Tag Archives: ต้านเผด็จการ

วันต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติสากล

วันที่ 20 มีนาคมปีนี้เป็นวันต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติขององค์กรสหประชาชาติ และในหลายๆประเทศทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติ แต่ในไทย พลเมืองส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกในเรื่องนี้ เพราะพรรคการเมืองสังคมนิยมที่ชูประเด็นเรื่องแบบนี้ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา

เราไม่ควรนิ่งนอนใจคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของคนในประเทศอื่นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาทางสังคม ก็มีคนไม่น้อยที่ออกมาโทษคนมุสลิมหรือแรงงานข้ามชาติ พลเมืองจำนวนมากในไทยไม่แคร์เรื่องชาวโรฮิงญา เวลาทหารฆ่าคนจากชนเผ่าก็มีการมองว่าพวกนี้ “ไม่ใช่คนไทย” และเป็นพวกค้ายาเสพติด “ทุกคน” และเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปาตานี พลเมืองจำนวนมากก็จะพูดถึง “โจรใต้” แทนที่จะมองว่าทหารไทยระดับนายพลคือโจรตัวจริง แต่อย่าลืมว่ามีพลเมืองชาวมุสลิมจำนวนมาก ที่ต่อต้านและเกลียดชังเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพในประเทศหนึ่งไม่เลิกดูถูกคนจากประเทศอื่น เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ และเราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสของเผด็จการและชนชั้นปกครองต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้

คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แรงงานเถื่อน” “แรงงานต่างด้าว” “แขก” “ญวน” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เกือบจะเป็นสันดาน

เมื่อสามปีก่อนองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการไทยมีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับคุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและเขมร โดยที่หลายคนถือบัตรผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ทุกวันนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปัญหาใหญ่มาจากการที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาล ไม่ยอมเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951และพิธีสารปี 1967 ดังนั้นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในไทยถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย เหมือนเป็นอาชญากร และมีหลายกรณีที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปสู่คุกและการถูกทำร้ายในประเทศเดิม เช่นตุรกี เขมร และจีน

ส่วนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรงของทหารพม่าส่งผลให้คนเป็นแสนเดินข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย แต่คนที่อยู่ต่อได้ถูกรัฐบาลไทยกักไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยแถบชายแดน โดยที่ไม่มีสิทธิที่จะออกจากค่าย รัฐบาลไม่มีการบริการสาธารณสุข ไม่มีการให้การศึกษากับเด็ก และมีการห้ามไม่ให้ทำงานเลี้ยงชีพ คนที่แอบไปทำงานก็โดนนายจ้างและตำรวจเอาเปรียบเพราะเป็นแรงงาน “ผิดกฏหมาย”

แต่ชาวสังคมนิยมถือว่าผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธคำจำกัดความที่ตราหน้าเพื่อนมนุษย์ว่าผิดกฏหมาย และเราจะไม่ยอมให้พวกชนชั้นปกครองชาตินิยมแบ่งแยกคนธรรมดาตามสีผิวหรือเชื้อชาติ การพูดว่าผู้ลี้ภัยเป็น “ภาระ” กับประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเขาสามารถทำงาน เขาจะร่วมพัฒนาสังคมของเรา การพูดว่าเขาจะมา “แย่งงานคนไทย” ก็ไม่จริงอีกเพราะเขาพร้อมจะทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ และเมื่ออายุของประชากรเพิ่มขึ้นสังคมเราก็จะขาดแรงงาน คำพูดแบบนี้ล้วนแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยม โดยชนชั้นปกครอง เพื่อให้เรามองไม่เห็นการเอารัดเอาเปรียบและการกอบโกยกำไรของชนชั้นนายทุน สังคมเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ว่ามันไปกระจุกอยู่ในมือของคนชั้นสูง 5% ของสังคม และถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ซื้ออาวุธให้ทหารที่ฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย หรือถูกใช้เพื่อให้คนชั้นสูงเสพสุขมหาศาลเป็นต้น

ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีการต่อสู้ และนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนมักจะทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าจะไล่เผด็จการต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน

หลายคนคงหงุดหงิดกับการที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบม็อบ วิธีโต้ตอบความรุนแรงของรัฐที่มีพลังจริงๆ และไม่ใช่แค่สะใจชั่วคราว คือการนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่สามารถล้มเผด็จการทหารได้

หลายคนจะบ่นว่ากรรมาชีพไทย “จะเอาตัวรอดไม่ได้อยู่แล้ว จะหวังให้ออกมานัดหยุดงานได้อย่างไร?” หรือบางคนพูดว่า “ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป” ที่จะเป็นหัวหอกในการต่อสู้

คำพุดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำแก้ตัวของนักสหภาพแรงงานหรือนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่จะไม่จัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง ก็เลยสดวกสบายที่จะทำอะไรเดิมๆ เช่นการสอนให้คนงานแค่รู้จักกฏหมายแรงงานและรัฐสวัสดิการ แทนที่จะปลุกระดมทางการเมือง หรือบางคนอาจแค่พึงพอใจที่จะให้ “ผู้แทน” ของสหภาพแรงงานปราศรัยกับม็อบคนหนุ่มสาว โดยไม่สนใจที่จะมีการตั้งวงเพื่อร่วมกันคิดว่าจะสร้างกระแสนัดหยุดงานอย่างไร

กรรมาชีพพม่าไม่ได้สะดวกสบายกว่าที่ไทย แต่เขานัดหยุดงานได้เพราะเขาเข้าใจความสำคัญ

การปลุกระดมและเตรียมตัวนัดหยุดงาน

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อนร่วมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการอยู่แล้ว แต่คนเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ถ้าเพื่อนๆ ของเราในพม่านัดหยุดงานทั่วไปได้ เราก็ทำได้ ประเด็นคือพวกเราจะทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อให้มันเกิดหรือไม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

เราจะสู้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหาร และการสืบทอดอำนาจผ่านการสร้างภาพความเป็น “ประชาธิปไตย” เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการ มีแต่การพึ่งพาศาลลำเอียง และกระบวนการในรัฐสภาเท่านั้น ในรูปธรรมมันเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ

โกงเลือกตั้ง

แต่เมื่อนักประชาธิปไตยบางคนเสนอว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะลงถนน” ก็มีพวกหดหู่ยอมจำนนออกมาวิจารณ์ว่าการลงถนนหรือการประท้วงจะนำไปสู่การปราบปรามโดยฝ่ายตรงข้าม ตกลงถ้าเราฟังพวกนี้เราก็ควรกลับบ้านไปมุดหัวและยอมจำนนเท่านั้น

