ใจ อึ๊งภากรณ์
[บทความเก่า ตีพิมพ์ในวารสาร ADAY ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๔๗]
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นยุคที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกแบ่งกันปกครองเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน ในย่านคนรวยของชาวตะวันตก จะมีป้ายเขียนว่า “ห้ามหมากับคนจีนเข้าโดยเด็ดขาด”… ในกรุงเทพฯในศตวรรษที่ 21 บางครั้งเราจะเห็นป้ายตามข้างถนนที่เขียนไว้ว่า “คนงานต่างด้าวเป็นอาชญากรที่นำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศ” ในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 50 รถเมล์สาธารณะมักจะติดป้ายว่า “ห้ามคนผิวดำนั่งหน้า” ในเยอรมันภายใต้นาซีมีการติดป้าย “ห้ามคนยิวเข้า” ตามส่วนต่าง ๆ ของเมือง และตามวัดวาอารามบางแห่งในภาคเหนือของประเทศไทยทุกวันนี้ ยังติดป้าย “ห้ามผู้หญิงเข้า”
สาเหตุที่วัดวาอารามห้ามผู้หญิงเข้าไปใน “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ก็เพราะชาวพุทธคับแคบ หัวโบราณ ที่ติดป้ายเหล่านั้น มองว่าผู้หญิงสกปรก พวกนี้มองว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นเรื่องสกปรกเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่ประจำเดือนของผู้หญิงเป็นวัฏจักรธรรมชาติของร่างกายสตรี ที่รักษาสภาพความพร้อมและสดชื่นของร่างหญิงที่จะเลี้ยงลูกในครรภ์ การที่พวกชาวพุทธประเภทนี้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งโสโครก แสดงว่าเขาไม่เข้าใจข้อมูลพื้นฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ งมงายอยู่ในความโง่เขลาทางปัญญา แต่ที่ร้ายกว่านั้นจมอยู่ในอคติต่อเพศสตรี เพศแม่ โดยมองว่าชายดีเลิศกว่าเสมอ เราต้องถามว่าชายพวกนี้ และหญิงที่ถูกหลอกให้เชื่อแบบนี้ จนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการติดป้ายแบบที่ดูถูกผู้หญิงตามวัดวาอาราม เคยถ่ายอุจาระ หรือ อาเจียน หรือ ขับปัจสาวะบ้างหรือไม่ในชีวิต? และหลังจากเขาทำสิ่งเหล่านั้นเขาล้างมือหรือเปล่าก่อนเข้าวัด? เพราะอย่างน้อยชาวมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังคมไทยเหยียดหยาม เขาล้างมือแน่
ทำไมวัดวาอารามในภาคเหนือของประเทศไทย ไม่ติดป้ายว่า “คนเบียดเบียนคนอื่น เช่น นายทุนที่ขูดรีด เจ้าพ่อที่ใช้ความรุนแรง ข้าราชการที่โกงกิน ตำรวจที่ยิงคนทิ้งโดยไม่ขึ้นศาล นักการเมืองที่โกหกประชาชน หรือคนที่ก่อสงคราม ฯลฯ ห้ามเข้า”? ผู้หญิงสกปรกกว่าพวกนั้นหรือ? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ ศาสนาพุทธนิกายล้าหลังประเภทที่เราเจอในบางส่วนของภาคเหนือ สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ที่เบียดเบียนคนส่วนใหญ่ในสังคม ชนชั้นปกครองนั่นเอง และในสังคมชนชั้นพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองล้านนาในอดีต หรือชนชั้นนายทุนในปัจจุบัน ได้ประโยชน์จากการกดขี่ผู้หญิง
