Tag Archives: ซูดาน

การปฏิวัติสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน

ในยุคนี้เรามักได้ยินพวกกระแสหลักเสนอว่า “การปฏิวัติเป็นเรื่องล้าสมัย” แต่ตราบใดที่ทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมยังดำรงอยู่ การพยายามปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ และการที่ยังไม่มีใครล้มทุนนิยมได้สำเร็จในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการปฏิวัติล้าสมัย แต่เป็นเพราะฝ่ายเรายังขาดความเข้าใจในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะ

เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เคยอธิบายว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเงื่อนไขสองประการอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในสังคมและการต่อสู้ทางชนชั้น เงื่อนไขเหล่านั้นคือ

  1. ชนชั้นปกครองไม่สามารถปกครองต่อไปในรูปแบเดิมได้ เพราะสังคมอยู่ในสถานการณ์วิกฤต
  2. คนธรรมดาทนไม่ได้ที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และพร้อมที่จะปกครองตนเอง ซึ่งความพร้อมดังกล่าวมาจากการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ

ใครเป็นผู้ก่อการปฏิวัติ?

คำตอบคือคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักปฏิวัติกล้าหาญมืออาชีพเพียงไม่กี่คน เพราะการปฏิวัติสังคมนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนผู้นำในขณะที่ยังคงไว้ระบบเดิม และเราต้องพูดต่อไปว่าต้องมีกรรมาชีพในใจกลางของขบวนการมวลชน เพื่อให้การปฏิวัติมีพลัง เพื่อจะได้ขยับการประท้วงหรือการกบฏไปเป็นการพยายามล้มรัฐกับระบบให้ได้

จะขอนำตัวอย่างจากโลกจริงมาช่วยอธิบาย การลุกฮือในอียิปต์ท่ามกลาง “อาหรับสปริง” ในปี 2011 สามารถล้มเผด็จการมูบารักได้ก็เพราะกรรมาชีพมีการจัดตั้งอยู่ใจกลางขบวนการมวลชน และที่สำคัญคือมีประวัติการนัดหยุดงานมาอย่างต่อเนื่องในรอบสิบปีก่อนที่จะล้มมูบารัก ในตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ล้มเผด็จการในกระบวนการอาหรับสปริง สหภาพแรงงานต่างๆ อยู่ใจกลางขบวนการมวลชนเช่นกัน ในซูดาน ซึ่งยังสู้กันกับเผด็จการในปัจจุบัน สหภาพหมอมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2016 และสามารถดึงกรรมาชีพอืนๆในภาครัฐเข้ามาร่วมได้ เช่นครู ดังนั้นสหภาพแรงงานภาครัฐของซูดานมีบทบาทสำคัญในการประสานงานการต่อสู้ แต่สื่อกับนักวิชาการกระแสหลักจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน

กรรมาชีพที่มีการจัดตั้งเพียงพอที่จะมีประสิทธิภาพ จะต้องอิสระจากชนชั้นปกครอง ต้องไม่อนุรักษ์นิยม และในสภาพวิกฤตทางสังคมควรตั้ง “คณะกรรมการรากหญ้าเพื่อประสานการนัดหยุดงาน” จริงอยู่ แกนนำของสหภาพแรงงานอาจอนุรักษ์นิยมและใกล้ชิดชนชั้นปกครองอย่างเช่นสหภาพแรงงานหลายแห่งในรัฐวิสาหกิจไทยที่เข้ากับเสื้อเหลือง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่านักสังคมนิยมจะหันหลังให้กับสหภาพแรงงานดังกล่าว หรือแยกตัวออกเพื่อสร้างสหภาพใหม่ อย่างที่พวกอนาธิปไตยมักจะทำ นักสังคมนิยมจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนเสมอ และพยายามช่วงชิงการนำจากผู้นำอนุรักษ์นิยม

ในกรณีตูนิเซีย ท่ามกลางการประท้วงปัญหาสังคมของมวลชน มีการประชุมของสภาแรงงานเพื่อคุยกันเรื่องบำเน็จบำนาญ ปรากฏว่านักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายยืนขึ้นในที่ประชุม และวิจารณ์แกนนำโดยพูดว่า “สังคมข้างนอกห้องนี้ปั่นป่วนและอยู่ในสภาพวิกฤต แล้วพวกเราจะยังคุยกันเรื่องบําเหน็จบํานาญหรือ?” ผลคือสภาแรงงานประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อประท้วงเผด็จการ ซึ่งในที่สุดสามารถล้มรัฐบาลได้ บทเรียนที่สำคัญคือ ถ้านักเคลื่อนไหวดังกล่าวมัวแต่ตั้งสหภาพแรงงานแยกจากสหภาพแรงงานหลักๆ จะไม่สามารถช่วงชิงการนำได้เลย