แน่นอนการออกมาค้านเผด็จการเป็นสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงอยู่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะสู้อย่างไรต้องมาจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักกิจกรรมที่อยู่ในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือ การออกมาคัดค้านเผด็จการไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงเสมอ มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่แน่นอนคือ การเลือกที่จะไม่สู้จะไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยและทำลายเผด็จการ

การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

พรรคซ้ายหรือพรรคสังคมนิยมของคนชั้นล่างจำเป็นต้องสร้าง เพราะพรรคของนายทุนไม่สนใจสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือ เราต้องเน้นการนำร่วมกันจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน และเราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วมด้วย

เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่ง ที่กล้าหาญออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่บ่อยครั้งพวกเขาหันหลังให้กับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน และไปเน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง

เราจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไป ถ้าคนไทยเคยทำได้ในอดีต ตอนนี้ก็ยังทำได้ แต่ต้องมีการวางแผนและการจัดตั้ง

FI-fists_0

การเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน

ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้งแบบประชาธิปไตย”

แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น

เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตยควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้าฯลฯ

ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก

การนัดหยุดงานกับพลังในการสร้างเสรีภาพ

ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา อียิปต์ ซูดาน และแอลจีเรีย

การลงถนนเพื่อประท้วงของมวลชน จะมีพลังมากขึ้นถ้ามีการนัดหยุดงาน การปราบปรามด้วยความรุนแรงของฝ่ายเผด็จการทำได้ยากขึ้นเมื่อเน้นการนัดหยุดงานด้วย

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

stop dictatorship

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

  1. ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน โดยใช้ประสบการณ์จากโลกจริงมาเป็นตัวอย่าง
  2. ต้องมีการใช้เวลาเพื่อสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร
  3. ควรเริ่มเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากเล็กไปใหญ่ โดยเน้นการดึงมวลชนเข้ามาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เน้นการลงถนนเป็นครั้งๆ ไม่ใช่ชุมนุมยืดเยื้อ และควรตั้งเป้าให้มีการหยุดงานด้วย
  4. ควรพยายามสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับพรรคการเมืองของนายทุน

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาส

ร่วมกันลงคะแนนให้พรรคต้านทหาร – สรุปนโยบายหลักของพรรคเหล่านี้

ใจ อึ๊งภากรณ์

พลเมืองไทยที่รักประชาธิปไตยไม่ควรตั้งความหวังสูงเกินไปสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในอีกไม่กี่วัน เราทราบดีว่าเผด็จการประยุทธ์พยายามที่จะโกงการเลือกตั้งด้วยหลายวิธี เช่นการแต่งตั้งสว.ของฝ่ายทหาร 250 คน ซึ่งแปลว่าฝ่ายพรรคเผด็จการจะสามารถอ้างว่าได้เสียงข้างมากในสภาทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ได้เลือก

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ20 ปี ที่ออกแบบเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการไปอีกนาน และจำกัดความอิสระของรัฐบาลประชาธิปไตยในการบริหารประเทศ บวกกับศาลและวุฒิสภาที่เป็นทาสรับใช้ของทหาร จะทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเคารพ การยุบพรรคไทยรักษาชาติคือตัวอย่างที่ดี

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งประชาธิปไตย

แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคต้านทหาร เรื่องนี้สำคัญมากเพราะอะไร?

เราต้องมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นโอกาสที่ประชาชนจะลงมติไม่ไว้วางใจเผด็จการและพวกทหารที่ชอบก่อรัฐประหาร มันจะเป็นการลงมติในเชิงสัญญลักษณ์ที่มีค่ามหาศาลในการให้ความชอบธรรมกับการต่อสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยแท้

ลองนึกภาพดูก็ได้ ถ้าพรรคที่ต้านทหารไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วประเทศ พวกทหารจะยกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการอยู่ต่ออีกนาน กรณีนายพลเอลซีซีในประเทศอียิปต์เป็นคำเตือนที่สำคัญ

ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องเข้าใจกันว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ เราต้องข้ามพ้นอคติส่วนตัวและสร้างความสามัคคีในการลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งจากกลุ่มพรรคต้านทหาร ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคสามัญชน และพรรคประชาชาติ

และที่สำคัญคืออย่าไปหวังอะไรจากพรรคต่างๆ เพราะเรากำลังลงมติไม่ไว้วางใจในเผด็จการในเชิงสัญญลักษณ์เท่านั้น

ทุกพรรคที่เอ่ยถึงข้างบนมีปัญหา ไม่มีพรรคไหนพร้อมจะลงมือสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจรทันทีด้วยการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน มีแต่การเสนอว่าจะสร้างในอนาคตอันไกลหรือแค่เพิ่มสวัสดิการบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับการลงมือสร้างรัฐสวัสดิการทันที นอกจากนี้ไม่มีพรรคไหนในรายชื่อข้างบนที่เสนอให้ยกเลิกหรือแม้แต่ปฏิรูปกฏหมายเผด็จการ 112 และไม่มีพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพและคนจนอีกด้วย

พรรคเพื่อไทยมีข้อดีตรงที่เสนอตัดงบประมาณทหาร แต่ทำไปเพื่อช่วยนายทุนน้อย มีการเสนออีกว่าจะซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหามลพิษแทนการซื้อรถถัง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่พรรคนี้มีนักการเมืองประเภท “มาเฟีย” หรือ “โจร” หลายคน เช่น พัลลภ ปิ่นมณี เสนาะ เทียนทอง และเฉลิม อยู่บำรุง และมี อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีที่เคยเพิ่มความเข้มข้นในใช้ 112 เพื่อการปราบประชาชานที่ใช้อินเตอร์เน็ด

พรรคอนาคตใหม่มีจุดเด่นตรงที่ประกาศว่าจะลบผลพวงของเผด็จการและตัดงบประมาณทหารเพื่อเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน แต่คำประกาศดังกล่าวขาดประเด็นสำคัญคือการสร้างพลังมวลชนนอกรัฐสภาที่จะมาหนุนช่วย นอกจากนี้มีการพูดถึงปัญหาปาตานี และการเปิดรับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นนโยบายก้าวหน้า แต่พรรคนี้เป็นพรรคนายทุนไม่ใช่พรรคแรงงานหรือพรรคฝ่ายซ้าย ดังนั้นการเพิ่มประโยชน์ให้กับแรงงานจะขึ้นอยู่กับการตอบสนองผลประโยชน์นายทุนก่อน และทั้งๆ ที่มีปีกแรงงาน แต่นั้นเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะไม่มีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจต่อรองให้สหภาพแรงงานและร่างกฏหมายแรงงานใหม่ ซึ่งตรงนี้ต่างกับนโยบายพรรคสามัญชน นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่มีข้อเสนอสำหรับบำนาญคนชราที่ตั้งไว้แค่ 1800 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าพรรคอื่นหลายพรรค

