Tag Archives: ชนชั้น

ความคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กับการต่อสู้ทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากบทความของ ซูแซน โรเซนทาล์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตแพทย์ทั่วโลก แต่ในขณะที่นักวิชาการกระแสหลักถกเถียงเรื่องความคิดของ ฟรอยด์ โดยพิจารณาในลักษณะความคิดในตัวมันเองและไม่มองภาพรวมของสังคม นักสังคมนิยมจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ฟรอยด์ ตามยุคสมัยในบริบทของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม

ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ เราควรมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของปัจเจกที่ป่วยเองจากสภาพภายใน ซึ่งแปลว่าเขาจะต้องรับผิดชอบกับการป่วยเอง หรือเราควรมองว่าสังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาทางจิตแต่แรก ดังนั้นสังคมควรรับผิดชอบในการพยุงและรักษาบุคคลเหล่านั้น และควรมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมด้วย คำตอบมักจะขึ้นอยู่กับจุดยืนทางชนชั้นเสมอ

ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครอง มักจะมองว่าโรคจิตเป็นเรื่องปัจเจก และมองว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิต “ป่วยเอง” จากสภาพภายใน คือเป็นการโทษเหยื่อ แต่เมื่อชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นสู้ในบางยุคบางสมัย แนวความคิดที่มาจากการกบฏของคนชั้นล่าง จะมองว่าโรคจิตเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม และไม่ใช่เรื่องของปัจจเจกแต่อย่างใด

ฟรอยด์ เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะผู้ที่ปกป้องคนที่ถูกกดขี่ในสังคม มันเป็นยุคของการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคมที่เริ่มต้นในช่วงของคอมมูนปารีส จิตแพทย์ในสมัยนั้นที่นำร่องทางความคิดคือ จอน-มาร์ติน ชาร์โคต์ เขาฟังคนไข้และสรุปว่าปัญหาโรคจิตมาจากเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ลูกศิษย์ของเขาชื่อ พิแอร์ จาเนท พัฒนาความคิดนี้ต่อไป โดยอธิบายว่าเมื่อคนมีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางใจ จิตสำนึกของเขาจะแตกร้าว เพื่อแยกประสบการณ์ดังกล่าวออกจากความทรงจำประจำวัน ในปี 1885 ฟรอยด์ เริ่มทำงานในทีมของ ชาร์โคต์

ในเรื่องการละเมิดกายเด็กโดยผู้ใหญ่ ซึ่งในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่ จิตแพทย์อนุรักษ์นิยมในสมัยฟรอยด์ มักจะมองว่าเด็กเป็นเจ้าจอมโกหกและมีความฝันเรื่องเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เอง มันเป็นมุมมองของพวกที่ชื่นชม “ครอบครัวจารีต” ที่ต้องการปกป้องสถาบันครอบครัว และพยายามปฏิเสธว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถละเมิดเด็กได้

ตอนแรก ฟรอยด์ ใช้ทฤษฏีก้าวหน้าเกี่ยวกับเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เพื่ออธิบายสาเหตุของการป่วยทางจิตในผู้ใหญ่ซึ่งเคยถูกละเมิดตอนยังเป็นเด็ก และ ฟรอยด์ จะเสนอเพิ่มว่าบ่อยครั้งผู้ป่วยจะปกปิดหรือ “พยายามลืม” การถูกละเมิดในวัยเด็ก เพื่อปกป้องคนในครอบครัว

แต่แรงกดดันจากผู้ใหญ่ในวงการจิตแพทย์ และการถูกขู่ว่าอาจล้มเหลวในอาชีพ ทำให้ ฟรอยด์ กลับคำในเรื่องการละเมิดเด็กในครอบครัว และหันมาใช้แนวคิดอนุรักษ์นิยมแทน

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น ฟรอยด์ ก็ยังปกป้องทหารผ่านศึกที่มี “อาการผวาระเบิด” ว่าเป็นการป่วยจริง ในขณะที่พวกคลั่งชาติและนายพลระดับสูงพยายามอ้างว่าเป็นแค่อุบายของทหารขี้ขลาดที่ไม่อยากกลับไปรบ

ระหว่างปี 1917 ถึง 1970 การใช้วิธี “จิตวิเคราะห์” ของจิตแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แทนที่จะทำงานในโรงพยาบาลโรคจิตกับ “คนบ้า” จิตแพทย์ที่ใช้วิธีการของ “จิตวิเคราะห์” มักจะทำงานในคลินนิคส่วนตัวของตนเอง และมีลูกค้าเป็นคนมีเงิน มันเป็นโอกาสทองที่จะสะสมความร่ำรวยโดยการเน้นและค้นหาปัญหาของปัจจเจกจากภายในตัวเขาเอง แทนที่จะมองไปที่สภาพสังคมและปัญาหที่เกิดจากสังคมรอบข้าง และ ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและความร่ำรวยให้กับตนเองด้วยการทำงานแนว “จิตวิเคราะห์”

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการอ่อนลงของกระแสการต่อสู้ทางชนชั้น หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียถูกทำลายโดยสตาลินและมหาอำนาจตะวันตก ฟรอยด์ ก็เริ่มกลายเป็นนักคิดปฏิกิริยามากขึ้นทุกวัน เขาเสนอว่าพฤติกรรมวิปริต หรือความประพฤติที่ไม่เข้ากับสังคมของปัจเจก มาจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ โดยเฉพาะในสตรี และต้องบำบัดด้วยการค้นหาสาเหตุภายในแต่ละบุคคลด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้ ฟรอยด์ กลัวประชาธิปไตยเพราะมองว่ามวลมนุษย์มีความรุนแรงก้าวร้าว ดังนั้นเขาเห็นด้วยกับระบบเผด็จการที่กดขี่มวลชน

ในช่วงปฏิกิริยาทางความคิดในวิชาจิตแพทย์นี้ การวิจัยในเรื่องประสบการที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจในเด็กเกือบจะยุติไป

