Tag Archives: ชนชั้นนายทุน

สภาพกรรมาชีพในสหรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรรมาชีพในสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูญพันธ์หรือไร้อำนาจต่อรองอย่างที่นักวิชาการและสื่อกระแสหลักเสนอ แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม ที่มีมาตั้งแต่กำเนิดของระบบนี้ รูปแบบและสภาพการทำงานได้เปลี่ยนไป

ในสหรัฐอเมริกากรรมาชีพทั้งหมดนับเป็นสัดส่วน 63% ของประชากร โดยที่ชนชั้นกลางมีประมาณ 36% และนายทุนใหญ่ 1%

โดยทั่วไปสถานที่ทำงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งรวมกันเป็นบริษัทที่โตขึ้น สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการนำระบบรับเหมาช่วงเข้ามาสำหรับหลายกิจกรรมที่เชื่อมกับการผลิต เพราะระบบรับเหมาช่วงทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่เฉพาะทางอีกด้วย

ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนคนงานลดลง แต่สาเหตุหลักไม่ใช่เพราะกลุ่มทุนย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าจ้างต่ำอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์และคนอื่นชอบอ้าง สาเหตุหลักมาจากการที่นายทุนผลักดันการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งทำให้ลดคนงานแต่เพิ่มผลผลิต ซึ่งมีผลทำให้การขูดรีดแรงงานหนักขึ้น สภาพการทำงานแย่ลง และกำไรของนายทุนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความหนาแน่นของทุนที่ใช้ลงทุนในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งจะเพิ่มขึ้น

us-auto-workers-on-line

วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มอัตราการขูดรีดมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการผลิตรูปแบบใหม่ที่ตัดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองออก ผ่านระบบที่เรียกว่าการผลิต “ลีน” (Lean Production) เช่นการเปลี่ยนกะทำงานในบริษัทประกอบรถยนต์ “จีเอ็ม” ที่เปลี่ยนกะทำงานจากวันละ 8 ชม. 5 วันต่อสัปดาห์ (จันทร์ถึงศุกร์) ไปเป็นการทำงานวันละ 10 ชม. 4 วันต่อสัปดาห์ โดยนับวันเสาร์-อาทิตย์เป็นวันธรรมดาและไม่จ่ายค่าโอที

การเปลี่ยนกะทำงานแบบนี้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มกำไรให้นายทุน และมีการปรับเปลี่ยนกะทำงานในภาคบริการเช่นในโรงพยาบาลอีกด้วย

พร้อมกันนั้นจะมีระบบสอดแนมตรวจสอบการทำงานของคนงานทุกคน โดยใช้เทคโนโลจี “ไอที” สมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าคนงานจะพักผ่อนลำบากและถูกติดตามตลอดเวลา ซึ่งวิธีการนี้ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบการขนส่ง และแม้แต่ในโรงพยาบาล

Nurses

ในกรณีโรงพยาบาล เวลาพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ หัวหน้างานสามารถดูว่าดูแลคนไข้กี่คนในระยะเวลาเท่าไร หรือสำหรับคนทำงานแอดมินในโรงพยาบาล หัวหน้างานสามารถตรวจสอบว่ารับโทรศัพท์บ่อยแค่ไหนหรือทำงานอื่นเร็วแค่ไหน ในกรณีคนทำงานในโกดัง จะมีระบบตรวจสอบว่าเคลื่อนย้ายสินค้ากี่ชิ้นในเวลาเท่าไร

การเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานแบบนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของกรรมาชีพแย่ลงและเพิ่มความเครียด

อีกวิธีที่นายทุนใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคือระบบ “ทันเวลาพอดี” (Just In Time) คือในโรงงานต่างๆ จะลดต้นทุนโดยที่ไม่ต้องลงทุนเก็บชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตนานเกินไป ชิ้นส่วนจะถูกส่งมาให้ทันการผลิตในช่วงสั้นๆ และในโกดังที่ป้อนการผลิตในโรงงานต่างๆ หรือป้อนห้างร้าน จะมีระบบ “เข้าออกในวันเดียวกัน” (Cross-Docking) คือรถบรรทุกจะส่งของให้โกดัง และโกดังจะส่งต่อสู่เป้าหมายปลายทางในวันเดียวกัน