พรรคสามัญชนมีข้อเสนอให้รวมสามระบบประกันสุขภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งต่างกับพรรคอื่นและเป็นก้าวสำคัญในการสร้างรัฐสวัสดดิการ แต่ไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวย บำนาญถ้วนหน้าสำหรับคนชราพรรคตั้งไว้ในระดับ 3000 บาทต่อเดือน ซึ่งทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับ และถือว่าเป็นข้อเสนอก้าวหน้า โดยทั่วไปพรรคนี้มีอิทธิพลของเอ็นจีโอสูง ไม่ใช่พรรคของแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม และนโยบายหลักๆ เน้นแต่สิ่งแวดล้อมกับปัญหาชนบท และยังมีอิทธิพลของแนวเศรษฐกิจชุมชนสูง ซึ่งสะท้อนวิธีการทำงานประเด็นปัญหาเดียวของเอ็นจีโอ อย่างไรก็ตามข้อเสนอของพรรคให้หนุนพลังสหภาพแรงงานและเขียนกฏหมายแรงงานใหม่เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้า และนโยบายยกเลิกการใช้พาราคอตเพื่อคืนอาหารปลอดภัยให้ประชาชนเป็นนโยบายก้าวหน้าเช่นกัน

เราอาจพูดได้ว่าพรรคสามัญชนเป็นพรรคซ้ายอ่อนๆ ซึ่งดีกว่าพรรคอื่นๆ มีจุดยืนเคียงข้างคนจนที่ชัดเจน แต่เป็นพรรคเล็ก แกนนำตั้งความหวังว่าอย่างมากอาจได้สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนเท่านั้น

ในเรื่องปัญหากฏหมายแรงงานฉบับปัจจุบันดูบทความนี้ https://prachatai.com/journal/2019/02/81152

พรรคเพื่อชาติไม่ค่อยมีนโยบายชัดเจน มีการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำแต่รายละเอียดน้อยเกินไป มีการพูดถึง “อนาคตดิจิตอล” เหมือนเป็นคำขวัญสวย แต่ขาดรูปธรรมพอสมควร มีการเสนอบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 2000 บาทต่อเดือน และมีนโยบายสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนักเรียนแพทย์ตำบลละ 1 คน เพื่อให้กลับมาช่วยบ้านเกิด ซึ่งเป็นเรื่องดี

พรรคประชาชาติมีจุดเด่นตรงที่เน้นการสร้างสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม และบำนาญสำหรับคนชราในระดับ 3000 บาทต่อเดือน แต่ทั้งๆ ที่มีฐานเสียงในภาคใต้ ไม่ค่อยมีนโยบายที่ชัดเจนและก้าวหน้าเรื่องการใช้การเมืองแทนการทหารในการคืนเสรีภาพให้ชาวปาตานี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ค่อยเกี่ยวกับรายละเอียดของนโยบายเท่าไร ประเด็นหลักคือการต้านทหาร เพราะเรารู้กันว่ากติกาการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

โกงเลือกตั้ง

ดังนั้นเราต้องร่วมกันลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่ต้านทหารโดยข้ามพ้นอคติส่วนตัวบางอย่าง เราไม่ควรไปเลือกพรรคอื่นที่อวยทหารโดยเด็ดขาด เพราะพรรคอื่นเช่นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยเป็นตัวแทนของคนที่ทำลายประชาธิปไตย

หลังจากที่มีการนับคะแนน ถ้าคะแนนเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เทให้พรรคต้านทหาร เราต้องเรียกร้องให้ประยุทธ์และแก๊งทหารถอนตัวออกจากการเมืองไทยสักที

 

จะวางแผนสู้ หรือจะอยู่ต่อเป็นทาส?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในต้นปี ๖๐ มันชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเผด็จการวางแผนแช่แข็งการเมืองไทยระยะยาว และการแช่แข็งนี้รวมถึงการแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมด้วย อย่างไรก็ตามตั้งแต่รัฐประหารแรกในปี ๒๕๔๙ พลเมืองที่รักประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการด้วยวิธีการต่างๆ หลายคนต้องสละชีพหรือสละเสรีภาพ ดังนั้นเราควรแสดงความเคารพต่อเขาเหล่านั้นด้วยการวางแผนสู้รอบต่อไป

ถ้าเราไม่อยากอยู่เป็นทาสตลอดไป เราควรทบทวนวิธีการที่แต่ละกลุ่มใช้ เพื่อออกแบบวางแผนแนวสู้ใหม่ที่เหมาะสม

ในประการแรกเราต้องร่วมกันตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ผมจะตั้งคำถามและเสนอคำตอบของผม สหายคนอื่นอาจมีคำถามและคำตอบที่ต่างออกไป นั้นคือจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยน แต่การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้ากระทำในอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดียแบบปัจเจก เราต้องตั้งวงคุยต่อหน้าต่อตาในไทย การแลกเปลี่ยนจะไร้ค่าด้วยถ้าไม่มีเป้าหมายในการจัดขบวนการเคลื่อนไหว และท้ายสุดการแลกเปลี่ยนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นคำถามแรกที่เราต้องถามคือ “เราต้องการเห็นสังคมไทยที่มีหน้าตาแบบไหน?”

