Tag Archives: ชนชั้น

ถ้าจะปลดแอกตนเอง ต้องสมานฉันท์กับแรงงานพม่า

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพอังกฤษไม่เลิกดูถูกคนจากเกาะไอร์แลนด์ที่เข้ามาทำงานก่อสร้างในอังกฤษ เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้

ในลักษณะเดียวกัน ตราบใดที่คนไทยดูถูกและรังเกียจแรงงานพม่า คนไทยไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ เพราะอะไร?

ลัทธิชาตินิยมเป็นรากฐานความคิดว่า “เราแตกต่างจากคนพม่า” “คนไทยทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกัน” “เราต้องรักชาติ ศาสนา กษัตริย์” “เราภูมิใจในความเป็นไทย” ฯลฯ จนมีการยอมรับกันว่าต้องควบคุมการเข้าออกของเพื่อนมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้าน และสมควรแล้วที่จะโทษคนงานพม่าว่านำเชื้อโรคเข้ามาในไทย

แต่ลัทธิชาตินิยมเป็นลัทธิที่ล่ามโซ่พวกเราเพื่อทำให้เราเป็นทาสของชนชั้นปกครอง ชนชั้นปกครองไทยเป็นพวกที่กดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบเรามาตลอด เป็นพวกที่สอนให้เราก้มหัวและคลานต่อคนข้างบน และเป็นพวกที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับเราเมื่อเราเรียกร้องเสรีภาพกับประชาธิปไตย

เราไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นปกครองไทยแม้แต่นิดเดียว

แต่เรามีผลประโยชน์ร่วมกับกรรมาชีพที่ข้ามพรมแดนมาหางานทำ เพราะเขาไม่แตกต่างจากเราในการที่จะต้องกระตือรือร้นที่จะเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวภายใต้ระบบทุนนิยมที่สร้างปัญหาความยากลำบากให้ทุกคน เราเป็นพี่น้องกัน

ชนชั้นปกครองไทยเป็นศัตรูของเรา แต่ยังดูถูกเราด้วยการเรียกตัวมันเองเป็น “พ่อ” “แม่” หรือ “ลุง” ทั้งๆ ที่เรามีพ่อแม่หรือลุงของเราเองอยู่แล้ว

มันง่ายจังเลยที่เผด็จการประยุทธ์จะโทษแรงงานพม่าว่าสร้างวิกฤตโควิด เพราะมันเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นจากการที่คนงานไทยจำนวนมากตกงานและขาดรายได้จากวิกฤตโควิดที่เริ่มเมื่อต้นปี๒๕๖๓ มันเบี่ยงเบนประเด็นจากการที่รัฐบาลเผด็จการไม่ยอมลงทุนสร้างรัฐสวัสดิการให้กับเรา ในขณะที่เผด็จการใช้เงินภาษีของเราในการซื้ออาวุธหรือในการเลี้ยงปรสิตราชวงศ์ในวิถีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย มันหน้าด้านอ้างว่าประเทศไม่มีเงินพอที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมือง

อย่าลืมว่าแรงงานกรรมาชีพ ทั้งไทยและพม่า เป็นผู้ทำงานสร้างมูลค่าในสังคม ไม่ใช่นายทุน กษัตริย์ หรือพวกขุนศึก

แรงงานข้ามชาติเข้ามาในไทยเพราะสังคมขาดกำลังงาน โดยเฉพาะในภาคที่มีงานอันตราย สกปรก และค่าจ้างต่ำ ทุกครั้งที่เราไปกินซีฟู๊ดเราควรระลึกถึงคนที่ทำงานเพื่อนำกุ้งปูปลามาถึงจานของเรา และควรระลึกต่อไปว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขายากลำบากแค่ไหน ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ในชุมชนแออัดที่ไม่ปลอดภัยในเรื่องโรคติดต่ออย่างโควิด

ชุมชนแออัด และการที่รัฐไทยและนายทุนไทยไม่บริการอะไรให้กับแรงงานข้ามชาติ คือสาเหตุที่มีการแพร่ไวรัส มันไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติของแรงงาน

การแบ่งแยกแรงงานพม่าออกจากแรงงานไทย ช่วยทำให้เขาขูดรีดและเอาเปรียบทั้งคนไทยและคนพม่าง่ายขึ้น ถ้าเรา ผู้ที่เป็นกรรมาชีพแรงงาน สามารถสามัคคีกันข้ามเชื้อชาติ เราจะพัฒนาความเป็นอยู่ของทุกคนได้ เพราะเราจะมีพลัง

การควบคุมแรงงานข้ามชาติไม่ได้ช่วยอะไรเรา มันเพียงแต่ช่วยให้นายจ้างกดค่าแรงของเขาและของเรา มันช่วยให้ตำรวจและทหารเก็บส่วย และมันช่วยให้รัฐบาลมีแพะรับบาปเพื่อไม่ให้เราโทษรัฐบาล ดังนั้นเราควรเปิดพรมแดน เสริมสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคนที่ทำงานในไทย และรณรงค์ให้แรงงานทุกเชื้อชาติเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างเสรี

รัฐบาลเผด็จการประยุทธ์กำลังพยายามล้างสมองเราในรูปแบบ “อย่าโทษเรา” “ไปโทษแรงงานพม่าโน้น” และเป็นที่น่าสลดใจที่คนไทยไม่น้อยไม่สามารถสลัดโซ่ตรวนความเป็นทาสออก และไปคล้อยตามชนชั้นปกครองในการด่าคนพม่า

สรุปแล้ว สำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพ มันมีสองขั้วความคิดในสังคม

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” คนใด และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่เป็นทาส

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนที่ทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เป็นก้าวสำคัญ แต่หยุดไม่ได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

การชุมนุมใหญ่ที่ธรรมศาตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่สำคัญคือ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ยกเลิกการรวบทรัพย์สินภายใต้วชิราลงกรณ์และเพิ่มความโปร่งใสในเรื่องเงิน ลดงบประมาณที่จัดสรรให้กษัตริย์ ยกเลิก “ราชการในพระองค์” ยกเลิกอำนาจกษัตริย์ในการแสดงความเห็นทางการเมือง ยกเลิกการเชิดชูกษัตริย์เกินเหตุเพียงด้านเดียว ยกเลิกการที่กษัตริย์จะรับรองรัฐประหาร และเปิดกระบวนการที่จะสืบความจริงเกี่ยวกับผู้เห็นต่างที่ถูกอุ้มฆ่า

117361552_10158431778723965_6127601580717401228_o

ถือได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทย และทุกคนที่รักเสรีภาพควรจะสนับสนุน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาในการต่อสู้ต่อไปคือ เราจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารให้ยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่ต้องพูดคือการต่อสู้อยู่ในขั้นตอนริเริ่ม หยุดไม่ได้ ต้องขยายขบวนการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาชนผู้ทำงานเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งการก่อตั้ง “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่จุดนี้ และแน่นอนมันไม่เกิดขึ้นเอง พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือทำงานที่ไหนต้องร่วมกันช่วยสร้าง

และที่สำคัญคือเราไม่ควรลดความสำคัญของข้อเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน ให้ยุบสภา และเลิกคุกคามประชาชนผู้รักเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องเคลื่อนไหวต่อเพื่อให้รัฐบาลเผด็จการลาออก

ทุกคนคงเข้าใจดีว่าการล้มเผด็จการไม่ใช่เรื่องเล็ก แค่การรณรงค์ให้ไม่รับปริญญา ซึ่งเป็นการประท้วงปัจเจกเชิญสัญลักษณ์ อาจช่วยในการรณรงค์หรือขยายจิตสำนึก แต่มันล้มเผด็จการไม่ได้

Lebanon-Beirut-August-8-2020-e1596964569861
เบรูต เลบานอน

ในขณะที่ผู้คนกำลังชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เราเห็นรูปธรรมของม็อบที่ล้มรัฐบาลสำเร็จในเมืองเบรูต ประเทศเลบานอน มีผู้ชุมนุมออกมาเป็นแสนจากทุกส่วนของสังคม การประท้วงแบบนี้เคยเกิดที่ไทยในช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ และเคยเกิดในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เราต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างขบวนการอันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร และเราไม่ควรลืมว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงต้านพรรคทหาร ดังนั้นมันมีกระแสที่จะช่วยเรา

มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พลเมืองที่ออกมาประท้วงจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน และคนจำนวนมากจะอยู่ในสภาพการพัฒนาความคิดความเข้าใจท่ามกลางการต่อสู้ และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรต่างๆ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการ จะพยายามเสนอแนวคิดที่ตนเองมองว่ามีน้ำหนักมากที่สุด บางทีเพื่อเสริมการต่อสู้ บางทีเพื่อยับยั้งการต่อสู้ นั้นคือสาเหตุที่การตั้งพรรคฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องสำคัญ

รัฐบาลเถื่อน

สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าพลเมืองที่ออกมาสู้ต้องเข้าใจคือเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ในความเห็นผมสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยไม่ควรประเมินอำนาจของวชิราลงกรณ์สูงเกินไป เพราะอาจจะทำให้มีการเบี่ยงเบนเป้าหมายจากคณะทหารเผด็จการ และมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายเราใช้

ผมเขียนเรื่องข้อจำกัดของอำนาจกษัตริย์ไว้หลายที่ เช่น “การมองว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่างเป็นการช่วยให้ทหารลอยนวล”  https://bit.ly/2XIe6el  และ“ว่าด้วยวชิราลงกรณ์” https://bit.ly/31ernxt

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าทุกคนควรทำความเข้าใจ คือประเด็นว่าทำไมชนชั้นปกครองในหลายประเทศทั่วโลก นิยมให้คงไว้สถาบันกษัตริย์ เพราะในมุมมองผม การคงไว้สถาบัยกษัตริย์ในรูปแบบตะวันตกภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นผลเสียกับฝ่ายเรา เพราะเป็นเครื่องมือในการเสนอลัทธิอภิสิทธิ์ชนว่าคนเราเกิดสูงและเกิดต่ำและบางคนมีสิทธิ์จะเป็นผู้นำในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ตาม มันออกแบบมาเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้นทุกคนที่รักสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมควรนิยมการยกเลิกระบบกษัตริย์เพื่อให้มีสาธารณรัฐ [ดู “ไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” https://bit.ly/30Ma32f ]

แต่ระบบสาธารณรัฐภายใต้ทุนนิยม ไม่พอที่จะนำไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แค่ดูสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม ก็จะเห็นภาพชัดเจน พูดง่ายๆ เราต้องคิดต่อไปถึงเรื่อง “รัฐ” ภายใต้ระบบทุนนิยม และความสำคัญในการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อล้มรัฐของนายทุนผู้เป็นชนชั้นปกครองในโลกสมัยใหม่ [ดู “รัฐกับการปฏิวัติ” https://bit.ly/2PEQK4K ]

เมื่อเราคิดถึงเรื่อง “รัฐ” และ “ชนชั้น” เราจะเข้าใจว่า “ข้าราชการ” ชั้นผู้ใหญ่ ศาล และ ตำรวจ ไม่เคยรับใช้ประชาชนในโลกสมัยใหม่ การคิดว่าจะเป็นอย่างนั้นโดยไม่ล้มรัฐของนายทุนและสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงานเป็นการเพ้อฝัน และแน่นอนเสรีภาพและประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องอาศัยกระบวนการปฏิวัติด้วยพลังมวลชน แทนที่จะไปฝากความหวังไว้ที่รัฐสภา

 

จุดเด่นจุดด้อยของทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในการทำความเข้าใจกับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตั้งแต่ทศวรรษที่  80 การศึกษาในมหาวิทยาลัยเรื่องการกดขี่ทางเพศ หรือปัญหาสิทธิสตรี ถูกครอบงำโดยพวก “เฟมินิสต์” ฝ่ายขวาที่เน้นแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” (Patriarchy) โดยตัดแนวคิดเรื่องชนชั้นออกไปและหันหลังให้กับทฤษฎีมาร์คซิสต์ที่เต็มไปด้วยงานเขียนเรื่องการกดขี่ทางเพศ สาเหตุหลักที่พวกแนวคิดชายเป็นใหญ่ครอบงำการศึกษาได้ ก็เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นของขบวนการแรงงานอ่อนตัวลงชั่วคราวในตะวันตกหลังการลุกฮือ 1968

พวกเฟมินิสต์ฝ่ายขวามีอิทธิพลสูงในสหรัฐ และแนวคิดแบบนี้ก็ลามเข้ามาในแวดวงสตรีศึกษาของไทย มุมมอง “ชายเป็นใหญ่” เสนอว่าผู้หญิงควรจะสามัคคีข้ามชนชั้นเพื่อสู้กับแนวคิดของผู้ชาย มันนำไปสู่การเสนอว่าการมีชนชั้นนำเพศสตรี หัวหน้างานเพศสตรี หรือนักการเมืองเพศสตรี เป็นเรื่องดีสำหรับผู้หญิงทุกชนชั้นไม่ว่าสตรีที่เข้ามามีบทบาทนำจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร แต่ในความเป็นจริงกรรมาชีพหญิง พนักงานหญิง และผู้หญิงยากจน ไม่เคยได้ประโยชน์จากการที่สตรีบางคนขึ้นมามีอำนาจ เพราะผลประโยชน์ทางชนชั้นของสตรีที่เป็นชนชั้นนำจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสตรีธรรมดา

ในประเทศไทยการที่ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำให้สตรีไทยมีสิทธิ์ทำแท้งเสรี และไม่ได้ปลดแอกกรรมาชีพหญิงจากการถูกกดขี่ขูดรีดแต่อย่างใด การที่หัวหน้าองค์กร “ไอเอ็มเอฟ” เคยเป็นสตรีฝ่ายขวาที่คลั่งกลไกตลาด ไม่ได้ทำให้องค์กรนี้เลิกตัดสวัสดิการและทำลายฐานะทางเศรษฐกิจของสตรีล้านๆ คนทั่วโลกผ่านนโยบายรัดเข็มขัด

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพวกเฟมินิสต์แนว “ชายเป็นใหญ่” ได้พัฒนาทฤษฎีโดยนำแนวคิดเข้ามาใหม่สองแนวคิดคือ “ทฤษฎีเอกสิทธิ์” (Privilege Theory) กับ “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” (Intersectionality) ทั้งสองทฤษฎีนี้ลดความสำคัญของเรื่องชนชั้น

“ทฤษฎีเอกสิทธิ์” เสนอว่าชายผิวขาวทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรหรือนายทุน มีเอกสิทธิ์พิเศษเหนือคนอื่นที่มีสีผิวต่างออกไป หรือคนอื่นที่ไม่ใช่เพศชาย หรือเป็นคนพิการ ฯลฯ

ส่วน  “ทฤษฎีลัคนาภาวะ” หรือ “ทฤษฎีสภาวะทับซ้อน” เสนอว่าทุกคนที่ถูกกดขี่ (คนที่ไม่ใช่ชายผิวขาว) จะถูกกดขี่ในหลากหลายรูปแบบเนื่องจาก เพศ สีผิว ชนชั้น สภาพร่างกาย ฯลฯ

จุดร่วมของสองแนวคิดนี้คือการเสนอว่ากรรมาชีพ หรือสตรี หรือคนที่ถูกกดขี่ทั้งหลาย ไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพได้ เพราะทุกคนที่สภาวะที่แตกต่างกัน อีกจุดร่วมหนึ่งคือการปฏิเสธว่าการกดขี่ทั้งหลายในโลกปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม โดยมีการเสนอว่าการกดขี่มาจากนิสัยใจคอของชายเป็นหลัก นอกจากนี้การลดความสำคัญของชนชั้นเป็นการปฏิเสธพลังหลักในที่จะเปลี่ยนสังคม คือพลังของขบวนการแรงงาน

ในปี 1983 นักมาร์คซิสต์สหรัฐชื่อ Lise Vogel ได้เขียนหนังสือชื่อ Marxism and the Oppression of Women เพื่อดึงนักสิทธิสตรีกลับมาสู่แนวมาร์คซิสต์

Women's Lib

ในอดีตมาร์คซิสต์อย่าง เองเกิลส์ ได้เสนอว่าการกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่ธรรมชาติของชาย แต่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เมื่อเกิดสังคมชนชั้น และมาร์คซิสต์อย่าง Chris Harman, Brenner และคนอื่นๆ ได้อธิบายว่าระบบทุนนิยมสร้างค่านิยมทางสังคมที่เสนอว่าผู้หญิงควรจะทำหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับนายทุนในการผลิตคนงานรุ่นใหม่ ค่านิยมนี้นำไปสู่ “ลัทธิ” หรือแนวคิดที่มองว่าสตรีเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางเพศ [ดู มาร์คซิสต์กับการกดขี่ทางเพศ https://bit.ly/2QQr5VX ]

woman

แนวคิดกดขี่ทางเพศนี้มีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่ระบบทุนนิยมต้องการให้ผู้หญิงไปทำงานนอกบ้าน เพื่อผลิตส่วนเกินให้นายทุน เพราะทำให้สตรีถูกกดดันให้ทำสองหน้าที่ คือทำงานนอกบ้านและทำงานในครัวเรือนพร้อมกัน

