Tag Archives: ตำรวจ

เราสามารถปฏิรูปตำรวจได้หรือไม่?

ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ มักจะเกิดคำถามในหมู่นักเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ โดยเฉพาะเวลาตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกาประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกับการเหยียดสีผิวของตำรวจซึ่งนำไปสู่การฆ่าประชาชนผิวดำอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจล่าสุดเกิดจากการที่ตำรวจในเมือง Minneapolis เอาหัวเข่ากดทับคอของ George Floyd จนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ George Floyd ร้องว่าหายใจไม่ออกหลายครั้ง เหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แปลกประหลาดสำหรับตำรวจในสหรัฐ นำไปสู่ขบวนการประท้วง Black Lives Matter (ชีวิตคนผิวดำสำคัญ) ที่ขยายไปสู่เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และขยายต่อไปสู่อังกฤษและที่อื่นอีกด้วย

ธรรมดาแล้วเวลาตำรวจฆ่าประชาชน มักจะไม่มีการนำตำรวจเหล่านั้นมาขึ้นศาลและลงโทษ และตำรวจที่เป็นฆาตกรมักจะลอยนวลเสมอ แต่ความยิ่งใหญ่ของขบวนการประท้วง Black Lives Matter บังคับให้ทางการสหรัฐต้องนำตำรวจชื่อ Derek Chauvin มาขึ้นศาลและในที่สุดถูกจำคุก แต่ในกรณีอื่นๆ อีกมากมายก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่มีการลงโทษตำรวจเลย ชนชั้นปกครองมักปกป้องกองกำลังของตนเองเสมอ

นอกจากนี้ขบวนการประท้วง Black Lives Matter ได้ตั้งคำถามกับสังคมว่า “เราสามารถยกเลิกตำรวจได้หรือไม่?” ซึ่งในรูปธรรมหมายถึงการรณรงค์ให้ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ แต่เราคงไม่แปลกใจที่ยังไม่มีที่ไหนที่ตัดงบประมาณทั้งหมดของตำรวจ ทั้งๆ ที่ผู้แทนท้องถิ่นในบางที่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ในสหรัฐ ในอังกฤษ และในประเทศต่างๆ ของยุโรปที่เป็นประชาธิปไตย มักจะมีประชาชนที่เสียชีวิตหลังจากที่เผชิญหน้ากับตำรวจ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนผิวดำ ส่วนในประเทศที่เป็นเผด็จการไม่ต้องพูดถึงเลย ตำรวจจะฆ่าประชาชนตามอำเภอใจและจะลอยนวลเป็นธรรมดา

ในประเทศที่ตำรวจทุกคนถือปืนอย่างเช่นสหรัฐ ตำรวจจะยิงก่อนและถามคำถามทีหลัง แต่การตายของประชาชนจากการกระทำของตำรวจก็เกิดที่อังกฤษด้วย ในอังกฤษตำรวจจะถือปืนในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่ตำรวจยังสามารถซ้อมทรมานประชาชนได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นล่าสุดในอังกฤษ ตำรวจคนหนึ่งไปข่มขืนสตรีคนหนึ่งและฆ่าทิ้ง และเมื่อมีการออกมาประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงที่ออกมาประท้วงโดยแก้ตัวว่าคนเหล่านั้นฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการรวมตัวของประชาชนในยุคโควิด นอกจากนี้ในอังกฤษมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับสายลับตำรวจที่ใช้ชื่อปลอมเพื่อแทรกเข้าไปในกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มนักสหภาพแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ โดยที่ตำรวจพวกนี้ฝังลึกจนไปมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมโดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ

ในไทยการกระทำของตำรวจก็ไม่ดีกว่าที่อื่น เช่นตำรวจสภ.นครสวรรค์ 7 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทรมานผู้ต้องหาจนตาย ในปาตานีตำรวจร่วมกับทหารในการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิม และในกรณีสงครามปราบยาเสพติดมีการวิสามัญฆาตกรรม