บางคนอาจตอบว่าแค่อยากให้กลับไปสู่ยุคมักษิณก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาก็พอ แต่สำหรับผม ผมต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่านั้นมาก เพราะในยุคทักษิณมีการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดและในปาตานี ยังมีกฏหมาย112 ทหารยังมีบทบาทสูงเกินไปในเรื่องการเมือง และยังมีความเหลื่อมล้ำสูง สภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีพอ ผมอยากเห็นไทยมีรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ครบวงจร และสร้างบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าสูงๆ จากคนรวย ผมอยากเห็นการยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นคือแค่จุดเริ่มต้นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งควรจะนำไปสู่การยกเลิกการขูดรีดและการกดขี่อื่นๆ ในที่สุด ถ้าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเราต้องมีพรรคสังคมนิยมที่เน้นผลประโยชน์คนธรรมดา สู้เพื่อผลประโยชน์กรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย เพราะเราจะไปฝากความหวังไว้กับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ฝากความหวังกับกษัตริย์ใหม่ก็ไม่ได้ และแน่นอนมันไม่เกิดเองถ้าเรานิ่งเฉย

ทำไมการต่อสู้ในยุคนี้เกือบจะไม่มีเลย? คำตอบมีสองส่วน ส่วนแรกคือมีการจงใจทำลายขบวนการเสื้อแดง โดยที่แกนนำ นปช. จงใจแช่แข็งการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ และทักษิณก็บอกให้ “รอ” ประสบการณ์จากทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไหนที่ไม่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเคยมีสมาชิกเป็นแสนหรือเป็นล้าน ก็จะเน่าตาย หมดสภาพ หรือถอยหลังลงคลอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเสื้อแดงแล้ว ประเด็นคือถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้เราจะทำอะไรต่อ? นั้งบ่นในวงเหล้า หรือตั้งใจทบทวนแนวทางเพื่อสู้ในรอบใหม่?

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของเสือแดงคือ เราต้องเน้นการนำร่วมจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน เราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วม เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน ถ้าเราจะปลดแอกตนเองต้องร่วมกันสู้ ต้องมองไปข้างๆ เพื่อหาเพื่อน ไม่ใช่มัวแต่ไปมองข้างบน

NewDemocracy

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่งที่กล้าหาญ ออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่คราวนี้พวกเขาหันหลังให้กับขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน เน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ อย่างไผ่ดาวดิน ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือไม่มีขบวนการมวลชนภายนอกคุกที่สามารถเรียกร้องด้วยพลังให้เขาถูกปล่อยตัวหรือเดินต่อไปสู่การล้มเผด็จการ

ท่านจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไปสำเร็จ

14October732

ขอพูดตรงๆ ครับ การต่อสู้ในรูปแบบปัจเจกของคนกล้าหาญกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งตัวเป็นวีรชน ก็เหมือนยุงกัดสำหรับเผด็จการทหาร ไม่เหมือนการท้าทายเผด็จการของมวลชนเสื้อแดงในอดีต เรารู้เพราะในตัวอย่างคนเสื้อแดงพวกเผด็จการต้องนำรถถังและทหารติดปืนมาเข้นฆ่าประชาชน

การต่อสู้แบบปัจเจกที่ปฏิเสธการจัดตั้งและปฏิเสธพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในสเปนเมื่อไม่นานมานี้ก็เงียบไป ถ้าคนบางส่วนในกลุ่มผู้ประท้วงไม่จัดตั้งพรรคซ้าย “โพเดมอส” คงไม่มีอะไรเหลือ

การลุกฮือของมวลชนในตะวันออกกลางสามารถล้มเผด็จการป่าเถื่อนได้ ไม่มีใครเขาออกมาเป็นกลุ่มเล็กๆ มีแต่ออกมาเป็นแสน แต่ปัญหาใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์ คือ “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” คำถามนี้จะถูกตั้งขึ้นและตอบโดยองค์กรทางการเมืองเสมอ พรรคการเมืองนั้นเอง ในกรณีอียิปต์มีแต่พรรคมุสลิมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรมากมาย พร้อมจะทำงานกับทหาร และพร้อมจะใช้แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ จึงเปิดช่องโหว่ให้เผด็จการกลับมาผ่านการทำรัฐประหารและการเลือกตั้งปลอม

cpt2

ในไทยหลัง ๑๔ ตุลา คำถาม “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” ก็ถูกตอบโดยสอง “องค์กรทางการเมือง” กลุ่มรักเจ้าอนุรักษ์นิยม รีบออกมาเพื่อพยายามสร้างเสถียรภาพของการปกครอง ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีอีกคำตอบหนึ่งคือ ต้องสู้ต่อไปเพื่อสิ่งที่เขามองด้วยความผิดพลาดว่าเป็น “สังคมนิยม” พคท. เสนอให้เราออกจากเมืองไปเข้าป่า แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ไปแล้วว่าการหันหลังให้กับมวลชนคนจนและมวลชนผู้ทำงานในเมือง โดยการจับอาวุธ เป็นข้อผิดพลาดที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ แต่อย่างน้อย ๑๔ ตุลาเคยพิสูจน์ว่ามวลชนล้มเผด็จการได้

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

1.    ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน

2.    จากวงคุยและกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ไปท้าทายเผด็จการโดยตรง เราควรจะรวมกลุ่มคนที่เห็นตรงกันว่าต้องการสังคมที่ก้าวหน้ากว่ายุคทักษิณ เพื่อตั้งพรรคสังคมนิยมใต้ดิน พรรคควรเน้นการศึกษา การเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมาชีพและนักศึกษา และกิจกรรมเช่นการช่วยเหลือนักโทษการเมืองทุกคนและคนอื่นที่เป็นเหยื่อของทหาร โดยเฉพาะในปาตานี

3.    ท่ามกลางการทำกิจกรรมประจำวัน ควรมีการศึกษาแนวคิดทางการเมืองต่างๆ โดยไม่ลืมเป้าหมายระยะยาวที่จะล้มเผด็จการและสร้างสังคมใหม่

การตั้งพรรคหรือการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมันจะเป็นเครือข่ายโครงสร้างองค์กรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้เมื่อเกิดการลุกฮืออย่างจรึงจัง

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาสตลอดกาล

 

“พรรค”

 ใจ อึ๊งภากรณ์

ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของกลุ่มเสื้อแดงก้าวหน้า ที่จะช่วงชิงการนำทางการเมืองจากแกนนำ นปช. ที่เดินตามก้นพรรคเพื่อไทยเสมอ ไม่ว่าเพื่อไทยจะหักหลังวีรชนหรือยอมจำนนต่อทหารแค่ไหน เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในประเทศไทย การช่วงชิงการนำในมวลชนย่อมทำไม่ได้ถ้าเรามีแต่กลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย เราต้องมีการจัดตั้งเพื่อประสานพลังมวลชน

ในขณะที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยตั้งความหวังกับกองทัพเผด็จการและศาลลำเอียง ฝ่ายประชาธิปไตยต้องอาศัยพลังมวลชนเพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และองค์ประกอบสำคัญของพลังมวลชน นอกจากการชุมนุม คือการนัดหยุดงานของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะมูลค่าทั้งปวงและทุกอย่างที่ทำให้เราดำรงชีพได้ในสังคม รวมถึงกำไรของนายทุน มาจากการทำงานของคนธรรมดาทั้งสิ้น ดังนั้นพรรคปฏิวัติต้องมีฐานที่มั่นในองค์กรสหภาพแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากนี้ต้องมีฐานสำคัญในกลุ่มเยาวชนนักศึกษาอีกด้วย นี่คือบทเรียนสำคัญจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และพรรคปฏิวัติอื่นๆ ทั่วโลก แต่เราไม่ควรเน้นการเข้าป่าจับอาวุธแบบ พคท. เราควรจะเน้นพลังมวลชนในเมืองแทน