ในขณะที่ศาสนาพุทธประเภทนั้นมองว่าผู้หญิงโสโครกและต่ำต้อย แต่ในอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึง ศาสนาพุทธได้ดูดกินส่วนเกินที่ผลิตโดยผู้หญิง มาเป็นประโยชน์ เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ทำบุญมากที่สุดในสังคมไทย แต่ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะมีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา มีการกีดกันไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ โดยอาศัยข้ออ้างเหลวไหลว่าผู้หญิง รักษาวินัยไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงในฐานะที่เป็นเพศที่ถูกกดขี่มากที่สุด เข้าใจดีว่า “ความอดทน” คืออะไร
การมองว่าผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นคนโสโครก สอดคล้องกับการบังคับให้ผู้หญิงรับภาระหลักในงานบ้าน และการเลี้ยงดูลูก โดยมีการกีดกันบทบาทของผู้หญิงในการเป็นผู้นำของสังคมภายนอกบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับทัศนะคติคับแคบเกี่ยวกับ เกย์ กะเทย ทอม ดี้ และเป็นเรื่องเดียวกับทัศนะคับแคบต่อพี่น้องคนงานพม่า หรือคนชนเผ่า เพราะการเหยียดหยาม ”ผู้อื่น” ที่ไม่ใช่ “ไทยแท้” เป็นวิธีการบังคับให้เขายอมทำงานประเภทสกปรก และอันตรายโดยที่ได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นวิธีการปลุกระดม ให้คนธรรมดาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นชายหญิง กะเทย คนพม่า หรือ คนบนดอย แตกแยกกัน เพราะตราบใดที่เราแตกแยกกัน เราจะไม่สามัคคีโค่นล้มระบบงี่เง่านี้
ที่เมืองจีนเขาต้องมีการปฏิวัติ ป้ายเหยียดหยามมันจึงถูกดึงลงมา
กรณีความไม่พอใจของผู้ที่อ้างว่าเป็น ”พุทธศาสนิกชน” ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ ของ สว.ระเบียบรัตน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะความคิดคับแคบและปฏิกิริยามีมานานในการตีความศาสนาพุทธของคนบางกลุ่ม ในประเด็นนี้มีพุทธศาสนิกชนอีกส่วนหนึ่งตีความในด้านตรงข้าม เขามองว่าศาสนาพุทธเป็นปรัชญาของ สิทธัตถะ ผู้นำการกบฏเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมวรรณะของอินเดีย พุทธจึงเปิดกว้าง ส่วนผู้รักความเป็นธรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่นับถือศาสนาเลย อาจจะมองว่า สิทธัตถะ ละเว้นความรับผิดชอบต่อลูกเมียโดยการออกบวช เช่น ในวรรณกรรมของ ศรีดาวเรือง หรือในภาพยนต์ เรื่อง “ซันซาร่า” อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสงฆ์ธิเบตที่หลงรักผู้หญิง
ทัศนะคติที่น่าสลดใจที่สุดมาจากผู้ที่ควรจะรู้ดีกว่านี้ คือสายชุมชนในภาคเหนือ เช่นธเนศวร์ เจริญเมือง ที่งมงายในท้องถิ่นนิยม และการปกป้องภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างสุดขั้ว จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรก้าวหน้า หรืออะไรกดขี่ผู้หญิง และไม่สามารถแยกแยะอีกด้วยว่าวัฒนธรรม “โบราณ” ของล้านนาเป็นวัฒนธรรมของคนชนชั้นสูงหรือวัฒนธรรมของชาวบ้านกันแน่ ส่วนใหญ่วัดวาอารามที่เหยียดหยามสตรี มักจะเป็นวัดวาอาราม”ทอง”ของคนชั้นสูง ไม่ใช่วัดเล็ก ๆ ของชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ
ในเรื่องของท่าทีของเจ้าล้านนาในอดีต มีนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องภาคเหนือของประเทศไทย เคยไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับทัศนะคติของเขาที่มีต่อเจ้าเมืองเดิม นักวิชาการคนนี้ค้นพบว่าชาวบ้านล้านนา เกลียดชังเจ้าครองเมืองเก่าเพราะมองว่าเมื่อพวกนี้เสด็จผ่านถิ่นของตน เขามักจะฉุดลูกสาวชาวบ้านไปข่มขืน นี่เป็นวัฒนธรรมที่เราควรจะไปปกป้องหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ชาวบ้านเองก็ยังสามารถมีอคติแคบๆ ตามความคิดชุมชนโบราณ กรณีอคติคับแคบของชาวบ้านต่อเด็กๆ ติดเชื้อ HIV เป็นตัวอย่างที่ดี มีชุมชนบางแห่งในภาคเหนือที่พยายามขับไล่เด็กติดเชื้อออกจากโรงเรียนในหมู่บ้าน เพราะไม่มีจิตสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพและไม่เข้าใจข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเรื่องวิธีการแพร่ระบาดของ HIV เป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้ในการสัมมนาที่จุฬาฯ ในโอกาสครบรอบ 72 ปี การปฏิวัติ 2475 มีนักเอ็นจีโอสายชุมชนคนหนึ่งพูดโจมตีวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่เขามองว่าเป็น “ศาสตร์ของตะวันตก” สิ่งที่คนนี้พูดมันผิดตั้งแต่แรก เพราะวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่มีรากฐานจากศาสตร์ของชาวอาหรับและชาวจีนในยุคที่ชาวตะวันตกจมอยู่ในความโง่ของชุมชนโบราณ นอกจากนี้การปฏิเสธวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่พยายามเข้าใจ “องค์รวม” ของปัญหาหรือวิธีการรักษาด้วยยาพร้อมกับวิธีการักษาด้วยการพัฒนาสภาพชีวิตโดยรวม เป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ และมุมมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “ตะวันตก” และ “ตะวันออก” ก็เป็นทัศนะคติ “ตะวันตก” แต่แรก แต่ยุคนี้คน “ตะวันออก” นำมาใช้เพื่อพิสูจน์อย่างโง่ๆ ว่าเราต่างจากตะวันตก
ตัวอย่างของการคลั่งชาติ หรือท้องถิ่นนิยมสุดขั้ว ที่เป็นพิษภัยต่อคนธรรมดา คือนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดี อุมเบเค ในอัฟริกาใต้ เพราะอุมเบเคเสนอว่าการวิเคราะห์ว่าโรคเอดส์มาจากไวรัส HIV และรักษาด้วยยาต้านไวรัส “เป็นมุมมองตะวันตกที่หลอกลวงให้คนในอัฟริกาให้ซื้อยาต้านไวรัสจากบริษัทยาข้ามชาติ” นโยบายนี้มีผลด้านเดียวเท่านั้น คือทำให้คนจนในอัฟริกาใต้ที่ติดเชื้อ HIV ตายโดยไม่จำเป็น เพราะรัฐบาลไม่ยอมใช้งบประมาณในการแจกจ่ายยาต้านไวรัสมาหลายปี โชคดีที่นักเคลือนไหวทางสังคมสามารถกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายในที่สุด
วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความคิดตะวันตกหรือตะวันออก และไม่ใช่ ”ความคิดของชาย” อย่างที่พวกแฟมินิสต์สุดขั้วบางกลุ่มเสนอ มันเป็นวิธีการทำความเข้าใจกับโลกที่พยายามใช้เหตุผลและข้อมูลมากที่สุด แน่นอนบ่อยครั้งวิทยาศาสตร์จะถูกใช้โดยคนชั้นนำหรือกลุ่มทุนในทางที่ผิด เช่นในการกอบโกยกำไร หรือในการทำสงคราม แต่นั้นไม่ใช่ข้อบกพร่องของวิทยาศาสตร์ มันเป็นข้อบกพร่องของระบบอำนาจในสังคมชนชั้นต่างหาก