กรณีไทยซับซ้อนกว่าประเทศประชาธิปไตยบางประเทศ เพราะชนชั้นปกครองมักใช้ทหารในหน้าที่คล้ายๆ กับตำรวจ คือเข้ามาคุมสังคม ไม่ใช่แค่รบในสงครามภายนอก สาเหตุเพราะทหารไทยทำรัฐประหารบ่อยและเสือกในเรื่องการเมืองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทหารอาจไม่ค่อยไว้ใจตำรวจ

ในอดีต สมัย เผ่า ศรียานนท์ ผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป. ผู้บัญชาการตำรวจกับผู้บัญชาการทหารแข่งขันกันเพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในสังคมภายใต้เผด็จการ

ในยุคสงครามเย็นมีการสร้างองค์กรคล้ายๆ ทหารในตำรวจ เช่นตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน องค์กรเหล่านี้สร้างขึ้นมาภายใต้คำแนะนำของสหรัฐเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ และหน่วยงานเหล่านี้ถูกใช้ในการปราบและฆ่านักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

มันไม่ใช่แค่ในไทย เพราะในประเทศอิตาลี่กับสเปนมีหน่วยตำรวจที่แข่งกันและมีหน้าที่ซ้อนกัน โดยที่องค์กรหนึ่งมีลักษณะคล้ายทหารมากกว่าตำรวจ

สำหรับไทยในยุคนี้ ทหารเข้มแข็งกว่าตำรวจและคุมตำรวจได้ แต่ดูเหมือนสององค์กรนี้หากินในพื้นที่ต่างกันเป็นส่วนใหญ่ ทหารหากินผ่านการคุมอำนาจทางการเมือง และตำรวจหากินโดยรีดไถประชาชนในระดับรากหญ้า

ในช่วงการประท้วงของเสื้อแดง แกนนำเสื้อแดงพยายามเสนอว่าตำรวจดีกว่าทหารเพราะทักษิณเคยเป็นตำรวจ และมีการพูดถึงตำรวจในลักษณะบวก แต่ในที่สุดตำรวจก็ไม่ได้ทำตัวต่างจากทหารในเรื่องการเมืองเลย

ในช่วงที่พวกสลิ่มออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกวักมือเรียกทหารมาทำรัฐประหาร ตำรวจนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไร เพราะตำรวจระดับสูงสนับสนุนสลิ่ม

ในการประท้วงไล่ประยุทธ์เมื่อปีที่แล้ว สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ได้วิจารณ์ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชนว่าใช้วิธีจัดการกับม็อบไม่เป็นไปตาม “หลักสากล” และบางครั้งเป็นฝ่ายเปิดฉากยั่วยุให้มวลชนปะทะ   เลยมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะ “ปฏิรูปตำรวจ” ขนานใหญ่ แต่ “หลักสากล” ที่เขาพูดถึงไม่เคยมีจริง

บทบาทของตำรวจที่กล่าวถึงในบทความนี้ทำให้เราเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่ เลนิน เคยพูดถึงเกี่ยวกับเครื่องมือของรัฐ คือในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน อธิบายว่ารัฐใช้กองกำลังในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ตำรวจ ทหาร คุก กับศาล ล้วนแต่เป็นเครื่องมือที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนธรรมดาที่เป็นกรรมาชีพหรือชาวนา กฎหมายต่างๆ ที่ร่างกันในรัฐสภาส่วนใหญ่ก็รับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ซึ่งในยุคสมัยนี้คือชนชั้นนายทุน

นักสหภาพแรงงานในไทยและที่อื่นเข้าใจดีว่าเมื่อมีการนัดหยุดงานหรือการประท้วงของคนงาน ตำรวจไม่เคยเข้าข้างคนงานเลย ศาลแรงงานก็ไม่ต่างออกไป และเราเห็นชัดว่าเมื่อฝ่ายนายจ้างทำผิดเช่นไล่คนงานออกโดยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าชดเชย กลั่นแกล้งคนงาน ก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือปล่อยสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตำรวจควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ครบมือไม่เคยบุกเข้าไปจับหรือตีหัวนายทุน กรณีที่มีนายทุนติดคุกเกือบจะไม่เกิดเลย และถ้าเกิดก็เพราะมีการรณรงค์จากขบวนการมวลชน ตำรวจคือเครื่องมือทางชนชั้น

ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในทุกประเทศรวมถึงไทย พยายามกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อนิยายว่าตำรวจปกป้องสังคมและดูแลประชาชน รูปปั้นหน้าสถานีตำรวจที่มีตำรวจอุ้มประชาชน เป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายภาพรวมของตำรวจที่มีภาระหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนอีกด้วย แต่มันตรงข้ามกับความเป็นจริง ความจริงคือตำรวจอุ้มและลากประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเข้าคุก และรีดไถเงินจากคนธรรมดา

วิธีครองใจพลเมืองของชนชั้นปกครองเกี่ยวกับอำนาจรัฐและกองกำลังติดอาวุธของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าครองใจประชาชนไม่ได้ ชนชั้นปกครองจะครองอำนาจยากและต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการทำอย่างต่อเนื่องแบบนั้นนานๆ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็จะไม่มีวันสร้างความสงบมั่นคงในสังคมได้เลย แค่มองข้ามพรมแดนไปที่พม่าก็จะเห็นภาพ

การสร้างตำรวจขึ้นมาในสังคมทุนนิยม เกิดขึ้นเพื่อใช้ตำรวจในการควบคุมความมั่นคงของรัฐในสังคม ในอดีตก่อนที่จะมีตำรวจ ชนชั้นปกครองต้องใช้ความรุนแรงโหดร้ายทารุนของทหารกับคนธรรมดา ซึ่งเสี่ยงกับการทำให้เกิดการกบฏ ตำรวจมีหน้าที่ตีหัวประชาชน หรือใช้ก๊าซน้ำตา ถ้าเป็นไปได้ แต่ถ้าเอาทหารมาคุมมวลชนมีแต่การยิงประชาชนตายอย่างเดียว รัฐต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เสมอ แต่เผด็จการทหารของประยุทธ์บางครั้งก็สร้างความเสี่ยงด้วยการนำทหารมาลงถนน

ในแง่หนึ่งทหารกับตำรวจต่างกันที่ทหารอาศัยทหารเกณฑ์ที่เป็นประชาชนธรรมดา มาทำหน้าที่ชั่วคราว ทหารเกณฑ์ระดับล่างเหล่านี้อาจมีจุดยืนที่ใกล้ชิดญาติพี่น้องประชาชนมากกว่าตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพระยะยาว แต่มันไม่ขาวกับดำ

การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และส่วนใหญ่มีหน้าที่ปราบคนที่สังคมตราว่าเป็น “ผู้ร้าย” เป็นสาเหตุสำคัญที่ตำรวจมักมีอคติต่อประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อย ที่ถูกกล่าวหาว่า “มัก” ก่ออาชญากรรม นี่คือสาเหตุที่ตำรวจไทยมีอคติต่อคนที่มาจากชาติพันธุ์ชายขอบ คนมาเลย์มุสลิม หรือคนจนที่ตกงานหรือเร่ร่อน และตำรวจในตะวันตกมีอคติกับคนผิวดำ

การมีผู้บัญชาการตำรวจที่เป็นคนผิวดำในสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตำรวจฆ่าคนผิวดำน้อยลง การที่อังกฤษเคยมีผู้บัญชาตำรวจที่เป็นผู้หญิง ก็ไม่ได้ช่วยในการปกป้องสิทธิสตรี การมีหัวหน้าตำรวจที่เป็นมุสลิมก็ไม่ช่วยปกป้องคนมาเลย์มุสลิม เพราะตำรวจเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของชนชั้นปกครอง ไม่ว่าบุคลากรในองค์กรตำรวจจะมีสีผิว เพศ หรือชาติพันธุ์อะไร

ในที่สุดถ้าเราจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งรวมไปถึงทั้งการปราบม็อบ อุ้มทรมาน หรือรีดไถ เราต้องรื้อถอนโครงสร้างรัฐ และทำลายระบบชนชั้น คือปฏิวัติล้มระบบนั้นเอง