แต่ภายหลังการลุกฮือยุค 1968 ความคิดของจิตแพทย์ก้าวหน้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับ “อาการผวาระเบิด” ในทหารที่กลับมาจากเวียดนาม และขบวนการสิทธิสตรีกดดันให้มีการยอมรับว่าเด็กจำนวนมากถูกละเมิดโดยผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงต่อสู้ระหว่างคนที่พยายามปฏิเสธเรื่องการละเมิดเด็ก หรือคนที่อยากโทษปัจเจกที่ป่วยเป็นโรคจิต กับพวกที่เสนอว่าเราต้องมองผลกระทบที่มาจากสังคม

ข้อแตกต่างหลักระหว่างความคิดของ ฟรอยด์ กับ มาร์คซ์ คือ   ฟรอยด์ มองว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นคุณสมบัติหลักของปัจเจกมนุษย์ ในขณะที่ มาร์คซ์ มองว่า “การทำงาน” คือลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

“จิตวิเคราะห์” เป็นศาสตร์ที่รับใช้ชนชั้นปกครองเพราะมองแค่ปัจเจก ในขณะที่ “มาร์คซิสม์” มองมวลมนุษย์โดยไม่แยกออกจากสภาพสังคม และนักมาร์คซิสต์เสนอว่าถ้าเราจะแก้ไขสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ต้องมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Susan Rosenthal

ดูได้ที่ http://socialistreview.org.uk/404/whats-wrong-sigmund-freud

และอ่านเพิ่มงานของเขาได้ที่ http://www.susanrosenthal.com ]

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movements) คือการรวมตัวกันของมวลชนในรูปแบบขบวนการเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การเข้าใจลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และความสัมพันธ์ที่อาจมีกับพรรคการเมือง และโครงสร้างของระบบการปกครอง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดในยุคต่างๆ

ภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์เผด็จการสายสตาลิน-เหมาทั่วโลกในทศวรรษ 1980 หลายฝ่ายที่เคยคัดค้านทุนนิยมหันมายอมจำนนต่อการผูกขาดของลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด โดยเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุนนิยม ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การสรุปโดยนักวิชาการกระแสหลักว่า มีการล่มสลายของระบบการปกครองที่เรียกตัวเองว่า “คอมมิวนิสต์” และขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” พวกนี้มองว่าแนวทางในการสร้างพรรคการเมืองสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์หมดยุคไป บางสำนักความคิดเสนอว่าการต่อสู้ทางชนชั้นหมดความสำคัญไปด้วย และเกือบทุกแนวมองว่าการวิเคราะห์แบบชนชั้นหมดความสำคัญเพราะ “อธิบายปัญหาการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้” มีการสรุปว่าขบวนการทางสังคมแบบ “ใหม่” และการเมือง “ใหม่” เป็นการเมืองแบบ “อัตลักษณ์” ที่ไม่เน้นการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่สนใจประเด็นชนชั้น และเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องแค่ “พื้นที่” สำหรับตนเอง อย่างกระจัดกระจาย

z-2-el1

แนวคิดแบบนี้เห็นได้ชัดในไทย ในงานเขียนของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (๒๕๔๐) “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่”

การเคลื่อนไหวของพวก เอ็นจีโอ และกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” ในไทย มักจะเป็นการเคลื่อนไหวกระจัดกระจายตามสิ่งที่เขาเรียกว่า “กลุ่มปัญหา” โดยไม่เชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เข้ามาเป็นปัญหาภาพใหญ่ของระบบ ทั้งๆ ที่ทุกปัญหามีจุดกำเนิดมาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น ด้วยเหตุนี้ขบวนการเคลื่อนไหวและ เอ็นจีโอ แบบนี้ในไทย มักจะไม่สนใจว่าใครครองอำนาจอยู่ และไม่สนใจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เห็นพวกนี้ไปเรียกร้องให้เผด็จการทหาร “แก้ปัญหา” ให้ตนเอง และที่แย่กว่านั้นคือการคลานเข้าไปขอมีส่วนร่วมในการปฏิกูลการเมืองของเผด็จการ โดยไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองอะไรเลยว่าทหารทำรัฐประหารไปทำไม นี่คือสาเหตุที่นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ที่มาจากซีกนี้ ไปร่วมกิจกรรมกับสลิ่มและในที่สุดต้อนรับรัฐประหาร

การเมืองที่เกิดขึ้นในยุคที่ภาคประชาชนยอมจำนนต่อการผูกขาดของเสรีนิยมกลไกตลาด เป็นการเมืองของความกระจัดกระจายที่ปฏิเสธการวิเคราะห์องค์รวม ปฏิเสธการจัดตั้งในรูปแบบองค์กรหรือพรรคการเมือง และบ่อยครั้งปฏิเสธการเมืองไปเลย มีการรับแนวคิดโพสธ์โมเดอร์น ที่คัดค้าน “การเมือง” เพราะมองว่าเป็นเพียง “มหาวาทกรรมหลอกลวง” และมีการรับแนวอนาธิปไตย ที่ปฏิเสธการจัดตั้งหรือการประสานการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่ทั้งหมดไว้ด้วยกัน ในกรณีหลัง ถ้าดูสถานการณ์ในไทย การขยันปกป้องอิสรภาพของตนเอง และการหันหลังให้กับการจัดตั้งทางการเมืองตามแนวอนาธิปไตย นำไปสู่การเคลื่อนไหวต้านเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์โดยกลุ่มหลากหลายที่มีขนาดเล็ก โดยไม่มีการประสานกัน และไม่มีการสร้างพรรคหรือองค์กรมวลชนทางการเมืองเพื่อแข่งกับพรรคเพื่อไทยเลย มันเป็นต้นเหตุของความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน และมันเปิดทางให้คนอย่างทักษิณและพรรคพวกนำทางการเมืองต่อไปได้ และที่แย่มากคือในปัจจุบันทักษิณและ นปช. กำลังพยายามแช่แข็งการต่อสู้

