรีภาพ หรือนโยบายเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นข้อโจมตีที่เลือกใช้ได้ ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ในสังคมไทย เพราะคนชั้นกลางมักเงียบเฉยต่อการโกงกินของทหารเผด็จการ

[อ่านบทความวิจารณ์หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” โดย ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน เข้าดูได้ที่ https://bit.ly/2BHz2pV ]

“ประชานิยม” ถ้อยคำอคติของชนชั้นกลาง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้ทั่วโลกมีการใช้คำว่า “ประชานิยม” หรือ Populism โดยเฉพาะเวลากล่าวถึงนักการเมืองฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว และศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีทรัมพ์ในสหรัฐ พรรคฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย หรือพรรคอิสรภาพสำหรับสหราชอาณาจักร (UKIP) ในอังกฤษ

สองนักการเมืองฟาสซิสต์จากฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์

อดีตหัวหน้าพรรค UKIP

“ประชานิยม” ที่มีการพูดถึงในยุคนี้จะถูกเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา”

เมื่อไม่นานมานี้มีการใช้คำว่า “ประชานิยม” เพื่อกล่าวถึงพรรคไทยรักไทยและนโยบายของทักษิณ และทั้งๆ ที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ถูกเรียกว่าใช้นโยบาย “ประชานิยมฝ่ายขวา” แต่การใช้คำว่า “ประชานิยม” ในไทยมีส่วนคล้ายกับการใช้คำนี้ในตะวันตกในปัจจุบัน

ส่วนคล้ายที่ผมอยากจะยกมาอธิบายคือ คำว่า “ประชานิยม” นี้ในทั้งสองกรณี เป็นคำที่ปัญญาชนหรือนักวิชาการชนชั้นกลางใช้เพื่อดูถูกคนธรรมดา โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจน มันเป็นคำที่เต็มไปด้วยอคติของพวกที่มองว่าตัวเองฉลาดกว่า มีการศึกษามากกว่า และเข้าใจเศรษฐศาสตร์กับการเมืองมากว่าพลเมืองธรรมดา พวกนี้มองว่าชนชั้นกรรมาชีพกับคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของทุกสังคม เป็นคนโง่

ในกรณีไทย พวกนักวิชาการสลิ่มชนชั้นกลาง จะเล่านิยายว่าทักษิณ “ซื้อเสียง” ด้วยนโยบาย “ประชานิยม” ที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติ สำหรับพวกสลิ่มเหล่านี้การมีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าที่ทำให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เป็นครั้งแรก เป็นการเปลืองตัง การมีนโยบายสร้างงาน เป็นการใช้งบประมาณรัฐในทางที่ผิดและไร้วินัย การพยายามลดหนี้เกษตรกร เป็นการปล่อยให้ชาวไร้ชาวนาไม่ต้องรับผิดชอบฯลฯ ซึ่งความคิดอคติดังกล่าวสะท้อนความเห็นแก่ตัวทางชนชั้นของชนชั้นกลางและพวกชนชั้นสูง

ทุกวันนี้พรรคพวกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดกำลังออกแบบ “ยุทธศาสตร์ล้าหลังแห่งชาติ” เพื่อไม่ให้รัฐบาลในอนาคตใช้นโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการกีดกันคนธรรมดาออกจากการเมืองประชาธิปไตย พูดง่ายๆ พวกมันต้องการให้เราไม่มีทางเลือกอะไรในแง่ของนโยบายเมื่อมีการเลือกตั้ง

ในเรื่องประชานิยมนี้มันมีสองประเด็นที่น่ารักเกียจคือ ในประการแรกในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองควรพยายามเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองส่วนใหญ่ และถ้าพลเมืองเหล่านั้นพึงพอใจและเทคะแนนให้พรรคนั้น มันก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย แต่พวกสลิ่มมองว่ารัฐบาลไม่ควรใช้เงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชนในการพัฒนาชีวิตของคนส่วนใหญ่ สลิ่มมองว่ารัฐบาลควรเอาใจแค่ทหาร พวกในวัง คนรวย หรือชนชั้นกลางเท่านั้น อย่าลืมว่าไม่มีพวกนักวิชาการชนชั้นกลางคนไหนเลยที่โวยวายเวลารัฐบาลชวนเอาเงินประชาชนไปอุ้มหนี้เสียของธนาคารและบริษัทไฟแนนส์ ที่พวกชนชั้นกลางไปฝากเงินไว้ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง และไม่มีนักวิชาการสลิ่มออกมาวิจารณ์งบประมาณอันฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ของทหารหรือพวกในวัง

ในประการที่สอง พลเมืองที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่ได้เป็นคนโง่ ไม่ได้ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” และไม่ได้ถูกทักษิณซื้อแต่อย่างใด ตามที่สลิ่มและเอ็นจีโออ้าง มันเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานเหตุผล และถ้านโยบายต่างๆ ที่เขาสนับสนุนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มันย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ

ในตะวันตกการพูดถึง “ประชานิยมฝ่ายขวา” ในยุคนี้ก็เป็นถ้อยคำที่เต็มไปด้วยอคติของปัญญาชนและนักวิชาการชนชั้นกลางเช่นกัน แน่นอนมันมีหลายส่วนของนโยบายของพวกฝ่ายขวาที่น่าเกลียดและเป็นพิษภัยต่อสังคม ซึ่งเราต้องประณามและต่อต้าน โดยเฉพาะนโยบายเหยียดเชื้อชาติ สีผิว เพศ และศาสนาอิสลาม มันเป็นแนวคิดที่สร้างความแตกแยกในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และกดขี่ทำลายศักดิ์ศรีของคนที่ถูกมองว่าเป็นคน “ต่าง” หรือคน “ด้อย”

แต่บ่อยครั้งคำว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” ถูกใช้เพื่อให้ความหมายว่ากรรมาชีพและคนจน ไปหลงสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เพราะพวกนี้โง่ ไร้การศึกษา และมีความคิดคับแคบ เช่นมีการเหมารวมว่าพลเมืองอังกฤษทุกคนที่ลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู รวมถึงผู้เขียนคนนี้ เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติหมด มันมีการเหมารวมว่า ทรัมพ์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐเพราะกรรมาชีพและคนจนเหยียดเชื้อชาติและกดขี่สตรี แต่คำอธิบายนี้เต็มไปด้วยเรื่องเท็จ

ในกรณีอังกฤษ การลงคะแนนเสียงเพื่อออกจากอียู เป็นการประท้วงชนชั้นปกครองจากทุกพรรคที่อยากอยู่ต่อในอียู มันเป็นการประท้วงนโยบายรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตคนจำนวนมาก และที่น่าสังเกตคือนักการเมืองกระแสหลักทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านอียู ร่วมกันใช้วาจาเหยียดเชื้อชาติพอๆ กัน ยิ่งกว่านั้นเวลาสำรวจความคิดเหยียดเชื้อชาติ จะพบว่าพวกสลิ่ม ชนชั้นกลางผู้ประกอบการรายย่อย และพวกคนชั้นสูง เป็นตัวดีที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว ส่วนกรรมาชีพจะมีความคิดขัดแย้งในตัว คืออาจรับความคิดเหยียดเชื้อชาติจากสื่อ แต่ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าต้องสามัคคีกับเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไร

ทรัมพ์

ในสหรัฐการที่ทรัมพ์ชนะ เป็นเพราะกรรมาชีพคนจนเกลียดชังคนอย่างคลินตัน ซึ่งเป็นตัวแทนของนายทุนและชนชั้นปกครองที่ทำลายชีวิตเขาหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 คนเหล่านี้จึงไม่ค่อยออกไปใช้เสียงในวันเลือกตั้ง และส่วนหนึ่งอาจลงคะแนนให้ทรัมพ์เพื่อเป็นการประท้วง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าคนจนล้าหลังคับแคบ ในความเป็นจริงประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนมีนโยบายเลวๆ ที่ดูแลแต่คนรวยและขยันในการก่อสงคราม โอบามา เคยสร้างความหวังกับพลเมืองไม่น้อย แต่ในที่สุดคนส่วนใหญ่ต้องผิดหวัง เพราะโอบามาไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่ได้เสนอรัฐสวัสดิการ และไม่ได้แก้ปัญหาของคนผิวดำ โดยเฉพาะในเรื่องการที่ตำรวจฆ่าวิสามัญคนผิวดำ

สรุปแล้วปรากฏการณ์ของสิ่งที่พวกปัญญาชนสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” มาจากการประท้วงของพลเมืองต่อสภาพสังคมที่พวก “ข้างบน” คอยกดทับชีวิตของเขาและไม่แคร์อะไรเลย พวกสลิ่มก็ไม่เคยสนใจสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนใหญ่ด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งของกระแสฝ่ายขวามาจากการที่ฝ่ายซ้ายยังอ่อนแอเกินไปที่จะดึงคะแนนของพวกที่ไม่พอใจเพื่อไปในทางที่ก้าวหน้า ฝ่ายขวาที่เหยียดเชื้อชาติจึงสามารถฉวยโอกาสสร้างแพะรับบาปได้ แต่พวกสลิ่มก็ตัวดีในการด่าวิจารณ์ฝ่ายซ้ายอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส ในสหรัฐ หรือ เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษ คือไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้เกิดกระแสก้าวหน้า แค่สบายใจในการดูถูกคนจนเท่านั้น

คำว่า “ประชานิยม” ไม่ว่าจะในกรณีทักษิณ หรือกรณีพวกนักการเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก เป็นคำที่ใช้เพื่อดูถูกคนส่วนใหญ่ของสังคม และมันปิดบังข้อเท็จจริงทางการเมืองหลายประการ ดังนั้นเราไม่ควรใช้อีกต่อไป

อนาคตการเมืองบราซิลหลังฟุตบอล์โลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น

ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา

ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน

พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า

ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร

หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง

ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง

การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่