Tag Archives: ทฤษฏีรัฐศาสตร์

คำถามสำหรับนักรัฐศาสตร์เรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากที่ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประกาศออกมาว่า “ตอนที่ผมมีส่วนร่วมบ้างในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผมคิดว่าถ้าผมรู้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นแบบนี้ ผมไม่ทำหรอก ๑๔ ตุลา ผมปล่อยให้จอมพลถนอมปกครองประเทศต่อไปดีกว่า ถึงแม้จะมีอะไรไม่ดี แต่ผมคิดว่าความเลวร้ายของระบบเลือกตั้งที่เราเห็นกันมา ผมว่ามันเลวร้ายกว่านี้”  ควรนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญสำหรับคนที่สอนและศึกษารัฐศาสตร์คือ ในแวดวงวิชาการยังมีการให้ความสำคัญกับผลงานและข้อเสนอของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทชนชั้นกลางในเมืองในการสร้างประชาธิปไตย และในเรื่องระบบอุปถัมภ์? [ดู https://bit.ly/2LE9Cha ประกอบเรื่องนี้]

การที่นักวิชาการคนหนึ่งเปลี่ยนจุดยืนจากอดีต ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เขาเคยเสนอก่อนหน้านี้จะผิดโดยอัตโนมัติ แต่เราก็ต้องตรวจสอบทบทวนด้วย เพราะบางที อเนก เหล่าธรรมทัศน์ อาจไม่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็ได้

_101727936_cover

ข้อเสนอหลักในหนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” คือ มันมีความแตกแยกสำคัญระหว่างสองซีกในสังคมไทย (สองนครานั้นเอง) คือระหว่างคนเมืองและคนชนบท เอนก เสนอว่าคนเมืองเป็นคนชั้นกลาง และคนชนบทเป็นชาวไร่ชาวนา และเสนอต่อไปว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่ใช้วิจารณญาณ และมาตรฐานคุณธรรมในการเลือกหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่างๆ และคนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ส่วนชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีคะแนนเสียงข้างมากในวันเลือกตั้ง โดยมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นในลักษณะการเลือกเจ้านายอุปถัมภ์ คือจะเลือกผู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ตน และจะไม่มองว่าการซื้อขายเสียงผิดหรือขัดกับคุณธรรม เพราะเป็นพิธีกรรมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง เอนกมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวชนบทนี้ไม่ใช่ภายใต้ความคิดอิสระเหมือนชนชั้นกลาง แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณตามระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยไพร่กับนาย

เราอาจพูดได้ว่า “สองนคราประชาธิปไตย” เป็นแนวคิดที่ปูทางไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบและการเลือกตั้งที่ไม่เสรีของเผด็จการประยุทธ์ในปี ๒๕๖๒

UnemducatedPeopleReuters

นอกจากปัญหาเรื่องการนิยามชนชั้นในเมืองและชนบทของ เอนกแล้ว เวลามองย้อนกลับไปและพิจารณาประเด็นเรื่องความแตกต่างทางการเมืองระหว่างคนชั้นกลางในเมือง กับคนจนในชนบท(และในเมือง) มันมีสองเรื่องที่ต้องนำมาคิด

ในประการแรกมันชัดเจนว่าเราต้องสรุปว่าคนชั้นกลางไม่ได้เป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท่องกันมาแบบนกแก้วในแวดวงวิชาการกระแสหลักทั่วโลกรวมถึงในไทย ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มีจุดยืนชัดเจน มักตามกระแส บางครั้งอาจเข้ากับฝ่ายก้าวหน้า บางครั้งเชียร์เผด็จการทหารหรือเผด็จการฟาสซิสต์

ทิศทางความเสื่อมทางการเมืองของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สะท้อนสิ่งนี้เกี่ยวกับชนชั้นกลางอย่างชัดเจน จากการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการเชียร์บทบาทชนชั้นกลางและดูถูกคนจนในชนบท ผ่านการต้านทักษิณและความผิดหวังเมื่อลงเล่นการเมือง สู่การจับมือชื่นชมเผด็จการและการหันหลังให้กับระบบประชาธิปไตยเพราะมองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะที่จะมีสิทธิทางการเมือง

ในประการที่สอง ข้อสรุปจากวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ คือชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่เข้าหาผู้อุปถัมภ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ทางชนชั้นและเพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ดำรงอยู่มานาน ผู้อุปถัมภ์ของชนชั้นกลางในสายตาของชนชั้นกลางเองคือทหารเผด็จการ พวกเทคโนแครดอย่าง อานันท์ ปันยารชุน และกษัตริย์ และยังรวมถึงนายทุนนักการเมืองอย่างทักษิณที่ชนชั้นกลางชื่นชมในช่วงแรก เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เพื่อปกป้องสถานภาพของคนชั้นกลาง ดังนั้นชนชั้นกลางไม่ได้มีความคิดอิสระอย่างที่ เอนก อ้าง แต่มีความคิดที่คอยตามกระแสและคอยแสวงหาผู้มีอำนาจ