ยุคใหม่ของการเมืองสากลทั่วโลก หลังวิกฤตเศรษฐกิจปีค.ศ. 2008 หลังการทำสงครามจักรวรรดินิยมในอีรัก และหลังการลุกฮือในอียิปต์และหลายประเทศของตะวันออกกลาง เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดรอบใหม่ คือมีการกลับไปให้ความสนใจกับแนวคิดมาร์คซิสต์และความคิดทางชนชั้นอีกครั้ง

ถ้าเราศึกษาความคิดเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมาร์คซ์กับเองเกิลส์ หรือของนักมาร์คซิสต์ปัจจุบัน เราจะพบว่ามีการมองแบบองค์รวมเสมอ และการมองแบบองค์รวมนี้จะสามารถอธิบายโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีกว่าพวกที่เคยเห่อไปนิยมการเมือง “อัตลักษณ์” และ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ผมจะขอใช้ขบวนการเสื้อแดงเป็นตัวอย่างรูปธรรมในการอธิบาย

แทนที่จะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ องค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเน้นการเมืองอัตลักษณ์หรือข้อเรียกร้องของตนเอง นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ

ถ้าเราย้อนกลับไปศึกษาการลุกฮือที่สหรัฐในช่วงที่มีการต้านสงครามเวียดนาม เราจะเห็นว่าหลากหลายขบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องอัตลักษณ์ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น มีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีขาขึ้นลง เข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลง ตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จที่มองแค่ผิว

10318769_10152419982244925_2015312474_n

     นักมาร์คซิสต์มองว่าพลเมืองธรรมดาที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด จะท้าทายระบบและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง ไม่ว่ากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวนี้จะคิดแค่ปฏิรูปการเมือง หรือคิดปฏิวัติล้มทั้งระบบ ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องนี้เราต้องก้าวพ้นมายาคติที่สร้างกำแพงหลอกลวงที่แยกการต่อสู้ในอดีตกับปัจจุบัน หรือที่แยกประเด็นปัญหาโดยมองไม่เห็นว่าทุกปัญหามาจากแหล่งเดียวกันคือระบบทุนนิยมและโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครอง พูดง่ายๆ ปัญหาที่ดิน ปัญหาป่าไม้ ปัญหาน้ำ ปัญหาสิทธิการเข้าถึงยา ปัญหาแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้ม ปัญหาการกดขี่ทางเพศ ปัญหาสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือปัญหาความยากจน ล้วนแต่ผูกพันและมีต้นกำเนิดจากทุนนิยมทั้งสิ้น และที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวที่เราเห็นทุกวันนี้เกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวในอดีตตลอด อาจเรียกได้ว่าเป็นขบวนการเดียวกันก็ได้

ในไทยองค์กร เอ็นจีโอ และขบวนการชาวบ้าน นักศึกษา หรือสหภาพแรงงาน รวมถึงสมัชชาคนจน ล้วนแต่มีความผูกพันกับประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขบวนการเสื้อแดงก็เช่นกัน ยิ่งกว่านั้นขบวนการเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์โดยตรงกับการลุกฮือช่วง ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ แกนนำและนักกิจกรรมที่เราเห็นทุกวันนี้บางส่วน ก็เป็นคนที่เคยเคลื่อนไหวต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีต และทั้งๆ ที่เสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอยากปฏิวัติล้มระบบ จำนวนคนที่อยากปฏิวัติล้มระบบอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเขามีประสบการโดยตรงของการปราบปรามอย่างโหดร้ายของฝ่ายตรงข้าม

การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ การเคลื่อนไหวของ เอ็นจีโอ หรือสมัชชาคนจน และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นปกครองและประชาชนที่ถูกปกครอง การที่เสื้อแดงจำนวนมากเคยเรียกตัวเองว่า “ไพร่” สะท้อนประเด็นชนชั้นอันนี้

r10

     แน่นอน จะมีคนสงสัยทันทีว่าทำไมอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง ไปเข้ากับสลิ่มและแปรตัวไปเป็นกองเชียร์ให้เผด็จการ คำตอบคือมันไม่มีอะไรแช่แข็งคงที่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองของมนุษย์แต่ละคน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ในขณะที่มวลชนคนชั้นล่างธรรมดาสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ท้าทายความไม่เป็นธรรมของระบบ ฝ่ายชนชั้นปกครองเองก็มักจัดตั้ง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องระบบที่ดำรงอยู่ เสื้อเหลือง สลิ่ม หรือม็อบสุเทพเป็นตัวอย่างที่ดี

1503924_656075444436419_1930326893_n

ขบวนการเสื้อแดงไม่ใช่ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเบื้องบน” แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีการวาดภาพแบบนี้โดยพวกปฏิกิริยา และทั้งๆ ที่ทักษิณและพรรคพวกมีอิทธิพลในการนำทางความคิดมากพอสมควร ผมจะอธิบายต่อว่าทำไมเป็นเช่นนี้

ในประการแรกขบวนการเสื้อแดงมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ปกป้องโครงสร้างอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า

ขบวนการเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ ผ่าน ๑๔ ตุลา และพฤษภา ๓๕ เรื่อยมา พวกสลิ่มอาจตั้งชื่อม็อบตนเองด้วยคำว่า “ประชาธิปไตย” และอาจมีบุคคลที่เคยอยู่ในขบวนการประชาธิปไตยในอดีต แต่มันเป็นภาพลวงตาที่พิสูจน์ได้ง่ายๆ เมื่อพวกนี้ต้อนรับรัฐประหาร รับใช้ชนชั้นปกครอง และอยากหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคมืด มันต่างจากเสื้อแดงโดยสิ้นเชิง

นักมาร์คซิสต์จะมองว่าขบวนการมวลชนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยการถกเถียงเสมอ ในหมู่เสื้อแดงมีการถกเถียงกันว่าจะไปกับทักษิณมากน้อยแค่ไหน มีการถกเถียงกันเรื่องการสร้างพรรคใหม่หรือไม่สร้าง มีการถกเถียงกันว่าควรจะจัดเวทีแยกกับคนที่เห็นต่างหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าจะจับอาวุธหรือใช้แนวสันติ มีการถกเถียงกันว่าควรเข้าไปทำงานกับสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยหรือไม่ มีการถกเถียงกันว่าควรสนับสนุนสิทธิสตรี หรือสิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ มีการถกเถียงกันเรื่องจุดยืนต่อชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มีการถกเถียงกันว่าตำรวจก้าวหน้าแค่ไหน มีการถกเถียงกันว่าควรรณรงค์เรื่อง 112 หรือไม่ และมีการถกเถียงกันว่าควรจะล้มเจ้าล้มระบบ หรือแค่กลับไปสู่ยุคการเลือกตั้งสมัยไทยรักไทย ฯลฯ