640x390_638923_1426200224

ดังนั้นลัทธิกดขี่ทางเพศในระบบทุนนิยม เป็นเครื่องมือในการที่นายทุนบังคับให้ผู้หญิงในครอบครัวทำหน้าที่ “ผลิตซ้ำทางสังคม” หรือผลิตคนงานรุ่นใหม่นั้นเอง มันเป็นการผลักภาระสู่ครอบครัวปัจเจก แทนที่จะเป็นภาระของทุกคนในสังคมร่วมกัน

หนังสือของ Lise Vogel มีประโยชน์ในการกู้คำอธิบายมาร์คซิสต์กลับมา และการเน้นว่าการกดขี่ทางเพศในสังคมปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยม แต่ข้อเสียคือ Vogel หันหลังให้ เองเกิลส์ โดยการเสนอว่าสภาพทางชีววิทยาของเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงต้องถอนตัวออกจากระบบการผลิตในสังคมและต้องพึ่งผู้ชายตั้งแต่กำเนิดของมนุษย์ ซึ่งไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงในฐานะของผู้หญิงในโลกปัจจุบันอีกด้วย ข้อเสนออันนี้ของ Vogel นำไปสู่การเสนอว่าสตรีทุกชนชั้นต้องสามัคคีกัน แทนที่จะสามัคคีกรรมาชีพชายกับหญิง มีการลดความสำคัญของชนชั้นนั้นเอง

ในยุคนี้มีการพูดถึงทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” ในลักษณะที่ ผสมเรื่อง “การกดขี่” เข้ากับ “การขูดรีด” จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน คือมีการเสนอว่างานของผู้หญิงในครัวเรือนเป็นการ “ขูดรีดส่วนเกิน” ชนิดหนึ่งไม่ต่างจากการขูดรีดในระบบการผลิตของสังคมทุนนิยม เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นในครอบครัวปัจเจก

แต่การผสมเรื่อง “การกดขี่” กับ “การขูดรีด” เป็นการทำให้ลัทธิกดขี่ทางเพศกลายเป็นสิ่งเดียวกันกับการผลิตส่วนเกินในเศรษฐกิจซึ่งไม่ใช่

ความคิดแบบนี้ของเฟมมินิสต์รุ่นใหม่บางคนที่อ้างถึง Vogel ในลักษณะผิดเพี้ยน นำไปสู่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ในสเปนเป็นต้น แต่การ “นัดหยุดงานของสตรี” ไม่ได้ท้าทายโครงสร้างอำนาจในสังคมทุนนิยมแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้คู่ของสตรีที่หยุดงานต้องเลี้ยงลูกหรือทำอาหารแทนในวันนั้นเท่านั้น

ทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม” อย่างที่พวกนี้เสนอ มีผลทำให้ลดความสำคัญของชนชั้น และลดความสำคัญของขบวนการแรงงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ โดยเน้นแค่การประท้วงบนท้องถนนเท่านั้น แต่บทเรียนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซูดาน หรือฮ่องกง ชี้ให้เห็นว่าเมื่อขบวนการแรงงานเข้ามามีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วง การประท้วงจะมีพลังมากขึ้น เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบทุนนิยมได้

13124929_1181060888592867_9078848768920258106_n

อ่านเพิ่มเรื่องทฤษฎี “การผลิตซ้ำทางสังคม”  https://bit.ly/31j6lKY

7 เหตุผลที่ประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

rotten
เราต้องการให้ประมุข “หมาเน่า” เป็นสัญลักษณ์ของสังคมไทยหรือ?

thaiking-728x486ก
วชิราลงกรณ์ทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทย

พวกแก๊งเผด็จการทหาร ที่อ้างว่าตนจะปกป้องระบบกษัตริย์ด้วยชีวิต เช่นนายประยุทธ์ นายเหรียญทอง นายประวิตร และนายอภิรัชต์ กำลังปกป้องประมุข “หมาเน่า” ที่มีพฤติกรรมเลวทราม แล้วพวกนี้ยังหน้าด้านอ้างว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์เป็น “ศูนย์รวมดวงใจของประชาชน” และเป็น “สัญลักษณ์ของชาติไทย” เราจะยอมได้อย่างไร?

Defend Monarchy
แก๊งปกป้องประมุข “หมาเเน่า”

ถ้าประเทศไทยไม่มีกษัตริย์ สังคมจะดีขึ้นเพราะ

  1. เราจะประหยัดงบประมาณมหาศาลที่จะนำมาพัฒนาชีวิตประชาชนทุกคนได้ เพราะเรายกเลิกสถาบันที่ราคาแพงแต่ไม่มีประโยชน์สำหรับประชาชน เราสามารถนำทุนต่างๆ จากทรัพย์สินกษัตริย์มาใช้สร้างความมั่นคงในชีวิตสำหรับพลเมืองทุกคน ผ่านการสร้างรัฐสวัสดิการ และการพัฒนาโรงเรียนและสถานพยาบาล อย่าลืมว่าทรัพย์สินทั้งหมดนี้กษัตริย์และชนชั้นปกครองไทยเคยปล้นมาจากการทำงานของประชาชนในอดีต เพราะพวกราชวงศ์ไม่เคยทำงานเลย
  2. ทหารจะไม่สามารถนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นหน้ากากบังหน้าเพื่อทำลายประชาธิปไตย เพราะทุกครั้งที่ทหารปล้นสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไปจากเราผ่านรัฐประหาร มันอ้างเสมอว่ามันทำ “เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์” และทุกครั้งที่ทหารทำรัฐประหารพวกนายพลมักจะกอบโกยทรัพยากรที่เป็นของประชาชนทุกคนเข้ากระเป๋าตนเอง การยกเลิกกษัตริย์ต้องทำควบคู่กับการลดบทบาททหารในการเมืองและการตัดงบทหารเพื่อนำมาพัฒนาชีวิตของประชาชนทุกคนอีกด้วย
  3. เราจะเริ่มสร้างมาตรฐานในระบบประชาธิปไตย และในระบบยุติธรรมได้ เพราะเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการเป็นพลเมืองที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการหมอบคลานให้ใครต่อไป อย่าลืมว่าวัตถุประสงค์สำคัญของการคงไว้สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศคือการกล่อมเกลาให้คนหลงเชื่อว่าบางคน “เกิดสูง” และควรมีอภิสิทธิ์ ในขณะที่พลเมืองทั้งชาติ “เกิดมาต่ำ”
  4. เราจะมีเสรีภาพในการใช้ปัญญากับการแสดงออก และร่วมกันคิดเพื่อสร้างสังคมใหม่ เพราะจะต้องยกเลิกกฏหมายแบบ 112 ที่ปิดปากประชาชน ในสังคมใหม่ผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้ที่ถือตำแหน่งสาธารณะ ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้เสมอ
  5. ภาพลักษณ์ของสังคมไทยจะดีขึ้น ดูเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เคารพเพื่อนมนุษย์ แทนที่เราจะมีประมุขแบบวชิราลงกรณ์ที่โลภมาก เห็นแก่ตัว และมีพฤติกรรมเลวทรามต่อคนอื่น โดยเฉพาะสตรี ซึ่งทำให้สังคมไทยกลายเป็นอะไรที่น่าขายหน้าในสายตาคนทั่วโลก นอกจากนี้ประชาชนจะไม่ยากลำบากจากการที่รถติดเนื่องจากขบวนเสด็จ
  6. เราสามารถนำวังต่างๆ มาเป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์สำหรับคนจน เช่นทำเป็นบ้านพักคนชรา หรือสถานที่ตากอากาศราคาถูกสำหรับคนทั่วไปเป็นต้น

thaiking-728x486ก
วชิราลงกรณ์ทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทย

แต่แค่การพูดหรือเขียนว่า “ประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ” จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่เกิดโดยอัตโนมัติเหมือนดินฟ้าอากาศ มันต้องอาศัยการจัดตั้งทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนเสมอ เราต้องร่วมกันสร้างกระแสเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยแท้ เราต้องหนุนกระแสที่กำลังขยายตัวในหมู่คนที่ต้องการให้ไทยเป็นสาธารณรัฐ

คนที่มัวแต่หมอบคลานต่อผู้ใหญ่ จะคิดว่าผู้ใหญ่ในสังคมสูงส่งใหญ่โตเหลือเกิน แต่พอเราลุกขึ้นยืนเราจะมั่นใจว่าไม่มีใครดีกว่าหรือสูงเรา และประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน!

