Tag Archives: ซิกมุนด์ ฟรอยด์

ความคิดซ้ายๆ ของ อีริค ฟรอม

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากงานเขียนของ เอียน เฟอร์กะสัน[1]

อีริค ฟรอม (Erich Fromm) เป็นนักจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมเชื้อสายยิว ที่เกิดในเยอรมัน หลังจากการยึดอำนาจของฮิตเลอร์ เขาต้องย้ายไปสหรัฐอเมริกา

ฟรอม ประกาศมาตลอดอย่างชัดเจนว่าเขา “เป็นนักมาร์คซิสต์” และสนใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับปัญหาสุขภาพจิต โดยที่เขาพยายามผสมแนวคิดของ คาร์ล มาร์คซ์ กับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์[2] แต่เขายืนยันตลอดว่า มาร์คซ์ สำคัญกว่า ฟรอยด์

ฟรอม สนใจจิตวิทยาของ ฟรอยด์ แต่วิจารณ์ว่า ฟรอยด์ ให้ความสำคัญกับชีววิทยามากเกินไปในการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ เพราะ ฟรอม มองว่าเราต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างชีววิทยากับประวัติศาสตร์สังคมหรือสภาพการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในลักษณะวิภาษวิธี คือมององค์รวมและอิทธิพลที่สองสิ่งนี้มีต่อกัน

ฟรอม เชื่อว่าในสังคมปัจจุบัน มนุษย์อาจหลุดพ้นจากความเป็นไพร่หรือทาสในอดีต แต่ในระบบทุนนิยมเสรีภาพผิวเผินที่เรามีอยู่นำไปสู่ความโดดเดี่ยว และความกลัว ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่มีสองแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้คือ เลือกปิดหูปิดตาเพื่อทำตามกระแสหลักในสังคม หรือตั้งใจเผชิญหน้ากับอำนาจในสังคมเพื่อแสวงหาเสรีภาพ แต่แนวที่สองต้องอาศัยความกล้าหาญ คนที่แก้ปัญหานี้ไม่ค่อยได้อาจเสี่ยงกับการป่วยทางจิต

สำหรับ “ธรรมชาติมนุษย์” ฟรอม เชื่อว่ามีจริง แต่เป็นธรรมชาติในลักษณะนิสัยใจคอร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์ของปัจเจก อย่างไรก็ตามเขาเตือนว่าเราต้องไม่ตกหลุมพรางสองชนิดเวลาพิจารณาเรื่องนี้คือ (1)เราต้องปฏิเสธแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยธรรมชาติและไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เช่นการที่พวกอนุรักษ์นิยมมองว่ามนุษย์มักเห็นแก่ตัว แต่มันไม่มีหลักฐานรองรับ และ ฟรอม นิยามว่าความคิดแบบนี้เป็น “ลัทธิทางการเมือง” มากกว่าวิทยาศาสตร์ (2)เราต้องปฏิเสธความคิดของฝ่ายซ้ายบางคนที่มองว่าธรรมชาติมนุษย์เป็น “ของเหลว” ที่ถูกกำหนดจากสังคมรอบข้างอย่างเดียว โดยที่พวกนี้เสนอว่าเราไม่สามารถให้คุณค่ากับความคิดต่างๆ ของมนุษย์ว่าดีหรือเลวได้เลย

ฟรอม เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์ในสังคมหนึ่งในยุคหนึ่ง ได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุรอบข้าง คือวิธีเลี้ยงชีพหรือการผลิตของมนุษย์ ซึ่งต่างกับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่เสนอว่าเรื่องเพศหรือเซกซ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องหลัก

ฟรอม อธิบายว่านิสัยใจคอของมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ส่วนที่เป็นบุคลิกของปัจเจกตั้งแต่เกิดที่ไม่ค่อยเปลี่ยน และ(2)“บุคลิกภาพของสังคม” ที่ทุกคนมีร่วมกับคนอื่น แต่ในเรื่องนี้ทั้งๆ ที่เขาเน้นว่าได้รับอิทธิพลจากสภาพวัตถุ แต่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักมองว่าบุคลิกภาพของสังคมมีลักษณะที่ค่อนข้างจะถาวร และมีบุคลิกภาพเดียว เขาไม่ขยันเพียงพอที่จะค้นหาหลักฐานในโลกจริง ในสังคมต่างๆ อาจมีบุคลิกภาพทางสังคมหลายรูปแบบ

สิ่งสำคัญที่ขาดไปจากความคิดของ ฟรอม คือพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความขัดแย้งทางชนชั้น และอิทธิพลที่ความขัดแย้งนี้มีต่อบุคลิกภาพ โดยรวมแล้ว ฟรอม มักมองข้ามเรื่องชนชั้นไปเลย