แล้ว “กรรมาชีพ” คือใคร? กรรมาชีพคือคนทำงาน พนักงานหรือลูกจ้างทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในโรงงาน ในระบบขนส่ง ในระบบบริการค้าขาย ในสถานที่ศึกษา ในโรงพยาบาล ในรัฐวิสาหกิจ หรือในระบบธนาคาร คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกรรมาชีพ และทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย ก็มีการจัดตั้งในรูปแบบสหภาพแรงงานได้ ถ้าไม่โดนกดขี่จากรัฐ

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคมาจากลักษณะของกรรมาชีพในโลกจริงซึ่งมีลักษณะต่างระดับเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่อยากออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นอยากออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่อยากสู้เลยและมีความคิดล้าหลังด้วยซ้ำ นักมาร์คซิสต์อย่าง เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อสู้ ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดีคือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคปฏิวัติ นอกจากนี้พรรคต้องมีสัดส่วนคนหนุ่มสาวสูง ไม่ใช่เต็มไปด้วยคนแก่ที่อนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยกล้าสู้ และคอยพูดถึงแต่ความหลัง

พรรคปฏิวัติไม่ควรมี “ผู้ใหญ่” กับ “ผู้ตาม” ทุกคนที่เป็นสมาชิกควรร่วมถกเถียงและนำเสนอแนวทางการทำงานหรือการวิเคราะห์อย่างเท่าเทียมกัน ในลักษณะแบบนี้ผู้นำในยุคหนึ่งอาจกลายเป็นผู้ตามในยุคต่อไป สลับกันไปอย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆ เราต้องร่วมกันนำ และต้องเปิดโอกาสให้เกิดความคิดใหม่ๆ เสมอ

การที่พรรคปฏิวัติเป็น “กองหน้า” หมายความว่าต้องมีการนำทางความคิด ซึ่งแปลว่าต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับทฤษฏี การศึกษา และการวิเคราะห์สภาพสังคมปัจจุบันที่แหลมคม การวิเคราะห์แบบนี้ต้องอาศัยการถกเถียงภายในพรรคบนพื้นฐานประสบการการต่อสู้ พรรคต้องไม่ท่องคำภีร์ และต้องไม่ปฏิเสธทฤษฏี

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์ชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพได้ แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออก การเปิดกว้างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นพรรคต้องร่วมสู้เคียงข้างกับมวลชนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องประจำวัน หรือเรื่องการเมือง เช่นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นต้น

พรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีรูปแบบสำคัญดังนี้ (1) พรรคต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนกับผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงเป็นหลัก ไม่ใช่ไปเน้นค่านิยมของชนชั้นปกครอง เช่นเราต้องปฏิเสธเรื่องการรักชาติเป็นต้น (2) พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมพรรค ต้องอาศัยเงินทุนที่มาจากการเก็บค่าสมาชิกเท่านั้น เพื่อไม่ให้ใครควบคุมด้วยอำนาจเงิน (3) ในไทยพรรคควรเน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน อาจต้องทำงานใต้ดินหรือกึ่งใต้ดินในระยะแรก และการสร้างฐานมวลชนท่ามกลางการเคลื่อนไหวของมวลชน เป็นวิธีต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้องประจำวัน โดยที่ไม่ต้องขึ้นกับเงื่อนไขหรือกติกาของเผด็จการ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าเราจะละเลยการเมืองภาพกว้างได้ พรรคที่เน้นการทำงานในกรอบรัฐสภาเป็นหลัก ในไม่ช้าจะเผชิญหน้ากับกฏหมายเลือกตั้งและแรงดึงดูดจากวิธีการแบบรัฐสภา แรงดึงดูดนี้มีผลทำให้ผู้นำเน้นกลไกการหาเสียงและการประนีประนอมทางอุดมารณ์กับการเมืองกระแสหลักเสมอ แต่การล้มเผด็จการ และการสร้างสังคมนิยม ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม จะต้องใช้วิธีการปฏิวัติโดยมวลชน บนพื้นฐานการเมืองสังคมนิยมมาร์คซิสต์

การปฏิวัติดังกล่าวจะมีรูปแบบที่มวลชนนัดหยุดงาน ยึดสถานที่ทำงานและท้องถนน ยึดอาวุธจากทหารหรือชักชวนให้ทหารชั้นล่างเปลี่ยนข้าง และเริ่มสร้างขั้วอำนาจใหม่ เพื่อกำจัดขั้วอำนาจของชนชั้นปกครองเก่า

 

ทำอย่างไรถึงจะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงสงกรานต์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“สงกรานต์” เป็นเทศกาลที่คนไทยสนุกสนานด้วยการสาดน้ำใส่กัน แต่สำหรับเผด็จการทหารและพวกอภิสิทธิ์ชนต้านประชาธิปไตย เขาสาดประชาชนด้วยเลือด

สงกรานต์ปีนี้ครบรอบ 5 ปีของการเริ่มเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดงโดยประยุทธ์ อนุพงษ์ อภิสิทธิ์ และสุเทพ พร้อมกันนั้น การละเลยหรือคัดค้านการลงทุนโดยรัฐ ในระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย สะดวก ราคาถูก และปลอดภัย สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการรดน้ำดำหัวพลเมืองไทยด้วยเลือดเช่นกัน เพราะช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนในระดับที่เราไม่ควรยอมรับ

ประเด็นหลักเรื่องสงกรานต์ปีนี้และปีก่อนๆ คือยอดคนตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะคนจนที่ต้องขับรถมอร์เตอร์ไซค์ แต่ “ไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด” คงไม่มีวันมีปัญญาหรือเจตนาที่จะแก้ปัญหานี้แต่อย่างใด เพราะการทำตัวเป็นนักเลง หรือเผด็จการกระจอกสามัญ เพื่อแอ๊คท่า “เข้มงวด” จะไม่แก้ปัญหาตรงจุดเลย