อย่างไรก็ตาม การศึกษาประเทศอื่นทั่วโลก เช่นฝรั่งเศสหรือสหรัฐ พิสูจน์ว่าการที่ไทยจะเป็นสาธารณรัฐ เพียงแต่เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตยแท้ เพราะเราต้องสู้ต่อไปเพื่อยกเลิกความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และปัญหาต่างๆ ของระบบทุนนิยม เช่นการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามหรือการเกิดปัญหาโลกร้อน และการที่ระบบนี้เป็นเผด็จการของนายทุนในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะประชาธิปไตยแท้คือระบบสังคมนิยม

[อ่านเพิ่มว่าทำไมเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่เคยมีในรัสเซียหรือจีนไม่ใช่สังคมนิยม….สังคมนิยมในทัศนะของมาร์คซ์ https://bit.ly/2zoAiy5 ]

 

หุ่นยนต์จะทำให้เกิดระบบการผลิตที่ไร้คนงานหรือไม่?

ใจ อึ๊งภากรณ์

สมัยนี้มักมีบางคนที่เสนอว่าในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่อาศัยคนงานอีกต่อไป และกรรมาชีพจะถูกปลดออกจากงานจนสูญพันธุ์หรืออ่อนแอ คนอีกส่วนหนึ่งเสนอว่าในสภาพเช่นนี้มนุษย์ทุกคนจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในการไปทำงานหรือการทำงานบ้าน

ข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งกลายป็นกระแสในสื่อมวลชน ล้วนแต่เป็นการพูดเกินเหตุ

AIMan

ในประการแรกมันเป็นการพูดเกินเหตุเพราะการนำเทคโนโลจีสมัยใหม่เข้ามาในระบบการผลิตของทุนนิยม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในขั้นตอนแรกมีการนำพลังงานน้ำ และไอน้ำเข้ามาในการทอผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลจีแบบนี้นำไปสู่การทำลายอาชีพของ “ช่างฝีมือ” ที่ทอผ้าด้วยมือที่บ้าน จนเกิดขบวนการทุบเครื่องจักร Luddites แต่ในที่สุดเทคโนโลจีใหม่ๆ ก็เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

02Insider-Rudy-1-facebookJumbo
ระบบ “เหล็กร้อน”

ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นอาชีพแรกของผม ตอนที่ผมทำงานในปี 1978 การพิมพ์วารสารวิชาการยังใช้ระบบ “เหล็กร้อน” หรือ “ตัวพิมพ์แบบร้อน” คือคนจัดหน้าจะใช้เครื่องคล้ายๆ เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งเชื่อมกับระบบหลอมโลหะที่ผลิตแม่พิมพ์ แต่ในเวลาไม่กี่ปีมีการนำระบบคอมพิวเตอร์และการถ่ายรูปมาสร้างแม่พิมพ์สมัยใหม่ ในยุคนั้นคนงานในออฟฟิสส่วนใหญ่จะใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะอย่างที่มีในปัจจุบัน

Open-plan-Phil-Whitehouse-Flickr-2017020604562217

ในอดีตการทำงานต่างๆ ในออฟฟิส โรงพยาบาล หรือสถานที่การศึกษามักจะใช้ปากกากับกระดาษ แต่ตอนนี้แม้แต่งานในโรงพยาบาลของพยาบาลมักจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ที่เข็นไปหาคนไข้

ประเด็นสำคัญคือ การวิวัฒนาการของเทคโนโลจีสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนลักษณะการทำงาน และลดจำนวนคนงานหรือเพิ่มผลผลิตในหลายสาขา ตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม มันต่างจากการนำหุ่นยนต์เข้ามาหรือไม่ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่เทียบเท่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจริงหรือ? ผมว่าไม่ใช่ เพราะมันก็แค่ต่อยอดเทคโนโลจีคอมพิวเตอร์เพื่อยกระดับขึ้นอีกขั้นเท่านั้น

00chinaford6-superJumbo

ในประการที่สองนายทุนผลิตอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีคนงาน หุ่นยนต์ทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีคนงานคอยคุม และคนงานต้องสร้างและซ่อมหุ่นยนต์เหล่านี้ แน่นอนมันเป็นโอกาสที่นายจ้างจะลดคนงานและผลิตสินค้าเร็วขึ้นในปริมาณสูงขึ้น แต่มันยังต้องมีการผลิตไฟฟ้า ขนส่งเครื่องหุ่นยนต์ไปสู่โรงงาน และก่อสร้างโรงงาน

นอกจากนี้งานในภาคบริการ เช่นโรงพยาบาล สถานที่การศึกษา ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร หรือระบบไฟแนนส์กับธนาคาร ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์

ที่สำคัญคือการลดจำนวนคนงานในสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนงานแต่ละคนมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างสูงขึ้น เพราะถ้ามีการจัดตั้งโดยสหภาพแรงงาน คนงานแค่สิบคนอาจทำให้ระบบการผลิตยุติได้ผ่านการนัดหยุดงาน

นอกจากนี้ถ้ามีการลดปริมาณงานที่คนต้องทำลง อันเนื่องจากการใช้หุ่นยนต์ จนทุกคนในสังคมไม่ต้องทำงานเต็มเวลาอีกต่อไป กรรมาชีพและสหภาพแรงงานต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตัดชั่วโมงการทำงานให้ทุกคนโดยไม่ตัดค่าจ้างเลย เพราะนายทุนไม่มีวันอาสาที่จะทำอย่างนี้ นายทุนจะพึงพอใจที่จะจ้างคนงานน้อยลงและให้ที่เหลือตกงานและยากจน ดังนั้นมันอาจเป็นเวทีใหม่สำหรับการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแย่งผลผลิตและมูลค่าในสังคม และในกรณีไทยชัวโมงการทำงานสูงเกินไปอยู่แล้ว นอกจากนี้รายได้ของคนธรรมดาต่ำเกินไป มันต้องมีการต่อสู้ที่นำโดยพรรคสังคมนิยมเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์จากคนข้างบนที่เป็นคนส่วนน้อย 1%

ในประการที่สาม การตัดจำนวนคนงานและการลงทุนเพิ่มในหุ่นยนต์จะทำให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะในระยะยาวเมื่อบริษัทคู่แข่งลงทุนในเทคโนโลจีแบบเดียวกัน มันจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เนื่องจากกำไรมาจากความแตกต่างระหว่างค่าจ้างกับราคาสินค้า กำไรมาจากการขูดรีดแรงงาน หุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ มันได้แต่ช่วยคนงานให้ทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่ออัตรากำไรลดลงเศรษฐกิจก็จะเวียนเข้าสู่วิกฤตอีก เพราะนายทุนจะลังเลใจในการลงทุนและอาจสร้างภาวะฟองสบู่อีกด้วย เหมือนกับที่เกิดเป็นประจำในระบบทุนนิยมอยู่แล้ว

 

ทำไมเครื่องจักรสร้างกำไรไม่ได้

สำหรับคนที่ไม่เชื่อว่าเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ จะขออธิบายเพิ่มโดยอาศัยทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์…. (อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2zozGbS )

มูลค่าทั้งปวงในโลกมาจากการทำงานของมนุษย์ในการแปรทรัพยากรธรรมชาติเป็นผลผลิตหรือสินค้า มูลค่าของสินค้าจะสะท้อนเวลาหรือปริมาณการทำงานของมนุษย์ในการผลิตสินค้าดังกล่าว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าสินค้าอย่างปากกาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างหนังสือในปริมาณแค่ไหน

ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนลงทุนซื้อ จะสะท้อนปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ และปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้ในการผลิตเครื่องมือที่ใช้ประกอบการผลิต เวลานายทุนใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้า ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์จะค่อยๆ ถูกระบายไปในราคาของสินค้าและผู้ซื้อสินค้าจะจ่าย เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนซื้อ สร้างกำไรหรือทำให้นายทุนขาดทุนไม่ได้

แต่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สามารถช่วยให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสำคัญสำหรับการแข่งขันในระบบตลาด