สำหรับเรื่องนี้ คาร์ล มาร์คซ์ เสนอว่าธรรมชาติมนุษย์มีสองส่วนคือ (1)ธรรมชาติพื้นฐาน คือการที่มนุษย์คิดเองเป็นและรักการทำงานที่สร้างสรรค์ท่ามกลางการดำรงอยู่ในลักษณะรวมหมู่กับมนุษย์คนอื่น ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารกัน (2)ธรรมชาติพื้นฐานนี้ทำให้เราพัฒนาลักษณะ ธรรมชาติ และบุคลิกภาพของเราได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีวันสิ้นสุด พูดง่ายๆมนุษย์พัฒนาธรรมชาติตนเองอยู่ตลอดเวลาในลักษณะรวมหมู่ เราไม่เคยถึงจุดเสร็จสมบูรณ์ และพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งทางชนชั้น

 

[1] Iain Ferguson (2016) “Between Marx and Freud: Erich Fromm Revisited.” International Socialism Journal 149. http://bit.ly/1R1sx26

[2] http://bit.ly/1myNoik

ความคิดของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ กับการต่อสู้ทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากบทความของ ซูแซน โรเซนทาล์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักคิดที่มีอิทธิพลต่อจิตแพทย์ทั่วโลก แต่ในขณะที่นักวิชาการกระแสหลักถกเถียงเรื่องความคิดของ ฟรอยด์ โดยพิจารณาในลักษณะความคิดในตัวมันเองและไม่มองภาพรวมของสังคม นักสังคมนิยมจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ ฟรอยด์ ตามยุคสมัยในบริบทของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม

ประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ เราควรมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของปัจเจกที่ป่วยเองจากสภาพภายใน ซึ่งแปลว่าเขาจะต้องรับผิดชอบกับการป่วยเอง หรือเราควรมองว่าสังคมมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาทางจิตแต่แรก ดังนั้นสังคมควรรับผิดชอบในการพยุงและรักษาบุคคลเหล่านั้น และควรมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมด้วย คำตอบมักจะขึ้นอยู่กับจุดยืนทางชนชั้นเสมอ

ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครอง มักจะมองว่าโรคจิตเป็นเรื่องปัจเจก และมองว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิต “ป่วยเอง” จากสภาพภายใน คือเป็นการโทษเหยื่อ แต่เมื่อชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นสู้ในบางยุคบางสมัย แนวความคิดที่มาจากการกบฏของคนชั้นล่าง จะมองว่าโรคจิตเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม และไม่ใช่เรื่องของปัจจเจกแต่อย่างใด

ฟรอยด์ เริ่มต้นอาชีพของเขาในฐานะผู้ที่ปกป้องคนที่ถูกกดขี่ในสังคม มันเป็นยุคของการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคมที่เริ่มต้นในช่วงของคอมมูนปารีส จิตแพทย์ในสมัยนั้นที่นำร่องทางความคิดคือ จอน-มาร์ติน ชาร์โคต์ เขาฟังคนไข้และสรุปว่าปัญหาโรคจิตมาจากเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ ลูกศิษย์ของเขาชื่อ พิแอร์ จาเนท พัฒนาความคิดนี้ต่อไป โดยอธิบายว่าเมื่อคนมีประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางใจ จิตสำนึกของเขาจะแตกร้าว เพื่อแยกประสบการณ์ดังกล่าวออกจากความทรงจำประจำวัน ในปี 1885 ฟรอยด์ เริ่มทำงานในทีมของ ชาร์โคต์

ในเรื่องการละเมิดกายเด็กโดยผู้ใหญ่ ซึ่งในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวใหญ่ จิตแพทย์อนุรักษ์นิยมในสมัยฟรอยด์ มักจะมองว่าเด็กเป็นเจ้าจอมโกหกและมีความฝันเรื่องเพศสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เอง มันเป็นมุมมองของพวกที่ชื่นชม “ครอบครัวจารีต” ที่ต้องการปกป้องสถาบันครอบครัว และพยายามปฏิเสธว่าผู้ใหญ่ในครอบครัวสามารถละเมิดเด็กได้

ตอนแรก ฟรอยด์ ใช้ทฤษฏีก้าวหน้าเกี่ยวกับเหตุการรุนแรงที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เพื่ออธิบายสาเหตุของการป่วยทางจิตในผู้ใหญ่ซึ่งเคยถูกละเมิดตอนยังเป็นเด็ก และ ฟรอยด์ จะเสนอเพิ่มว่าบ่อยครั้งผู้ป่วยจะปกปิดหรือ “พยายามลืม” การถูกละเมิดในวัยเด็ก เพื่อปกป้องคนในครอบครัว