แต่ทิ้งท้ายไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องอธิบายเพิ่ม สิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าไม่มีตำรวจประชาชนจะปลอดภัยหรือไม่? ในความเป็นจริงตำรวจไม่ได้ปกป้องประชาชนธรรมดาจากอาชญากรรมเลย ตำรวจพยายามจับผู้ร้ายหลังเกิดเหตุต่างหาก และบ่อยครั้งจับไม่ได้ด้วย ถ้าจะลดอาชญากรรมเราต้องแก้ที่ต้นเหตุ เช่นการปล้นขโมยที่มาจากความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสตรีที่มาจากการที่สังคมไม่เคารพสตรีและมองว่าสตรีเป็นเพศรองจากชายหรือการที่สังคมสร้างภาพว่าผู้หญิงต้องมีบทบาทเอาใจชายทางเพศ นอกจากนี้ต้องปรับความคิดเรื่องยาเสพติดโดยมองว่าไม่ต่างจากสุราเป็นต้น แท้จริงแล้วตำรวจในรัฐทุนนิยมปัจจุบันทั่วโลกมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติและผลประโยชน์ของรวย และชนชั้นปกครองพร้อมจะปิดหูปิดตาเมื่อตำรวจทำตัวเป็นอันธพาลต่อคนธรรมดา

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องอธิบายคือ ถ้าเราต้องปฏิวัติล้มระบบ มันแปลว่าเราไม่ควรเสียเวลาเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่เลย! ตราบใดที่เรายังล้มระบบไม่ได้ เราต้องคอยกดดันเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมเสมอ ต้องประท้วงเมื่อตำรวจทำผิด แต่เราไม่หลงคิดว่าในระยะยาวเราไม่ต้องยกเลิกตำรวจ

และคำถามสุดท้ายที่ต้องตอบคือ ถ้าเราปฏิวัติล้มรัฐทุนนิยม รัฐใหม่ของเราจะมีกองกำลังติดอาวุธหรือไม่? ในระยะแรกต้องมี เพื่อปราบปรามซากเก่าของชนชั้นนายทุน แต่ที่สำคัญคือกองกำลังนี้ต้องถูกควบคุมโดยประชาชน และเป็นกองกำลังที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กองกำลัง “พิเศษ” ที่แยกจากประชาชนและอยู่เหนือประชาชน

ในยุคปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ใกล้สถานการณ์ปฏิวัติ เราต้องขยันในการเตรียมตัว คือต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเข้าใจธาตุแท้ของตำรวจและไม่ไปหวังว่าตำรวจจะรับใช้ประชาชน และต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้ตำรวจ(หรือทหาร)รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพ

นักปฏิวัติสังคมนิยมชื่อ โรซา ลักเซมเบิร์ก เคยเสนอว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกฝนเตรียมตัวเพื่อการปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์กับ “ความรุนแรง”

เมื่อพูดถึง “ความรุนแรง” สิ่งแรกที่นักมาร์คซิสต์ต้องย้ำเสมอคือ ความรุนแรงของพวกที่กดขี่เรา (เช่น รัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล) ไม่เหมือนความรุนแรงของคนที่ถูกกดขี่ปราบปราม ในเรื่องนี้พวก “สันติวิธี” แบบหอคอยงาช้างมักจะละเลยเสมอด้วยคำพูดในเชิง “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง”

คำพูดแบบนั้นเรามักได้ยินในเรื่องความขัดแย้งในปาตานี หรือการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่พวกสันติวิธีแบบหอคอยงาช้างมองข้ามเสมอคือ ฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธและพร้อมที่จะใช้อาวุธเหล่านั้นเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เขาถืออาวุธไว้ปราบประชาชนเป็นการประกาศตั้งแต่แรกว่ารัฐพร้อมจะใช้ความรุนแรงเสมอ ดังนั้นข้อเรียกร้องว่า “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง” ไม่มีผลกับรัฐ แต่กลับกลายเป็นคำวิจารณ์คนที่ถูกกดขี่ปราบปรามที่พยายามป้องกันตัวเท่านั้น