กำไรมาจากข้อแตกต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับเงินค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้าง หลังหักค่าวัตถุดิบรวมถึงสัดส่วนของราคาเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ นี่คือ “มูลค่าส่วนเกิน” ที่น่ายทุนขูดรีดมาจากแรงงาน

ดังนั้นกำไรมาจากการ “ขูดรีด” การทำงานของลูกจ้าง ไม่ได้มาจากเครื่องจักรซึ่งทำอะไรเองไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่นายจ้างและรัฐของนายทุนพยายามกีดกันการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานทำให้การผลิตยุติและนายทุนจะไม่ได้กำไร

ส่วนเรื่องปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรเนื่องจากการลงทุนในเครื่องจักรที่สูงขึ้น เชิญอ่านที่นี่ https://bit.ly/2v6ndWf

 

สรุปแล้ว ในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่นำไปสู่สภาพที่ไร้คนงาน และการสูญพันธุ์หรือความอ่อนแอของกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานควรจะต่อสู้กับนายทุน เพื่อให้ผลของเทคโนโลจีใหม่ ที่ลดจำนวนคนงาน มีผลดีกับประชาชนในการลดชั่วโมงการทำงานอย่างถ้วนหน้าพร้อมกับการรักษารายได้ที่ดี

คำถามสำหรับนักรัฐศาสตร์เรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประกาศออกมาว่า “ตอนที่ผมมีส่วนร่วมบ้างในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผมคิดว่าถ้าผมรู้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นแบบนี้ ผมไม่ทำหรอก ๑๔ ตุลา ผมปล่อยให้จอมพลถนอมปกครองประเทศต่อไปดีกว่า ถึงแม้จะมีอะไรไม่ดี แต่ผมคิดว่าความเลวร้ายของระบบเลือกตั้งที่เราเห็นกันมา ผมว่ามันเลวร้ายกว่านี้”  ควรนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญสำหรับคนที่สอนและศึกษารัฐศาสตร์คือ ในแวดวงวิชาการยังมีการให้ความสำคัญกับผลงานและข้อเสนอของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทชนชั้นกลางในเมืองในการสร้างประชาธิปไตย และในเรื่องระบบอุปถัมภ์? [ดู https://bit.ly/2LE9Cha ประกอบเรื่องนี้]

การที่นักวิชาการคนหนึ่งเปลี่ยนจุดยืนจากอดีต ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาเคยเสนอก่อนหน้านี้จะผิดโดยอัตโนมัติ แต่เราก็ต้องตรวจสอบทบทวนด้วย เพราะบางที อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจไม่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ได้

_101727936_cover

ข้อเสนอหลักในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” คือ มันมีความแตกแยกสำคัญระหว่างสองซีกในสังคมไทย (สองนครานั้นเอง) คือระหว่างคนเมืองและคนชนบท เอนก เสนอว่าคนเมืองเป็นคนชั้นกลาง และคนชนบทเป็นชาวไร่ชาวนา และเสนอต่อไปว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่ใช้วิจารณญาณ และมาตรฐานคุณธรรมในการเลือกหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่างๆ และคนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ส่วนชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีคะแนนเสียงข้างมากในวันเลือกตั้ง โดยมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นในลักษณะการเลือกเจ้านายอุปถัมภ์ คือจะเลือกผู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ตน และจะไม่มองว่าการซื้อขายเสียงผิดหรือขัดกับคุณธรรม เพราะเป็นพิธีกรรมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง เอนกมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวชนบทนี้ไม่ใช่ภายใต้ความคิดอิสระเหมือนชนชั้นกลาง แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณตามระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยไพร่กับนาย

เราอาจพูดได้ว่า “สองนคราประชาธิปไตย” เป็นแนวคิดที่ปูทางไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบและการเลือกตั้งที่ไม่เสรีของเผด็จการประยุทธ์ในปี ๒๕๖๒

UnemducatedPeopleReuters

นอกจากปัญหาเรื่องการนิยามชนชั้นในเมืองและชนบทของ เอนกแล้ว เวลามองย้อนกลับไปและพิจารณาประเด็นเรื่องความแตกต่างทางการเมืองระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนจนในชนบท(และในเมือง) มันมีสองเรื่องที่ต้องนำมาคิด

ในประการแรกมันชัดเจนว่าเราต้องสรุปว่าคนชั้นกลางไม่ได้เป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท่องกันมาแบบนกแก้วในแวดวงวิชาการกระแสหลักทั่วโลกรวมถึงในไทย ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน มักตามกระแส บางครั้งอาจเข้ากับฝ่ายก้าวหน้า บางครั้งเชียร์เผด็จการทหารหรือเผด็จการฟาสซิสต์

ทิศทางความเสื่อมทางการเมืองของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สะท้อนสิ่งนี้เกี่ยวกับชนชั้นกลางอย่างชัดเจน จากการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการเชียร์บทบาทชนชั้นกลางและดูถูกคนจนในชนบท ผ่านการต้านทักษิณและความผิดหวังเมื่อลงเล่นการเมือง สู่การจับมือชื่นชมเผด็จการและการหันหลังให้กับระบบประชาธิปไตยเพราะมองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะมีสิทธิทางการเมือง

ในประการที่สอง ข้อสรุปจากวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ คือชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่เข้าหาผู้อุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ทางชนชั้นและเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ดำรงอยู่มานาน ผู้อุปถัมภ์ของชนชั้นกลางในสายตาของชนชั้นกลางเองคือทหารเผด็จการ พวกเทคโนแครดอย่าง อานันท์ ปันยารชุน และกษัตริย์ และยังรวมถึงนายทุนนักการเมืองอย่างทักษิณที่ชนชั้นกลางชื่นชมในช่วงแรก เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เพื่อปกป้องสถานภาพของคนชั้นกลาง ดังนั้นชนชั้นกลางไม่ได้มีความคิดอิสระอย่างที่ เอนก อ้าง แต่มีความคิดที่คอยตามกระแสและคอยแสวงหาผู้มีอำนาจ

ส่วน “มาตรฐานคุณธรรม” ที่เอนกเสนอว่าเป็นมาตรฐานของชนชั้นกลาง เราทราบดีว่าถูกเปิดโปงด้วยคำพูดตอแหลของฝ่ายเผด็จการมือเปื้อนเลือดเกี่ยวกับ “คนดี” ชนชั้นกลางไม่มีคุณธรรมพอที่จะมองว่าการฆ่าประชาชนมือเปล่า อย่างคนเสื้อแดง หรือการทำรัฐประหารแล้วจับคนที่คิดต่างเข้าคุก เป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด

32261_399319099924_537184924_3928134_4527140_n

การกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ามีพฤติกรรม “คอร์รับชั่น” โดยชนชั้นกลาง มาจากการที่ชนชั้นกลางหลอกตัวเองและคนอื่นว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จริงเลย แต่มุมมองนี้มันทำให้คนชั้นกลางรู้สึกว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่านั้นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าโกงกิน เป็นข้อโจมตีแบบคลุมเครือที่เปิดโอกาสให้คนชั้นกลางปิดบังจุดยืนทางการเมืองของตนเองในเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิเสรีภาพ หรือนโยบายเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นข้อโจมตีที่เลือกใช้ได้ ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ในสังคมไทย เพราะคนชั้นกลางมักเงียบเฉยต่อการโกงกินของทหารเผด็จการ

[อ่านบทความวิจารณ์หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” โดย ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน เข้าดูได้ที่ https://bit.ly/2BHz2pV ]

แนวคิดมาร์คซิสต์เรื่องการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 [เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

เราไม่สามารถสร้างสังคมใหม่แห่งสังคมนิยมได้ ถ้ากรรมาชีพชายและหญิงไม่สามัคคีกัน  และถ้าจะเกิดความสามัคคีดังกล่าว ทั้งชายและหญิง แต่โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องสลัดความคิดกดขี่หรือดูถูกผู้หญิงออกจากหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่วของปัจเจก แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้น

 

มันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มนุษย์จะมากดขี่กัน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขสังคมชนชั้นในอดีต เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

 