กรณีการต่อสู้ในซิเรีย เป็นตัวอย่างสำคัญในด้านตรงข้าม การลุกฮือไล่เผด็จการไม่มีกรรมาชีพอยู่ใจกลาง เพราะพรรคบาธของรัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการโหดเหี้ยมต่อผู้ที่คัดค้านรัฐบาลมานาน และที่สำคัญคือเข้าไปจัดตั้งกรรมาชีพภาครัฐ เช่นครู ดังนั้นเวลามวลชนลุกฮือ รัฐบาลก็ใช้มวลชนจากภาครัฐไปปะทะแบบม็อบชนม็อบ ผลคือในไม่ช้าการพยายามปฏิวัติแปรตัวจากการเคลื่อนไหวมวลชนไปสู่การจับอาวุธ มันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ไม่สามารถล้มประธานาธิบดีอะซัดได้

หลายคนชอบพูดว่าอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญในยุคนี้สำหรับการประสานงานการกบฏ แต่เอาเข้าจริง เวลารัฐบาลมองว่าการกบฏอาจเขย่าบัลลังก์ได้ เขาจะรีบปิดอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกิดขึ้นในพม่า อียิปต์ และซิเรีย ในสมัยนี้เราต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดในการจัดตั้ง แต่การประสานงานต่อหน้าต่อตายังมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะประชุมใหญ่กลางถนนหรือในร้านกาแฟ

รัฐกับ “อำนาจคู่ขนาน”

ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ซึ่งสามารถล้มรัฐทุนนิยมและสร้างรัฐกรรมาชีพได้สำเร็จ มีการสร้างสภาคนงาน สภาทหารรากหญ้า และสภาเกษตรกรรายย่อย ที่เรียกว่า “สภาโซเวียต” และท่ามกลางการปฏิวัติสภาโซเวียตกลายเป็น “อำนาจคู่ขนาน” กับอำนาจรัฐเก่า คือมีอำนาจของชนชั้นนายทุนแข่งกับอำนาจของกรรมาชีพและคนจน การเข้าสู่สภาพอำนาจคู่ขนานเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิวัติ เพราะเป็นการสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่

ในการกบฏทุกครั้ง มีการจัดตั้งเสมอ การจัดตั้งดังกล่าวอาจมีหน้าที่ประสานการประท้วง การนัดหยุดงาน การแจกจ่ายอาหารสำหรับประชาชน การขนส่ง การตั้งกลุ่มศึกษา และการปฐมพยาบาล ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่ออ่อนของอำนาจคู่ขนาน

การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติในโลกปัจจุบันมีสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมือง

ชิลี

การปฏิวัติทางสังคมคือการล้มระบบเก่าและเปลี่ยนแปลงอำนาจทางชนชั้น คือมีชนชั้นปกครองจากชนชั้นใหม่ ซึ่งเกิดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 การปฏิวัติฝรั่งเศส1789 หรือการปฏิวัติอังกฤษ1640 เป็นต้น ในกรณีแรกเป็นการปฏิวัติสังคมนิยม และในสองกรณีหลังคือการล้มระบบฟิวเดิลโดยนายทุนเพื่อเปิดทางให้ระบบทุนนิยม

การปฏิวัติทางการเมืองคือการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลแต่คงไว้ระบบเดิม ตัวอย่างเช่นการลุกฮือ๑๔ตุลาคม๒๕๑๖ หรือพฤษภา๓๕ ในไทย การล้มเผด็จการในตูนิเซีย หรือการล้มเผด็จการในโปรตุเกสปี1974 นอกจากนี้เราสามารถพูดได้ว่าการปฏิวัติจีนของเหมาเจ๋อตุงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองอีกด้วย