คนที่อยู่ในไทยที่นั่งอยู่บ้านไม่ทำอะไร แต่วิจารณ์ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือประกาศว่า “เป็นห่วงน้องๆ” ที่ออกมาชุมนุม เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะถ้าเขาไม่อยากเห็นความรุนแรงเขาจะต้องมาร่วมชุมนุม ในหลายๆ กรณีมวลชนยิ่งมากเท่าไร รัฐยิ่งไม่กล้าปราบ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การกดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมที่ปาตานี เราจะเห็นว่าขบวนการติดอาวุธสู้กับรัฐไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นหลังจากที่หะยีสุหลงถูกรัฐไทยอุ้มฆ่าในปี ๒๔๙๗  โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือหลังจากการลงมือฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมไร้อาวุธที่ตากใบในปี ๒๕๔๗ โดยรัฐบาลทักษิณ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราจะเข้าใจว่าการจับอาวุธเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐไทยเข้ามาปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่นการจับขังหรือการฆ่าเป็นต้น

ในปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฏร์ หรือ REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้อาวุธ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เตรียมอาวุธมาทำร้ายคนอื่นคือตำรวจกับทหาร และอันธพาลของฝ่ายคลั่งเจ้า การที่ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการฉีดน้ำใส่สารเคมี การใช้ก๊าซน้ำตา การใช้กระสุนยาง หรือการใช้กระสุนจริง (อันหลังนี้โดยเฉพาะในกรณีเสื้อแดง) ถือว่าเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ฝ่ายรัฐปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหารแต่แรก

การที่แกนนำผู้ชุมนุมหลายๆ คนถูกรัฐจับกุมและขังในคุกด้วยกฏหมายเถื่อน112 ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปิดปากประชาชนและห้ามไม่ให้มีการแสดงออกอย่างเสรี อย่าลืมว่าคนที่กำลังโดน 112 แค่ใช้คำพูดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสูงตามหลักประชาธิปไตย เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดประยุทธ์ที่เคยสั่งฆ่าเสื้อแดง และต้องรับผิดชอบกับการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในยุคนี้

ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยพยายามป้องกันตัวหรือโกรธแค้นขึ้นมา และใช้ความรุนแรงโต้ตอบตำรวจหรือทหารมันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เข้าใจได้ และมาร์คซิสต์จะไม่มีวันวิจารณ์ เราจะพุ่งเป้าการวิจารณ์ไปที่รัฐบาลเผด็จการกับตำรวจทหาร

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วงในขบวนการ “Black Lives Matter” และไปเผาโรงพักที่ส่งตำรวจออกไปฆ่าคนผิวดำ เราจะไม่มีวันวิจารณ์

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าภายในขบวนการเคลื่อนไหว มวลชนจะไม่มีการถกเถียงกันเรื่องความฉลาดในการใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเสียการเมือง

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเราพูดแค่นี้ไม่ได้ มีอีกสองประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณา

ประเด็นแรกคือยุทธวิธีการจับอาวุธ ที่เคยใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่ BRN ใช้ในปาตานีตอนนี้ ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยได้ เพราะกองกำลังของรัฐไทยมีอาวุธและจำนวนคนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นการใช้แนวจับอาวุธมีผลทำให้มวลชนคนธรรมดาไม่มีบทบาทอะไรเลย และไม่มีส่วนในการกำหนดแนวทางต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพวกจับอาวุธย่อมปิดลับเสมอ มาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะล้มเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคม เราต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเมื่อใกล้ชนะแล้วมวลชนจะไม่ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากฝ่ายรัฐเก่าที่พร้อมจะฆ่าคนจำนวนมากในการรักษาอำนาจอันไม่ชอบธรรม แต่ในกรณีนั้นแนวทางจะเน้นมวลชนเหนือการจับอาวุธ

ถ้าจะเปรียบเทียบแนวจับอาวุธกับแนวมวลชน เรามีบทเรียนสำคัญจาก Arab Spring เพราะในกรณีอียิปต์ หรือตูนิเซีย มีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ในกรณีซิเรีย การใช้แนวจับอาวุธนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้ และแถมเปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมในสงคราม จนสังคมซิเรียพังทะลาย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปก้องกันตัวจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าเราสู้ด้วยอาวุธชนิดเดียวกับที่ผู้กดขี่เราใช้ จะไม่ได้ผลเท่าไร แต่ถ้าเราใช้พลังของมวลชนในการนัดหยุดงาน มันเป็นอาวุธที่ฝ่ายรัฐมีความลำบากมากในการปราบหรือโต้ตอบ เพราะกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ การนัดหยุดงานจึงเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง และสามารถใช้ล้มเผด็จการได้