ในลักษณะเดียวกัน ประชาธิปไตยและอุดมคติเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ทัศนะ “ฝรั่ง” หรือทัศนะของคนที่ไม่ใช่ไทยหรือล้านนา มันเป็นอุดมการณ์ของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกที่ร่วมกันต่อสู้มานานเพื่อให้เรารอดพ้นจากสภาพความเป็นสัตว์และพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นมนุษย์เต็มตัว เราต้องฟันธงไปเลยว่า ถ้ามันมีความเชื่อใดๆ หรือวัฒนธรรมชุมชนใดๆ ที่มองว่าหญิงเป็นเพศต้อยต่ำ ความเชื่อแบบนี้ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการพ้นสภาพความเป็นสัตว์ของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น อย่างที่ เลนิน เคยตั้งข้อสังเกต: “ชนชาติใดที่ยอมให้ชนชั้นปกครองของตนเองนำผู้อื่นมาเป็นทาส ย่อมไม่มีวันปลดปล่อยตนเองได้” ในกรณีนั้นเลนินกำลังพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพอังกฤษที่ยอมให้สังคมอังกฤษดูถูกคนไอริช แต่เราสามารถขยายไปสู่คนไทยได้ เพราะถ้าคนไทย ไม่ว่าจะมาจากภาคใด เชิดชูการกดขี่สตรี คนไทยก็จะยังเป็นทาสต่อไป ไม่มีวันปลดปล่อยตนเองได้
แล้ว “ขบวนการสิทธิสตรีไทย” หายไปไหนอีกแล้ว? ทำไมไม่ออกมาสนับสนุน ส.ว. ระเบียบรัตน์ และร่วมกันด่าความคับแคบของสังคมวัดในภาคเหนือ? เป็นเพราะอะไรที่ไม่มีการออกมาหนุนกัน เพราะขบวนการสิทธิสตรีกลายเป็นศพภายใต้แนวคิด “หลังทันสมัย” ที่มองว่า “ไม่มีผิดไม่มีถูก” ใช่ไหม? นั่งคุยกันในหอคอยงาช้างถึงวาทกรรมที่กดขี่สตรี แต่เมื่อมีป้ายด่าผู้หญิง กลับ มือไม้อ่อน….
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมนักมาร์คซิสต์สนใจในสิทธิเสรีภาพของสตรีที่จะเข้าวัด บางคนอาจคิดว่าเราคงไม่อยากให้ใครเข้าวัดเลยในเมื่อเราไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของศาสนาใดๆ ก็จริงนะ เพื่อนมาร์คซิสต์คนหนึ่งของผมถึงกับพูดว่า “ทำไมไปเรียกร้องตรงนี้? ทำไมไม่เผาวัดทิ้งไปเลย?” “ใจเย็นๆ” ผมบอกเขา นอกจากจะเสียดายโบราณสถานสวยงามแล้ว อันโตนีโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยอธิบายว่านักปฏิวัติสังคมต้องสนใจการช่วงชิงความคิดในทุกแง่ทุกมุมของสังคมเพื่อไม่ให้ “ประชาสังคม” กลายเป็นเกราะป้องกันอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง สรุปแล้วแม้แต่ในเรื่องของศาสนานักสังคมนิยมก็ต้องเป็นปากเสียงของเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์เป็นผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง เราต่างจากพวกคับแคบในชนชั้นปกครองไทยที่มองว่าควรมีกระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศาสนา เพราะเรามองว่าความเชื่อของปัจเจก ในเรื่องของศาสนา ถ้าไม่เบียดเบียนกดขี่ผู้อื่น เป็นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกเสมอ รัฐไม่ควรยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด
เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทยจัดทัศนะศึกษานอกพื้นที่ให้กับมุสลิมภาคใต้ เพื่อให้ไปศึกษาวัฒนธรรมวิถีชีวิตของภาคกลางและภาคอื่น ๆ โดยอ้างว่าเป็นการ“ส่งเสริมให้ชาวภาคใต้มีทัศนะเปิดกว้าง” การกระทำดังเกล่าของรัฐไทย เป็นการพยายามแก้ปัญหาผิดจุด จริง ๆ แล้วรัฐบาลไทยควรจะนำนักการเมือง ข้าราชการ พลเมือง ทหาร ไปศึกษาความดีงามของวิถีชีวิตชาวมุสลิมต่างหาก และในกรณีความคับแคบของศาสนิกชนบางกลุ่มในภาคเหนือ ขอเสนอให้รัฐบาลไทยจัดทัศนะศึกษาให้กับพวกนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงความคิดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ในท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ก้าวหน้ากว่าด้วย