ดังนั้นการมองอย่างตื้นเขินว่าเสื้อแดงเป็นเพียงเครื่องมือของทักษิณเท่านั้น จะทำให้ไม่เข้าใจอะไรเลย

เสื้อแดงมีการจัดตั้งกันเองในระดับรากหญ้าในเกือบทุกชุมชนหรือพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองของทักษิณมีอิทธิพลในทางความคิด นี่คือความขัดแย้งจริงที่ดำรงอยู่ และสาเหตุสำคัญคือฝ่ายเสื้อแดงก้าวหน้าไม่ยอมจัดตั้งแข่งแนวกับทักษิณอย่างเป็นระบบ

นอกจากนักมาร์คซิสต์จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เชื่อมโยงการต่อสู้ที่ดูเหมือนแยกส่วนหลากหลาย ระหว่างยุคต่างๆ แล้ว เราจะมองสายพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมประเทศอื่นๆ ในระดับสากลอีกด้วย การลุกฮือ ๑๔ ตุลา และการคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกาในยุคนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลุกฮือของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส จีน และสหรัฐ และการต่อสู้ของชาวเวียดนาม

bread3

การลุกฮือของเสื้อแดงมีสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลางด้วย และไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์การประท้วงของเสื้อแดงบางคนที่ถือขนมปัง หรือการขึ้นป้าย “นปช. อียิปต์” เท่านั้น เพราะการระเบิดออกมาของความไม่พอใจในตะวันออกกลางและไทย ไม่ว่าผู้ที่ร่วมสู้จะอธิบายด้วยศัพท์หรือภาษาอะไร เป็นความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรี บวกกับความไม่พอใจในเผด็จการ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกัน ในกรณีไทยวิกฤตต้มยำกุ้ง นโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย และการตีกลับของเผด็จการ เป็นสิ่งที่จุดชนวน ในตะวันออกกลางสงครามจักรวรรดินิยม และสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้เผด็จการเป็นชนวน

มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำทฤษฏีทางการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไปทิ้งในถังขยะแห่งประวัติศาสตร์

ศาสนาพุทธไปด้วยกันกับแนวมาร์คซิสต์ได้หรือไม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ ดาไลลามะ ประกาศว่าตนเป็น “มาร์คซิสต์” เราควรจะมาพิจารณาว่าพุทธศาสนากับแนวมาร์คซิสต์มีส่วนคล้ายส่วนต่างกันตรงไหน

ทั้งปรัชญาพุทธและปรัชญามาร์คซิสต์มีจุดกำเนิดบางอย่างในปรัชญาโลกโบราณชนิดหนึ่งที่เป็นกระแสสำคัญเมื่อ 2-3 พันปีมาก่อน ปรัชญาดังกล่าวเราจะพบในอริยธรรมกรีกกับอินเดีย มีการเน้นว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ มันพัฒนาไปสู่ปรัชญา “วิภาษวิธี” ของแนวมาร์คซิสต์ และเรื่อง “ไตรลักษณ์” ของศาสนาพุทธ

สำหรับวิภาษวิธีของมาร์คซิสต์ หลักสำคัญๆ คือ “การเข้าใจความจริงมาจากการมองภาพรวม” “ทุกอย่างในโลกไม่มีการแช่แข็งคงที่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ” “การเปลี่ยนแปลงมาจากความขัดแย้งที่ปรากฏอยู่ในภาพรวมเสมอ” “การเปลี่ยนแปลงย่อมพัฒนาจากปริมาณสู่คุณภาพ”-คือจากขั้นตอนน้อยๆไปสู่การเปลี่ยนสภาพสังคมทั้งหมด และ “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจะมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นเสมอ

ไตรลักษณ์ของปรัชญาพุทธ เน้นการเปลี่ยนแปลงเสมอเช่นกัน และมีลักษณะ 3 ประการอันได้แก่ “อนิจจลักษณะ” ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา “ทุกขลักษณะ” ความเป็นทุกข์ คือ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ “อนัตตลักษณะ” การที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการได้ อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง

ปรัชญามาร์คซิสต์ที่เน้นว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง เป็นปรัชญาที่ตรงข้ามกับลัทธิของชนชั้นปกครองทั่วไปที่เน้นว่าสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นสภาพ “ธรรมชาติ” เป็นเรื่องประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่ “ประทานจากฟ้า” ซึ่งเราคงคุ้นเคยในแนวคิดดของพวกอนุรักษ์นิยมในไทยที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย ดังนั้นการเสนอว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงเป็นการเสนอว่าเราเปลี่ยนสังคมได้และโค่นล้มอำนาจที่กดทับเราได้เสมอ

แต่ปรัชญาพุทธ เวลาพูดว่าทุกอย่างไม่เที่ยงย่อมแปรเปลี่ยนเสมอ ไม่ได้เน้นไปที่สังคม แต่เน้นไปที่ปัจเจก เป็นการเสนอว่าเราไม่ควรยึดติดกับอะไร และยิ่งกว่านั้นเป็นการเสนอว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนสภาพโลกภายนอกได้ เราได้แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เลิก “อยาก” หรือเลิกยึดติดรักอะไร ทั้งนี้เพื่อดับทุกข์ตามอริยสัจ4 คือ ทุกข์ สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ(การดับทุกข์ผ่านการดับความอยาก) และมรรค(การปฏิบัติรูปธรรมในการดับทุกข์)