ในกรณีตัวอย่างจากไทยที่ยกมา มวลชนที่ทำการปฏิวัติล้มเผด็จการ ไม่ได้มีแผนที่จะล้มระบบและไม่มีการสร้างอำนาจคู่ขนานที่แท้จริง ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถเสนอผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทนที่เผด็จการได้ ในกรณีโปรตุเกสประเทศรอบข้างในยุโรปรีบสร้าง “พรรคสังคมนิยม” เพื่อเบี่ยงเบนการปฏิวัติไปสู่ระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในรัฐสภาและรักษาระบบเดิม และในตูนิเซียกับอียิปต์พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาก็เข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีการล้มระบบ

สำหรับอียิปต์ ในไม่ช้าอำนาจเก่า ซึ่งอยู่ในมือของกองทัพ ก็อาศัยการประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม เพื่อเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นการทำลายการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นสองปี

ในกรณีการปฏิวัติจีนของ เหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยทฤษฎี “การปฏิวัติสองขั้นตอน” ของแนวสตาลิน-เหมา เพื่อควบคุมไม่ให้การปฏิวัติข้ามจุดการเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่การเปลี่ยนระบบ ทางพรรคมองว่าต้องสู้เพื่อเอกราชของจีนก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องสังคมนิยมทีหลัง ดังนั้นระบบไม่ได้เปลี่ยนไปจากระบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ทั้งๆ ที่รัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นสังคมนิยม สิ่งที่ เหมาเจ๋อตุงกับพรรคคอมมิวนิสต์ทำคือการยึดอำนาจรัฐและสร้าง “ทุนนิยมโดยรัฐ” อำนาจรัฐอยู่ในมือของข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้อยู่ในมือของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงไม่มีอำนาจคู่ขนานหรือสภาโซเวียตเกิดขึ้น มีแต่อำนาจกองทัพภายใต้พรรคเท่านั้น ทฤษฎี “การปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ มีความสำคัญในการเน้นบทบาทกรรมาชีพในการปลดแอกตนเองด้วยการล้มรัฐทุนนิยม แทนที่จะสู้แบบสองขั้นตอนตามแนวสตาลิน-เหมา

มาร์คซ์ และเลนิน อธิบายมานานแล้วว่าชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถยึดรัฐเก่ามาใช้เอง เพราะรัฐเก่าถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่กรรมาชีพและสะสมทุนสำหรับชนชั้นนายทุน ในจีนรัฐเก่าที่เหมาเจ๋อตุงใช้หลังการปฏิวัติ เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขูดรีดกดขี่กรรมาชีพ ในขณะที่นายทุนเป็นข้าราชการแทนนายทุนเอกชน และในไม่นานเมื่อระบบ ”ทุนนิยมโดยรัฐ” เริ่มมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพในช่วงที่สหภาพโซเวียตพังลงมา รัฐบาลจีนสามารถหันไปใช้ทุนนิยมตลาดเสรีได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศอย่างไทย การทำแค่รัฐประหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งทหารทำเป็นประจำในไทยหรือในพม่า ไม่ถือว่าเป็น “การปฏิวัติ” แต่อย่างใด เพราะไม่มีการลุกฮือโดยมวลชน มันเป็นแค่การแย่งผลประโยชน์กันเองโดยชนชั้นปกครอง

รัฐ

เลนิน เคยอธิบายในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ซึ่งอาศัยแนวคิดที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยเสนอ ว่ารัฐเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้น ทั่วโลกในยุคปัจจุบัน รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ เลนิน เคยเสนอว่ารัฐคือเครื่องมือแบบ ”ทหารข้าราชการ” คือกองทัพมีความสำคัญในการปกป้องรัฐเก่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ตูนิเซีย ซูดาน หรือไทย

ในประเทศตะวันตกที่ยังไม่มีวิฤต ชนชั้นปกครองจะเก็บกองทัพไว้ข้างหลัง และไม่นำออกมาใช้ภายในประเทศอย่างเปิดเผย จะใช้ตำรวจแทน แต่เราไม่ความหลงคิดว่าจะไม่มีการใช้ทหาร ตัวอย่างจากอดีตเช่นสเปน โปรตุเกส กรีซ หรืออิตาลี่ แสดงให้เห็นชัด

พรรคปฏิวัติสังคมนิยม

การที่ชนชั้นกรรมาชีพอยู่ใจกลางมวลชนที่ลุกฮือพยายามล้มรัฐ ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิวัติที่สำเร็จ ในซูดานในขณะนี้มี “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” หลายพันคณะ ซึ่งบ่อยครั้งเชื่อมกับกรรมาชีพ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ทำงานเหมือนสภาโซเวียตในอดีต สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ “พรรคปฏิวัติสังคมนิยม”