อ่านเพิ่ม

ถ้าจะไล่เผด็จการทหารต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน http://bit.ly/2Oh1mJz

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42

ใจ อึ๊งภากรณ์

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์ระบบศาลและตำรวจไทยตรงจุด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อวิจารณ์ประเทศไทย ของ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ ในสื่อสากลนั้น ผู้เขียนค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ดังกล่าวในประเด็นสำคัญๆ

ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ สองนักท่องเที่ยวอังกฤษ ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายที่เกาะเต่า แต่ตำรวจไทยกลับรีบจับสอง “แพะ” คนงานจากพม่า ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน และในเดือนที่ผ่านมาศาลไทยก็ตัดสินลงโทษประหารชีวิตเหยื่อระบบอยุติธรรมของไทยสองคนนี้

ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ตั้งข้อสังเกตว่าไทยไม่ใช่ “เมืองยิ้ม” อย่างที่มีการโฆษณากันเป็นประจำ และหาดทรายไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่ “สวรรค์” อย่างที่หลายคนเชื่อ พร้อมกันนั้นก็กล่าวหาตำรวจไทยว่าไร้ประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยการคอร์รับชั่น เขาอธิบายเพิ่มว่า “คนไทยมักจะเกลียดชาวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวตะวันตก” อีกด้วย และที่แย่สุดคือวาจาของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่ง ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ รับไม่ได้ และไม่ควรจะรับได้อีกด้วย

ในหลายประเด็น ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ วิจารณ์สังคมไทยตรงจุด

คนเสื้อแดงและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย มีประสบการของความโหดร้ายทารุณของชนชั้นปกครองไทยและมาเฟียท้องถิ่นไทย โดยที่ฆาตกรเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาขึ้นศาลหรือถูกลงโทษแต่อย่างใด สำหรับเรา “ไทยเป็นเมืองน้ำตาตกใน” ไม่ใช่เมืองยิ้มแต่อย่างใด

ในแหล่งท่องเที่ยวติดทะเลของไทยที่สวยงามหลายที่ มีการควบคุมธุรกิจโดยมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพล พวกนี้ทั้งโลภมาก ใช้พฤติกรรมอันธพาล และป่าเถื่อนในการขูดรีดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และแน่นอนมาเฟียเหล่านี้ก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับตำรวจและทหาร

พลเมืองไทยจำนวนมาก รวมถึงผู้เขียนเอง ก็มีประสบการณ์ของการคอร์รับชั่นโดยตำรวจ และพฤติกรรมที่เลวทรามต่อประชาชน และเราทุกคนทราบดีว่าศาลไทยลำเอียงและไร้ความยุติธรรมอย่างไร

สองแพะ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน ต้องถูกมองว่าเป็นคนบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่าเขากระทำความผิด จริง และในสภาพที่หลักฐานของฝ่ายตำรวจและอัยการไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง และขัดแย้งในตัว อย่างที่หมอพรทิพย์เปิดเผยออกมา เราต้องสรุปว่ายังไม่มีการพิสูจน์ว่าสองคนนี้คือคนร้ายตัวจริง แถมตำรวจใช้การทรมานเพื่อบังคับให้ “สารภาพ” อีกด้วย

การทรมานผู้ต้องขังเป็นวัฒนธรรมเลวทรามของตำรวจและทหารไทยในหลายกรณีที่ผ่านมา

เรื่องการเหยียดเชื้อชาติของคนไทยจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ผู้เขียนวิจารณ์มานาน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือคำเหยียดหยามที่คนไทยจำนวนมากใช้เรียกคนที่เขามองว่าไม่ใช่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ไอ้มืด” “แขก” “ฝรั่ง” “ญวน” หรือ “ไอ้หม่อง” บ่อยครั้งเวลาผู้เขียนยกประเด็นนี้มาวิจารณ์ ก็จะมีคนที่เรียนจบสูงจำนวนมากที่ไม่ยอมรับและจงใจไม่เข้าใจ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่อื้อฉาวในการปฏิบัติต่อคนต่างชาติ โดยเฉพาะในเรื่องแรงงานทาส