ในการเสนอว่าทุกอย่างไม่เที่ยงและย่อมเปลี่ยนแปลงเสมอของศาสนาพุทธ ไม่ได้มีเจตนาที่จะเสนอว่าระบบการปกครองเผด็จการของไทย หรือรูปแบบคน “สูง-ต่ำ” ในไทยจะหายไปแต่อย่างใด เพราะไม่ได้สนใจตรงนี้ สนใจแต่ว่าปัจเจกจะจัดการกับสภาพที่ทนยากได้อย่างไร คือเป็นการ “ทำใจ” เหมือนการ “ทำใจ” ของคนที่ติดคุก และในเรื่องการติดคุกหรือการทำใจในสภาพที่แก้ปัญหาในระยะสั้นยากมันอาจช่วย แต่การ “ทำใจให้สงบ” จะไม่มีวันเปลี่ยนสภาพสังคมที่จับขังคนที่วิจารณ์ผู้มีอำนาจแต่อย่างใด

บางคนอาจแย้งว่า “ถ้าทุกคนปฏิบัติธรรม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น สังคมเราจะดีขึ้น” มันเป็นแนวคิดที่เน้นการเปลี่ยนแปลงตนเองแบบปัจเจก ที่เรามักพบในเกือบทุกศาสนา แต่มันเพ้อฝันเพราะไม่คำนึงถึงโลกแห่งความเป็นจริง และที่สำคัญคือไม่พิจารณาความเหลื่อมล้ำทางอำนาจชนชั้นในสังคม มันเพียงแต่เป็นความหวังว่างเปล่า

อาจมีตัวอย่างสำคัญของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เช่นพระสงฆ์ซีกก้าวหน้าในพม่า พระสงฆ์เสื้อแดงในไทย หรือพระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาวในยุคสงครามเวียดนาม แต่มันยากที่จะอธิบายว่าการต่อสู้แบบนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานปรัชญาพุทธที่ชัดเจน

ในหลายแง่พุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่ชวนให้คนมองตนเอง เน้นแต่ตนเอง หรือเน้นปัจเจก การที่มีการพูดถึง “กรรม” และ “การทำบุญ” เป็นเรื่องปัจเจกเช่นกัน ไม่ใช่เรื่องสังคม

และนอกจากนี้พุทธศาสนาเป็นแนวคิดที่เน้น “การปรับความคิด” ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นแนว “จิตนิยม” ก็ได้ ความคิดอาจเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ความคิดมีพลังเหนือสภาพความจริงในโลกไม่ได้ มันไม่มีอำนาจในตัวมันเอง

ส่วนปรัชญามาร์คซิสต์เป็นแนวคิดที่เน้น “มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่อาศัยซึ่งกันและกันเสมอ” และการที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้แต่ความคิดของมนุษย์ที่เกิดขึ้น มีความผูกพันกับสภาพโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะวิธีเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคต่างๆ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” และวิภาษวิธีย่อมใช้ร่วมกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์เสมอ

แทนที่มาร์คซิสต์จะเน้นปัจเจกด้านเดียว นักมาร์คซิสต์จะพูดตลอดว่า “มนุษย์เป็นผู้เปลี่ยนโลกร่วมกัน แต่ในสภาพสังคมที่ตนไม่ได้เลือกเพราะเป็นมรดกตกทอดจากยุคก่อน” พูดง่ายๆ เรารวมตัวกันเปลี่ยนสังคมได้เสมอ แต่เราต้องเข้าใจสภาพสังคมและโลกแห่งความเป็นจริงด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างอุปสรรคสำหรับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเราทำอะไรเองคนเดียวในฐานะปัจเจกไม่ได้ เราต้องร่วมกับคนอื่น

นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะอธิบายว่า บ่อยครั้งความทุกข์ของมนุษย์มาจากการถูกกดขี่ขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่เราแก้ไม่ได้ แต่แน่นอนความทุกข์ที่มาจากสภาพอื่น เช่นการ “อกหัก” หรือผิดหวังในความรัก คงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ด้วยวิธีอื่นที่อาจเน้นความปัจเจก

วิภาษวิธีของมาร์คซิสต์จะเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคม มาจากความขัดแย้งทางชนชั้นในยุคต่างๆ ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นทุนนิยม นอกจากระบบทุนนิยมจะขัดแย้งในตัวจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำแล้ว และนอกจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองชาติต่างๆ ที่ก่อให้เกิดสงคราม พลังในการล้มระบบทุนนิยมอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน ซึ่งขัดแย้งกับชนชั้นนายทุนที่คุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง แต่การที่กรรมาชีพจะเปลี่ยนสังคมได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการรวมตัวจัดตั้งทางการเมืองและโอกาสในการลุกฮือ นอกจากนี้การที่ชนชั้นปกครองทั่วโลกพยายามจะลดสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่เมื่อมีโอกาส ก็เป็นเพราะเขาต้องการกอบโกยผลประโยชน์จากเราผ่านการขูดรีด โดยไม่มีการต่อสู้กบฏต่ออำนาจเขา

ความโง่เขลาในกะลาแลนด์

ใจ อึ๊งภากรณ์

ภาพคนไทยคนนี้ ที่ใส่เสื้อติดสัญญลักษณ์ของพวกฝ่ายขวาฟาสซิสต์-นาซี ซึ่งเกลียดชังคนสีผิวอื่น สามารถสรุปความน่าสมเพชของสังคมไทยได้ดี เพราะพวก “พลังผิวขาว” ที่เป็นนาซี จะมองคนไทยว่าเป็น “ไอ้ชิ๊งค์” หรือ “ไอ้เจ็กตาตี๋” ที่ต่ำต้อยกว่าคนผิวขาว ในหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ พวกฝ่ายขวาก็จะหาแพะรับบาป และไปโทษคนหน้าตา “ตี๋ๆ” แบบไทย เพื่อเบี่ยงเบนความโกรธแค้นของประชาชนต่อสภาพเศรษฐกิจ ทั่วยุโรป รวมถึงอังกฤษ ก็มีพรรคแบบนี้เกิดขึ้นมา