ในการลุกฮือของมวลชนในทุกกรณี จะมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเรื่องแนวทาง ยกตัวอย่างจากไทย มีคนที่อยากแค่ปฏิรูปการเมืองโดยไม่ทำลายบทบาทของทหาร มีคนที่อยากแค่สนับสนุนพรรคการเมืองในสภาและหวังว่าเขาจะสร้างประชาธิปไตยได้ มีคนที่อยากเห็นทักษิณแลพรรคพวกกลับมา มีคนที่อยากล้มเผด็จการแต่ไม่อยากแตะกฎมหาย112และสิ่งที่เกี่ยวข้อง มีคนที่มีข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเรื่องปากท้องเท่านั้น และมีคนที่ต้องการปฏิวัติล้มระบบ นอกจากนี้มีการเถียงกันเรื่องแนวทาง เช่นเรื่องสันติวิธีหรือความรุนแรง เรื่องมวลชนหรือปัจเจก เรื่องการทำให้การประท้วงเป็นเรื่อง “สนุก” และเน้นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการถกเถียงกันเรื่องบทบาทสหภาพแรงงาน หรือเรื่องผู้นำเป็นต้น

บทบาทสำคัญของพรรคปฏิวัติสังคมนิยมคือการสร้างความชัดเจนทางการเมืองในหมู่สมาชิกพรรค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวร่วมกับคนอื่นและการถกเถียงกันในพรรค ความชัดเจนนี้สำคัญเพราะพรรคจะต้องเสนอแนวทางกับมวลชน จะต้องร่วมถกเถียงและพยายามช่วงชิงการนำ พรรคต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับรัฐเก่า ต้องมีการเสนอรูปแบบรัฐทางเลือกใหม่ ต้องตั้งคำถามกับระบบ ต้องอธิบายว่าแค่ปฏิรูปผ่านรัฐสภาจะไม่พอ และต้องชวนให้มวลชนให้ความสำคัญกับกรรมาชีพ

ซูดาน

ในซูดานกับตูนิเซีย ไม่มีพรรคปฏิวัติในขณะที่มีการต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการ พรรคฝ่ายค้านกระแสหลักจึงสามารถเข้ามาช่วงชิงการนำได้ จริงอยู่ ในซูดานเรื่องยังไม่จบ การนำยังมาจาก “คณะกรรมการต่อต้านเผด็จการ” แต่คณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยหลายแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องดีและปกติ ปัญหาคือไม่มีองค์กรที่เสนอแนวทางไปสู่การล้มรัฐอย่างชัดเจน การต่อสู้ที่ซูดานจึงเสี่ยงกับการที่จะถูกเบี่ยงเบนไปสู่รัฐสภาในระบอบเดิม ในตูนิเซียสิบปีหลังอาหรับสปริง ประชาชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่แก้ไขปัญหาความยากจน ประธานาธิบดีไกส์ ซาอีดจึงสามารถก่อรัฐประหารเพื่อรวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ปัญหาคือสภาแรงงานและพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปหันไปสนับสนุนเขา การที่ขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมแปลว่าไม่มีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าไกส์ซาอีดยึดอำนาจเพื่อปกป้องชนชั้นปกครองและหมุนนาฬิกากลับสู่สภาพสังคมแบบเดิม แต่ก็ยังดีที่หนึ่งปีหลังรัฐประหารคนเริ่มตาสว่างและออกมาประท้วง

ไกส์ ซาอีด

ในอียิปต์ ตอนล้มเผด็จการมูบารัก มีองค์กรพรรคปฏิวัติสังคมนิยมขนาดเล็ก แต่ท่ามกลางการต่อสู้พรรคนี้เล็กเกินไปที่จะชวนให้มวลชนไม่ไปตั้งความหวังไว้กับมอร์ซีจากพรรคภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นพรรคกระแสหลัก และหลังจากนั้นเมื่อมวลชนเริ่มไม่พอใจกับรัฐบาลใหม่ พรรคไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้คนจำนวนมากไปฝากความหวังไว้กับกองทัพเพราะมีกระแสคิดที่เสนอว่า “กองทัพอยู่เคียงข้างประชาชน” ซึ่งไม่จริง

บทเรียนบทสรุป

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในการล้มเผด็จการ เพราะมักขาดพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ หรือถ้ามีพรรคมันยังเล็กเกินไป สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ขาดการตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ระบบ” และ “รัฐ” และขาดการเสนอทางออกที่นำไปสู่การล้มระบบและการสร้างรัฐใหม่ ในประเทศที่มีการกบฏอ่อนแอที่สุด ความอ่อนแอมาจาการที่กรรมาชีพมีบทบาทน้อยเกินไปหรือไม่มีบทบาทเลย ในไทยอันนี้เป็นปัญหาใหญ่

การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถจำกัดไว้ภายในพรมแดนรัฐชาติได้ มวลชนส่วนหนึ่งอาจถือธงชาติในการประท้วง แต่มีการเรียนรู้จากกันข้ามพรมแดน ดังนั้นการสมานฉันท์ของฝ่ายเราข้ามพรมแดนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการตั้งความหวังว่ารัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกหรือสหประชาชาติจะมาช่วยเราในการต่อสู้

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการปฏิวัติสังคม เป็น “กระบวกการ” ที่ใช้เวลา มันไม่ได้เกิดและชนะภายในในปีสองปี ดังนั้นมีชัยชนะชั่วคราว มีความพ่ายแพ้บ้าง และมีการเรียนบทเรียนเป็นเรื่องธรรมดา

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ข้อมูลบางส่วนได้มาจากหนังสือ Revolution Is the Choice Of The People: Crisis and Revolt in the Middle East & North Africa โดย Anne Alexander]

บทเรียนสำคัญจากการปฏิวัติในซูดานกับแอลจีเรีย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้นักข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งเป็นปากเสียงของนายทุนอังกฤษ ได้เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศซูดานมีบรรยากาศคล้ายกับการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ในยุคเลนิน ประโยคแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าการปฏิวัติในซูดานมีความสำคัญยิ่ง และทำให้เราเข้าใจว่าการปฏิวัติในแอลจีเรีย ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับซูดาน มีความสำคัญพอๆ กัน

Photo-creditL--750x400

สำหรับนักมาร์คซิสต์สังคมนิยม การต่อสู้ในทั้งสองประเทศ ต้องขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม สาเหตุที่เรามีมุมมองแบบนี้ก็เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมปัจจุบัน ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนจะประสบความล้มเหลวถ้าไม่ปฏิวัติต่อไป ซึ่งจะอธิบายเหตุผลในท้ายบทความนี้

เรื่องนีเกี่ยวข้องโดยตรงกับทฤษฏี “การปฏิวัติถาวร” ของ ลีออน ตรอทสกี้ [ดู https://bit.ly/2zCPB5h ]

การลุกฮือของชาวซูดาน เพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการของประธานาธิบดี อัล บาเชียร์ ระเบิดขึ้นเนื่องจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลภายใต้คำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ประชาชนธรรมดาเดือดร้อนมากเพราะราคาข้าวของเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นราคาขนมปัง ที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว

อัล บาร์เชียร์ เป็นทหารที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอิสลามสุดขั้วในปี 1989 หลังจากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป พร้อมกันนั้นมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก

20101218101053872360_20
อัล บาเชียร์

ในการต่อสู้ครั้งนี้มีมวลชนหลายแสนออกมาประท้วง จนนายทหารคนอื่นในชนชั้นปกครองซูดานมองว่ารัฐบาลคงไปต่อไม่ไหว ทหารจึงเขี่ย อัล บาเชียร์ ออกจากตำแหน่งและตั้งคณะทหารมาปกครองประเทศเพื่อเอาตัวรอด วิธีแบบนี้เคยถูกใช้ในการปฏิวัติอียิปต์ ในช่วง “อาหรับสปริง” และประชาชนไม่น้อยถูกหลอกให้ไว้ใจทหาร แต่คราวนี้ในซูดาน มวลชนไม่พอใจและชุมนุมต่อไป โดยเฉพาะหลังจากที่คณะทหารแจ้งว่าจะปกครองประเทศต่ออีกสองปี การต่อสู้ของมวลชนบังคับให้หัวหน้าคณะทหารคนแรกต้องลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งวัน (ภาพข้างล่าง)

sudan-spring-uprising-ibn-auf

แต่มวลชนยังต้องต่อสู้ต่อไปกับคณะทหาร โดยชุมนุมต่อเนื่องหน้ากองบัญชาการทหาร

SUDAN

ที่น่าทึ่งคือ พลังมวลชนในซูดานมาจากบทบาทของการนัดหยุดงานและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานคอปกขาว พวกนี้เป็นแกนนำของแนวร่วมที่มีชื่อว่า “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งคือบทบาทสำคัญของสตรีในการนำม็อบ

นอกจากกรรมาชีพคอปกขาวแล้ว คนงานในองค์กรไฟฟ้า องค์กรโทรคมนาคม ท่าเรือ และโรงสี ก็นัดหยุดงานด้วย

ภายในม็อบมีการจัดการอะไรเองหลายอย่าง เช่นความปลอดภัย การทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมและเด็กยากจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย การบันเทิงซึ่งประกอบไปด้วยการร้องเพลงและการจัดจอโทรทัศน์เพื่อดูฟุตบอล์ นอกจากนี้มีศูนย์พยาบาลอีกด้วย ภายในที่ชุมนุมมีความสามัคคีระหว่างคนต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ มันสะท้อนหน่ออ่อนของสังคมใหม่ที่อาจเป็นไปได้ถ้าประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง

ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการผู้ชุมนุมคือ ทหารต้องออกจากการเมือง พลเรือนต้องตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งต้องประกอบไปด้วยสตรีเกือบครึ่งหนึ่งและคนจากหลากหลายศาสนาเชื้อชาติ แน่นอนมันมีการถกเถียงกันระหว่างคนที่อยากประนีประนอมกับอำนาจรัฐ และคนที่อยากปฏิวัติโค่นรัฐเก่า แต่ทุกคนเข้าใจว่าการนัดหยุดงานและการชุมนุมเป็นหลักประกันสำคัญของชัยชนะ

อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวซูดานถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะคณะทหารทำเหมือนจะตกลงกับแกนนำ “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” เสร็จแล้วก็พยายามใช้ความรุนแรงในการปราบปรามม็อบ แต่ยังไม่สำเร็จ ข้อตกลงกับทหารครั้งนี้เป็นแผนซื้อเวลาของทหาร และอันตรายอย่างยิ่งกับฝ่ายปฏิวัติ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าทหารจะลงจากอำนาจในคณะปกครองประเทศชั่วคราว และมีการยืดเวลากำหนดเลือกตั้งออกไปสามปี

petroleum_workers_protest2_WEB_OK
คนงานน้ำมันประท้วง

ล่าสุดมีการประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อกดดันทหาร

การลุกฮือในแอลจีเรีย มาจากการต่อสู้เพื่อกีดกันการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศที่หมดสภาพเพราะความชราที่ชื่อ บูเตฟลิกา ผู้นำคนนี้ประกาศว่าอยากอยู่ต่ออีก 4 ปีทั้งๆ ที่ครองอำนาจมาเกือบยี่สิบปีผ่านการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการ บูเตฟลิกา ขึ้นมามีอำนาจหลังจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายทารุณระหว่างกองทัพกับพรรคอิสลามที่เคยชนะการเลือกตั้ง “ยุคสิบปีแห่งความมืด” นี้เกิดขึ้นระหว่าง 1992-2002 และก่อนที่จะมีการลุกฮือปีนี้มันมีกฏหมายห้ามการชุมนุมที่ตกค้างจากยุคมืดเผด็จการ

FILE PHOTO: Algeria's President  Abdelaziz Bouteflika gestures during a graduation ceremony of the 40th class of the trainee army officers at a Military Academy in Cherchell
บูเตฟลิกา กับนายทหารชั้นสูง

รัฐบาลของบูเตฟลิกา ใช้งบประมาณจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อพยุงความเป็นอยู่ของประชาชน แต่พอราคาทรัพยากรเหล่านี้ตกต่ำในตลาดทุนนิยมโลก การว่างงานก็เพิ่มขึ้น

637762f3753486aa1c8f735d7ac11c1e_w771_h422

หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียก็ใช้วิธีการเดียวกับที่ซูดาน คือเขี่ยผู้นำที่ประชาชนเกลียดชังออกจากตำแหน่งเพื่อเอาตัวรอด หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ขบวนการประท้วงไม่ยอมหยุด มีการยึดมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งโดยนักศึกษาและอาจารย์

la-1555182630-o77bgwl898-snap-image

ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในแอลจีเรียไม่ต่างจากซูดานคือ มวลชนคนธรรมดาต้องกำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำรัฐเก่ากำหนด

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์จากประเทศอียิปต์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ซูดานและแอลจีเรีย ไว้ 5 ข้อคือ

  1. เหตุการณ์ในสองประเทศแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติยังเป็นไปได้ในโลกสมัยใหม่ และอาหรับสปริงยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่มีชัยชนะตามด้วยความพ่ายแพ้ การปฏิวัติล้มรัฐเก่าและทุนนิยมเป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดจากนโยบายเสรีนิยมและระบบตลาดโลก
  2. เราเห็นประกายไฟที่ก่อให้เกิดการลุกฮือสองรูปแบบคือ ประเด็นเศรษฐกิจในซูดาน กับประเด็นการเมืองในแอลจีเรีย แต่อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ กับการต่อสู้ทางการเมือง มันย่อมเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจนำไปสู่การเมือง การเมืองนำไปสู่เศรษฐกิจ นักสังคมนิยมมีหน้าที่เชื่อมการต่อสู้สองซีกนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน [ดู https://bit.ly/2DtwQWo ]
  3. มวลชนต้องไม่หลงเชื่อทหารหรือสมาชิกเก่าของชนชั้นปกครองที่ต้องการสลายการชุมนุมด้วยการยอมเขี่ยผู้นำเก่าออกจากตำแหน่ง บทเรียนจากอียิปต์สอนให้เรารู้ว่าการประนีประนอมของฝ่ายเราจะนำไปสู่การถูกปราบปรามในอนาคตและการกลับมาของเผด็จการ นอกจากนี้จะมีการหันหลังกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
  4. การลุกฮือเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปูพื้นจัดตั้งการต่อสู้หลายปี โดยเฉพาะในชนชั้นกรรมาชีพการลุกฮือและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลายครั้งในแอลจีเรียแต่พึ่งมาก่อตัวเป็นการปฏิวัติในรอบนี้ ในซูดานก็มีการต่อสู้กับรัฐบาลโดยหลายกลุ่มก่อนหน้านี้
  1. บทบาทการนัดหยุดงานและการประท้วงของสหภาพแรงงานร่วมกับมวลชนอื่นๆ เป็นเรื่องชี้ขาด เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจสูง

แนวคิดปฏิวัติถาวร ของลีออน ตรอทสกี มีความสำคัญในการเสนอว่ากรรมาชีพต้องมีบทบาทนำในการปฏิวัติเพื่อปลดแอกชีวิตของคนธรรมดา การหยุดอยู่แค่การเลือกตั้งภายใต้ระบบและรัฐเก่าย่อมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาวไม่ได้ และการปล่อยให้ชนชั้นปกครองเก่าถืออำนาจต่อไปภายใต้บุคคลหน้าใหม่จะนำไปสู่การถูกปราบปราม นอกจากนี้การปฏิวัติที่จะได้รับชัยชนะต้องขยายไปในระดับสากล ตอนนี้มีการลุกฮือในหลายประเทศของอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนอกเหนือจาก ซูดานและแอจีเรีย คือที่ตูนิเซีย โมรอคโค เลบานอน และจอร์แดน ถ้าการปฏิวัติในซูดาน หรือแอจีเรีย ได้รับชัยชนะ การปฏิวัติจะลามไปสู่ประเทศอื่นและจะเสริมพลังของการปฏิวัติให้แรงขึ้น

5de501ab4504740c7f82a59c54b7bd43_w582_h482

กระบวนการปฏิวัติที่ยังไม่จบที่ ซูดาน และ แอลจีเรีย ทำให้เราเห็นว่า “รัฐ” ไม่ใช่อะไรที่เป็นกลาง เราต้องโค่นมันเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจ หน่ออ่อนของสังคมใหม่ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมใหญ่ และชนชั้นกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพมีความสำคัญในการนำการปฏิวัติไปสู่จุดหมายแทนที่จะประนีประนอม การศึกษาการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีการขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมยังมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน

ข่าวล่าสุด 7 มิย. 2019

การปฎิวัติในซูดานถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังการปราบปรามการชุมนุมโดยกองทัพ มีการนัดหยุดงานที่กดดันให้ผู้นำกองทัพเสนอให้รื้อฟื้นการเขรจากับฝ่ายประท้วง ถ้าประชาชนจะชนะจะต้องขยายการนัดหยุดงานและกดดันให้ทหารรากหญ้าที่สนับสนุนการประท้วงกบฏต่อผู้บังคับบัญชา