แต่แรงกดดันจากผู้ใหญ่ในวงการจิตแพทย์ และการถูกขู่ว่าอาจล้มเหลวในอาชีพ ทำให้ ฟรอยด์ กลับคำในเรื่องการละเมิดเด็กในครอบครัว และหันมาใช้แนวคิดอนุรักษ์นิยมแทน

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น ฟรอยด์ ก็ยังปกป้องทหารผ่านศึกที่มี “อาการผวาระเบิด” ว่าเป็นการป่วยจริง ในขณะที่พวกคลั่งชาติและนายพลระดับสูงพยายามอ้างว่าเป็นแค่อุบายของทหารขี้ขลาดที่ไม่อยากกลับไปรบ

ระหว่างปี 1917 ถึง 1970 การใช้วิธี “จิตวิเคราะห์” ของจิตแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แทนที่จะทำงานในโรงพยาบาลโรคจิตกับ “คนบ้า” จิตแพทย์ที่ใช้วิธีการของ “จิตวิเคราะห์” มักจะทำงานในคลินนิคส่วนตัวของตนเอง และมีลูกค้าเป็นคนมีเงิน มันเป็นโอกาสทองที่จะสะสมความร่ำรวยโดยการเน้นและค้นหาปัญหาของปัจจเจกจากภายในตัวเขาเอง แทนที่จะมองไปที่สภาพสังคมและปัญาหที่เกิดจากสังคมรอบข้าง และ ฟรอยด์ ก็สามารถสร้างชื่อเสียงและความร่ำรวยให้กับตนเองด้วยการทำงานแนว “จิตวิเคราะห์”

ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการอ่อนลงของกระแสการต่อสู้ทางชนชั้น หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียถูกทำลายโดยสตาลินและมหาอำนาจตะวันตก ฟรอยด์ ก็เริ่มกลายเป็นนักคิดปฏิกิริยามากขึ้นทุกวัน เขาเสนอว่าพฤติกรรมวิปริต หรือความประพฤติที่ไม่เข้ากับสังคมของปัจเจก มาจากการเก็บกดความรู้สึกทางเพศ โดยเฉพาะในสตรี และต้องบำบัดด้วยการค้นหาสาเหตุภายในแต่ละบุคคลด้วยวิธีจิตวิเคราะห์ นอกจากนี้ ฟรอยด์ กลัวประชาธิปไตยเพราะมองว่ามวลมนุษย์มีความรุนแรงก้าวร้าว ดังนั้นเขาเห็นด้วยกับระบบเผด็จการที่กดขี่มวลชน

ในช่วงปฏิกิริยาทางความคิดในวิชาจิตแพทย์นี้ การวิจัยในเรื่องประสบการที่ก่อให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจในเด็กเกือบจะยุติไป

แต่ภายหลังการลุกฮือยุค 1968 ความคิดของจิตแพทย์ก้าวหน้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับ “อาการผวาระเบิด” ในทหารที่กลับมาจากเวียดนาม และขบวนการสิทธิสตรีกดดันให้มีการยอมรับว่าเด็กจำนวนมากถูกละเมิดโดยผู้ใหญ่ในครอบครัว แต่ทุกวันนี้ยังมีการถกเถียงต่อสู้ระหว่างคนที่พยายามปฏิเสธเรื่องการละเมิดเด็ก หรือคนที่อยากโทษปัจเจกที่ป่วยเป็นโรคจิต กับพวกที่เสนอว่าเราต้องมองผลกระทบที่มาจากสังคม

ข้อแตกต่างหลักระหว่างความคิดของ ฟรอยด์ กับ มาร์คซ์ คือ   ฟรอยด์ มองว่า “เพศสัมพันธ์” เป็นคุณสมบัติหลักของปัจเจกมนุษย์ ในขณะที่ มาร์คซ์ มองว่า “การทำงาน” คือลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

“จิตวิเคราะห์” เป็นศาสตร์ที่รับใช้ชนชั้นปกครองเพราะมองแค่ปัจเจก ในขณะที่ “มาร์คซิสม์” มองมวลมนุษย์โดยไม่แยกออกจากสภาพสังคม และนักมาร์คซิสต์เสนอว่าถ้าเราจะแก้ไขสภาพปัจจุบันของมนุษย์ ต้องมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Susan Rosenthal

ดูได้ที่ http://socialistreview.org.uk/404/whats-wrong-sigmund-freud

และอ่านเพิ่มงานของเขาได้ที่ http://www.susanrosenthal.com ]