แถมพวกเผด็จการทหาร และพวกล้าหลังทั้งหลาย คงจะเปลืองน้ำลาย และใช้เวลาด่าคนหนุ่มสาวที่เล่นสงกรานต์และถอดเสื้อผ้า ว่าทำตัว “ไม่เหมาะสม” ทั้งๆ ที่พวกนายพลและคนชั้นสูงไม่เคยรู้จักคำว่าศีลธรรมในรูปธรรมความจริง การโชว์ร่างมนุษย์และการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ถ้าไม่มีการบังคับอะไรกัน เป็นสิ่งที่งดงาม ตรงข้ามกับการเข่นฆ่าประชาชนและการกอบโกยผลประโยชน์ของโจรเผด็จการ

สาเหตุหลักที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากมายในช่วงสงกรานต์ คือสังคมไทยไม่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เหลือเฟือในการพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย มันมีการขาดการลงทุนโดยเฉพาะในระบบรถไฟความเร็วสูงที่ปลอดภัยและบริการประชาชนในราคาถูก

ถนนหนทางของเรา ขาดการบริการรถทัวร์ที่มีมาตรฐานที่ควบคุมอย่างดีโดยรัฐ และขาดการซ่อมถนนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย

ที่สำคัญคืออภิสิทธิ์ชน สลิ่ม ทาสรับใช้ทหาร และพวกประจบสอพลอ ไม่เคยต้องการให้รัฐลงทุนในเรื่องแบบนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่จะบริการคนส่วนใหญ่ เราเห็นมาแล้วก่อนหน้านี้เวลาศาลเตี้ยรัฐธรรมนูญเสือกห้ามโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือมีการ “ลงโทษ” ยิ่งลักษณ์เวลาเสนอโครงการจำนำข้าวที่ช่วยเกษตรกร

ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ตอนนี้เป็นพวกล้าหลังคลั่งกลไกตลาดเสรี มันและพวกนักวิชาการอภิสิทธิ์ชนในสถาบัน TDRI มองว่าการบริการประชาชนควรทำผ่านบริษัทเอกชนที่แสวงกำไรและคิดค่าบริการสูง

แต่ทั่วโลก ระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องความปลอดภัย การบริการคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนรวย และการประหยัดพลังงาน ล้วนแต่มาจากการลงทุนโดยรัฐ เพราะการแสวงหากำไรของภาคเอกชนมองข้ามคนส่วนใหญ่และการทำประโยชน์ต่อสังคมเสมอ โครงการร่วมลงทุนกับนายทุนจากจีน ของทหารเผด็จการ เพื่อสร้างทางรถไฟใหม่ จะไม่เน้นบริการประชาชนแต่อย่างใด แต่จะเน้นการระบายสินค้าให้กลุ่มทุนแทน

ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องอาศัยการลงทุนโดยรัฐในระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและที่คิดค่าเดินทางต่ำเพื่อบริการคนส่วนใหญ่ ต้องอาศัยการลงทุนในถนนและรางรถไฟเพื่อพัฒนาคุณภาพ และนอกจากคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์แล้ว เรายังสามารถประหยัดพลังงานและช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย

แต่แค่นั้นไม่พอ ต้องมีการเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่ากรรมาชีพผู้ทำงานต้องกินแต่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ไม่เคยเพียงพอตลอดชีพ การเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจจะหมายความว่าคนส่วนใหญ่จะสามารถซื้อรถยนต์แทนรถมอร์เตอร์ไซค์ได้มากขึ้น เพราะรถมอร์เตอร์ไซค์อันตรายมาก

แต่แค่นั้นก็ยังไม่พออีก ในสังคมไทย ในขณะที่พวกข้างบนไม่เคยทำงานอย่างจริงจังเลย คนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพถูกบังคับให้ทำงานนาน วันละหลายชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน โดยเกือบจะไม่มีวันหยุดพักร้อน ในประเทศที่ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง เขาจะมีวันพักร้อนปีละ 6 สัปดาห์ ซึ่งถ้านำมาใช้ในไทย จะแปลว่าวันหยุดสงกรานต์ไม่ได้กลายเป็นสามสี่วันแห่งการคลั่งการเดินทาง คลั่งการสนุก และคลั่งการกินเหล้า

สำหรับคนที่สงสัยว่าไทยจะเอาเงินมาจากไหนในการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่หรือการเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน ผมมีคำตอบง่ายๆ คือ ต้องตัดงบประมาณทหารแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งจะช่วยลดบทบาททหารเลวในสังคม และช่วยไม่ให้ทหารนำอุปกรณ์ต่างๆ มาเข่นฆ่าประชาชนอีกด้วย ต้องยกเลิกระบบกษัตริย์ และนำทรัพย์สินมหาศาลของกษัตริย์และราชวงศ์มาเป็นของกลางเพื่อพัฒนาชีวิตคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ต้องเก็บภาษีจากคนรวยและอภิสิทธิ์ชนชั้นสูงทุกคนโดยไม่มีการยกเว้นใคร ถ้าเขาต้องขายเพชรต้องขายที่ดินก็ต้องขายไป ถ้าอยากหนีไปที่อื่นก็หนีไป และในที่สุดเราจะสร้างงานให้ประชาชนและพัฒนาไทยให้เป็นสังคมอารยะได้

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่รวมตัวกันทางการเมือง อิสระจากทักษิณและเพื่อไทย เราต้องขยันในการจัดตั้งการเมืองของกรรมาชีพ และพัฒนาความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน

ตอแหล “ฟิตเนส”

ใจ อึ๊งภากรณ์

คลิปวิดีโองานเซ็กส์ในฟิตเนส ที่กำลังแชร์กันไปทั่ว เปิดโปงความตอแหลของเผด็จการทหารในอีกแง่หนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐประกาศว่าจะมีการสอบสวน

ในความเป็นจริงนายทหาร นักธุรกิจ และข้าราชการชั้นสูง ในวัยกลาง มักจะซื้อเพศสัมพันธ์จากสตรีอ่อนวัยที่ยากจนกว่าตนเองเป็นประจำ ในงานเลี้ยงทหารก็มักจะมีสาวเปลือยที่มาแสดงร่างตนเองท่ามกลางชายใส่เครื่องแบบ

เจ้าฟ้าชายไทยก็ขึ้นชื่อมานานในการนำภาพเปลือยของแฟนตนเองไปโชว์ให้ชาวโลกดู

ลึกๆ แล้วสิ่งที่เผด็จการทหารและชนชั้นปกครองไทย “รับไม่ได้” ไม่ใช่พฤติกรรมที่ไม่เคารพสตรีแบบนี้ หรือพฤติกรรมที่มองว่าคนธรรมดาถูกซื้อเพื่อมาทำอะไรก็ได้ นั้นไม่ใช่ปัญหาถ้าไม่ประกาศออกมา และมันเป็นทัศนะของคนชั้นสูงไทยมาตลอด สิ่งที่เขารับไม่ได้คือการเปิดเรื่องนี้ออกมาในที่สาธารณะ เพราะเผด็จการมือเปื้อนเลือดของไอ้ยุทธ์มันกำลังขยันสร้างภาพเท็จว่ามันเต็มไปด้วยศีลธรรมและความดี