แต่คนไทยจำนวนมากที่เติบโตภายใต้กะลามะพร้าวแห่งลัทธิคลั่งชาติ จะไม่รู้เรื่องเลย มีแต่จะกราบไหว้ผู้ใหญ่ ยืนเคารพธงชาติ และร้องเพลงชาติ ในขณะที่ชนชั้นปกครองไทยทำรัฐประหาร ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จับคนเข้าคุก และดูถูกประชาชนธรรมดาว่า “ไม่มีวุฒิภาวะ” ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงหรือเลือกรัฐบาล

ยิ่งกว่านั้น ในทางเศรษฐกิจ ในขณะที่พวกชนชั้นปกครองไทยเสพสุข “ทำนาบนหลังพลเมืองส่วนใหญ่” และมีวิถีชีวิตพอๆ กับเศรษฐีจากประเทศร่ำรวย มันก็จะออกมาพูดว่า “การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสร้างปัญหา” “การนำภาษีประชาชนมาพยุงชาวไร่ชาวสวนเป็นสิ่งที่ผิด” หรือ “การมีระบบสาธารณสุขฟรีเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร” แต่มันก็ยังพยายามหลอกให้เราภูมิใจในประเทศชาติที่มันคุมและเป็นเจ้าของเบ็ดเสร็จ

ในกะลาแลนด์ ประชาชนถูกสอนให้รักชาติ ภูมิใจในความเป็นไทย ทั้งๆ ที่ไทยยังเป็นทาส มันเป็นกระบวนการ “ทำตัวเองเป็นทาส” ภายใต้การกล่อมเกลาในเรื่องชาตินิยมจากชนชั้นปกครอง คนไทยในภาพที่ใส่เสื้อ “พลังผิวขาว” ถือว่าทำตัวเองเป็นทาสอย่างสมบูรณ์

ดังนั้นคนจำนวนมากจะชื่นชมเวลาทีมฟุตบอล์ไทยชนะการแข่งขัน ทั้งๆ ที่หลายคนไม่สนใจฝีมือหรือเทคนิคในการเตะบอล์เลย

ดังนั้น ในมุมกลับกับลัทธิคลั่งชาติ มีคนรักประชาธิปไตยหลายคนที่ไปแอบชื่นชมราชินีอังกฤษเพราะที่อังกฤษไม่มี 112 ทั้งๆ ที่ราชวงศ์อังกฤษร่ำรวยมหาศาล จ่ายค่าจ้างกับคนรับใช้ต่ำ และเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่กดขี่ประชาชนอังกฤษ

เราลืมประเด็นชนชั้น เรามองแต่ประโนชาติ เพราะฝ่ายซ้ายไทยอ่อนแอหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และแม้แต่ในยุค พคท. พรรคก็ยังชูแนวชาตินิยมอีกด้วย

ผลคือคนไทยจำนวนมากไม่รู้จักสมานฉันท์สามัคคีกับคนชนชั้นเดียวกันในประเทศอื่น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่คนไทยจำนวนมากใช้คำไม่สุภาพเวลาเอ่ยถึงคนเชื้อชาติหรือสีผิวที่ต่างออกไป ลักษณะภาษาที่คนไทยจำนวนมากใช้ จะไม่ต่างจากภาษาที่พวกฝ่ายขวาฟาสซิสต์-นาซี ที่ภูมิใจใน “พลังผิวขาว” ใช้ ตัวอย่างที่ดีคือการใช้คำว่า “แขก” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” “ไอ้ลาว” ฯลฯ ที่คนจำนวนมากใช้โดยไม่คิดอะไรเลย เพราะในกะลาแลนด์ชนชั้นปกครองพยายามส่งเสริมให้เราไม่คิด

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนไทยจำนวนหนึ่งไม่สนใจเรื่องที่มีสาระอะไรเลยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราจะเห็นคนใส่เสื้อฮิตเลอร์และพูดชมฮิตเลอร์โดยไม่รู้เรื่องเลย ทั้งๆ ที่ฮิตเลอร์เป็นคนที่มองว่าเชื้อชาติตะวันออกแบบไทยๆ ต่ำต้อยกว่าคนผิวขาว และฮิตเลอร์เป็นจอมเผด็จการยิ่งกว่าไอ้ยุทธิ์มือเปื้อนเลือดที่แต่งตั้งตนเองเป็นหัวหน้าในไทยเสียอีก

แต่ทั้งหมดที่ผมพูดถึงนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของคนไทย มันมาจาการอยู่ใต้กะลามากกว่า ในสหรัฐอเมริกา คนจำนวนมากก็ไม่รู้เรื่องสิ่งที่เกิดในประเทศอื่นเช่นกัน และตำรวจสหรัฐขึ้นชื่อว่าเกลียดชังคนผิวดำและพร้อมจะฆ่าคนผิวดำโดยรู้ว่าตนเองจะไม่ถูกลงโทษ

กะลาที่ครอบหัวคนในสังคมเรา หรือในสังคมอื่น มันไม่ใช่กะลาถาวร มันยกออกได้ และในอดีตกะลาไทยก็ถูกเปิดออกมามากว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ที่สำคัญคือ แนวคิดที่จะปลดแอกคนจากการ “ทำตัวเองเป็นทาส” เป็นแนวคิดฝ่ายซ้ายสังคมนิยมที่เน้นเรื่องชนชั้นมากกว่าชาติ นี่คือสาเหตุที่เราต้องรื้อฟื้นแนวสังคมนิยมและสร้างพรรคฝ่ายซ้ายในไทย

องค์กร TDRI คลั่งตลาดเสรี เพื่อปกป้องสลิ่มกับอำมาตย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

“สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ออกมาแสดงความเห็นเป็นประจำเรื่องเศรษฐกิจไทย แต่ทุกคำที่ออกมาจากปากนักวิจัยขององค์กรนี้ ล้วนแต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคลั่งตลาดเสรี เสมือนของเสียที่ไหลออกมาจากท่อน้ำเน่าอย่างต่อเนื่อง

water-pollution-pipe

ก่อนหน้านี้ TDRI เคยออกมาด่าโครงการจำนำข้าว การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายสาธารณะสุขฟรี  ระบบรัฐสวัสดิการ และการใช้งบประมาณรัฐในการช่วยเหลือประชาชน ในขณะเดียวกันก็เสนอให้เก็บภาษีจากคนจนมากขึ้นในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย และมีการเสนอให้ขายรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เอกชนด้วย