ส่วน “มาตรฐานคุณธรรม” ที่เอนกเสนอว่าเป็นมาตรฐานของชนชั้นกลาง เราทราบดีว่าถูกเปิดโปงด้วยคำพูดตอแหลของฝ่ายเผด็จการมือเปื้อนเลือดเกี่ยวกับ “คนดี” ชนชั้นกลางไม่มีคุณธรรมพอที่จะมองว่าการฆ่าประชาชนมือเปล่า อย่างคนเสื้อแดง หรือการทำรัฐประหารแล้วจับคนที่คิดต่างเข้าคุก เป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด

32261_399319099924_537184924_3928134_4527140_n

การกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ามีพฤติกรรม “คอร์รับชั่น” โดยชนชั้นกลาง มาจากการที่ชนชั้นกลางหลอกตัวเองและคนอื่นว่าตัวเองมีฐานะดีที่มาจาก “ความสามารถและความขยันของตนเอง” ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จริงเลย แต่มุมมองนี้มันทำให้คนชั้นกลางรู้สึกว่าการคอร์รับชั่นเปิดโอกาสให้ “คนมีเส้น” เข้ามากอบโกยผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งกว่านั้นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าโกงกิน เป็นข้อโจมตีแบบคลุมเครือที่เปิดโอกาสให้คนชั้นกลางปิดบังจุดยืนทางการเมืองของตนเองในเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิเสรีภาพ หรือนโยบายเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือเป็นข้อโจมตีที่เลือกใช้ได้ ดังที่เราเห็นทุกวันนี้ในสังคมไทย เพราะคนชั้นกลางมักเงียบเฉยต่อการโกงกินของทหารเผด็จการ

[อ่านบทความวิจารณ์หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” โดย ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน เข้าดูได้ที่ https://bit.ly/2BHz2pV ]

วิกฤตไทยทำให้ทฤษฏีการเมืองฝ่ายขวาเป็นโมฆะ

ใจอึ๊งภากรณ์

วิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน ทำให้ทฤษฏีรัฐศาสตร์ เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ของพวกนักวิชาการฝ่ายขวาเป็นโมฆะ

ทฤษฏีแรกคือเรื่อง “ประชาสังคม” แนวคิดนี้เคยฮิตกันหลังสงครามเย็น และมีการเสนอว่าประชาธิปไตยพัฒนาได้เมื่อมีชนชั้นกลางและประชาสังคม คำว่า “ประชาสังคม” สำหรับนักวิชาการเหล่านี้ หมายถึงกลุ่มคนชั้นกลาง หรือพวกที่อ้างตัวเป็นปัญญาชน และรวมถึงเอ็นจีโอด้วย ซึ่งล้วนแต่ไม่สังกัดรัฐโดยตรง แต่ทุกวันนี้เราเห็นจุดยืนของพวกนี้ ที่สนับสนุนม็อบสุเทพ สนับสนุนพันธมิตรฯเพื่อเผด็จการ และชื่นชมการทำรัฐประหารโดยทหาร

ชนชั้นกลางได้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ตนเอง และพยายามกีดกันไม่ให้คนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพหรือเกษตรกรรายย่อย ได้ผลประโยชน์จากรัฐ หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง

พวกหมอ ทนายความ และอธิการบดีต่างๆ ก็ออกมาสนับสนุนม็อบสุเทพด้วย

เราชาวมาร์คซิสต์ไม่เคยตั้งความหวังพิเศษกับชนชั้นกลาง หรือ “ประชาสังคม” แบบนี้ เพราะในอดีตชนชั้นกลางเป็นฐานสำคัญที่สนับสนุนแนวฟาสซิสต์ในยุโรป หรือเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ในไทย ในขณะเดียวกันชนชั้นกลางเป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างแข่งขันกันแบบปัจเจก และไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากนายทุนใหญ่หรือสหภาพแรงงาน ดังนั้นชนชั้นกลางมักตามกระแส และถ้ากระแสคนชั้นล่างมาแรง เขาก็อาจสนับสนุนประชาธิปไตยได้ แต่ตอนนี้เขาเข้าข้างอำมาตย์ สรุปแล้วชนชั้นกลางไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่มั่นคง

สิ่งหนึ่งที่พออาจกู้จากทฤษฏีประชาสังคมได้ คือเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” แต่เราคงต้องโยนทิ้งทฤษฏีว่าด้วย “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ที่นิยมกันจังหลังยุคสงครามเย็น เพราะเขาจะนิยาม “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่” ว่าไม่สังกัดชนชั้น และเน้นการเมืองแบบวิถีชีวิตประเด็นเดียว โดยไม่คิดยึดอำนาจรัฐ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือขบวนการเสื้อแดง ซึ่งสังกัดชนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่หลายส่วนถูกนำในระดับชาติโดยชนชั้นอื่น และเสื้อแดงก็มีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐอำมาตย์

ทฤษฏีที่สองที่เราต้องโยนทิ้งคือเรื่อง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นแนวคิดของพวกเสรีนิยมทางการเมือง และแนวนี้เป็นแนวคิดฝ่ายขวาที่กำเนิดในตะวันตก พวกนี้เสนอว่าการมีประชาธิปไตย ต้องอาศัยการคานอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยองค์กรที่อิสระจากการเมืองและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แนวคิดนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักวิชาการและเอ็นจีโอในยุคที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐

แต่ในรูปธรรมเราเห็นว่าในไทย องค์กรอิสระ ที่ “อิสระ” จากการตรวจสอบเลือกตั้งโดยประชาชน กลายเป็นองค์กรที่จำกัดประชาธิปไตย และเป็นอุสรรค์ต่อการใช้นโยบายตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ในสหภาพยุโรป องค์กรอิสระอย่างเช่นธนาคารกลางของยุโรป ก็เข้ามากำหนดนโยบายเศรษฐกิจแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย และที่ทำไปก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนายทุน โดยโกหกว่าทำเพื่อประโยชน์ “ชาติ”

นักมาร์คซิสต์มองว่าไม่มีใครหรือองค์กรใดในสังคม ที่อิสระจากผลประโยชน์ทางชนชั้น ดังนั้นความเป็นกลางไม่มี และแท้ที่จริงสิ่งที่คานอำนาจรัฐบาลได้ คือพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสหภาพแรงงาน  ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรทางการเมืองที่ต้องถูกตรวจสอบโดยมวลชนของตนเอง

ทฤษฏีโมฆะที่สามที่ต้องโยนทิ้งคือข้อเสนอว่าประชาธิปไตยมั่นคงได้ ถ้าประชาชนมี “วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย” และมี “สถาบันทางการเมืองที่ตั้งมานาน” แต่ในไทยเราเห็นว่าประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ชนชั้นปกครอง และสถาบันทางการเมืองของอำมาตย์ ไร้วัฒนธรรมนี้โดยสิ้นเชิง และพรรคการเมืองที่มั่นคงและเก่าแก่ที่สุด คือพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่อวยเผด็จการเสมอ

ทฤษฏีโมฆะที่สี่ที่ต้องรื้อทิ้งคือแนวคิดที่เสนอว่าการพัฒนาของทุนนิยมกลไกตลาดเสรี ในลักษณะโลกาภิวัฒน์ จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เป็นประชาธิปไตย แต่ในไทยและที่อื่น เราเห็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งมีลักษณะโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะกลุ่มทุนธนาคารและอุตสาหกรรมเกษตร สนุบสนุนรัฐประหารและเผด็จการตลอด และพรรคพวกของคณะทหารเถื่อน ไม่ว่าจะในปี ๔๙ หรือปี ๕๗ และไม่ว่าจะเป็นทหาร นักวิชาการอวยทหาร หรือพลเรือนในพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนแต่คลั่งนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดเสรี พวก “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เหล่านี้ พร้อมจะทำลาย “30บาทรักษาทุกโรค” กดค่าแรงขั้นต่ำ คัดค้านนโยบายประกันราคาข้าว และนโยบายช่วยคนจนทั้งหลาย ในขณะที่เพิ่มงบประมาณทหารอย่างต่อเนื่อง แต่เราจะสังเกตเห็นว่าพรรคไทยรักไทยเคยใช้นโยบาย “คู่ขนาน” ที่ผสมการใช้งบประมาณรัฐแบบ “เคนส์รากหญ้า” ผสมกับแนวกลไกตลาด สรุปแล้วกลไกตลาดเสรีสุดขั้วเป็นแนวคิดที่สร้างความเหลลื่อมล้ำและไปได้สวยกับระบบเผด็จการเสมอ

สำหรับการพัฒนประชาธิปไตยในไทย เราน่าจะเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เป็นเรื่องชี้ขาด คือการมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนระดับล่าง เช่นขบวนการเสื้อแดง แต่การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยจำต้องอาศัยการนำที่มาจากพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่พรรคของนายทุน ไม่ว่าพรรคนายทุนจะประชานิยมแค่ไหน สรุปแล้วเราต้องสามารถวิเคราะห์สังคมจากมุมมองชนชั้น และต้องเน้นพลังของมวลชนตลอด ไม่ใช่ไปหลงเชื่อว่า “ผู้รู้” ทั้งหลายที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะทหาร จะออกแบบประชาธิปไตยให้เราได้ หรือชนชั้นกลางจะขยายสิทธิเสรีภาพในสังคม

สิ่งเหล่านี้น่าจะชัดเจนมาก แต่ผมพนันได้เลยว่าในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และในสถาบันวิชาการอย่าง “สถาบันพระปกเกล้า” จะยังมีการสอนสูตรเดิมๆ ที่ล้มเหลวไปนานแล้ว ต่อไปอีกหลายปี และเนื่องจากคนที่กล้าเถียงกับ “ผู้ใหญ่” มักจะถูกเรียกตัวไป “เปลี่ยนทัศนะคติ” โดยเผด็จการ ก็คงจะไม่ค่อยมีนักศึกษาที่ไหนที่กล้าเถียงกับแนวหอคอยงาช้างของพวกล้าหลังเหล่านี้