เราก็ทราบดีว่าเผด็จการทหารชุดนี้ตรงข้ามกับความดีงาม นอกจากการไม่เคารพสตรีแล้ว พวกมันมองว่าการเข่นฆ่าเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย “ไม่ผิด” เขามองว่าการจ่ายเงินเดือนสูงๆ จากหลายๆ ตำแหน่งให้ตนเอง “ไม่เป็นการคอร์รับชั่น” เขามองว่าการปล้นอำนาจอธิปไตยและเสรีภาพจากประชาชนผ่านรัฐประหาร “ไม่ผิด”และพวกมันมองว่าการโกหกในทุกเรื่องเป็น “เรื่องดี”

แต่ถ้ากลับมาเรื่องงานเซ้กส์ในฟิตเนส จะมีบางคนสงสัยว่า “มันผิดตรงไหน”? สำหรับชาวสังคมนิยม การที่ชายรวยอายุวัยกลาง ซื้อเซ็กส์จากสาวๆ อายุน้อย เป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่เป็นการเคารพสตรี

ถ้ามันมีงานเซ้กส์ที่ทุกฝ่ายยินยอมเพราะชอบหรือรักกัน และไม่มีการซื้อขายร่าง เรื่องแบบนี้จะไม่ผิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้ใหญ่แต่ละคนจะอายุเท่าไร และไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นเพศไหนด้วย แต่ถ้าเป็นงานแบบนั้นพวกถือศีลธรรมจอมปลอมก็จะออกมาด่าว่าเป็นการ “มั่วเซ็กส์” และคำด่าจะพุ่งไปที่ผู้หญิงเป็นหลัก เพราะในไทยมีผู้หญิงดี กับผู้หญิงขายบริการ… ประเทศเราตอแหลและสองมาตรฐานมานาน

จะล้มเผด็จการอียิปต์ได้อย่างไร?

สัมภาษณ์สมาชิกองค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์

ตอนนี้เราเผชิญหน้ากับเผด็จการปฏิวัติซ้อนที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอียิปต์ ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

มันชัดเจนว่าการปฏิวัติซ้อนครั้งนี้เป็นการรื้อฟื้นระบบเก่าที่ถูกล้มจากการลุกฮือ “อาหรับสปริง” มีการปล่อยบุคคลจากระบบเก่าที่เคยโดนจับ และรัฐบาลของ เอล์ซิซี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนภายในประเทศและจากตะวันตกด้วย

ในแง่หนึ่งการที่เราต้องยอมรับความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลาเพื่อทำใจ จริงๆ แล้วเราน่าจะเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่การทำรัฐประหารเพื่อช่วงชิงอำนาจท่ามกลางการประท้วงต้าน มูรซี่

ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะเข้าใจได้ว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลกับทหารในยุคนี้ เป็นการแก้แค้นปราบปรามขบวนการปฏิวัติทั้งหมด ไม่ใช่แค่การปราบพรรคมุสลิม ความโหดร้ายของชนชั้นปกครองเห็นได้จากการเข่นฆ่าประชาชนในเดือนสิงหาคม 2013 เพราะภายในเวลาแค่สามชั่วโมงมีประชาชนตายมากกว่า 1000 คน หลังจากนั้นไม่มีใครกล้าออกมายึดจตุรัสกลางเมืองต่างๆ เหมือนเมื่อก่อน

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหดหู่ เราควรมองโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่า คือขบวนการแรงงานกรรมาชีพ อาจอ่อนแอกว่าเดิม และผู้นำส่วนหนึ่งอาจหักหลังสมาชิกโดยการร่วมมือกับทหาร แต่ขบวนการแรงงานยังไม่ถูกทำลาย คนงานที่โรงเหล็ก “เฮลวาน” กำลังนัดหยุดงานอยู่ทุกวันนี้และรัฐบาลไม่กล้าปราบหนัก แบบที่ปราบขบวนการทางการเมือง นอกจากนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติล้ม มูบารัก  เขาได้ผ่านการเรียนรู้ยาวนาน เขามีประสบการณ์ชัยชนะและความพ่ายแพ้ เขาเรียนรู้วิธีการจัดตั้งและวิธีสู้กับตำรวจ ประสบการณ์เหล่านี้เป็นคลังความรู้สำหรับการต่อสู้รอบใหม่ในอนาคต

สภาพปัจจุบันมีเสถียรภาพชั่วคราวเท่านั้น เพราะตะวันตกและรัฐอาหรับในอ่าว สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ ด้วยเงินทุน แต่ปัญหาระยะยาวยังคงอยู่ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจุดประกายการปฏิวัติแต่แรก นอกจากนี้การที่หลายคนหมดความหวังกับขบวนการ “อาหรับสปริง” ทำให้คนหันไปสนับสนุนกองกำลัง “ไอซิล” เพื่อหาทางออก มันสร้างความวุ่นวายทั่วตะวันออกกลาง

เราต้องเข้าใจว่าในยุคปัจจุบัน การลุกฮือรอบต่อไปของการปฏิวัติอียิปต์อาจใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเกิด ในเวลาที่เรารอเราต้องเตรียมตัวด้วยการสร้างองค์กรพรรคปฏิวัติ ในช่วงล้ม มูบารัก เราได้รับบทเรียนว่าองค์กรของเราเล็กเกินไปที่จะช่วงชิงการนำจากคนที่สนับสนุนพรรคมุสลิม หรือคนที่หลงไว้ใจกองทัพ เราเล็กเกินไปที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงระหว่างขบวนการประท้วงกับขบวนการแรงงานด้วย

เราต้องสร้างองค์กรปฏิวัติที่มีขนาดใหญ่ ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามัวแต่นิ่งเฉย รอสร้างพรรคท่ามกลางการปฏิวัติ เราจะต้านกระแสที่แรงกว่าไม่ได้