แน่นอนการเหยียดเชื้อชาติมีในประเทศอื่นทั่วโลก แต่ที่ขาดไปสำหรับสังคมไทยคือขบวนการทางสังคมหรือพรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน

เราคงให้อภัยคุณ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ได้ที่เหมารวมว่าคนไทยหรือสังคมไทยเลวอย่างนั้นอย่างนี้ และเราคงให้อภัยเขาได้ที่เขาไม่วิเคราะห์ภาพรวมของสังคมไทยอย่างเป็นระบบ เพราะเขาทั้งโกรธและเศร้าเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องสาวเขา และผู้เขียนเองก็เห็นพฤติกรรมแย่ๆ ของคนไทยบางคนที่โพสธ์ภาพเปลือยของศพ ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ ในเฟสบุ๊ก โดยไม่มีจิตสำนึกของความเป็นคนแม้แต่นิดเดียว

แต่ในความจริงประเทศไทยเป็นสังคมที่มีสองใบหน้า เพราะเป็นสังคมชนชั้นเหมือนสังคมอื่นๆ ทั่วโลก

คนไทยจำนวนมากเป็นคนน่ารัก มีมารยาท และเมตตาต่อผู้อื่น ไม่ต่างจากคนอังกฤษ คนฝรั่งเศส คนซิเรีย หรือคนอิรัก ฯลฯ และตำรวจไทยทุกคนก็ไม่ได้เลวทราม

แต่เราทราบดีว่าเราอยู่ในสังคมที่ปกครองโดยคนป่าเถื่อน และบ้าอำนาจ ที่พร้อมจะโหดร้ายทารุณต่อประชาชนทั้งประเทศมาตั้งแต่กำเนิดของรัฐไทย แถมตอนนี้เรามีเผด็จการทหารมาซ้ำเติมอีกด้วย พวกชนชั้นปกครองไทยใช้ลัทธิคลั่งชาติและกษัตริย์ เพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองส่วนใหญ่จงรักภักดีต่อเขา นี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากหลงใช้ความคิดเหยียดเชื้อชาติ นี่คือสาเหตุที่ผู้มีอำนาจในทุกระดับไม่เคยเคารพประชาชนและใช้พฤติกรรม วาจา และการกระทำแบบแย่ๆ ต่อพลเมืองธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ลองนึกภาพประสบการณ์ของประชาชนที่ต้องเข้าไปสัมผัสหน่วยงานของรัฐแล้วจะเข้าใจทันที

สภาพเช่นนี้จะดำรงต่อไปตราบใดที่เราไม่ล้มเผด็จการและสร้างสังคมที่มีความอารยะตามแนวสังคมนิยม

เราไม่สามารถทำให้สองชีวิต ฮันนาห์ วิเทอร์ริดจ์ และ เดวิด มิลเลอร์ ฟื้นตัวกลับมาได้ แต่สิ่งที่เราทำได้เป็นรูปธรรมตอนนี้ คือการรณรงค์เพื่อปกป้องชีวิตของ ซอ ลิน กับ วิน ซอตัน

อายแทนประเทศไทย สลดใจประเทศไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

มีคนไทยจิตใจสัตว์นรกบางคน ที่โพสธ์ภาพศพเปลือยของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่โดนฆ่าและข่มขืนที่เกาะเต่า มันยากที่จะเข้าใจความผิดเพี้ยนของพวกนี้

มันพิสูจน์อีก ว่าในสังคมไทยภายใต้ระบบอำนาจนิยม คนจำนวนมากไม่เคยรู้จักคำว่า “การเคารพเพื่อนมนุษย์”

ภาพถ่ายเหล่านี้มาจากกล้องมือถือของตำรวจทราม ซึ่งถูกแจกจ่ายไปตามอินเตอร์เน็ด

ตำรวจทรามไม่ทำหน้าที่ในการปิดกั้นพื้นที่อาชญากรรม หลักฐานสำคัญๆ จึงหายไปได้ง่าย

ตำรวจทรามรีบหาแพะรับบาปในรูปแบบแรงงานข้ามชาติ แต่ถูกพิสูจน์ว่าผิด

ตำรวจทรามไม่กล้าแตะผู้มีอิทธิพลคนไทยในพื้นที่นั้น

แล้วจะจับคนร้ายได้อย่างไร?

และที่เลวที่สุดคือไอ้ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดที่แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำประเทศ ก็ปากหมาออกมาพูดว่าอาชญากรรมนี้เป็นความผิดของสตรีเอง

อายแทนประเทศไทยครับ อายจริงๆ และสลดใจ

ความยุติธรรมไม่มีสันติไม่เกิด

แปลมาจาก Socialist Worker UK

มวลชนจำนวนมากเดินขบวนประท้วงความรุนแรงของตำรวจ ในย่าน Ferguson ของเมือง St. Louis สหรัฐอเมริกา

การเดินขบวนและการประท้วงถึงจุดจลาจล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 สิงหาคม หลังจากที่วัยรุ่น ไมเคิล บราวน์ ถูกตำรวจยิงตายและทิ้งศพบนท้องถนนเป็นเวลา 4 ชั่วโมง

บ่อยครั้งผู้ประท้วงจะเดินหน้าไปสู่ตำรวจผู้ถืออาวุธและตะโกนว่า “ยกมือขึ้น อย่ายิง” แต่ตำรวจโต้ตอบด้วยก๊าซน้ำตา หมา อาวุธสงครามและรถถัง มีการพยายามประกาศเคอฟิว แต่ผู้ประท้วงกลับมาทุกคืน มีการโต้ตอบความรุนแรงของตำรวจด้วยก้อนหินและขวด

มีคืนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น คืนนั้นตำรวจไม่ได้ออกมาอยู่บนท้องถนน ทุกอย่างจึงสงบ

ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากวิจารณ์ตำรวจ ผู้ว่าฯ รัฐมิซูรี่  ประกาศภาวะฉุกเฉินและสั่งให้กองกำลังแห่งชาติพร้อมอาวุธครบมือ ลงมาจัดการประชาชนต่อ

ตำรวจพยายามป้ายร้ายไมเคิล โดยโกหกว่าเขาขโมยของจากร้านค้า แต่ถ้าจริง นั่นไม่ใช่สาเหตุที่เขาควรจะถูกยิงตาย ยิ่งกว่านั้นตำรวจที่ยิงไมเคิลตาย ไม่เคยถูกแจ้งว่าไมเคิลไปขโมยของจากร้าน

แม่ของไมเคิล เรียกร้องให้มีการจับกุม แดเรน วิลสัน นายตำรวจผู้ยิงไมเคิลตาย นายตำรวจคนนี้โกหกว่าไมเคิล พยายามแย่งปืนตนเอง แต่พยานหลายคนยืนยันว่ามีแต่ตำรวจที่ไล่ยิงไมเคิล ขณะที่เขาวิ่งหนีและตะโกนเรียกร้องไม่ให้ตำรวจยิง ในที่สุดหลังจากที่วัยรุ่นคนนี้ถูกยิงหลายครั้งและล้มลงบนถนน ตำรวจก็ประหารชีวิตโดยการจ่อยิงหัวจนตาย

ผู้ประท้วงทุกคนเข้าใจดีว่าปัญหาคือนโยบายเหยียดเชื้อชาติของตำรวจทั่วสหรัฐอเมริกา มันไม่ใช่แค่ปัญหาของตำรวจเลวบางคนเท่านั้น ในรอบเดือนที่ผ่านมาคนผิวดำที่ไม่ถืออาวุธถูกยิงตาย 4 คนในสหรัฐ

Ferguson เป็นย่านที่คนผิวดำอาศัยอยู่ 67% แต่สัดส่วนตำรวจผิวดำมีแค่ 6% และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนในย่านนี้มีคนผิวดำเพียง 1 คนจากกรรมการทั้งหมด 7 คน สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงการเหยียดสีผิวและเลือกปฏิบัติในองค์การต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตามในเมืองที่มีตำรวจผิวดำจำนวนมาก ประชาชนผิวดำก็ยังถูกมองว่าเป็นอาชญากร และ ถูกตำรวจกลั่นแกล้งเสมอ

การลุกฮือของประชาชนที่ Ferguson เป็นเพียงบทล่าสุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้สิทธิเสรีภาพ