ระบบนี้มีผลทำให้กรรมาชีพมีพลังต่อรองสูงขึ้น เพราะถ้าส่วนหนึ่งนัดหยุดงาน ระบบการผลิต หรือการค้าขายจะหยุดทันทีเพราะไม่มีชิ้นส่วนหรือสินค้าสำรอง มันทำให้เราเห็นว่าในยุคนี้มี “สายประกอบการ” ทั้งภายในสถานประกอบการ และภายนอกที่เชื่อมกับระบบโกดังและการขนส่งอีกด้วย นอกจากนี้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนงานน้อยลง คนงานแต่ละคนมีความสำคัญและอำนาจต่อรองสูงขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมแยกไม่ออกจากภาคบริการ เพราะพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในขณะที่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมลดลง คนงานในภาค “โลจิสติก” (logistics) เพิ่มขึ้น เช่นคนงานในโกดัง และคนงานขนส่งสินค้า คาดว่าทั่วประเทศคนงานในภาคนี้มีถึง 4 ล้านคน

workers-compensation-logistics-warehouse

ในชานเมืองใหญ่ๆ เช่นเมือง Chicago, Los Angeles หรือ New York มี “กลุ่มโลจิสติก” ขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทขายของทางอินเตอร์เน็ด และห้างร้านขนาดใหญ่ และที่เมือง Chicago กลุ่มโลจิสติกมีการจ้างคนงานสองแสนคนในโกดัง ตัวเลขนี้ไม่รวมคนที่ขับรถขนส่งสินค้า

xpo_equipment_on-road-city1

นอกจากโลจิสติกแล้ว ภาคบริการประกอบไปด้วยคนทำงานในสถานการศึกษา ธนาคารกับไฟแนนส์ การขนส่งมวลชน และโรงพยาบาล คาดว่าลูกจ้างในโรงพยาบาลมีถึง 4.4 ล้านคน และที่สำคัญคือภาคบริการนี้ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นได้เนื่องจากลักษณะงานบวกกับความเข้มข้นของการลงทุน

e5c7613e79b239ed68390596044f9745

ลักษณะของงานในภาคบริการ มักจะเป็นงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำและโอกาสที่จะเลื่อนขั้นสำหรับลูกจ้างจะมีน้อย นอกจากนี้มีการใช้คนงานในลักษณะยืดหยุ่น คือส่วนหนึ่งไม่ได้มีชั่วโมงการทำงานที่เต็มเวลาหรือมั่นคง ซึ่งบ่อยครั้งคนงานจะเป็นคนอายุน้อยที่พึ่งจบการศึกษา หรืออาจเป็นสตรีที่ต้องการงานไม่เต็มเวลาเพื่อเลี้ยงลูก แต่ทั้งๆ ที่มีการประโคมข่าวว่า “ในยุคนี้งานประจำกำลังหายไปหมด” ตัวเลขจริงชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการทำงานแบบที่ไร้ความมั่นคง (Precarious Work) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร คือคงอยู่ที่ 15% ของกำลังงานทั้งหมดในช่วง10ปีระหว่าง1995-2005 แต่จำนวนคนงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คนงานที่ไร้ความมั่นคง และคนงานที่มีงานประจำเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

ในภาพรวมมันไม่ได้มีส่วนหนึ่งของประชาชนที่ขาดความมั่นคงตลอดไป แต่คนงานทุกคนอาจมีประสบการณ์ของการทำงานที่ขาดความมั่นคงในช่วงหนึ่งของชีวิต และเนื่องจากสหรัฐไม่มีรัฐสวัสดิการ ประชาชนสูงอายุหลังเกษีณ เป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงมากพอสมควร

38591-full

ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1980 คือคน 10% ที่รวยที่สุดเพิ่มส่วนแบ่งทรัพย์สินจาก 30% ในปี1970 เป็น 50% ในปี2005 ความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน คือถ้าวัดสัดส่วน “กำไรต่อค่าจ้าง” จะเห็นว่าเพิ่มจาก 21 ในปี 1975 เป็น 36 ในปี 2011 ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพโดยนายทุน

6.6.16portsphoto

สำหรับโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและส่งเสริมการต่อสู้ทางชนชั้น การมีสถานที่ทำงานที่ใหญ่ขึ้น และมีการลงทุนสูงขึ้น และลักษณะของระบบโลจิสติก เป็นโอกาสทอง เพราะทำให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานง่ายขึ้นและคนงานมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น แต่เงื่อนไขทางวัตถุแบบนี้ไม่พอที่จะทำให้เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้นได้ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กันคืองานการจัดตั้งภายในสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้า พร้อมกับการจัดตั้งทางการเมืองที่อิสระจากพรรคเดโมแครต ในอดีตผู้นำแรงงานระดับสูงไม่ยอมนำการต่อสู้และมัวแต่ไปตีสนิทกับนักการเมืองพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนายทุนอย่างชัดเจน และถ้าเราเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ได้ชนะเพราะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาชีพ แต่ชนะเพราะกรรมาชีพจำนวนมากไม่ยอมออกมาลงคะแนนเสียงเลยในวันเลือกตั้ง เพราะเบื่อหน่ายกับสองพรรคใหญ่และสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม เราจะเห็นว่าในยุคนี้นักเคลื่อนไหวมีโอกาสที่จะก่อตั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคแรงงานเพื่อจัดตั้งคนงานในสถานที่ทำงานให้ออกมาต่อสู้

[ข้อมูลส่วนใหญ่ในบทความนี้มาจากหนังสือ “On New Terrain. How Capital is Reshaping the Battleground of Class War. โดย Kim Moody – Haymarket Books, Chicago 2017. ]

frontcover-f_large-2fb8dd7e1e725035417e691ea490dc17

ถ้าธนาธรจะให้ธุรกิจมีเสรีภาพมากขึ้นมันจะขัดกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่หรือไม่?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้น  โดยลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ น่าจะชวนให้เราตั้งคำถามสำคัญในเรื่องนี้ [ดู https://reut.rs/2ugDj39 ] นอกจากนี้รอยเตอร์สเสนอว่าธนาธรต้องการ “ถอยออกห่างจากนโยบายประชานิยมของไทยรักไทย” เราควรจะรู้ว่าท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ต่อนโยบายที่ช่วยคนจนเป็นอย่างไร

ในขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก Voice TV เปิดเผยว่า ธนาธร ต้องการรื้อระบบผูกขาดที่ครอบงำภาคเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาคการธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก และภาคการเกษตร และพูดว่า หลายภาคส่วนไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ควบคุมโดยกลุ่มทุนไม่กี่ราย” [ดู https://voicetv.co.th/read/HyhWwN9qz ]

 

ในด้านหนึ่งการทำลายการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่อาจเป็นประโยชน์กับพลเมืองส่วนใหญ่ ถ้านำไปสู่การลดราคาหรือการบริการที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสียสำหรับคนส่วนใหญ่ ถ้าผลที่เกิดขึ้น นำไปสู่การรื้อทิ้งคนงาน และการตัดค่าจ้าง

 

นอกจากนี้ ในภาพรวม ข้อเสนอในการให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนต่างๆ และนำกลไกตลาดเข้ามา เป็นข้อเสนอของนักการเมืองฝ่ายขวาคลั่งกลไกตลาดเสรีมานาน ในบริบทสากลมันเป็นข้อเสนอของคนที่ต้องการเพิ่มกำไรให้กลุ่มทุนบนซากศพหรือความรันทดในชีวิตของคนธรรมดา และมันเป็นสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์พลเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลก นี่คือประสบการณ์จากโลกจริงในทุกประเทศ ผมจะขออธิบายต่อ

 