นักมาร์คซิสต์คนสำคัญ ชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ เป็นคนที่ริเริ่มการศึกษาปัญหาการกดขี่ทางเพศอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินเอกชน และรัฐ”  เองเกิลส์ อธิบายว่าแรกเริ่มมนุษย์บุพกาลไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ และไม่มีครอบครัว คือหญิงชายมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคู่ถาวร ตอนนั้นมนุษย์ไม่มีครอบครัวแต่มีเผ่า และลูกที่เกิดมาจะทราบว่าใครเป็นแม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะเด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นลูกของชุมชน และทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม แบ่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในยุคบุพกาลจะมีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ สังคมไม่มีส่วนเกินหรือคลังอาหารใหญ่โต วันไหนได้อะไรก็มาแบ่งกันกิน แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการเกษตรและเริ่มมีส่วนเกินมากขึ้น จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือตั้งตัวเป็น “พระ” และจ้างอันธพาลติดอาวุธมาเป็นลูกน้องของตน ประชาชนที่เหลือจะตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งส่วยให้ผู้ปกครอง คือมีการยึดการผลิตส่วนมาเป็นของหัวหน้า แต่ในขณะเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมใหม่แบบนี้ ให้ประโยชน์กับคนธรรมดาบ้าง เพราะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากสมัยบุพกาลเดิม และทำให้มีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้การกดขี่

 

ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น จะเห็นว่าเริ่มมีการสร้างระเบียบครอบครัวที่ระบุว่าหญิงต้องเลี้ยงลูกเป็นหลักในขณะที่ชายมีบทบาทสาธารณะ และชนชั้นปกครองมักกล่อมเกลาให้ทั้งชายและหญิงยอมรับว่าผู้ชายสำคัญกว่าผู้หญิง และผู้หญิงต้องไม่นอกใจผู้ชาย

 

ระเบียบครอบครัวนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหรือลัทธิกระแสหลักในสังคม

 

นี่คือที่มาของการกดขี่สตรีในสังคมชนชั้นปัจจุบัน ซึ่งเกิดพร้อมกับระบบการปกครอง กองกำลังอันธพาล และกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้รองรับการสร้างอำนาจ “รัฐ”

 

มันแปลว่าถ้าเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราต้องจัดการกับสังคมชนชั้น และรัฐทุนนิยมปัจจุบัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่าว่าเราต้องนิ่งเฉยและรอวันปฏิวัติ นักมาร์คซิสต์ต้องต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ

 

ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่สังคมมองว่า หญิงเสมือนเท้าหลังที่มีหน้าที่หลักคือการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน เพราะหญิงจะได้เป็นผู้ผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเพื่อป้อนเข้าโรงงานและสถานที่ทำงานอื่นๆ โดยที่นายทุนไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นี่คือเงื่อนไขที่ผลิตซ้ำแนวคิดเกี่ยวกับ “ครอบครัวจารีต”

 

แต่ในขณะเดียวกันทุกสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ระบบทุนนิยมมีความต้องการที่จะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่มตลอดเวลา จึงมีการดึงแรงงานหญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้หญิงเริ่มมีความอิสระและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมไทยและที่อื่น ค่าจ้างของชายหนึ่งคน ถูกนายทุนกดไว้เพื่อเพิ่มกำไร  จึงย่อมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้

 

ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น และมีความมั่นใจซึ่งมาจากการที่ออกไปทำงาน มีรายได้ของตนเอง และไม่ต้องพึ่งผู้ชาย เทคโนโลจีสมัยใหม่ก็ช่วยให้งานบ้านง่ายขึ้น และมีโรงเรียนในระดับต่างๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงดูเด็ก

1-116-752x440

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลในการพัฒนาความคิดของสตรีเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ ดังนั้นระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้สตรีออกมาสู้เพื่อปลดแอกตนเองด้วย แต่รัฐและนายจ้างพยายามปฏิเสธการรับผิดชอบในการจัดสถานที่เลี้ยงเด็กฟรี โดยใช้แนวคิด “หญิงเป็นเท้าหลัง” และ “บทบาทธรรมชาติของสตรี” พร้อมกันนั้นมักมีการเน้นหรือเสริมคุณค่าของ “ครอบครัวจารีต” เพื่อให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยาก และเพื่อบังคับให้งานบ้าน และงานเลี้ยงลูกหรือคนชรา ตกอยู่กับผู้หญิง แทนที่จะเป็นภาระของส่วนรวม สรุปแล้วมันเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐนายทุน และลดภาษีที่เก็บจากกลุ่มทุน เพื่อเพิ่มกำไร

 

จะเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ขัดแย้งในตัวเกี่ยวกับสภาพสตรี คือทั้งกดขี่และสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้พร้อมกัน

 

ชาวมาร์คซิสต์จะต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจในหมู่สตรี เพื่อช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางชนชั้น องค์กรจัดตั้งหรือพรรคสังคมนิยม จะต้องขยันต่อสู้ทางความคิดกับลัทธิศีลธรรมจารีตแบบคับแคบเสมอ เราต้องรณรงค์ให้กรรมาชีพเข้าใจลักษณะการกดขี่ทางเพศ และให้หญิงกับชายสามัคคีกัน พร้อมกันนั้นเราจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นสิทธิในการทำแท้งเสรี สิทธิที่จะได้เงินเดือนเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือสิทธิลาคลอด ฯลฯ ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะยาวเราต้องการสลายสถาบันครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง เราต้องการสลายระบบชนชั้น และเราต้องการล้มรัฐนายทุน  มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใด จะได้มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตตามรสนิยม มีเสรีภาพที่จะรักเพื่อนมนุษย์คนใดก็ได้ตามรสนิยม และมีเสรีภาพที่จะรักและดูแลเด็กๆ ของสังคมทุกคนอย่างอบอุ่น

 

2000px-Woman-power_emblem.svg

สองแนวคิดเรื่องสิทธิสตรี

 

ผู้รักความเป็นธรรมทุกคนต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ สตรีด้อยโอกาสกว่าชาย ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของหญิงมักต่ำกว่าชาย หญิงมักมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมน้อยกว่าชาย และสังคมมักจะมีค่านิยมที่ให้โอกาสกับชายมากกว่าหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นต้น

 

ในการอธิบายปัญหาของสตรีและทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เราจะพบว่ามีสองสำนักความคิดหลักคือ

  1. สำนักความคิด สตรีนิยม หรือแฟมินิสต์ (Feminist)
  2. สำนักความคิดแบบ สังคมนิยมลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์

 

สำนักความคิดสตรีนิยมจะเสนอว่าปัญหาของหญิงมาจากชาย คือผู้ชายทุกคนรวมหัวกันกดขี่หญิง ชายทุกคนไม่ว่าจะกรรมาชีพหรือนายทุนได้ประโยชน์จากการกดขี่หญิง ดังนั้นชายเป็นผู้กำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคมที่เอาเปรียบผู้หญิง ชายบังคับให้หญิงอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบ้าน การตัดสินใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ  ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่” หรือ “ชายเป็นใหญ่” ฉนั้นทางออกของแนวนี้คือผู้หญิงจากทุกชนชั้นจะต้องสร้างแนวร่วมต่อต้านผู้ชาย คือหญิงไม่ว่าจะ ชั้นสูง ราชวงศ์ นายจ้าง หรือกรรมาชีพ ต้องสามัคคีกัน และพวกสำนักความคิดสตรีนิยมนี้มักเสนอว่าควรมีผู้บริหารที่เป็นสตรีมากขึ้น และเสนอว่าเราควรมี ส.ว. หรือ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงแนวทางการเมืองของหญิงเหล่านั้น

 

สิ่งที่ฝ่ายสตรีนิยมเสนอ ถ้าดูแบบผิวเผินอาจมีความจริง แต่เมื่อเราพิจารณาลึกกว่านั้นจะมีข้อบกพร่อง เช่น แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศเริ่มเมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษย์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าชายที่เป็นกรรมาชีพจะได้อะไรจากการที่เมียของเขากินค่าแรงต่ำเป็นต้น นอกจากนี้แนวคิดสตรีนิยมจะทำให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยากขึ้น ซึ่งแปลว่ากรรมาชีพผู้ทำงานหรือคนยากจนจะต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากการที่ถูกกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นยาก

 

ในเมื่อฝ่ายสตรีนิยมเสนอเหมือนกับว่าการกดขี่ทางเพศเป็น “ธรรมชาติของชาย” หนทางที่จะแก้ไขคงเต็มไปด้วยอุปสรรคในทุกยุคทุกสมัย เพราะเราจะต้องฝืนธรรมชาติ แต่นักคิดแนวมาร์คซิสต์เช่น เองเกิลส์ อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศไม่มีในสมัยบรรพกาล และเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ การกดขี่ทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ดังนั้นมันถูกรื้อทิ้งได้

egypt_women

นักมาร์คซิสต์เชื่อว่ากรรมาชีพหญิงไม่ควรจับมือกับรัฐมนตรีชนชั้นนายทุนที่เป็น“ท่านผู้หญิง” และไม่ควรเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. หญิงจากพวกนายทุน เพราะการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น  ในระยะสั้นกรรมาชีพหญิงและชายต้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะสิทธิทำแท้ง เพราะการกดขี่หญิงสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน และไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพชาย

 

การเน้นครอบครัวจารีตในสังคมชนชั้น เป็นที่มาของการดูหมิ่นและเลือกปฏิบัติต่อ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และกะเทย ดังนั้นเราควรปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้ที่จะมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมส่วนตัว ในยุคนี้ในแวดวงนักสิทธิสตรีมีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า “กะเทย” ที่เป็นหญิงในร่างชาย ไม่ควรถูกมองว่าเป็น “หญิงแท้” การถกเถียงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะมีการเปลี่ยนกฏหมายให้พลเมืองเลือกว่าอยากเป็นเพศอะไรในเอกสารทางการและในชีวิตประจำวัน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการแยกห้องน้ำระหว่างเพศในสถานที่สาธารณะ และเรื่องการจำคุกว่ากะเทยควรจะอยู่ในคุกของนักโทษเพศอะไรด้วย

 

นักมาร์คซิสต์มองว่าเราต้องปกป้องสิทธิของเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกเพศของตนเอง และกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เราต้องปกป้องความหลากหลายที่มีจริงในโลก และต้องปฏิเสธการนิยามว่าใครเป็นหญิงหรือชาย “แท้”

จุดยืนทางชนชั้นเป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของพรรคการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เสนอว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ถูกเปิดโปงออกมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะสภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน ที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ล้าหลังและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนส่วนใหญ่ที่ยากจนกับเศรษฐีคนรวยหรือแม้แต่คนชั้นกลางที่มีความเป็นอยู่สบาย เราจะวนเวียนอยู่ในอ่างจนเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

การปฏิรูปสังคมและการเมืองพื้นฐานที่จะเริ่มแก้ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง?

ในประการแรกเราต้องสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร รัฐสวัสดิการนี้ไม่ใช่การให้สวัสดิการกับคนจน มันจะต้องเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน มันต้องครอบคลุมเรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา และการดูแลคนชรา โดยที่พลเมืองไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายในเรื่องการรับบริการ เพราะกองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการสร้างขึ้นจากการจ่ายภาษีของทุกคนในอัตราก้าวหน้า คือคนที่รายได้ต่ำจ่ายน้อย และคนรวยและกลุ่มทุนจ่ายมาก เราต้องมีการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มทุนใหญ่และเศรษฐี อย่างที่อาจารย์ปรีดีเคยเสนอ

การนำระบบการเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้า และการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นภาระสำหรับคนจน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

กองทุนในการสร้างรัฐสวัสดิการจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและสร้างสันติภาพในปาตานีผ่านการใช้วิธีทางการเมืองแทนการทหาร งบประมาณสำหรับพิธีกรรมและวิถีชีวิตของราชวงศ์ควรถูกตัดให้ “พอเพียง” เท่าเทียมกับคนธรรมดาอีกด้วย

รัฐสวัสดิการต้องถูกตรวจสอบเสมอว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำจริงในรูปธรรมได้หรือไม่ และถ้ายังไม่สำเร็จก็ควรมีการแก้ไขให้ดีขึ้น เราจะต้องไม่พูดว่าเรา “ให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะคนในสังคมไม่เท่าเทียมตั้งแต่แรก คนที่ด้อยโอกาสจึงต้องได้รับการสนับสนุนมากกว่าคนที่มีโอกาส

ดังนั้นเวลาพรรคอนาคตใหม่พูดถึงการ “ให้โอกาส” กับทุกคน มันน่าจะสร้างข้อกังวลกับคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ

นอกจากการสร้างรัฐสวัสดิการแล้ว รัฐต้องลงทุนในการสร้างความก้าวหน้าทันสมัยของสังคม เช่นในการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การลงทุนในพลังงานแสงแดดและลม การกำจัดมลพิษ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ภายในประเทศในราคาที่เหมาะสม

มาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ต้องอาศัยการขึ้นเงินเดือนหรือค่าแรงเพื่อให้พลเมืองทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต ในประเด็นนี้การแก้กฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเสรีภาพของสหภาพแรงงานมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างรัฐสวัสดิการ และมันเป็นมาตรการเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยอีกด้วย

ในเรื่องที่ดิน ควรมีการปฏิรูปให้เกษตรกรมีที่ทำกินเพียงพอ และในกรณีทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวม พลเมืองในพื้นที่ควรมีบทบาทในการร่วมบริหารการใช้อีกด้วย

และในประการสุดท้ายเราต้องช่วยกันสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ในสังคม ควรยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ การก้มหัวให้ “ผู้ใหญ่” และการใช้ภาษาที่เน้นความไม่เสมอภาคระหว่างพลเมือง เราต้องยกเลิกการใส่เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะครูในโรงเรียน เราต้องสร้างค่านิยมในสังคมที่เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าพลเมืองจะมีเพศอะไรหรือเชื้อชาติอะไร

สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แต่จะต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองก้าวหน้า เพื่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง และเราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ชนชั้น” อย่างชัดเจน เพราะอภิสิทธิ์ชน นายทุน และนายทหารระดับสูง จะรวมตัวกันเพื่อคัดค้านอย่างแน่นอน

ทำไมพรรค“โพเดมอส” (Podemos) ไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล ดูเหมือนตามข้อมูลการเมืองสากลไม่ทัน เพราะพึ่งมาค้นพบพรรค“โพเดมอส” ในช่วงขาลง แล้วเสนอว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย [ดู http://bit.ly/2BTZgU8 ]

เหตุผลที่ อ.ปิยบุตรชื่นชม “โพเดมอส” มีดังนี้

  1. อ.ปิยบุตรอ้างว่า “การเมืองไทยไม่ได้มีอุดมการณ์ขวา-ซ้ายแบบยุโรป” อย่างไรก็ตามประเด็น ขวา-ซ้าย มันเป็นเรื่องชนชั้น ไม่ใช่วัฒนธรรม ในไทยมีชนชั้นให้เห็นอย่างชัดเจน และความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชนชั้นอีกด้วย
  2. อ.ปิยบุตรเสนอว่า “การเมืองไทยอยู่ในสภาวะแยกขั้วสิบกว่าปีแล้ว” ดังนั้นควรข้ามพ้นความขัดแย้งนี้ พูดง่าย เขาเสนอว่าคนรักประชาธิปไตยควรประนีประนอมกับคนที่เกลียดประชาธิปไตย ผลคือประชาธิปไตยครึ่งใบ
  3. อ.ปิยบุตรเสนอว่า โพเดมอส มีรูปแบบใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันกลายเป็นพรรคที่ขาดประชาธิปไตยภายในและในกรณีการเรียกร้องอิสภาพของคาทาโลเนีย โพเดมอส เข้าข้างรัฐสเปนและพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา

ขออธิบายเพิ่มว่า โพเดมอส มีปัญหาอะไรบ้างมาสองสามปีแล้วดังนี้

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตของคนจนและกรรมาชีพ เราเห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรคเมื่อสามปีก่อน และออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา” คำถามง่ายๆ สำหรับไทยคือ เราต้องการเห็นพรรคที่ทรยศต่อผลประโยชน์ของคนจนหรือไม่?

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

เนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ตอนนี้มันหมดสภาพแล้ว

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธความสำคัญของชนชั้น แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

เราต้องการพรรคที่ไม่สนับสนุนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ยากจนในไทยหรือไม่?