ล่าสุด TDRI ประกาศว่าประเทศไทย “ต้อง” พัฒนาโดยเน้นให้รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด และบริการประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อทำหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทเอกชนและกลุ่มทุน พูดง่ายๆ TDRI มองไม่เห็นความสำคัญของประชาชน และมองไม่เห็นว่ามูลค่าที่กลุ่มทุนไทยสะสมมานาน มาจากการทำงานของประชาชนทั้งนั้น

เวลา TDRI อ้างว่า “ไม่มีอะไรดีกว่ากลไกตลาดเสรี” เขาจำเป็นต้องปิดหูปิดตาถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งทั่วโลกยังไม่มีการฟื้นตัวเลย วิกฤตนี้มาจากข้อบกพร่องในตัวมันเองของกลไกตลาดเสรีและการแข่งขัน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตรากำไร การลดลงของการลงทุน ปรากฏการณ์ฟองสบู่ และในที่สุดทำให้มีการตกงานและลดมาตรฐานการจ้างงานทั่วโลกตะวันตก วิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ของไทยที่เกิดก่อนหน้านั้น ก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน

TDRI จึงเหมือนหมอเถื่อนที่ให้ยาพิษกับคนไข้จนป่วยหนัก แล้วเสนอให้เรากินยาพิษเพิ่ม

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 รัฐบาลจีนใช้รัฐและการลงทุนของรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ ซึ่งมีผลในการชะลอวิกฤตบ้าง และช่วยประเทศที่อาศัยการส่งออกไปจีน รัฐบาลสหรัฐก็ใช้งบประมาณรัฐในการ “พิมพ์เงินเพิ่ม” เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลทั่วโลกต้องใช้ภาครัฐในการกู้ระบบธนาคารที่ล้มเหลวจากระบบตลาด ดังนั้นการมองโดย TDRI ว่า “ภาคเอกชนและกลไกตลาดเสรีมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ” เป็นการเพ้อฝันที่ไม่มีหลักฐานรองรับเลย

ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกกำลังหดตัวลงมากขึ้น เพราะรัฐใหญ่ๆ อย่างจีนและสหรัฐ ตัดสินใจเลิกพยุงเศรษฐกิจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เข้าสู่วิกฤตอีกรอบ

ในโลกแห่งความเป็นจริง ระบบสำคัญๆ ที่ใช้ในการบริการประชาชนส่วนใหญ่ เช่นระบบสาธารณะสุข การศึกษา ระบบรถไฟ และการดูแลคนชรา มักมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเป็นของรัฐ ระบบสาธารณะสุขเอกชนของสหรัฐอเมริกาเปลืองงบประมาณมากกว่าสองเท่าของระบบรัฐในอังกฤษหรือในประเทศอื่นของยุโรป และที่สำคัญคือการนำกลไกตลาดเข้ามาบริการประชาชน จะไม่สามาระบริการคนจนจำนวนมากได้ เพราะตลาดมองเห็นแต่เงิน มองไม่เห็น ”คน” และพร้อมกันนั้นมีการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากมายในการคิดบัญชี แทนที่จะเน้นการบริการผู้ที่มีความต้องการแท้ในสังคม นี่คือสาเหตุที่คนจนจำนวนมากในสหรัฐมีระบบสาธารณะสุขที่มีคุณภาพต่ำกว่าประเทศยากจน

ในยุคนี้ หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีมาหลายทศวรรษ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ รายได้ของคนทำงานตกต่ำ ในขณะที่คนรวยกอบโกยผลประโยชน์เพิ่มตลอดเวลา

มันน่าสังเกตว่า ในขณะที่องค์กรคลั่งตลาดอย่าง TDRI ต่อต้านการใช้งบประมาณรัฐที่มาจากภาษีและการทำงานของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน  แต่ TDRI จะเงียบเฉยต่อการใช้งบประมาณรัฐสำหรับกองทัพ หรือสำหรับความสะดวกสบายของคนชั้นสูงหรือแม้แต่พิธีกรรมใหญ่หลวงระดับชาติ มันเป็นสองมาตรฐานที่ชัดเจน

ประเด็นที่เราต้องเข้าใจคือ แนวคิดคลั่งกลไกตลาดเสรีของ TDRI เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับสลิ่มชนชั้นกลาง กองทัพ พวกอำมาตย์ และกลุ่มทุนใหญ่ มันตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับผลประโยชน์ของพลเมืองผู้ทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนี่คือสาเหตุที่รัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 19 กันยาถึงทุกวันนี้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพวกโจรที่กำลังอ้างว่าจะปฏิรูปประเทศไทย ถึงชื่นชมแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนี้เสมอ ทังๆที่บางครั้งเขากลัวประชาชนจนต้องป้อนผลประโยชน์ให้เราเล็กๆ น้อยๆ

กลไกตลาดเสรีเป็นระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มการกดขี่ขูดรีด และไปได้สวยกับระบบเผด็จการ และ TDRI เป็นปากเสียงให้กับระบบนี้

วัฏจักรความขัดแย้งทางชนชั้น

วัฏจักรความขัดแย้งทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้ามองวิกฤตการเมืองปัจจุบัน เราต้องมองภาพรวมของการต่อสู้ระหว่างพลเมืองกับชนชั้นปกครองเผด็จการ ตั้งแต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ผ่านการปราบปรามนองเลือด ๖ ตุลา ผ่านการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการล้มเผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน

Anti-government protester from the Red Sunday group gestures during a rally at a park in Bangkok

     ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป เผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร ถูกโค่นล้มไป สามทรราชนี้ต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนผู้ไร้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ

รัฐบาลเผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นรัฐบาลอำมาตย์ที่รับมรดกอำนาจจากจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์