การให้เสรีภาพมากขึ้นกับธุรกิจ ผ่านการรื้อทิ้งและลดระเบียบข้อบังคับต่างๆ มีผลเสียกับขบวนการแรงงานและกรรมาชีพคนทำงาน มันมีผลเสียกับคนที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มันมีผลเสียต่อคนที่อาจประสบอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน มันเป็นผลเสียต่อชาวไร่ชาวนา และมันเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคอีกด้วย

UnsafeEnviro

สำหรับกรรมาชีพคนทำงานและขบวนการแรงงาน การให้เสรีภาพกับกลุ่มทุนหมายความว่าในรูปธรรมกฏหมายที่ปกป้องสิทธิพื้นฐานของคนทำงานจะถูกรื้อทิ้ง ผลที่เห็นกันทั่วโลกคือนายทุนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการให้คุณให้โทษและในการละเมิดชีวิตคนทำงาน

นอกจากนี้การรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หรือบนเรือประมง ทำให้การทำงานอันตรายมากขึ้น และมันทำให้คนที่มีที่อยู่อาศัยใกล้ๆ กับสถานประกอบการเสี่ยงภัยมากขึ้นอีกด้วย

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยในการประกอบธุรกิจคมนาคม เช่นการเดินรถประจำทาง การเดินรถไฟ  หรือการธุรกิจการบิน ทำให้มีอุบัติเหตุมากขึ้น

Anthropocene

สำหรับคนที่ต้องการจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือลดมลภาวะ หรือแก้ปัญหาโลกร้อน และสำหรับชาวบ้านธรรมดา การรื้อทิ้งระเบียบที่จำกัดเสรีภาพของธุรกิจ นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้า การขุดเหมือง การบุกรุกป่า และการเพิ่มมลภาวะในเมือง มันนำไปสู่การปฏิเสธปัญหาโลกร้อนที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เพราะนายทุนจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการใช้ทรัพยากรที่ควรเป็นของส่วนรวม ในการกอบโกบกำไรโดยไม่มีการจำกัดเลย เราเห็นปัญหาแบบนี้ในไทยอยู่แล้ว และเห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี ทรัมพ์ อีกด้วย

สำหรับเกษตรกรรายย่อย การเพิ่มเสรีภาพกับกลุ่มทุน ทำให้เขามีอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนภาคเกษตรน้อยลง และเอาตัวรอดในการประกอบอาชีพยากขึ้นจนเขาต้องล้มละลาย ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นปัญหาทั่วโลก สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน ก็จะถูกธุรกิจประมงขนาดใหญ่แย่งอาชีพไปเช่นกัน

การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับบริษัทสื่อไอทีหรือโทรคมนาคม จะนำไปสู่การที่บริษัทเหล่านั้นสามารถละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า โดยการนำข้อมูลส่วนตัวไปขายได้อย่างเสรี

สำหรับผู้บริโภค การรื้อทิ้งระเบียบข้อบังคับต่างๆ นำไปสู่การผลิตอาหารที่อันตรายมากขึ้น เพราะมาตรฐานความสะอาดจะลดลง และการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช และการฉีดยาปฏิชีวนะใส่เนื้อสัตว์มีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในประเทศตะวันตก

ถ้าเราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และมาดูสภาพสังคมไทย เราจะเห็นว่าในยุคนี้ ธุรกิจต่างๆ เกือบจะมีเสรีภาพในการกอบโกยกำไรและทำลายชีวิตพลเมืองส่วนใหญ่อยู่แล้ว และส่วนหนึ่งมาจากมรดกการปกครองแบบเผด็จการทหาร หรือการที่เรามีแต่พรรคการเมืองฝ่ายทุน ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ คือการเพิ่มระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อจำกัดสิทธิของกลุ่มทุนและปกป้องสิทธิของคนส่วนใหญ่

ดังนั้นในเรื่องนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ควรจะออกมาชีแจงความหมายอย่างเป็นรูปธรรมของการที่จะให้ธุรกิจในไทยมีเสรีภาพมากขึ้นผ่านการรื้อทิ้งข้อบังคับต่างๆ [“business deregulation”] เราจะได้ตัดสินใจว่าจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่หรือไม่