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น และพาบโล อิกเลซีอัส กลายเป็นหัวหน้าที่ถูกตรวจสอบไม่ได้และมีพฤติกรรมเผด็จการ

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคกระแสหลักที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น และเป็นพรรคที่นำโดยหัวหน้าโดยไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ล่าสุด เมื่อคาทาโลเนียออกมาประกาศว่าอยากจะแยกตัวออกจากสเปนและตั้งสาธารณรัฐใหม่ “โพเดมอส” ก็ไปเข้าข้างรัฐสเปนและนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่ต้องการปกป้องรัฐเดิมที่เคยสร้างในสมัยเผด็จการฟรังโก

อีกเรื่องที่เราต้องพิจารณาคือการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเผด็จการได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่จำกัดเสรีภาพของพรรคการเมืองภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” มันแปลว่าการเน้นพรรคการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งในยุคนี้จะมีปัญหามาก ในระยะสั้นเราต้องการพรรคที่ทำงานกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้า แทนที่จะไว้ใจระบบการเลือกตั้งภายใต้แผนเผด็จการ เราต้องเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริง แต่ในช่วงที่ไม่มี พรรคควรเคลื่อนไหวในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน

ด้วยเหตุนี้การเสนอว่า “โพเดมอส” เป็นรูปแบบที่ดีสำหรับประเทศไทยโดย อ.ปิยบุตร เป็นการเสนอที่จะพาคนไปสู่ทางตัน และเป็นการมองข้ามผลประโยชน์ของคนชั้นล่างในไทย ทั้งเกษตรกรและกรรมาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ยิ่งกว่านั้นเป็นการมักง่ายไม่ศึกษาข่าวสากลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่ตลกร้ายก็คือพรรคไทยรักไทยของทักษิณเคยเป็นพรรคที่พยายาม “ก้าวพ้นความขัดแย้งทางชนชั้น” โดยสร้างแนวร่วมระหว่างนายทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยและกรรมาชีพ

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2E8aTbL

 

ความคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กับการต่อสู้ทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากบทความของ ซูแซน โรเซนทาล์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตแพทย์ทั่วโลก แต่ในขณะที่นักวิชาการกระแสหลักถกเถียงเรื่องความคิดของ ฟรอยด์ โดยพิจารณาในลักษณะความคิดในตัวมันเองและไม่มองภาพรวมของสังคม นักสังคมนิยมจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ฟรอยด์ ตามยุคสมัยในบริบทของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม

ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ เราควรมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของปัจเจกที่ป่วยเองจากสภาพภายใน ซึ่งแปลว่าเขาจะต้องรับผิดชอบกับการป่วยเอง หรือเราควรมองว่าสังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาทางจิตแต่แรก ดังนั้นสังคมควรรับผิดชอบในการพยุงและรักษาบุคคลเหล่านั้น และควรมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมด้วย คำตอบมักจะขึ้นอยู่กับจุดยืนทางชนชั้นเสมอ

ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครอง มักจะมองว่าโรคจิตเป็นเรื่องปัจเจก และมองว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิต “ป่วยเอง” จากสภาพภายใน คือเป็นการโทษเหยื่อ แต่เมื่อชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นสู้ในบางยุคบางสมัย แนวความคิดที่มาจากการกบฏของคนชั้นล่าง จะมองว่าโรคจิตเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม และไม่ใช่เรื่องของปัจจเจกแต่อย่างใด

ฟรอยด์ เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะผู้ที่ปกป้องคนที่ถูกกดขี่ในสังคม มันเป็นยุคของการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคมที่เริ่มต้นในช่วงของคอมมูนปารีส จิตแพทย์ในสมัยนั้นที่นำร่องทางความคิดคือ จอน-มาร์ติน ชาร์โคต์ เขาฟังคนไข้และสรุปว่าปัญหาโรคจิตมาจากเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ลูกศิษย์ของเขาชื่อ พิแอร์ จาเนท พัฒนาความคิดนี้ต่อไป โดยอธิบายว่าเมื่อคนมีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางใจ จิตสำนึกของเขาจะแตกร้าว เพื่อแยกประสบการณ์ดังกล่าวออกจากความทรงจำประจำวัน ในปี 1885 ฟรอยด์ เริ่มทำงานในทีมของ ชาร์โคต์

ในเรื่องการละเมิดกายเด็กโดยผู้ใหญ่ ซึ่งในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่ จิตแพทย์อนุรักษ์นิยมในสมัยฟรอยด์ มักจะมองว่าเด็กเป็นเจ้าจอมโกหกและมีความฝันเรื่องเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เอง มันเป็นมุมมองของพวกที่ชื่นชม “ครอบครัวจารีต” ที่ต้องการปกป้องสถาบันครอบครัว และพยายามปฏิเสธว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถละเมิดเด็กได้

ตอนแรก ฟรอยด์ ใช้ทฤษฏีก้าวหน้าเกี่ยวกับเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เพื่ออธิบายสาเหตุของการป่วยทางจิตในผู้ใหญ่ซึ่งเคยถูกละเมิดตอนยังเป็นเด็ก และ ฟรอยด์ จะเสนอเพิ่มว่าบ่อยครั้งผู้ป่วยจะปกปิดหรือ “พยายามลืม” การถูกละเมิดในวัยเด็ก เพื่อปกป้องคนในครอบครัว

แต่แรงกดดันจากผู้ใหญ่ในวงการจิตแพทย์ และการถูกขู่ว่าอาจล้มเหลวในอาชีพ ทำให้ ฟรอยด์ กลับคำในเรื่องการละเมิดเด็กในครอบครัว และหันมาใช้แนวคิดอนุรักษ์นิยมแทน

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น ฟรอยด์ ก็ยังปกป้องทหารผ่านศึกที่มี “อาการผวาระเบิด” ว่าเป็นการป่วยจริง ในขณะที่พวกคลั่งชาติและนายพลระดับสูงพยายามอ้างว่าเป็นแค่อุบายของทหารขี้ขลาดที่ไม่อยากกลับไปรบ

ระหว่างปี 1917 ถึง 1970 การใช้วิธี “จิตวิเคราะห์” ของจิตแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แทนที่จะทำงานในโรงพยาบาลโรคจิตกับ “คนบ้า” จิตแพทย์ที่ใช้วิธีการของ “จิตวิเคราะห์” มักจะทำงานในคลินนิคส่วนตัวของตนเอง และมีลูกค้าเป็นคนมีเงิน มันเป็นโอกาสทองที่จะสะสมความร่ำรวยโดยการเน้นและค้นหาปัญหาของปัจจเจกจากภายในตัวเขาเอง แทนที่จะมองไปที่สภาพสังคมและปัญาหที่เกิดจากสังคมรอบข้าง และ ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและความร่ำรวยให้กับตนเองด้วยการทำงานแนว “จิตวิเคราะห์”

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการอ่อนลงของกระแสการต่อสู้ทางชนชั้น หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียถูกทำลายโดยสตาลินและมหาอำนาจตะวันตก ฟรอยด์ ก็เริ่มกลายเป็นนักคิดปฏิกิริยามากขึ้นทุกวัน เขาเสนอว่าพฤติกรรมวิปริต หรือความประพฤติที่ไม่เข้ากับสังคมของปัจเจก มาจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ โดยเฉพาะในสตรี และต้องบำบัดด้วยการค้นหาสาเหตุภายในแต่ละบุคคลด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้ ฟรอยด์ กลัวประชาธิปไตยเพราะมองว่ามวลมนุษย์มีความรุนแรงก้าวร้าว ดังนั้นเขาเห็นด้วยกับระบบเผด็จการที่กดขี่มวลชน

ในช่วงปฏิกิริยาทางความคิดในวิชาจิตแพทย์นี้ การวิจัยในเรื่องประสบการที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจในเด็กเกือบจะยุติไป

แต่ภายหลังการลุกฮือยุค 1968 ความคิดของจิตแพทย์ก้าวหน้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับ “อาการผวาระเบิด” ในทหารที่กลับมาจากเวียดนาม และขบวนการสิทธิสตรีกดดันให้มีการยอมรับว่าเด็กจำนวนมากถูกละเมิดโดยผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงต่อสู้ระหว่างคนที่พยายามปฏิเสธเรื่องการละเมิดเด็ก หรือคนที่อยากโทษปัจเจกที่ป่วยเป็นโรคจิต กับพวกที่เสนอว่าเราต้องมองผลกระทบที่มาจากสังคม

ข้อแตกต่างหลักระหว่างความคิดของ ฟรอยด์ กับ มาร์คซ์ คือ   ฟรอยด์ มองว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นคุณสมบัติหลักของปัจเจกมนุษย์ ในขณะที่ มาร์คซ์ มองว่า “การทำงาน” คือลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

“จิตวิเคราะห์” เป็นศาสตร์ที่รับใช้ชนชั้นปกครองเพราะมองแค่ปัจเจก ในขณะที่ “มาร์คซิสม์” มองมวลมนุษย์โดยไม่แยกออกจากสภาพสังคม และนักมาร์คซิสต์เสนอว่าถ้าเราจะแก้ไขสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ต้องมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Susan Rosenthal

ดูได้ที่ http://socialistreview.org.uk/404/whats-wrong-sigmund-freud

และอ่านเพิ่มงานของเขาได้ที่ http://www.susanrosenthal.com ]