สฤษดิ์ เป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นสถานภาพของสถาบันกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นอกจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ จะรับมรดกอำนาจเผด็จการจาก สฤษดิ์ แล้ว ยังรับมรดกวิธีโกงกินชาติบ้านเมืองจากครูใหญ่คนนั้นอีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ทหารเข้ามากินบ้านกินเมืองยกใหญ่

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลานักศึกษานำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน มีนักศึกษาถือรูปกษัตริย์และราชินีนำหน้า ซึ่งแสดงว่านักศึกษาพวกนี้ยังต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดี แต่นั้นก็ไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนของทหารได้

ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราควรปฏิเสธนิยาย 2 ข้อคือ

  1. นิยายที่เสนอว่าประชาชน “ถูกหลอกมาเดินขบวน” เพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งนอกจากจะดูถูกวุฒิภาวะของนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังเป็นนิยายที่เหมือนกับคำพูดของเสื้อเหลือง หรือเอ็นจีโอ ที่มองว่าคนเสื้อแดงโง่และถูกทักษิณหลอกมาตายที่ราชประสงค์ ความคิดแบบนี้ชวนให้เราเลิกสู้ มันเป็นนิยายที่หวังทำลายขบวนการประชาชน
  2. นิยายที่เสนอว่าเผด็จการทหารถูกล้มเพราะนายทหารชั้นสูงขัดกันเองเท่านั้น ซึ่งพยายามมองแต่บทบาทของผู้ใหญ่และตาบอดถึงบทบาทหลักของประชาชนหรือมวลชนในการเปลี่ยนสังคม มันเป็นมุมมองที่เชียร์อภิสิทธิ์ชน และไม่มองภาพรวม

ข้อผิดพลาดของฝ่ายขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วง ๑๔ ตุลา เป็นความผิดพลาดที่เราควรยกโทษให้ เพราะขบวนการนี้กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองย้อนกลับไปสรุปได้ว่าขบวนการประชาชนในยุคนั้นควรจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐเอง หลังจากที่โค่นเผด็จการ ไม่ใช่นิ่งเฉยท่ามกลางความสับสน หรือไปมอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้อำมาตย์ วิธีหนึ่งที่ขบวนการประชาชนจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐ คือการสร้างพรรคมวลชนในเมืองที่เชื่อมกับกรรมาชีพ

ในยุคนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พยายามสร้างพรรคมวลชน เพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านการสร้างกองกำลังติดอาวุธ ตามแบบของ เหมา เจ๋อ ตุง ในจีน  พคท. เชื่อว่าจะต้องยึดชนบทก่อนแล้วค่อยล้อมเมือง ดังนั้นพรรคไม่ได้เข้าไปจัดตั้งและให้ความสนใจกับการต่อสู้ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับชัยชนะในวันที่ ๑๔ ตุลาเลย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหาศาล

เราจะเห็นว่าพลังมวลชนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าเราจะล้มเผด็จการได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดตั้งเป็นพรรค พลังมวลชนจะกระจายหายไป ไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ และอำมาตย์ก็สามารถฟื้นตัวเพื่ออยู่ต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอ แต่การมีพรรคก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร ถ้าพรรคเสนอแนวทางที่ผิดพลาด และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องแนวทาง

ทั้งๆ ที่ พคท. เข้ามามีอิทธิพลมากมายในขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง ๑๔ ตุลา แต่ พคท. ก็ไม่ได้สนใจที่จะสู้กับอำมาตย์ในเมือง ปล่อยให้ขบวนการถูกปราบไปในเหตุการณ์นองเลือดวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙  และเมื่อนักศึกษาและประชาชนเข้าป่าไปร่วมกับพคท. ก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำตนเอง ใช้วิธีเผด็จการของพรรคปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทาง และไม่มีการสนับสนุนการศึกษาทางการเมืองนอกจากการท่องหนังสือของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหดหู่ไม่เข้าใจเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หันมาจับมือกับอำมาตย์ไทย นอกจากนี้ไม่มีการวางแผนเพื่อสู้ในเมืองเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้อำมาตย์ไทย ภายใต้แนวคิดของ เปรม ติณสูลานนท์ สามารถใช้การเมืองนำทหารดึงนักศึกษาออกจากป่าได้ จนพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย

ความสำเร็จของ เปรม ในการปรองดองหลัง ๖ ตุลา มาจากสองสาเหตุหลักคือ การล่มสลายของ พคท. และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทยหลายปี ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับชีวิตตนเอง

สภาพสันติภาพในสังคมไทย อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อทหารเผด็จการ สุจินดา คราประยูร ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๔ เนื่องจากกังวลว่าทหารกำลังเสียอำนาจต่อพรรคการเมืองพลเรือน ก็เกิดความไม่พอใจในสังคม ในที่สุดมีการลุกฮือของพลเมืองเพื่อฝ่ากระสุนทหาร และล้มเผด็จการสุจินดา แกนนำรากหญ้าในการต่อสู้ครั้งนี้ มาจากอดีตนักกิจกรรมช่วง ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา แต่แกนนำคนรุ่นใหม่ก็มี ซึ่งพวกนี้ก็พัฒนาตนเองไปเป็นแกนนำเสื้อแดงในอนาคต หรือถอยหลังไปเป็นฟาสซิสต์ที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯเสื้อเหลือง

ข้อแตกต่างระหว่างการลุกฮือในช่วงพฤษภาคม ๓๕ กับการต่อสู้ช่วง ๑๔ ตุลา คือการที่ประชาชนขาดพรรคมวลชน พรรคการเมืองกระแสหลัก และพวกปัญญาชนอนุรักษ์นิยม จึงสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการล้มทหารในปี ๒๕๓๕ โดยไม่มีกระแสความคิดที่เน้นประโยชน์กรรมาชีพคนทำงาน เกษตรกรรายย่อย และคนจนแต่อย่างใด

เพียงสี่ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็เข้าสู่วิกฤตหนัก ซึ่งในที่สุดเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงพลเมืองส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม นั้นคือเงื่อนไขใหม่ในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมกับประชาชน