Tag Archives: ตรอทสกี้

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

การวิเคราะห์สังคมแบบมาร์คซิสต์คืออะไร

เวลามีคนเอ่ยถึงลัทธิมาร์คซ์คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง หรือระบบการปกครองในจีน ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าลัทธิมาร์คซ์ในที่นี้ต่างกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เหมาเจ๋อตุง และสตาลิน

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ตามความคิดของมาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี ซึ่งเป็นแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมสำหรับยุคสมัยใหม่มีองค์ประกอบดังนี้คือ

1. แนวคิดวิทยาศาสตร์ที่อิงเหตุผลและพร้อมที่จะถูกทดสอบในโลกจริงเสมอ สำนักคิดของเราไม่ใช่สำนักคัมภีร์นิยมที่ท่องจำสูตรของผู้นำผู้เป็นพระเจ้า ถ้าในอนาคตสิ่งที่เราเสนอถูกทดสอบกับโลกแห่งความจริงแล้วล้มเหลว เราพร้อมที่จะปรับความคิดเสมอ

2. เป็นวิธีการมองโลกเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องสร้างขึ้นเอง จากล่างสู่บน ไม่มีอัศวินม้าขาวที่ไหนที่จะมาสร้างให้แทนได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์เพื่อเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่วิเคราะห์เพื่อให้รู้อย่างเดียว คาร์ล มาร์คซ์ จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ในอดีตนักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลก แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการเปลี่ยนโลก” ดังนั้นนักมาร์คซิสต์จะต้องลงมือทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และลงมือสร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อเปลี่ยนโลกในรูปธรรม

3. การวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์ อาศัยหลักความคิดที่ค้นพบและถูกนำมาใช้โดย มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และ กรัมชี่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้คือ

     (ก) มองว่ามนุษย์ธรรมดาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ และเราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจโลกปัจจุบัน

     (ข) มองว่าถึงแม้ว่ามนุษย์สามัญเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่เขาไม่มีอำนาจที่จะเลือกสถานการณ์ภายนอกที่ดำรงอยู่ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสภาพความเป็นจริงในโลกแห่งวัตถุ ดังนั้นการเปลี่ยนสังคมขึ้นอยู่กับทั้งอัตวิสัย และภววิสัยเสมอ

     (ค) มองว่าลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคใดยุคหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต และพลังการผลิต” เป็นสิ่งหลักที่กำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นระบบการปกครองหรือระบบสังคม และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะความคิดในสมองมนุษย์ด้วย การให้ความสำคัญกับสิ่งของที่แตะต้องได้ หรือวัตถุ ในการกำหนดความคิดของมนุษย์ เรียกว่าแนวคิดแบบ “วัตถุนิยม” ซึ่งต่างจากแนวคิด “จิตนิยม” ที่มองว่าความคิดมนุษย์ โดยเฉพาะ “คนเก่ง” เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของโลกแต่แรก

     (ฆ) มองว่าถ้าเราจะเข้าใจโลกเราได้เราต้องมองโลกด้วย “วิภาษวิธี” (หรือไดอาเลคทิค) คือต้องมองภาพรวมของโลก ต้องหาความขัดแย้งในภาพรวมดังกล่าว และเมื่อหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ จะค้นพบสิ่งที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ นักมาร์คซิสต์จึงมองว่าสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง และสภาพการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ

     ในรูปธรรมแนวคิดมาร์คซิสต์มองว่า “วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิม” เป็นเรื่องรองที่เปลี่ยนตามยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งที่เติบโตจากลักษณะระบบการผลิต และบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้ทางชนชั้น

     สรุปแล้วแนวความคิดมาร์คซิสต์อาศัยหลักของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และวิภาษวิธี” ซึ่งตรงข้ามกับแนวความคิดของฝ่ายกระแสหลักที่มีรูปแบบ “บูชาปัจเจกคนเก่งที่เป็นชนชั้นนำ”   หรือแนวคิดสำนัก “วัฒนธรรมนิยม” ที่มองว่าการเมืองและสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่มาจากวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนว “กลไก” ของพวกสตาลิน-เหมาที่มักอ้างวิภาษวิธีหรือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในทางที่บิดเบือน

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับกับสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ (Combined and Uneven Development) เป็นวิธีอธิบายกระบวนการพัฒนาในประเทศด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ คนที่เสนอแนวคิดนี้คือนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ของรัสเซียชื่อ ลีออน ตรอทสกี

ลักษณะสำคัญของรัสเซียในสมัยก่อนการปฏิวัติปี 1917 คือมีความล้าหลังในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมถ้าเทียบกับยุโรปตะวันตก หรือสหรัฐ แต่ท่ามกลางความล้าหลังนี้มีบางส่วนที่ก้าวหน้าทันสมัยที่สุด

ประเทศล้าหลังจะเรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการผลิตจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ผ่านกระบวนการโลกาภิวัฒน์ของทุนนิยม แต่ไม่ได้เรียนรู้ในลักษณะการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนา เพราะประเทศล้าหลังจะได้เปรียบในแง่หนึ่งคือ สามารถรับสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกจากประเทศก้าวหน้าได้ทันที จึงมีการก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยตามภาพรวมของทุนนิยมโลก

ตรอทสกี้เขียนว่า “มนุษย์เผ่าดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตโบราณอยู่ในป่า วันนี้อาจใช้ธนูและหอก แต่พรุ่งนี้ ถ้ามีโอกาสสัมผัสกับคนจากภายนอก จะสามารถจับปืนมาใช้ได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเรื่อง “กฏเหล็ก” ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเรื่อง และบางครั้งการรับสิ่งที่ทันสมัยมาใช้โดยสังคมล้าหลัง อาจรับมาในลักษณะเพี้ยนๆ ก็ได้ เช่นการนำระบบคิดใหม่มาเสริมสร้างรูปแบบการปกครองแบบล้าหลัง กรณี รัชกาลที่๕ ในไทย เป็นตัวอย่างที่ดี คือรับรูปแบบการบริหารรัฐและเศรษฐกิจทุนนิยมมาใช้เพื่อเสริมอำนาจกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าประวัติศาสตร์มีกฏเหล็กทั่วไป กฏนั้นคงจะระบุว่าการพัฒนาของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียม ต่างระดับ และความไม่แน่นอนเสมอ

ในเรื่องของความ “ต่างระดับ” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับสิ่งใหม่ๆ จากโลกแบบองค์รวม เราจะเห็นจากรัสเซีย ในปี 1914 คือรัสเซียยากจนกว่าสหรัฐประมาณ 10 เท่า แต่ 40% ของอุตสาหกรรมรัสเซียเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยขนาดใหญ่ที่มีกรรมาชีพจำนวนมากในโรงงานเดียวกัน ในขณะที่เพียง 18% ของอุตสาหกรรมสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่พร้อมๆ กันนั้นรัสเซียมีความล้าหลังดำรงอยู่ คือมีชาวนากึ่งทาสเป็นล้านๆ คน ซึ่งสหรัฐไม่มี

กรรมาชีพในประเทศล้าหลังมีสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองหน้ากรรมาชีพโลกได้ทันที ทั้งในด้านจิตสำนึก ระดับการศึกษา และฝีมือ คือไม่ต้องผ่านการพัฒนาเป็นร้อยๆปี แบบที่เคยเกิดขึ้นในตะวันตก ลูกชาวนาในไทยที่เข้าสู่ระบบโรงงาน ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานได้ และคนไทยที่อยู่ในเมืองกับชนบทเรียนรู้วิธีใช้อินเตอร์เน็ดได้อย่างรวดเร็ว ไม่แพ้คนตะวันตก

แต่หลายแง่ของระบบการเมืองและสังคมในไทย ยังติดอยู่ในระดับล้าหลัง เช่นแนวคิดของชนชั้นปกครองไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นนายทุนหรือทหาร และมองว่าพลเมืองไทยคิดเองไม่เป็น ไม่ทันสมัย “ขาดการศึกษา” และปกครองตนเองไม่ได้ ดังนั้นชนชั้นปกครองไทยจึงอาศัยการปกครองแบบกึ่งเผด็จการเป็นส่วนใหญ่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การมองว่าประชาชนไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกนักการเมืองได้ การบังคับให้พลเมืองรักกษัตริย์ดุจเทวดาก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล้าหลังอันนี้ ทั้งๆ ที่กษัตริย์ไทยมีลักษณะทันสมัยในยุคปัจจุบัน คือเป็นเครื่องมือของนายทุนและทหาร

อีกแง่หนึ่งของความล้าหลังและต่างระดับของสังคมไทย คือในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสภาพชีวิตคนธรรมดา กับพวก “ผู้ใหญ่” และชนชั้นกลางในสังคม คนไทยจำนวนมากยังยากจน เมื่อเทียบกับเศรษฐีระดับโลกของไทย และการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการและสิทธิพลเมืองยังไม่เกิดอย่างจริงจัง

สภาพการพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับของไทย นำไปสู่ความขัดแย้งที่เราเห็นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอันหนึ่งคือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพราะเมื่อมีนักการเมืองนายทุน คือทักษิณและพรรคพวก เข้ามาเสนอแผนที่จะพัฒนาชีวิตประชาชนหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นโครงการสร้างงานหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พลเมืองจำนวนมากชื่นชมและเทคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองและทหารหัวเก่าที่ไม่เข้าใจความไม่พอใจที่ดำรงอยู่ในสังคมที่พัฒนาไปไกลแล้ว