ฉนั้นตอนนี้เราต้องลงมือจัดตั้งคนหนุ่มสาวและคนงานกรรมาชีพอย่างเป็นระบบ เราต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาภายในองค์กร และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและแรงงานเมื่อมันเกิดขึ้น นอกจากนี้เราต้องหาทางเชื่อมโยงกับผู้ถูกกดขี่ในสังคม เช่นสตรี กลุ่มคนคริสเตียน และคนเบดูวิน เพราะรัฐบาลจะคอยสร้างภาพว่ากำลังเอาใจพวกนี้ เพื่อเบี่ยงเบนการต่อสู้

ถ้าเราเตรียมงานดี การปฏิวัติอียิปต์จะมีอนาคต

จุดยืนร่วมของเราในการต้านเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะจัดตั้งทางการเมืองอย่างจริงจังเพื่อล้มเผด็จการ เราควรสร้างองค์กรแนวร่วมมวลชนที่มีจุดยืนดังนี้คือ

  1. เราร่วมกันต่อต้านรัฐบาลทหาร และผลพวงของการดัดแปลงระบบการเมืองโดยเผด็จการดังกล่าวภายใต้คำโกหกว่าจะปฏิรูปการเมือง
  2. เรามีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในสังคม ซึ่งหมายความว่าในอนาคตต้องมีการนำทหารเผด็จการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ก่ออาชญากรรมกับประชาชนมาขึ้นศาล
  3. เรามองว่าการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถทำได้ถ้าเราไม่ยกเลิกกฏหมายเผด็จการแบบ 112 และปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน
  4. เราต้องตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะลดบทบาทของกองทัพในการเมืองและสังคม
  5. เราต้องสร้างความยุติธรรม ทั้งทางกฏหมาย ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม

จุดยืนกว้างๆ ดังนี้มีความสำคัญถ้าเราจะสร้างองค์กรมวลชนที่มีความหลากหลาย เพราะถ้าเราไม่สร้างองค์กรมวลชน เราจะสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

แต่จุดยืนกว้างๆ แบบนี้ไม่พอ เพราะนอกจากการสร้างองค์กร “แนวร่วม” มวลชนแล้ว เราต้องสร้างพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์สังคม ศึกษาทฤษฏี และมีนโยบายที่ชัดเจนในหลายเรื่อง

ภายในแนวร่วมมวลชนอาจมีหลายพรรคหลายแกนนำร่วมกันได้ ไม่ควรกีดกันผู้รักประชาธิปไตย แต่สำรับเราชาวสังคมนิยม เราต้องสร้างพรรคสังคมนิยมหรือ “พรรคซ้าย”

สังคมนิยมคืออะไร? ในบทความสั้นนี้ เราคงต้องแค่สรุปสั้นๆ ว่าสังคมนิยมคือระบบประชาธิปไตยที่อำนาจรัฐอยู่ในมือคนทำงานธรรมดา ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ไม่มีนายทุน มันเป็นรูปแบบสังคมการเมืองที่เน้นความสมานฉันท์ระหว่างพลเมือง แทนการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นในระบบสังคมนิยมคุณภาพชีวิตของทุกคนควรจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณะสุขและการศึกาที่มีคุณภาพได้ ไม่มีการเหยียดเพศหรือเชื้อชาติ… ทำนองนั้น

สังคมนิยมเป็นรูปแบสังคมที่เราต้องร่วมกันสร้าง มันไม่ตกหล่นจากฟ้าโดยอัตโนมัติ และมันไม่ได้มาจากคำสั่งของผู้นำ มันอาศัยการรณรงค์และการถกเถียงเสมอ

ผมขอเสนอว่าพรรคซ้ายที่เราต้องสร้าง นอกจากจะต้องเคลื่อนไหวใต้ดินร่วมกับแนวร่วมต้านเผด็จการแล้ว เราจะต้องจัดตั้งทางการเมือง คือต้องรวมตัวกันภายใต้ชุดความคิดสังคมนิยมที่ผมกล่าวถึงข้างบน

ผมเสนอว่าใครที่สนใจร่วมสร้าง “พรรคซ้าย” ในไทย ควรจัดวงคุยหัวข้อต่างๆ เช่น รัฐคืออะไร? ทุนนิยมกับสังคมนิยมต่างกันอย่างไร? เราจะลดการกดขี่ทางเพศอย่างไร? ประเทศไทยเป็นสังคมเหยียดเชื้อชาติหรือไม่? ประชาธิปไตยทุนนิยมต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยมอย่างไร? บทเรียนในการล้มเผด็จการในอดีตมีอะไรบ้าง? ทำไมพวกที่คลั่งกลไกตลาดเสรีต่อต้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและต้องการให้เรา “ร่วมจ่าย” ในระบบรักษาพยาบาล? เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง ทั้งข้อดีข้อเสีย จากพคท.? พลังในการเปลี่ยนสังคมอยู่กับกลุ่มไหนบ้าง? ระบบชนชั้นคืออะไร? การนำตนเองจากล่างสู่บนมีลักษณะอย่างไร? รัฐสวัสดิการภายใต้ทุนนิยมมีหน้าตาอย่างไร? ฯลฯ……

สำหรับเนื้อหาในการคุยการเมืองหัวข้อแบบนี้ และหัวข้อที่พวกเราคิดขึ้นเอง ท่านสามารถหาได้ที่บล็อก “เลี้ยวซ้าย” นี้ หรือที่  http://redthaisocialist.com/2011-03-04-16-28-48.html และhttp://thaimarxistdocuments.wordpress.com/  หรือท่านสามมารถติดต่อโดยตรงกับผม เพื่อให้ผมส่งเนื้อหาไปให้ ติดต่อได้ที่ ji.ungpakorn@gmail.com หรือพวกเราก็สามารถไปค้นคว้าเองได้

ใครที่จัดวงคุยและเคลื่อนไหวสร้างพรรคซ้าย ควรหาทางประสานกับกลุ่มผู้อยากก่อตั้งพรรคซ้ายในพื้นที่อื่น ควรทำเอง ผ่านการกลั่นกรองคนที่รู้จักดีและไว้ใจได้ และคนที่อยู่ต่างประเทศอย่างผมก็ยินดีช่วยประสานงานให้ได้ถ้าจำเป็น แต่คงจะต้องติดต่ออย่างต่อเนื่องนานพอสมควร เพื่อให้ไว้ใจกันได้

บทความนี้ควรจะอ่านประกอบกับบทความ “อย่ามาพูดว่า นปช. สู้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น”  “การทำงานแนวร่วมในยุคเผด็จการ” “อุดมการณ์ประชาธิปไตยมันมากกว่าแค่การเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”  “เผด็จการประยุทธ์เราจะสร้างประชาธิปไตยอย่างไร?”  “บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”  “การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องอาศัยการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ”  และบทความ “พรรค”