เราควรเข้าใจว่าทฤษฏี “การพัฒนาแบบองค์รวมและต่างระดับ” ของตรอทสกี้ ใช้อีกทฤษฏีหนึ่งเป็นคู่ฝาแฝด คือ “ทฤษฏีปฏิวัติถาวร” (Permanent Revolution) ทั้งตรอทสกี้ และคาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศด้อยพัฒนาไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้าเท่านายทุนในประเทศพัฒนา เพราะไม่เคยนำการปฏิวัติล้มระบบขุนนาง นายทุนส่วนใหญ่หลังยุค 1848 เป็นนายทุนขี้ขลาด กลัวกรรมาชีพมากกว่าเกลียดขุนนาง และมุ่งที่จะอนุรักษ์ระบบโดยพร้อมจะประนีประนอมกับอำนาจเผด็จการประเภทที่ปฏิกิริยาที่สุดเสมอ

นักมาร์คซิสต์จึงเสนอว่าผู้ที่จะต้องรับภาระในการปลดแอกประชาชนในโลกปัจจุบัน จะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก ชนชั้นกรรมาชีพสำคัญเพราะทำงานรวมหมู่และอยู่ในใจกลางระบบการผลิตและเศรษฐกิจทุนนิยม

สำหรับไทย แนวคิดนี้อธิบายว่าทำไมทักษิณและนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่มีวันนำการต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทหารและพวกอนุรักษ์นิยม เพราะเขากลัวว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นจะไปไกลกว่าแค่การหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาพการเมืองก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทักษิณและพรรคพวกมีส่วนคล้ายและอุดมการณ์ร่วมกับพวกทหารและนักการเมืองอนุรักษ์นิยม มากกว่าที่เขาจะมีกับประชาชนธรรมดา นี่คือสาเหตุที่เขาแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงหลังยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

ถ้าเราจะเดินหน้าพัฒนาระบบการเมืองและสังคมไทย เราต้องสร้างพรรคและขบวนการทางสังคมของมวลชนคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพ พรรคและขบวนการนี้ต้องอิสระโดยสิ้นเชิงจากทักษิณและพรรคเพื่อไทย และเราต้องเลิกตั้งความหวังอะไรเลยกับพรรคเพื่อไทยหรือการเลือกตั้งภายใต้อำนาจทหารในอนาคต

การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้นตรงกับวันสตรีสากล ท่ามกลางความป่าเถื่อนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วยกัน

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งในเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่มีผู้แทนของคนงานกับทหาร และเป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

สภาโซเวียด

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

สภาโซเวียด

ในการปฏิวัติอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์สิน มีส่วนในการล้มอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่เริ่มลังเลใจหลังจากที่การปฏิวัติเริ่มก้าวหน้าสุดขั้วมากขึ้น แต่ในการปฏิวัติรัสเซีย ชนชั้นนายทุนเข้ากับอำนาจเก่าของกษัตริย์ซาร์ตลอด เพราะกลัวพลังของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่ ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยม ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาอะไรเลย

ทหารรัสเซียกับเยอรมันกอดกันฉลองการยุติสงครามโดยบอลเชวิค

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

เลนินเดินทางกลับถึงรัสเซีย

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนเพราะแกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับเข้าสู่รัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคก็ขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 (ตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น) ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

เลนินกับตรอทสกี้

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

ทหารแดงยึดถนนต่างๆ ในเมือง

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ต่างจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 8 เดือนก่อน เพราะไม่มีความวุ่นวาย ยิงกันน้อยมาก และไม่มีใครตาย สาเหตุไม่ใช่เพราะ “เป็นการทำรัฐประหาร” อย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนอ้าง แต่เป็นเพราะเป็นการปฏิวัติโดยมวลชนที่มีการประสานกัน ผ่านองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากคนงาน ทหารเกณฑ์ และเกษตรกร องค์กรนี้ชื่อ “คณะกรรมการทหารปฏิวัติของโซเวียดเมือง เพทโทรกราด” องค์กรปฏิวัตินี้ ซึ่งมีผู้แทนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค สามารถตัดสินใจด้วยความชอบธรรม เพราะมวลชนเลือกมาในระบบที่ถอดถอนผู้แทนได้เสมอ และเมื่อมีคำสั่งจากองค์กรนี้ มวลชนทุกฝ่ายก็จะทำตาม เพราะเป็นองค์กรของมวลชน ซึ่งต่างจากรัฐบาล “ชั่วคราว” โดยสิ้นเชิง

สมาชิกพรรคบอลเชวิคแจกใบปลิว

สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

อย่างไรก็ตามแกนนำการปฏิวัติสังคมนิยม อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี เข้าใจดีว่าเขาเผชิญหน้ากับปัญหามหาศาล รัสเซียเป็นประเทศล้าหลังที่มีความก้าวหน้ากระจุกอยู่ที่แค่เมือง เพทโทรกราด เกษตรกรจำนวนมากของรัสเซียไม่ได้สนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมเพราะอุดมการณ์ แต่เขาสนับสนุนการปฏิวัติเพราะมันนำไปสู่การกระจายที่ดินไปสู่เกษตรกร ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในการปฏิวัติทุนนิยมที่ฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าการปฏิวัติสังคมนิยมนี้จะได้รับการสนับสนุนยาวนานถาวรจากเกษตรกร ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ในรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสียหายจากสงคราม ถ้าจะทำ ต้องทำผ่านการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเยอรมัน ซึ่งในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันตกก็มีการลุกฮือกบฏและต่อต้านสงครามมากพอสมควร

เลนิน ฟันธงไปเลยว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติในเยอรมัน การปฏิวัติรัสเซียจะไปไม่รอด ในต้นปี 1918 มีการลุกฮือนัดหยุดงานโดยคนงาน ห้าแสนคน ในอุตสาหกรรมเหล็กของ ออสเตรีย และเยอรมัน แต่คนงานเหล่านี้ไปหลงไว้ใจผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD และผลคือผู้นำเหล่านั้นหักหลังคนงาน โรซา ลัคแซมเบอร์ ซึ่งตอนนั้นติดคุกอยู่ เพราะต้านสงคราม เขียนว่า “ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นพวกขี้ขลาดที่แย่ที่สุด เพราะพร้อมจะนิ่งเฉยปล่อยให้รัสเซียตาย”

การที่แกนนำพรรค SPD เยอรมันหักหลังคนงานและทำลายกระแสนัดหยุดงาน ซึ่งอาจขยายไปเป็นการปฏิวัติได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นายพลเยอรมันส่งทหารบุกเข้าไปยึดพื้นที่ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของรัสเซีย นอกจากนี้กองทัพของอังกฤษ ฝรั่งเศส เชค และญี่ปุ่น บุกเข้าไปยึดส่วนต่างๆ ของรัสเซียเช่นกัน และในไม่ช้าพรรคเมนเชวิค และพรรคปฏิวัติสังคม ภายในรัสเซียเอง ก็เริ่มจับอาวุธเพื่อทำลายการปฏิวัติ ในสภาพเช่นนี้พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งในลักษณะเผด็จการและในลักษณะการทหาร เพื่อเอาชนะศัตรู

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติสังคมนิยมไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพและศัตรูเหล่านี้ เพราะคนจนส่วนใหญ่ในรัสเซียสนับสนุนการปฏิวัติและพร้อมจะสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา ลีออน ตรอทสกี สามารถรวบรวมคนงานและทหารเพื่อก่อตั้ง “กองทัพแดง” ที่เอาชนะ “กองทัพขาว” ทั้งหลายได้ แต่ชัยชนะของนักปฏิวัติรัสเซียเป็นชัยชนะราคาแพง

การที่ต้องระดมพลเพื่อสร้างกองทัพแดง และเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ในสภาพที่เศรษฐกิจย่ำแย่ หมายความว่าพลังการผลิตของชนชั้นกรรมาชีพสูญหายไป เพราะโรงงานต่างๆ ต้องปิด และกองกำลังแดงกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พรรคบอลเชวิคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์) กลายเป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือสังคม และตลอดเวลา แกนนำพรรครอและหวังว่าจะมีการปฏิวัติในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เพื่อมาช่วยกู้สถานการณ์ในรัสเซีย แต่ในที่สุดเขาต้องผิดหวัง

สภาพแบบนี้เปิดทางให้ สตาลิน สามารถยึดอำนาจได้หลังจากที่เลนินตาย และสตาลินก็เดินหน้าทำลายสิทธิเสรีภาพและสังคมนิยมในรัสเซียอย่างถอนรากถอนโคน แต่การสร้างเผด็จการของสตาลินจำต้องอาศัยการโกหกหลอกลวงอันยิ่งใหญ่ เพราะมีการอ้างว่ารัสเซียยังเป็นสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในระบบใหม่ที่เขาสร้างขึ้นซึ่งเป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” นอกจากนี้มีการสร้างรูปปั้นเลนินทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพเท็จว่าแนวของสตาลินคือแนวเดียวกับเลนิน มีแค่ตรอทสกี้เท่านั้นที่พยายามรักษาอุดมการณ์เดิมของการปฏิวัติ แต่ในที่สุดเขาก็โดนคนของสตาลินตามไปฆ่าที่เมคซิโก

ทุกวันนี้การปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถ้ามนุษย์จะปลดแอกตนเอง ในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมนิยม แต่สังคมนิยมจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อไม่จำกัดอยู่ในประเทศเดียว ต้องมีการขยายไปสู่ประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศทั่วโลก